“ทิม-พิธา” ความหวังพรรคอนาคตใหม่ นักธุรกิจหนุ่มที่สร้างตัวจากหนี้ร้อยล้าน และอดีตผู้บริหาร Grab

“ทิม-พิธา” ความหวังพรรคอนาคตใหม่ นักธุรกิจหนุ่มที่สร้างตัวจากหนี้ร้อยล้าน และอดีตผู้บริหาร Grab

“ทิม-พิธา” ความหวังพรรคอนาคตใหม่ นักธุรกิจหนุ่มที่สร้างตัวจากหนี้ร้อยล้าน และอดีตผู้บริหาร Grab

ปลายปี 2561 สปอตไลท์จับจ้องไปที่ ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ประกาศนโยบายเกษตรก้าวหน้าของพรรคอนาคตใหม่ ที่จะยกระดับเศรษฐกิจฐานรากด้วยเทคโนโลยี แก้ปัญหาเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ปลดหนี้เกษตรกร โดยแถลงนโยบายเต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการครั้งแรกจำนวน 12 นโยบาย ประกอบด้วย 3 นโยบายฐานราก 8 นโยบายเสาหลัก และ 1 ปักธงประชาธิปไตย กุมภาพันธ์ 2563 หลังจากฝ่าคลื่นลมมรสุมต่าง ๆ มาได้หลายลูก ทว่าท้ายสุด ศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ พร้อมเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค จำนวน 16 คน เป็นเวลา 10 ปี ในบรรดาคณะกรรมการบริหารพรรค ไม่มีชื่อของ ทิม-พิธา ซึ่งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ทำให้มีการคาดการณ์กันว่า หลังจากนี้ คนรุ่นใหม่อย่างเขาจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของพรรคใหม่ที่จะสืบทอดเจตนารมณ์พรรคอนาคตใหม่หรือไม่ ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เราจะพาย้อนไปดูว่า ทิม-พิธา คือใคร ทำไมถึงได้รับความไว้วางใจจาก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (ที่เป็นหนึ่งในผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง) ให้มาดูแลนโยบายด้านเกษตรก้าวหน้า และอาจจะกลายเป็น "ว่าที่" ผู้นำคนใหม่ของพรรคการเมือง

 

เริ่มต้นจากติดลบ

ปี 2549 ดูเหมือนว่าจะเป็นปีที่ดีสำหรับหนุ่มน้อยอนาคตไกลวัย 25 ปี อย่าง ทิม-พิธา เพราะเขาสามารถสอบเข้าเรียนปริญญาโทมหาวิทยาลัยชื่อดังระดับโลกที่อเมริกาได้ถึง 2 ที่ นั่นก็คือ ฮาร์วาร์ด และ เอ็มไอที แต่หลังจากที่เขาเดินทางไปเรียนต่อได้เพียงเดือนเศษ ทิมต้องพบกับข่าวร้าย นั่นก็คือคุณพ่อของเขา พงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ เสียชีวิตในวันที่ 26 กันยายน 2549  นอกจากจะต้องมาช่วยครอบครัวจัดการงานศพแล้ว ภาระหนึ่งของทิมที่จะต้องกลับมาช่วยเหลือครอบครัวก็คือการบริหาร บริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด จำกัด ที่คุณพ่อเพิ่งก่อตั้งขึ้นมาไม่นาน สิ่งที่คุณพ่อของทิมทำไว้ก่อนหน้าก็คือ ตั้งชื่อบริษัท, วางโครงสร้างให้กับบริษัท และกู้เงินลงทุนมา 1 ร้อยล้านบาท เท่ากับว่าตอนนี้ บริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด จำกัด มีหนี้ที่ต้องบริหารอยู่ถึง 100 ล้านบาท จากเด็กเกเร ชอบชกต่อย สูบบุหรี่ จนครอบครัวต้องส่งไปเรียนที่นิวซีแลนด์ตั้งแต่อายุ 11-12 ปี เพื่อเรียนรู้การใช้ชีวิตแบบมีวินัย ทิมต้องฝึกดูแลตัวเองตั้งแต่วัยรุ่น ทั้งเรียน ทั้งทำงานพิเศษ เก็บสตรอว์เบอร์รี ส่งนม ปั่นจักรยานส่งหนังสือพิมพ์ แล้วมาเรียนคณะบริหารธุรกิจ การเงิน การธนาคาร ภาคภาษาอังกฤษ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบด้วยด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง พอมาถึงวันที่คุณพ่อเสีย ทิมซึ่งเป็นเสาหลักของบ้าน กลายเป็นความหวังของครอบครัวที่จะกอบกู้วิกฤต ในวันที่สองของงานศพ ลูกน้องของพ่อมากระซิบว่าตอนนี้บริษัทติดหนี้อยู่ 100 ล้านบาท ซึ่งทิมเคยเปิดใจกับสื่อหลายต่อหลายครั้งว่า เขามีเวลาเสียใจร้องไห้กับเหตุการณ์นี้เพียง 5 นาที หลังจากนั้นก็มาคิดว่าจะทำอะไรต่อดี? สถานการณ์ตอนนั้น หนุ่มวัย 25 ปี เคยเปรียบเทียบให้ฟังว่า ตอนนั้นไม่มีความรู้สึกอะไร ต้องพยายามอยู่กับปัจจุบัน อารมณ์ตอนนั้นเหมือนกับคุณป้าแก่ๆ ที่บ้านไฟไหม้แล้วมีแรงแบกโอ่งหนักๆ ออกจากบ้าน นั่นคือพลังที่เขามีเพื่อรับผิดชอบกับภาระนี้ เขาจึงต้องดร็อปเรียนปริญญาโทที่ฮาร์วาร์ดและเอ็มไอทีชั่วคราว ทิมเริ่มต้นจากการพูดคุยกับพนักงาน ซึ่งมี 200 ครอบครัวที่เคยทำงานกับพ่อ บางคนอายุเพียง 20 กว่าปี บางคน 60-70 ปี เรียกว่าอยู่ด้วยกันมานาน อย่างคนเก่าคนแก่บางคนยังเคยอุ้มทิมตอนเด็กๆ ด้วยซ้ำ เขายอมรับว่าเขาเป็นคนอายุ 25 ปี ยังไงก็อายุเพียงเท่านี้ มีประสบการณ์เกี่ยวกับธุรกิจการสกัดน้ำมันจากรำข้าวน้อยมาก สำหรับทิมแล้ว เขาให้ความสำคัญในเรื่อง “คน” มาเป็นอันดับแรก สถานการณ์ตอนนั้น ทิมบอกว่า เหมือนกับมีปัญหาเป็นปมใหญ่ ทั้งเรื่อง คน, เครื่องจักร และหนี้สิน เขาจึงค่อยๆ เรียงลำดับความสำคัญของปัญหา แล้วแก้มันไปทีละจุด โดยเริ่มต้นที่เรื่องคนก่อน เพราะแม้ว่าเครื่องจักรจะดีอย่างไรก็ตาม ถ้าไม่มีคนมาคอยคุมเครื่องจักร งานก็จะไม่เดิน   ในวันที่พนักงานสูญเสียความมั่นใจที่จะเดินหน้าเพราะกัปตันเรือที่จะนำทิศทางธุรกิจหายไป ผู้บริหารหนุ่มผู้รับหน้าที่เป็นกัปตันเรือคนใหม่ จึงเริ่มต้นเดินเข้าหาพนักงานด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน แล้วอธิบายความคิดของเขาเพื่อให้มีมุมมองที่ตรงกันว่า ตอนที่พนักงานทำงานกับคุณพ่อ จะทำงานในลักษณะที่เรียกว่า “Work for” คือทำงานเพื่อพ่อ ทำงานให้กับพ่อ แต่ตอนนี้ทิมต้องมาดูแลธุรกิจแทน จึงบอกกับพนักงานว่า ให้คิดว่าเป็นการทำงานแบบ “Work with” นั่นคือทำงานร่วมกับเขาแทน ในความหมายที่ว่า เขารู้ว่าปัญหาที่เกิดกับโรงงานตอนนี้ มีอะไรบ้าง? แต่เขาไม่รู้คำตอบ เขารู้แต่สมมติฐานในการแก้ปัญหา ซึ่งหากปัญหามีแบบนี้ เขามาทางเลือกในการแก้ทางใดบ้าง ก็จะอธิบายให้พนักงานฟัง แล้วพนักงานที่มีประสบการณ์มากกว่าเขาก็จะเลือกกันว่าจะแก้ปัญหาทางไหน? เป็นอันว่าตอนนี้ ทิมแก้ปัญหาเรื่อง “คน” เสร็จไปแล้วเปลาะหนึ่ง   เงินทุนเริ่มร่อยหรอและการรับน้องใหม่ในโลกธุรกิจ หลังจากที่ทำความเข้าใจร่วมกันกับพนักงานแล้ว ว่านี่คือการทำงานเพื่อฝ่าวิกฤตร่วมกัน ระหว่างคนงานและเจ้าของบริษัทมือใหม่ คราวนี้ปัญหาต่อมาที่ทิมต้องเข้ามาจัดการก็คือ เรื่องเครื่องจักร และการจัดการหนี้ (ทุน) ที่กู้ยืมมาจำนวน 100 ล้าน   ทุนจำนวน 100 ล้านบาท ที่จริงแล้วถูกนำไปใช้ในการลงทุนสร้างโรงงานไปแล้ว 80 ล้านบาท เหลือให้ทิมบริหารเพียง 20 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่เอาไว้ใช้ซื้อวัตถุดิบ นั่นคือ รำข้าว ตกวันละ 3 ล้านบาท   ด้วยความที่ยังใหม่ในการทำโรงงานผลิตน้ำมันรำข้าว วันแรกที่ใช้เครื่องจักรเพื่อผลิตน้ำมัน น้ำมันที่ออกมาเป็นสีดำ ซึ่งคุณภาพไม่ผ่าน พอมาถึงวันที่ 2 เครื่องจักรก็เดินเครื่องผลิตน้ำมันอยู่เช่นเดิม คุณภาพน้ำมันก็ยังไม่ผ่าน มาถึงวันที่ 3 ก็ยังมีปัญหาแบบเดิม น้ำมันยังไม่ได้คุณภาพ นั่นหมายถึง โรงงานเขาต้องเสียเงินเป็นค่าความล้มเหลววันละ 3 ล้านบาท ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ไม่กี่วันเงินทุนที่มีอยู่ 20 ล้านบาทก็คงจะหมดลงไป   แต่ขณะที่ยังหาทางผลิตน้ำมันรำข้าวไม่เจอ และเงินทุนเริ่มร่อยหรอลงทุกวัน หลังจากจบวันที่ 3 มีคนเคยถามทิมว่า ในตอนนั้นรู้สึกอย่างไร? เขาบอกแบบคนที่พยายามสนใจแต่เรื่อง “ปัจจุบัน” ว่า พอกลับบ้านไป เขาไม่ได้รู้สึกแย่ที่ผิดพลาดไป และไม่ได้กังวลกับวันพรุ่งนี้ ทิมคิดเพียงว่ายังมีวันที่ 4 ให้ลุยต่อไป แล้วในที่สุดในวันที่ 5 โรงงานของทิมก็สามารถผลิตน้ำมันรำข้าวที่มีคุณภาพ ได้น้ำมันรำข้าวสีทอง พร้อมกับเงินทุนที่เหลือเพียง 4-5 ล้านบาท นับว่าปัญหาถูกแก้ไปอีกเปลาะหนึ่ง   หลังจากนั้น การสร้างเครดิตในการทำธุรกิจของทิม คือขั้นตอนต่อมาที่เขาต้องออกไปจัดการ ทันทีที่ได้น้ำมันรำข้าวที่มีคุณภาพ ทิมเอาน้ำมันและใบสั่งซื้อของลูกค้าจากญี่ปุ่นไปให้เจ้าของโรงสีดูเพื่อแสดงให้เห็นว่าธุรกิจนี้ไปได้ เจ้าของโรงสีมองหน้าทิมแล้วถามถึงอายุ เขาตอบว่าอายุ 25 ปี เจ้าของโรงสีบอกว่า เด็กกว่าลูกเขาตั้งสองปี   เขาไม่ปฏิเสธว่าตัวเองอายุยังน้อย ยังต้องทำงานหนักและหาความรู้จากธุรกิจที่เขาทำอีกมากมาย เพราะฉะนั้นการเข้าหาผู้อื่นจึงเต็มไปด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน และพยายามหาพันธมิตรทางธุรกิจให้มาก อย่างการไปติดต่อเรื่องเงินทุนที่ธนาคาร นอกจากทิมจะติดต่อเรื่องการเงินแล้ว เขายังขอคำปรึกษาจากเจ้าของธนาคารอีกด้วย และด้วยความที่อายุยังน้อยและยังใหม่ในการทำธุรกิจ ก็ใช่ว่าคนที่ทิมเข้าไปรู้จักจะเป็นพันธมิตรกับทิมไปเสียหมด เล่ห์เหลี่ยมในโลกธุรกิจในบางครั้งทำให้ทิมต้องพบกับประสบการณ์การรับน้องด้วยวิธีการที่โหดร้าย   ...นั่นคือการที่โรงสีส่งรำข้าวผสมทรายมาให้   ในตอนนั้นที่โรงงานของทิมยังไม่มีเครื่องตรวจรำข้าวที่สามารถตรวจคุณภาพรำข้าวในรถสิบล้อซึ่งส่วนกระบะมีความสูง 3 เมตร จึงเป็นจังหวะอันดีที่โรงสีข้าวบางโรงจะนำเอาทรายมาผสมกับรำข้าวแล้วเอามาขายให้กับโรงงาน   แล้วทิมก็ตัดสินใจซื้อรำข้าว แต่ในที่สุดรำข้าวเหล่านั้นก็ใช้ไม่ได้ นั่นเป็นบทเรียนราคาแพงอีกอย่างหนึ่งที่ทิมต้องเรียนรู้ โลกธุรกิจไม่ได้สวยงามเสมอไป เขาเก็บไว้เป็นบทเรียน แล้วแก้ปัญหาเฉพาะในจุดนั้นด้วยการซื้อเครื่องตรวจรำข้าวที่สามารถตรวจกองรำข้าวที่มีความลึก 3 เมตรได้   คติประจำใจหนึ่งในการทำงานของเขาก็คือ “ปัญหามีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลุ้ม” ทิมไม่เคยกลัวปัญหา เพราะทุกธุรกิจย่อมมีปัญหาที่แตกต่างกันให้แก้อยู่แล้ว เรียกได้ว่า ปัญหามี ปัญญาที่จะแก้ไขปัญหาย่อมเกิดขึ้น ก็ค่อยๆ แก้กันไปที่ละเปลาะ จากแก้ปัญหาเรื่องคน มาสู่เรื่องเครื่องจักร ต่อด้วยปัญหาการเงิน ตามแต่ว่า ณ ช่วงเวลานั้นเราต้องโฟกัสกับการแก้ปัญหาที่จุดไหน? เรียนรู้ว่าจังหวะไหนที่จะเร็ว จะช้า จะหนัก จะเบา   และในที่สุด ด้วยวิธีคิดในการบริหารงานของ “วัยรุ่น” คนเก่งอย่าง ทิม-พิธา ทำให้ธุรกิจน้ำมันรำข้าวของบริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด จำกัด ดำเนินต่อไปข้างหน้าและโตวันโตคืน ผ่านไปเพียง 3 เดือน บริษัทของทิมก็หาเงินมาใช้หนี้ก้อนแรกได้สำเร็จ พอจบการดำเนินธุรกิจปีแรก ก็สามารถชำระหนี้จำนวนหนึ่งร้อยล้านได้จนหมด   ยิ่งไปกว่านั้น ผ่านไป 3 ปี ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็สามารถยืดอกได้อย่างเต็มภาคภูมิ ที่สามารถเป็นกัปตันเรือ นำพาบริษัทผลิตน้ำมันรำข้าวแห่งนี้ เติบโตเพิ่มขึ้น 200-300 เปอร์เซ็นต์ ในวันนี้ โรงงานสามารถรองรับรำข้าวที่ใช้กลั่นเป็นน้ำมันรำข้าวถึงวันละ 4 แสนกิโลกรัมส่งออกไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น และยุโรป ซึ่งทำรายได้สูงถึงระดับพันล้านต่อปี!   โอกาสทางธุรกิจของน้ำมันรำข้าว ในสายตาของวอร์เรน บัฟเฟตต์ และคนอื่นๆ ที่สถาบันเอ็มไอที สหรัฐอเมริกา มีประเพณีอย่างหนึ่งก็คือ ในทุกปีเขาจะให้นักศึกษาที่อยากจะทานอาหารและพูดคุยกับวอร์เรน บัฟเฟตต์? เขียนบทความว่าทำไมนักศึกษาถึงอยากร่วมทานมื้อค่ำกับวอร์เรน บัฟเฟตต์, มหาเศรษฐีระดับโลกที่ปัจจุบันมีทรัพย์สินรวมกันมากถึง 81.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (2.6 ล้านล้านบาท)   วอร์เรน บัฟเฟตต์ เป็นนักธุรกิจและนักลงทุนที่ทิมนับถือเป็นอย่างมาก มหาเศรษฐีวัย 80 กว่าปี แม้จะมีเงินทองจำนวนมหาศาล แต่กลับใช้ชีวิตแบบสมถะ อยู่บ้านเล็กๆ หลังเก่าที่ซื้อมาเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ขับรถคันเก่าๆ และยังใช้นาฬิกาคาสิโอเรือนละไม่กี่พัน บัฟเฟตต์รักในงานที่ทำมาก ในทุกเช้าเขาจะอ่านหนังสือพิมพ์เพื่อสำรวจโลกธุรกิจ จากนั้นจะพูดคุยกับพนักงานบริษัทลงทุนของเขาถึงงานที่ทำในวันนี้ อีกทั้งเขายังขึ้นชื่อว่าเป็นมหาเศรษฐีใจบุญที่บริจาคเงินให้กับหน่วยงานการกุศลถึงปีละหลายแสนล้านบาท   นี่คืออุปนิสัยของวอร์เรน บัฟเฟตต์ที่ทิม พิธา ยกย่อง และใฝ่ฝันว่า จะมีโอกาสพูดคุยกับมหาเศรษฐีผู้นี้สักครั้ง และในที่สุดความฝันของเขาก็เป็น ทิม พิธาได้เป็นหนึ่งในนักศึกษาเอ็มไอทีจำนวน 10 คนที่มีโอกาสไปร่วมทานอาหารกับวอร์เรน บัฟเฟตต์(หลังจากที่ทิม พิธา ดูแลบริษัทผลิตน้ำมันรำข้าวเป็นเวลา 2 ปี เขากลับมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและสถาบันเอ็มไอที)   ร้านอาหารที่เหล่านักศึกษาเอ็มไอทีทานอาหารร่วมกับบัฟเฟตต์ในครั้งนั้น เป็นร้านสเต็กเล็กๆ ที่เมืองโอมาฮา รัฐเนแบรสกา บ้านเกิดเมืองนอนของบัฟเฟตต์เอง   ในวันนั้น ที่นั่งของทิมอยู่ตรงข้ามกับที่นั่งของบัฟเฟตต์พอดี พอเริ่มทานอาหาร บัฟเฟตต์เริ่มพูดคุยกับบรรดานักศึกษาโดยหันไปถามทิมว่า “อีก 3 เดือนจะจบจากเอ็มไอทีแล้ว คุณจะไปทำอะไรต่อ?”   ทิมเล่าให้บัฟเฟตต์ฟังว่า จะกลับไปทำธุรกิจที่บ้าน นั่นคือการนำรำข้าวมาผลิตเป็นน้ำมันรำข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่าในการขาย   บัฟเฟตต์ บอกกับทิม ว่า ดีมาก เพราะหลังจากนี้ไป โอกาสทางธุรกิจจะไม่ได้อยู่ที่ตะวันตก อันหมายถึงยุโรปหรืออเมริกาอีกต่อไปแล้ว แต่โอกาสจะเป็นของฝั่งตะวันออก เพราะอาหารจะมีราคาสูงขึ้น   บัฟเฟตต์บอกกับ ทิม พิธา ว่า ต่อจากนี้ ใต้แผ่นดินของพวกคุณ จะเป็นทองคำ สิ่งที่บัฟเฟต์ บอกกับทิม ทำให้ “วัยรุ่นพันล้าน” อย่างเขาคิดว่า อุตสาหกรรมเกษตรที่ตนทำอยู่ นั่นคือการผลิตน้ำมันรำข้าว มาถูกทางแล้ว มุมมองของวอร์เรน บัฟเฟต์ ที่มองว่า แผ่นดินของผู้คนฝั่งตะวันออก จะมีค่าดั่งทองคำ สอดคล้องกับความฝันของคุณพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ คุณพ่อของทิมผู้ล่วงลับไปแล้ว ที่อยากเห็นเมืองไทยเจริญและพัฒนาประเทศด้วยการทำอุตสาหกรรมการเกษตรแบบมีการเพิ่มมูลค่า นั่นคือ แทนที่จะผลิตผลผลิตทางการเกษตรขั้นต้นอย่างเช่น การปลูกข้าว ปลูกพืชต่างๆ แต่ควรจะต่อยอดมาเป็นอุตสาหกรรมที่เพิ่มมูลค่า อย่างเช่น การนำรำข้าวมาทำน้ำมันรำข้าว ในสมัยก่อน ในบ้านเรา รำข้าวใช้ประโยชน์ได้เพียง 3 อย่าง เท่านั้น นั่นก็คือ ใช้ถมที่ ทำปุ๋ย และใช้เป็นอาหารสัตว์ ในปีแรกที่ทิมทำธุรกิจ นั่นคือ ปี พ.