เบนาซีร์ บุตโต : ลูกสาวนายกรัฐมนตรี ปากีสถาน อดีตผู้นำหญิงที่อายุน้อยที่สุดแห่งโลกมุสลิม

เบนาซีร์ บุตโต : ลูกสาวนายกรัฐมนตรี ปากีสถาน อดีตผู้นำหญิงที่อายุน้อยที่สุดแห่งโลกมุสลิม

‘เบนาซีร์ บุตโต’ (Benazir Bhutto) สตรีผู้มีอายุน้อยที่สุดที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งปากีสถานในวัย 35 ปี หลังจากสูญเสียพ่อจากเหตุการณ์รัฐประหารในปี 1979 เพราะหวังจะเห็นประชาธิปไตยเบ่งบานในบ้านเกิดได้สักวันหนึ่ง

KEY

POINTS

  • ‘เบนาซีร์ บุตโต’ (Benazir Bhutto) สตรีผู้เกิดมาในครอบครัวชนชั้นนำทางการเมือง เป็นลูกสาวคนโตจากพี่น้องทั้งหมด 4 คน โดยมีพ่อ ‘ซัลฟิการ์ อาลี บุตโต’ (Zulfikar Ali Bhutto) เป็นหัวหอกในการก่อตั้งพรรคประชาชนปากีสถาน (Pakistan’ s People’ s Party – PPP) ประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีคนแรกของปากีสถานที่ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย
  • เบนาซีร์ ขึ้นมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคต่อจากพ่อในปี 1986 ก่อนจะได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีขณะอายุเพียง 35 ปี ถือว่าเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงที่อายุน้อยที่สุดแห่งโลกมุสลิม
  • แรกเริ่มเธอไม่ได้มีความสนใจทางการเมืองมากนัก แต่หลังจากเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โลกของเธอจึงเปิดกว้าง และหวังจะนำพาประเทศเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

“ข้าพเจ้าไม่ได้เลือกชีวิตเช่นนี้ ชีวิตต่างหากที่เลือกข้าพเจ้า”

คำกล่าวของ ‘เบนาซีร์ บุตโต’ (Benazir Bhutto) สตรีผู้เกิดมาในครอบครัวชนชั้นนำทางการเมือง โดยมี ‘ซัลฟิการ์ อาลี บุตโต’ (Zulfikar Ali Bhutto) พ่อผู้เป็นหัวหอกในการก่อตั้งพรรคประชาชนปากีสถาน (Pakistan’ s People’ s Party – PPP) ประธานาธิบดีของปากีสถานในช่วงปี 1971-1973 และนายกรัฐมนตรีคนแรกของปากีสถานที่ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยระหว่างปี 1973 – 1976

เธอไม่ได้เลือกชีวิตเช่นนี้ คิดเพียงแต่ว่าอยากจะทำให้ทุกวันมีความสุขก็เพียงพอแล้ว แต่การเกิดมาเป็นพี่สาวคนโตในครอบครัวนักการเมือง ผลักให้เธอเข้ามารับภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ แม้ว่าบุตโตจะมีน้องชายที่สามารถเดินเข้าสู่เส้นทางการเมืองได้อย่างเต็มภาคภูมิ แต่อย่างที่รู้ สถานการณ์ทางการเมืองในปากีสถาน ณ ห้วงเวลานั้น เต็มไปด้วยความรุนแรง เธอสูญเสียพ่อ และน้องชายทั้งสอง (โชคดีที่น้องสาวคนสุดท้องไม่ได้เล่นการเมือง) ไปท่ามกลางเปลวไฟแห่งความขัดแย้ง

พ่อ ถูกโค่นอำนาจจากการทำรัฐประหารในปี 1977 นำโดยนายพล โมฮัมหมัด เซีย อุล ฮัก (Muhammad Zia-ul-Haq) และถูกตัดสินโทษประหารโดยการแขวนคอในวันที่ 4 เมษายน 1979 ขณะที่แม่ น้องชาย และน้องสาว รวมถึงตัวเธอเองถูกคุมขังในค่ายทหาร ทำได้เพียงมองภาพพ่อจากไปด้วยความทุกข์ทรมาน ไม่มีสิทธิแม้แต่จะนำร่างของพ่อมาประกอบพิธีทางศาสนาเลยด้วยซ้ำ

มูร์ตาซา (เกิดในปี 1954) น้องชายคนรอง เคยถูกฝากความหวังเอาไว้สูงสุดว่าจะต้องเดินตามรอยพ่อ แต่สุดท้ายเขาก็ทนพิษการเมืองไม่ไหว หลังจากพ่อถูกตัดสินประหาร มูร์ตาซาต้องลี้ภัยไปยังอัฟกานิสถาน ประเทศที่ยังยึดถืออุดมการณ์คอมมิวนิสต์ในการบริหารชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอยู่ ณ ขณะนั้น

ความแค้นเคืองสุมอยู่เต็มอกของมูร์ตาซา เขาสูญเสียพ่อไปอย่างไม่เป็นธรรม หลังจากรวบรวมผู้จงรักภักดีได้จำนวนหนึ่ง จึงเริ่มปฎิบัติการต่อต้านกองทัพปากีสถานของรัฐบาลทหาร ซึ่งมีนายพล โมฮัมหมัด เซีย อุล ฮัก เป็นผู้นำสูงสุด มูร์ตาซานำกลุ่ม อัล-ซิลฟิการ์ (Al-Zulfikar) เข้าไปก่อความวุ่นวายทางการเมือง และเพราะความสุดโต่งนี่เอง เขาจึงถูกยิงเสียชีวิตในปี 1996

ซาห์นาวาซ (เกิดในปี 1958) น้องชายอีกคน เข้ามาสู่เส้นทางการเมืองเช่นกัน แต่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองรุนแรงน้อยกว่าพี่ชายอย่างมูร์ตาซา เขาเสียชีวิตในอะพาร์ทเมนต์ที่เฟรนซ์ริเวียรา ประเทศฝรั่งเศส ในปี 1985 ขณะอายุเพียง 26 ปี สาเหตุการเสียชีวิตของซาห์นาวาซยังเป็นที่ถกเถียงกันจนถึงปัจจุบัน

เบนาซีร์พบเจอแต่ความสูญเสีย เธอไม่อยากทำงานการเมืองด้วยซ้ำ แต่ต้องเข้ามาคลุกคลีในวงการนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ หลังจากสูญเสียพ่อจากเหตุการณ์รัฐประหารในปี 1979 เธอขึ้นมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคต่อในปี 1986 เพราะไม่อยากให้ประเทศเข้าสู่ระบอบเผด็จการทหาร โดยหวังจะเห็นประชาธิปไตยเบ่งบานในบ้านเกิดได้สักวันหนึ่ง

“I’m leavin’ on a jet plane/ Don’t know when I’ll be back again”

ท่อนเพลงที่ดังขึ้นระหว่างเธอเดินทางกลับบ้านในปี 1986 ขณะอายุ 33 ปี ถึงจะรู้อยู่เต็มอกว่าการกลับปากีสถานครั้งนี้ ชีวิตเธอจะเปลี่ยนไปตลอดกาล แต่เบนาซีร์ไม่หวั่น เธอจะทำให้ประชาธิปไตยกลับคืนสู่บ้านเกิดให้ได้ และนั่นทำให้เธอได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีถึงสองสมัย ดำรงตำแหน่งตั้งแต่เดือนธันวาคม 1988 ถึงเดือนสิงหาคม 1990 และอีกครั้งตั้งแต่เดือนตุลาคม 1993 ถึงเดือนพฤศจิกายน 1996

ย้อนกลับไปในวันที่ 17 สิงหาคม 1988 ก่อนการเลือกตั้งจะเปิดฉากขึ้น เครื่องบิน C-310 ซึ่งมีพลเอกมูฮัมหมัด เซีย-อุล-ฮัก และผู้บัญชาการทหารระดับสูงหลายคน พร้อมด้วยเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำปากีสถาน อาร์โนลด์ ลูอิส ราเฟล ประสบเหตุตกใกล้บาฮาวัลปูร์ แคว้นปัญจาบของปากีสถาน จากเหตุการณ์ครั้งนั้นเธอจึงกลายเป็นผู้นำหญิงที่สื่อต่างชาติให้ความสนใจ

