ชวน หลีกภัย นักการเมืองครึ่งศตวรรษ ในรอยทาง “เย็นลมป่า”

ชวน หลีกภัย นักการเมืองครึ่งศตวรรษ ในรอยทาง “เย็นลมป่า”

ชวน หลีกภัย เป็นนักการเมืองที่โลดแล่นในแวดวงมานานร่วมครึ่งศตวรรษ เขามีถิ่นกำเนิดจากตรัง เขาเคยเขียนเรื่องเล่าจากป่ายางเป็นตอน ๆ ซึ่งสะท้อนแนวคิดและประสบการณ์ทางการเมืองได้น่าสนใจ

สมรภูมิเลือกตั้ง 22 มีนาคม 2535 กับ 24 มีนาคม 2562 มีความละม้ายคล้ายกันอยู่เรื่องหนึ่งคือ พรรคประชาธิปัตย์ ประสบความพ่ายแพ้ยับเยินในสนามกรุงเทพฯ แต่ครั้งโน้นยังโชคดีได้ ส.ส.มา 1 คนคือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่วนครั้งนี้ ปชป.สูญพันธุ์

ก่อนเลือกตั้ง 2535/1 พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดพิมพ์หนังสือ ‘เย็นลมป่า’ เพื่อมอบเป็นอภินันทนาการแด่ผู้มีพระคุณที่ได้มอบเงินช่วยเหลือพรรคในการเลือกตั้งหนนั้น

ชวน หลีกภัย’ เขียนคำนำ “เย็นลมป่า” ตอนหนึ่งว่า

หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ผมปฏิเสธการชักชวนให้เข้าป่าจับอาวุธสู้กับคนไทยด้วยกันเอง ผมจะอยู่เพื่อพิสูจน์ความจริง และจะสู้ตามแนวทางที่ผมเชื่อ ศรัทธา ... ประชาธิปไตย เมื่อเหตุการณ์เริ่มสงบแล้ว ผมได้กลับไปอยู่ที่ตรังบ้านเกิด ได้พบเหตุการณ์อันเป็นผลของ 6 ตุลาคม 2519 ดังปรากฏอยู่ใน ‘เย็นลมป่า’...

บ้านเกิดของชวน หลีกภัย ในมุมประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ-การเมืองท้องถิ่นก็น่าสนใจ

ตรังหรือท่าตรัง เป็นเมืองค้าขาย การทำสวนยางและทำเหมืองแร่โดยชาวจีนฮกเกี้ยน ส่งผลให้คนตรังมีความรู้ ความประณีตทางความคิด และมีวัฒนธรรมผสมผสาน

ครูแซ่ลิกับแม่ค้าท่าจีน

คนส่วนใหญ่มักจะรู้จัก ‘แม่ถ้วน หลีกภัย’ ในฐานะหัวคะแนนของลูกชาย และแม่ค้าขายพุงปลา แต่เรื่องราวแม่ถ้วนเป็นแม่ค้าข้ามชาติ ไม่ค่อยมีคนได้ยินได้ฟังมากนัก (คลิกอ่านเรื่อง แม่ถ้วน หลีกภัย แม่ค้าพุงปลาผู้หัดเป็นหัวคะแนนตั้งแต่วัยทีน)

แม่ถ้วน หรือ ‘กิมถ้วน’ เกิดในชุมชนชาวจีนฮกเกี้ยน บ้านท่าจีน ต.บางรัก อ.เมือง จ.ตรัง ซึ่งบ้านท่าจีนเป็นตลาดริมแม่น้ำตรัง ชาวจีนโพ้นทะเลกลุ่มใหญ่จะมาปักหลักที่ท่าจีน ก่อนจะแยกย้ายกันไปอยู่ตามหัวเมืองอื่น ๆ

ส่วนคู่ชีวิตของกิมถ้วนคือ ‘นิยม หลีกภัย’ หรือชื่อในภาษาจีน ‘ลิ เฉิน ฟะ’ เรียนจบจากโรงเรียนซันหว่าฮก พอเรียนจบครู ครูนิยมก็ไปสอนที่โรงเรียนควนวิเศษ ชาวบ้านเรียกครูนิยมว่า ‘ครูเฮิด’

เนื่องจากแม่ถ้วนเติบโตที่ท่าจีน จึงรู้ช่องทางค้าขายระหว่างตรัง-ปีนัง โดยแม่ถ้วนจะนำมะพร้าวแห้ง หมากแห้งนั่งเรือไปขายที่ปีนัง ได้เงินมาก็แลกเป็นทองคำกลับบ้าน แม่ถ้วนไม่ได้เรียนหนังสือ แต่มีหัวค้าขาย คิดเร็วทำเร็ว

ผลพวงจากการค้าขาย กลายเป็นทุนการศึกษาให้ลูก ๆ ทั้ง 8 คน ได้เรียนหนังสือ “เราเป็นนายหัวก็ต้องทำงาน ขายของออกทุกนัด เขาเป็นครู เขามีเกียรติ เราไม่มีเกียรติอะไรก็ทำเอง”

