ทีมวิเคราะห์ข้อมูล: เบื้องหลังความสำเร็จของลิเวอร์พูล ขอพลัง Data จงอยู่กับเรา

ทีมวิเคราะห์ข้อมูล: เบื้องหลังความสำเร็จของลิเวอร์พูล ขอพลัง Data จงอยู่กับเรา
"May the power of Data be with you and You’ll Never Walk Alone" นาทีที่ 79 ของการแข่งขันฟุตบอลยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกรอบรองชนะเลิศ ระหว่างสโมสรลิเวอร์พูลเจ้าบ้านกับทีมเยือนบาร์เซโลนา ในฤดูกาล 2018/2019 มีจังหวะสำคัญจังหวะหนึ่งคือตอนที่ เทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ (Trent Alexander-Arnold) เตะบอลถูกผู้เล่นบาร์เซโลนาออกทางฝั่งหลังประตู กรรมการเป่าให้ลิเวอร์พูลได้ลูกเตะมุม ขณะที่ผู้เล่นฝั่งบาร์เซโลนายังให้ความสนใจกับลูกฟุตบอลลูกเดิมที่ยังกลิ้งอยู่นอกสนาม และผ่อนสมาธิกับเกมส์ลง โอคลีย์ คันโนเนียร์ (Oakley Cannonier) เด็กเก็บบอลอายุ 14 ปี รีบโยนฟุตบอลลูกใหม่ไปยังริมธงด้วยทิศทางและน้ำหนักที่พอดิบพอดี ให้เทรนต์เขี่ยบอลมาอยู่ที่ตำแหน่งพร้อมเล่น เมื่อเห็นเทรนต์ทำท่าว่าจะเดินออกไป และ เซอร์ดาน ชากิรี (Xherdan Shaqiri) กำลังเดินเข้ามาทำหน้าที่เตะมุมแทน ความผ่อนคลายในนักเตะบาร์เซโลนายิ่งมีมากขึ้น จากการประมวลผลข้อมูลที่ได้รับก่อนการแข่งขัน เทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ ตัดสินใจหมุนตัวกลับไปเตะบอลส่งให้ ดิว็อก โอริกี้ (Divock Okoth Origi) ลักไก่ยิงประตูที่ 4 ส่งลิเวอร์พูลเข้ารอบชิงชนะเลิศด้วยสกอร์รวม 4-3 ทั้งหมดเกิดขึ้นในเวลาแค่ 12 วินาที หากตัดกลับไปก่อนหน้าการแข่งขันไม่กี่ชั่วโมง จะเห็นว่าการใช้ข้อมูลวิเคราะห์คู่แข่ง คือหนึ่งปัจจัยความสำเร็จที่ทำให้ลิเวอร์พูลมีช่วงเวลาที่สุดยอดในฤดูกาลนั้น เรื่องมีอยู่ว่า... ทีมวิเคราะห์ข้อมูลได้ส่งวิดีโอสรุปให้ทีมเด็กเก็บบอลในสนามแอนฟิลด์ดู และชี้แนะว่า ในเกมส์ที่เล่นกับปอร์โต มีจุดที่ควรแก้ไขตรงไหนบ้าง และพวกเขาจะมีส่วนสร้างโอกาสที่ดีให้กับทีมลิเวอร์พูลได้อย่างไร? อีกทั้งทีมวิเคราะห์ยังได้ให้ข้อสังเกตกับโค้ชและนักเตะลิเวอร์พูลว่า ผู้เล่นทีมบาร์เซโลนามักจะมีอาการสมาธิหลุด (switched off) ช่วงก่อนการเตะมุมหรือฟรีคิกในการแข่งขันรอบแรกที่สนามคัมป์นู การบรีฟข้อมูลจากทีมวิเคราะห์ก่อนการแข่งขัน นำไปสู่การประสานงานอย่าง “รู้ข้อมูล” ระหว่าง เด็กเก็บบอล โอคลีย์ คันโนเนียร์, เทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ กับ ดีว็อก โอริกี้ จนกลายเป็นประตูประวัติศาสตร์แบบช็อกโลกอย่างที่รู้กัน เรื่องทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีผู้ชายที่ชื่อ เอียน แกรห์ม (Ian Graham) ... มนุษย์แล็ปท็อปผู้ปิดทองหลังคล็อปป์ เรื่องมันเริ่มต้นขึ้นในปี 2010 เมื่อสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลเปลี่ยนไปอยู่ภายใต้การบริหารของ บริษัท เฟนเวย์ สปอร์ต กรุ๊ป (FSG) ที่ จอห์น ดับเบิลยู. เฮนรี (John W. Henry) และ ทอม เวอร์เนอร์ (Tom Werner) เป็นเจ้าของ นอกจากมาพร้อมกับเงินลงทุนก้อนใหญ่ในการชำระหนี้สินที่เจ้าของทีมเก่าสร้างภาระไว้แล้ว จอห์น เฮนรี ผู้ร่ำรวยจากการลงทุนในการค้าสินค้าเกษตรอย่างถั่วเหลืองในตลาดหุ้นนิวยอร์ก และเป็นผู้ชื่นชอบกีฬาเบสบอล ยังเป็นผู้ที่นำแนวคิดเรื่องการใช้ข้อมูล (Data) มาใช้บริหารทีมฟุตบอลลิเวอร์พูลอย่างจริงจัง ด้วยการดึงตัว เอียน แกรห์ม นักวิเคราะห์ข้อมูลที่ไม่ประสบความสำเร็จนักกับสโมสรฟุตบอลทอตแนมฮอตสเปอร์ส มารับหน้าที่สำคัญนี้ เอียน แกรห์ม ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย จบปริญญาเอกด้านฟิสิกส์ (theoretical physics) จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ คือบุรุษผู้ปิดทองหลังคล็อปป์คนนั้น ที่จริงแล้ว ลิเวอร์พูลไม่ใช่ทีมแรกในเกาะอังกฤษที่ริเริ่มการใช้ข้อมูลสถิติการแข่งขันมาเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารงาน ทีมเชลซี เป็นทีมแรกในพรีเมียร์ลีกที่มีการตั้งแผนกวิเคราะห์ข้อมูล (Analytic Department) ในปี 2008 ตามมาด้วยทีมอาร์เซนอล ที่ทำงานร่วมกับบริษัทวิเคราะห์ข้อมูล StatDNA แต่ทั้งสองทีมและบรรดาผู้คนในวงการฟุตบอลอังกฤษ ก็ไม่ได้มีความเชื่อหรือเห็นความสำคัญในการนำข้อมูลมาวิเคราะห์และใช้งานให้เกิดผลอย่างจริงจัง ผู้จัดการทีมส่วนใหญ่ในพรีเมียร์ลีก ไม่เชื่อและไม่ให้ความสำคัญในการใช้ข้อมูลการวิเคราะห์เพื่อผลการแข่งขันมากนัก ส่วนหนึ่งก็มาจากความเชื่อที่ว่า เสน่ห์ของฟุตบอลคือความสนุกตื่นเต้นเร้าใจที่เกิดจากการตัดสินใจในสนามของนักกีฬาแต่ละคน เป็นเกมส์ที่ไม่สามารถทำนายได้เหมือนเกมส์กีฬาอื่น เช่น เบสบอล หรืออเมริกันฟุตบอล (ที่ข้อมูลมีอิทธิพลในการวางแผนการเล่นมาก) ดังเช่นการให้สัมภาษณ์ของ แซม อัลลาร์ไดซ์ (Sam Allardyce) ผู้จัดการทีมชาวอังกฤษที่บอกว่า “เกมส์ฟุตบอลของเรามันไม่สามารถทำนายได้ มันเต็มไปด้วยความซับซ้อนเกินกว่าจะคำนวณได้ด้วยวิธีทางสถิติ ที่นี่เราไม่ได้เล่นกีฬาแบบเบสบอล หรืออเมริกันฟุตบอลนะ” เครก เบอร์ลีย์ (Craig Burley) นักวิเคราะห์ข่าวกีฬาของ ESPN และอดีตผู้เล่นฟุตบอลชาวไอริช ตอบคำถามเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสูตรคำนวณความเป็นไปได้ในการได้ประตู เมื่อเทียบกับจำนวนประตูจริงที่ทำได้ ว่า "ช่างเป็นเรื่องที่เหลวไหล เหมือนคุณรอของขวัญจากซานตาคลอสในคืนวันคริสต์มาส แต่มันก็ไม่เคยมาให้เห็น” กลุ่มคนที่ทำงานด้านการวิเคราะห์ข้อมูลในวงการ มีชื่อที่ถูกเรียกที่สะท้อนถึงความเชื่อดังกล่าวอย่างขบขันว่า “มนุษย์แล็ปท็อป” ( Laptop Guys) แต่ไม่ใช่ที่ถิ่นแอนฟิลด์ ด้วยความที่ใช้ข้อมูลเป็นองค์ประกอบสำคัญในการบริหารงานให้ประสบความสำเร็จมามากมาย ทั้งด้านธุรกิจการซื้อขายตลาดเกษตรล่วงหน้า และการบริหารทีมกีฬาเบสบอลและอเมริกันฟุตบอล จอห์น เฮนรี มีความเชื่อมั่นและมั่นใจในการนำการวิเคราะห์ข้อมูลมาใช้งานอย่างจริงจังและหวังผลจริง เริ่มต้นด้วยการลงทุนในทีมวิเคราะห์ข้อมูล นอกจาก เอียน แกรห์ม ที่เป็นหัวหน้าทีมแล้ว ยังมี ทิม วาสเก็ตต์ (Tim Waskett), ดาฟีดด์ สตีล (Dafydd Steele) และ วิลล์ สเปียร์แมน (Will Spearman) ที่อยู่ในทีมนี้ ทิม วาสเก็ตต์ จบการศึกษาด้านดาราศาสตร์, ดาฟีดด์ สตีล อดีตแชมป์หมากรุกเยาวชน จบปริญญาตรีด้านคณิตศาสตร์ ทำงานในอุตสาหกรรมพลังงาน และ วิลล์ สเปียร์แมน ปริญญาเอกด้าน High-Energy Physics มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และทำงานที่ CERN ในกรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ โดยวิทยานิพนธ์ของวิลล์นำไปสู่วิธีการเริ่มต้นในการวัดขนาดของ อนุภาคฮิกก์ส หรือที่ขนานนามกันว่า “อนุภาคพระเจ้า” ( God particle ) เรียกว่าเป็นเทพด้านการวิเคราะห์ข้อมูลกันจริง ๆ ว่ากันว่าถ้าเป็นทีมฟุตบอลอื่น คงจะจ้างคนใดคนหนึ่งในสี่คนนี้เพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลให้กับทีม แต่ จอห์น เฮนรี จ้างทั้งสี่คน สะท้อนถึงการให้ความสำคัญและความคาดหวังในทีมวิเคราะห์ทีมนี้มาก และเขาก็สมหวังจริง ๆ ... กลัดกระดุมเม็ดแรกด้วยการซื้อที่ถูกและดี งานแรก ๆ ที่ จอห์น เฮนรี ขอให้ทีมวิเคราะห์ทำงานให้ คือดีลในการซื้อปีกซ้ายชาวบราซิล จากทีมอินเตอร์มิลาน ฟิลิปเป้ คูตินโญ (Philippe Coutinho) คำตอบของทีมนำไปสู่การตกลงเซ็นสัญญาซื้อขาย 8.5 ล้านปอนด์ นอกจากเป็นดีลที่คุ้มค่ามาก จากความสามารถของคูติญโญแล้ว สิ่งที่มากไปกว่านั้นคือมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากการขายคูติญโญให้กับทีมบาร์เซโลนา ในราคาเกือบ 142 ล้านปอนด์ ทำให้ทีมมีเงินไปซื้อนักเตะสำคัญอีก 3 คนคือ ผู้รักษาประตู อลิสซอน เบคเกอร์ (65 ล้านปอนด์) มิดฟิลด์ ฟาบินโญ (43 ล้านปอนด์) และกองหลัง เฟอร์จิล ฟัน ไดก์ (75 ล้านปอนด์) ซึ่งมีค่าตัวรวมกันเกือบ 170 ล้านปอนด์ และกลายมาเป็นกำลังสำคัญในความสำเร็จของทีมลิเวอร์พูลในปัจจุบันและอนาคต กระดุมเม็ดถัดไป ด้วยการจ้างผู้จัดการทีมคนใหม่ เจอร์เกน คล็อปป์ (Jürgen Klopp) แบบใช้ข้อมูลนำทาง (Data-Driven Decision Making) ในช่วงที่ลิเวอร์พูลกำลังมองหาผู้จัดการทีมคนใหม่มาแทนที่เบรนดัน ร็อดเจอร์ที่ช่วงนั้นผลงานย่ำแย่ แกรห์มเริ่มต้นตามวิเคราะห์ผลงานของคล็อปป์และผู้จัดการทีมคนอื่น ๆ ตั้งแต่ทีมลิเวอร์พูลตัดสินใจเปลี่ยนผู้จัดการทีม ข้อมูลของทีมวิเคราะห์ชี้เป้าไปที่ เจอร์เกน คล็อปป์ หลังจากที่คล็อปป์มาคุมทีมลิเวอร์พูล ในการพบกันครั้งแรกระหว่างแกรห์มกับคล็อปป์ แกรห์มหอบข้อมูลมาอธิบายให้คล็อปป์ฟังว่าทำไมเขาถึงเชื่อมั่นในตัวคล็อปป์ แม้ว่าผลงานการคุมทีมโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ในฤดูกาลล่าสุดของคล็อปป์จะไม่ประสบความสำเร็จมากนัก แกรห์มทำนายว่า ด้วยวิธีการคุมทีมแบบคล็อปป์ ทีมดอร์ทมุนด์น่าจะจบซีซั่น 2014/2015 ในลำดับที่สอง แต่กลายเป็นว่าทีมเสือเหลืองจบในลำดับที่เจ็ด แกรห์มโชว์โมเดลทางคณิตศาสตร์ที่เขาสร้างขึ้น และแสดงให้คล็อปป์เห็นว่าเขาใช้ข้อมูลสถิติทุกอย่าง ตั้งแต่สถิติการผ่านบอล การแย่งบอล การครอบครองบอล การเตะมุม เตะฟรีคิก ฯลฯ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ประสิทธิภาพในการคุมทีมของคล็อปป์ ตัวอย่างเช่น ในเกมส์การแข่งขันกับทีมไมนซ์ (Mainz) แกรห์มแสดงให้เห็นว่า ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพการเล่นของลูกทีมคล็อปป์ดีกว่าคู่ต่อสู้ทุกอย่าง เช่น ทีมเสือเหลืองมีโอกาสยิงประตู 19 ครั้ง ทีมไมนซ์ 10 ครั้ง ครอบครองบอลมากกว่า 2 ใน 3 พาบอลเข้าในเขตโทษของไมนซ์ได้ 36 ครั้ง เทียบกับไมนซ์ 17 ครั้ง แต่ในเกมส์นั้นทีมดอร์ทมุนด์แพ้ เพราะยิงจุดโทษไม่เข้า และสกัดบอลเข้าประตูตัวเองในนาทีต่อมา หรือข้อมูลการวิเคราะห์กับเกมส์ที่เตะกับสโมสรฮันโนเวอร์ (Hannover) ที่ตัวเลขสถิติของทีมดอร์ทมุนด์ดีกว่าทุกอย่าง แต่ทีมแพ้ 1-0 เป็นเกมส์ที่ทีมเสือเหลืองเล่นดีกว่าทุกอย่าง แต่ไม่มีโชค ซึ่งแกรห์มสรุปว่าไม่ใช่ความผิดของคล็อปป์ ใช่, คล็อปป์เห็นด้วย คุณอยู่ในสนามวันนั้นใช่มั้ย? คุณเห็นใช่มั้ย? ว่าเราเล่นดีกว่ามาก เราน่าจะชนะ ผมไม่เข้าใจเลย เปล่า, แกรห์มไม่เคยดูเกมดอร์ทมุนด์ซักนัด วิดีโอการแข่งขันก็ไม่ได้ดู ที่เขาดูคือโมเดลทางคณิตศาสตร์ที่สร้างจากตัวเลขสถิติการแข่งขันทั้งหมด ซึ่งการวิเคราะห์จากข้อมูลล้วน ๆ ทำให้เขาไม่มีความลำเอียงใด ๆ จากการเล่นของผู้เล่นแต่ละคน และทำให้ผู้บริหารทีมลิเวอร์พูลตัดสินใจเลือกเจอร์เกน คล็อปป์ เป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คล็อปป์มีความเห็นในเรื่องนี้ต่างจากผู้จัดการทีมคนอื่นๆ “ผมมาอยู่ที่ตรงนี้ได้ ก็เพราะพวกที่อยู่ข้างหลังอาคาร (ทีมวิเคราะห์ข้อมูล) นั่น” ... กระดุมเม็ดสำคัญ โมฮาเหม็ด ซาลาห์ (Mohamed Salah) แม้ว่าฟอร์มการเล่นของซาลาห์ตอนย้ายมาทีมเชลซีจะไม่โดดเด่นมากนัก และถูกปล่อยตัวกลับไปทีมโรมาในอิตาลี จนหลายคนเชื่อว่านักเตะอียิปต์น่าจะหมดอนาคตกับวงการฟุตบอลพรีเมียร์ลีกไปแล้ว แต่ข้อมูลทำให้ทีมวิเคราะห์ของแกรห์มไม่คิดเช่นนั้น ทีมวิเคราะห์พบว่า สถิติประสิทธิภาพการเล่นของซาลาห์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก เมื่อลงเล่นกับทีมเชลซีหรือกับทีมเดิม จากการทำงานกับฐานข้อมูลนักฟุตบอลมากกว่า 100,000 คนทั่วโลกที่ทางทีมสร้างขึ้นมา ทีมวิเคราะห์แนะนำว่า ซาลาห์จะเล่นเข้าขาได้ดีกับเฟอร์มิโน่ และนำไปสู่ดีลการซื้อโมฮาเหม็ด ซาลาห์ กลับคืนสู่พรีเมียร์ลีกด้วยค่าตัว 34 ล้านปอนด์ และสิ่งที่เกิดตามมาก็เป็นประวัติศาสตร์ที่เรารู้กันดี จบที่สองในอันดับฟุตบอลพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2018/2019 โดยแพ้เพียงนัดเดียว และได้แชมป์ฟุตบอลยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก สมัยที่ 6 รวมถึงสถิติสำคัญ ๆ มากมายที่ทีมลิเวอร์พูลชุดนี้สร้างไว้ ก็เหมือนกับที่ เดวิด โอกิลวี (David Ogilvy) กูรูด้านโฆษณาได้กล่าวถึงความสำคัญของข้อมูลไว้ว่า "หมูตาบอดอาจจะสามารถคลำพบเห็ดทรัฟเฟิลได้ในบางครั้ง แต่จะช่วยได้มากถ้ามันรู้ว่าเห็ดทรัฟเฟิลมักจะมีอยู่แถวต้นโอ๊ค” (“A blind pig can sometimes find truffles, but it helps to know that they are found in oak forests.”) หรือ ถ้าเป็นแฟน The Kop อาจจะต้องพูดว่า "ขอพลังการวิเคราะห์ข้อมูลจงอยู่กับเรา แล้วเราจะไม่เดินเดียวดาย" "May the power of Data be with you and You’ll Never Walk Alone" ที่มา: How Data (and Some Breathtaking Soccer) Brought Liverpool to the Cusp of Glory (https://www.nytimes.com/2019/05/22/magazine/soccer-data-liverpool.html) 14 years old ball boy is saluted by Liverpool Fans (https://youtu.be/kstdbIMHWhs)   เรื่อง: นพดล วีรกิตติ