‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ พลังแห่งคำถามและการเมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ พลังแห่งคำถามและการเมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ นักการเมืองผู้ไม่เคยหยุดตั้งคำถาม ท้าทายอำนาจเพื่อประชาธิปไตยที่ ‘เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข’ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

KEY

POINTS

  • พลังแห่งคำถาม – วิโรจน์เชื่อว่าการตั้งคำถามไม่ใช่แค่ความสงสัย แต่เป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงสังคม
  • ประชาธิปไตยที่เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข – ไม่ใช่แค่เสียงข้างมาก แต่ต้องคำนึงถึงเสียงข้างน้อยและความเป็นธรรม
  • การเมืองเพื่อทุกคน – เขาต่อสู้เพื่อโครงสร้างที่เป็นธรรม และไม่ยอมให้ผู้ด้อยโอกาสถูกลืม
     

ในวันที่สภาผู้แทนราษฎรกลายเป็นสมรภูมิการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เสียงหนึ่งที่เพิ่มอุณหภูมิจนสภาเดือดคือเสียงของ ‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ ส.ส.พรรคประชาชน ผู้ที่ไม่เคยลังเลที่จะตั้งคำถามต่ออำนาจ ไม่ว่าจะในตำแหน่งใดหรือยุคสมัยไหน

“ผมเป็นคนที่ตั้งคำถามมาตลอดชีวิต” วิโรจน์ให้สัมภาษณ์กับรายการ ‘The Moment’ เมื่อเดือนมกราคม 2568 สะท้อนตัวตนตั้งแต่เด็กหลังห้องที่กลายเป็น ‘มือปืนรับจ้าง’ ผู้กล้าถามคำถามแทนเพื่อน ๆ จนมาถึงบทบาท ‘นักการเมือง’ ที่กล้าตั้งคำถามกับโครงสร้างอำนาจและความไม่เท่าเทียมในสังคม 

‘วิโรจน์’ คือตัวอย่างของผู้ที่เชื่อว่า ‘การตั้งคำถาม’ ไม่ใช่เพียงการแสดงข้อสงสัย แต่คือเครื่องมือสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลง

ในยามที่ประเทศไทยยังคงแสวงหาคำนิยามของ ‘ประชาธิปไตย’ แนวคิดของชายผู้สวมแว่นตาไม่เหมือนใครที่มองว่า “ประชาธิปไตยคือการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข” จึงเป็นแนวคิดที่น่าพิจารณา โดยเฉพาะในวันที่ความขัดแย้งทางการเมืองยังคงดำรงอยู่ และเสียงของผู้ด้อยโอกาสและคนชายขอบในสังคมยังไม่ถูกรับฟังเท่าที่ควร

บทสัมภาษณ์ที่เราจะนำเสนอต่อไปนี้ เกิดขึ้นก่อนวันอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่สะท้อนแนวคิดและปรัชญาการเมืองของชายผู้ไม่เคยหยุดตั้งคำถาม ที่วันนี้กลายเป็นหัวหอกสำคัญในการท้าทายรัฐบาล เพื่อการเมืองที่ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” อย่างแท้จริง

‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ พลังแห่งคำถามและการเมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เส้นทางของนักตั้งคำถาม

“ผมเป็นคนที่มีความเป็น active citizen สูง คือเป็น active worker ละกัน เป็นคนที่ประกอบอาชีพโดยที่พยายามจะตั้งคำถามกับมันว่า เราทำอย่างนี้ไปเพื่ออะไร” วิโรจน์เริ่มต้นเล่าถึงที่มาของการเข้าสู่วงการการเมือง
 

ตลอดชีวิตการทำงาน เขาไม่เคยหยุดตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่เป็นวิศวกรในอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่เขาตั้งคำถามว่าทำไมรถยนต์ในประเทศไทยแพงกว่าญี่ปุ่น หรือตอนที่ทำงานในธุรกิจหนังสือ ที่เขาสงสัยว่าทำไมหนังสือไทยราคาแพง และทำไมคนไทยถึงอ่านหนังสือน้อย

“จริง ๆ แล้ว ผมไม่เคยคิดที่จะทำงานการเมืองนะ” เขาเล่าถึงจุดเปลี่ยนในชีวิต “แต่ชีวิตผมเป็นคนแปลก คือผมไม่ค่อยที่จะรอโอกาส ผมวิ่งหาโอกาส แล้วพอโอกาสหล่นมาปุ๊บ ผมยิ่งรู้สึกว่าเราต้องใช้โอกาสนั้นให้ดีที่สุด”

การเข้าสู่ ‘พรรคอนาคตใหม่’ ในช่วงแรกนั้น วิโรจน์เปรียบเสมือนการเข้าร่วมกิจกรรมชมรม “การเมืองมันไม่เห็นจะต้องเคร่งเครียดหรือคิดแต่เฉพาะการเมืองอย่างเดียวนะ มันเป็นเหมือนกับการรวมคนที่เขามีความมุ่งมั่นมีความสนใจร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้”

