ชีพจร ‘เจริญชัย หินเธาว์’ ผบ.ทบ. ทหารเสือฯ ยุครัฐบาลเพื่อไทย

ชีพจร ‘เจริญชัย หินเธาว์’ ผบ.ทบ. ทหารเสือฯ ยุครัฐบาลเพื่อไทย

เรื่องราวของ ‘เจริญชัย หินเธาว์’ ผบ.ทบ. ทหารเสือฯ ที่อิสระจาก ‘ขั้วเพื่อไทย’ และถูกมองเป็น ‘สายตรง’ พล.อ.ประยุทธ์

  • พล.อ.เจริญชัย ถูกมองเป็น ‘สายตรง’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะเป็นพี่น้องสายทหารเสือฯ เหมือนกัน
  • หากถามถึงท่าทีของ พล.อ.เจริญชัย และกองทัพบก ต่อรัฐบาลชุดใหม่ เชื่อกันว่าจะไม่แตกต่างจากยุค พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ที่ ทบ. จะมี ‘ระยะห่าง’ ไม่ไปข้องเกี่ยวการเมือง

กองทัพบก เข้าสู่ยุค ‘ทหารเสือฯ’ อีกครั้ง หลัง พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ หรือ ‘บิ๊กต่อ’ ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) คนที่ 43 หลัง ผบ.ทบ. สายทหารเสือฯ ที่เติบโตมาจากกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) คนล่าสุดคือ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ที่ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ต่อจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นสายทหารเสือฯ เหมือนกัน ส่วน ผบ.ทบ. คนก่อนหน้าอีกคือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่เป็นสายทหารเสือฯ ร.21 รอ. เช่นกัน

สำหรับ พล.อ.เจริญชัย เป็นลูกทหาร โดยคุณพ่อเป็นทหารอยู่ที่ ศูนย์การทหารปืนใหญ่ จ.ลพบุรี พล.อ.เจริญชัย จบเตรียมทหารรุ่น 23 และนายร้อย จปร. รุ่น 34 เริ่มชีวิตราชการทหารที่ ร.21 รอ. จากตำแหน่งผู้บังคับหมวดปืนเล็ก กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 พัน.1 รอ.) ผู้บังคับกองร้อยอาวุธเบา นายทหารยุทธการและการฝึก ร.21 พัน.1 รอ. ก่อนขึ้นเป็น รองผู้บังคับกองพัน ร.21 พัน.3 รอ., ผู้บังคับกองพัน ร.21 พัน.3 รอ. จนขึ้นเป็นผู้การ ร.21 รอ. 

จากนั้นขึ้นเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) หรือที่เรียกว่า ‘บูรพาพยัคฆ์’ ต่อมาขยับเข้ากรุงเทพฯ มายังกองทัพภาคที่ 1 จนขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ขึ้นพลเอกในตำแหน่ง 5 เสือ ทบ. และขึ้นสู่ตำแหน่ง ผบ.ทบ.

สำหรับ พล.อ.เจริญชัย เข้าฝึกหลักสูตรนายทหารสัญญาบัตร หน่วยทหารรักษาพระองค์ ระยะเวลา 3 เดือน อยู่ใน 2 รุ่นแรก ที่เริ่มเปิดฝึกในยุค พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ขณะเป็น ผบ.ทบ. ซึ่งผู้ที่เข้ารับการฝึกจะมีชื่ออยู่ในตำแหน่งสำคัญในหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ฉก.ทม.รอ.904) 

การขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ของ พล.อ.เจริญชัย จึงเป็น ‘ทหารคอแดง’ คนที่ 3 ทั้งนี้ ตำแหน่ง ผบ.ทบ. ในยุคนี้จะควบตำแหน่ง ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ผบ.ฉก.ทม.รอ.904) ด้วย

ที่ผ่านมา พล.อ.เจริญชัย ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เพราะโลว์โปร์ไฟล์มาตั้งแต่เป็นนายทหารใน ร.21 รอ. แต่เป็นที่รู้กันว่า พล.อ.เจริญชัย ถูกมองเป็น ‘สายตรง’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะเป็นพี่น้องสายทหารเสือฯ เหมือนกัน ในทางการเมืองมีการมองว่า ทบ. จะยังคงเป็น ‘แบ็กอัป’ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ หากได้เป็น นายกฯ สมัยที่ 3 แต่สุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ไปต่อ ประกาศวางมือการเมือง แต่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงถูกจับตาถึง ‘ภารกิจสำคัญ’ ในอนาคตต่อไป

หากถามถึงท่าทีของ พล.อ.เจริญชัย และกองทัพบก ต่อรัฐบาลชุดใหม่ เชื่อกันว่าจะไม่แตกต่างจากยุค พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ที่ ทบ. จะมี ‘ระยะห่าง’ ไม่ไปข้องเกี่ยวการเมือง ด้วยสถานะของทั้ง พล.อ.ณรงค์พันธ์ กับ พล.อ.เจริญชัย ต่างเป็น ‘ทหารคอแดง’ เหมือนกัน โดย พล.อ.เจริญชัย จะดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. เพียง 1 ปี เกษียณฯ ก.ย. 67

แม้จะเข้าสู่ยุค ‘รัฐบาลพลเรือน’ ที่ขั้วอำนาจ ‘3ป.บูรพาพยัคฆ์’ ไม่ได้เรืองอำนาจเฉกเช่น 9 ปีที่ผ่านมา แต่หากส่องขุนพลที่อยู่รอบกาย ‘สุทิน คลังแสง’ รมว.กลาโหม จะพบ ‘ขั้วอำนาจ ตท.19-20’ ที่ยึดโยงกับ พล.อ.ประยุทธ์ ไปประกบข้าง ‘สุทิน’ เช่น พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ (ตท.20) ที่เป็น เลขานุการ รมว.กลาโหม 

สำหรับ พล.อ.ณัฐพล เติบโตมาจาก ทบ. สายอำนวยการ และเป็น เสธ. ข้างกาย พล.อ.อภิรัชต์ เพื่อน ตท.20 ขณะเป็น ผบ.ทบ. ต่อมา พล.อ.ณัฐพล ออกจาก ทบ. มาเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ก่อนเกษียณฯ มาเป็นที่ปรึกษานายกฯ (พล.อ.ประยุทธ์)

นอกจากนี้ ‘สุทิน’ ยังได้แต่งตั้ง พล.อ.มล.สุปรีดี ประวิตร เป็น หัวหน้าสำนักงาน รมว.กลาโหม สำหรับ พล.อ.มล.สุปรีดี จบโรงเรียนนายร้อยต่างประเทศ แต่เข้ารับการอบรมหลักสูตรชั้นนายร้อยเหล่าทหารม้า พร้อมกับ ตท.20 และเคยเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อย จปร. อดีตที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และอดีตประธานสโมสรฟุตบอลราชประชา

ส่วนอีกตำแหน่งที่ถูกจับตาคือ ผู้ช่วย รมว.กลาโหม ที่มีชื่ออยู่ในโผ คือ พล.อ.อ.สุรพล พุทธมนต์ อดีตรองผู้บัญชาการทหารอากาศ (ตท.20) เพื่อน พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ อดีต ผบ.ทอ. ที่จบ รร.นายเรืออากาศ จากเยอรมัน มาด้วยกัน

สำหรับอีกตำแหน่งที่ชัดเจนแล้วคือ พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา ที่ปรึกษา รมว.กลาโหม แต่เป็น ตท.19 จบ รร.นายร้อย Virginia Military Institute (VMI) สหรัฐฯ เติบโตจากกระทรวงกลาโหม จนขึ้นเป็น ผอ.สำนักนโยบายและแผนฯ, รองปลัดกลาโหม ก่อนโยกออกกลาโหม มาเป็นเลขาธิการ สมช. ยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

จึงทำให้ ตท.20 รุ่นเพื่อน พล.อ.อภิรัชต์ ถูกโฟกัส ซึ่งในอดีต พล.อ.อภิรัชต์ เปรียบเป็น ‘กองหนุนสำคัญ’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งในงาน ‘การเมือง - การทหาร’ ที่แอ็กชันปกป้อง พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลในยุคนั้นอย่างชัดเจน อีกทั้ง พล.อ.อภิรัชต์ คือผู้แนะนำให้ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ มาช่วยงาน พล.อ.ประยุทธ์ 

โดยทั้ง ‘อภิรัชต์ - พีระพันธุ์’ ต่างก็เป็นลูกนายทหารเหมือนกัน ที่สำคัญรู้จักกันมาตั้งแต่เรียน รร.เซนต์คาเบรียล (พีระพันธุ์ อายุมากกว่า พล.อ.อภิรัชต์ 1 ปี) หรือที่เรียกว่า ‘เซนต์คาเบรียล คอนเนกชั่น’

ดังนั้นภาพรวมของ ‘กองทัพ’ ยังคงอยู่ใต้เงา ‘ขั้วอำนาจเดิม’ การที่ พล.อ.เจริญชัย เป็น ‘ผบ.ทบ. คอแดง’ ที่อิสระจาก ‘ขั้วเพื่อไทย’ ก็ทำให้ไม่มี ‘เส้นบุญคุณ’ ต่อกัน จึงต้องจับตาบทบาท พล.อ.เจริญชัย จะมีท่าทีต่อ ‘รัฐบาลเพื่อไทย - นายกฯ เศรษฐา’ อย่างไร 

ก่อนหน้านี้ทั้ง พล.อ.เจริญชัย กับนายกฯ เศรษฐา ได้ร่วมโต๊ะอาหารกันมาแล้ว โดยท่าทีของ ‘เศรษฐา’ ก็หวังให้ ‘กองทัพ’ ช่วยเป็น ‘แบ็กอัป’ ในการทำงานร่วมกัน จะเห็นได้ชัดว่า ‘เศรษฐา’ มีท่าทีประนีประนอมกับกองทัพ หลังประกาศชัดว่าจะไม่ใช้คำว่า ‘ปฏิรูปกองทัพ’ แต่จะใช้คำว่า ‘พัฒนาร่วมกัน’ แทน

ทว่าในอนาคตยังมี ‘ปัจจัยสำคัญ’ คือ สถานการณ์การเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะหาก ‘ทักษิณ’ พ้นโทษจำคุก 1 ปี ในปีหน้าแล้ว ‘ทักษิณ’ จะมี ‘บทบาท - สถานะ’ ต่อไปอย่างไร ที่อยู่ในช่วง ‘รอยต่ออำนาจ’ ก่อนที่ พล.อ.เจริญชัย จะเกษียณฯ พอดี


ภาพ : ศูนย์ภาพเนชั่น