29 พ.ค. 2566 | 15:01 น.
- ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ หัวหน้าพรรคประชาชาติในวัย 79 ปี โลดแล่นในสนามการเมืองมามากกว่า 4 ทศวรรษ และยังคงทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง วาทะของ ‘วันนอร์’ เป็นหัวข้อสนทนาในหมู่คนรุ่นใหม่ได้อยู่ กระทั่งได้รับเสนอชื่อเป็นประธานสภาอีกครั้งในปี 2566
- ปฏิเสธได้ยากว่า ผู้คนจดจำชื่อ วันนอร์ ในฐานะแกนนำกลุ่มวาดะห์ ซึ่งมีคนตั้งข้อสงสัยในบทบาทที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์อันโชกโชนของเขาเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้บางกลุ่มยังเสนอให้เขารับตำแหน่งสำคัญในยุคปัจจุบันอยู่
ความขัดแย้งของพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย กรณีตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้มีนักวิชาการบางคน เสนอทางออกให้พรรคที่สามในพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรคเป็นคนกลาง จึงสนับสนุนให้ ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ หัวหน้าพรรคประชาชาติ นั่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ
หลายคนอาจลืมไปแล้วว่า ‘วันนอร์’ เคยเป็นประธานผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา (24 พ.ย.2539-27 มิ.ย.2543) ในช่วงเวลาที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540
ย้อนไปในวันจันทร์ที่ 22 พฤภาคม 2566 ในเวทีลงนามเอ็มโอยูจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค ที่โรงแรมคอนราด ถนนวิทยุ วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ถูกพูดถึงในออนไลน์อย่างกว้างขวาง หลังฟังความในใจของอดีตส.ส.ยะลา 9 สมัย
“ผมอยากเรียนต่อสื่อมวลชนว่า ขอให้การกระทำเมื่อ 9 ปีที่แล้ว จากผู้มีอำนาจใดก็แล้วแต่ ขอให้เป็นครั้งสุดท้ายของประเทศไทย ไม่ควรจะมีเหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นอีกแล้ว”
“ผมอายุ 79 ปี และคนรุ่นเดียวกับผมอีกเยอะครับ ที่มีความหวัง อยากจะเห็นประเทศนี้ เปลี่ยนแปลงได้แล้วครับ...ผมขอวิงวอนเถอะครับ ใครมีอำนาจ ใครมีพลัง โปรดใช้อำนาจและพลังนั้นให้คนที่อยากทำงานเพื่อประชาชน ได้มีโอกาสทำงาน ขอบคุณครับ”
ความในใจของวันนอร์ กลายเป็น Quote of The Day ของวันนั้น มีการแชร์ต่อข้อความนี้ผ่านทุกแพลตฟอร์มโซเชียล ทำให้คนอยากรู้จักวันนอร์มากขึ้น
ยุคหนึ่ง ผู้คนจะจดจำชื่อ วันนอร์ ในฐานะแกนนำกลุ่มวาดะห์ และคนบางกลุ่มอาจมองเขาด้วยสายตาหวาดระแวงคลางแคลงสงสัย
ลึก ๆ แล้ว วันนอร์เป็นนักการเมืองตามระบบรัฐสภา ไม่ได้เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองสายมุสลิม เหมือนเด่น โต๊ะมีนา และอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์
อย่างไรก็ตาม วันนอร์ ถือว่าเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภาคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีเชื้อสายมุสลิม
ผู้แทนหนุ่มมุสลิม
