‘เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ’ นักบัญชีผู้ยื่นเรื่องสอย ‘นายกฯ สมัคร’ สู่เป้าร้อง ‘ทิม-พิธา’

‘เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ’ นักบัญชีผู้ยื่นเรื่องสอย ‘นายกฯ สมัคร’ สู่เป้าร้อง ‘ทิม-พิธา’

นักร้อง(เรียน)ในตำนานผู้มาก่อนกาล ‘เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ’ คือนักบัญชีที่ยื่นเรื่องและสอย ‘นายกฯ สมัคร’ ลงจากตำแหน่งได้มาแล้ว คราวนี้เขาเล็งเป้าไปที่ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’

  • ‘เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ’ ยื่นเรื่องร้องเรียน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กรณีครอบครองหุ้นสื่อไอทีวีจำนวน 20,000 หุ้น
  • เรืองไกร มีสถิติเดินเรื่องร้องเรียนบุคคลต่าง ๆ มามากมาย ไล่เรียงตั้งแต่ครั้ง นายกฯ สมัคร, ดร.ทักษิณ ชินวัตร หรือแม้แต่ฝั่งอนุรักษนิยมเองด้วย

นักร้อง(เรียน)ในตำนาน เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คือนักบัญชีที่ยื่นเรื่องและสอย ‘นายกฯ สมัคร’ มาแล้ว ตอนนี้เขาเล็งเป้าที่ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’

สัก 5 - 6 ปีก่อนมีภาพยนตร์ชื่อ The Accountant หรือชื่อไทย ‘นักบัญชีเพชฌฆาต’ เข้าฉายในไทย ในเรื่องพูดถึงการล่าตัวนักบัญชีอัจฉริยะที่กุมความลับของโลกไว้มากมาย และเมื่อเห็นข้อผิดพลาดในบัญชี เขากลับถูกไล่ล่าตามตัวโดยทีมนักฆ่า การเกริ่นถึงเรื่องนี้สื่อว่า บางครั้งข้อมูลบางอย่างทางบัญชีเปลี่ยนเกมได้ทั้งกระดาน

เรากำลังพูดถึง ‘เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ’ นักบัญชีที่มีข้อมูลเป็นอาวุธในการดำเนินการทางการเมือง

ชื่อของเรืองไกร ถูกพูดถึงครั้งแรกในการเป็นปฏิปักษ์กับ ‘ดร.ทักษิณ ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรีที่มีความนิยมสูงมากขณะนั้น โดยเป็นคนตั้งประเด็นว่า ทำไมกรณีตระกูลชินวัตรขายหุ้นของเครือชินคอร์ปแล้วไม่เสียภาษี แต่ตนเองซื้อหุ้นจากบิดาต่อจากบิดากลับต้องเสียภาษี โดยไปยื่นฟ้องกรมสรรพากร ครั้งนั้นในสังคมตั้งคำถามว่า คน ๆ นี้คือใคร

เด็กหนุ่มจากบุรีรัมย์ ที่หลงรักตัวเลขคือนิยามของเรืองไกรในวัยเด็ก เพราะความใฝ่รู้ทำให้เขากลายเป็นคนละเอียด และมุ่งมั่นศึกษาต่อด้านบัญชีที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อนจะจบปริญญาโทด้านบัญชีอีกใบที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทำงานเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี

เมื่อตรวจสอบ ดร.ทักษิณ ในครั้งนั้นเป็นหนึ่งในตัวจุดประกายกระแสของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่นำโดยสนธิ ลิ้มทองกุล แห่งเครือผู้จัดการ ในปี 2548 - 2549 เมื่อกระแสพันธมิตรฯ กำลังขึ้น ครั้งนั้นเรืองไกร ได้เริ่มเส้นทางการเมืองของตนโดยการลงรับสมัครสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพฯ แต่ก็สอบตก ซึ่งครั้งนั้นผู้ที่สอบได้คนหนึ่งจะมีชีวิตที่ต้องโคจรมาเกี่ยวข้องกันอีกครั้งมีชื่อว่า ‘สมัคร สุนทรเวช’

