ศาสดาพยากรณ์ เอลียาห์: คนชังชาติ ผู้ต้านเผด็จการและกระบวนการอยุติธรรม 

ศาสดาพยากรณ์ เอลียาห์: คนชังชาติ ผู้ต้านเผด็จการและกระบวนการอยุติธรรม 
ในการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างประชาชนกับผู้ถืออำนาจนั้น ผู้ถืออำนาจ (และหางเครื่อง) มักจะโมเมไปว่า ตนคือชาติเสียเอง และบีบบังคับประชาชนให้ต้องเดินตาม ใครขวางทางก็มักจะถูกตั้งข้อหา "ชังชาติ" ไม่รักชาติ ทรยศต่อชาติ หรือเป็นศัตรูกับชาติตนเอง พฤติกรรมเช่นนี้พบเห็นได้ทั่วไปในทุกสังคม เช่น ในสหรัฐฯ เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีจากรีพับลิกัน สั่งลอบสังหาร คาเซ็ม สุเลมานี อดีตผู้นำหน่วยรบคุดส์ของอิหร่าน ทำให้เกิดความตึงเครียดไปทั่วตะวันออกกลางว่านั่นจะนำไปสู่สงครามครั้งใหญ่หรือไม่ จึงทำให้เกิดเสียงวิจารณ์การกระทำดังกล่าวของทรัมป์อย่างกว้างขวาง แต่ฝ่ายผู้ถืออำนาจและกองเชียร์นอกจากจะยกข้ออ้างต่าง ๆ นานาแล้ว ยังมักสมทบด้วยการร่ายคาถา "ชังชาติ" ป้ายสีฝ่ายตรงข้าม เพื่อแสดงให้เห็นว่าตัวเองรักชาติและดึงมวลชนมิให้เข้าใกล้ฝ่ายตรงข้ามที่ถูกตราหน้าด้วยข้อหาร้ายแรง เช่น นิกกี เฮลีย์ อดีตทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติที่ได้รับการแต่งตั้งจากทรัมป์ ออกมาโจมตีฝ่ายที่วิจารณ์การกระทำของทรัมป์ว่า  "ไม่เห็นจะมีใครออกมาเข้าข้างอิหร่าน คุณไม่ได้ยินเสียงใด ๆ จากกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง จีน หรือรัสเซีย คนที่ออกมาแสดงความอาลัยให้กับความตายของสุเลมานีก็มีแต่ผู้นำเดโมแครต และบรรดาผู้ชิงตำแหน่งผู้แทนพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเท่านั้นแหละ"  สื่อความหมายได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่เป็นพันธมิตรหรือเป็นปฏิปักษ์ต่างก็ไม่มีใครค้านการฆ่าสุเลมานี มีแต่คนของเดโมแครตเท่านั้นที่เลือกยืนข้างเดียวกับศัตรูคู่กรณีโดยตรง ไม่ใช่แต่การเมืองสมัยปัจจุบันเท่านั้น ย้อนไปกว่า 3 พันปี ผู้นำประชาชนที่ต่อต้านการใช้อำนาจรัฐอย่างไม่ชอบธรรมก็อาจต้องข้อหา “ชังชาติ” ได้เหมือนกัน เช่น เอลียาห์ ศาสดาพยากรณ์ของชาวยิว  ในคัมภีร์ไบเบิลอาจจะให้น้ำหนักเรื่องราวของเอลียาห์ ในฐานะของผู้เผยพระวจนะของพระเจ้าที่สั่งสอนให้ประชาชนเชื่อในพระเยโฮวาห์ พระเจ้าหนึ่งเดียวของอิสราเอล ส่วนกษัตริย์อาหับแห่งอิสราเอลนั้นคือกษัตริย์ที่เอาใจออกห่างจากพระเจ้าที่แท้จริง แล้วไปนับถือพระบาอัล เทพท้องถิ่นของชาวคานาอัน (เป็นคำเรียกดินแดนปาเลสไตน์ยุคก่อนการมาถึงของชาวอิสราเอล)   เรื่องราวปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ในพระคัมภีร์ จึงยิ่งทำให้เรื่องของเอลียาห์ถูกมองว่าเป็นการต่อสู้ทางศาสนา แต่อีกด้านหนึ่งการต่อสู้ของเอลียาห์ยังมีมิติของการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม และต่อต้านการใช้อำนาจอันมิชอบของกษัตริย์อยู่ด้วย  ก่อนอื่นต้องเล่าถึงความเป็นมาของชนเผ่าอิสราเอลเสียก่อน ชนกลุ่มนี้มีคติความเป็นชนชาติซึ่งผูกพันกับความเชื่ออย่างแน่นแฟ้น ชาวอิสราเอลเดิมเป็นชนเผ่าเร่ร่อนที่เข้ามาตั้งหลักในดินแดนคานาอันราวปลายยุคสัมฤทธิ์ ก่อนเลิกเร่ร่อนแล้วตั้งหลักขึ้นเป็นอาณาจักรในช่วงต้นยุคเหล็ก  การตั้งหลักปักฐานทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป ความก้าวหน้าด้านการเกษตร อุตสาหกรรม และการค้า ทำให้เกิดการสะสมความมั่งคั่งอย่างไม่เคยมีมาก่อนในสังคมของคนเร่ร่อน และขณะที่ประชาชนจำนวนมากยังคงยึดมั่นในประเพณีวัฒนธรรมเดิมที่แตกต่างจากชนพื้นเมือง ชนชั้นปกครองมักจะแต่งงานกับคนต่างวัฒนธรรมต่างอาณาจักรเพื่อประโยชน์ทางการเมือง จนทำให้เกิดความขัดแย้งทางชนชั้น ยุคของเอลียาห์ (ปี 900 ถึง 801 ก่อนคริสตกาล) ตรงกับรัชสมัยของกษัตริย์อาหับ กษัตริย์ลำดับที่ 7 ของอิสราเอล จริง ๆ พระองค์เองมิได้ใช้ชีวิตต่างจากกษัตริย์องค์ก่อน ๆ มากนัก การแต่งงานกับเจ้าต่างเมืองถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเพื่อสร้างพันธมิตร โดยพระองค์แต่งงานกับ เยเซเบล มเหสีชาวฟีนีเชีย ผู้ศรัทธาในพระบาอัลและโน้มน้าวให้อาหับหันมานับถือเทพองค์นี้ด้วย เรื่องเล่าในพระคัมภีร์อาจทำให้เยเซเบลดูเป็นนางร้ายที่ทำให้อาหับเสีย แต่ความจริง มันคือการประสานประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย อาหับเองได้พันธมิตรที่มีเส้นทางการค้ากว้างขวาง พร้อมกับองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมและการปกครองอย่างระบอบกษัตริย์ ที่กษัตริย์ถืออำนาจสูงสุด โดยไม่ต้องคำนึงถึงกฎแห่งพระเจ้า  การนำเข้าความเชื่อเรื่องการบูชาพระบาอัล จึงมาพร้อมกับระบบการปกครองที่เผด็จอำนาจเข้าสู่มือกษัตริย์มากยิ่งขึ้น ขณะที่ธรรมเนียมของชนเผ่า การปกครองจะทำผ่านที่ประชุมของผู้อาวุโส และผู้นำถึงจะมีอำนาจหน้าที่อย่างไรก็ต้องเคารพในกฎศีลธรรมของพระเจ้า (ขณะที่ศาสนาของคนท้องถิ่นเดิม ยังเน้นการเซ่นไหว้บูชา โดยไม่มีเรื่องของศีลธรรมมาเกี่ยวข้อง) กษัตริย์อาหับและราชินีเยเซเบลจึงพยายามลบล้างความเชื่อดั้งเดิมของประชาชน แล้วครอบงำด้วยความเชื่อใหม่ ซึ่งทำให้ตนสามารถปกครองคนได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม มีการกดขี่สังหารผู้สอนศาสนาของพระเยโฮวาห์ และนำเข้าผู้สอนศาสนาของพระบาอัลเข้ามาจำนวนมาก และยกย่องผู้สอนศาสนากลุ่มใหม่เป็นอย่างสูง เมื่อเอลียาห์พร่ำสอนให้ประชาชนยึดมั่นในธรรมเนียมเดิมจึงเป็นการต่อต้านอำนาจของกษัตริย์ ยิ่งอาณาจักรเจอความแห้งแล้งเล่นงานถึงสามปีติดต่อกัน จึงเข้าทางเอลียาห์ให้อ้างได้ว่า เป็นเพราะกษัตริย์ทิ้งธรรมเนียมเดิมทำให้บ้านเมืองประสบเภทภัย (แต่ตามสำนวนพระคัมภีร์ต้องกล่าวว่าเป็นการลงโทษของพระเจ้า)  ด้วยเหตุนี้ กษัตริย์อาหับจึงต้องการล่าตัวเอลียาห์ และเมื่ออาหับได้พบกับเอลียาห์ก็กล่าวกับเขาว่า “เจ้าเองหรือ? เจ้าผู้ทำลายอิสราเอล" (Is it really you, you destroyer of Israel? - BibleGateway - บางสำนวนใช้คำว่า troubler หรือผู้สร้างปัญหา) ซึ่งนับเป็นข้อหาที่ร้ายแรงมาก ("ทำลาย" หนักกว่า "ชัง" เสียอีก) ขณะที่เอลียาห์สวนกลับไปว่า “ข้าพระองค์มิได้ทำลายอิสราเอล แต่พระองค์และบรรพกษัตริย์นั่นเองที่กระทำ เพราะว่าพวกพระองค์ได้ทอดทิ้งพระบัญญัติของพระเยโฮวาห์ และติดตามพระบาอัล” ความขัดแย้งกับกษัตริย์ทำให้เอลียาห์ต้องลี้ภัย การใช้ชีวิตอย่างยากลำบากทำให้เอลียาห์เริ่มสูญเสียศรัทธา ก่อนเกิดปาฏิหาริย์ทำให้ไฟศรัทธาของเขาลุกโชนและลุกขึ้นสู้กับผู้ถืออำนาจรัฐอีกครั้ง คราวนี้เหตุเกิดจากกษัตริย์อาหับต้องการไร่องุ่นของนาโบท ชาวบ้านที่มีไร่ตั้งอยู่ข้างวังพอดี ด้วยมีประสงค์อยากได้ที่ดินมาปลูกสมุนไพร จึงขอที่ดินแปลงนั้นแลกกับเงินหรือที่แปลงอื่น แต่นาโบทปฏิเสธโดยบอกว่า ตามกฎของพระเจ้า ที่ดินที่ได้รับมรดกตกทอดมาจะยกให้คนอื่นต่อไม่ได้ ต้องเป็นมรดกสืบต่อไป คำปฏิเสธทำให้อาหับผู้เป็นกษัตริย์ต้องมานั่งกลุ้ม เยเซเบลมเหสีมาเห็นเข้า จึงถามหาสาเหตุของความกลัดกลุ้มพระทัย เมื่อได้รู้สาเหตุ เยเซเบลจึงกล่าวว่า "พระองค์ปกครองอิสราเอลอยู่มิใช่หรือ?" ก่อนรับปากว่าจะเอาไร่องุ่นของนาโบทมาถวายพระองค์ ว่าแล้วเยเซเบลจึงออกพระบัญชาในนามของอาหับให้จับนาโบทขึ้นแคร่ประจาน แล้วหาตัวพยานเท็จมาใส่ความกล่าวหาว่า นาโบทสาปแช่งกษัตริย์และพระเจ้า กระบวนการอยุติธรรมดังกล่าวนำไปสู่การประหารด้วยการปาหิน เมื่อนาโบทถึงแก่ความตายแล้ว อาหับผู้เป็นกษัตริย์จึงยึดไร่องุ่นนั้นมาโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทนใด ๆ เหตุการณ์นั้นทำให้เอลียาห์ต้องลุกขึ้นมาเผชิญหน้ากับกษัตริย์อาหับอีกครั้ง และกล่าวต่ออาหับว่า "พระองค์ฆ่าคนตายรึ? แล้วนี่ยังขโมยของคนอื่นอีก นี่คือพระวจนะของพระเป็นเจ้า 'สุนัขเลียเลือดของนาโบทที่ใด มันก็จะได้เลียเลือดของพระองค์เช่นเดียวกัน'" ก่อนสาปแช่งทั้งอาหับและเยเซเบลในนามของพระยาโฮวาห์ ซึ่งเป็นการยืนยันว่า ไม่ว่าคนจะเกิดในสถานะใด ต่างก็ต้องปฏิบัติตามกฎของพระเจ้า  (อันเป็นหลักการที่เทียบได้กับความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย ในประเทศที่ปกครองด้วยระบบนิติรัฐ ที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ต่อบุคคลทุกหมู่เหล่าอย่างเสมอกัน)  หลังเหตุการณ์ดังกล่าว น่าแปลกใจที่เอลียาห์ยังสามารถมีชีวิตรอดมาได้ แต่เป้าหมายที่จะล้างอิทธิพลของความเชื่อภายนอกที่แทรกซึมเข้ามาในสังคมยิวไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ในรุ่นของเขา และแม้ผู้สืบทอดของเอลียาห์จะสามารถฟื้นฟูความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียวในสังคมยิวได้สำเร็จ แต่ความเสื่อมทางศีลธรรมของสังคมยิวก็ยากที่เยียวยาได้ง่าย จึงทำให้ศาสดาพยากรณ์อีกหลายคนสาปแช่งกษัตริย์และผู้ปกครองอยู่เรื่อยมา (แต่นั่นแปลว่า พวกเขาชังชาติจริงหรือ?)