แม่ถ้วน หลีกภัย แม่ค้าพุงปลาผู้หัดเป็นหัวคะแนนตั้งแต่วัยทีน

แม่ถ้วน หลีกภัย แม่ค้าพุงปลาผู้หัดเป็นหัวคะแนนตั้งแต่วัยทีน

แม่ค้าพุงปลาผู้หัดเป็นหัวคะแนนตั้งแต่วัยทีน

การเมืองไทยที่เคยมีการเลือกตั้งเป็นปกติทุกสี่ปีหนก่อนทุกอย่างจะเปลี่ยนไปหลังการรัฐประหารสองครั้งล่าสุดนั้น บรรยากาศการหาเสียงมักเป็นไปอย่างคึกคัก มีสีสัน และบรรยากาศเก่า ๆ เหล่านี้ก็เริ่มกลับมาให้เห็นอีกครั้งในการเลือกตั้ง 2562 ที่ประชาชนตื่นตัวกันมาก หลังต้องอยู่กับรัฐบาลที่ประชาชนไม่ได้เลือกเข้ามานั่งบริหารมาเป็นเวลานานหลายปี ในช่วงหาเสียงเช่นนี้ คนที่ต้องทำงานหนักไม่แพ้ผู้ลงสมัครก็คือบรรดา “หัวคะแนน” ซึ่งที่ผ่านมาถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นผู้ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้ชิดกับประชาชน สามารถช่วย “คุม” คะแนนเสียงให้กับผู้แทนที่ส่วนใหญ่ต้องมาปฏิบัติหน้าที่ในส่วนกลางได้ และหัวคะแนนที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งในอดีตก็คงหนีไม่พ้น “แม่ถ้วน หลีกภัย” ที่คนไทยรู้จักคุ้นเคยมากกว่าผู้แทนหลายคน แม่ถ้วน คือแม่ค้าขายพุงปลา อาหารยอดฮิตของคนใต้ที่ช่วยผลักดันลูกชาย “ชวน หลีกภัย” อดีตทนายหนุ่มให้เป็นผู้แทนจากจังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ จนก้าวไปสู่ตำแหน่งสูงสุดในทางการเมืองในฐานะนายกรัฐมนตรีคนที่ 20 ของประเทศไทย ชีวิตของแม่ถ้วนต้องบากบั่นตั้งแต่ยังเด็ก ด้วยต้องดูแลแม่ที่ไม่ค่อยสบายรวมถึงน้อง ๆ ทำให้เธอไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือหนังหา ต้องหัดทำมาหาเลี้ยงครอบครัวด้วยการทำสวนและค้าขายทั้งปลาแห้ง ปลาเค็ม กะปิ และพุงปลา ในขณะที่เธอมีความฝันที่จะเป็น “นางพยาบาล” ข้อจำกัดทางครอบครัวจึงทำให้ความของเธอกลายเป็นหมันไป เมื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่น ตอนนั้นเป็นช่วงที่ประเทศไทยเพิ่งเข้าสู่ช่วงต้นของการเปลี่ยนแปลงการปกครองมีการเลือกตั้งผู้แทนประชาชนเป็นปากเสียงในสภาเป็นครั้งแรก (2476) แม่ถ้วนก็ได้มีส่วนร่วมกับการเลือกตั้งหนนี้ด้วยการเป็น “หัวคะแนน” ให้กับ “ครูจัง” (จัง จริงจิตร, ผู้แทนคนแรกของตรัง) “ตอนนั้นยายอายุสิบสี่สิบห้า ยายสนใจการเมืองแล้ว จำได้ว่าตอนนั้นสมัยรัชกาลที่ 7 ก็มีรัฐธรรมนูญแล้ว เขาจะต้องเลือกผู้แทน มีคนนึงชื่อครูจังเขาลงสมัครเลือกผู้แทน ยายก็บอกว่ายายจะหาเสียงให้ เขาก็ไม่เชื่อหรอกว่ายายจะทำได้ เพราะเราเป็นเด็กด้วย แต่ยายว่ายายทำได้ พอวันไหนยายไม่ไปเก็บพลูขาย ยายก็จะไปยืนดักคน บอกเขาให้เลือกครูจังเถอะ ครูจังเป็นคนดี ชาวบ้านเขาก็เลือกกัน พอได้ผู้แทนแล้ว ครูจังก็มาถามยายว่าจะเอารางวัลอะไร ยายก็ขอให้เขาหาที่ขายหมาก ขายมะพร้าวให้ ตกลงครูจังก็หาให้ได้ที่ปีนัง ทีนี้ยายก็เลยขายหมากแห้ง มะพร้าวแห้งได้เงินมาก” แม่ถ้วนเล่าถึงการเป็นหัวคะแนนในการเลือกตั้งสมัยแรกในประวัติศาสตร์ (เริงศักดิ์ กำธร. ชวน หลีกภัย ลูกแม่ค้าขายพุงปลา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บางหลวง, 2535. น. 16) (ใครว่าคนบ้านนอกไม่มีการศึกษาคงไม่สนในการเมืองควรดูแม่ถ้วนเป็นกรณีศึกษา) จุดนี้เองที่ทำให้แม่ถ้วนพอลืมตาอ้าปากได้ ค้าขายได้เงินทองเป็นกอบเป็นกำ ความขยันหมั่นเพียรทำให้เธอกลายเป็นที่หมายปองของหนุ่ม ๆ แต่เธอเลือกจะตกร่องปล่องชิ้นกับ “ครูนิยม” คุณครูประชาบาลร่างเล็ก บิดาของ ชวน หลีกภัย ด้วยประสบการณ์ในวัยเด็กประกอบกับทักษะในการขายของที่สั่งสมมาในฐานะแม่ค้า ทำให้แม่ถ้วนไม่ใช่หัวคะแนนไร้ประสบการณ์เมื่อลงมาช่วยลูกชายหาเสียงในการเลือกตั้งสมัยแรกในปี 2512 แม่ถ้วนเล่าว่า หนึ่งในแรงผลักดันในเธอต่อสู้เพื่อลูกชายก็เพราะคราวหนึ่งเมื่อเธอนั่งอยู่บนรถไฟได้ถูกหัวคะแนนของผู้สมัครคู่แข่งดูหมิ่นว่า นายชวนตัวก็เล็ก แม่ก็เป็นแค่แม่ค้าพุงปลาในตลาดไม่มีทางเป็น ส.ส.ได้ พร้อมท้าเดิมพันว่า ถ้านายชวนได้จะให้ 100 บาท แลกกับขี้หมากองเดียว ทำให้เธอเสียใจมากที่ลูกโดนดูถูก จึงทุ่มเทเต็มที่ในการหาเสียงให้กับลูกชาย วิธีการหาเสียงของเธอก็ไม่ซับซ้อน เมื่อตอนที่ถูกหัวคะแนนเจ้าอื่นปรามาสแม่ถ้วนก็สามารถโต้แย้งด้วยเหตุผลทันควัน บอกว่าแม้เธอจะเป็นเพียงแม่ค้าในตลาด แต่ลูกชายก็มีความรู้ความสามารถเรียนจบวิชากฎหมายจากกรุงเทพฯ สามารถเป็นปากเป็นเสียงให้ชาวจังหวัดตรังได้ และการเป็นแม่ค้าแม่ขายทำให้เธอพบปะผู้คนมากหน้าหลายตา เมื่อลูกค้ามาอุดหนุนเธอก็จะชี้ชวนลูกค้าช่วยมอบโอกาสให้กับลูกชายพร้อมกับแถมของให้บ้างเล็กน้อย คราวใดที่มีงานศพ เธอก็จะหอบพวงหรีดติดชื่อนายชวนไปฝากเจ้าภาพและใช้โอกาสนี้พูดขอคะแนนเสียงให้ลูกชาย สุดท้ายลูกชายของแม่ถ้วนก็สามารถฝ่าด่านเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้สำเร็จ ทั้งลบคำปรามาสที่เธอต้องเผชิญ ในการเลือกตั้งสมัยต่อ ๆ มา แม่ถ้วนจึงได้ช่วยลูกชายหาเสียงอยู่เสมอ และเป็นผู้ที่คอยรับฟังปัญหาของชาวบ้านเพื่อนำไปถ่ายทอดต่อให้กับลูกชายทำหน้าที่คล้าย ๆ เป็นผู้แทนคนหนึ่ง ทำให้แม่ถ้วนเป็นที่รัก และยังคงเป็นที่จดจำของชาวจังหวัดตรัง (แม่ถ้วนเสียชีวิตแล้วเมื่อปี 2554)