กระแสของพันธมิตรฯนั้นปูทางไปสู่การทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ นำโดย พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นขายหุ้นชินคอร์ปเป็นหนึ่งในเรื่องหลักที่พันธมิตรฯ หยิบขึ้นมาโจมตีและเมื่อรัฐประหารก็ถึงเวลาที่ปูนบำเหน็จเรืองไกร

ด้วยความสนิทสนมกับคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ตรวจเงินแผ่นดินที่เป็นไม้เบื่อไม้เบากับพรรคไทยรักไทย หลังรัฐประหาร จารุวรรณ ได้รับแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารเป็น คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งล้วนเป็นขั้วตรงข้ามกับทักษิณทั้งสิ้น

เรืองไกร เองได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาของคุณหญิงจารุวรรณ เป็นการนับหนึ่งทางการเมือง หลังจากนั้น มรดกคณะรัฐประหารก็คือรัฐธรรมนูญ 2550 ที่กำหนดให้มีส.ว.มาจากการแต่งตั้งส่วนหนึ่ง และครั้งนี้เรืองไกร สมหวังได้เป็น ‘ส.ว.เรืองไกร’ สมใจอยากและสังกัด ‘กลุ่ม 40 ส.ว.’ ที่ทรงอิทธิพล ซึ่งส่วนมากมาจากส.ว. สายแต่งตั้งไม่ใช่การเลือกตั้ง

ในการเลือกตั้งปี 2550 เป็นพรรคพลังประชาชน ของนายสมัคร สุนทรเวช ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง โดยได้รับการสนับสนุนจากดร.ทักษิณ ซึ่งสะท้อนความเสียของของการทำรัฐประหารที่ไม่อาจต้านเสียงประชาชน เรืองไกร ในฐานะส.ว. ไม่ปล่อยให้รัฐบาลพลังประชาชนบริหารประเทศนาน ก็ยื่นฟ้องร้องนายกฯ สมัคร ว่าผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 267 ด้วยข้อหา ‘ทำกับข้าวออกทีวี’ เพราะเป็นพิธีกรรายการ ‘ชิมไปบ่นไป’ ทางช่อง 3

ครั้งนั้นศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาให้สมัคร พ้นจากตำแหน่ง ด้วยการนำพจนานุกรมมาตีความคำว่า ‘ลูกจ้าง’ ของบริษัทที่สมัครเป็นพิธีกร ซึ่งถือว่าเป็นมิติที่แปลกตาในการพิจารณาคดีทำให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ‘สมชาย วงศ์สวัสดิ์’ ขึ้นมาแทนที่และเกิดการชุมนุมของพันธมิตรฯ อีกครั้งหนึ่งโดยมีกลุ่ม40 ส.ว. เข้าร่วมสนับสนุน ครั้งนั้นสื่อและพันธมิตรยกย่องให้เรืองไกร เป็น ‘แจ็กผู้ฆ่ายักษ์’ ในการล้มนายกฯสมัคร ได้

หากเป็นหนัง ความสนุกมักจะเกิดตอนที่มันหักมุม เมื่อปี 2553 ปรากฎภาพเรืองไกรเข้าร่วมงานเสวนากับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีท่าทียืนตรงข้ามกับ ‘พรรคทักษิณ’ และบทบาทยิ่งชัดเจนเมื่อเรืองไกร สมัครสมาชิกพรรคเพื่อไทยในเวลาต่อมา และทำงานด้านกฎหมายกับทีมพรรคเพื่อไทย มีผลงานในการโต้แย้งฝ่ายตรงข้ามในสมัยรัฐบาล ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’

แต่เมื่อเกิดการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ที่นำโดยนาย สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำพรรคประชาธิปัตย์นำไปสู่การขับไล่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ หลังกรณี ‘พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง’ รัฐบาลรับผิดชอบโดยการถอนกฎหมายฉบับนี้และยุบสภา ซึ่งมีการกำหนดวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ครั้งนั้น เรืองไกร ลงสมัครแบบปาร์ตี้ลิสต์พรรคเพื่อไทย แต่ไปไม่ถึงฝั่งฝันเมื่อพรรคประชาธิปัตย์บอยคอตการเลือกตั้งพร้อมกับกลุ่มกปปส.ขัดขวางการเลือกตั้ง จนการเลือกตั้งครั้งนั้นถูกประกาศให้เป็นโมฆะ

