28 เม.ย. 2566 | 16:03 น.
- ออฟ - เผ่าภูมิ ถึงแม้จะอยู่ในปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 89 ของพรรคเพื่อไทย แต่เชื่อกันว่า ถ้าหากเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล เขาจะมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ เพราะเขายังควบตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทยอีกด้วย
- ในวันที่พรรคเพื่อไทยอยู่ในภาวะมืดมนหลังรัฐประหาร เผ่าภูมิเดินเข้ามาที่พรรคแห่งนี้ด้วยการเชิญชวนของ นายภูมิธรรม เวชยชัย คีย์แมนคนสำคัญของพรรค และเริ่มทำงานด้านการพัฒนา วิจัยและออกแบบนโยบาย
หากพูดถึงพรรคการเมืองที่มีจุดขายเชิงนโยบายที่ชัดเจนที่สุด ประสบความสำเร็จที่สุด คงไม่มีพรรคไหนเทียบได้กับ ‘พรรคเพื่อไทย’ ที่ถนัดในเกมการแข่งขันเชิงนโยบายและการเลือกตั้ง เอาชนะมาได้ในทุกสมัย ส่วนหนึ่งคงต้องยกเครดิตให้ทีมนโยบายเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยที่มีความเข้มแข็งจากรุ่นสู่รุ่น
ค่าแรงรายวัน 600 บาท, ปริญญาตรี 25,000 บาทในปี 2570, Digital Wallet 10,000 บาท, สำรวจรายได้ครัวเรือนหากครอบครัวใดต่ำกว่า 20,000 บาท รัฐจะเติมให้
นี่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเรือธงในการเลือกตั้งปี 2566 ของพรรคเพื่อไทย ที่เมื่อปล่อยออกมาก็เกิดการถกเถียงในสังคมเป็นวงกว้าง พรรคอื่น ๆ ต้องออกมาตอบโต้รายวัน นั่นแปลว่านโยบายเหล่านั้นได้รับความสนใจ
หากมองไปถึงทีมนโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย เรียกได้ว่าเป็นระดับ ‘The Avengers’ ทั้งสิ้น มี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เป็นประธาน พร้อมผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ ได้แก่ นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ อดีตที่ปรึกษาด้านนโยบาย 3 นายกรัฐมนตรี, นายเศรษฐา ทวีสิน นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของประเทศ, ดร.ปานปรีย์ มหิทธานุกร อดีตผู้แทนการค้า และที่ปรึกษานายกด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศมาร่วมเป็นที่ปรึกษา
นอกจากนี้ยังมี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เป็นรองประธาน
แต่เมื่อไล่รายชื่อไปเรื่อย ๆ จะพบกับ ‘นักนโยบายเศรษฐกิจ’ หนุ่มคนหนึ่งที่ปรากฏตัวท่ามกลางขุนพลเศรษฐกิจระดับบิ๊กเนม เขาคนนั้นคือ ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคและโฆษกคณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย อันทำหน้าที่เหมือน ‘นิค ฟิวรี่’ ในทีม The Avengers จากจักรวาลมาร์เวล (Marvel) ที่จะคอยนำภารกิจที่เหล่าอเวนเจอร์ส ได้รับมอบหมายออกมาสื่อสารกับสังคม
ใครคือ เผ่าภูมิ โรจนสกุล?
ออฟ - เผ่าภูมิ ถึงแม้จะอยู่ในปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 89 ของพรรคเพื่อไทย แต่เชื่อกันว่า ถ้าหากเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล เขาจะมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ เพราะเขายังควบตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทยอีกด้วย
จากประสบการณ์ที่ผ่านงานของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หน่วยงานรัฐที่ถือว่าเป็นคลังสมองของประเทศที่รวมคนเก่งไว้ ทำให้เขาได้รับความไว้วางใจในการจัดทำนโยบาย แต่เรื่องการทำงานในหน่วยงานรัฐนั้นมีข้อจำกัด ทำให้เผ่าภูมิตัดสินใจเบนเข็มสู่เส้นทางการเมือง เผ่าภูมิเคยให้สัมภาษณ์ผ่านฐานเศรษฐกิจว่า
