โคโค ชาแนล ตำนานแฟชัน กับปมชีวิตที่ติดกับคำว่า "เมียเก็บ"
"ที่ฉันสามารถเปิดร้านแฟชันชั้นสูงกับเขาได้ ก็เป็นเพราะสุภาพบุรุษสองรายแย่งกันประมูลร่างเล็ก ๆ อันร้อนแรงของฉันนี่แหละ" โคโค ชาแนล ตำนานแฟชันชาวฝรั่งเศสกล่าวถึงก้าวแรกสู่วงการของเธอ (NPR)
กาเบรียล ชาแนล (Gabrielle Chanel) หรือ "โคโค ชาแนล" (Coco Chanel) ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ปลดปล่อยผู้หญิง (ในโลกตะวันตก) จากพันธนาการของเครื่องแต่งกายยุคเก่าที่ต้องสวมชุดรัดทรง (corset) เพื่อเน้นรูปร่างความเป็นหญิงให้เด่นชัด เมื่อเธอทำให้ดีไซน์ที่เน้นความเรียบง่ายสวมใส่สบาย และหลายชุดก็ดัดแปลงมาจากชุดของผู้ชายกลายเป็นที่ยอมรับของสังคมในช่วงต้นศตวรรษที่ 20
หลายคนจึงคิดว่า ชาแนลคือผู้ที่ส่งเสริมสิทธิสตรี ทำให้สตรีมีความเท่าเทียมกับผู้ชาย โดยใช้แฟชันเป็นตัวขับเคลื่อน บ้างก็ไปไกลถึงขั้นที่บอกว่า ชาแนลคือนักสตรีนิยม (feminist) แม้จะไม่มีหลักฐานว่าเธอเคยนิยามตัวเองไว้เช่นนั้น (ทั้งยังมีหลักฐานที่แสดงออกในทางตรงกันข้าม)
แต่ที่ชัดเจนก็คือ เธอคือผู้หญิงที่เป็นนักสู้และนักฉวยโอกาส ที่สามารถเปลี่ยนตัวเองจาก "เมียเก็บ" มาเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง แม้จะยังต้องอยู่ใต้ร่มเงาของ "ผู้ชาย" ก็ตาม
ชาแนลเกิดเมื่อปี 1883 ที่เมือง Saumur เป็นลูกนอกสมรสของ ฌาน เดอวอล (Jeanne Devolle) กับ อัลแบต์ ชาแนล (Albert Chanel) (พ่อแม่ของเธอมาแต่งงานกันทีหลัง) นอกจากเธอที่เป็นลูกคนรองแล้ว เธอยังมีพี่น้องอีกสี่คน เป็นหญิงสองและชายสอง พ่อของเธอทำงานเป็นพ่อค้าเร่ เมื่อแม่ของเธอมาจากไปตอนที่ชาแนลอายุได้ราว 12 ปี พ่อของเธอก็เอาเธอกับพี่สาวน้องสาวไปฝากกับสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่ดูแลโดยแม่ชี ส่วนลูกชายก็เอาไปฝากทำงานในไร่ จากนั้นพ่อของเธอก็หายตัวไป
การอยู่ในสำนักชีทำให้เธอได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ทั้งการปลูกฝังให้เกลียดชังชาวยิวเช่นเดียวกับเด็ก ๆ ที่เติบโตมาในยุคเดียวกับเธอ (กรณีเดรย์ฟัส นายทหารฝรั่งเศสเชื้อสายยิวที่ถูกปรักปรำอย่างไร้ยางอายในปี 1894 ถือเป็นตัวอย่างของการปลูกฝังความเกลียดชังในสังคมฝรั่งเศส) รวมถึงการทำมาหากินด้วยการเย็บปักถักร้อย และชุดแม่ชีที่เรียบง่ายด้วยสีดำและสีขาวที่เธอเห็นซ้ำ ๆ ทุกวัน ก็น่าจะเป็นแรงบันดาลใจหนึ่งในการออกแบบเสื้อผ้าในโทนสีดำอันเป็นเอกลักษณ์ของเธอ (ก่อนหน้านั้นสีดำไม่ใช่สีสำหรับผู้หญิง)
อายุได้ 20 ปี ชาแนลก็ได้ทำงานเป็นช่างเย็บผ้า และใช้เวลาว่างไปเป็นนักร้องคาเฟ่ที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นทหารม้า ว่ากันว่า "โคโค" (Coco) อันเป็นชื่อเรียกของเธอนั้นก็ได้มาจากฉายาที่บรรดาลูกค้าหนุ่ม ๆ ตั้งให้ จากเพลงที่เธอร้อง หรือไม่ก็อาจจะเป็นคำย่อของคำว่า "cocotte" ที่แปลว่าแม่ไก่ ซึ่งมีความหมายแฝงว่า "เมียเก็บ" ก็เป็นได้ จากคำอธิบายของ ฮัล วอน (Hal Vaughan) ผู้เขียนหนังสือ Sleeping with the Enemy: Coco Chanel’s Secret War (2011) หนึ่งในหนังสือชีวประวัติของชาแนล
การทำงานกลางคืนทำให้เธอได้เจอกับทหารหนุ่มมากหน้าหลายตา และเสน่ห์ของเธอก็ไปสะดุดตา เอเตียง บัลซอง (Étienne Balsan) อดีตทหารม้าผู้ร่ำรวย ทายาทกลุ่มธุรกิจสิ่งทอที่รับเธอมาเป็นเมียเก็บ และเลี้ยงดูเธออย่างดี พร้อมให้เธอได้เรียนรู้ธรรมเนียมการใช้ชีวิตของคนมีอันจะกิน
ระหว่างนั้นเอง ชาแนลมีโอกาสได้รู้จักกับ อาร์เธอ "บอย" คาเปล (Arthur "Boy" Capel) ชนชั้นสูงชาวอังกฤษ เพื่อนสนิทคนหนึ่งของบัลซอง และชายที่ได้ชื่อว่าเป็นรักแรกของชาแนล
ในปี 1908 คาเปลแย่งชาแนลไปจากบัลซอง พาเธอไปอยู่อพาร์ตเมนต์ในปารีส ช่วยเธอตั้งธุรกิจแฟชันเริ่มจากการขายหมวกก่อนแตกไลน์ไปขายเสื้อผ้า และยังส่งเสีย อองเดร ปาลาส (André Palasse) ลูกชายของพี่สาวคนโตที่ฆ่าตัวตาย (แต่ก็มีข่าวลือว่าจริง ๆ แล้ว หลานของชาแนลอาจจะเป็นลูกนอกสมรสของเธอกับบัลซอง) ให้ได้เรียนในโรงเรียนประจำชั้นนำของอังกฤษ
ทั้งคู่ครองรักกันนานนับสิบปี แต่ด้วยปูมหลังที่ยากจนและไร้ราก ทำให้เธอไม่อาจเป็นเจ้าสาวของชนชั้นสูงซึ่งเป็นที่รู้จักในแวดวงสังคมได้ คาเปลไปแต่งงานกับแม่ม่ายสามีเสียชีวิตที่เป็นลูกสาวของลอร์ดชาวอังกฤษในปี 1918 แต่คาเปลกับชาแนลก็ยังคงคบหาเรื่อยมา จนกระทั่งคาเปลเสียชีวิตลงอย่างกะทันหันในปีต่อมาเนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ทำให้ชาแนลใจสลายและต้องมาเสียใจซ้ำเมื่อเธอได้รู้ว่า เธอไม่ใช่เมียเก็บเพียงคนเดียวของคาเปล
แต่ก่อนที่คาเปลจะเสียชีวิต ชาแนลก็เริ่มสร้างชื่อในวงการแฟชันด้วยการแปลงการแต่งกายของ "คนจน" ให้ดูชิกและขายดิบขายดีในหมู่คนรวยจนทำให้เธอร่ำรวยตามไปด้วย แม้จะอยู่ในช่วงสงคราม (สงครามโลกครั้งที่ 1, 1914-1918) กิจการเธอก็ไปได้ดี ด้วยผู้หญิงที่อยู่แนวหลังกลายเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในฐานะแรงงานและต้องการเสื้อผ้าที่มีความทะมัดทะแมงเช่นเสื้อผ้าดีไซน์ของชาแนล
นี่คือจุดที่ทำให้เธอได้รับการยกย่องอย่างสูงว่าเธอช่วยปลดปล่อยผู้หญิง แต่สภาพสังคมและเศรษฐกิจก็มีส่วนสำคัญที่ผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ที่สหรัฐฯ เองในภาวะสงครามยังมีการออกมารณรงค์ให้ผู้หญิงลดการใช้เสื้อรัดทรงเพื่อให้มีเหล็กเหลือไว้ใช้ในกิจการสงคราม นักธุรกิจที่จับกระแสได้ก่อน (ไม่ว่าจะโดยบังเอิญหรือด้วยการคาดหมายล่วงหน้า) ย่อมได้เปรียบ
และนักธุรกิจคนนั้นก็เป็นผู้หญิงที่ชื่อชาแนล ซึ่งไม่น่าจะคิดไกลถึงการ "ปลดปล่อยผู้หญิง" เพราะหลังสงครามจบไม่นาน อองตัวเน็ต (Antoinette) น้องสาวแท้ ๆ ที่เคยช่วยเธอสร้างธุรกิจแฟชันเสื้อผ้า ก่อนออกเรือนไปเป็นภรรยาทหารแคนาดาอยู่ที่ออนแทรีโอ ได้ส่งจดหมายมาขอความช่วยเหลือให้พาเธอกลับมาอยู่ปารีส เนื่องจากรักขมทนอยู่กับสามีต่อไม่ไหว แม้ชาแนลจะรักและเอ็นดูน้องสาวคนนี้ไม่น้อย แต่เธอก็ปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือ และบอกให้น้องสาวทนอยู่กับการแต่งงานนั้นต่อไป
แต่อองตัวเน็ตเลือกที่จะหนีไปกับคนรักชาวอาร์เจนตินา ก่อนไปเสียชีวิตที่บัวโนสไอเรสด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สเปนในปี 1921
ในปี 1936 ปีที่ขบวนการฝ่ายซ้ายมีการเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก ลูกจ้างสาวของชาแนลก็ร่วมเคลื่อนไหวปิดโรงงานและร้านค้า เพื่อเรียกร้องสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานที่ดีกว่ากับเขาด้วย ทำให้เธอโกรธมาก โดยคิดว่าเธอดูแลลูกจ้างของเธอดีแล้ว การที่ลูกจ้างสาวนัดหยุดงานประท้วงเรียกร้องค่าแรงเพิ่ม พร้อมกับสิทธิในวันหยุดพักโดยได้รับค่าจ้าง เท่ากับเป็นการ "ทรยศ" เธอ สามปีต่อมาเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 มาเยือน ชาแนลก็ใช้มันเป็นข้ออ้างในการไล่พนักงานหญิงกว่า 3,000 คนออกจากงานเพื่อปิดกิจการ เหมือนเป็นการลงโทษที่บรรดาลูกจ้างสาวขัดขืนอำนาจของเธอ
(แม้จะขาดรายได้ แต่เธอก็ยังมีรายได้จากน้ำหอมชื่อดัง Chanel No.5 และภายหลังเธอยังเคยกล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายที่เธอทำเช่นนั้น เพราะแม้จะมีสงครามแต่คนขายเสื้อผ้าก็ยังคงทำเงินได้ในช่วงนั้น)
หลังการจากไปของคาเปล ชาแนลรักษาแผลใจอยู่พักใหญ่ก่อนกลับมาจับงานเดิมที่ถนัดและได้พบรักครั้งใหม่อีกหลายครั้ง
ในช่วง 1921 ถึง 1926 ชาแนลมีสัมพันธ์แบบรัก ๆ ร้าง ๆ กับ ปีแยร์ เรแวร์ดี (Pierre Reverdy) นักประพันธ์ที่มีชื่อเสียง (ภายหลังแม้จะห่างจากกันทั้งคู่ก็ยังเป็นมิตรที่ดีต่อกันเสมอ) ซึ่งเชื่อกันว่า ทั้งคู่ต่างมีความรักให้กัน แต่เมื่อเรแวร์ดีเลือกที่จะหลีกเร้นจากสังคมเพื่อแสวงหาแรงบันดาลใจจากพระเป็นเจ้า มันก็ทำให้ทั้งคู่ต้องจบลงอย่างเลี่ยงไม่ได้
แกรนด์ดยุก ดมิทรี พาฟโลวิช (Grand Duke Dmitri Pavlovich) เจ้านายรัสเซียที่ลี้ภัยมาอยู่ปารีส หลังมีส่วนในการลอบสังหาร "รัสปูติน" จอมขมังเวทย์แห่งราชสำนักโรมานอฟ (ซึ่งถือว่าโชคดี ไม่อย่างนั้นเขาเองก็คงสิ้นชีพตามสมาชิกราชวงศ์ หลังการปฏิวัติล้มล้างระบอบกษัตริย์สู่ระบอบคอมมิวนิสต์ในปลายปี 1917) ก็เป็นหนึ่งในชู้รักของชาแนลในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน
เจ้านายจากรัสเซีย (ที่มีข่าวว่าเป็นไบเซ็กชวล) ได้ขนทรัพย์สมบัติ ศิลปะล้ำค่า และงานหัตถกรรมจากรัสเซียติดตัวมาด้วย และงานเหล่านี้ก็มีส่วนต่อการสร้างสรรค์งานดีไซน์ของชาแนลในระยะหนึ่ง ที่สำคัญ แกรนด์ดยุก ดมิทรี คือผู้ที่ช่วยให้ชาแนลสร้างสรรค์น้ำหอมระดับตำนาน Chanel No.5 โดยเขาเป็นผู้ที่แนะนำให้ชาแนลได้รู้จักกับ เออร์เนสต์ โบ (Ernest Beaux) นักผสมน้ำหอมมือดีจากรัสเซียในปี 1921 และโบก็คือผู้ที่ช่วยผสมน้ำหอมให้เธอเลือกเอาไปใช้ โดยแต่ละสูตรที่เขาผสมขึ้นจะมีเลขกำกับ ซึ่งชาแนลเลือกหมายเลข 5 เลขนำโชคของเธอ
น้ำหอมของเธอเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วและเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างสูง ทีโอฟิล บาแดร์ (Théophile Bader) เจ้าของห้างแกลเลอรีลาฟาแยตต์ที่ต้องการความมั่นใจว่า น้ำหอมที่ขายดีของชาแนลจะไม่ขาดตลาด จึงได้แนะนำให้เธอรู้จักกับเศรษฐีเจ้าของโรงงานน้ำหอมขนาดใหญ่เชื้อสายยิว ปิแยร์ แวร์ตีแมร์ (Pierre Wertheimer) เพื่อให้แวร์ตีแมร์เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำหอมให้กับชาแนล
ในปี 1924 พวกเขาตกลงจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่ โดยให้ชาแนลมีหุ้น 10 เปอร์เซ็นต์ แวร์ตีแมร์ผู้ลงทุนรับภาระการผลิตและจำหน่ายถือหุ้น 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนบาแดร์ในฐานะคนกลางที่ช่วยให้เกิดดีลนี้ขึ้นได้รับหุ้นไป 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเธอมารู้สึกในตอนหลังว่า มันเป็นข้อตกลงที่เธอเสียเปรียบเป็นอย่างมาก
การที่เธอยอมรับข้อตกลงที่เสียเปรียบเช่นนี้ได้ว่ากันว่า คงเป็นเพราะความรักที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ของเธอกับเรแวร์ดี และการที่เธอกับพาฟโลวิชเพิ่งจะแยกจากกัน ทำให้เธอไม่มีกะจิตกะใจมาสนใจเรื่องสัญญา และยังไว้ใจใช้ทนายคนเดียวกันกับแวร์ตีแมร์ในการดูแลสัญญาดังกล่าว (ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่แย่เพราะทนายอาจไม่เป็นกลาง เมื่อลูกความทั้งสองฝ่ายมีประโยชน์ขัดกันเช่นนี้)
ชนชั้นสูงอีกคนที่เข้ามามีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับชาแนลก็คือ “เบนเดอร์” (ฺBendor) ฮิวจ์ ริชาร์ด อาร์เธอร์ โกรส์เวเนอร์ (Hugh Richard Arthur Grosvenor) ดยุกแห่งเวสต์มินสเตอร์ มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดคนหนึ่งของโลก ทั้งคู่ได้รู้จักกันเมื่อปี 1923 ผ่านการชักจูงของ วีรา เบต ลอมบาดี (Vera Bate Lombardi) เพื่อนสาวคนสนิทของชาแนล ก่อนเริ่มต้นคบหากันหลังจากนั้นไม่นาน ทำให้เธอมีโอกาสใกล้ชิดกับแวดวงชนชั้นสูงอังกฤษ รวมถึง วินสตัน เชอร์ชิล เพื่อนสนิทของเบนเดอร์ที่ช่วยเธอเอาไว้จากข้อหาขายชาติหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
เธอกลายเป็นเมียเก็บคนหนึ่งของเบนเดอร์ซึ่งมีภรรยาตามกฎหมายอยู่ก่อนแล้ว แม้เขาจะหย่ากับภรรยาในเวลาต่อมา แต่เขาก็ไม่ได้แต่งงานใหม่กับชาแนล แม้จะมีข่าวลือว่า เขาเคยขอชาแนลแต่งงาน แต่ถูกชาแนลปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า "ดัชเชสแห่งเวสต์มินสเตอร์มีอยู่มากมาย แต่ โคโค ชาแนล มีได้แค่คนเดียว" แต่ Evening Standard สื่ออังกฤษระบุว่า ชาแนลในช่วงสูงวัยเคยกล่าวว่าเธอเองก็ไม่รู้ว่าต้นตอข่าวลือที่ว่ามาจากไหน (เฟกนิวส์?) พร้อมชี้ว่า คำกล่าวเช่นนั้นถือว่าหยาบคายและไร้สาระเกินกว่าที่เธอจะไปพูดใส่ดยุกแห่งเวสต์มินสเตอร์
(ขณะที่หนังสือของ ฮัล วอน ชี้ว่า เชอร์ชิลเป็นคนหนึ่งที่เตือนสติให้ดยุกแห่งเวสต์มินสเตอร์รู้ถึงหน้าที่ในฐานะสมาชิกราชวงศ์ที่จะต้องมีทายาท และชาแนลแม้จะเป็นหญิงสาวที่ประสบความสำเร็จในแง่ธุรกิจ แต่ก็ยากที่จะได้รับการยอมรับจากเครือข่ายราชวงศ์)
ความสัมพันธ์ของทั้งคู่จบลงในราวปี 1929 หลังจากนั้นเบนเดอร์ก็ไปแต่งงานใหม่อีกสองครั้งกับหญิงสาวจากครอบครัวชนชั้นสูง (และเช่นเดียวกับคนเคยรักคนก่อน ๆ ของชาแนล ทั้งคู่ยังคงรักษาความสัมพันธ์อันดีต่อกันสืบมา)
ต้นทศวรรษ 1930 ชาแนลได้คบหากับ พอล อิรีบ (Paul Iribe) นักวาดภาพอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เขาเป็นคนที่ทำให้ชาแนลหันมาสนใจเรื่องการเมือง และได้ใช้เงินทุนที่ได้จากชาแนลในการทำหนังสือรายสัปดาห์ที่มีเนื้อหาแบบชาตินิยมสุดโต่ง ปลุกปั่นให้เกิดความหวาดกลัวภัยจากต่างชาติ สะท้อนอุดมการณ์ฟาสซิสต์และการต่อต้านชาวยิว ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อของชาแนล
ความสัมพันธ์ของทั้งคู่เป็นไปอย่างหวานชื่นจนใคร ๆ ก็เชื่อว่าทั้งคู่คงได้แต่งงานกันเป็นแน่ (อิรีบเคยผ่านการแต่งงานมาก่อน แต่หย่าร้างกันไปเนื่องจากเขาไปพัวพันกับชาแนล) แต่อิรีบก็มาด่วนจากไปต่อหน้าต่อตาของเธอ ขณะที่เขากำลังเล่นเทนนิสในปี 1935
ปลายทศวรรษ 1930s เป็นช่วงเวลาของความเปลี่ยนแปลงและความวุ่นวาย กลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายได้รับความนิยมมากขึ้น บรรดานักธุรกิจและชนชั้นนำ (รวมถึงชาแนล) รับรู้ได้ถึงภัยคุกคามของขบวนการแรงงานและลัทธิคอมมิวนิสต์ การที่ ลียง บลูม (Léon Blum) นักสังคมนิยมเชื้อสายยิวได้เป็นนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ยิ่งตอกย้ำทฤษฎีสมคบคิดที่แพร่หลายในยุโรปว่า ชาวยิวคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังขบวนการคอมมิวนิสต์
แวดวงคนสนิทของชาแนลจำนวนมากเป็นผู้ต่อต้านชาวยิว รวมถึงคนรักคนใหม่ของเธอ บารอน ฮันส์ กุนเทอร์ วอน ดิงเกลจ (Hans Günther von Dincklage) สายลับนาซีที่แฝงตัวอยู่ในฝรั่งเศสมานาน (และมีภรรยาอยู่ก่อน ก่อนที่จะเลิกรากันไปเพราะเธอมีเชื้อสายยิว) โดยทั้งคู่น่าจะได้พบกันก่อนหน้าที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งนี้จากคำกล่าวอ้างของหลานสาวของชาแนลที่รู้จักดิงเกลจเป็นอย่างดี
สงครามโลกครั้งที่ 2 กลายเป็นช่วงเวลาที่ชาแนลได้ “เอาคืน” นักธุรกิจชาวยิวที่เธอมารู้สึกตัวตอนหลังว่าถูกเอาเปรียบ จากการที่เธอได้หุ้นเพียง 10 เปอร์เซ็นต์จากบริษัทขายน้ำหอมชื่อดัง Chanel No.5 ทั้งที่มันเป็นงานสร้างสรรค์ของเธอ เมื่อปารีสถูกกองทัพนาซียึดครอง Hotel Ritz โรงแรมหรูที่ชาแนลย้ายเข้ามาอยู่เป็นหลักเป็นฐานมาตั้งแต่ปี 1934 ก็ถูกใช้เป็นฐานบัญชาการ แต่กองทัพนาซีก็ยังอนุญาตให้ชนชั้นนำฝรั่งเศสที่ให้ความร่วมมือกับระบอบนาซีได้พักอาศัยอยู่ต่อไป รวมถึงชาแนล
การให้ความร่วมมือกับนาซีของชาแนล เป็นที่ถกเถียงว่าเธอทำด้วยความสมัครใจมากน้อยเพียงใด ผู้ที่ศึกษาเรื่องของเธอไม่น้อยพยายามชี้ว่า ในพื้นที่ยึดครองของนาซีอย่างไรเสียชาวฝรั่งเศสก็ต้องให้ความร่วมมือกับนาซีไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง
แต่ชาแนลเลือกที่จะพึ่งพาอำนาจของนาซีเป็นพิเศษ เพราะหลานชายของเธอ อองเดร ปาลาส ที่ถูกเกณฑ์ไปรบกับเยอรมนีเกิดถูกจับเป็นเชลยศึก เธอจึงพยายามใช้เส้นสายนาซีช่วยให้หลานของเธอหลุดพ้นจากค่ายกักกันออกมาได้ และในการแย่งชิงสิทธิในบริษัทน้ำหอมกับแวร์ตีแมร์นักธุรกิจเชื้อสายยิวที่หนีไปอยู่สหรัฐฯ เธอก็ยังใช้อำนาจของกฎหมายนาซี ซึ่งให้อำนาจในการแปลงทรัพย์สินของยิวให้เป็นของชาวอารยันด้วย
อย่างไรก็ดี แวร์ตีแมร์รู้ทันจึงทำการโอนบริษัทน้ำหอมของเขาให้ เฟลิก อามีโอต์ (Félix Amiot) เจ้าของธุรกิจอากาศยานชาวฝรั่งเศส ซึ่งใกล้ชิดกับนาซีเป็นผู้ดูแลแทนเพื่อกันท่าไม่ให้ชาแนลได้บริษัทของเขาไปได้ง่าย ๆ แลกกับค่าตอบแทนเป็นเงินก้อนโตกว่า 50 ล้านฟรังก์ ทำให้แวร์ตีแมร์ได้กรรมสิทธิ์ใน La Société des Parfums Chanel กลับมาอีกครั้งหลังสงครามจบลง (แต่ก็ต้องสู้ด้วยกฎหมายกับอามีโอต์ที่รับเป็นนอมินีตามข้อตกลงลับ)
ในหนังสือของ ฮัล วอน ยังแสดงหลักฐานที่เพิ่งหลุดชั้นความลับมาอ้างว่า ชาแนลเคยช่วยปฏิบัติภารกิจให้กับหน่วยข่าวกรองของนาซี หนึ่งในนั้นคือการเจรจาสันติภาพกับเชอร์ชิล และเธอน่าจะได้รับการสนับสนุนจากดยุกแห่งเวสต์มินสเตอร์ คนรักเก่าที่เอาใจช่วยนาซีอยู่ด้วยอีกคน
