จุฑาฑัตต เหล่าธรรมทัศน์ เด็กปั้นทางการเมือง “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ?

จุฑาฑัตต เหล่าธรรมทัศน์ เด็กปั้นทางการเมือง “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ?

เด็กปั้นทางการเมือง “สุเทพ เทือกสุบรรณ”

ย้อนไปเมื่อราว 10 ปีที่แล้ว พลัม–จุฑาฑัตต เหล่าธรรมทัศน์ อาจนึกภาพตัวเองในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ออก เพราะเธออาจเป็น “นักธุรกิจ” ผู้กุมบังเหียนรีสอร์ทหรูระดับ 5 ดาวของครอบครัวที่ จ.กาญจนบุรี แต่วันนี้เมื่อเธอเลือกจะสวมหมวก “นักการเมือง” หญิงสาวที่กำลังจะเข้าสู่วัย 34 ปีในไม่ช้านี้ ได้รับบทบาทครั้งใหม่ในชีวิตเป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ของพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) นอกเหนือจากสถานะเหรัญญิกของพรรค หลังจากที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หัวหน้าพรรค และ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค รปช. ไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ลาออกจากสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ปี 2562 ทำให้ ทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง เลขาธิการพรรคฯ ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับที่ 5 เลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส. แต่เนื่องจากทวีศักดิ์มีปัญหาด้านสุขภาพที่อาจมีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จึงได้ยื่นขอลาออกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ปี 2562 ทำให้ลำดับถัดมา คือ จุฑาฑัตต เหล่าธรรมทัศน์ ขยับขึ้นมาเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อแทน ในฐานะคนจากตระกูล “เหล่าธรรมทัศน์” และเป็นบุตรสาวคนโตของทายาทนักธุรกิจค้าข้าวระดับแนวหน้าของประเทศ จุฑาฑัตตมีประสบการณ์ด้านธุรกิจ ในฐานะเป็นผู้อำนวยการ “เทวมันตร์ทรา รีสอร์ตแอนด์สปา” โรงแรมระดับ 5 ดาว ที่ จ.กาญจนบุรี ซึ่งปัจจุบันมีน้องชายวัย 27 ปี “พลับ–จุฑาภัทร เหล่าธรรมทัศน์” อดีตนักร้องเด็กชื่อดัง เจ้าของเพลง “ใครใครก็ไม่รักผม” มารับหน้าที่เป็นผู้บริหารหนุ่มไฟแรงต่อจากพี่สาว จุฑาภัทร ผู้เป็นน้องชายที่แม้มีอายุห่างจากพี่สาว 7 ปี แต่คู่นี้ถือเป็นพี่น้องที่สนิทกันมาก ครั้งหนึ่งเขาเคยให้สัมภาษณ์ถึงพี่สาวไว้ว่า “เป็นคนที่จริงจังกับงานมาก” เมื่อครั้ง เทวมันตร์ทรา รีสอร์ตแอนด์สปา เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง จุฑาฑัตตให้สัมภาษณ์กับประชาชาติธุรกิจ เมื่อปี 2553 ว่า หลังเรียนจบปริญญาโท (สาขาบริหารระหว่างประเทศ ที่ Royal Holloway, University of London) เธอเป็นคนขอคุณพ่อมาคุมโครงการทั้งหมดที่ยังสร้างไม่เสร็จ หลังจากผู้รับเหมาทิ้งงาน ทำจนโรงแรมเริ่มเข้าที่เข้าทาง โดยเดินทางไปศึกษารายละเอียดทุกส่วนจากพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน พระราชวังบางปะอิน และอาคารของกระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นสไตล์โคโลเนียลสมัยรัชกาลที่ 6 ณ เวลานั้น จุฑาฑัตตเตรียมตัวเต็มที่สำหรับการสานต่อธุรกิจโรงแรม เพราะเตรียมตัวมาตั้งแต่ระดับเป็น “เด็กฝึกงาน” ซึ่งเธอฝึกงานภาคปฏิบัติที่โรงแรมโฟร์ซีซั่น “ขอทำแผนกแม่บ้าน เพราะคิดไว้ในใจ คิดว่าต้องมาทำโรงแรมให้คุณพ่อ จึงทุ่มเทเริ่มจากระดับล่าง ขัดห้องน้ำ ปูเตียง ถูพื้น ซักรีด ได้เห็นโครงสร้างแผนกแม่บ้าน ต้องประสานกับฝ่ายต้อนรับและจัดเลี้ยง เรียนจบเขียนใบสมัครงานเป็นพนักงานให้โฟร์ซีซั่น ทำหน้าที่คอยช่วยผู้จัดการทำเอกสาร” หญิงสาวเล่าไว้ แต่หาก “กฎของแรงดึงดูด” มีจริง “แรงดึงดูดทางการเมือง” ก็ดูจะมีพลังล้ำหน้าแรงดึงดูดด้านธุรกิจสำหรับจุฑาฑัตต อาจเริ่มด้วยกฎแห่งแรงดึงดูดแรก ในฐานะหลานสาวของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และนักการเมืองผู้ถูก ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งฉายาจนสื่อใช้พาดหัวว่า “ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง” อย่าง ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของทฤษฎีทางการเมืองดัง “สองนคราประชาธิปไตย” ผู้ผันตัวมาเกือบสองทศวรรษลงสนามการเมืองในนามพรรคประชาธิปัตย์ พรรคมหาชน ก่อนจะเงียบหายไปทำงานด้านวิชาการและเขียนหนังสือ ก่อนกลับมาอีกครั้งกับพรรครวมพลังประชาชาติไทย ซึ่งหนนี้มากันแบบ “แพ็คเกจ” ทั้งลูกชายคือเขตรัฐ และหลานสาวคือจุฑาฑัตต ร่วมลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยกัน หากย้อนไปไกลกว่านั้น “กฎแห่งแรงดึงดูด” ครั้งแรก เริ่มปรากฏในช่วงวัยยี่สิบต้น ๆ จุฑาฑัตตเคยเกี่ยวข้องกับงานการเมืองระยะสั้น ๆ เพราะเธอมีโอกาสได้ทำงานหน้าห้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยุค “มาดามติ้ง-พล.ท.หญิงพูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ” ภรรยาของ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ที่ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ช่วงปี 2551 กฎแห่งแรงดึงดูดเดียวกันนี้ยังทำหน้าที่ของมันต่อไป เมื่อจุฑาฑัตตคือ แนวร่วม กปปส. ผู้เดินเคียงข้าง “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ นำพา “ม็อบนกหวีด” ออกตระเวนเดินเชิญชวนประชาชนให้ออกมาร่วมชุมนุมชัตดาวน์ กรุงเทพมหานคร ช่วงปี 2557 จนถูกสื่อรายงานว่าผู้หญิงที่คอยถือถุงผ้ารับเงินบริจาคให้ “ลุงกำนัน” คนนี้ คือ “เลขานุการส่วนตัว” ตอกย้ำความทรงจำด้วย เถกิง สมทรัพย์ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมบลูสกายชาแนล ซึ่งมีบทบาทอย่างสูงในช่วงการชุมนุม กปปส. ระหว่างปี 2556-2557 ที่บลูสกายฯ ได้ติดตามถ่ายทอดสดการชุมนุมตลอด 24 ชั่วโมง ได้โพสต์เฟซบุ๊กตั้งค่าสาธารณะ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ปี 2562 โดยเถกิงได้โพสต์ภาพจุฑาฑัตต เดินคู่อยู่กับ สุเทพ เทือกสุบรรณ ช่วงการชุมนุม กปปส. พร้อมข้อความส่วนหนึ่งที่บรรยายไว้ว่า [caption id="attachment_10867" align="aligncenter" width="480"] จุฑาฑัตต เหล่าธรรมทัศน์ เด็กปั้นทางการเมือง “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ? จุฑาฑัตต และ สุเทพ เทือกสุบรรณ (ภาพจาก Facebook: เถกิง สมทรัพย์)[/caption] “พลัม” ถือถุงเงินเดินตามกำนันสุเทพรับบริจาคจากชาว กปปส. จนเป็นที่รู้จักกันดี วันนี้เธอเตรียมเป็น “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” บัญชีรายชื่อพรรค รปช. แทน ม.