“ภาพวาด ก่อนและหลังได้เข้าไปอยู่ในองค์กร ต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะระบบราชการของไทยยังมีปัญหาอยู่เยอะมาก ด้วยระบบราชการมีหลายลำดับชั้น ทำให้ผลักดันสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นได้ยากพอสมควร ล่าช้า และไม่ได้ตอบสนองในสิ่งที่เราอยากให้มันเป็น นโยบายที่เราคิด ทิศทางที่คิดไว้ ขับเคลื่อนได้ช้า”
ในวันที่พรรคเพื่อไทยอยู่ในภาวะมืดมนหลังรัฐประหาร เผ่าภูมิเดินเข้ามาที่พรรคแห่งนี้ด้วยการเชิญชวนของ นายภูมิธรรม เวชยชัย คีย์แมนคนสำคัญของพรรค และเริ่มทำงานด้านการพัฒนา วิจัยและออกแบบนโยบาย จนได้เป็นกรรมการและเลขานุการกรรมการนโยบายและวิชาการพรรคเพื่อไทย ด้วยดีกรีความรู้ระดับปริญญาเอก ด้านเศรษฐศาสตร์จาก University of Illinois, Chicago สหรัฐอเมริกา
หลังการทำรัฐประหารและการอยู่ในอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาอย่างยาวนาน การเลือกตั้ง 2562 จึงเหมือนเป็นสมรภูมิแรกของเผ่าภูมิ เขาได้มีโอกาสเป็นผู้สื่อสารนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญของเพื่อไทยในขณะนั้น ทั้ง ‘หวยบำเหน็จ’ ที่ปัจจุบัน พรรคไทยสร้างไทยนำไปใช้ต่อ และ ‘กองทุนคนเปลี่ยนงาน’ ที่ปัจจุบันเป็นหนึ่งในชุดนโยบายของพรรคก้าวไกล ล้วนเป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยเคยผลักดันมาก่อน
ในช่วงเพื่อไทยเป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน เผ่าภูมิเองก็เป็นคนออกมาตอบโต้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ความล้มเหลวของ พ.ร.ก. เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท ที่เรียกว่า ‘กู้มาแจก’ รวมไปถึงการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่ผิดพลาด จนทำให้เศรษฐกิจไทยซึมยาว และแม้จะอัดฉีดเงินหลังล็อกดาวน์ เศรษฐกิจไทยก็โตต่ำที่สุดในอาเซียน (ถ้าไม่นับเมียนมา) เรียกได้ว่าเป็นคนขยี้จุดอ่อนของรัฐบาลด้านเศรษฐกิจที่ตรงเป้าตรงประเด็น
สำหรับการเลือกตั้งปี 2566 เขายังต้องเป็นคนสื่อสารกับสังคมในประเด็นค่าแรง 600 บาท และ Digital Wallet ซึ่งเผ่าภูมิชี้แจงเรื่องเงินดิจิทัล 10,000 บาทนี้ว่า
“พรรคเพื่อไทยมองว่าตรงนี้คือปัญหา ดังนั้นการกระตุ้นครั้งใหญ่ต้องเกิดขึ้นเพื่อปลุกชีวิตของประเทศขึ้นมา เราปลุกเศรษฐกิจของประเทศขึ้นมาระดับหนึ่งจากที่อยู่ไอซียู และวันนี้ เราจะปลุกแรง - ปลุกด้วยเงินห้าแสนกว่าล้านบาท ที่ไม่ใช่แค่ปลุกให้ฟื้นเฉย ๆ เราปลุกเสร็จ เราจะทำกายภาพบำบัด เราจะพาคนไทยวิ่งแล้ว เพราะเราเตรียมโครงการเราไว้เยอะ”
ครั้งหนึ่งที่เผ่าภูมิไปออกรายการ Tonight Thailand ร่วมกับ ‘ศิริกัญญา ตันสกุล’ รองหัวหน้าพรรคฝ่ายนโยบายพรรคก้าวไกล ทั้งสองพรรคสะท้อนจุดยืนทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน
ในขณะที่ศิริกัญญามองว่าหากเทียบประเทศไทยเป็นเค้ก อันที่จริงเค้กนั้นมีเพียงพอให้สำหรับคนทุกคน แต่ปัญหาคือคนที่แบ่งเค้กนั้นแบ่งเค้กอย่างไม่เท่าเทียมเหมาะสม แต่ทางด้านเผ่าภูมิมองว่า หากประเทศไทยเป็นเค้ก เราสามารถทำเค้กชิ้นนี้ให้ใหญ่ขึ้นและเพียงพอต่อทุกคน ซึ่งสะท้อนมุมมองและจุดยืนทางเศรษฐกิจที่แต่ละพรรคพยายามผลักดัน
ท้ายที่สุดแล้วเราอาจจะทำทั้งสองอย่างไปพร้อมกันได้ ทั้งทำให้เค้กที่ชื่อประเทศไทยใหญ่ขึ้น ๆ และเฉลี่ยเค้กอย่างเหมาะสมไปด้วยกันได้ ซึ่งผลการเลือกตั้งจะเป็นตัวกำหนดทิศทางอนาคตของประเทศไทย ว่านโยบายของพรรคการเมืองใดสามารถนำไปใช้ได้จริง เพราะเกมเลือกตั้งครั้งนี้แต่ละพรรคแข่งกันในเชิงนโยบายอย่างดุเดือดที่สุดครั้งหนึ่งเลยทีเดียว
ภาพ : แฟ้มภาพ NATION PHOTO
อ้างอิง :