เหตุการณ์หลังจากนั้นนำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้น ครั้งนั้น เรืองไกร ถูกเรียกเข้าไปรายงานตัวเหมือนแกนนำของพรรคเพื่อไทยหลาย ๆ คน และเมื่อมีประกาศเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2562 เรืองไกร กลับมาสวมเสื้อของพรรคไทยรักษาชาติในระบบบัญชีรายชื่อ แต่ก็ไปไม่ถึงฝั่งฝันเพราะอุบัติเหตุทางการเมืองทำให้พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ และย้ายกลับมาพรรคเพื่อไทย

ในระหว่างเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย เรืองไกร มีผลงานทั้งการยื่นสอบกรณี ‘แหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน’ ของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และการครอบครองรถจักรยานราคาแพงของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา มีในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน ป.ป.ช.หรือไม่ เรียกได้ว่าเป็นตัวชนกับ 3 ป. ที่คิดว่าอย่างไรชาตินี้ก็คงไม่มีทางญาติดีด้วยกันได้

แต่จู่ ๆ ปี 2564 เรืองไกร ประกาศลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย และไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐของพล.อ.ประวิตร และพล.อ.ประยุทธ์ ท่ามกลางความสับสนของสังคม และหันมาตรวจสอบพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำฝ่ายค้านแทน ทั้งกรณีนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กรณีพระบูชา นาฬิกา สร้อยคอ ว่ามีมูลค่าเกินกฎหมายกำหนด ได้แจ้งต่อ ป.ป.ช. หรือไม่ และ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรค โดนเรื่องนาฬิกาข้อมือ อีกทั้งยังสร้างความฮือฮาให้กับสังคมโดยถ่ายรูปคู่กับรถหรูแล้วโพสต์เป็นนัยว่า ‘ผู้ใหญ่ใจดีซื้อรถให้’

หลังจากเข้าสู่โปรโมชั่นย้ายพรรค เรืองไกรได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ในสัดส่วนพรรคพลังประชารัฐโดยครั้งหนึ่งระหว่างที่ฝ่ายค้านอภิปราย เรืองไกร ชูป้ายที่มีข้อความว่า “นายกฯตู่อยู่ยาวๆ” สร้างความประหลาดใจให้กับสังคม และเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร แยกทางกันเดิน เรืองไกร เลือกจะอยู่กับลุงป้อม

ในการเลือกตั้ง 2566 ครั้งนี้กระแสความนิยมพรรคก้าวไกลกำลังขึ้นถึงขีดสุด เรืองไกร ก็เป็นผู้อาสามาเบรกความร้อนแรงของ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ตั้งแต่ไปร้องกกต.กรณีเรื่อง ‘พิธามางานศพบิดาทันหรือไม่ทัน?’ ว่าเป็นการบิดเบือนข้อมูลหรือไม่ และล่าสุดจะเป็นผู้ยื่นฟ้องพิธาอีกครั้ง ในกรณีครอบครองหุ้นสื่อไอทีวีจำนวน 20,000 หุ้น ต้องจับตาให้ดีว่าท้ายสุดเรื่องนี้จะจบอย่างไร

แต่ขึ้นชื่อว่า ‘เรืองไกร’ นักบัญชีผู้ทำให้เรื่องเล็กอย่างการทำกับข้าวเป็นเรื่องใหญ่ขนาดล้มนายกฯ สมัครมาแล้ว กรณีนี้ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว

 

เรื่อง: พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ

ภาพ: แฟ้มภาพ NATION PHOTO

อ้างอิง:

สำนักข่าวอิศรา

The Standard

Thairath

Workpoint Today

Thaipost

Workpoint Today (2)