จอมพล ป. พิบูลสงคราม: “ลุง” ไม่อยากลงจากอำนาจ เลือกตั้ง “สกปรก” พ.ศ.2500

จอมพล ป. พิบูลสงคราม: “ลุง” ไม่อยากลงจากอำนาจ เลือกตั้ง “สกปรก” พ.ศ.2500

“ลุง” ไม่อยากลงจากอำนาจ เลือกตั้ง “สกปรก” พ.ศ.2500

เลือกตั้ง “สกปรก” 26 กุมภาพันธ์ 2500 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ครั้งที่ 9 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 นั้น เกิดขึ้นในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ซึ่งนับเป็นการเลือกตั้งที่มีผู้มาใช้สิทธิมากที่สุดกว่า 8 ครั้งที่ผ่านมา โดยมีผู้มาใช้สิทธิถึง 57.5% แสดงให้เห็นว่าราษฎรมีความสนใจและตื่นตัวทางการเมืองกันมาก อย่างไรก็ดี การเลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ 2500 มักเป็นที่รู้จักกันในนาม “การเลือกตั้งสกปรก” จนในที่สุด แทนที่จะเป็นการรักษาเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ให้กับนายกรัฐมนตรีตลอดกาลอย่าง “ลุงแปลก” จอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่กลับกลายเป็นแผลใหญ่ให้ศัตรูทางการเมืองใช้โจมตีจนในที่สุดเป็นข้ออ้างในการทำสิ่งที่เรียกว่า “ปฏิวัติ” รัฐบาลของ “ลุง” ไป   “ลุง” ไม่อยากลงจากอำนาจ การขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในรอบที่ 2 ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตั้งแต่ปี 2491 เรื่อยมานั้น เป็นไปอย่างยากลำบากบนการเมืองสามเส้า ที่มีกลุ่มการเมืองของจอมพล ป. เอง กลุ่มซอยราชครูของ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ และ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ และกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จนถึงปี 2498 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เริ่มหาหนทางใหม่ ๆ ในการเหนี่ยวรั้งอำนาจไว้ที่กลุ่มของตนเองมากขึ้น จึงเชื่อว่าการเดินทางรอบโลกไปสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย (รวม 17 ประเทศ คือ ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เกาหลี สหรัฐอเมริกา สเปน ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ เยอรมนีตะวันตก อิตาลี กรุงวาติกัน เดนมาร์ก อังกฤษ อียิปต์ ปากีสถาน ศรีลังกา และมลายู (อาณานิคมของอังกฤษ))จะทำให้ตนได้รับคะแนนนิยมในการเลือกตั้ง และมีความชอบธรรมมากกว่าการเป็นนายกฯ จากการรัฐประหารอย่างไม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย จอมพล ป. ได้ความคิดเรื่องการอภิปรายสาธารณะมาจากอังกฤษ ซึ่งมีสวนสาธารณะชื่อ “ไฮด์ปาร์ค” เป็นที่ไว้ให้คนประหลาด ๆ ได้ระบายอารมณ์ แต่ที่เมืองไทย จอมพล ป. นำเข้าการ “ไฮด์ปาร์ค” เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์การเมืองอย่างตรงไปตรงมา ด้วยคิดว่าจะใช้การเปิดโอกาสเช่นนี้ เปิดให้คนมาโจมตีกลุ่มอำนาจอื่น ๆ แทน โดยเฉพาะกลุ่มซอยราชครู และจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้ซึ่งทำรัฐประหารรัฐบาลของตนเองเมื่อปลายปี 2494 ก็เปลี่ยนตัวเองมาในคราบนักประชาธิปไตยอีกครั้ง หลังกลับจากการเดินทาง “70 วันรอบโลก” ระหว่างวันที่ 14 เมษายน - 22 มิถุนายน 2498 แล้ว จอมพล ป. ได้กล่าวกับนักเรียนนายเรือว่า “ทหารไม่พึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง และไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการค้า อำนาจควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และว่าโดยทั่วไปกำลังและรัฐประหารเป็นเรื่องล้าสมัย” (The Bangkok Post, July 19, 1955) และในเวลาต่อมาจอมพลตราไก่ผู้นี้ถึงกับประกาศว่า “บัดนี้รัฐประหารจะต้องถือว่าเป็นการกบฏต่อพระมหากษัตริย์และต่อประเทศชาติ” (The Bangkok Post, August 