22 ส.ค. 2566 | 18:21 น.
- เศรษฐาได้รับการยอมรับเรื่องความสามารถในฐานะผู้บริหารมากฝีมือ บวกกับตัวเขาเองเป็นนักคิดที่มักแสดงความคิดเห็นแบบตรงไปตรงมาเพื่อหวังสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทย กระทั่งเขาได้รับฉายา ‘ซีอีโอสาย Call Out’
- เขาเป็น ‘แคนดิเดตนายกฯ อันดับ 2’ ของพรรคเพื่อไทย คู่กับ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ แคนดิเดตนายกฯ อันดับ 1 และ ‘ชัยเกษม นิติสิริ’ แคนดิเดตนายกฯ อันดับ 3
- แต่เส้นทางการเป็นนายกฯไม่ได้ราบรื่น เขาตกเป็นเป้าโจมตี ทั้งการขุดคลิปที่พูดถึงการแก้ 112 หรือการเป็นผู้บริหารที่อยากให้ทุกคนทำงานหนัก โดยเฉพาะจากจอมแฉตัวตึง ‘ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์’
ในที่สุดเราก็ได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย นั่นคือ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ อดีตนักธุรกิจมืออาชีพและเจ้าของฉายา ‘ซีอีโอสาย Call Out’ ซึ่งได้ผันตัวเข้าสู่ถนนสายการเมืองโดยประกาศชัดเจนว่า ‘ศัตรูของผมคือความยากจน และความไม่เสมอภาคของประชาชน’
‘เศรษฐา ทวีสิน’ เกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506 จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการเงินจาก Claremont Graduate School สหรัฐอเมริกา และปี 2529 ได้เริ่มการทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการผลิตภัณฑ์ บริษัท P&G ประเทศไทย ก่อนจะเข้าสู่วงการอสังหาริมทรัพย์ด้วยการทำงานที่บริษัทของลูกพี่ลูกน้องอย่าง ‘อภิชาติ จูตระกูล’ หรือ ‘บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)’ ในปัจจุบัน
โดยภายใต้การนำของเศรษฐาในตำแหน่งประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เขาพาองค์กรเติบโตอย่างต่อเนื่อง และผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาหลายต่อหลายครั้ง จนตอนนี้แสนสิริกลายเป็นองค์กรชั้นนำและเป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่ของวงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีรายได้ในหลักหมื่นล้านบาท และกำไรหลักพันล้านบาท
นั่นทำให้เศรษฐาได้รับการยอมรับเรื่องความสามารถในฐานะผู้บริหารมากฝีมือ บวกกับตัวเขาเองเป็นนักคิดที่มักแสดงความคิดเห็นแบบตรงไปตรงมาเพื่อหวังสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทย กระทั่งเขาได้รับฉายา ‘ซีอีโอสาย Call Out’ และได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากกลุ่มคนรุ่นใหม่
ซีอีโอสาย Call Out บนถนนการเมือง
“ผมอยู่เพื่อไทยครับ” เป็นข้อความที่เศรษฐาประกาศผ่านทวีตเตอร์ส่วนตัวเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งหลังจากที่เขาทวีตออกไปก็มีกระแสพูดถึงในวงกว้าง หลายคนตั้งคำถามว่า จากนักธุรกิจเหตุใดถึงสนใจงานการเมือง และทำไมต้องพรรคเพื่อไทย
ขณะที่หลายคนบอกว่า ไม่เห็นต้องสงสัยเลย เพราะก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวว่า เศรษฐารู้จักกันเป็นการส่วนตัวกับตระกูลชินวัตรอยู่แล้ว จึงไม่แปลกที่จะมาร่วมงานกัน แต่ที่น่าสนใจมากกว่า คือเขาจะมาในฐานะหรือตำแหน่งอะไร
และเส้นทางการเมืองของเศรษฐาชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อ 1 มีนาคม 2566 ทางพรรคเพื่อไทยประกาศเปิดตัวเขาในฐานะ ‘ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย’ และนักข่าวส่วนใหญ่ได้ยิงคำถามไปยังเศรษฐาว่า เป้าหมายของการเข้าสู่ถนนการเมืองครั้งนี้มองไปที่ตำแหน่งอะไร?
ตอนนั้นเศรษฐาตอบเลี่ยง ๆ ว่า ตัวเองเพิ่งเป็นน้องใหม่ของพรรค ยังไม่ได้คาดหวังตำแหน่งใด และขอทำหน้าที่ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยให้ดีก่อน แต่ในวันที่ 3 มีนาคม 2566 นักข่าวได้ถามคำถามดังกล่าวซ้ำกับเศรษฐาอีกครั้ง
คำตอบที่ได้คือ ‘จะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ตำแหน่งอื่นไม่เอา’ และสุดท้ายเรื่องนี้ก็ได้รับการยืนยันเมื่อพรรคเพื่อไทยเสนอชื่อเขาเป็น ‘แคนดิเดตนายกฯ อันดับ 2’ คู่กับ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ แคนดิเดตนายกฯ อันดับ 1 และ ‘ชัยเกษม นิติสิริ’ แคนดิเดตนายกฯ อันดับ 3
หลังจากยืนยันชัดเจนแล้วว่า จากนี้เขาจะเดินบนเส้นทางนักการเมือง เศรษฐาได้โอนหุ้นในบริษัทแสนสิริกว่า 661 ล้านหุ้น หรือ 4.44% ให้กับ ‘ชนัญดา ทวีสิน’ บุตรสาวคนเล็ก โดยระบุว่า ‘เป็นการโอนโดยเสน่หา ไม่มีค่าตอบแทน’ จากนั้นประกาศลาออกจากทุกตำแหน่งในแสนสิริ มีผลเมื่อ 3 เมษายน 2566 เป็นต้นไป
นับแต่นั้นเป็นต้นมา เศรษฐาก็ได้ถอดสูทแล้วสวมเสื้อพรรคเพื่อไทยลุยหาเสียงไปทั่วทุกภูมิภาคอย่างจริงจัง เพื่อหวังชนะเลือกตั้งแบบ ‘แลนด์สไลด์’ โดยนโยบายที่เขานำเสนอเพื่อเรียกคะแนนเสียง หลัก ๆ ได้แก่ ความสำเร็จของนโยบายพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมา, การชี้ให้เห็นปัญหาตลอด 8 ปี ภายใต้รัฐบาลเผด็จการ, นโยบาย ‘เงินดิจิทัล 10,000 บาท’ ที่เขาเป็นผู้นำเสนอและกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที รวมถึงการประกาศอย่างชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยจะไม่จับมือกับสองลุง ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ และ ‘พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ ในการจัดตั้งรัฐบาลเป็นอันขาด ฯลฯ
ทว่าเมื่อผลการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ออกมา กลับไม่ได้เป็นไปตามคาดหวัง เพราะก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 ด้วยจำนวน สส. 151 คน ตามด้วยเพื่อไทย 141 คน ซึ่งต่อมาพรรคเพื่อไทยได้ร่วมกับก้าวไกลและพรรคอื่นรวม 8 พรรค จัดตั้งรัฐบาล โดยเสนอชื่อหัวหน้าพรรคก้าวไกล ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ เป็นว่าที่นายกฯ คนที่ 30
แต่สุดท้ายพิธาก็ไปไม่ถึงฝันจากหลายเรื่องที่ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นทั้งการถือหุ้นในไอทีวี การยกเลิกมาตรา 112 และอีกสารพัดปัญหา จนในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญสั่งพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ทันที และก้าวไกลได้เปิดโอกาสให้พรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล
นั่นทำให้ชื่อของเศรษฐาได้ถูกแสงสปอตไลท์จับตาเป็นพิเศษอีกครั้ง ในฐานะตัวเต็งที่จะได้รับเสนอชื่อจากพรรคเพื่อไทยให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ คนที่ 30 ของไทย แต่เส้นทางก็ไม่ได้ราบรื่น และตกเป็นเป้าโจมตีเช่นกัน ทั้งการขุดคลิปที่พูดถึงการแก้ 112 หรือการเป็นผู้บริหารที่อยากให้ทุกคนทำงานหนัก
โดยเฉพาะจากจอมแฉตัวตึง ‘ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์’ ที่ออกมาทำภารกิจ ‘แฉเพื่อชาติ’ ครั้งสุดท้ายในประเด็นความไม่โปร่งใสและนอมินีของแสนสิริในการซื้อที่ดินสมัยที่เศรษฐายังนั่งเป็นผู้บริหารอยู่
กรณีนี้เศรษฐาได้เผยแพร่คลิปวิดีโอออกมาตอบโต้ใจความว่า ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมาในการทำธุรกิจของตัวเองเป็นที่ยอมรับของสังคมมาโดยตลอด และครั้งนี้ออกมาพูดในฐานะอดีตผู้บริหารแสนสิริและแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย โดยปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาของชูวิทย์ และจะดำเนินคดีกับชูวิทย์ให้ถึงที่สุด
พร้อมกับทิ้งท้ายว่า การที่เขาตัดสินใจเข้าสู่เส้นทางการเมืองเพราะอยากทำให้ประเทศชาติ เศรษฐกิจ และชีวิตของประชาชนดีขึ้น ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้เพื่อจะทำให้ประเทศชาติเหมือนเดิม
“ศัตรูของผมคือความยากจนและความไม่เสมอภาคของประชาชน เป้าหมายของผมคือความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนไทยทุกคนครับ”
ผู้นำต้องแก้ปัญหาจากความเป็นจริงและทุกคนต้องช่วยกัน
ก่อนหน้านี้เศรษฐาเคยให้สัมภาษณ์กับ The People ไว้ว่า หากเขาเป็น ‘ผู้มีอำนาจ’ จะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ประเทศไทยต้องเผชิญอย่างไร โดยเขาบอกว่า ทุกอย่างต้องมองพื้นฐานของความเป็นจริง เพราะบางปัญหาได้หยั่งลึกในสังคมไทยมาเป็นร้อยปี เช่น เรื่องคอร์รัปชัน ฯลฯ จะแก้ไขให้ลุล่วงภายในไม่กี่เดือน ไม่กี่ปี หรือภายในรัฐบาลเดียวเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
นอกจากนี้การต้องเผชิญกับปัญหามากมาย อย่ามัวคิดถึงแต่ปัญหา และอย่าโทษกัน แต่อยากให้ทุกคนร่วมกันแก้ไปทีละจุด และอย่าหวังพึ่งรัฐบาลเพียงอย่างเดียว หรือผลักภาระให้เป็นหน้าที่ใครคนใดคนหนึ่ง เพราะนั่นไม่เกิดประโยชน์
“คือปัญหามันเยอะ แต่อย่าเหมือนลิงแก้แห แก้ทีละปม แก้ทีละปม แก้ไปแล้วเดี๋ยวมันก็ค่อยดีขึ้นเอง มันไม่มี perfect solution ที่คุณไปถึงแก้ แล้วหลุดทุกอัน คือค่อย ๆ ทำ ค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป ก็ขอให้อยากทำตลอดเวลา
“ผมว่าในฐานะ Thought Leadership หรือผู้นำทางความคิด หรือว่าคนที่มีพลังทางด้านขับเคลื่อนสังคมอยู่ ไม่ควรออกมาพูดเรื่องอะไรสิ้นหวัง เรามาพูดปัญหาจริง ๆ ดีกว่า แล้วทางแก้ไขมีอะไร อย่าบอกมีปัญหากับปัญหา แล้วก็แก้ไม่ได้ นักการเมืองถูกเลือกมาทำอะไร ถูกเลือกมาแก้ไขปัญหา ไม่ใช่มาอธิบายว่า ทำไมทำไม่ได้ เอกชนเองก็ไม่เอาแต่ด่ารัฐบาล ใช่ไหมครับ แล้วไม่มีส่วนร่วมเลย
“ปัญหาการศึกษาก็เป็นปัญหาพื้นฐาน เราช่วยกันแก้วันนี้ อีก 30 ปีอาจจะเห็นผล แต่ถ้าเราไม่เริ่มวันนี้ อีก 50 ปีก็ไม่เห็นผล มีความหวัง มีแรงบันดาล มีกำลังใจ ผมว่าประเทศเราไม่ได้ตกต่ำขนาดนั้น มันมีอะไรที่ยังเป็นความหวังอยู่ได้เยอะ มาช่วย ๆ กันเถอะ อย่าเอาแต่บ่น อย่าเอาแต่วิพากษ์วิจารณ์โดยที่ตัวเองยังมีแรงแล้วยังทำไหวอยู่ พรุ่งนี้ตื่นเช้าก็ไปทำงาน
“อย่าเอะอะอะไรจะบอกเป็นหน้าที่ของรัฐบาล เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเราทราบดีอยู่ว่างบประมาณมีอยู่จำกัด เรามีน้อยก็ให้น้อย เรามีมากให้มาก ไม่มี ไม่ต้องให้ เป็นหน้าที่ของทุกคน ไม่ใช่หน้าที่ของนักการเมือง ไม่ใช่หน้าที่ของราชการอย่างเดียว หรือหน่วยงานรัฐ เป็นหน้าที่ของทุกคน”
นี่เป็นเส้นทางของ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นักธุรกิจและซีอีโอสาย Call Out ที่กำลังจะมารับตำแหน่งนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทย ซึ่งยังต้องเผชิญกับบทพิสูจน์อีกมากมาย และไม่เหมือนกับการสู้ศึกในสังเวียนธุรกิจที่เขามีประสบการณ์มากว่า 30 ปีอย่างแน่นอน
ภาพ: เครือเนชั่น
อ้างอิง: