23 ก.พ. 2566 | 08:30 น.
24 กุมภาพันธ์ 2022 กองทัพรัสเซียเปิดฉากปฏิบัติการทางการทหารบุกเข้าสู่ประเทศยูเครน ส่งกองกำลังทหาร 130,000 นายประชิดพรมแดนทางตะวันออกของยูเครน สร้างความหวาดหวั่นให้กับพลเมืองทั้งในยูเครนและผู้คนที่ติดตามข่าวสารอยู่อีกซีกโลกหนึ่งไม่น้อย เพราะหากสงครามอุบัติขึ้น คงไม่มีใครหนีรอดจากผลกระทบจากศึกครั้งนี้เป็นแน่
แม้จะมีการคาดการณ์จากเหล่านักวิชาการทั้งไทยและเทศออกมาบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า อีกไม่นานความขัดแย้งครั้งนี้คงจบลง แต่โลกความจริงไม่ได้เดินตามเกมของเหล่าผู้เชี่ยวชาญเสมอไป เมื่อการสู้รบกลับยืดเยื้อยาวนานจนเวลาล่วงเลยมาครบ 1 ปีเต็ม
นอกจากตราประทับแห่งความเจ็บปวดและรอยร้าวในใจชาวยูเครนแล้ว การสู้รบครั้งนี้ยังทำให้ระเบียบโลกเกิดการสั่นคลอน เพราะนี่คือตัวชี้ชะตาว่าใครจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำโลกประเทศถัดไป ท่ามกลางไฟสงครามที่ไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงในเร็ววัน
สงคราม – สันติภาพที่เลือนราง
ก่อนการเคลื่อนกองกำลังทหารนับแสนรายเข้าประชิดพรมแดนยูเครน ประธานาธิบดี ‘วลาดิมีร์ ปูติน’ (Vladimir Putin) เคยประกาศกร้าวว่า ไม่ว่าชาวรัสเซียจะอยู่ในมุมใดของโลก หากพวกเขาถูกข่มเหงรังแกและไม่ได้รับความเป็นธรรม รัสเซียก็พร้อมจะบุกเข้าไปช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติให้รอดพ้นจากสถานการณ์ดังกล่าว
ซึ่งยูเครนในฐานะที่เป็นประเทศบ้านพี่เมืองน้อง อีกทั้งยังมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ร่วมกับรัสเซียหลายต่อหลายอย่าง การที่ยูเครนเริ่มตีตัวออกห่างเอนเอียงไปหาตะวันตก ไม่ต่างจากการมีภัยคุกคามขนาดย่อมก่อตัวขึ้นในสวนหลังบ้าน เพราะหากประเทศที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิด ไปเป็นพันธมิตรกับยุโรป เท่ากับว่าระเบียบโลกแบบเสรีนิยม (liberal order) ที่สหรัฐฯ สร้างขึ้นมานั้น อาจกลับมาผงาดโดยไม่มีประเทศอื่นใดคอยถ่วงดุลอำนาจ รัสเซียคงตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เหมือนมีหอกมาจ่อตรงคออยู่ตลอดเวลาเป็นแน่
ด้วยเหตุนี้ ปูตินจึงอ้างในแถลงการณ์ก่อนประกาศปฏิบัติการทางการทหารพิเศษ ระบุว่าเป็นไปเพื่อล้มล้างรัฐบาลนีโอนาซีที่กรุงเคียฟ ปกป้องคนในชาติรัสเซียที่อาศัยอยู่ในยูเครนให้รอดพ้นจากการถูกกดขี่ข่มเหง และปลดปล่อยดินแดนทางภาคตะวันออกให้เป็นอิสระ
มองในมุมมองของรัสเซีย หากยูเครนซึ่งมีพรมแดนติดกับอดีตประเทศผู้นำสหภาพโซเวียต เลือกตีตัวออกห่างย่อมทำให้โลกตะวันตกอย่างสหรัฐฯ สามารถขยายเขตอิทธิพลขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต (NATO) เข้าใกล้รัสเซียได้ทุกขณะ ซึ่งเป็นการทำผิดสัญญาที่ผู้นำระดับโลกเคยให้ไว้ว่า ‘จะไม่ขยายเขตอิทธิพลเข้าหารัสเซีย แม้แต่นิ้วเดียว’ (แม้ไม่เคยมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรว่าสหรัฐฯ เคยสัญญากับผู้นำโซเวียตจริง ๆ ก็ตาม มีเพียงคำพูดที่รัสเซียยังคงหยิบยกขึ้นมาอ้างว่าพญาอินทรีย์เคยให้คำมั่นไว้ ซึ่งการบุกยูเครนครั้งนี้เกิดขึ้นจากชาติตะวันตกเป็นคนผิดคำพูดก่อน - ผู้เขียน)
ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 และยูเครนแยกตัวออกไปปกครองตนเอง พวกเขาก็เริ่มรู้จักคำว่าเสรีภาพ และระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย ระบอบที่ประชาชนมีสิทธิมีเสียงในการแสดงออกทางความคิดเห็น นับแต่นั้น เสียงของประชาชนในประเทศก็แตกออกเป็น 2 ฝ่าย บ้างก็อยากเห็นยูเครนมีอำนาจอธิปไตย มีเอกราช และมีที่ยืนในเวทีโลก โดยไม่ต้องอาศัยอิทธิพลจากประเทศรัสเซียในการผลักดันให้พวกเขามีสิทธิ์มีเสียง
