08 พ.ย. 2565 | 16:42 น.
เมืองทิมพู: ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา ผู้เข้าแข่งขันรายการ Snowman Race จาก 11 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สวีเดน แทนซาเนีย และภูฏาน กำลังเตรียมพร้อมออกจากจุดเริ่มต้นบริเวณป้อมปราการแห่งกาซาซอง (Gasa Dzong) หลังจากที่รอคอยวันนี้มาเกือบสามปีแล้ว ในขณะที่ทุกคนกำลังรอสัญญาณการเริ่มต้นซึ่งจะดังขึ้นตอน 6 โมงตรง นักบวชกำลังสวดมนต์เพื่ออวยพรให้การแข่งขันมีแต่ความราบรื่น และให้มีแต่ความปลอดภัยจบจบรายการ ในวันที่ 17 ตุลาคม 2565
Snowman Race คือการแข่งขันที่ทรหดและยากที่สุดในโลก ได้รับการขนานนามว่าเป็นอัลตร้ามาราธอนสุดโหดที่ผู้เข้าแข่งขันต้องวิ่งบนพื้นที่สูงที่สุดในโลก เส้นทางการแข่งขันเริ่มต้นจากฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า ‘กาซา’ และสิ้นสุดที่เมือง ‘บุมทัง’ ซึ่งผู้เข้าแข่งขันทุกคนจะต้องวิ่งผ่านเส้นทางสุดโหดบนเทือกเขาหิมาลัยยาว 203 กิโลเมตร โดยมีระดับความสูงเฉลี่ยมากกว่า 4,267 เมตร และต้องผ่านยอดเขาหลายจุดที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่า 5,470 เมตร ซึ่งโดยปกติต้องใช้เวลานานถึง 20 วันจึงจะผ่านเส้นทางเส้นทางนี้ไปได้
ความโหดของสนามแข่งขันไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้ Snowman Race เป็นหมุดหมายหนึ่งที่จะถูกบันทึกลงในประวัติศาสตร์ แต่ยังมีอีกหนึ่งเป้าหมายที่สำคัญ นั่นคือการดึงความสนใจของคนทั้งโลกเพื่อให้เห็นภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศ ซึ่งกำลังส่งผลกระทบในเทือกเขาหิมาลัย คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) รายงานในปี 2564 ธารน้ำแข็งหิมาลัยที่กำลังละลายคือภาพชัดเจนที่สุดของวิกฤตนี้ และสร้างความกังวลให้กับผู้คนหลายร้อยล้านชีวิตทั่วโลกที่พึ่งพาน้ำจากธารน้ำแข็งแห่งนี้เพื่อการเกษตรกรรม และแปลงเป็นพลังงาน
“ผมสะเทือนใจมากเลยตอนที่ได้เห็นธารน้ำแข็งในเมืองนริธังกำลังละลาย” ไบรอัน โพเวล (Byron Powell) หนึ่งในผู้เข้าแข่งขันรายการ Snowman Race จากประเทศสหรัฐอเมริกา เผยความรู้สึก “ธารน้ำแข็งยาว 1 กิโลเมตรที่ละลายไป มีปริมาณเทียบเท่ากับน้ำในสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานโอลิมปิกถึงกว่าพันแห่ง”
การแข่งขัน Snowman Race ในวันสุดท้ายสิ้นสุดลงที่เมือง บุมทัง หลังจากนักกีฬาทุกคนต้องวิ่งอย่างทรหดบนที่สูงตลอด 5 วันชาวบ้านหลายร้อยคนยืนเรียงรายอยู่ตามถนนเพื่อส่งเสียงเชียร์อย่างคึกคัก กาวา ซางโป (Gawa Zangpo) ผู้เข้าแข่งขันชาวภูฏานเข้าเส้นชัยมาเป็นอันดับที่หนึ่ง ด้วยการทำเวลารวมตลอดการแข่งขันทั้งหมด 31 ชั่วโมง 53 นาที 26 วินาที ตามมาด้วย ซันเจ วังชุก (Sanjay Wangchuk) เพื่อนักกีฬาร่วมชาติ ที่ทำเวลาไปได้ 34 ชั่วโมง 18 นาที 02 วินาที ส่วนที่สามตกเป็นของ ซันเจ นักกีฬาชาวภูฏานอีกหนึ่งคน ทำเวลาไปได้ 35 ชั่วโมง 23 นาที 06 วินาที โดยมีเด็กนักเรียนยืนโบกธงให้กำลังใจอย่างสนุกสนาน
ขณะที่นักกีฬาชาวต่างชาติ ลุค เนลสัน Luke Nelson จากสหรัฐอเมริกา, เกบ จอยส์ (Gabe Joyes) จากสหรัฐอเมริกา) และวาตารุ ลิโน (Wataru Lino) จากญี่ปุ่น วิ่งเข้าเส้นชัยพร้อมกัน โดย ลุค เนลสัน วิ่งเข้าไปกอดเพื่อนนักกีฬาร่วมชาติอย่างดีใจเมื่อจบเลกสุดท้าย และตอกย้ำว่าการแข่งขันในครั้งนี้คือความท้าทายอย่างแท้จริง เขากล่าวว่า
“ถ้าคิดว่าสเตจสุดท้ายที่เราวิ่งเข้าเส้นชัยเป็นเส้นทางที่โหดแล้ว ลองคิดดูสิว่าตอนที่วิ่งลงจากภูเขาสูงกว่า 9,000 ฟุตจะท้าทายสักแค่ไหน แต่เชื่อไหมว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันสุดยอดมาก นี่ละประสบการณ์ที่ผมไม่มีวันลืม”
สำหรับการจัดการประชุมเกี่ยวกับสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในวันที่ 18 ตุลาคม หลังจบการแข่งขัน มีขึ้นเพื่อตอกย้ำวัตถุประสงค์ของรายการ Snowman Race โดยเป็นความพยายามจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อหยุดยั้งภัยคุกคามที่ต้องเผชิญกับภาวะโลกร้อน