แม่ถ้วนนั่งเรือจากท่าจีนไปต่อเรือลำใหญ่ที่ปากน้ำกันตัง เดินทางไปขายมะพร้าวแห้งหมากแห้งที่ปีนังอยู่หลายสิบปี

ลัทธิมาร์กซขึ้นฝั่งที่กันตัง

แม่น้ำตรังไหลผ่านตัวเมืองตรัง ลงสู่ทะเลอันดามันที่ปากน้ำกันตัง ซึ่งเมื่อปี 2390-2400 ได้มีชาวจีนฮกเกี้ยนพากันอพยพโดยทางเรือเข้ามาตามสายน้ำดังกล่าว ต่างก็มาลงหลักปักฐานทำมาหากิน ที่หมู่บ้านท่าจีน

พ่อค้าชาวจีนที่ประกอบอาชีพและทำสวนยางแถวเมืองตรัง จะส่งบุตรหลานไปเรียนต่อกรุงเทพฯ รวมถึงปีนัง และหาดใหญ่ ลูกหลานรุ่นต่อมาของพวกเขา จึงได้มีโอกาสรับรู้เรื่องราวของโลกภายนอก

เมื่อมีการขนส่งแร่ธาตุและยางพาราผ่านท่าเรือกันตัง จึงทำให้เมืองกันตังเป็นศูนย์รวมกุลีรับจ้างชาวจีนโพ้นทะเล ซึ่งสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน สาขาประเทศไทย ที่อำพรางตัวเป็นกุลีรับจ้าง ได้นำความคิดปฏิวัติมาเผยแพร่ และหาทุนสนับสนุนการปฏิวัติจีน

ความคิดการเมืองที่ก้าวหน้าได้แพร่กระจายจากท่าเรือกันตังไปทั่วภาคใต้ ปี 2485 มีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และคนตรังได้เลือก ‘นักลัทธิมาร์กซ-เลนิน’ เป็นผู้แทนราษฎรมาแล้วคนหนึ่งคือ ประภาส คงสมัย ทนายความหนุ่มสมัยโน้น

ปี 2503 สงครามประชาชนได้เริ่มก่อตัวขึ้นบนเทือกเขาบรรทัด (รอยต่อจังหวัดตรัง-พัทลุง-นครศรีธรรมราช-กระบี่-สตูล) และการสู้รบในเขตป่าเขารุนแรงขึ้น หลัง 6 ตุลาคม 2519

ตัวละครในวรรณกรรม ‘เย็นลมป่า’ ก็คือผู้คนที่อยู่ตรงกลาง ฟากหนึ่งคือคนป่า อีกฟากหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ

คนใต้และไฟเย็น

เมื่อคณะทหารนำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อ 6 ตุลาคม 2519 ชวน หลีกภัย จึงหลบร้อนมายังบ้านเกิด ครั้งนั้นเขามีโอกาสรับรู้เรื่องของผู้คนที่รู้จัก คุ้นเคย และไม่เคยพบพานมาก่อน ทั้งหมดล้วนประสบชะตากรรมเดียวกัน

นักการเมืองชื่อดังเมืองตรัง ได้ถ่ายทอดเรื่องจริงผ่านบทบันทึกชุด เย็นลมป่า เรื่องราวของชาวบ้านในป่ายาง ที่พยายามดำเนินชีวิตอย่าง ‘ไม่เลือกข้าง’ ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐกับ พวกป่า (ชาวบ้านมักเรียกสหายแห่งกองทัพปลดแอกฯ ว่า พวกป่า)  

“ความเป็นกลาง เป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับคนที่รักตัวเองและครอบครัว ใครไม่รักตัวเอง ใครไม่รักครอบครัว มิใช่เพราะพวกเขาไม่รักชาติ มิใช่เพราะเขาเอาใจฝักใฝ่ศัตรู...เขาเชื่อว่าความเป็นกลางคุ้มครองเขาได้ดีกว่าอำเภอหรือโรงพัก” ชวนสรุปจากการไปพบปะชาวบ้านเหล่านั้น

ตอนแรก อดีต ส.ส.ตรังเขียนเรื่องเล่าจากป่ายางเป็นตอน ๆ ส่งไปตีพิมพ์ในนิตยสารพาที ตามคำชักชวนของ ขรรค์ชัย บุนปาน บรรณาธิการ

ลองกลับมาอ่าน ‘เย็นลมป่า’ วรรณกรรมที่สะท้อนภาพความขัดแย้งในชนบทภาคใต้ยุคสงครามเย็น และได้เห็นร่องรอยความคิดของชวน หลีกภัย ช่วงเวลาหนึ่ง

13 มีนาคม 2521 ผู้ใหญ่ช่วง บ้านหน้าเขา ต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ถูกลอบยิงที่หน้าบ้านของตัวเอง นัยว่าเป็นการล้างแค้นของพวกป่า เพราะปลายปี 2520 มีนักศึกษา 2 คนที่เข้าป่า ถูกยิงตายตรงปากทางบ้านหน้าเขา จึงทำให้พวกป่าปักใจว่า ผู้ใหญ่ช่วงเป็นสายลับให้เจ้าหน้าที่บ้านเมือง

