โกลดา เมอีร์ : สตรีเหล็ก นายกฯ หญิงคนแรกของอิสราเอล

โกลดา เมอีร์ : สตรีเหล็ก นายกฯ หญิงคนแรกของอิสราเอล

โกลดา เมอีร์ นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกและคนเดียวของอิสราเอล เธอเติบโตมาในครอบครัวชาวยิว เป็นลูกสาวผู้ลี้ภัย ภรรยา แม่ นักการเมือง และผู้นำที่ได้รับฉายาว่า ‘สตรีเหล็ก’

  • โกลดา เมอีร์ คือ นายกรัฐมนตรีคนที่ 4 และเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอิสราเอล
  • เธอผ่านมาแล้วทุกบทบาท ตั้งแต่ลูกสาวไปจนถึงผู้นำหญิงของอิสราเอล ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ได้ดีในทุกบทบาทเช่นกัน 
  • ในสงครามยมคิปปูร์หรือสงครามตุลาคม เธอคือผู้นำหญิงที่ต่อสู้และพยายามเจรจาตลอด 19 วันของสงครามจนได้ฉายา ‘สตรีเหล็ก’

โกลดา เมอีร์ คือ นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกและคนเดียวของอิสราเอล

เธอเติบโตในครอบครัวชาวยิว และเชื่อในลัทธิไซออนนิสต์ที่เชื่อว่า ชาวยิวต้องมีแผ่นดินเป็นของตัวเองตามพระคัมภีร์

ตลอดชีวิต 80 ปี เธอสวมหมวกมาแล้วหลายใบ ตั้งแต่ลูกสาวไปจนถึงผู้นำหญิงของอิสราเอล

ในสายตาพ่อแม่ วัยเด็กของเมอีร์ดูเหมือนเด็กหญิงก๋ากั่น ไม่ฟังใคร  

ในสายตาสามี เธออาจเป็นผู้หญิงบ้างาน (แม้เธอจะพยายามเป็นแม่และเมียตามขนบแล้วก็ตาม)

ในสายตาหัวหน้า เธอคือพนักงานที่มีความสามารถ เผชิญทุกความท้าทาย และทำงานได้ดี

ส่วนในฐานะผู้นำ เธอคือผู้นำที่พยายามสู้เพื่อบ้านเมือง ถึงสุดท้ายจะโดนประชาชนต่อว่าจนลาออกและวางมือการเมืองไป

ชวนดูเส้นทางชีวิตของ ‘โกลดา เมอีร์’ สตรีเหล็กและนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอิสราเอลได้จากบทความชิ้นนี้

เด็กหญิงหัวขบถ กล้า และไม่เหมือนใคร 

เมอีร์ เติบโตมาในครอบครัวชาวยิวที่เมืองเคียฟของยูเครน ซึ่งตอนนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของรัสเซีย

ครอบครัวของเธอไม่ได้ฐานะดีมากนัก แต่อย่างน้อยก็ทำให้เธอมีความทรงจำที่แสนอบอุ่นในวัยเด็ก เวลาที่ทุกคนในครอบครัวจะมานั่งกินข้าวและร้องเพลงพร้อมหน้าในวันสะบาโต (วันสำคัญทางศาสนาของชาวยูดาห์และคริสเตียน) กันอยู่บ้าง

แต่ความทรงจำดี ๆ ก็อาจน้อยกว่าความทรงจำที่เธออยากจะลืม 

ครอบครัวเมอีร์ต้องเผชิญกับความหิวโหย ใช้ชีวิตอย่างหลบซ่อน ไม่ให้ทหารรัสเซียรู้ว่าพวกเขาอยู่ที่ไหน และยังต้องเผชิญกับการสังหารหมู่ที่น่ากลัวเกินกว่าเด็กคนหนึ่งจะรับไหว