“ทั้งการแข่งขัน Snowman Race และ ประชุมเชิงปฏิบัติการณ์ด้านสภาพภูมิอากาศ ได้รับแรงบันดาลใจจากพระปรีชาญาณของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ในการอนุรักษ์มรดกทางธรรมชาติ และวัฒนธรรม โดยมุ่งหวังที่จะนำความสนใจของโลกมาสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในโลกยุคปัจจุบัน และสร้างผลกระทบอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศบนภูเขาที่ได้รับผลกระทบโดยตรง”
เคซัง วังดี (Kesang Wangdi) เอกอัครราชทูตและ เลขาธิการการแข่งขัน Snowman Race กล่าว ในการประชุมยังกล่าวยังมีผู้แทนจากกองทุนสัตว์ป่าโลก และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้เข้าร่วมด้วย
การ์มา ยางดอน (Karma Yangdon) ผู้เข้าแข่งขันซึ่งอาศัยอยู่บนภูเขา และเป็นผู้หญิงคนแรกที่เข้าเส้นชัยของการแข่งขันนี้ ได้เล่าประสบการณ์อันเจ็บปวดของเธอเกี่ยวกับเหตุการณ์ดินถล่มในแคว้นลายาเมื่อปี 2021 ซึ่งเป็นเหตุให้พลเมือง 10 คนในชุมชนเสียชีวิต
ยางดอนรอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว และได้วิ่งไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่เพื่อแจ้งเตือนถึงภัยพิบัติดังกล่าว โดยใช้เวลาเพียง 12 ชั่วโมง จากปกติที่ต้องใช้เวลานานถึง 3 วัน เพื่อให้ผู้บาดเจ็บในชุมชนของเธอได้รับช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด
ในขณะที่ซันเจ วังชุก ผู้เข้าเส้นชัยมาเป็นอันดับสองในการแข่งขัน ได้กล่าวถึงความกลัวที่ปกคลุมผู้คนในชุมชนบนที่ราบสูงซึ่งต้องเผชิญกับธารน้ำแข็งที่กำลังละลาย กลายเป็นภัยคุกคามจากน้ำท่วมที่ครั้งเดียวเพียงพอแล้วที่จะทำลายพืชผล บ้านเรือน และชุมชนทั้งหมด
การประชุมดังกล่าวจึงเป็นเครื่องมือดึงความสนใจไปที่ความเร่งด่วนของปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทสำคัญของผู้เล่นที่ไม่ใช่รัฐ อาทิ ภาคธุรกิจ และภาคเอกชน การประชุมในครั้งนี้จึงเป็นความพยายามที่จะทำให้ประเทศภูฏานเป็นตัวแทนของระบบนิเวศบนภูเขาที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างมาก
ในความเป็นจริงแล้ว ภูฏานไม่ได้มีส่วนที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เพราะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นลบกลุ่มแรกๆ ของโลก อย่างไรก็ตาม ธารน้ำแข็งที่ลดน้อยลงเป็นตัวชี้วัดว่าอุณหภูมิสูงขึ้นจริง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน มีปริมาณน้ำฝนที่รุนแรง และไม่แน่นอน รวมทั้งภัยธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นจากดินถล่ม
“นโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศของราชอาณาจักรภูฏาน ฉบับปี พ.ศ. 2565 และข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจก ฉบับที่ 2 ของเรา ได้กำหนดแผนและกลยุทธ์ที่ชัดเจนต่อการพัฒนา สอดคล้องกับเป้าหมาย 1.5 องศาของความตกลงปารีส ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สิ่งที่สำคัญสำหรับเราในวันนี้คือปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนความมุ่งมั่นของเรา” โซนัม พี วังดี (Sonam P Wangdi) เลขาธิการสำนักเลขาธิการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กล่าว
“ปัจจัยทางด้านการเงินเป็นกุญแจสำคัญในการใช้ประโยชน์จากการดำเนินการด้านสภาพอากาศ สิ่งนี้ควรได้รับเงินช่วยเหลือ เข้าถึงได้ง่าย ประเมินได้ ยั่งยืน และยืดหยุ่น
การจัดหาเงินทุนเพื่อประเด็นด้านสภาพอากาศจะต้องเสริมด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีสีเขียวเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีส่วนช่วยในการพัฒนาอย่างยั่งยืน การสนับสนุนและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนทั่วโลกจะเป็นทางที่จะแก้ไขภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศได้”