พระบำราศนราดูร รัฐมนตรีปราบโรคระบาด ที่มาชื่อสถาบันบำราศนราดูร

พระบำราศนราดูร รัฐมนตรีปราบโรคระบาด ที่มาชื่อสถาบันบำราศนราดูร

พระบำราศนราดูร รัฐมนตรีปราบโรคระบาด ที่มาชื่อสถาบันบำราศนราดูร

สถาบันบำราศนราดูร เป็นสถาบันสังกัดกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นสถาบันที่ดูแลเรื่องโรคติดต่อร้ายแรงอย่างเช่นโรคเอดส์ รวมถึงหน้าที่ในการกักกันผู้ป่วยโรคติดต่ออันตรายตามข้อตกลงระหว่างประเทศ สถาบันแห่งนี้จึงถูกกล่าวบ่อยครั้งเมื่อมีการรายงานข่าวที่เกี่ยวพันกับการระบาดของไวรัสอันตราย (เช่น COVID-19) ที่มาของสถาบันแห่งนี้เริ่มจากหลังการฉลองกึ่งพุทธกาลในปี 2500 ตามด้วยการรัฐประหารของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จากนั้นก็เกิด "ห่าลง" เมืองไทย โชคดีที่ "คุณ" สฤษดิ์ มีมือดีดูแลกระทรวงสาธารณสุข ไม่ใช่นายทุนที่ไม่มีความรู้ทางสาธารณสุขแต่ถูกแต่งตั้งให้มานั่งเก้าอี้เพื่อตอบแทนการสนับสนุนให้ตนมีโอกาสได้ยึดอำนาจ ทำให้การควบคุมโรคอหิวาห์สมัยนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สฤษดิ์พอใจในผลงานของรัฐมนตรีรายนี้มาก เมื่อมีการสร้างโรงพยาบาลใหม่เพื่อดูแลโรคระบาด จึงเสนอชื่อโรงพยาบาลตามชื่อของรัฐมนตรีท่านนี้  นั่นคือ "พระบำราศนราดูร"  พระบำราศนราดูร หรือ นายแพทย์บำราศ เวชชาชีวะ เดิมมีชื่อว่า ฮกหลง พอโตหน่อยจึงมาใช้ชื่อว่า "หลง" ให้ฟังดูเป็นไทย และเปลี่ยนอีกครั้งเป็น บำราศ ใน พ.ศ. 2485  เพื่อให้ดูเป็นไทยยิ่งขึ้นไปอีกตามนโยบายรัฐนิยมของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และได้ใช้ชื่อนี้มาโดยตลอด ส่วนสกุล "เวชชาชีวะ" นั้น เป็นนามสกุลพระราชทานที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้แก่พระบำราศ ขึ้นไปถึง เบ๋ง ผู้เป็นปู่ พระบำราศ เป็นบุตรของแสง (จิ้นเสง) กับ พร (ชุมพร) เวชชาชีวะ เกิดเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2439 ส่วนสถานที่เกิดนั้น หนังสืออนุสรณ์งานศพของพระบำราศนราดูรให้ข้อมูลที่ขัดกันไว้ โดยในหนังสือประวัติของพระบำราศระบุว่าเกิดที่ตำบลพุงทลายฝั่งตะวันออก อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี แต่พระบำราศเองเคยบอกปากเปล่าเอาไว้ว่าตนเกิดที่ระยอง ระหว่างที่พ่อไปหาซื้อเรือฉลอม เพราะที่บ้านมีกิจการค้าทางเรือ ในวัยเด็ก พระบำราศบวชเณรอยู่วัดจันทนารามอยู่ราวหนึ่งปี จึงได้ขึ้นเรียนตามระบบสามัญ จบแล้วก็ไปเรียนบาลีที่วัดบวรนิเวศวิหารอีกราวสองปี จึงสึกแล้วไปสอบเข้าเป็นนักเรียนแพทย์ที่โรงเรียนราชแพทยาลัย กระทรวงธรรมการ วังหลัง ธนบุรี เมื่อต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2453 ขณะมีอายุได้เพียง 14 ปีเศษ ถือเป็นนักเรียนแพทย์ที่อายุน้อยที่สุดในชั้น สำเร็จการศึกษาแล้วก็ได้รับราชการในกรมพยาบาล กระทรวงมหาดไทย ตำแหน่งแพทย์ กรมพยาบาล ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2457 ก่อนถูกส่งตัวไปให้ประจำอยู่ที่ลพบุรี ระหว่างเป็นแพทย์อยู่ที่ลพบุรี พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร อธิบดีกรมสาธารณสุข ทรงประสงค์จะเลือกให้พระบำราศไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ แต่พระบำราศไม่พร้อมเรื่องภาษาอังกฤษจึงไม่ได้ไปเรียนต่อ ครั้น ม.จ. สกลวรรณากร วรวรรณ ขึ้นเป็นอธิบดีแทน ก็พยายามจะส่งพระบำราศไปเรียนต่ออีกรอบ แต่ก็ยังคงติดขัดเรื่องภาษาและด้วยงานราชการที่มากล้น สุดท้ายพระบำราศจึงมิได้เรียนต่อ แต่ก็ก้าวหน้าในระบบราชการอย่างรวดเร็ว ต่อมาในปี 2469 พระบำราศได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งสาธารณสุขมณฑลอยุธยา ระหว่างนี้มีโรคอหิวาห์ระบาดในกรุงเก่า พระบำราศลงพื้นที่ไปดูแลด้วยตัวเองเป็นส่วนมาก มีการสั่งให้สร้างเรือนโรคติดต่อขึ้นที่โรงพยาบาลปัญจมาธิราชอุทิศ เพราะก่อนนั้น มีผู้ติดโรคถูกปฏิเสธการรักษาโดยเหตุว่าไม่มีที่จะรับ ผู้ติดโรคอหิวาห์บางรายจึงถูกพบว่าไปตายในเรือจ้าง พระบำราศจึงได้วางระเบียบว่า จะต้องรับผู้ป่วยทุกรายที่มาถึงโรงพยาบาล พร้อมจัดระเบียบการรักษาให้ดีขึ้น ก่อนที่เขาจะย้ายเข้ากรุงเทพฯ ในปี 2472 รับตำแหน่งผู้อำนวยการกองสาธารณสุข     เมื่อได้เข้าส่วนกลาง พระบำราศก็เติบโตในสายงานเรื่อยมา ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระบำราศนราดูร ถือศักดินา 800 ไร่ ในปี 2474 ก่อนหน้าการปฏิวัติหนึ่งปี จนได้เป็นถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุขในปี 2497 (กรมสาธารณสุขได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกระทรวงสาธารณสุขในปี 2485) อยู่ในตำแหน่งจนเกษียณก็ยังได้รับการต่ออายุราชการไปอีก ถึงปี 2501 จึงพ้นจากตำแหน่งปลัดกระทรวงฯ แต่ก็ยังทำหน้าที่ช่วยราชการพิเศษให้กับทางกระทรวงต่อไป ช่วงนี้เอง สฤษดิ์หัวหน้าคณะปฏิวัติ (พ.ศ. 2500) ประสงค์จะขึ้นมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเอง หลังให้ลูกน้องอย่าง จอมพลถนอม กิตติขจร นั่งขัดตาทัพมาได้ไม่ทันครบปี และอยากได้พระบำราศมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข แม้ทั้งคู่จะมิเคยรู้จักพบหน้ากันมาก่อน เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์ว่ารัฐบาลของเขาปราศจากนักการเมืองที่แสวงหาประโยชน์ จึงหวังเอาข้าราชการเก่าที่มีผลงานมารับตำแหน่งช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลของตัวเอง ตามประวัติระบุว่า เบื้องต้นพระบำราศให้คำปฏิเสธไปอ้างว่ามีคนที่เหมาะสมกว่า ทั้งความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ รวมถึงภาษาอังกฤษของตนเองก็ไม่ดี เกรงจะไม่เหมาะ แต่สุดท้ายเขาก็ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้รับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2502 "พอเริ่มเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ก็ดำเนินการป้องกันและปราบปรามอหิวาตกโรคทันที ซึ่งขณะนั้นกำลังระบาดหนัก ได้ออกไปตรวจดูการป้องกันและรักษาพยาบาลด้วยตนเองตามท้องที่ต่าง ๆ หลายแห่ง ต่อมาไม่นานโรคก็สงบ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี พอทราบว่ารัฐมนตรีออกไปตรวจดูด้วยตนเองก็มีความยินดีมาก และเร่งให้รีบสร้างโรงพยาบาลโรคติดต่อเป็นการด่วน โดยให้ย้ายโรงพยาบาลโรคติดต่อเดิมจากถนนดินแดงไปหาที่ก่อสร้างใหม่ที่เหมาะสมกว่า