ซาฮี ฮาวาสส์ ผู้นำเผด็จการแห่งวงการอียิปต์วิทยา
ซาฮี ฮาวาสส์ (Zahi Hawass) ชื่อนี้น่าจะคุ้นหูใครหลายคนที่ติดตามเรื่องราวด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์อียิปต์โบราณ แต่ถ้าใครไม่ได้ตาม ฮาวาสส์คือ นักโบราณคดีชาวอียิปต์และอดีตผู้บังคับบัญชาสูงสุดด้านโบราณคดีของอียิปต์ ที่ “ผูกขาด” การประกาศการค้นพบทางโบราณคดีในอียิปต์ต่อชาวโลกไว้ที่ตัวเขาเพียงคนเดียว
ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเป็นชาวอียิปต์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดคนหนึ่งของโลก ฮาวาสส์เองยังเคลมว่าเขานั้นดังยิ่งกว่า โอมาร์ ชารีฟ (Omar Sharif) นักแสดงชาวอียิปต์ เพื่อนสนิทที่แสดงนำในหนังอย่าง Dr. Zhivago ซึ่งชนะ 5 รางวัลออสการ์ และร่วมแสดงใน Lawrence of Arabia (1962) ซึ่งคว้าออสการ์มาถึง 7 ตัว
ฮาวาสส์ยังโวว่า หมวกสไตล์คาวบอยของเขาเป็นที่นิยมยิ่งกว่าหมวก “อินเดียนา โจนส์” เสียอีก
เอียน ปาร์เกอร์ (Ian Parker) แห่ง The New Yorker เล่าว่า ฮาวาสส์ เป็นลูกหลานเกษตรกรแห่งลุ่มน้ำไนล์ พ่อของเขาจากไปตั้งแต่ยังเด็ก เรียนจบตรีด้านโบราณคดียุคกรีก-โรมัน จากอเล็กซานเดรีย ในช่วงเวลาอันชอกช้ำของชาวอียิปต์เมื่อต้องพ่ายให้กับอิสราเอลในสงคราม 6 วัน เมื่อปี 1967
หนึ่งปีหลังเรียนจบเขาเข้าทำงานกับกองโบราณคดีในตำแหน่งผู้ตรวจการ ทำหน้าที่ดูแลการขุดสำรวจแหล่งโบราณคดี และโบราณสถานต่าง ๆ เดวิด ซิมส์ (David Sims) เพื่อนชาวอเมริกันที่ใช้ชีวิตในอียิปต์เล่าว่า ฮาวาสส์ไม่ใช่นักเรียนที่เก่งกาจ และแรก ๆ ที่ทำงานเขาก็ไม่ได้ใส่ใจกับประวัติศาสตร์ของฟาโรห์เท่าไรนัก
จุดเปลี่ยนสำคัญคือการที่เขาได้ไปประจำที่กิซาเพื่อดูแลมหาพีระมิด ซึ่ง ฟาเดล แกด (Fadel Gad) เพื่อนสนิทอีกรายของฮาวาสส์ชี้ว่า พีระมิดคือสิ่งที่สร้างตัวตนของฮาวาสส์ มันเป็นโอกาสและช่องทางของเขาในการแสดงตนต่อโลก หากโลกต้องการเห็นมหาพีระมิดก็ต้องเห็นฮาวาสส์พร้อมกันไปด้วย
ฮาวาสส์ยอมรับกับปาร์เกอร์ว่า แรก ๆ นั้น “ผมทำตามหน้าที่อย่างดี แต่ความรู้ไม่ค่อยดีเท่าไร ผมไม่ได้รู้อะไรเลย เป็นแค่ไอ้โง่คนหนึ่งเท่านั้น” จากนั้นเขาจึงไปต่อปริญญาโทหลักสูตรอียิปต์วิทยา ที่มหาวิทยาลัยไคโร จบแล้วตอนแรกเขากะว่าจะไปเป็นไกด์นำเที่ยว แต่โชคดีได้ทุนฟุลไบรต์ไปเรียนต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียในปี 1980 และกลับมาอียิปต์อีกครั้งในวัย 40 ปี พร้อมกับความรู้และทักษะที่เพียบพร้อมในฐานะนักวิชาการ ทำให้เขาก้าวหน้าในหน้าที่การงานอย่างรวดเร็ว