ส่วนอีกกลุ่มมองว่ายูเครนมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ร่วมกันกับรัสเซีย ประเทศทั้งสองจึงไม่ต่างจากเพื่อนร่วมชาติ ที่มีแค่ชื่อประเทศเป็นตัวระบุว่าใครเป็นคนของชาติไหน อีกทั้งยูเครนยังไม่แข็งแรงพอที่จะออกมายืนด้วยตนเอง การมีรัสเซียอยู่จึงเป็นเหมือนเบาะกันกระแทกให้พวกเขาไม่เจ็บปวดจากโลกที่อำนาจเงินตรา และกำลังทหาร คือตัวชี้วัดว่าใครคือผู้แข็งแกร่ง
ความเสียหายทางเศรษฐกิจ
สงครามนี้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทั้งจากฝั่งยูเครนและรัสเซีย แม้ไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัดว่าประเทศใดกำลังเพลี่ยงพล้ำ แต่จากข้อมูลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights--OHCHR) จนถึงวันที่ 13 ก.พ. 2023 ระบุว่า มีจำนวนพลเรือนเสียชีวิตในยูเครนแล้ว 7,199 คน
และได้รับบาดเจ็บอีก 11,756 คน ขณะที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (Office of the United Nations High Commissioner for Refugees--UNHCR) เผยสถิติการอพยพของผู้ลี้ภัยไปยังประเทศต่าง ๆ พบว่ามีราว 7.7 ล้านคน และในจำนวนประชากรราว 44 ล้านคนของยูเครน มีผู้ต้องพลัดถิ่นฐานภายในประเทศเกือบ 7 ล้านคน
"เชื่อว่าจำนวนที่แท้จริงสูงกว่านี้มาก เพราะกำลังมีการรับข้อมูลจากสถานที่หลายแห่งซึ่งมีการปะทะกันอย่างดุเดือดเข้ามา และมีรายงานหลายแห่งว่า กำลังมีการตรวจสอบยืนยันอยู่" (จากบทความ รัสเซีย ยูเครน : 1 ปี แห่งสงคราม ความแหลกลาญที่ยังไม่จบ สำนักข่าวบีบีซี)
นอกจากชาวยูเครนจะตกเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงแล้ว ประเทศอื่นทั่วโลกก็ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งครั้งนี้ไม่แพ้กัน สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า 1 ปี สงครามรัสเซีย-ยูเครน เศรษฐกิจโลกเสียหายหนัก และมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีแนวโน้มไปในทิศทางใด เพราะสมรภูมิรบยังคงเปิดฉากสู้รบกันไม่เว้นวัน หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น เงินเฟ้อก็ตามมาติด ๆ
ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมด้านพลังงานทั่วโลกเองก็แทบจะอยู่ในขั้นวิกฤต โดยเฉพาะประเทศในยุโรปที่พึ่งพาก๊าซจากรัสเซียมาโดยตลอด (ยกตัวอย่างเช่นประเทศเยอรมนี - ผู้เขียน) ถึงจะมีการคาดการณ์ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 2.7% ในปี 2023 แต่ตัวเลขนี้ยังต่ำกว่าการเติบโตในช่วงก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 รวมถึงสงครามรัสเซีย ที่โตเฉลี่ย 3.8% ส่วนปี 2567 คาดว่าขยายตัว 3.1% ซึ่งประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำ
แม้ว่าสงครามจะสร้างความเสียหายขนานใหญ่ แต่ ‘ธนาธิป อุปัติศฤงค์’ อดีตทูตไทยประจำรัสเซีย กลับมองต่างออกไป โดยเขาให้สัมภาษณ์ในบทความ ‘ธนาธิป อุปัติศฤงค์ อดีตทูตไทยประจำรัสเซีย มอง 1 ปีสงครามยูเครน’ เผยแพร่เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2023 ผ่านทางมติชนออนไลน์ เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ตั้งแต่ที่เขาประจำการ ณ กรุงมอสโก โลกที่เขาเห็นก็เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอข่าวที่ชาติตะวันตกพยายามชี้นำให้คนทั่วโลกเห็นและเข้าใจว่ารัสเซียเป็นตัวร้าย ไปจนถึงข่าวการทยอยถอนการลงทุน ปิดตัวห้างร้าน และเชนร้านอาหารชื่อดังไปทีละราย
