พยัคฆ์ประจิม ‘กำนันเซี้ย’ และโลกการเมืองตระกูล ‘โพธิพิพิธ’ แห่งกาญจนบุรี ยุคไร้เสาหลัก

พยัคฆ์ประจิม ‘กำนันเซี้ย’ และโลกการเมืองตระกูล ‘โพธิพิพิธ’ แห่งกาญจนบุรี ยุคไร้เสาหลัก

พยัคฆ์ประจิม ‘กำนันเซี้ย’ และโลกการเมืองของตระกูล ‘โพธิพิพิธ’ แห่งกาญจนบุรี ในยุคเปลี่ยนผ่าน แนวรบย้ายพรรค คนในตระกูลโผล่ทั้งภูมิใจไทย และเพื่อไทย

  • ตระกูลโพธิพิพิธ บ้านใหญ่แห่งกาญจนบุรีเคยมีกำนันเซี้ย เป็นเสาหลัก แต่หลังจากถูกมรสุมคดีบุกรุกที่ดินราชพัสดุฯ กลายเป็นความท้าทายของรุ่นหลัง
  • ทายาทของตระกูลโพธิพิพิธ เช่น อัฎฐพล โพธิพิพิธ และธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ ไปอยู่ภูมิใจไทย ขณะที่พลอย ธนิกุล ลูกเลี้ยงของกำนันเซี้ยลงสนามครั้งแรกมาในเสื้อพรรคเพื่อไทย

ยุคหนึ่ง นักข่าวสายอาชญากรรมจะเรียกขาน ‘ฉลามบูรพา’ หมายถึงกำนันเป๊าะ และ ‘พยัคฆ์ประจิม’ ก็คือกำนันเซี้ย

30 ปีที่แล้ว กำนันเซี้ย - ประชา โพธิพิพิธ กำนันตำบลท่าเรือพระแท่น อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี เริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังในยุทธจักรภาคตะวันตกในฐานะนายกสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 7 ก่อนจะผันตัวเองเข้าสู่ถนนการเมือง เมื่อปี 2538

การเลือกตั้ง ส.ส.กาญจนบุรี สมัยที่แล้ว เป็นปีแรกที่ไม่มีกำนันเซี้ย อยู่ในสังเวียน เพราะหลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศ และปีนี้ก็เช่นเดียวกัน เหลือเพียงทายาทกำนันเซี้ย ยังลงสมัคร ส.ส. เพื่อรักษาฐานเสียงตระกูลโพธิพิพิธ

ปี 2566 แนวรบด้านตะวันตก อาจเปลี่ยนแปลง เมื่อ ส.ส.กาญจนบุรี สมัยที่แล้ว ย้ายพรรคยกทีม ขณะเดียวกัน พรรคการเมืองใหญ่ได้จัดทีมผู้สมัคร ส.ส.หน้าใหม่ ลงสนาม

สำหรับตระกูลโพธิพิพิธ สองพี่น้อง อัฎฐพล โพธิพิพิธ และธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ อดีต ส.ส.กาญจนบุรี ย้ายจากพลังประชารัฐ ไปภูมิใจไทย ส่วนลูกเลี้ยงกำนันเซี้ย พลอย ธนิกุล ลงสนามครั้งแรกในสีเสื้อเพื่อไทย

ระหว่างการหาเสียงในพื้นที่ชายแดนตะวันตก ทั้ง อัฎฐพล โพธิพิพิธ และธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ ขายยี่ห้อลูกกำนันเซี้ย ต่างจาก พลอย ธนิกุล ลูกสาวแคล้ว ธนิกุล และลูกเลี้ยงกำนันเซี้ย เลือกขายแบรนด์อุ๊งอิ๊ง

เจ้าพ่อไร่อ้อย

80 ปีที่แล้ว กำนันเซี้ย เติบโตในย่านคนจีน ต.ท่าเรือพระแท่น อ.ท่ามะกา เดิมชื่อเด็กชายเขี่ยงเซี้ย แซ่หลี่ หรือเขี่ยงเซี้ย แปลว่า ‘กำแพงใหญ่และแข็งแรง’ ซึ่งครอบครัวเซี้ย ปลูกอ้อยขายโรงงานน้ำตาล เหมือนชาวเมืองกาญจน์ทั่วไป

ต่อมา เซี้ยได้เป็นผู้ใหญ่บ้าน และขยับเป็นกำนัน ต.ท่าเรือพระแท่น เนื่องจาก อ.ท่ามะกา เป็นที่ตั้งของสมาคมไร่อ้อยเขต 7 กำนันเซี้ย จึงได้เป็นนายกสมาคม กุมฐานมวลชนคนไร่อ้อยไว้ในมือ

สมัยรัฐบาลเปรม ยุคทองของคนปลูกอ้อย สมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 (กาญจนบุรี, ราชบุรี, นครปฐมและสุพรรณบุรี) มีบทบาทในการต่อสู้เรียกร้องราคารับซื้ออ้อย มีการชุมนุมปิดถนนนับครั้งไม่ถ้วน กำนันเซี้ย จึงเป็นที่หมายตาของพรรคการเมืองใหญ่

อยู่มาวันหนึ่ง พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ สมัยนั้น มาเอ่ยชวนกำนันเซี้ยลงสมัคร ส.ส.กาญจนบุร ปี 2538

“กำนันลงประชาธิปัตย์หน่อยนะ ผมไม่ทิ้งกำนันหรอก” นับแต่นั้นมา กำนันเซี้ย หรือ ประชา โพธิพิพิธ ก็ได้เข้าสู่สังเวียนเลือกตั้งเมืองกาญจน์ แต่ไม่ชนะทุกครั้งหรอก

ช่วงเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ กำนันเซี้ย ได้รับเลือกเป็น ส.ส.กาญจนบุรี โซน อ.พนมทวน, อ.ท่าม่วง, อ.ท่ามะกา และ อ.ห้วยกระเจา อยู่ 2 สมัย

ปี 2544 มีการเลือกตั้งแบบเขตเดียว เบอร์เดียว กำนันเซี้ย ย้ายฐานธุรกิจจาก อ.ท่ามะกา ไปปักหลักที่ อ.บ่อพลอย และ อ.ทองผาภูมิ จึงลงสมัคร ส.ส.กาญจนบุรี เขต 5 (อ.ทองผาภูมิ, อ.ไทรโยค, อ.สังขละบุรี, อ.ศรีสวัสดิ์ และอ.หนองปรือ)

ครั้งนั้น กำนันเซี้ย ในสีเสื้อ ปชป. พ่าย พล.ต.ศรชัย มนตริวัต พรรคไทยรักไทย และปี 2548 กำนันก็ยังแพ้ พล.ท.มะ โพธิ์งาม พรรคไทยรักไทย 

“เลือกตั้งมีแพ้ มีชนะ ไม่ใช่ว่าแพ้แล้ว เราต้องตาย..” กำนันเซี้ยบอกกับคนใกล้ชิด และปี 2550 อัฏฐพล โพธิพิพิธ ลูกชายคนโตของกำนันเซี้ย ได้รับเลือกเป็น ส.ส.กาญจนบุรี สมัยแรก

ปี 2554 กำนันเซี้ย ประกาศนำทัพพรรค ปชป. ชนพรรคเพื่อไทย โดยผลการเลือกตั้งหนนั้น ปชป.เมืองกาญจน์ ได้รับเลือกเป็น ส.ส. 3 เขต จากทั้งหมด 5 เขตคือ เขต 2 ฉัตรพันธ์ เดชกิจสุนทร, เขต 4 กำนันเซี้ย ประชา โพธิพิพิธ, เขต 5 ศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ ภรรยารังสรรค์ รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ อดีตนายก อบจ.กาญจนบุรี

ลูกชายคนโตของกำนันเซี้ย อัฎฐพล โพธิพิพิธ ลงสมัคร ส.ส.เขต 1 แพ้อดีตนายทหารใหญ่ พรรคเพื่อไทย แต่น้องชาย ธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ ได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ปัจจุบัน กำนันเซี้ย และซ้อเขม เผชิญวิบากคดีบุกรุกที่ดินราชพัสดุฯ ศาลฎีกาตัดสินจำคุก 2 ปี 8 เดือน และได้หลบหนีไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน

ซ้อเขม หรือ เขมพร ต่างใจเย็น เข้ามาอยู่ใต้ชายคาผู้มากบารมีแห่งเมืองกาญจน์ เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ซ้อเขมกลายเป็นแม่ทัพธุรกิจ-การเมือง ในยุคที่กำนันเซี้ย ย้ายฐานธุรกิจจาก อ.ท่ามะกา มาอยู่ อ.บ่อพลอย

หลังผู้กว้างขวางเมืองหลวง แคล้ว ธนิกุล สิ้นชีวิต เขมพร ต่างใจเย็น ก็มาเริ่มต้นชีวิตคู่กับกำนันเซี้ย ที่เมืองกาญจน์

กำนันเซี้ยและเขมพร ร่วมก่อร่างสร้างอาณาจักรใหม่จนเติบใหญ่ ได้แก่ บริษัท เขมราชการสร้าง จำกัด ดำเนินกิจการรับเหมาก่อสร้าง และฟาร์มปศุสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในกาญจนบุรีชื่อ ‘เขมประชาฟาร์ม’ ซึ่งเลี้ยงไก่แม่พันธุ์ และพ่อพันธุ์โคเนื้อ อยู่ที่ ต.ช่องด่าน อ.บ่อพลอย บนเนื้อที่จำนวน 2,100 ไร่

ซ้อเขม - เขมพร มีลูกติดมาจากเฮียแคล้ว 5 คน และหนึ่งในนั้นคือ พลอย ธนิกุล อดีตเลขานุการนายก อบจ.กาญจนบุรี

 

อนาคตลูกกำนันเซี้ย

วันที่ไม่มี ‘พยัคฆ์ประจิม’ อยู่ในสนามการเมืองกาญจนบุรี ทายาทกำนันเซี้ย จึงต้องโลดแล่นไปตามลำพัง สมัยที่แล้ว อัฏฐพลและธรรมวิชญ์ ย้ายจากพรรค ปชป.ไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ต่างก็ได้รับเลือกเป็น ส.ส.ทั้งคู่

อัฏฐพล หรือสุเมศ โพธิพิพิธ อดีตสมาชิกสภาเทศบางตำบลท่าเรือพระแท่นและอดีตเทศมนตรีเทศบาลตำบลท่าเรือพระแท่น ก่อนจะเข้าสู่สนามเลือกตั้ง ส.ส.และได้รับเลือกเป็น ส.ส.กาญจนบุรี เขต 5 (อ.สังขละบุรี) สมัยที่ 2 เมื่อปี 2562

ผู้ใหญ่แหลม หรือ ธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 14 บ้านตะคร้ำเอน และอดีตนายก อบต.ตะคร้ำเอน อ.ท่ามะกา ก่อนได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปี 2554 โดยสมัยที่แล้วลงสมัคร ส.ส.กาญจนบุรี เขต 4 (อ.บ่อพลอย) ซึ่งเป็นเขตเดิมของกำนันเซี้ย

การเลือกตั้งครั้งใหม่ ทายาทกำนันเซี้ย สวมเสื้อพรรคภูมิใจไทย ลงสมัคร ส.ส.กาญจนบุรี ท่ามกลางการแข่งขันที่สุดสูสีกว่าครั้งที่แล้ว

ส่วน พลอย ธนิกุล ลูกสาวเฮียแคล้ว และลูกเลี้ยงกำนันเซี้ย ตัดสินใจลงสมัคร ส.ส.กาญจนบุรี เขต 3 (อ.ท่ามะกา) ซึ่งเป็นเขตบ้านเกิดของกำนันเซี้ย คนละพรรคกับทายาทกำนันเซี้ย

การเลือกตั้งชายแดนตะวันตก ปี 2566 อาจเป็นศึกสุดท้ายของตระกูลโพธิพิพิธ หากกระแสเมืองกาญจน์ต้องเปลี่ยน ปรากฏเป็นจริง ไม่ใช่แค่วาทกรรมบนเวทีหาเสียง

 

เรื่อง: ชน บทจร

ภาพ: (ขวา) อัฏฐพล (กลาง) กำนันเซี้ย ภาพจาก NATION PHOTO และธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ จากเพจธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ/Facebook