วันมูหะมัดนอร์ มะทา เดินทางไกลจากยะลา มาเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่โรงเรียนอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ และเรียนจบปริญญาตรี ครุศาสตรบัณฑิต ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยทุนกระทรวงมหาดไทย
ในวัย 20 ปี วันนอร์ยึดอาชีพครูที่โรงเรียนอัตตรกียะห์ อิสลามมียะห์ ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามขนาดใหญ่ อ.เมือง จ.นราธิวาส ก่อนจะขยับไปสอนหนังสือในวิทยาลัยครูสงขลา และไปเรียนปริญญาโท ครุศาสตรมหาบันทิต(บริหารการศึกษา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วกลับมาเป็นรองอธิการบดีวิทยาลัยครูสงขลา
ปี 2522 เกษม ศิริสัมพันธ์ แกนนำพรรคกิจสังคม กำลังมองหาดาวรุ่งทางการเมืองในต่างจังหวัด ก็ได้ชักชวนวันนอร์ ให้ลงสมัคร ส.ส.ยะลา และได้รับเลือกเป็น ส.ส.สมัยแรก
ช่วงที่เป็น ส.ส.สมัยแรกในวัย 35 ปี วันนอร์ ได้ร่วมกับสมาชิกพรรคกิจสังคม พยายามให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2521 เพื่อเปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกตั้ง ส.ส.ถึง 4 ครั้ง ให้ผู้สมัคร ส.ส.สังกัดพรรคการเมือง แต่ ส.ว.คัดค้าน จึงทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จ
ความขัดแย้งระหว่างสภาล่างกับสภาสูง เป็นเหตุให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ตัดสินใจยุบสภาฯ เมื่อ 19 มีนาคม 2526 และกระทรวงมหาดไทยจัดให้มีการเลือกตั้ง 18 เมษายน 2526
วันนอร์ รู้สึกไม่พอใจอำนาจพิเศษเหนือรัฐธรรมนูญ จึงประท้วงด้วยการไม่ลงสมัคร ส.ส.ปี 2526 จนการเลือกตั้งปี 2529 วันนอร์ได้ตัดสินใจลงสมัคร ส.ส.ยะลาอีกครั้ง และได้เป็น ส.ส.สมัยที่ 2 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์
ยุควาดะห์รุ่งเรือง
หลังเลือกตั้งปี 2529 เด่น โต๊ะมีนา ส.ส.ปัตตานี พรรค ปชป. เล็งเห็นว่า มี ส.ส.ชายแดนใต้อยู่ในพรรคหลายคน จึงก่อตั้งกลุ่มเอกภาพหรือวาดะห์ เพื่อร่วมกันพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
กลุ่มวาดะห์ยุคแรก ประกอบด้วย เด่น โต๊ะมีนา ส.ส.ปัตตานี, วันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.ยะลา และอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ส.ส.นราธิวาส
เมื่อ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจาก ผบ.ทบ. มาตั้งพรรคความหวังใหม่ ได้เจรจากับกลุ่มวาดะห์ ให้เข้ามาร่วมงานการเมืองด้วยกัน และประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง 22 มีนาคม 2535 โดยสวมเสื้อพรรคความหวังใหม่ ลงสนาม 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปรากฏว่า กลุ่มวาดะห์ ได้ ส.ส. 7 ที่นั่ง และพรรค ปชป.ชวดเก้าอี้ ส.ส. ในชายแดนใต้ เป็นครั้งแรก
ช่วงรัฐบาลชวน รัฐบาลบรรหาร รัฐบาลชวลิต และรัฐบาลทักษิณ เป็นยุคทองของวาดะห์ ในสีเสื้อพรรคความหวังใหม่ แกนนำกลุ่มวาดะห์ได้เป็นรัฐมนตรีหลายคน
วันนอร์ เป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย รัฐบาลชวน , รัฐมนตรีคมนาคม รัฐบาลบรรหาร และประธาน สภาผู้แทนราษฎร ประธานรัฐสภา ช่วงที่พรรความหวังใหม่ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลชวลิต
กลางปี 2544 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ยุบพรรคความหวังใหม่ ควบรวมกับพรรคไทยรักไทย วันนอร์ได้เป็นรัฐมนตรีคมนาคม(รอบสอง) และรัฐมนตรีมหาดไทย รัฐบาลทักษิณ
ปี 2547 ได้มีเหตุการณ์สำคัญ 3 กรณีในพื้นที่ปลายด้ามขวาน ช่วงรัฐบาลทักษิณคือ กรณีปล้นปืนค่ายปิเหล็ง, กรณีมัสยิดกรือเซะ และกรณีตากใบ
อ่านเพิ่มเติมเรื่องกรณีมัสยิดกรือเซะ ความทรงจำ ‘กรือเซะ-ตากใบ’ กับบทเรียน ‘กำปั้นเหล็ก’ ของทักษิณ
ไฟใต้ที่ลุกโชนอีกครั้ง ได้นำมาซึ่งวิกฤตศรัทธาต่อกลุ่มวาดะห์ สังกัดพรรคไทยรักไทย และคนชายแดนใต้ได้ลงโทษนักการเมืองกลุ่มนี้ ทำให้พ่ายแพ้เลือกตั้งติดต่อกันถึง 3 สมัยรวด
อวสานวาดะห์
ในยุคพรรคไทยรักไทย วันนอร์ ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำกลุ่มวาดะห์ แทนเด่น โต๊ะมีนา และในการเลือก ส.ส.ปี 2548 ได้เกิดกระแสทักษิณฟีเวอร์ พรรคไทยรักไทยกวาดเก้าอี้ ส.ส.มาได้ 377 ที่นั่ง แต่สนามเลือกตั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ กลุ่มวาดะห์พ่ายแพ้ยับเยิน
ปี 2551 กลุ่มวาดะห์ ยังลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรคพลังประชาชน คนชายแดนใต้ก็ยังไม่เลือกพรรคของทักษิณ พวกเขาสอบตกหมด
ปี 2554 แกนนำกลุ่มวาดะห์ นำโดย เด่น โต๊ะมีนา, อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ และนัจมุดดีน อูมา ไปร่วมกับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ตั้งพรรคมาตุภูมิ ส่วนวันนอร์ และน้องชายยังอยู่พรรคเพื่อไทย
ผลการเลือกตั้งปีนั้น ทีมของวันนอร์ ในสีเสื้อเพื่อไทย พ่ายแพ้หมด ส่วนกลุ่มวาดะห์ในสีเสื้อมาตุภูมิ ได้รับชัยชนะแค่คนเดียว
ปี 2561 วันนอร์ ได้ชวนอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ และนัจมุดดีน อูมา มาร่วมก่อตั้งพรรคประชาชาติ แม้การเลือกตั้งปี 2562 พรรคประชาชาติ จะได้ ส.ส. 6 คน แต่อดีต ส.ส.กลุ่มวาดะห์ ก็ไม่ได้เป็น ส.ส.แม้แต่คนเดียว
ล้างภาพกลุ่มวาดะห์
ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 วันนอร์ ในวัย 70 กว่าปี เรียกเพื่อนพ้องนักการเมืองสายมุสลิม มาพูดคุยกันที่บ้านศรียะลา อ.เมือง จ.ยะลา เพื่อรวมตัวพี่น้องกลุ่มวาดะห์อีกครั้ง ในนามพรรคประชาชาติ
จุดเปลี่ยนสำคัญของพรรคประชาชาติ ในช่วงปลายปี 2561 เมื่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการ ศอ.บต. ได้เข้ามาเป็นเลขาธิการพรรค โดย พ.ต.อ.ทวี ได้เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนพรรคประชาชาติให้หลุดพ้นคำว่าพรรคมุสลิม และกลุ่มวาดะห์
การปิดฉากกลุ่มวาดะห์ ก็ไม่มีผลสะเทือนอะไรต่อพรรคประชาชาติ เพราะการเมืองชายแดนใต้กำลังเปลี่ยนไปสู่ยุคการเมืองใหม่ ประชาธิปไตยใหม่ ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของเผด็จการ
เรื่อง: ชน บทจร
ภาพ: แฟ้มภาพ จาก NATION PHOTO
หมายเหตุ: อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อ 3 กรกฎาคม 2566 โดยกองบรรณาธิการ