ออสการ์ บาร์นัก ผู้ให้กำเนิดกล้อง Leica สร้างมาตรฐานกล้องฟิล์ม 35

ออสการ์ บาร์นัก ผู้ให้กำเนิดกล้อง Leica สร้างมาตรฐานกล้องฟิล์ม 35
กล้อง Leica ในปัจจุบัน มักถูกนำไปล้ออยู่บ่อย ๆ ว่า แพงเกินเหตุ เงินจำนวนเดียวกันสามารถเอาไปดาวน์บ้าน ดาวน์รถได้ แต่กล้องที่ได้กลับมีเทคโนโลยีตามหลังกล้องญี่ปุ่นที่ราคาถูกกว่าเป็นสิบเท่าอยู่ไกล ๆ  แต่ราวร้อยปีก่อน Leica คือผู้นำเทคโนโลยีกล้องถ่ายภาพตัวจริง ทำให้ฟิล์มขนาด 35 มิลลิเมตรเป็นที่นิยมสำหรับการถ่ายภาพนิ่ง และเป็นต้นแบบให้บริษัทกล้องญี่ปุ่นได้ก็อปปี้และสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นได้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2  ผู้ผลิตกล้อง Leica คือบริษัทที่ชื่อว่า Leitz ตั้งอยู่ในเวตซ์ลาร์ (Wetzlar) ประเทศเยอรมนี ยี่ห้อ Leica ได้มาจากชื่อของบริษัท "Leitz" มาสนธิกับ คำว่า "Camera" จึงกลายมาเป็น "Leica" ซึ่งกลายมาเป็นแบบอย่างการตั้งชื่อยี่ห้อกล้องจากญี่ปุ่นหลายยี่ห้อ อย่างเช่น Yashica ก็มาจาก Yashima ส่วน Konica ก็มาจาก Konishi มาผสมกับ Camera เดิมที Leitz ไม่ได้มีธุรกิจผลิตกล้องถ่ายรูป หากเป็นผู้ผลิตกล้องจุลทรรศน์รายใหญ่ ก่อนได้ตัว ออสการ์ บาร์นัก (Oskar Barnack) มาช่วยผลิตกล้องถ่ายรูปที่ใช้ฟิล์ม 35 มิลลิเมตร ขนาดพกพา (เล็กกว่ากล้องดิจิทัลไร้กระจก - mirrorless - สมัยใหม่หลายรุ่น) ซึ่งช่วยให้การถ่ายภาพง่ายขึ้น กลายเป็นเครื่องมือในฝันของช่างภาพข่าวยุคแรก ซึ่งใช้มันในการเก็บภาพประวัติศาสตร์มากมาย เช่น ภาพถ่ายทหารโซเวียตชักธงโซเวียตเหนืออาคารรัฐสภานาซี หลังกองทัพโซเวียตเข้ายึดกรุงเบอร์ลินได้สำเร็จ โดย เยฟเกนี คัลดี หรือภาพถ่ายครึ่งตัวของ เช เกวารา โดย อัลแบร์โต กอร์ดา การถ่ายภาพแนวสตรีท กลายเป็นที่แพร่หลายก็ด้วยกล้องของบาร์นัก เพราะกล้องของเขาเป็นกล้องขนาดมือถือ (ขณะที่กล้องยุคก่อนหน้าต้องแบกหรือต้องหิ้ว) ทำให้พกพาไปไหนได้สะดวก และไม่ทำให้ผู้คนที่ใช้ชีวิตตามปกติบนท้องถนนรู้ตัวเสียด้วยซ้ำ ภาพที่ได้จึงมีความเป็นธรรมชาติ และได้ภาพที่ใกล้ชิดกับผู้คนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน  ออสการ์ บาร์นัก เกิดเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1879 ในลีโนว์ (Lynow) หมู่บ้านเล็ก ๆ ในรัฐบรันเดินบวร์ค (Brandendurg) ก่อนที่ครอบครัวจะพากันย้ายมาอยู่เบอร์ลินเมื่อเขาอายุได้ 3 ขวบ และเริ่มฝึกงานเป็นช่างเครื่องกลตั้งแต่อายุได้ 14 ปี เมื่อสำเร็จการฝึกฝนแล้วก็ไปได้งานที่เยนา (Jena) กับ Carl Zeiss ผู้ผลิตกล้องจุลทรรศน์ (ชื่อบริษัทคือชื่อเดียวกับผู้ก่อตั้ง ปัจจุบันคือผู้ผลิตเลนส์ Zeiss) ในแผนกพัฒนาผลิตภัณฑ์  ต่อมาเมื่อ Leitz มองหาช่างฝีมือดีมาทำด้านวิจัยพัฒนา เพื่อนร่วมงานของบาร์นักที่ย้ายค่ายไปทำงานกับ Leitz ก่อนหน้าไม่นาน ก็เสนอชื่อของบาร์นักให้ผู้บริหารไปพิจารณา "บาร์นักเดินทางมาถึงเวตซ์ลาร์ (เมืองที่ตั้งของ Leitz) ในเดือนมกราคม 1911 ตอนนั้น Leitz กำลังมองหานายช่างคนใหม่มาดูแลงานทดลองเชิงปฏิบัติการในแผนกกล้องจุลทรรศน์ ตอนนั้นโรงงานของ Leitz คือผู้ผลิตกล้องจุลทรรศน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก" ดร. คนุต คุห์น-ไลต์ซ (Dr. Knut Kuhn-Leitz) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของ Ernst Leitz GmbH และหลานของ เอิร์นส์ต ไลต์ซ ที่ 2 (Ernst Leitz II) ผู้นำบริษัทรุ่นที่ 2 ผู้ว่าจ้างบาร์นัก กล่าว (Leica Camera - Vimeo) เอิร์นส์ต ไลต์ซ ที่ 2 มองเห็นพรสวรรค์ในตัวบาร์นักจึงรับเขาไว้ทำงานทันที แม้บาร์นักจะบอกให้รู้ก่อนแล้วว่าเขามีปัญหาโรคปอดเรื้อรัง แต่ไลต์ซก็ไม่เห็นว่าเป็นปัญหา  ขณะเดียวกัน นอกจากงานหลักแล้ว บาร์นักยังเป็นคนที่ชอบถ่ายภาพ และมักจะพกกล้องไปถ่ายภาพทั่วเวตซ์ลาร์ แต่กล้องสมัยนั้นยังทำจากไม้ ใช้ฟิล์มกระจกขนาดใหญ่ มันจึงทั้งเทอะทะ น้ำหนักเยอะ และใช้งานยาก จึงเป็นภาระต่อร่างกายซึ่งมีโรครุมเร้าของเขาเป็นอย่างมาก  บาร์นักจึงพยายามพัฒนากล้องขนาด "จิ๋ว" (Liliput Camera - ชื่อที่บาร์นักเรียกในบันทึกของเขาเอง) ขึ้นมา ฝ่ายไลต์ซเจ้าของบริษัทเมื่อได้เห็นงานไซด์ไลน์ของบาร์นักก็ไม่ว่าอะไร ทั้งยังสนับสนุนการพัฒนากล้องของบาร์นักอีกด้วย งานของบาร์นักกลายเป็นรูปธรรมในปี 1913 เครื่องต้นแบบของเขาถูกเรียกว่า Ur-Leica เมื่อไลต์ซได้เห็นก็รู้สึกประทับใจเป็นอย่างมาก แต่การพัฒนากล้องของบาร์นักก็ต้องหยุดชะงักลงเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 (1914-1918) เข้ามาแทรก บาร์นักจึงต้องวางงานนี้ไว้ชั่วคราว แล้วต้องไปดูแลพัฒนาอุปกรณ์เกี่ยวกับสายตาในทางการทหารแทน เมื่อสงครามจบลง ไลต์ซจึงได้ผลักดันการพัฒนากล้องถ่ายรูปของบาร์นักอีกครั้ง แต่หลังมหาสงคราม ทั่วโลกต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ปี 1924 ไลต์ซต้องตัดสินใจครั้งสำคัญเพื่อนำพาบริษัทไปข้างหน้า และเขาเห็นว่า