“...รัสเซียเป็นประเทศที่ร่ำรวยด้วยทรัพยากรที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้ง่าย หรือจะกินใช้เองก็อยู่ได้อย่างเพียงพอ ซึ่งเป็นผลจากที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ปฏิรูปประเทศในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา หากถามว่าศักยภาพและกำลังทางเศรษฐกิจของรัสเซียเองมีพอกับการดูแลประชาชนของเขาไหม หากเราไม่ได้เสพแต่สื่อสายหลักของชาติตะวันตกที่ส่งเสียงได้ดังกว่าสื่อสายอื่นเพียงอย่างเดียว จะเห็นข้อเท็จจริงว่า ปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพมีเพียงพอแม้ราคาจะไม่ได้ถูกเช่นเดิม
“แต่ก็ไม่ถึงกับเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า จากการเสพสื่อที่สมดุลขึ้นและการเข้าไปดูในพื้นที่จะเห็นว่า ข่าวสารข้อมูลที่เราได้รับจากสื่อสายหลักมีจำนวนไม่น้อยที่เป็นส่วนของการโฆษณาชวนเชื่อที่ทำให้รัสเซียดูเป็นผู้ร้ายโดยสมบูรณ์ ซึ่งการสร้างภาพดังกล่าวอาจทำให้ประเทศต่าง ๆ ยากที่จะประเมินสถานการณ์ได้ตรงกับสภาพความเป็นจริงทั้งหมด และยากแก่การวิเคราะห์และสังเคราะห์ภาพรวมที่เป็นจริง
โดยเขาได้เน้นย้ำว่า รัสเซียไม่ได้จะล่มสลายลงในเร็ววัน เพราะปูตินมีการวางแผนและเตรียมรับมือจากผลกระทบและมาตรการปิดล้อมต่าง ๆ ของชาติตะวันตก ดังนั้นรัสเซียจึงยังคงสามารถยืนหยัดอยู่ได้แม้จะโดนคว่ำบาตรก็ตาม ซึ่งหากมองย้อนในอดีตรัสเซียเป็นประเทศที่โดนคว่ำบาตร จากชาติตะวันตกบ่อยเสียจนกลายเป็นเรื่อง(เกือบ)ปกติของประเทศนี้ไปแล้ว
“...ผลกระทบและมาตรการปิดล้อมต่าง ๆ ของชาติตะวันตกทำให้เกิดสภาวะ VUCA (volatility, uncertainty, complexity and ambiguity) ได้ดีพอสมควร ซึ่งทำให้รัสเซียยังสามารถยืนระยะอยู่ได้แม้จะถูกนานาชาติพันธมิตรนาโต้ที่แข็งแกร่งและในสหประชาชาติร่วมมือกันกดดัน ปิดล้อม และพยายามตัดจุดเป็นจุดตายของรัสเซียอย่างหนัก
“ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา รัสเซียได้เตรียมการต่าง ๆ ไว้ไม่เพียงแต่ด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่ได้คำนึงถึงรูปแบบและวิธีการค้าสินค้าอาหารและโภคภัณฑ์ น้ำมันและพลังงาน รวมทั้งความเข้าใจในเรื่องการเงินระหว่างประเทศและการวางระบบเตรียมการรองรับในกรณีที่จะถูกคว่ำบาตรหรือปิดล้อมไว้ด้วย ซึ่งต่างจากรูปแบบการรับมือในอดีตที่เคยเป็นมา อีกทั้งรัสเซียเองก็ไม่ใช่ว่าจะล้าหลังตกขอบ เทคโนโลยีเขามีความทันสมัยมากในหลาย ๆ เรื่อง
“อย่างการรับมือเรื่องการคว่ำบาตรในการส่งออกน้ำมันและพลังงานจากรัสเซีย ปรากฏว่า มีการซื้อขายกันไม่น้อยแม้จะเป็นประเทศที่ไม่พอใจรัสเซีย โดยเป็นการซื้อแบบเงียบ ๆ ทั้งทางตรง ซื้อผ่านจากโรงกลั่นในสหรัฐฯ ซึ่งมีกฎหมายพิเศษที่ทำให้ภาคเอกชนดำเนินการได้ หรือซื้อโดยผ่านประเทศอื่น ซึ่งการซื้อในลักษณะดังกล่าวอาจเพื่อถนอมน้ำใจสหรัฐฯ ในด้านระบบเงิน หากรัสเซียถูกจำกัดมาก ๆ ก็อาจหันไปใช้เงินในรูปแบบอื่นที่มีการเตรียมการไว้ล่วงหน้า
“ตอนนี้รัสเซียก็กำลังทำบัตร MIR (เมียร์) ซึ่งในภาษารัสเซียแปลได้สองความหมาย คือ โลกหรือสันติภาพ จึงมีระบบของตนเองไว้ต่อเส้นเลือดเพื่อให้อยู่รอดได้ รวมทั้งสร้างระบบการรับชำระเงินร่วมกับประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มความร่วมมือ SCO และในระบบทวิภาคีกับมิตรประเทศ...”