19, 25, 1955)   พรรคของ “ลุง” หลังจากนั้นในเดือนกันยายน 2498 มีการออกพระราชบัญญัติพรรคการเมืองขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ตามเสรีภาพในการรวมกลุ่มตั้งพรรคการเมืองตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 ได้รับรองไว้ ซึ่งแน่นอนว่า พรรคของ “ลุง” เป็นพรรคแรกที่จดทะเบียน นั่นคือ พรรคเสรีมนังคศิลา พรรคเสรีมนังคศิลา ตั้งตามชื่อสถานที่ทำการของพรรคโดยเติมคำว่า “เสรี” เข้าไปข้างหน้า สำหรับบ้านมนังคศิลานี้ เดิมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสร้างพระราชทานแก่พระยาอุดมราชภักดี (โถ สุจริตกุล) แต่ต่อมาเจ้าคุณก็ไม่อาจรักษาบ้านไว้ได้ พรรคนี้มี ตัว “ลุง” เอง จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้าพรรค มีจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นรองหัวหน้าพรรค และมี พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นเลขาธิการพรรค ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกในชีวิตของจอมพล ป. ที่ “ลุง” ลงสมัครรับเลือกตั้งในวัย 60 ปี ที่จังหวัดพระนคร   “แล้วมันผิดตรงไหน” การจัดการเลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ 2500 เป็นไปอย่างเอื้อให้พรรคเสรีมนังคศิลาของ “ลุง” อย่างเต็มที่ เช่นที่จังหวัดนครสวรรค์ พระยารามราชภักดี ปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่จัดการการเลือกตั้ง ก็กล่าวในที่ประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้านว่า “บ้านเมืองจะเจริญได้ ท่านต้องเลือกพรรคเสรีมนังคศิลา” พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ก็ให้บรรดา “ผู้กว้างขวาง” อย่างนักเลงหัวไม้ข่มขู่ให้ชาวบ้านเลือกแต่พรรคเสรีมนังคศิลาของ “ลุง” และคุกคามฝ่ายตรงข้ามด้วยการออกใบปลิวประณาม รวมถึงวิธีการสกปรก (จริงๆ) ด้วยการเอาอุจจาระป้ายประตูบ้านของผู้สมัครฝ่ายตรงข้าม การเลือกตั้งครั้งนี้ มีการแข่งขันกันอย่างคึกคักในหลายเขต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพฯ เป็นการแข่งขันกันระหว่างพรรคเสรีมนังคศิลา ซึ่งมี “ลุง” ลงรับสมัครรับเลือกตั้ง กับพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายควง อภัยวงศ์ ซึ่งร่วมมือกับกลุ่มนิยมเจ้าและอนุรักษนิยมเพื่อสู้กับ “ลุง” แม้ผลจะปรากฏว่า พรรคเสรีมนังคศิลาเป็นฝ่ายชนะพรรคประชาธิปัตย์ในจังหวัดพระนครที่ 7 : 2 คน แต่ “ลุง” ก็ถูกครหามากว่าโกงการเลือกตั้ง ด้วยการใช้อำนาจแทรกแซง ใช้กลวิธีแอบแฝงซ่อนเร้น รวมถึงการทำร้ายศัตรูทางการเมือง ฯลฯ นอกจากนี้ ก่อนวันเลือกตั้งเพียง 1 วัน หนังสือพิมพ์ต่างลงข่าวการพบบัตรเลือกตั้งจำนวนหนึ่งในสภาพที่พร้อมจะลงคะแนนให้กับผู้สมัครจากพรรคเสรีมนังคศิลา โดยมีตราประทับของนายอำเภอดุสิตไว้อย่างถูกต้องเรียบร้อย จนหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย ลงพาดหัวว่า “พบไพ่ไฟกลางกรุง” ซึ่งเป็นการนำบัตรผีหรือบัตรปลอมใส่ลงในหีบบัตรเลือกตั้งนั่นเอง ครั้นถึงวันเลือกตั้ง หน่วยเลือกตั้งที่สมาคมสตรีไทย ถนนเพชรบุรี มีการพบบัตรเลือกตั้ง 7 ปึกใหญ่ลงคะแนนเลือกพรรคเสรีมนังคศิลาไว้แล้วบนโต๊ะของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ทำให้นักศึกษาและประชาชนที่มาสังเกตการณ์ ต้องคัดค้านและขอให้ตรวจสอบหีบบัตรเลือกตั้งเพื่อความโปร่งใส จนในที่สุดต้องยอมเปลี่ยนหีบบัตรเลือกตั้งใหม่ โดยในวันเลือกตั้ง บางเขตก็ขาดเจ้าหน้าที่และกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการร้างลาห่างหายจากการจัดการเลือกตั้งไปนาน มีการทุจริตการเลือกตั้งผ่าน “พลร่ม” หรือผ่านการ “เวียนเทียน” ลงคะแนน ผู้มีสิทธิบางคนชื่อก็ตกหายไป