เมื่อถามถึงสกิลที่นำมาใช้ในการเมือง วิโรจน์เล่าว่า “ความเป็นวิศวกรส่วนหนึ่งเนาะ คือวิศวกรเนี่ยจะถูกสอนว่าคุณต้อง quantify สถานการณ์ให้ได้ คุณต้องเปลี่ยนความรู้สึกให้เป็นข้อมูลเชิงปริมาณให้ได้ คุณถึงตัดสินใจได้” ผสมผสานกับประสบการณ์ในชมรมวาทะและศิลปะการแสดงที่ช่วยให้เขารู้จักการเรียบเรียงข้อมูลและสื่อสารอย่างมีพลัง

‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ พลังแห่งคำถามและการเมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

การตั้งคำถามและการยอมรับความไม่แน่นอน

โรจน์ย้อนเล่าเรื่องสมัยเด็กที่เขาเป็นเด็กหลังห้อง ได้คะแนนน้อย จนกระทั่งได้พบกับ ‘อากู๋’ ที่สอนให้เขารู้จักตั้งคำถาม วันหนึ่งอากู๋ถามเขาว่า “ถ้าเรียนในห้องไม่เข้าใจ แล้วปล่อยเอาไว้ ไม่เครียดเหรอ” คำถามนี้ทำให้เขาเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองเพราะ “ไม่มีเด็กคนไหนหรอกครับที่อยากอยู่กับความไม่เข้าใจ 50 นาทีอ่ะ”

หลังจากนั้นวิโรจน์เริ่มค้นพบว่าการตั้งคำถามทำให้เขาเข้าใจบทเรียนมากขึ้น 

จากเด็กหลังห้อง วิโรจน์กลายเป็น ‘มือปืนรับจ้าง’ ที่ถามคำถามแทนเพื่อน ๆ และพัฒนาทักษะการอธิบายให้คนอื่นเข้าใจ 

อีกทักษะสำคัญที่เขาพัฒนาขึ้นตามวัยและประสบการณ์ชีวิตคือ การยอมรับความไม่แน่นอนเป็นส่วนสำคัญของชีวิต

“ถ้ามีปัญหาเรื่องคน และผมได้อภัยจนถึงที่สุดแล้ว ผมได้ทำดีที่สุดแล้ว แล้วมันได้แค่เนี้ย ผมรู้สึกผมเหนื่อยมากแล้ว... หมายความว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้”

‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ พลังแห่งคำถามและการเมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

อย่างไรก็ตาม การ ‘ปลง’ ก็ไม่ใช่คำตอบของทุกสิ่งทุกอย่าง

“คำว่าปลงที่ถูกต้องคือทำดีที่สุดแล้วก็ปล่อยวางกับผลซะ เพราะเราแก้อะไรไม่ได้แล้ว มันคือสิ่งที่ดีที่สุด ณ เวลานั้นแล้ว” เขาเน้นว่าหลายคนเข้าใจผิดว่า ‘ปลง’ คือการยอมแพ้ ทั้งที่ยังไม่พยายามให้เต็มที่ “คุณยังไม่ทำในสิ่งที่ดีที่สุดอ่ะ แต่คุณดันกล้าคาดหวังกับผลไง คุณทำหน่อมแน้ม แต่คุณกล้าคาดหวังกับผล แล้วพอผลออกมาไม่ได้ดั่งใจ คุณบอกว่า ปลงเถอะ ปลงเถอะ... อย่างนี้มันไม่ปลง”

การรักตัวเองผ่านคนอื่น

วิโรจน์ยอมรับว่าเขาเป็นคนที่ “รักตัวเองผ่านคนอื่น” ในช่วงหนึ่งของการสัมภาษณ์เขาเล่าว่า “ผมจะรู้สึกภูมิใจเมื่อเราเห็นคนที่เรา support เขาดีขึ้นมา ผมจะแอบอมยิ้มทุกครั้ง ผมจะแอบดีใจทุกครั้ง แม้ว่าผมจะเสียสละหรือว่าจะโดนอะไรก็ตาม”

ลักษณะนี้ทำให้เขามักจะเป็นคนที่ ‘ออกหน้า’ ปกป้องคนอื่น แม้จะต้องเจ็บตัว “เวลาที่เราต้องออกหน้า ผมออกตัวแรงมาก... ผมต้องโดนด่า ผมก็ต้องโดนด่า ผมต้องปกป้อง ก็ต้องปกป้อง ผมต้องเจ็บต้องรับลูกเกาทัณฑ์แทน ก็ต้องยอม”