ในปี 1987 เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการแผนกซึ่งมีหน้าที่ดูแลพีระมิดที่กิซาด้วย เขาพยายามปรับปรุงพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงได้ง่ายและสะดวกสบาย ตอนหลังยังสร้างรั้วยาวติดตั้งเซ็นเซอร์และกล้องวงจรปิดเพื่อกีดกันพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่ และคนนำทาง (บนหลังอูฐ) ไม่ให้มาข้องแวะกับนักท่องเที่ยว ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับคนท้องถิ่นเป็นอย่างมาก
โดยหลักการแล้ว การพัฒนาและหาประโยชน์จากทรัพยากรใด ๆ คนในท้องถิ่นควรได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเหมาะสมด้วย แต่ดูเหมือนฮาวาสส์ไม่ได้คิดถึงเรื่องนั้นเท่าไรนัก โดยชี้ว่า นอกจากรั้วจะช่วยป้องกันนักท่องเที่ยวแล้ว ยังช่วยปกป้องโบราณสถานด้วย (BBC)
ส่วนที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขาเป็นอย่างมากในระดับนานาชาติคือการที่เขาค้นพบสุสานของผู้สร้างพีระมิดในปี 1990 (Britannica) ซึ่งช่วยหักล้างความเชื่อของนักทฤษฎีสมคบคิดซึ่งเป็นที่แพร่หลายในยุคนั้นว่า พีระมิดอันยิ่งใหญ่ของอารยธรรมอียิปต์โบราณนั้น แท้จริงแล้วมิได้ถูกสร้างโดยคนท้องถิ่น แต่เป็นฝีมือของอารยธรรมอันทรงภูมิจากต่างแดน บ้างก็ว่า “ต่างดาว” เลยด้วยซ้ำ
ชื่อเสียงของฮาวาสส์โด่งดังขึ้นไปอีกเมื่อในปี 1996 เขา (และที่ขาดไม่ได้ก็คือคณะทำงานที่ไม่ค่อยได้รับเครดิต) ไปพบสุสานที่รู้จักกันในชื่อว่า Valley of the Golden Mummies หรือ หุบเขามัมมีทองคำ ซึ่งพบมัมมีนับร้อยในสภาพที่สมบูรณ์มาก
ฮาวาสส์ในฐานะผู้เชี่ยวชาญที่เป็นหน้าเป็นตาของอียิปต์จึงได้ออกรายการสารคดีมากมาย ได้ดีเบตกับเหล่านักทฤษฎีทางเลือก ซึ่งปาร์เกอร์บอกว่าจะว่าไปก็คล้าย ๆ กับดู “มวยปล้ำอาชีพ” ที่คู่ต่อสู้สองฝ่าย “ดูเหมือน” จะเกลียดกันอย่างเอาเป็นเอาตาย แต่ต่างฝ่ายต่างก็อยากมาออกรายการเพื่อฟาดฟันกับอีกฝ่าย เพราะต่างก็ได้ประโยชน์จากการที่ตนได้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ก่อนที่ฮาวาสส์จะได้รับการโปรโมตให้เป็นเลขาธิการใหญ่สภาสูงแห่งกิจการโบราณวัตถุสถาน (Supreme Council of Antiquities, SCA) ในปี 2002
ระหว่างนี้เขาได้ไปกำกับดูแลการขุดค้นหลายโครงการและมีการค้นพบที่สำคัญหลายครั้ง อย่างเช่น การค้นพบพีระมิดในยุคอาณาจักรเก่าที่ซักการา เมื่อปี 2008 ซึ่งถูกระบุว่าเป็นของราชินีในฟาโรห์เตติ (Teti) และยังเป็นผู้ริเริ่มโครงการ Mummy Project ซึ่งเป็นการเอาเทคโนโลยีพิสูจน์หลักฐานทางคดี ที่ใช้ในการวินิจฉัยการตายในยุคปัจจุบันไปใช้กับมัมมี ซึ่งช่วยในการระบุอัตลักษณ์ของผู้ตายได้ ทำให้ในปี 2007 เขาสามารถระบุได้ว่า ชิ้นส่วนมัมมีจำนวนหนึ่งเป็นของแฮตเชปซุต และปี 2010 ก็ออกมาประกาศว่า ตุตันคามุนเป็นโอรสในอเคนาเตน และน่าจะเสียชีวิตด้วยอาการแทรกซ้อนเนื่องจากโรคมาลาเรียและโรคกระดูก