ความสัมพันธ์ใกล้ชิดของเธอกับนาซี ทำให้เธอถูกจับกุม และไต่สวนอย่างเลี่ยงไม่ได้หลังปารีสได้รับการปลดปล่อยจากนาซี และก็เป็นเชอร์ชิลที่ช่วยให้เธอพ้นจากการดำเนินคดี ซึ่งหากเชอร์ชิลไม่ช่วยก็เป็นไปได้ว่า คำให้การของชาแนลอาจจะกระทบต่อราชวงศ์อังกฤษ (ที่มีรากจากเยอรมนี) เนื่องจากความใกล้ชิดของเธอกับคนในราชวงศ์ ซึ่งหลายคนมีใจให้กับลัทธินาซี
หลังพ้นจากการดำเนินคดีมาได้ในปลายปี 1944 ชาแนลก็ลี้ภัยโดยสมัครใจ หนีความโกรธแค้นของชาวฝรั่งเศสต่อผู้ร่วมมือกับนาซี ย้ายไปใช้ชีวิตอยู่ที่โลซานกับดิงเกลจที่หนีไปตั้งหลักอยู่ก่อน และเธอก็กบดานอยู่ที่นี่นานนับปีก่อนที่จะย้ายกลับไปปารีสและกลับสู่วงการแฟชันอีกครั้งในทศวรรษ 1950s เมื่อสังคมไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องราวอื้อฉาวในช่วงสงครามโลกของเธออีกต่อไป
ตลอดชีวิตของชาแนลไม่เคยสมหวังกับความรัก (ในระยะยาว) คนรักของเธอถ้าไม่ตายไปก่อน ก็ร้างลาไปแต่งงานกับหญิงอื่น หญิงที่มีชาติกำเนิดดีกว่าเธอ (รวมถึงดิงเกลจคู่ยากที่กบดานอยู่ที่โลซานด้วยกันหลายปี) แต่ในท้ายที่สุด เธอก็ได้ “สมรส” ในทางธุรกิจ
แม้สงครามโลกจะจบลง ชาแนลก็ยังไม่ละความพยายามที่จะแย่งชิงกรรมสิทธิ์ในบริษัทน้ำหอมที่ครองหุ้นใหญ่โดยแวร์ตีแมร์ แวร์ตีแมร์เองแม้จะเป็นเหมือนศัตรูทางธุรกิจของชาแนล แต่เขาเองก็แอบชื่นชมในเสน่ห์ของเธอไม่น้อย ในปี 1947 เขาพยายามประนีประนอมด้วยการเสนอเงินก้อนจำนวน 350,000 ดอลลาร์ กับส่วนแบ่ง 2 เปอร์เซ็นต์จากยอดขาย ที่จะทำให้เธอมีรายได้เกินกว่า 1 ล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนที่ชาแนลพอใจมากพอที่จะเอาไปคุยอวดกับเพื่อน ๆ
และเมื่อชาแนลพยายามจะกลับสู่วงการแฟชันอีกครั้งในปี 1953 (ซึ่งเธอมีอายุเข้าปีที่ 70 แล้ว) แม้งานของเธอจะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น แต่ธุรกิจแฟชันของเธอก็ยังประสบกับความฝืดเคืองทางการเงิน ปีแยร์ แวร์ตีแมร์ จึงเสนอให้ความช่วยเหลือกับเธออีกครั้ง เขาขอซื้อกิจการทั้งหมดที่ใช้ชื่อ “Chanel” โดยเขาตกลงที่จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดของเธอ ไม่ว่าจะเป็น ค่าเช่าที่ Hotel Ritz ค่าจ้างคนดูแลส่วนตัว ค่าน้ำค่าไฟ และค่าใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีพอื่น ๆ โดยที่เธอจะยังคงอำนาจในการบริหารงานแฟชันและน้ำหอมของเธอต่อไป
การที่ผู้หญิงคนหนึ่งยอมสละนามสกุลของตัวเองให้กับผู้ชาย แล้วให้ฝ่ายชายเป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายของตัวเอง ส่วนเธอทำหน้าที่ดูแลจัดการงานภายในบ้าน ยกเรื่องธุรกิจให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายชาย ดูอย่างไรก็คล้ายกับข้อสัญญา “สมรส” ซึ่งนั่นอาจจะเป็นความปรารถนาหนึ่งของชาแนลมาโดยตลอดก็เป็นได้ เธอจึงได้ยอมรับข้อเสนอดังกล่าวของแวร์ตีแมร์