แต่การให้ใจคนเต็มร้อยก็นำมาซึ่งความเจ็บปวดเมื่อไม่ได้รับสิ่งเดียวกันกลับคืนมา

“การให้ใจคนเต็มร้อยอ่ะ ถ้าเราเจอคนที่มันไม่ใช่อะ มันก็เจ็บปวดแล้วเจ็บนาน ปัญหาคือ เพราะเราไม่พัฒนาทักษะที่ทำให้เวลาเจ็บมันน้อยลงไง”

แม้จะเจ็บปวด แต่วิโรจน์ยังคงเลือกที่จะเป็นแบบนี้ต่อไป เพราะเขาเชื่อว่า “การที่มีพวกมึงอยู่ในชีวิตอ่ะ แค่ไม่กี่คนมันคุ้มกับที่กูจะแลก มันคุ้มกับความเจ็บปวดที่กูจะเจอกับคนเฮงซวยบางคน”

อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เขาเรียนรู้ว่า “เราสามารถสูญเสียมิตรภาพได้โดยที่เราไม่ต้องเกลียดเขา เราไม่ต้องโกรธเขา เขาก็มีชีวิตของเขา เราก็มีชีวิตของเรา”

‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ พลังแห่งคำถามและการเมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ประชาธิปไตยคือการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข

เมื่อถามถึงความหวังสูงสุดในการทำงานการเมือง วิโรจน์ตอบว่า “การเป็นสะพานสู่การเปลี่ยนแปลง” เขาเปรียบเทียบว่าในวงการเอกชน เรามีเคพีไอชัดเจน แต่การเมืองซึ่งเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงและพาประเทศไปข้างหน้านั้นแตกต่างออกไป

“ผมมีข้อสังเกตกับวลีที่พูดว่า ‘ให้มันจบในรุ่นเรา’ อ่ะ มันเท่ากับคุณหวงความสำเร็จเอาไว้กับรุ่นตัวเอง” วิโรจน์มองว่าในแต่ละยุคสมัย คนก็มีเป้าหมายของตัวเอง และบางครั้งสิ่งที่คนรุ่นก่อนทำไว้ อาจไม่ตอบโจทย์คนรุ่นต่อไป “อย่าหวงความสำเร็จ” เขากล่าว

“ประชาธิปไตยมันเป็นการเดินทางที่มันไม่มีจุดหมายปลายทางที่ชัดเจนน่ะ จะตอบได้ยังไงว่าจุดหมายปลายทางมันอยู่ที่ไหน” ดังนั้น เขาจึงมุ่งมั่นทำให้ดีที่สุดและเป็นสะพานเชื่อมให้คนรุ่นถัดไปได้ทำตามความฝันของพวกเขาเอง

วิโรจน์เปรียบประชาธิปไตยเหมือนการร่วมโต๊ะอาหารกับคนที่มีความคิดแตกต่างหลากหลาย “ผมอยากจะกินอาหารสัก 5 อย่าง คุณอาจจะอยากกินอีก 5 อย่าง... ซึ่ง เหมือนกันบ้าง ไม่เหมือนกันบ้าง... ผมอาจจะได้กินแค่สองอย่าง คุณอาจจะได้ 3 อย่าง บางคนอาจจะได้อย่างเดียว แต่มันร่วมโต๊ะกันได้ เนี่ย มันคือประชาธิปไตย”

ระบอบประชาธิปไตยในมุมมองของเขาจึงเป็นระบอบที่ดูเหมือนจะมีแต่คนผิดหวัง “ตราบใดที่มนุษย์เราได้ไม่ครบ 5 อย่าง ก็บ่นหมดแหละ” แต่หากคิดเช่นนี้ “มันไปไม่ได้” เพราะแท้จริงแล้ว “มันเป็นระบบที่เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขต่างหาก”

‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ พลังแห่งคำถามและการเมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เสียงข้างมากที่เคารพเสียงข้างน้อย

วิโรจน์ชี้ให้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่แค่ระบบโหวตเสียงข้างมาก แต่เป็นระบบที่ต้องมีความสมดุล “เสียงข้างมากเนี่ยใช้ได้ แต่เสียงข้างมากต้องเคารพเสียงข้างน้อยและต้องคิดถึงมาตรการในการเยียวยาเสียงข้างน้อยด้วย”

เขาเตือนว่าหากใช้การโหวตอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงนิติบัญญัติ ไม่คำนึงถึงกระบวนการยุติธรรม สุดท้ายจะกลายเป็นเผด็จการ เขาสาธิตด้วยตัวอย่างที่ชัดเจน: สมมติมีคน 10 คน ลงคะแนนเสียงได้ 6 ต่อ 4 แล้ว 4 คนถูกปล่อยทิ้ง ต่อมา 6 คนแตกคอกัน ลงคะแนนได้ 4 ต่อ 2 แล้ว 2 คนถูกปล่อยทิ้ง ไปเรื่อย ๆ จนเหลือคนคนเดียว