ศ.2549 ราคารำข้าวขายกันเพียงกิโลกรัมละ 2 บาท (ปัจจุบันขายกิโลกรัมละ 6-8 บาท) ทิมเคยเล่าให้ฟังว่า ชาวต่างชาติที่มาเห็นการใช้ประโยชน์จากรำข้าวของคนไทยถึงกลับออกปากว่า เราเอาของมีค่ามาใช้ประโยชน์เท่านี้เองเหรอ   แต่เมื่อนำรำข้าวมาสกัดน้ำมันขาย จะเพิ่มมูลค่าได้สูงถึงกิโลกรัมละ 200 บาท อีกทั้งเมื่อสกัดน้ำมันรำข้าวแล้ว ในน้ำมันรำข้าว มีวิตามินอี สารต้านอนุมูลอิสระ และโอเมก้า 3, 6 และ 9 ซึ่งช่วยลดน้ำตาล ลดไขมันในเลือด ลดอนุมูลอิสระ ป้องกันโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง ซึ่งสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้อีก ส่วนรำข้าวที่เหลือจากการสกัดเอาน้ำมัน ยังอุดมไปด้วยโปรตีนและไฟเบอร์ เหมาะที่จะเอาไปทำขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ อันเป็นผลิตภัณฑ์อีกชนิดหนึ่งที่บริษัทของพิม พิธา ผลิต   ส่วน ทิม พิธาเอง มองเห็นโอกาสทางธุรกิจของน้ำมันรำข้าวตรงที่ ในบรรดาธัญพืชหรือพืชเศรษฐกิจ อย่างเช่น ข้าว, ปาล์ม, ถั่วเหลือง, ข้าวโพด, และมันสำปะหลัง ดูเหมือนว่า ข้าว จะเป็นพืชที่ถูกผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าน้อยที่สุด จึงกลายเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ และที่สำคัญ ทิม วิเคราะห์ว่า การผลิตน้ำมันรำข้าวของเขามีข้อได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ เพราะนอกจากว่า ประเทศไทยคือเบอร์ต้นๆ ในการผลิตข้าวของประเทศทางฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว พื้นที่การปลูกข้าวของบ้านเรายังกระจุกตัว อย่างเช่นในกลุ่มจังหวัดภาคกลางที่ปลูกข้าวโดยใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งโรงงานของ ทิม พิธาตั้งอยู่ที่สิงห์บุรี ทำให้ง่ายต่อการรวบรวมผลผลิตเพื่อให้พอกับการหารำข้าววันละ 4 แสนกิโลกรัม หรือ 400 ตันต่อวัน และเมื่อเทียบกับประเทศที่มีการปลูกข้าวแบบกระจายตัวอย่าง จีนหรืออินเดีย จึงไม่น่าแปลกใจที่การผลิตน้ำมันรำข้าวของประเทศไทยจึงมีปริมาณการผลิตระดับเบอร์ต้นๆ ของโลก   นี่คือโอกาสทางธุรกิจของทิม ที่จะแปรเปลี่ยนแผ่นดินบ้านเราให้กลายเป็นทองคำ ด้วยรำข้าว   การบริหารแบบฮาร์วาร์ดบวกสำเพ็ง เมื่อธุรกิจเริ่มเข้าที่เข้าทาง ทิม-พิธา จึงกลับมาเรียนปริญญาโทที่อเมริกาอีกครั้ง โดยเขาเลือกเรียนการเมืองการปกครอง สาขาภาวะผู้นำ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และเลือกเรียนด้านการบริหารธุรกิจที่เอ็มไอที (MIT) ซึ่งเป็น 2 มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก   สิ่งที่เขาได้จาก 2 มหาวิทยาลัยนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ทิม เป็นคนที่รักการเรียนรู้อยู่เพื่อนำไปต่อยอดในการพัฒนาธุรกิจของตนอยู่เสมอ ในตอนเช้า ทิมไปเรียนหนังสือที่ฮาร์วาร์ด เป็นการเรียนวิชารัฐศาสตร์ ซึ่งสอนให้เขามองธุรกิจผ่านแว่นตาของคนทำงานภาครัฐ ว่าอะไรคือสิ่งที่ควรสนับสนุนในการทำธุรกิจของเอกชน นอกจากการเรียนด้านการปกครองแล้ว ในแง่มุมธุรกิจ ที่ฮาร์วาร์ดแห่งนี้ ทิมได้มีโอกาสเรียนกับศาสตราจารย์ ไมเคิล พอร์เตอร์ ซึ่งเป็นอาจารย์คนโปรดของเขา ศาสตราจารย์ผู้นี้เป็นผู้ที่ถนัดในเรื่องการบริหารเชิงกลยุทธ์ สิ่งหนึ่งที่ไมเคิล พอร์เตอร์ สอนทิมก็คือ ในการทำอุตสาหกรรม สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือ การเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต ที่มาจากทั้งกำลังคน และเครื่องจักร นอกจากการเพิ่มค่าแรงแล้ว สิ่งที่มาควบคู่กันคือการปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตให้มีประสิทธิภาพและสามารถสร้างความต่างในผลิตภัณฑ์ได้ ซึ่งแนวคิดนี้ เป็นสิ่งที่ทิมพยายามต่อยอดในการทำธุรกิจของเขา หลังจากภาคเช้า ทิมเรียนที่ฮาร์วาร์ดแล้ว ตอนบ่ายทิมจับรถไฟไปเรียนที่เอ็มไอที ซึ่งอยู่ที่เมืองเดียวกับกับฮาร์วาดที่ รัฐแมสซาชูเซตส์ คราวนี้เป็นการเรียนบริหารธุรกิจที่มองผ่านมุมมองของคนทำธุรกิจเองเลย และเมื่อนำวิธีคิดแบบฝั่งรัฐที่เรียนจากฮาร์วาร์ด มาประกบกับการมองจากฝั่งคนทำธุรกิจที่เรียนจากเอ็มไอที ทำให้ทิมมองเห็นภาพกว้างในการบริหารธุรกิจมากยิ่งขึ้น ที่น่าสนใจก็คือ วิธีการเรียนการสอนของทั้งสองมหาวิทยาลัยนี้ เน้นการเรียนรู้โลกความจริงมากกว่าการเปิดตำราอ่าน อย่างรู้เรื่องไหน สามารถแลกเปลี่ยนสนทนากับอาจารย์และเพื่อนร่วมชั้นได้ และในหลายครั้ง ทิม มีโอกาสได้ร่วมสนทนาหรือรับฟังสาระที่มีประโยชน์จากบุคคลที่มีชื่อเสียงมากมาย อย่างเช่น อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาทั้ง บารัก โอบามา, บิลล์ คลินตัน มหาเศรษฐีอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ และอีกหลายๆ คน ทิม ซึมซับวิธีคิดแบบนี้มาใช้กับชีวิตจริง เขามีความคิดว่า การเรียนรู้จากสถานที่จริงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องรำข้าว แม้ว่าธุรกิจของเขาจะเพิ่งเริ่มต้นมาไม่ถึง 10 ปี แต่เขาก็พยายามเรียนรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเขามากที่สุด ซึ่งครั้งหนึ่ง ทิมและทีมงานเดินทางด้วยรถตู้ไปทั่วประเทศไทยเพื่อศึกษาการปลูกข้าวของคนทั่วทุกภาค   ทิมเคยให้สัมภาษณ์ว่า “การที่จะสร้างความน่าเชื่อถือกับใครก็แล้วแต่ คุณจะต้องรู้ในสิ่งที่ควรรู้ และสามารถที่จะสื่อสารมันออกไปได้ คนบางคนรู้ แต่สื่อสารไม่ได้ คนบางคนสื่อสารได้แต่ไม่รู้จริง ผมก็ต้องเป็นคนที่ศึกษาเกี่ยวกับรำข้าวให้มากที่สุด”   เขาจึงเลือกทำงานเกี่ยวกับรำข้าวเพียงอย่างเดียวด้วยความเชื่อที่ว่า   รู้จริงแล้วรู้ลึก ดีกว่ารู้กว้างแล้วรู้ไม่จริง   ด้วยความที่ทิมเป็นนักเรียนนอก อาจจะคิดกันไปว่า วิธีการบริหารธุรกิจและบริหารการใช้ชีวิตของเขาจะออกแนว “ฝรั่ง” จ๋า แต่อันที่จริงแล้ว ทิมบอกว่า วิธีคิดในการบริหารงานของเขา เป็นวิธีที่เรียกว่า “ฮาร์วาร์ดบวกสำเพ็ง” อันเป็นการผสมผสานวิธีคิดแบบตะวันตก กับวิธีคิดแบบตะวันออก โดยเอาชื่อที่ที่เขาเรียนอย่างฮาร์วาร์ด มาผสมกับชื่อย่านที่เขาโตมานั่นคือ ครอบครัวคนจีนในย่านสำเพ็ง   วิธีคิดแบบฮาร์วาร์ด คือวิธีคิดแบบการวิเคราะห์ธุรกิจโดยอิงไปที่เหตุและผล มีข้อมูลในการทำวิจัย วิเคราะห์ การสื่อสาร ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นบริษัทฝรั่ง แม้ว่าจะทำงานด้วยกันมาหลายปี แต่ราคาสู้เจ้าใหม่ไม่ได้ เขาก็ยินดีที่จะเปลี่ยนคู่ค้า แต่พอมาเป็นวิธีการบริหารแบบสำเพ็ง จะมีวิธีคิดแบบฝั่งเอเชีย ที่เน้นเรื่องความสัมพันธ์ส่วนบุคคลเป็นสำคัญ เน้นความอ่อนโยนในการบริหารงาน ซึ่งต้องเอาข้อดีข้อเสียของวิธีคิดทั้งสองแบบมาใช้ในการทำงาน   ความฝันในอนาคตของผู้ชายที่ชื่อทิม สิ่งหนึ่งที่ทิม พิธา และคุณพ่อคิดตรงกันก็คือ อยากให้ประเทศไทยมีการทำการเกษตรแบบเพิ่มมูลค่า และในวันนี้ ธุรกิจที่ทิมทำ นอกจากจะผลิตน้ำมันรำข้าวแล้ว ยังมีการต่อยอด เพิ่มมูลค่าด้วยการสกัดน้ำมันรำข้าวมาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม, ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว น้ำมันสลัด และขนมขบเคี้ยวที่เต็มไปด้วยไฟเบอร์ มีโคเลสเตอรอล เท่ากับ 0 และในอนาคต ทิมอยากพัฒนาให้น้ำมันรำข้าวของบริษัทเขา เพิ่มมูลค่าขึ้นอีก ด้วยการนำมาผลิตเป็น วิตามิน, เครื่องสำอาง และยา ทิมตั้งใจว่า อยากจะนำบริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด จำกัด เข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อเพิ่มทุน แล้วขยายฐานการผลิตน้ำมันรำข้าวไปที่ส่วนอื่นๆ ของประเทศไทย เพราะปัจจุบัน พื้นที่ภาคกลางตอนล่าง (ที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา) อย่างเช่นที่สิงห์บุรี (ที่ตั้งโรงงาน), อุทัยธานี, ชัยนาท หรือนครสวรรค์ มีการผลิตข้าวเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ หากขยายการผลิตไปที่ภาคกลางตอนบน, ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะทำให้มีพลังการผลิตน้ำมันรำข้าวเพิ่มขึ้นอีก ในส่วนของต่างประเทศ ทิมสนใจที่จะขยายการลงทุนไปในหลายๆ ประเทศ เพราะประเทศในอาเซียน มีจุดแข็งในเรื่องการปลูกข้าวอย่างมาก อย่างในเมืองไทย ผลิตข้าวได้ปีละ 25-30 ล้านตัน, พม่าผลิตข้าวได้ปีละ 20 ล้านตัน และที่ลาวมีการผลิตข้าวได้ 10 ล้านตัน การเข้าไปลงทุนในธุรกิจน้ำมันรำข้าวในประเทศต่างๆ ทิมมองว่าบ้านเรามีข้อได้เปรียบตรงที่เรามีเทคนิคการผลิตที่ดี เหมาะที่จะนำ Know-how นี้ไปใช้กับประเทศอื่นๆ ได้ ซึ่งถ้าเป็นไปได้ ทิมอยากขยายการทำอุตสากรรมการผลิตน้ำรำข้าวไปยังประเทศที่ไกลออกไป อย่าง บราซิล หรืออุรุกวัยด้วย ข้อคิดที่ได้ของ ทิม พิธา จากประสบการณ์ที่ได้ร่วมงานกับ Grab ในตำแหน่ง กรรมการบริหาร บริษัทแกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด (Country Head Public Affairs) ของ ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อาจจะถือว่าเป็นครั้งแรกๆ ที่เขาได้ใช้ความรู้ที่ได้เรียนมาในสายเทคโนโลยี จากต่างประเทศ ทำให้เขาได้ใช้วิธีคิดแบบใหม่มาปรับใช้ได้อย่างเต็มที่ โดยที่ผ่านมาเขาใช้วิธีบริหารธุรกิจและชีวิตแบบ “ฮาร์วาร์ด บวก สำเพ็ง” นั่นคือ เน้นการบริหารแบบใช้การนำข้อมูลมาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจแบบที่เรียนมาจาก “ฮาร์วาร์ด” และใช้ความอ่อนโยน การให้ความสำคัญในเรื่องความสัมพันธ์มาดูแลคน ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบที่เรียนว่า “สำเพ็ง” ซึ่งหล่อหลอมมาจากการที่ทิมเติบโตในครอบครัวแบบคนจีน สำหรับ Grab หลังการควบรวมกิจการกับ Uber แนวคิดนี้ยังสามารถนำปรับใช้ได้เพราะ Grab ที่ก่อตั้งโดยชาวมาเลเซีย เป็นบริการที่มีความเป็นตะวันออก (เฉียงใต้) สูงมาก