หลังสามี-ผู้ใหญ่ช่วงเสียชีวิต ชวน หลีกภัย เดินทางไปเยี่ยมป้าช่วน ภรรยาผู้ใหญ่บ้าน จึงเป็นที่มาของบทที่ 6 ของบันทึกเย็นลมป่า ที่อดีตนายกฯ ชวน เปิดเรื่องด้วยฉากบรรยายสภาพหมู่บ้านสมัยโน้น

“..ด้านหน้าของหมู่บ้านเป็นหน้าผาหินสีเทา สูงชันตั้งฉากกับตีนเขา หน้าผาเป็นแผ่นกว้างเหมือนฉาก หรือจอหนังขนาดใหญ่ ชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านจะสามารถแหงนหน้ามองเห็นหน้าผาสูงใหญ่นี้ได้เกือบทุกหลังคาเรือน

16 ธันวาคม 2520 เกิดเหตุชายนิรนาม 11 คน พร้อมอาวุธครบมือ ปล้นตลาดสถานีรถไฟคลองมวน พวกป่าก็ปฏิเสธ เจ้าหน้าที่รัฐก็บอกไม่มี อส.หรือตำรวจเกี่ยวข้อง ชวน หลีกภัย ได้นำเขียนเรื่องนี้ไว้ในบทที่ 4 และตอนท้ายได้เขียนว่า

“ประชาชนคลองมวนก็ยังมีความหวังว่า พวกป่าจะจัดการหาตัวคนร้ายมาให้พวกเขา และพวกป่าจะช่วยจัดการลงโทษโจรแทนชาวบ้านต่อไป

หลังเรื่องของชวนตีพิมพ์ในนิตยสารพาที ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2522 พวกป่าได้นำชายคนหนึ่งมาบริเวณใต้ต้นมะขาม หลังสถานีรถไฟคลองมวน แล้วลั่นกระสุนใส่ชายคนนั้นเสียชีวิต พร้อมประกาศว่า เป็นการลงโทษพวกที่ปล้นตลาดคลองมวน แต่ชาวบ้านไม่พอใจพวกป่า เพราะเชื่อว่าชายที่ถูกยิงตายน่าจะเป็นแพะ และพวกป่าจัดฉากลงโทษ หวังคะแนนนิยมจากชาวบ้านมากกว่า

19 ตุลาคม 2521 เกิดเหตุทหารป่าซุ่มโจมตีรถตำรวจ สภ.ต.ปากแจ่ม ระหว่างจะนำตัวผู้ต้องหาไปส่งที่ สภ.ห้วยยอด ปรากฏว่า ตำรวจ ผู้ต้องหาและนักเรียนที่อาศัยรถมาด้วยเสียชีวิตรวม 14 ศพ แต่มีคนรอดตาย 1 คนคือ ดาบดำรง

สาเหตุที่ดาบดำรงรอดตาย เนื่องจากครั้งหนึ่งเคยไปช่วยรักษาอาการบาดเจ็บของช้างในป่า ซึ่งคาดเดาว่า เจ้าของช้างน่าจะเป็นแนวร่วมกับพวกป่า หลังจากเหตุโจมตีรถตำรวจ หัวหน้าพวกป่าเคยติดต่อให้ดาบดำรงไปพบในค่ายใหญ่ เขาเลยได้ฉายาว่า ตำรวจคอมฯ

เรื่องราวของดาบดำรง ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในเย็นลมป่าตอนที่ตีพิมพ์ในนิตยสารพาที หากแต่อดีตนายกฯ ชวน ได้เขียนเพิ่มในช่วงที่มีพิมพ์รวมเล่มครั้งที่ 2

ชวน หลีกภัย เขียนไว้ในหน้า 81 “วันปีใหม่ได้จบลงเพียง 1 มกราคม 2521 อนาคตไม่ได้สิ้นสุดลงเพียงวันพรุ่งนี้ ใครจะบอกได้ว่า เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 มิใช่หลุมศพอันลึกใหญ่ที่เขาช่วยกันขุดฝังตัวเอง อนาคตเท่านั้นที่จะบอกเรา”

‘เย็นลมป่า’ อาจเป็นเพื่อนทางใจของชวน ในยามที่ต้องเจอพายุการเมือง ธรรมชาติของกาลเวลา ทำให้สรรพสิ่งในโลกใบนี้เปลี่ยน ชวนอาจจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน แต่ที่แน่ ๆ ตัวหนังสือไม่เคยเปลี่ยน

 

เรื่อง: ชน บทจร 

อ้างอิง:

นพส.ผู้จัดการรายสัปดาห์ 19-25 ต.ค.2535 
นสพ.ผู้จัดการรายสัปดาห์ 30 พ.ย.-6 ธ.ค.2535