‘ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้’ ผบ.ทบ. สไตล์ ‘รัฐอิสระ’ ปลอด ‘เส้นบุญคุณ’ กับการอำลาที่โด่งดัง

‘ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้’ ผบ.ทบ. สไตล์ ‘รัฐอิสระ’ ปลอด ‘เส้นบุญคุณ’ กับการอำลาที่โด่งดัง

‘พล.อ. ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้’ ผบ.ทบ. สไตล์ ‘รัฐอิสระ’ ไม่ขึ้นตรงกับใคร(มากนัก) ปลอด ‘เส้นบุญคุณ’ เมื่อเดินทางมาถึงช่วงท้ายของการดำรงตำแหน่งกลับเป็นการอำลาที่เงียบ แต่ก็ ‘ดัง’ ที่สุดในเวลาเดียวกัน

  • พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการกองทัพบก คนที่ 42 ถูกมองว่าค่อนข้าง ‘โลว์โปรไฟล์’ สำหรับแง่มุมในสังคมวงกว้างทั่วไป
  • การทำงานของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ออกสไตล์ ‘รัฐอิสระ’ ไม่มีเส้นบุญคุณถึงใคร
  • ช่วงปลายของการดำรงตำแหน่งผบ.ทบ. พล.อ.ณรงค์พันธ์ มี ‘ภารกิจใหม่’ รออยู่ โดยจะมีอีกบทบาท นั่นคือ ผบ.ฉก.ทม.รอ.904

ครบ 3 ปี พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ดำรงตำแหน่ง ‘ผู้บัญชาการทหารบก’ คนที่ 42 หรือที่สื่อเรียกว่า ‘บิ๊กบี้’ เดิมมีชื่อว่า ‘มณเฑียร’ ที่โลว์โปร์ไฟล์ตัวเองมาตลอด ไม่เป็นที่รู้จักในสังคมมากนัก

พล.อ.ณรงค์พันธ์ เป็นศิษย์เก่า ร.ร.อำนวยศิลป์ จบเตรียมทหารรุ่น 22 และ นายร้อย จปร. รุ่น 33 เติบโตมาจากกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ (ร.31 รอ.) ที่เป็น ‘หน่วยหมวกแดง’ ของ กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.) ที่เรียกกันว่า ‘สายวงศ์เทวัญ’ สำหรับหน่วย ร.31 รอ. หรือ หน่วยอาร์ดีเอฟ เป็น ‘หน่วยรบเคลื่อนที่เร็ว’ เปรียบเป็นหน่วยทหารราบส่งทางอากาศ

นอกจากนี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ เคยจบหลักสูตรชั้นนายพัน ที่ฟอร์ตเบนนิง สหรัฐอเมริกา และเคยไปปฏิบัติภารกิจในกองกำลังรักษาสันติภาพ 972 ไทย-ติมอร์ตะวันออก ในกรอบของสหประชาชาติ

ช่วงปี 2547 หลังเหตุการณ์ปล้นปืน จ.ชายแดนภาคใต้ ในขณะนั้น พล.อ.ณรงค์พันธ์ เป็น ผบ.ร.31 พัน. 3 รอ. ต้องลงไปปฏิบัติหน้าที่ จ.ยะลา และได้พบกับ พล.อ.อภิรัชต์ ในนามหน่วยเฉพาะกิจที่ 14 รับผิดชอบพื้นที่ อ.เบตง อ.ธารโต ซึ่งในที่พักของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ มีการเขียนป้ายคำว่า ‘อดทน’ ติดไว้ด้วย ซึ่งเป็นคติในการทำงานของ พล.อ.ณรงค์พันธ์

พล.อ.ณรงค์พันธ์ เติบโตที่ ร.31 รอ. จนขึ้นเป็น ‘ผู้บังคับการกรม’ จากนั้นมาโตที่ พล.1 รอ. จนขึ้นเป็น ‘ผู้บัญชาการกองพล’ เรื่อยมาถึงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 ขึ้นสู่ 5 เสือ ทบ. และเป็น ผบ.ทบ. เมื่อ ต.ค.2563

ช่วงที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ เป็น ผบ.พล.1 รอ. ได้เข้ารับการฝึกหลักสูตรทหารรักษาพระองค์ 3 เดือน ที่โรงเรียนทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ในปี 2560 ปีเดียวกับ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ และ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ทหารคอแดง’ นั่นเอง

ทั้งนี้ ตำแหน่ง ผบ.ทบ. ตั้งแต่ยุค พล.อ.อภิรัชต์ ต้องเป็นผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (รอง ผบ.ฉก.ทม.รอ. 904) ด้วย ดังนั้น เส้นทางการเติบโตของ ผบ.ทบ. ในยุคหลังการ ‘เปลี่ยนผ่าน’ จึงมีความชัดเจนและยากที่ฝ่ายการเมืองจะแทรกแซง แต่ภายใน ‘ทหารคอแดง’ ด้วยกันเอง ก็มีความพยายามในการผลักดัน ‘รุ่นเตรียมทหาร’ เดียวกัน ในอีกแง่ ‘คนในรุ่นเดียวกัน’ กลายเป็นแคนดิเดตแข่งกันเอง

ผบ.ทบ. รัฐอิสระ

สำหรับ พล.อ.ณรงค์พันธ์ เรียกว่าไม่ได้เติบโตมาจากสาย ‘3ป.บูรพาพยัคฆ์’ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ พล.อ.ณรงค์พันธ์ สถาปนาตัวเองเป็น ‘รัฐอิสระ’ ไม่ขึ้นตรงกับใครเท่าใดนัก ไม่มี ‘เส้นบุญคุณ’ ถึงใคร การทำงานเน้นงานหน้าที่หรือที่เป็น ‘ระเบียบปฏิบัติประจำ’ เท่านั้น

การสั่งการต่าง ๆ ทำตามสายบังคับบัญชาซึ่งในขณะนั้น พล.อ.ประยุทธ์ เป็น รมว.กลาโหม พล.อ.ณรงค์พันธ์ ไม่ค่อยมีแอกชั่นใด ๆ ‘ล้ำเส้น’ ออกมา หรือการออกตัวแรง ปกป้องรัฐบาล ตอบโต้การเมือง หากเทียบกับยุค พล.อ.อภิรัชต์ เป็น ผบ.ทบ.

ทั้งนี้ช่วงปี 2565 มีกระแสข่าว พล.อ.ณรงค์พันธ์ จะถูก ‘ปลด’ จาก ผบ.ทบ. ให้ไปเป็น ‘ปลัดกลาโหม’ ก่อนเกษียณฯ แต่สุดท้ายก็เป็นเพียงกระแสข่าว ซึ่งก็สร้างความสั่นไหวให้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ไม่น้อย

 

น้ำนิ่งไหลลึก

บุคลิกของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ เป็นคนที่ ‘น้ำนิ่งไหลลึก’ ไม่ค่อยพูดหรือแสดงความเห็นใดๆ ทำให้ยากจะตีความ แตกต่างจาก พล.อ.อภิรัชต์ ที่แสดงจุดยืนต่าง ๆ ชัดเจน จุดนี้เป็นทั้ง ‘จุดแข็ง-จุดอ่อน’ ของ พล.อ.ณรงค์พันธ์

ในส่วนจุดแข็งก็ทำให้ ทบ. ยุค พล.อ.ณรงค์พันธ์ ไม่ถูกโยงไปในกระแสธารการเมืองมากนัก แต่อีกแง่ก็กลายเป็นว่า ทบ. ถูกโจมตีฝ่ายเดียว กลายเป็น ‘ตั้งรับ’ มากกว่า ‘รุกคืบ’ แต่เรื่องที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ไม่ปล่อยและรุกคืบทุกครั้ง คือการปกป้องสถาบัน

 

ทวิตเตอร์ ส่องความคิด

แม้จะเป็นคนที่ ‘น้ำนิ่งไหลลึก’ แต่ใช่ว่าจะส่องความคิด พล.อ.ณรงค์พันธ์ ไม่ได้ จากที่เป็น ผบ.ทบ. เล่นทวิตเตอร์ (X) เปิดเผยตัวชัดเจน ไม่มีตั้ง ‘แอคหลุม’ ขึ้นมา ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้วิธีรีทวีต แต่ก็จะเห็น ‘วิธีคิด’ ที่ซ่อนอยู่ เพราะในหลาย ๆ รีทวีต เป็นเรื่อง ‘การเมือง’ ที่เป็นลักษณะ ‘ปฏิบัติการทางข่าวสาร’ ในจุดนี้ก็ทำให้บรรดาหน่วยทหารต้องเปิดแอคเคาท์ทวิตเตอร์ขึ้นมา เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมหน่วย พล.อ.ณรงค์พันธ์ ก็จะใช้วิธีรีทวีต