“สุดท้ายเหลือหนึ่งคน เผด็จการแล้วเห็นไหม” เขาชี้ให้เห็นว่า “ถ้าคุณไม่ดูแลคนส่วนน้อย สุดท้ายมันก็จะเป็นแบบเนี้ย”

ระบอบประชาธิปไตยในมุมมองของวิโรจน์จึงไม่ใช่แค่การเคารพเสียงข้างมาก “แต่เราต้องให้ความสำคัญกับการตรวจสอบถ่วงดุลและกระบวนการยุติธรรมที่ทุกคนยอมรับด้วย และเสียงข้างมากก็ไม่ใช่ว่าจะทำตามอำเภอใจได้”

ดังนั้น เสียงข้างน้อยจึงต้องได้รับการเยียวยาที่เหมาะสม เช่น หากมีการเวนคืนที่ดิน ก็ต้องมีงบประมาณที่เป็นธรรม มีการจัดสรรพื้นที่ใหม่ที่คนเสียสละสามารถทำมาหากินและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ “คุณให้เขาเสียสละโดยที่ได้รับการชดเชยจากเสียงข้างมาก จากรัฐอย่างเป็นธรรม สังคมมันก็ไปกันได้ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย”

บทเรียนจากพี่กุ้ง

ปิดท้ายบทสัมภาษณ์ วิโรจน์เล่าเรื่อง ‘พี่กุ้ง’ ผู้อาวุโสในแวดวงธนาคารที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขา ในการแข่งขันแผนธุรกิจ เขาที่เป็นวิศวกรและมีความแม่นยำทางคณิตศาสตร์สูง มีอีโก้สูง และไม่ค่อยฟังใคร ได้รับบทเรียนสำคัญจากพี่ท่านนี้

พี่กุ้งบอกว่า “ถ้าเกิดไม่ฟังพี่กุ้งเลยนะ วิโรจน์จะไม่รู้เลยว่า หนึ่งคะแนนที่วิโรจน์ทำไม่ได้ เป็นข้อที่พี่ทำได้เว้ย แล้ววิโรจน์จะไม่มีวันได้คะแนนเต็ม 10 เลย” คำพูดนี้ทำให้วิโรจน์ ‘ขนลุก’ และเริ่มเปิดใจรับฟังคนอื่นมากขึ้น

เขาได้เรียนรู้ว่าธุรกิจไม่ใช่แค่เรื่องกำไร แต่ต้องบริหารสภาพคล่องด้วย “ธุรกิจที่เจ๊ง เจ๊งด้วยสภาพคล่อง ไม่ได้เจ๊งด้วยผลกำไร” นี่เป็นบทเรียนที่เขาไม่อยากให้คนอื่นต้องสะดุดก้อนหินก้อนเดียวกันกับเขา

“ผมอยากให้คุณสะดุดก้อนหินก้อนใหม่ที่มันอยู่ไกลกว่าผม” เขากล่าว “ประเทศไทยที่มันไม่ไปไหนคือคุณปล่อยให้คนเจเนอเรชั่นใหม่ ๆ สะดุดก้อนหินก้อนเดิมของคนเจนเดิม ๆ เนี่ยล้มอยู่ทุกวัน... ควรต้องไปล้มในจุดที่ไกลกว่าเดิม

“แม่งล้มอยู่หน้าเสาธงก็ล้มอยู่ตรงเนี้ยนะครับ แล้วก็ไม่รู้จักที่จะถอนก้อนหินถอนรากไม้ตรงนั้นออกอ่ะ ก็ปล่อยให้คนเจนใหม่สะดุดไอ้รากไม้ลากเดิม ล้มอยู่เรื่อย... มันก็ไปไหนไม่รอด”

ในวันที่การอภิปรายในสภากำลังเกิดขึ้น บทสัมภาษณ์นี้จึงเป็นเสมือนเข็มทิศที่ชี้ให้เห็นว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่เพียงการชนะหรือแพ้การโหวต แต่เป็นระบอบที่ต้องคำนึงถึงทุกคน โดยเฉพาะเสียงข้างน้อยที่มักถูกลืม และกระบวนการยุติธรรมที่ต้องเป็นที่พึ่งสุดท้ายของทุกคน

‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ อาจไม่ใช่นักการเมืองขวัญใจของทุกคน แต่วิสัยทัศน์ของเขาเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่ ‘เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข’ นั้น เป็นแนวคิดที่ควรค่าแก่การรับฟังและพิจารณา ในยามที่ประเทศไทยกำลังแสวงหาทางออกจากวังวนความขัดแย้งและความไม่ลงรอยกัน มาช่วยกันสร้างประชาธิปไตยที่ทุกคนมีพื้นที่ยืน และไม่มีใครถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง