พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ นายทหาร "ตำนานจ๊อด" แห่งประวัติศาสตร์การเมืองไทย

พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ นายทหาร "ตำนานจ๊อด" แห่งประวัติศาสตร์การเมืองไทย

นายทหาร "ตำนานจ๊อด" แห่งประวัติศาสตร์การเมืองไทย

วิถีนายพลเสื้อคับ "จ๊อด" คงทรนง นักการเมืองไทย 2 คน ต้องจดจำชื่อ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่ก่อการยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 คนแรกคือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่ต้องหอบครอบครัวไปลี้ภัยอยู่เดนมาร์ก 7-8 เดือน และวันที่ 24 ธันวาคม 2534 เฉลิมพร้อมครอบครัวก็ได้กลับเมืองไทย และประโยคแรก ๆ ที่เฉลิมบอกนักข่าวก็คือ “กลับมานี่ เพราะพี่จ๊อด ท่านอนุญาตให้กลับ เพราะผูกพันกันในฐานะลูกน้องเก่ากับนายเก่าสมัยเป็นทหาร” คนที่สองคือ ทักษิณ ชินวัตร ผู้กล้าเขียนหนังสือยอมรับว่า “ไม่มีพี่จ๊อด ก็ไม่มีผมในวันนี้” เนื่องจากทักษิณเข้าสู่ธุรกิจโทรคมนาคม ด้วยการเข้าประมูลโครงการดาวเทียมของกระทรวงคมนาคม และชนะประมูล แต่กลุ่ม “วาเคไทย” ได้ยื่นหนังสือประท้วงกับรัฐมนตรีคมนาคม สมัยปี 2533 จนเรื่องค้างไว้ หลังรัฐประหาร 2534 กลุ่มวาเคไทยได้ยื่นหนังสือคัดค้านถึง พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ และระหว่างนั้น ทักษิณเข้าพบ พล.อ.สุนทร จากนั้นนักธุรกิจหนุ่มวัย 40 ต้น ๆ ก็ได้สัมปทานดาวเทียมไทยคม ใต้เงาระบอบอุปถัมภ์ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ความเป็น “พี่จ๊อด” จึงทรงพลานุภาพยิ่ง ดังเรื่องเล่าของทักษิณและเฉลิม   นายพลเสื้อคับ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ มีชื่อเล่นว่า “จ๊อด” และได้รับฉายาจากสื่อมวลชนสายทหารว่า “นายพลเสื้อคับ” เนื่องจากบุคลิกส่วนตัวที่ชอบแต่งเครื่องแบบรัดรูป มีคติประจำตัวคือ "ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน" มองจากภายนอก พล.อ.สุนทร มีบุคลิกแบบนักเลง แต่คนใกล้ชิดยืนยันว่า “พี่จ๊อดมีเสน่ห์ในการซื้อใจคนรอบข้าง โดยเฉพาะลูกน้อง เพราะมีนิสัยชอบให้คนอื่น ใครเดือดร้อนมาช่วยหมด” พล.อ.สัมพันธ์ บุญญานันต์ อดีต รมว.กลาโหม สมัยรัฐบาลทักษิณ กล่าวถึงนายทหารรุ่นพี่ ผู้เป็นสัญลักษณ์ของคนกล้าหาญ เสียสละ จริงใจ และรักลูกน้องเป็นที่หนึ่ง พล.อ.สุนทร เป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นแรกของหลักสูตรใหม่ ที่เรียน 5 ปี ของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.1) เป็นนักเรียนนายร้อย จปร. รุ่นเดียวกับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และ พล.อ.จรวย วงศ์สายัณห์ จุดเปลี่ยนในวิถีขุนศึกของ พล.อ.สุนทร คือ การเบนเข็มเข้าอบรมในหลักสูตร “นักบินกองทัพบก” และสำเร็จการศึกษาทั้งสูตรปฐมและมัธยม ในปี 2516 และปี 2524 เป็นผู้บัญชาการศูนย์การบินทหารบก ห้วงเวลานั้น ศูนย์การบินทหารบก ลพบุรี มีบทบาทสำคัญยิ่งในสมรภูมิรบ จ.น่าน และ จ.เพชรบูรณ์ ในยุทธการทำลายล้างฐานที่มั่นใหญ่ของฝ่ายคอมมิวนิสต์ “ผบ.