“เต็มไปด้วยเสน่ห์ โดดเด่น และเป็นนักการเมืองผู้ชาญฉลาด” คือคำกล่าวที่ไทมส์มอบให้ผู้นำหญิง

เบนาซีร์เป็นนักการเมืองหญิงรุ่นใหม่ อยู่ในวัยสาวสะพรั่งอุดมไปด้วยเสน่ห์และปัญญา ตัวตนของเธอแตกต่างจากผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งอย่างชัดเจน แน่นอนสิ่งที่ชัดแจ้งที่สุดคือเพศสภาพ ไม่มีใครคาดคิดว่าผู้หญิงจะลงแข่งขันกับผู้ชายโดยเฉพาะในโลกมุสลิม โลกที่เพศชายมีอำนาจเหนือทุกสิ่ง แต่เบนาซีร์ไม่เชื่อเช่นนั้น เธอแสดงตัวตนอันแข็งแกร่งให้คนทั่วโลกเห็นว่าการเกิดมาเป็นสตรีในปากีสถาน ไม่ได้หมายความว่าจะต้องก้มหัวให้เผด็จการเสมอไป แม้คนในครอบครัวจะถูกทหารพรากไปจนเกือบหมดก็ตาม

ในปี 1988 เบนาซีร์ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของปากีสถาน ขณะอายุเพียง 35 ปี ได้รับที่นั่งในสภาแห่งชาติ 94 ที่นั่งจากทั้งหมด 207 ที่นั่ง กวาดคะแนนอย่างท่วมท้นจากประชาชนโดยเฉพาะสตรีและชนชั้นกลางปากีสถาน ภูมิหลังทางการศึกษาของเธอก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เธอเรียนจบจากมัธยมปลายจากโรงเรียนในเมืองการาจี และเข้าศึกษาต่อที่ Radcliffe College (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ Harvard University) สหรัฐอเมริกา

เบนาซีร์เคยได้รับฉายาว่า Pinky เพราะตอนแรกเกิดเธอมีผิวสีชมพูระเรื่อ เธอมีความสนใจหลากหลาย ครั้งหนึ่งเคยทำหน้าที่ไกด์นำเที่ยวในมหาวิทยาลัย ชื่นชอบการฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ และยังสนใจการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาโดยตลอด ซึ่งการเรียนที่ฮาร์วาร์ดทำให้เธอเห็นภาพนั้นฉายชัดขึ้นเรื่อย ๆ จนนำมาสู่การศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด เธอเรียนหลักสูตรต่าง ๆ ในด้านกฎหมายและการทูตระหว่างประเทศ รวมถึงเศรษฐศาสตร์ ปรัชญา และการเมือง

แต่เส้นทางทางการเมืองของเธอเต็มไปด้วยขวากหนาม เพราะเบนาซีร์พยายามผลักดันกฎหมายสิทธิมนุษยชน ทำให้ผู้หญิงมีสิทธิมีเสียงในสังคมมากขึ้น เธอคืนเสรีภาพให้กับสื่อ อนุญาตให้สหภาพแรงงาน รวมถึงกลุ่มนักศึกษาได้ออกมาแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี

ใช่ว่าผู้มีอำนาจจะเห็นด้วยกันการกระทำของเธอ เบนาซีร์ต้องต่อสู้กับผู้มีอำนาจมาโดยตลอด ถูกกล่าวหาหลายต่อหลายครั้งว่าพัวพันกับคดีทุจริตคอรัปชั่น จนถูก ‘กูลัม อิชาค ข่าน’ (Ghulam Ishaq Khan) อดีตประธานาธิบดีปากีสถาน ขับออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากดำรงตำแหน่งนายกฯ เพียง 2 ปี ผลักให้เธอกลายเป็นผู้นำฝ่ายค้านไปอย่างเลี่ยงไม่ได้

ก่อนจะกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ในเดือนตุลาคม 1993 แต่ไม่ทันครบวาระ ก็ถูกถอดถอนอีกครั้งในปี 1997 ด้วยข้อหาทุจริตคอรัปชั่น ศาลพิจารณาเห็นว่าเธอและสามีมีส่วนพัวพันเกี่ยวกับการลอบสังหารมูร์ตาซา