การทำงานของฮาวาสส์จึงสร้างคุณูปการให้กับอียิปต์เป็นอย่างมาก และเขาก็ยังเป็นปากเป็นเสียงในการเรียกร้องให้ชาติตะวันตกส่งคืนโบราณวัตถุที่ถูกนำออกไปจากอียิปต์ ต่อให้มันจะถูกนำออกไปโดยถูกกฎหมายก็ตาม
(สมัยก่อนที่อียิปต์จะเป็นประเทศ ดินแดนแถบนี้อยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน ซึ่งผู้ปกครองอิสลามมิได้ให้ความสำคัญกับอารยธรรมก่อนยุคอิสลามนอกรีต ชาวบ้านยังขุดเอามัมมีมาใช้เป็นเชื้อเพลิง ชาวตะวันตกที่เห็นค่าของมันจึงมาขอซื้อหรือขนไปโดยไม่มีใครห้าม เพราะไม่มีใครเห็นค่าของมัน ในทางหนึ่งจึงช่วยให้มันรอดจากการทำลายมาได้ ตามหลักการ nullum crimen nulla poena sine lege การลงโทษหรือความผิดทางอาญาจะมีได้ก็ต่อเมื่อมีการบัญญัติเป็นกฎหมายไว้ก่อน การกระทำของชาวตะวันตกสมัยนั้นจึงเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย แต่เมื่อเกิดประเทศอียิปต์มีการออกกฎหมายห้ามลักลอบค้าวัตถุโบราณ และมีข้อตกลงระหว่างประเทศที่รองรับ ก็ต้องว่ากันไปตามหลักการนั้น)
ชื่อเสียง ภาพลักษณ์ และการแสดงออกถึงความรักและหวงแหนในสมบัติของชาติ (แม้ว่าจะเป็นสมบัติที่เกิดขึ้นก่อนประเทศอียิปต์จะถือกำเนิด) จึงช่วยสร้างความนิยมในตัวฮาวาสส์เป็นอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ดี ปาร์เกอร์กล่าวว่า ฮาวาสส์ก็ถูกวิจารณ์อยู่เหมือนกัน อย่างเช่น การใส่ใจกับเรื่องการประชาสัมพันธ์มากกว่าการค้นพบทางวิชาการ และการเอาผลงานคนอื่นมาอ้างเป็นเครดิตของตัวเอง ซึ่งแม้แต่คนที่ชื่นชมฮาวาสส์อย่าง ซาลิมา อิกราม (Salima Ikram) ศาสตราจารย์ด้านอียิปต์วิทยาแห่งมหาวิทยาลัยอเมริกันในกรุงไคโรซึ่งเป็นมิตรสหายกับฮาวาสส์มาหลายสิบปี ก็ยังบอกว่าฮาวาสส์มีนิสัยเป็น “เผด็จการ” และในเอกสารแถลงการณ์หลายฉบับของ SCA ก็มักจะละเลยที่จะใส่ชื่อของนักโบราณคดีที่ทำงานในการขุดค้นอันนำไปสู่การประกาศนั้น ๆ แม้ว่าบางคนจะทำงานนั้น ๆ มาเกือบทั้งชีวิตก็ตาม
ขณะเดียวกัน การวิพากษ์วิจารณ์หรือทำอะไร “ล้ำเส้น” ฮาวาสส์ ก็อาจทำให้นักอียิปต์วิทยาต่างชาติหมดอนาคตได้ง่าย ๆ เพราะ SCA สามารถระงับหรือเพิกถอนใบอนุญาตการทำงานของพวกเขาในอียิปต์ได้ เหมือนเช่นกรณีของ โจแอน เฟลตเชอร์ (Joann Fletcher) นักโบราณคดีจากเกาะอังกฤษ ที่ถูกเนรเทศหลังไปออกรายการสารคดีในปี 2003 อ้างว่าสามารถระบุตัวมัมมีของเนเฟอร์ติติได้ ซึ่งทาง SCA อ้างว่า เฟลตเชอร์ละเมิดกฎ เนื่องจากมิได้ส่งรายงานการค้นพบมายัง SCA ก่อนทำการประกาศ แต่ทางทีมของเฟลตเชอร์ชี้แจงว่าพวกเขาได้ทำตามกฎแล้วทุกประการ (การประกาศดังกล่าวของเฟลตเชอร์ไม่ได้รับการยอมรับจากคนในวงการเท่าไรนัก และคำสั่งแบนก็ถูกยกเลิกไปในปี 2008)