ร.ว.จัตุมงคล ที่ลาออกไปเป็นรัฐมนตรีแรงงาน...คุณภาพในฐานะนักการเมืองหน้าใหม่คนนี้อาจยังรอวันพิสูจน์ แต่เรื่องรักชาติรักเมืองไทย ไม่มีแพ้ใคร.. จากถ้อยคำบรรยายย้อนอดีตของเถกิง จึงไม่แปลกใจหากสื่อจะรายงานว่า จุฑาฑัตตคือ “เด็กปั้น” ทางการเมืองของสุเทพ ที่ไม่ลงสมัคร ส.ส. แต่รั้งบทบาท “โค้ช” ให้พรรค หากย้อนไปดูสายสัมพันธ์ของสุเทพกับ “เหล่าธรรมทัศน์” อาจมองเห็นความเชื่อมโยงที่ว่า จุฑาฑัตตเป็นบุตรสาวของ ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และประธานกรรมการ บริษัท อุทัยโปรดิวส์ จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกข้าวหอมมะลิรายใหญ่ ซึ่ง ร.ต.ท.เจริญ นั้นรู้จักและมีสายสัมพันธ์กับ สุเทพกันมาอย่างยาวนาน สายสัมพันธ์อันดีที่ทั้งคู่มีให้กัน ขนาดที่มีสื่อรายงานว่า เมื่อครั้งสุเทพในฐานะ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ (มปท.) ระดมทุนก่อสร้างวิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ร.ต.ท.เจริญ ในนามสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้บริจาคเงินสร้างหอประชุม “ขวัญข้าว” มูลค่า 23 ล้านบาท รวมถึงช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ต้นปี 2560 สุเทพนำคณะลงพื้นที่มอบถุงยังชีพให้กับประชาชนที่ประสบอุทกภัย พร้อมอดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ สาย กปปส. โดยมีจุฑาฑัตตเป็นตัวแทน ร.ต.ท.เจริญ ไปมอบข้าวสารช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย นอกเหนือจากนี้ จุฑาฑัตตก็ยังคอยมาช่วยงาน มูลนิธิ มปท. ต้อนรับแขกผู้ใหญ่ชาวต่างชาติที่เข้าพบสุเทพด้วย ไม่ว่าจะถูกมองว่าเป็น “เด็กปั้น” ทางการเมืองหรือไม่ แต่คำตอบก็มีอยู่ในตัวเมื่อ จุฑาฑัตตรับหน้าที่ “เหรัญญิก” ของพรรค รปช. และถูกจัดอันดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไว้ลำดับต้น ๆ ต่อท้ายเพียงแค่ ทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง ทนายความคู่บุญของสุเทพ ที่ได้ขยับขึ้นมาเป็น ส.ส. หลัง “หม่อมเต่า” ลาออก เพื่อรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แต่สุดท้าย ทวีศักดิ์แจ้งว่ามีปัญหาด้านสุขภาพอาจกระทบต่อการทำงานจึงขอยื่นลาออก และเป็น จุฑาฑัตตที่ได้ขยับขึ้นมาเป็น ส.ส.คนใหม่ ในวัยเพิ่งจะสามสิบต้น ๆ อาจกล่าวไม่ได้เสียทีเดียวว่า นี่คือจังหวะ “ส.ส.ส้มหล่น” ของเธอ เพราะว่ากันตามจริง ลำดับรายชื่อถูกวางไว้ในตำแหน่งหวังผลของพรรค ที่ทางการทำงานในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อจากนี้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ความเป็น “พลัม - จุฑาฑัตต เหล่าธรรมทัศน์” ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อหน้าใหม่ในสภา เพราะความรับผิดชอบและงานการเมืองในสภาฯ ช่างแตกต่างกับประสบการณ์การเมืองบนท้องถนน และต้องสลัดภาพจำการถูกพาดหัวจากสื่อว่าเป็น ส.ส. “พี่สาวน้องพลับ” ผู้ร้องเพลง “ใครใครก็ไม่รักผม ขนาดพัดลมยังส่ายหน้าเลย”   เรื่อง: มิสนอราห์