ยังไม่รวมถึง ‘ชิอินนา’ พี่สาวที่อายุมากกว่า 9 ปีที่เลือกเสี่ยงชีวิตไปเป็นแรงงานให้กลุ่มไซออนนิสต์ ส่วนน้องสาวก็ได้กินเพียงส่วนแบ่งข้าวต้มอันน้อยนิดจากเมอีร์เท่านั้น

หลังจากนั้น เมอีร์ในวัย 8 ปีก็ย้ายไปตั้งรกรากอยู่ที่สหรัฐอเมริกาพร้อมกับครอบครัว และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอเริ่มเป็นเด็กหญิงที่กล้าขบถต่อแนวคิดผู้หญิงแบบเดิม ๆ

ความฝันวัยเด็กของเมอีร์ คือ การเป็นครู

เธอเลือกเรียนต่อชั้นมัธยม แม้พ่อกับแม่จะคัดค้าน เพราะพวกเขาอยากให้เมอีร์เป็นแม่บ้าน หาสามีมาดูแล

“ฉลาดไปก็เท่านั้น ผู้ชายไม่ชอบผู้หญิงฉลาดหรอก” พ่อบอกเมอีร์ไว้แบบนั้น

แต่เมอีร์ไม่สนใจคำพูดของใครทั้งนั้น เธอไปลงทะเบียนเรียนชั้นมัธยมที่ ‘โรงเรียนมัธยมนอร์ธดิวิชั่น’ (Milwaukee’s North Division High School) เขตมูวากี เมืองวิสคอนสิน สหรัฐอเมริกา อีกทั้งยังหาค่าเทอมด้วยตัวเอง แล้วเก็บกระเป๋าไปอยู่กับพี่สาวและพี่เขยในเมืองเดนเวอร์

ระหว่างนั้นเธอก็ฟังเพื่อนพี่สาววิพากษ์วิจารณ์เรื่องไซออนนิสต์ภายใต้สังคมนิยม ความเป็นแรงงานไซออนิสต์ เรื่องราวที่ไม่มีในตำรา แต่กลับทำให้เธอได้รับแนวคิดสำคัญที่ส่งผลต่อปรัชญาการเมืองของตัวเอง 

ผ่านไป 1 ปี พ่อแม่ส่งจดหมายบอกให้เธอกลับบ้าน

ปี 1916 เมอีร์เรียนจบชั้นมัธยมปลาย และสานฝันตัวเองได้สำเร็จจากการจบการศึกษาวิทยาลัยครู มีโอกาสสอนการอ่าน การเขียน และประวัติศาสตร์ให้เด็ก ๆ สัปดาห์ละ 3 ครั้งที่โรงเรียนสอนภาษายิว

หน้าที่การงานของเมอีร์พอจะทำให้พ่อแม่คลายความเป็นห่วงไปได้บ้าง แต่พ่อแม่ไม่รู้เลยว่า ความสุขในการสอนของเธอไม่ใช่การสอนเด็ก แต่เป็นการพูดเรื่องแรงงานให้กับผู้คนตามท้องถนน

ผ่านไปอีก 5 ปี เธอก็ย้ายถิ่นอีกครั้ง ครั้งนี้ไม่ใช่สหรัฐอเมริกา แต่เป็นดินแดน ‘ปาเลสไตน์’

 

ปาเลสไตน์ ความรักและการหย่าร้าง

มอริส มาเยอสัน ศิลปินผู้เงียบขรึมที่หลงรักบทกวีและเสียงดนตรี คือชายที่เมอีร์ตัดสินใจจะใช้ชีวิตคู่ด้วยกัน

ทั้งคู่แต่งงานกันในปี 1917 ภายใต้เงื่อนไขว่า มอริสและเมอีร์จะต้องย้ายไปที่ ‘ปาเลสไตน์’

ถึงแม้ว่าจะเป็นคนที่ทำให้เมอีร์รู้จักกับประวัติศาสตร์และวรรณกรรม แต่ถึงอย่างนั้น มอริสก็ไม่ได้เห็นด้วยกับแนวคิดทางการเมืองของภรรยาเสียทีเดียว

เมื่อเวลาที่เหมาะสมมาถึง ในปี 1921 ทั้งสองคนเลือกย้ายไปสร้างครอบครัวที่ ‘เมอฮาเวีย’ เมืองเกษตรกรรม (คิบบุตซ์) ตอนเหนือของอิสราเอล สถานที่ที่เธอบอกว่า “ไม่มีสวนผลไม้ ไม่มีทุ่งหญ้า ไม่มีดอกไม้ ไม่มีอะไรเลย” ทั้งยังถูกคณะกรรมการในพื้นที่ปฏิเสธด้วยการให้เหตุผลว่า คิบบุตซ์ไม่เหมาะกับคู่รักที่แต่งงานแล้ว

แต่พวกเขาก็สมัครอีกครั้งจนได้รับอนุญาตให้ทดลองอยู่ก่อน

ตอนนั้นเมอีร์เริ่มเก็บอัลมอนด์ ปลูกต้นไม้ต้นเล็ก ๆ ส่วนมอริส สามีของเธอก็ช่วยงานเกษตรกรรม ส่วนสมาชิกคิบบุตซ์ก็เริ่มหลงเสน่ห์ในเครื่องบันทึกเสียงและแผ่นเสียงคลาสสิกของมอริส ทำให้คู่รักหน้าใหม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนบ้านมากขึ้น

เมอีร์กลายเป็นไอคอนของชาวคิบบุตซ์ ทำให้เธอได้รับเลือกเป็นตัวแทนของสหพันธ์แรงงาน 

ช่วงที่ชีวิตของเมอีร์กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่สามีของเธอกลับต้องเผชิญกับโรคมาลาเรีย และยืนกรานที่จะไม่มีลูก นอกจากเมอีร์จะให้คำมั่นสัญญาว่าลูกจะต้องเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่เหมือนกับคนอื่น ๆ 

เมอีร์ตอบตกลง ทั้งสองคนย้ายไปที่ ‘เยรูซาเลม’ ให้กำเนิด มานาเคม (Menachem) ลูกชาย และ ซาร่า (Sarah) ลูกสาวของเมอีร์และมอริส

เพราะให้คำมั่นกับสามีไว้แล้ว เมอีร์เลยเลือกจะเป็นเมียและแม่ตามขนบ แม้ว่าครอบครัวของเธอกำลังเจอวิกฤตการเงินก็ตาม เธอก็ดิ้นรนเพื่อให้ทุกคนในครอบครัวอยู่อย่างมีความสุข 

เมอีร์ไม่เลือกงาน เธอเลือกเป็นนักบัญชีในสหพันธ์แรงงาน รับซักผ้า เพื่อหาค่าเทอมชั้นอนุบาลให้กับลูกชายคนโต แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ เธอไม่เคยทิ้งอุดมการณ์ ทุกงานที่เธอส่งใบสมัครจะต้องสร้างประโยชน์ มีความหมาย และตอบโจทย์ความเป็นไซออนนิสต์ 

อ่านแนวคิดไซออนนิสต์ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/photo?fbid=706900038135701 &set=a.633364228822616

ปี 1928 เธอเลือกจะไปทำงานเป็นเลขานุการของ  Mo'ezet ha-Po'alot (สภาแรงงานสตรี ภายใต้สภาแรงงานของอิสราเอล) ย้ายไปเมือง ‘เทลอาวีฟ’ (Tel Aviv) พร้อมกับลูกและน้องสาว เพราะรู้ดีว่าสามีจะต้องค้านหัวชนฝาแน่ ๆ

สุดท้าย เส้นทางความรักของเมอีร์กับมอริสก็สิ้นสุดลง 

พอมอริสเสียชีวิต เมอีร์ก็ออกมาเขียนถึงความเป็นผู้หญิง เมีย และแม่ของเธอตอนอายุ 77 ปี

“ฉันมักจะรีบออกจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ไปทำงาน กลับบ้าน ไปประชุม พามานาเคมไปเรียนดนตรี นัดหมอของซาร่า ไปชอปปิง ทำอาหาร ทำงาน และกลับบ้านอีกครั้ง ทุกวันนี้ฉันก็ยังเป็นแบบนั้น

“ฉันคิดว่าบางทีฉันอาจจะทำร้ายลูก ๆ หรือละเลยพวกเขาไปบ้างหรือเปล่า” 

แล้วเธอเองก็ยอมรับว่า บางครั้งเธอก็ต้องการทำตามใจตัวเองเหมือนกัน

“มีผู้หญิงประเภทหนึ่งที่ไม่ยอมให้สามีและลูก ๆ ของเธอมากำหนดกรอบความเป็นตัวเอง”

 

ชีวิตนักการเมืองครั้งแรก

ชีวิตการทำงานของเมอีร์ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว 

ปี 1934 เธอได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการบริหารของฮิสตาดรุต (Histadrut) หรือสหพันธ์แรงงานของอิสราเอล และยังได้รับเป็นหัวหน้าแผนกการเมืองใน 2 ปีต่อมา 

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เธอดำรงตำแหน่งสำคัญของกลุ่มไซออนนิสต์และกลุ่มชาวยิว รวมถึงเป็นรักษาการหัวหน้าหน่วยงานในการจับกุมผู้ลี้ภัยที่เป็นผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ดูแลความเรียบร้อยตั้งแต่กระบวนการแรกจนถึงกระบวนการสุดท้าย

ตอนสถาปนาอิสราเอล จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อจัดหาอาวุธและเตรียมกองทัพ เมอีร์จึงอาสาเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อรับเงินบริจาค 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากชาวอเมริกันเชื้อสายยิว เพราะเธอพูดภาษาอังกฤษได้ 

ขณะที่เพื่อนคนอื่นยอมแพ้และล้มเหลวไม่เป็นท่า แต่เธอสามารถสื่อสารให้ชาวอเมริกันมองเห็นความเร่งด่วน ความจำเป็น และความรู้สึกร่วมกันของผู้คน ทำให้เธอสามารถหาเงินได้มากถึง 50 ล้านดอลลาร์!

ความสามารถของเธอทำให้ ‘เดวิด เบนกูเรียน’ นายกรัฐมนตรีของอิสราเอลยอมรับพร้อมเอ่ยปากชมว่า 

“เธอใช้เงินเพื่อทำให้รัฐเป็นไปได้”

 

เส้นทางสู่นายกฯ หญิงคนแรกของอิสราเอล

หลังจากทำภารกิจขอเงินรับบริจาคได้สำเร็จ หนึ่งเดือนต่อมา เมอีร์ได้รับการแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตของสหภาพโซเวียต 

ปี 1949 เดวิด เบนกูเรียน แต่งตั้งเธอเป็นรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน มีหน้าที่หลักคือการจัดหางานและที่อยู่อาศัยของผู้ลี้ภัยหน้าใหม่เกือบ 700,000 คน นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นชีวิตนักการเมืองของโกลดา เมอีร์

เมอีร์รับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานอยู่ 7 ปี ก่อนที่จะไปเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดอันดับสองของรัฐบาลเดวิด เบนกูเรียน

แม้จะได้รับตำแหน่งและอำนาจมากมาย แต่เมอีร์ก็ยังคงเป็นเมอีร์ หญิงสามัญชนคนเดิม 

เธอเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศที่ขึ้นเครื่องบินชั้นประหยัด ซักชุดชั้นในและขัดรองเท้าเอง บางครั้งก็โชว์ฝีมือทำอาหารด้วยตัวเองพร้อมกับบรรยายมาตรการรักษาความปลอดภัยของอิสราเอลไปด้วย และยังพาเทคนิคการเกษตรของอิสราเอลดังไกลไปยังแอฟริกา

ปี 1966 เธอวางมือจากงานราชการในวัย 68 ปี รับบทคุณย่าของหลาน ๆ อ่านหนังสือ ฟังเพลง อบขนม ไปหาเพื่อนบ้าง และรักษาตัวเพราะเธอเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองด้วย