ระเบียบโลกต่อจากนี้
การบุกยูเครนของรัสเซียนอกจากจะเป็นการแสดงแสนยานุภาพและความเหนือชั้นของอาวุทยุทธโธปกรณ์แล้ว ยังเป็นการปรับหมุดระเบียบโลกใหม่ หากรัสเซียสามารถเอาชนะได้จริง หลังจากนี้คงเห็นโลกใบใหม่ที่รัสเซียจะกลายเป็นผู้กำหนดระเบียบโลกทุกอย่างให้เป็นไปตามที่ปูตินต้องการ
แต่โลกแห่งความจริงไม่เป็นเช่นนั้น ความคาดหวังที่จะเปลี่ยนขั้วอำนาจให้มาอยู่ในมือของรัสเซียกลับยิ่งห่างไกลไปทุกขณะ เพราะสมรภูมิรบครั้งนี้กลับเป็น ‘ผู้ช่วย’ ฟื้นคืนชีพระเบียบโลกที่นำโดยสหรัฐฯ ให้กลับมาผงาดอีกครั้ง โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร ได้ให้ความเห็นไว้ในบทความ ปูติน ‘รีเซ็ต’ ระเบียบโลก แต่ดันเข้าทางสหรัฐฯ เผยแพร่เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2022 ผ่านทางเว็บไซต์ The 101.world ไว้ว่า
สงครามยูเครนผลักให้พันธมิตรโลกตะวันตกและนาโตรวมพลังกันเป็นหนึ่งเดียว เพราะมีภัยความมั่นคงร่วม และการหยุดส่งก๊าซไปยังยุโรปทำให้พวกเขาต้องหันไปพึ่งพาสหรัฐฯ แทน เมื่อรัสเซียแสดงท่าทีแข็งกร้าว สหรัฐฯ สามารถนำเอาภาพลักษณ์ของรัสเซียมาฉายให้ชาติพันธมิตรในยุโรป เพื่อให้พวกเขาเห็นพ้องต้องกันว่า รัสเซียเป็นภัยคุกคามที่ต้องร่วมมือกันต่อต้าน
อีกเหตุผลที่เป็นตัวแปรสำคัญในการเปลี่ยนระเบียบโลก คือ ยูเครนจะยิ่งตอกย้ำเทรนด์การลดความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและตะวันตก ซึ่งเป็นความตั้งใจของทั้งสองฝ่าย เพราะต่างก็มองไปในอนาคตว่าถ้าเกิดขัดแย้งกันและต้องใช้มาตรการคว่ำบาตรแบบที่ทำกับรัสเซีย จีนต้องพยายามพึ่งพาตัวเองให้มากขึ้นจะได้เจ็บตัวให้น้อย ส่วนสหรัฐฯ และฝั่งตะวันตกที่มีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับจีนสูง ก็จะต้องลดความเชื่อมโยงกับจีน จะได้เจ็บตัวน้อยลงเช่นกัน (จากบทความ ปูติน ‘รีเซ็ต’ ระเบียบโลก แต่ดันเข้าทางสหรัฐฯ เขียนโดย อาร์ม ตั้งนิรันดร เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ The 101.world )
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าระเบียบโลกจะปรับไปในทิศทางใด การมีหลายประเทศมาคอยถ่วงดุลอำนาจย่อมดีกว่ามีประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นผู้นำแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งคงต้องรอติดตามกันต่อไปว่า สงคราม-ความขัดแย้งครั้งนี้จะจบลงอย่างไร
อ้างอิง
https://www.bbc.com/news/world-europe-56720589
https://www.bbc.com/thai/international-64676037