กล้องของบาร์นักน่าจะกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่พาบริษัทพ้นจากภาวะวิกฤตได้ ซึ่งนับเป็นก้าวที่เสี่ยง แต่เขาก็ตัดสินใจไม่ผิด เมื่อเข็นกล้องของบาร์นักออกสู่ตลาดและกลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง ถึงปี 1933 กล้องของบาร์นักก็สามารถขายได้กว่า 100,000 ตัว "มันเป็นก้าวที่กล้าหาญ และก็เป็นก้าวที่แสดงถึงวิสัยทัศน์ด้วยเช่นกัน คำว่า คุณภาพ โครงสร้างที่ทนทาน และวางใจได้ ประกอบกับความที่ Leica มีขนาดที่เล็ก เบา พร้อมที่จะถ่ายภาพต่อไปได้ทันที (เพราะใช้ฟิล์มม้วน) คือสิ่งที่นำไปสู่ความสำเร็จ" มิชาเอล โคตซ์เลอ (Michael Koetzle) นักเขียนและภัณฑารักษ์ผู้รู้เรื่อง Leica กล่าว  กล้องของบาร์นักมีขนาดเล็กมาก เลนส์ที่ออกแบบโดย แมกซ์ เบเรก (Max Berek) ก็เป็นแบบที่สามารถหดตัวเข้าไปในตัวกล้องได้ ยิ่งทำให้มันมีขนาดที่พกพาได้ง่ายขึ้นไปอีก กล้อง Leica ที่ได้ชื่อว่าเป็นกล้องของบาร์นักยังได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีการเพิ่มเรนจ์ไฟเดอร์เข้ามาใน Leica II (ระบบหาโฟกัสที่ใช้ภาพซ้อนโดยอาศัยการเลื่อนเข้าออกของเลนส์) อยู่ข้าง ๆ ช่องมองภาพ และเพิ่มความเร็วชัตเตอร์ที่หลากหลายมากขึ้นในรุ่น Leica III และมีการใส่ฟังก์ชันเสริมอย่างการเชื่อมต่อแฟลชและระบบตั้งเวลาถ่ายในโมเดลย่อย ความสำเร็จของ Leica ช่วยทำให้ฟิล์มขนาด 35 มิลลิเมตร ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และบาร์นักก็เป็นผู้กำหนดขนาดมาตรฐานของฟิล์มถ่ายภาพขนาด 35 มิลลิเมตรไว้ที่ 24x36 มิลลิเมตร (Britannica) บาร์นักอยู่กับ Leitz จนวาระสุดท้าย ก่อนเสียชีวิตลงในปี 1936 เนื่องจากอาการติดเชื้อในปอด กล้องของเขากลายเป็นกล้องต้นแบบให้กับผู้ผลิตต่างชาตินำไปลอกเลียนแบบจำนวนมาก โดยเฉพาะในญี่ปุ่น ยิ่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง เยอรมนีตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงคราม ฝ่ายสัมพันธมิตรยึดสิทธิบัตรของนักประดิษฐ์เยอรมันไปใช้งานตามใจชอบ กล้องก็อปปี้ของบาร์นักจึงพบได้ทั้งในญี่ปุ่น สหรัฐฯ และโซเวียต  ภายหลัง Leica M จึงถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อหลีกหนีความสำเร็จเดิม ๆ ที่ถูกลอกเลียนแบบไปทั่ว โดยในรุ่น M ได้มีการรวมช่องมองภาพกับช่องเรนจ์ไฟเดอร์เข้าไว้ด้วยกัน และเลิกใช้เลนส์ที่มี mount (ส่วนเชื่อมต่อเลนส์กับตัวกล้อง) แบบเกลียว (L39) ไปใช้เลนส์แบบเดือยเกี่ยว (M mount) ซึ่งยังคงใช้เรื่อยมาจนถึงยุคดิจิทัล