แม้จะประกาศวางมือ แต่เธอก็ถูกชวนให้เป็นเลขาธิการพรรค Mapai พรรคการเมืองที่เธอเป็นสมาชิกอยู่แล้ว และได้เป็นเลขาธิการพรรคแรงงาน แต่เดือนกุมภาพันธ์ 1969 นายกรัฐมนตรี เลวี เอชโคล นายกรัฐมนตรีคนที่ 3 เสียชีวิตลงด้วยอาการหัวใจวาย มีการรวมพรรคสองขั้วเข้าด้วยกัน โกลดา เมอีร์จึงได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของอิสราเอล

 

สตรีเหล็กท่ามกลางสงครามความขัดแย้งอาหรับ-อิสราเอล

ผ่านไป 4 ปี เกิด ‘สงครามยมคิปปูร์’ (Yom Kippur War) หรือที่รู้จักกันในชื่อสงครามตุลาคม ช่วงถือศีลอด (รอมฎอน) ระหว่างอาหรับและอิสราเอล โดยมีอียิปต์และรัสเซียนำทัพ

กองทหารซีเรียและอียิปต์โจมตีอิสราเอลเพื่อทวงคืนดินแดนที่สูญเสียไปช่วงรอมฎอน ซึ่งเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดวันหนึ่งของชาวยิว 

ขณะที่สงครามรุนแรงมากขึ้น เมอีร์ก็พยายามติดต่ออียิปต์เพื่อเจรจา แต่ก็ถูกปฏิเสธทุกครั้ง นอกจากนี้เมอีร์ยังต้องเผชิญแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกา ความเสียหายต่อผู้คนและบ้านเมือง และเพื่อความมั่นคงของรัฐก็ทำให้เมอีร์ไม่ยอมถอยทัพ ส่งผลให้มีพลเมืองชาวอิสราเอลเสียชีวิตไปกว่า 2,700 คน

หลังจากเห็นนักรบทั้งหลายล้มตาย และกำลังพลที่อ่อนแอกว่า สุดท้ายอียิปต์และอิสราเอลก็ตัดสินใจทำสัญญาสันติภาพระหว่างกัน เป็นอันสิ้นสุดสงครามอันยาวนานกว่า 19 วัน

ด้วยความสามารถของเมอีร์ทำให้เธอได้รับฉายา ‘สตรีเหล็ก’ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน พวกเขาลุกขึ้นมาต่อต้าน แม้จะได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง แต่เธอก็ตัดสินใจลาออก และมอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับ ‘ยิตส์ฮัก ราบิน’ (Yitzhak Rabin)

โกลดา เมอีร์ เสียชีวิตที่เยรูซาเลมปี 1978 ในวัย 80 ปีจากมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่เธอปกปิดไว้นานถึง 12 ปี 

My Life หนังสือชีวประวัติของเธอตีพิมพ์สู่สายตาชาวโลกในปี 1975

เธอคือหนึ่งในบุคคลสำคัญที่ขึ้นปกนิตยสาร และได้รับเลือกเป็นหนึ่งในร้อยผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลในโลกปี 2020 ของ TIME Magazine 

Golda ภาพยนตร์สารคดีบุคคลก็เพิ่งฉายครั้งแรกในเดือนสิงหาคมปี 2023

โกลดา เมอีร์ อาจไม่ใช่ผู้นำที่ดีที่สุด แต่ชีวิตตั้งแต่เด็กจนแก่ของเธอก็ถือว่าเป็นนักสร้างตำนาน ผู้นำหญิง คนที่ไม่ยอมแพ้ ที่เรื่องราวของเธอได้ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองโลก รวมถึงการเมืองอิสราเอลไว้แล้ว

 

เรื่อง : ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ภาพ : แฟ้มภาพจาก Getty Images

 

อ้างอิง : 

jwa

history

britannica (1)

britannica (2)

time