หลายคนที่ขอให้ปิดชื่อระบายความอัดอั้นว่า ฮาวาสส์ผูกขาดความรู้ ทำให้ทุกคนต้องฟังเขาและเชื่อเขาแค่คนเดียว ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีในเชิงวิชาการ แต่ผู้วิจารณ์บางคนก็บอกว่าพวกเขาพอจะเข้าใจการกระทำของฮาวาสส์อยู่บ้าง เพราะที่ผ่านมาองค์ความรู้เรื่องอียิปต์วิทยาชาวตะวันตกมักจะเป็นผู้ค้นพบตลอด ไม่ว่าจะเป็นสุสานที่โด่งดังที่สุดของตุตันคามุน หรือการถอดรหัสอักษรภาพของอียิปต์โบราณ การกระทำของฮาวาสส์จึงเป็นความพยายามทำให้อียิปต์วิทยาเป็นของชาวอียิปต์ แต่พวกเขาก็ไม่เห็นด้วยกับการไม่เห็นหัวคนทำงาน ความพยายามขายของ และประชาสัมพันธ์ตัวเองมากกว่างานวิชาการ
ตัวอย่างเช่น การประกาศในปี 2007 เรื่องการระบุชิ้นส่วนของแฮตเชปซุต ซึ่งเขาเอาไปเผยในช่อง Discovery ก่อนที่จะเผยการค้นพบเป็นงานวิชาการ เพื่อให้เพื่อนร่วมวิชาชีพได้ร่วมพิจารณาแสดงความคิดเห็น (ซึ่งถ้าเป็นคนอื่นทำคงถูกแบนไปแล้ว แต่นี่คือ ฮาวาสส์!)
หรือกรณีการค้นหาสุสานคลีโอพัตราในทาโปไซริส แมกนา (Taposiris Magna) ใกล้กับอเล็กซานเดรีย ซึ่งริเริ่มโดย แคธลีน มาร์ติเนซ (Kathleen Martinez) อดีตนักกฎหมายชาวโดมินิกัน ซึ่งไม่เคยผ่านการฝึกฝนด้านโบราณคดีมาก่อนที่เธอจะเดินทางมาถึงอียิปต์ในปี 2005 แต่ศึกษาเรื่องนี้ด้วยตัวเองมาอย่างเข้มข้น และสามารถโน้มน้าวให้ฮาวาสส์ยอมรับสมมติฐานของเธอได้
หากมีการค้นพบจริง นี่ย่อมเป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ ทาง SCA จึงให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ แต่ปาร์เกอร์บอกว่า หนึ่งในหลักฐานที่ทางฮาวาสส์เอามาเสนอกับสื่อเพื่อเพิ่มน้ำหนักให้กับสมมติฐานนี้นั้นเป็นการใช้หลักฐานปลอม ซึ่งก็คือชิ้นส่วนรูปสลักของมาร์ก แอนโทนี คนรักของคลีโอพัตรา ซึ่งฮาวาสส์ยืนถือให้สื่อถ่ายรูปหรา โดยอ้างว่ามันเป็นชิ้นส่วนที่ถูกค้นพบด้วยความร่วมมือของอียิปต์และโดมินิกัน แต่แท้จริงมันเป็นชิ้นส่วนที่ถูกพบตั้งแต่ปี 2000 โดยทีมนักโบราณคดีจากฮังการี และถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ที่อเล็กซานเดรีย ตอนหลังฮาวาสส์จึงออกมาแก้ตัวว่ามันเป็น “ความผิดพลาดโดยสุจริต”
เสียงวิจารณ์เหล่านี้ล้วนมาจากทางฝั่งตะวันตก จนกระทั่งปี 2011 ฮาวาสส์ซึ่งเลยวัยเกษียณอายุไปแล้วแต่ยังคุม SCA มาได้ เนื่องจากได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีดูแลด้านโบราณวัตถุสถานเรื่อยมา (เริ่มจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกระทรวงวัฒนธรรมในปี 2009 ก่อนเป็นรัฐมนตรีกระทรวงโบราณวัตถุสถานในปี 2011) ก็ถูกนักโบราณคดีและประชาชนในบ้านออกมาต่อต้านบ้าง
ข้อสำคัญก็คือความสัมพันธ์ส่วนตัวของเขากับ ฮอสนี มูบารัก ผู้นำเผด็จการที่ครองอำนาจยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ จนประชาชนเหนื่อยหน่ายกับความด้อยพัฒนาและปัญหาทุจริต รวมถึงความสัมพันธ์ของเขากับบริษัทเอกชนจากต่างชาติ ที่เขาใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ด้วย (The New York Times)