เบนาซีร์รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งอีกครั้งในปี 1999 แต่ครั้งนี้เธอกลับพ่ายไปอย่างน่าเสียดาย ขณะเดียวกันสามีของเธอก็ถูกจับกุมขณะพยายามเดินทางไปดูไบ ถูกตั้งข้อหาทุจริต ศาลสั่งปรับเป็นจำนวนเงิน 8.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เธอและสามีถูกตัดสินจำคุก 5 ปี แต่เบนาซีร์เดินทางไปยังดูไบก่อนแล้ว และทางการดูไบปฏิเสธที่จะส่งตัวเธอให้กับปากีสถาน จึงมีเพียงสามีของเธอเท่านั้นที่ได้รับโทษ เมื่อครบกำหนดโทษเบนาซีร์ย้ายครอบครัวมาลี้ภัยอยู่ที่ดูไบด้วยกันทั้งหมด

หลังลี้ภัยในต่างประเทศมาเกือบสิบปี พลเอกเปอร์เวซ มูชาร์ราฟ และประธานาธิบดีเปอร์เวซ มูชาร์ราฟได้ให้การนิรโทษกรรมเบนาซีร์จากความผิดฐานทุจริตทั้งหมด เธอจึงเดินทางกลับปากีสถานในวันที่ 5 ตุลาคม 2007 เพียงสองสัปดาห์เธอก็ลงสนามรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งอย่างจริงจัง หญิงสาวรายล้อมไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา แต่ครั้งนี้กลับแตกต่างออกไป

การรณรงค์หาเสียงจบลงด้วยเหตุระเบิดโศกนาฏกรรม มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 139 คน บาดเจ็บมากถึง 450 คน โชคดีที่เธอไม่ได้รับบาดเจ็บ

แต่สุดท้ายชะตากรรมของเธอก็จบสิ้นลง เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2007 ขณะเดินสายหาเสียงก่อนการเลือกตั้งในเมืองราวัลปินดี เพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3

ปัง ปัง ปัง!

เสียงปืนดังขึ้น 3 นัด ระหว่างเบนาซีร์กำลังโบกมือให้กับผู้สนับสนุนผ่านซันรูฟของรถ SUV จากนั้นลูกระเบิดก็ถูกโยนเข้ามา ผู้คนแตกตื่นหาที่หลบกันจ้าละหวั่น ไม่มีใครรู้ชะตากรรมของเบนาซีร์ รู้ตัวอีกทีเธอก็ถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล ก่อนจะเสียชีวิตในอีกหนึ่งชั่วโมงให้หลัง

เหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุทันที 20 ราย

และโลกได้สูญเสียผู้นำหญิงผู้เข้ามามอบความหวังและความฝันให้ชาวปากีสถานไปตลอดกาล

ไม่มีใครรู้ว่าคดีทุจริตคอรัปชั่นเธอมีส่วนเกี่ยวข้องจริงหรือไม่ 

ไม่มีใครรู้ว่าเบื้องหลังการเสียชีวิตของน้องชาย - มูร์ตาซา ใครเป็นคนบงการ

และไม่มีใครรู้อีกว่าน้องชายอีกคน - ซาร์นาวาซ ใครกันแน่เป็นคนปลิดชีพเขา

ทั้งหมดนี้ยังคงเป็นปริศนา โดยที่ไม่รู้อีกนานแค่ไหนความจริงจะปรากฏ

เบนาซีร์จากไปในวัย 54 ปี ทิ้งไว้เพียงมรดกแห่งความกล้าหาญ เธอคือนักสู้ที่ไม่เคยยอมแพ้ แต่ขอเปิดหน้าต่อกรจนกว่าประชาธิปไตยจะอยู่ในมือประชาชนชาวปากีสถานอย่างแท้จริง

 

เรื่อง : วันวิสาข์ โปทอง

ภาพ : Getty Images

 

อ้างอิง

Obituary: Benazir Bhutto.

Benazir Bhutto assassination: How Pakistan covered up killing. 

Benazir Bhutto. 

Obituaries. Not Forgotten 

Benazir Bhutto of Pakistan.