ในที่สุดก็ได้ที่ดินของโรงพยาบาลศรีธัญญา นนทบุรี เป็นที่สร้างโรงพยาบาล "เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ได้เสนอคณะรัฐมนตรีให้ชื่อโรงพยาบาลนี้ว่า 'โรงพยาบาลบำราศนราดูร' และ ฯพณฯ จอมพลฯ เองก็ได้เป็นประธานกระทำพิธีเปิดโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2503 โดยมีรัฐมนตรี ข้าราชการ และผู้มีเกียรติอื่น ๆ ไปร่วมพิธีด้วยเป็นจำนวนมาก" ความตอนหนึ่งจากหนังสืออนุสรณ์งานศพพระบำราศนราดูร ระบุ (โรงพยาบาลบำราศนราดูร ถูกปรับโครงสร้างและเปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันบำราศนราดูร ใน พ.ศ. 2545) ระหว่างดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี พระบำราศสร้างผลงานหลายอย่าง เช่น โครงการบำบัดโรคคุดทะราด โครงการควบคุมวัณโรค โครงการกำจัดกวาดล้างไข้มาลาเรีย โครงการควบคุมและบำบัดโรคเรื้อน และเป็นผู้ริเริ่มกราบบังคมทูลขอเงินพระราชทานช่วยเหลือคนโรคเรื้อนตั้งเป็นมูลนิธิ ซึ่งต่อมาพระราชทานนามว่า "มูลนิธิราชประชาสมาสัย" มีการส่งเสริมบทบาทของอนามัยชนบท ประสานงานในการป้องกันและปราบปรามโรคไข้เลือดออก โดยขอแรงหน่วยราชการต่าง ๆ รวมกันจัดตั้งโรงพยาบาลทำการวิจัย และรักษาไข้เลือดออกขึ้นที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อปี 2507 ทั้งยังเป็นผู้ให้กำเนิดสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ในกระทรวงสาธารณสุข "อาคารดำรงนิราดูร" ก็เป็นนามพระราชทาน เนื่องจากผลงานของพระบำราศนั่นเอง พระบำราศ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลของสฤษดิ์ จนสฤษดิ์เสียชีวิต เมื่อถนอมขึ้นมารับตำแหน่งแทน พระบำราศก็ยังได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีสืบมาจนถึงปี 2512 หลังมีการเลือกตั้งและจัดรัฐบาลชุดใหม่ (ที่ยังมีนายกฯ หน้าเดิม) พระบำราศก็ไม่ได้รับโอกาสให้ทำหน้าที่เดิมต่ออีก  ในบั้นปลายหลังวัยเกษียณ พระบำราศที่แข็งแรงมาโดยตลอด แทบไม่เคยเจ็บป่วย ก็ถูกตรวจพบอาการผิดปกติทางหัวใจ คือหัวใจเต้นผิดจังหวะ เส้นเลือดโคโรนารีตีบ และหัวใจอ่อน แต่ก็รักษาสุขภาพเป็นอย่างดี ทำให้อาการต่าง ๆ อยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ จนกระทั่งปลายปี 2527 พระบำราศก็ล้มป่วยลงอีกครั้ง เบื้องต้นแพทย์เข้าใจว่าเป็นอาการไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน ครั้นเมื่อทำการตรวจอย่างละเอียดก็พบว่าน่าจะเป็นอาการลำไส้เล็กอุดตัน แต่เมื่อลงมือผ่าตัดจริงจึงพบว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารขั้นสุดท้าย หลังทำการผ่าตัดได้เพียงราวสองอาทิตย์ พะรบำราศก็จากไปในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2527 ในวัย 88 ปี   *แก้ไข (13.22 น. 10 มีนาคม 2563) คำเรียก จาก "บำราศ" อย่างลำลอง เป็น "พระบำราศ" ตามคำทักท้วงของญาติ เนื่องจาก แม้จะมีการยกเลิกบรรดาศักดิ์ในปี 2485 แต่ในปี 2487 ได้มีประกาศยกเลิกคำสั่งดังกล่าวออกมา ทำให้ผู้มีบรรดาศักดิ์กลับไปใช้บรรดาศักดิ์ได้ตามเดิม **นามสกุล เวชชาชีวะ มิได้มอบให้กับ เบ๋ง แต่มอบให้กับ พระบำราศ และย้อนขึ้นไปถึงบุพการี