ขณะที่อภิสิทธิ์ชนบางคนสามารถลงคะแนนได้หลายรอบ รวมไปถึงการโกงการนับผลการเลือกตั้ง เช่นที่อำเภอดุสิตซึ่งเป็นเขตทหาร การนับคะแนนเป็นไปอย่างเชื่องช้าจนผิดสังเกต ส่วนหน่วยเลือกตั้งในสวนลุมพินีเกิดไฟดับขณะกำลังนับคะแนน แล้วพอไฟมา ปรากฏว่าคะแนนเสียงที่นับได้มีมากกว่าจำนวนผู้มาลงคะแนนในหน่วยนั้น ทั้งยังมีถึง 13 หน่วย ที่นับคะแนนช้ามาจนถึงเที่ยงของวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2500 ซึ่งเมื่อนำคะแนนมารวมกันแล้ว ผู้สมัครของพรรคเสรีมนังคศิลาได้คะแนนเพิ่มขึ้นถึง 200%   จุดจบของ “ลุง” แม้พรรคเสรีมนังคศิลาของ “ลุง” จะได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากถึง 83 จาก 160 ที่นั่ง จน “ลุงแปลก” จอมพล ป. พิบูลสงคราม สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีต่อได้อีกครั้งหนึ่ง แต่ก็เป็นการดำรงตำแหน่งอย่างขาดความชอบธรรม เนื่องจากมีการชุมนุมประท้วงการเลือกตั้งสกปรกของนิสิตนักศึกษา มีการชักธงครึ่งเสาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นการประท้วงรัฐบาล ฯลฯ ซึ่งบุคคลที่ “ลุง” ส่งไปควบคุมสถานการณ์อย่างจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กลับเล่นบทต่างจากรัฐบาลต้องการ คือแทนที่จะปราบปรามสลายการชุมนุมด้วยการขอคืนพื้นที่ แต่จอมพล สฤษดิ์ กลับผูกมิตรกับผู้ชุมนุมประท้วงแทน ดังที่จอมพล สฤษดิ์ กล่าวว่า “ถ้าคุณถามผมโดยตรง ผมจะตอบว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรก สกปรกที่สุด ทุกๆ คนโกง” และหลังจากการเลือกตั้งสกปรก 26 กุมภาพันธ์ 2500 ผ่านไปไม่ถึงปี ในวันที่ 16 กันยายน 2500 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในนามของคณะปฏิวัติก็ทำรัฐประหารรัฐบาลของ “ลุงแปลก” จนทำให้จอมพล ป. ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ โดยไม่มีโอกาสกลับคืนสู่มาตุภูมิอีกเลย แม้การกระทำเช่นว่านั้นของจอมพล สฤษดิ์ จะได้ใจมวลมหาประชาชนที่รังเกียจการเลือกตั้งสกปรก แต่สิ่งที่สังคมไทยต้องพบเจอก็คือ จอมเผด็จการที่ “โหนเจ้า” โดยทุจริตคอร์รัปชันอย่างใหญ่หลวง ใช้อำนาจบาตรใหญ่สั่งประหารชีวิตศัตรูทางการเมือง ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้คน จนนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และผู้รักประชาธิปไตยถูกจับกุมเป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งมีหลายคนเรียกว่าเป็นยุคมืดทางปัญญาของสังคมไทย และเป็นการเข้าสู่ยุคเผด็จการทหารอย่างเบ็ดเสร็จเข้มข้น ชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ ... ที่มา ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะ (บรรณาธิการ), จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับการเมืองไทยสมัยใหม่, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2544). ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ประวัติการเมืองไทยสยาม พ.ศ. 2475-2500, พิมพ์ครั้งที่ 5 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2551). ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, แปลโดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์, ม.ร.ว.ประกายทอง สิริสุข, ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, พิมพ์ครั้งที่ 5 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2561). ชาติชาย มุกสง, “การเลือกตั้งสกปรก 26 กุมภาพันธ์ 2500” เข้าถึงเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562. บทความ ““เลือกตั้งสกปรก สกปรกตั้งแต่ออกแบบรธน.” เสวนาเบื้องหลังเลือกตั้งสกปรก 2500” เข้าถึงเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562.   เรื่อง: กษิดิศ อนันทนาธร