จ๊อด” ได้รับการโจษขานถึงวีรกรรมห้าวหาญในการขับเฮลิคอปเตอร์ฝ่าม่านกระสุนของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ตามคำเรียกของฝ่ายรัฐบาล) เข้าสนับสนุนการรบของทหารราบ ปี 2527 พล.อ.สุนทร เป็นผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ซึ่งเป็นหน่วยนักรบหมวกแดงที่ลือชื่อของกองทัพบก เมื่อเพื่อนรัก พล.อ.ชวลิต ได้รับการแต่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก นายพลเบเร่ต์แดง จึงขยับเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ในปี 2529 ฤดูกาลโยกย้ายปี 2530 พล.อ.สุนทร ถูกโยกจาก ทบ. ข้ามไปเป็นเสนาธิการทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด สื่อมวลชนสมัยโน้นก็สงสัยว่า เหตุใด พล.อ.ชวลิต จึงไม่วางตัวเพื่อนจ๊อดเป็นทายาทในกองทัพบก ปลายรัฐบาลเปรมสมัยที่ 3 พล.อ.ชวลิต ได้รับความไว้วางใจควบ 2 ตำแหน่งคือ ผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารสูงสุด   เพื่อนชื่อ “จิ๋ว” หลังเลือกตั้งทั่วไป ปี 2531 พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหม สถานการณ์ในกองทัพยังปกติ จนกระทั่ง “ทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก” เริ่มแผลงฤทธิ์ วันที่ 1 สิงหาคม 2532 พล.อ.ชวลิต ผบ.ทบ. และรักษาการ ผบ.สส. ในเวลานั้น ออกมาพูดว่า คอร์รัปชันในปัจจุบันมีแนวโน้มสูงขึ้นถึง 90% ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี หรือทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก ออกมาโต้นายพลจิ๋วว่า "ใครที่กล่าวว่ารัฐบาลพลเรือนมีการคอร์รัปชันสูงขึ้น 90% นั้น ให้กลับไปปัดกวาดบ้านเรือนของตัวเองเสียก่อน กองทัพไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมือง" คำพูดของคุณชายสุขุมพันธ์ ทำให้นายทหารกว่า 600 นาย ภายใต้การนำของ พล.อ.วิโรจน์ แสงสนิท (ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก-ตำแหน่งขณะนั้น) แกนนำ จปร.5 ได้มาชุมนุมกันที่โรงแรมเซ็นทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว เรียกร้องให้นายกฯ ชาติชาย ปลดคุณชายสุขุมพันธ์ออกจากตำแหน่ง สุดท้ายแล้ว คุณชายสุขุมพันธ์จึงยื่นใบลาออกจากการเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นัยว่า การแสดงพลังของ จปร.5 เป็นการ “ซื้อใจ” พล.อ.ชวลิต เนื่องจาก “พี่จิ๋ว” ของน้อง ๆ สัญญาว่าจะลาออกก่อนเกษียณ เพื่อเปิดทางให้นายทหารรุ่นน้องได้ขยับขึ้นมาเป็นผู้นำเหล่าทัพ พล.อ.ชวลิต ลาออกจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. และ ผบ.สส. ในวันที่ 27 มีนาคม 2533 ตามคำสัญญา โดย พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็น ผบ.ทบ. และ พล.อ.สุนทร เป็น ผบ.สส. แต่ก่อนหน้านั้น พล.อ.ชวลิต ก็โยก พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ออกจาก บก.สูงสุด คืนรังเป็น ผบ.ทอ. [caption id="attachment_19935" align="aligncenter" width="1200"] พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ นายทหาร "ตำนานจ๊อด" แห่งประวัติศาสตร์การเมืองไทย จากซ้าย: พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร[/caption] ปฏิวัติเพื่อเพื่อน ก่อนการยึดอำนาจ 23 ก.พ. 2534 พล.อ.ชาติชาย พยายามประนีประนอมกับผู้นำเหล่าทัพ กระทั่งเกิดกรณีรถโมบายยูนิตของ อสมท ที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ส่งมาสืบข่าวฝ่ายทหาร ปลายปี 2533 พล.อ.สุจินดา ผบ.ทบ. และแกนนำกลุ่ม จปร.5 ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “ทหารเสื่อมศรัทธาในรัฐบาล” โดยเฉพาะท่าทีของ “เฉลิม” เมื่อมีการปรับ ครม. ชาติชาย โดยแต่งตั้ง พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก เป็นรัฐมนตรีช่วยกลาโหม ซึ่งถูกจับจ้องว่าตั้งขึ้นมาเพื่อปลดนายพลเสื้อคับ  และ พล.อ.สุจินดา ผบ.ทบ. ในที่สุด พล.อ.สุจินดา วางแผนร่วมกับ พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี จากนั้น เขาจึงไปปรึกษา พล.อ.อ.เกษตร ก่อการยึดอำนาจ โดยเชิญ พล.อ.สุนทร มาเป็นหัวหน้า รสช. นายพลเสื้อคับตอบรับการเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติในทันที เพราะก่อนหน้านั้น พล.อ.สุนทร ได้ปรึกษาหารือกับนายทหารบางกลุ่ม เตรียมก่อการรัฐประหาร ยึดอำนาจเพื่อ “เพื่อนจิ๋ว” สาเหตุที่ พล.อ.สุนทร คิดจะก่อการยึดอำนาจ สืบเนื่องจากนายกฯ ชาติชาย เชิญ พล.อ.ชวลิต ให้เข้าร่วมรัฐบาล เป็นรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แต่ พล.อ.ชวลิต ก็ลาออกจากทั้งสองตำแหน่ง เพราะถูกโจมตีอย่างหนักจาก ร.ต.อ.เฉลิม และโจมตีคุณหญิงพันเครือ ยงใจยุทธ ภริยา ว่าเป็น “ตู้เพชรเคลื่อนที่” เมื่อนายทหาร จปร.5 ก่อการยึดอำนาจรัฐบาลชาติชาย พล.อ.สุนทร ก็นึกว่า เป็นการทำให้ พล.อ.ชวลิต ผู้เป็นทั้งนายเก่าและเพื่อนรัก หลังจากที่มีการแต่งตั้ง อานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี บทบาทของ พล.อ.สุนทร แปรเปลี่ยนเป็นประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ เมื่อรู้ว่า พล.อ.สุจินดา มิได้ยึดอำนาจเพื่อ “เพื่อนจิ๋ว” หากแต่เป็นการสืบทอดอำนาจผ่านกระบวนการเลือกตั้ง พล.อ.สุนทร ก็เล่นไปตามเกมอำนาจ ไม่ได้นึกถึงเพื่อน จปร.1 หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ครั้นเกิดวิกฤตการเมือง พ่อเลี้ยงณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม เป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้ นักข่าวก็จับจ้องมาที่ประธานสภา รสช. ว่า จะให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุนทร ตอบว่า “ไม่สุก็เต้ ถ้าสุไม่เอาก็ให้เต้” (“สุ” คือ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผบ.ทบ. ส่วน “เต้” คือ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ผบ.ทอ. ในขณะนั้น) แม้ “นายพลเสื้อคับ” จะไม่ได้เป็น ผบ.ทบ. แต่ทายาท พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ก็ขึ้นรับตำแหน่ง ผบ.ทบ. คนที่ 41 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2561 ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ ไม่ปฏิเสธว่ากองทัพจะไม่ก่อรัฐประหารขึ้นอีก เช่นที่บิดาของเขาเคยทำมาแล้ว   เรื่อง: ชน บทจร