เด็กทุกคนมีความฝัน แต่ไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนจะทำความฝันได้สำเร็จ หากเด็กคนนั้นมิได้มุ่งมั่นไขว่คว้ามันมากพอ
เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) เป็นเด็กคนหนึ่งในครอบครัวแคนาดาที่ย้ายมาสหรัฐฯ คุณแม่เป็นศิลปินและนางพยาบาล คุณพ่อเป็นวิศวกรไฟฟ้า ทำให้เขาคลั่งไคล้วิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก หลงใหลธรรมชาติ ชอบออกไปจับแมลง งู และผีเสื้อมาเก็บไว้
ความฝันแรกของเขาคือการเป็นนักสำรวจ ไม่ใช่ผู้กำกับภาพยนตร์
“ผมจะเอาตัวอย่างพวกนั้นกลับมาส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ อย่างที่รู้กัน ผมเป็นพวกบ้าวิทยาศาสตร์ แต่สิ่งที่ผมทำทั้งหมดนั้น ก็คือความพยายามที่จะทำความเข้าใจโลก และขอบเขตความเป็นไปได้”
เจมส์ คาเมรอน หลงใหลนวนิยายแฟนตาซีไซไฟเป็นอย่างมาก เขาชอบอ่านหนังสืออยู่ในห้อง และออกเที่ยวเล่นในโลกแห่งจินตนาการของตัวเอง เวลาว่างมักจดบันทึกวาดรูปไอเดียต่าง ๆ ลงในสมุดส่วนตัว กระทั่งวันหนึ่งเขามีความคิดว่าอยากนำภาพในจินตนาการเหล่านั้นมาถ่ายทอดออกมาเป็นภาพจริง ๆ
“พวกเราทุกคนตอนเด็ก ๆ คงเคยอ่านหนังสือ แล้วก็จินตนาการจากคำบรรยายของผู้เขียน วาดภาพอะไรบางอย่างในจอภาพยนตร์ที่อยู่ในหัวของเรา ผมจึงวาดรูปต่าง ๆ ทั้งสัตว์ประหลาดนอกโลก โลกของมนุษย์ต่างดาว หุ่นยนต์ ยานอวกาศ นั่นคือ ความคิดสร้างสรรค์ที่ต้องการหาทางปลดปล่อย”
เช่นเดียวกับการชมภาพยนตร์ที่ชวนหลุดเข้าสู่โลกแห่งจินตนาการ เขามองว่ามันเป็นการพาตัวเองเข้าไปอยู่ในอีกโลกหนึ่ง และเริ่มมีความคิดเล็ก ๆ ว่า สักวันหนึ่งอยากจะพาคนอื่นเข้าไปอยู่ในโรงภาพยนตร์ เพื่อรับความรู้สึกเช่นเดียวกับตัวเอง
ความบ้าคลั่งวิทยาศาสตร์ไซไฟทำให้คาเมรอนเลือกเรียนมหาวิทยาลัย เอกฟิสิกส์ ก่อนจะเปลี่ยนเอกเป็นภาษาอังกฤษแล้วดร็อปกลางเทอม เพื่อผันตัวเป็นคนขับรถบรรทุกอยู่สักพักหนึ่ง และหลังจากที่คาเมรอนได้ชมภาพยนตร์ Star Wars (1977) เขาก็ทิ้งพวกมาลัยแล้วเลี้ยวเข้าทำงานในสายภาพยนตร์แทน
“ตอนที่ผมเลือกหน้าที่การงาน ผมเลือกการสร้างภาพยนตร์ มันเป็นวิธีดีที่สุดที่สอดคล้องระหว่างความอยากเล่าเรื่องกับความอยากสร้างสรรค์” เขากล่าว “ตอนเด็กผมวาดรูปการ์ตูนอยู่เสมอ ดังนั้นการสร้างภาพยนตร์จึงเป็นกkรเอาภาพและเรื่องราวมารวมกันให้มีความหมาย”
และแน่นอนว่า เรื่องราวที่เขาเล่าก็คือเรื่องราววิทยาศาสตร์
ผลงานเรื่องแรกของเขาเป็นภาพยนตร์ขนาดสั้นประมาณ 12 นาที Xenogenesis (1978) ที่อัดแน่นไปด้วยกลิ่นอายของโลกไซไฟล้ำยุค กับเรื่องราวคู่หนุ่มสาวที่หลุดเข้ามาในยานอวกาศแล้วต้องหลบหนีเอาตัวรอดจากหุ่นยนต์ขนาดยักษ์ ผลงานนี้สร้างชื่อให้เขาได้งานสายเทคนิคพิเศษ จนถูกว่าจ้างให้กำกับงานศิลป์ใน Piranha II: The Spawning (1982) แต่แล้วทีมงานก็เกิดปัญหาภายในจนผู้กำกับถอนตัว คาเมรอนจึงส้มหล่นรับหน้าที่กำกับภาพยนตร์แทน
แม้หนังยาวเรื่องแรกอาจไม่ได้หวือหวานักเพราะมิได้เป็นไอเดียจากมันสมองของเขา แต่ภาพยนตร์เรื่องสองก็เป็นจินตนาการของเขาโดยตรงที่ดัดแปลงมาจากการฝันร้าย ก่อเกิดเป็น The Terminator (1984) เรื่องราวของหุ่นยนต์สังหารจากอนาคตที่เดินทางมาจัดการ ซารา คอนเนอร์
“วันนั้นผมป่วย มีไข้สูงมาก ผมแค่กำลังนอนอยู่บนเตียงและก็มีภาพความฝันแปลกประหลาดโผล่ขึ้นมา ผมว่าไอเดียนี้เกิดขึ้นเพราะผมอยู่ต่างประเทศ (เขาเป็นคนแคนาดาในสหรัฐฯ) และรู้สึกแปลกแยกจากมนุษย์ทั่วไป”
คาเมรอนได้สร้างลายเซ็นตัวเองด้วยเนื้อเรื่องไซไฟที่น่าตื่นเต้น กับเทคนิคการถ่ายทำที่จัดเต็มความทะเยอทะยาน ทั้งใช้คนเชิดหุ่นยนต์ในการถ่ายทำ ใช้เทคนิค Stop Motion เพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหว ภายใต้ทุนสร้างเพียง 7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่กลับทำรายได้มหาศาล 78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
หลังประสบความสำเร็จ เจมส์ คาเมรอน ฝึกฝีมือการกำกับต่อในแฟรนไชส์เอเลี่ยนภาค 2 Aliens (1986) ที่คว้ารางวัลออสการ์สาขาวิชวลเอฟเฟกต์มาครอง และยังเล่นใหญ่ด้วยการสร้างตัวละครที่ใช้คอมพิวเตอร์กราฟิก 100% ตัวแรกใน The Abyss (1989) เขาทำงานร่วมมือกับบริษัทวิชวลเอฟเฟกต์ Industrial Light & Magic (ILM) ที่ใช้เวลาทำงานกว่า 6 เดือน และใช้จริงในภาพยนตร์เพียง 3 นาที
และ 3 นาทีนั้นกลายเป็นเวทย์มนตร์ที่ปฏิวัติวงการวิชวลเอฟเฟกต์ตลอดกาล
[caption id="attachment_13123" align="alignnone" width="1280"]
The Abyss (1989)[/caption]
คาเมรอนสานต่อความสำเร็จในการสร้างตัวละครจากคอมพิวเตอร์กราฟิกใน Terminator 2: Judgment Day (1991) กับหุ่น T-1000 หรือที่เรารู้จักในนาม “มนุษย์เหล็กไหล” ยกระดับคุณภาพด้วยการโชว์กราฟิกโลหะเหลวที่สร้างความตื่นตาตื่นใจไปทั่วโลก คุณภาพของหุ่น T-1000 จึงเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญในวงการฮอลลีวูดที่ทำให้หลายคนลงทุนและพัฒนาคอมพิวเตอร์กราฟิกในการสร้างภาพยนตร์มาถึงทุกวันนี้
Titanic (1997) เป็นอีกหนึ่งผลงานคุณภาพที่อาจไม่ได้มีเรื่องราวสุดล้ำ แต่เต็มไปด้วยความทะเยอทะยานในการถ่ายทำ เขาระเบิดพื้นที่บริเวณชายหาดในประเทศเม็กซิโกเป็นแอ่งบรรจุน้ำ และใช้เรือจำลองขนาดเท่าของจริงมาถ่ายทำ ทั้งยังโชว์ศักยภาพการกำกับเรื่องราวชู้รักเรือล่มได้ยิ่งใหญ่สมจริง ทำให้หนังเข้าชิงรางวัลออสการ์มากถึง 14 สาขา ได้กลับมามากถึง 11 รางวัล และขึ้นแท่นหนังทำเงินมากสูงสุด (ณ เวลานั้น) ด้วยจำนวน 2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ก่อนจะถูกโค่นล้มด้วยผลงานของ เจมส์ คาเมรอน เองในปี 2009
ภาพยนตร์เรื่องนั้นคือ Avatar (2009) ที่ยังเล่นใหญ่พลิกประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทำด้วยกล้อง 3 มิติเรื่องแรกของโลก เป็นหนังทุนสร้างมหาศาล 280 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่ลงทุนกับงานวิชวลเอฟเฟกต์แบบที่ไม่รู้จะสรรหาคำอะไรมาอธิบาย เพราะการออกแบบดาวแพนโดราช่างวิจิตรตระการตา เวอร์วังอลังการ และเก็บรายละเอียดได้ทุกกระเบียดนิ้ว พร้อมการถ่ายทำด้วยเทคนิคพิเศษ Motion Capture (แบบที่ใช้สร้างตัว กอลลัม ในเรื่อง The Lord of the Rings) ที่พัฒนามานานกว่า 10 ปี ทำให้เกิดตัวละครชาวนาวีสมจริง
“ผมเขียนเรื่อง Avatar ขึ้นในปี 1995 โดยสร้างขึ้นจากไอเดียที่ผมมีช่วงเรียนมหาวิทยาลัยตอนอายุ 19 ปี เมื่อราว ๆ 20 ปีที่แล้ว หรืออาจนานกว่านั้น และต้องใช้เวลาอีกกว่า 10 ปีก่อนที่จะได้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นจริง”
ปัจจุบัน คาเมรอนยังประกาศสร้างภาคต่อถึง 4 ภาครวด กำหนดฉายไกลสุด Avatar 5 ในปี 2027 โดยกองถ่าย Avatar 2 มีการเสิร์ฟอาหารสไตล์วีแกนหรือไม่มีผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ใด ๆ ด้วยเหตุผลว่า อยากให้ทุกคนเริ่มหันมารับประทานอาหารจากพืชผักเป็นหลัก ซึ่งไม่ใช่เพื่อประโยชน์ทางสุขภาพอย่างเดียวเท่านั้น แต่เพื่อประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อมด้วย
[caption id="attachment_13124" align="alignnone" width="1777"]
Avatar (2009)[/caption]
ไม่เฉพาะภาพยนตร์ เขายังเคยสร้างสารคดีเพื่อตอบสนองความชอบตัวเองอย่างการดำน้ำกับ Ghosts of the Abyss (2003) สำรวจเรือไททานิค และ Aliens of the Deep (2005) สำรวจสิ่งมีชีวิตแปลกประหลาดใต้ทะเล พร้อมยกกล้อง IMAX และ IMAX 3D ลงไปในถ่ายทำ
“มันเป็นความฝันอยากเป็นนักดำน้ำตั้งแต่อายุ 15 ปี ผมอยู่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในแคนาดา ทะเลใกล้ที่สุดอยู่ห่างออกไป 600 ไมล์ จนกระทั่งพ่อเจอโรงเรียนสอนดำน้ำในบัฟฟาโล นิวยอร์ก และผมได้ใบอนุญาตดำน้ำในสระน้ำ ก่อนจะลงทะเลจริง ๆ ในอีกสองปีต่อมา”
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี เจมส์ คาเมรอน ดำน้ำนานกว่า 3,000 ชั่วโมง อยู่ในเรือดำน้ำกว่า 500 ชั่วโมง เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับนิเวศของท้องทะเลลึก
“ช่างอุดมไปด้วยสิ่งมีชีวิตที่น่าตื่นตาตื่นใจ เหนือจินตนาการของเรา จินตนาการของธรรมชาติช่างไร้ขอบเขตกว่ามาก เมื่อเทียบกับจินตนาการที่คับแคบของมนุษย์ ทุกวันนี้ ผมยังคงยืนตะลึงกับสิ่งที่ผมเห็นเวลาดำน้ำเสมอ”
[caption id="attachment_13125" align="alignnone" width="800"]
Aliens of the Deep (2005)[/caption]
หากนับกันตามจริงแล้ว เจมส์ คาเมรอน สร้างภาพยนตร์เพียง 10 เรื่องเท่านั้น แต่ความยิ่งใหญ่ของเขาคือการสร้างประวัติศาสตร์หลายต่อหลายครั้ง หนึ่งในเคล็ดลับความสำเร็จที่เขาเคยพูดบนเวที TED Talks คือความสงสัยใคร่รู้ที่เป็นแรงผลักดันให้เขามีจินตนาการ ไม่สร้างข้อจำกัดให้ตัวเอง และกล้าที่จะทำ
“สิ่งที่ผมจะบอกกับพวกคุณ ไม่ว่าพวกคุณจะทำอะไร หรือกำลังทำอะไรอยู่ ความล้มเหลวเป็นหนึ่งในทางเลือกของเรา และความกลัวเป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญ”
ในทางกลับกัน ข้อเสียอย่างเดียวที่ทีมงาน นักวิจารณ์ หรือแม้กระทั่งเว็บบอร์ดต่าง ๆ กล่าวถึงเขาคือตัวตนที่เต็มไปด้วยอีโก้ เขาเชื่อมั่นในความคิดตัวเองอย่างมาก แต่นั่นก็เป็นความต้องการให้ผลงานเพอร์เฟกต์ที่สุด ยกตัวอย่าง เหตุการณ์การดัดแปลงบท Spider-Man โดยไม่เคารพต้นฉบับเกี่ยวกับการสร้างเครื่องยิงใย โดยคิดว่า ปีเตอร์ พาร์กเกอร์ ควรยิงใยจากข้อมือตัวเอง ทำให้แฟนคลับรู้สึกผิดหวัง
แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะทุกการสัมภาษณ์ของเขามักจะบอกว่า “คนเดียวที่คุณจำเป็นต้องทำให้พอใจมากที่สุดไม่ใช่เหล่านักวิจารณ์ ไม่ใช่กองเชียร์ และไม่ใช่สตูดิโอ แต่คือตัวคุณเอง"
เพราะฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ในวันที่เขาได้รับรางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก Titanic เจมส์ คาเมรอน จะตะโกนแบบตัวละคร แจ็ก ดอว์สัน “I'm the king of the world!"
เป็นผู้กำกับ The King ใน World ของตัวเอง
[caption id="attachment_13126" align="alignnone" width="1673"]
Titanic (1997)[/caption]
ที่มา
https://www.biography.com/filmmaker/james-cameron
https://www.businessinsider.com/james-cameron-came-up-terminator-during-dream-2015-6
https://www.ted.com/talks/james_cameron_before_avatar_a_curious_boy/transcript
https://indianexpress.com/article/entertainment/hollywood/avatar-director-james-cameron-dreams-inspire-his-films-4799269/
https://thestandard.co/james-cameron/