เช่น การที่เขารับตำแหน่ง explorer-in-residence ให้กับ National Geographic สื่อสารคดีรายใหญ่ของโลก ซึ่งทำให้เขาได้รับค่าจ้าง 200,000 ดอลลาร์ต่อปี ในขณะที่เขาเองมีอำนาจในการอนุมัติการเข้าถึงโบราณสถานและแหล่งขุดค้นต่าง ๆ
การให้อนุญาตกับบริษัท Arts and Exhibitions International ในการขนโบราณวัตถุล้ำค่ารวมถึงสมบัติตุตันคามุนไปจัดแสดงทั่วโลก ในขณะเดียวกันบริษัทนี้ก็ยังผลิตเสื้อผ้าแฟชันสไตล์ฮาวาสส์ออกขายด้วย
และบริษัทที่สอง Exhibit Merchandising เป็นบริษัทที่ผลิตหมวกฮาวาสส์จำลองออกขายเป็นที่ระลึกอยู่พักหนึ่ง จู่ ๆ ก็คว้าสัมปทานร้านขายของที่ระลึกขนาดใหญ่เปิดใหม่ที่พิพิธภัณฑ์ในกรุงไคโรไปครอง
ฮาวาสส์ชี้แจงว่า ก็กฎหมายไม่ได้ห้ามการรับงานให้กับเอกชนและยืนยันว่าเขาไม่ได้ให้สิทธิพิเศษอะไรกับนายจ้างเอกชน ส่วนกำไรจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ล้วนส่งตรงไปยังมูลนิธิเพื่อการกุศลทั้งนั้น แต่เมื่อตรวจสอบข้อมูลลงไปก็ปรากฏว่า ผู้ที่มีอำนาจควบคุมดูแลมูลนิธิที่ถูกอ้างถึงก็คือ ภรรยาของมูบารัก ก็ยิ่งทำให้ประชาชนไม่พอใจ
และฮาวาสส์ก็เคยเกือบติดคุกมาแล้ว เมื่อมีผู้ร้องว่าฮาวาสส์ให้สัมปทานการแสวงประโยชน์ในพิพิธภัณฑ์โดยไม่เป็นธรรม ซึ่งศาลเห็นด้วยและให้ประมูลใหม่ แต่ฮาวาสส์ไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งศาลจึงถูกศาลจำคุก แต่ศาลอุทธรณ์แค่สั่งให้ปิดร้านเดิม ยกโทษจำคุกให้ฮาวาสส์ แล้วให้จัดหาผู้ดำเนินการรายใหม่แทน
แม้มูบารักจะยอมลาออกไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2011 ฮาวาสส์ก็ยังอยู่ต่อในรัฐบาลเฉพาะกาลมาได้ ก่อนลาออกไปในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน โดยอ้างว่าเพื่อประท้วงการป้องกันความเสียหายต่อโบราณสถานที่หละหลวมระหว่างการประท้วงต่อต้านรัฐบาล ก่อนที่รัฐบาลเฉพาะกาลจะตั้งเขากลับมารับตำแหน่งอีกรอบ แต่คราวนี้นักโบราณคดีท้องถิ่นนำขบวนประท้วงเองหน้าที่ทำการกระทรวงฯ โจมตีการบริหารจัดการของฮาวาสส์ และการมีสัมพันธ์อันไม่เหมาะสมกับเอกชน จนรัฐบาลเฉพาะกาลต้องปรับเอาเขาออกไปเพื่อลดแรงกดดัน
หลังผ่านมรสุมอาหรับสปริง 2011 มาได้ ฮาวาสส์ก็กลับมาเป็นหน้าเป็นตาให้กับวงการอียิปต์วิทยาในบ้านเกิดเช่นเดิม ทำหน้าที่ทั้งในฐานะนักวิชาการ นักโบราณคดี ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์และการท่องเที่ยวให้กับอียิปต์ และยังปรากฏตัวในการแถลงข่าวการค้นพบต่าง ๆ ที่เขาไปเกี่ยวข้องอยู่เสมอ แม้จะไม่ได้มีอำนาจดังเก่า แต่ก็ยังเปี่ยมด้วยบารมี และเสน่ห์หน้ากล้องทำให้เขายังเป็นที่ชื่นชอบของสื่อมวลชน และคนที่ติดตามเรื่องราวอียิปต์โบราณผ่านบุคคลที่เปี่ยมด้วยสีสันเช่นเขา