 

แผ่นดินไหวจากโฆษณาในแพลตฟอร์ม

ย้อนไปเมื่อปี 2565 เรียกว่า ‘กองทัพ’ แอกชั่นอย่างรุนแรง จากกรณีการโฆษณาในแพลตฟอร์มซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์แห่งหนึ่ง เริ่มจาก พล.อ.ณรงค์พันธ์ ได้สั่งการในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบกให้หน่วยทหาร ทบ. ทั่วประเทศ งดสั่งสินค้าจากแพลตฟอร์ม ห้ามรถส่งสินค้าเข้ามาในพื้นที่หน่วยทหาร แต่ไม่ห้ามกำลังพลในการสั่งซื้อสินค้า หากมีการสั่ง ให้ออกไปรับนอกพื้นที่หน่วยทหารแทน โดยให้เหตุผลว่า เผยแพร่สื่อโฆษณาด้านการตลาดด้วยเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม

ผ่านมา 45 วัน ทบ. ได้ยกเลิกคำสั่งและให้คนจากแพลตฟอร์มเข้ามาในหน่วยทหาร ทบ. อีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่า กิจกรรมสื่อโฆษณาด้านการตลาดดังกล่าวได้ถูกนำเข้าสู่ ‘กระบวนการยุติธรรม’ แล้ว

ทั้งนี้ เหตุการณ์ในขณะนั้นไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพียง ทบ. เพราะใน ‘เหล่าทัพ’ อื่น ๆ ก็มีการขอความร่วมมืองดการใช้บริการด้วย แต่ที่ถือว่า ‘จัดหนัก’ ไม่แพ้ ทบ. คือ ‘กองบัญชาการกองทัพไทย’

โดย พล.อ.เฉลิมพล ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ระบุเหตุผลการบอยคอตผ่าน ‘ทีมโฆษก’ ว่า มีความกังวลต่อเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างมาก เนื่องจากได้สร้างผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนชาวไทย ในขณะเดียวกัน กองทัพก็มีจุดยืนในด้านการพิทักษ์ ปกป้อง และเทิดทูนสถาบัน และจะไม่ยอมให้กลุ่มบุคคลใดกระทำการล่วงเกินโดยเด็ดขาด

สำหรับ พล.อ.เฉลิมพล เป็น ผบ.ทหารสูงสุด ที่เป็น ‘ทหารคอแดงคนแรก’ ด้วย

 

อำลา ที่ ‘เงียบ’ แต่กลับ ‘ดัง’ ที่สุด

เข้าสู่เดือนสุดท้ายในเก้าอี้ ผบ.ทบ. ของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ เป็นที่ทราบกันใน ทบ. ว่า พล.อ.ณรงค์พันธ์ แม้จะเกษียณฯ 30 กันยายนนี้ แต่มี ‘ภารกิจใหม่’ รออยู่ เพราะ พล.อ.ณรงค์พันธ์ มีอีกตำแหน่ง คือ ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 โดยเมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รับโอนนายทหารสัญญาบัตรเป็นข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหาร

โดยให้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ปรับโอนมาสังกัดหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ดํารงตําแหน่งผู้บัญชาการสํานักงาน นายทหารปฏิบัติการพิเศษในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตรา พลเอกพิเศษ) ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา

คำสั่งดังกล่าว บุคคลในระดับ 5 เสือ ทบ. ทราบล่วงหน้าเพียงไม่กี่วัน รวมทั้ง พล.อ.ณรงค์พันธ์ ที่ต้องรีบดำเนินการส่งมอบงานต่าง ๆ ให้เร็วขึ้น จากเดิมจะมีพิธีรับส่งหน้าที่ ผบ.ทบ. วันที่ 29 กันยายน ก็เลื่อนขึ้นมาเป็น 20 กันยายน พร้อมลดขนาดการจัดพิธี ไม่มีการตรวจแถวสวนสนามหน้า บก.ทบ. ราชดำเนิน

เรียกว่าเป็นการ ‘อำลา’ ตำแหน่งที่ ‘เงียบ’ แต่กลับเสียง ‘ดัง’ อย่างยิ่ง

 

เรื่อง: กุหลาบลายพราง

ภาพ: แฟ้มภาพจาก NATION PHOTO