ทั้งการปรับตัวเข้ากับรัฐบาลท้องถิ่น โดยมีการเจรจากับ Regulator อย่างต่อเนื่อง การเข้าใจความต้องการผู้ใช้บริการในพื้นที่ รวมไปถึงมองทะลุว่าทิศทางของบริษัทจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต   ครั้งหนึ่ง ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เคยให้สัมภาษณ์ว่าอยากนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี และสานฝันของพ่อ พงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ชื่นชอบเรื่องเกษตร ต้นไม้ ต้นข้าว และ ธรรมชาติมาก โดยพ่อของทิมเคยเป็นที่ปรึกษาให้กับ กรรมการ อตก. เคยเป็นที่ปรึกษากระทรวงเกษตรฯ ได้บินไปศึกษาดูงานด้านเกษตรกรรมในต่างประเทศ แล้วอยากนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาปรับใช้กับประเทศไทยที่ถือเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ ให้เกษตรกรมีความอยู่ดีกินดี การเข้าร่วมกับพรรคอนาคตใหม่ในครั้งนี้ สาเหตุหนึ่งอาจมาจากการที่ ทิมเห็นภาคการเกษตรของไทยเข้มแข็งสู้ประเทศอื่นๆ ได้อย่างสมศักดฺิ์ศรีอู่ข้าวอู่น้ำ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม อินโดนิเซีย หรือ เกาหลีใต้ที่เคยล้มจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งพร้อมๆ กันแต่ฟื้นกลับมาได้อย่างยิ่งใหญ่ “บ้านเราเป็นอู่ข้าวอู่น้ำเจริญมากกว่าหลายเท่า แต่กลับไปไม่ถึงไหน อาจเป็นไปได้ว่าประเทศเราไม่เคยลำบากเหมือนประเทศเหล่านั้น มาถึงวันนี้ผมเลยอยากนำความรู้ที่ได้มาจากผู้นำระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น บิล คลินตัน หรือบารัค โอบามา ที่มาพูดให้ฟังเมื่อปีที่แล้ว คนเหล่านี้มีความรู้ความสามารถ ผมเลยอยากนำความรู้ที่เรียนมาพัฒนาประเทศ นักการเมืองอนาคตใหม่เคยให้สัมภาษณ์กับ WHO Magazine เกี่ยวกับอนาคตทางการเมือง “ผมเรียนเกี่ยวกับภาวะผู้นำ ทางมหาวิทยาลัยก็จะมีการสอนเกี่ยวกับการเป็นผู้นำ โดยทางอาจารย์จะเปิดวีดิโอให้ดูเป็นสิบคนตั้งแต่ มาติน ลูเธ่อร์ คิงส์ จูเนีย ลีกวนยู จอน เอฟ เคเนดี้ ถ้าอนาคตผมได้เป็นนักการเมืองขึ้นมาจริงๆ คิดว่าสิ่งที่อยากจะเข้ามาดูคงต้องเป็นเรื่องที่ถนัดเกี่ยวกับเกษตร กระทรวงเกษตร หรือไม่ก็การค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จริงๆ อะไรก็ได้ที่ผมทำได้ตามความรู้ที่ผมได้ทำและได้เรียนมา” นี่เป็นแนวคิดของว่าที่นักการเมืองในอนาคต” ต้องติดตามว่าแนวคิด “ฮาร์วาร์ด บวก สำเพ็ง” และประสบการณ์ในการบริหารบริษัทระดับภูมิภาคอย่าง Grab ของ ทิม-พิธา จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลง และมีส่วนในด้านนโยบายเกษตรก้าวหน้า ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากด้วยเทคโนโลยี แก้ปัญหาเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ปลดหนี้เกษตรกร ของพรรคอนาคตใหม่ได้แค่ไห   ที่มา : http://oknation.nationtv.tv/blog/sutku/2008/10/28/entry-2 http://www.whoweeklymagazine.com/ https://www.gmlive.com/GMBiZ-Grab-MA-Uber-Sea-Pita-Limjaroenrat https://www.forbes.com/profile/warren-buffett/#57f2fff34639 ทิม พิธา, ไม่สนว่าเก่งมาจากไหน, สำนักพิมพ์ springbooks ณัฐกร เวียงอินทร์, อายุน้อย รวยพันล้าน : Young Billionaire   ปรับปรุงเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2563