"เมื่อพูดถึง Hank Jones คุณคิดถึงเพลงอะไรของเขา"
สาวน้อยคนหนึ่งในรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากรถามขึ้น ในยามบ่ายที่อากาศร้อนอบอ้าว มองเห็นเมฆฝนตั้งเค้าทะมึนมาแต่ไกล ความขมุกขมัวหม่นเทาในชั้นบรรยากาศยามนั้น เป็นเช่นเดียวกันกับความคิดคำนึงของผมที่มีต่อนักเปียโนอาวุโสผู้นี้ ซึ่งในเวลานั้น แทบจะหาความกระจ่างใสในมุมมองไม่ได้เลย
เพราะผมนึกไม่ออกจริง ๆ เลยว่า เพลงไหนควรจะเป็นตัวแทนเพลงของเขา
ในโลกของงานบันทึกเสียง อย่างที่เราทราบกันว่า Jazz records are jazz textbook. หรืองานบันทึกเสียงแจ๊ส ก็คือตำราดี ๆ นี่เอง เราอาจจะนึกถึงไลน์โซโลเทเนอร์แซ็ก ของ โคลแมน ฮอว์กินส์ ในเพลง Body and Soul ได้ในทันที เพราะนั่นคือมาสเตอร์พีซที่คนเทเนอร์แซ็กทุกคนต้องฟัง, เราอาจจะฮัมทำนองอันเชี่ยวกรากตามเสียงโซปราโนแซ็ก ในเพลง My Favorite Things ของ จอห์น โคลเทรน หรือดื่มด่ำละเมียดละไมกับการค้นหาตัวโน้ตที่ใช่บนแป้นคีย์บอร์ด ของ บิลล์ เอแวนส์ ใน My Foolish Heart
แต่กับกรณีของ แฮงค์ โจนส์ กลับต้องใช้เวลา อย่างน้อย...สักพัก
ที่ผ่านมา เรา ๆ ท่าน ๆ ที่ชื่นชอบดนตรีแจ๊สทั้งหลาย น่าจะคุ้นเคยกับ แฮงค์ โจนส์ กันอยู่แล้ว ผลงานของเขาในฐานะไซด์แมน (sideman) ปรากฏให้เห็นตั้งแต่ยุคสมัยบีบ็อพ ข้ามยุคสมัยต่าง ๆ มาจวบจนแจ๊สในคริสต์ศตวรรษที่ 21
เขาคือหนึ่งในผู้บรรเลงเปียโนบทเพลง The Song Is You, Laird Baird, Kim และ Cosmic Rays ในเซสชั่นบันทึกเสียงของ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ซึ่งต่อมาคลี่คลายเป็นอัลบั้ม Now's the Time ภายใต้สังกัด Verve เมื่อปี 1952 (นักเปียโนอีกคนในอัลบั้มนี้คือ อัล เฮก), เขาอัดแผ่นกับ แคนนอนบอลล์ แอดเดอร์ลี นักอัลโตแซ็กโซโฟนระดับตำนาน ในอัลบั้ม Somethin' Else อันโด่งดัง และยังเล่นในอัลบั้ม Bass on Top ของ พอล เชมเบอร์ส มือเบสคนสำคัญแห่งยุคฮาร์ดบ็อพอีกด้วย
ทว่า ที่กล่าวมานั้น นับเป็นเพียงเศษเสี้ยวของผลงานบันทึกเสียงที่ แฮงค์ โจนส์ ฝากไว้เป็นจำนวนมาก ก่อนจะเสียชีวิตลงด้วยวัย 91 ปี เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 2010 ณ นิวยอร์ก ซิตี สหรัฐอเมริกา
เหนืออื่นใด เรารับรู้มาโดยตลอดว่า แฮงค์ โจนส์ เป็นนักเปียโนที่บรรเลงประกอบ (accompaniment) ให้แก่นักร้องชั้นครูมาแล้วมากมาย ในจำนวนนี้ รวมถึง เอลลา ฟิตซ์เจอรัลด์ ที่เขาเคยเดินสายทัวร์และเข้าห้องบันทึกเสียงมานานถึง 5 ปีเต็ม
แม้กระทั่งหลังสุด ในช่วงท้ายของชีวิตอันยืนยาวของเขา แฮงค์ โจนส์ ก็ยังวนเวียนข้องเกี่ยวกับนักร้องอยู่ดี นั่นคือการเล่นแบ็คอัพให้แก่ โรแบร์ตา กัมบารินี ดาวรุ่งของวงการแจ๊ส ซึ่งโดยส่วนตัวผมเอง เคยมีโอกาสได้ชมการแสดงของเขาและเธอร่วมกันบนเวที นอร์ธ ซี แจ๊ส เฟสติวัล ที่เมืองร็อตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี 2006 และ ปี 2009 ที่ยังประทับอยู่ในความทรงจำตราบจนวันนี้
"...ให้คิดทันทีตอนนี้ ผมยังนึกถึงเพลงชัด ๆ ของ แฮงค์ โจนส์ ไม่ออกหรอกนะ เพราะจากการรับรู้ ผมมองว่าเขาเป็นมือเปียโนที่เล่นเพราะมาก ๆ คนหนึ่ง เขาอยู่ระหว่างสวิงกับบีบ็อพ เขามีทักษะรอบด้าน ยืดหยุ่น และทำหน้าที่เป็นคนเล่นแบ็คอัพที่ดี ที่หาได้น้อยคนในวงการ"
จำได้ว่า ผมตอบเธอกลับไปทำนองนั้น ก่อนจะหวนคิดคำนึงถึง แฮงค์ โจนส์ ด้วยการค้นผลงานบันทึกเสียงที่นักเปียโนคนนี้ทำไว้ ในฐานะ leader มาสดับฟังอย่างจริงจังอีกครั้ง
เจ้าของวอยซิ่งอันแสนไพเราะ
"ในบรรดานักเปียโนแจ๊สกระแสหลัก แฮงค์ โจนส์ เล่นเพราะ เล่นสวย กว่าหลาย ๆ คน"
จำได้ว่าเมื่อหลายปีก่อน ภัทธีรา สารากรบริรักษ์ อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยปรารภกับผม สมัยเราจัดรายการวิทยุเพลงสากลอยู่ที่ อสมท. อาจจะเป็นเพราะการเลือกสรรเพลงแจ๊สมาเล่นออกอากาศทางวิทยุนั้น พึงต้องคำนึงถึงการเปิดใจรับของผู้ฟังด้วยเป็นสำคัญ และผลงานการบรรเลงของ แฮงค์ โจนส์ สามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าศิลปินแจ๊สคนอื่น ๆ
นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมมีโอกาสคุยถึง แฮงค์ โจนส์ กับเพื่อนพ้องน้องพี่ในวงการ จากนั้น มีโอกาสได้ฟังผลงานของเขาช่วงที่เริ่มมีการผลิตออกมาเป็นซีดีในยุคนั้น เช่น อัลบั้มแสดงสด Live at Maybeck Hall (1992) ออกโดยค่าย Concord ที่บุกเบิกและก่อตั้งโดย คาร์ล อี เจฟเฟอร์สัน ตามด้วยอัลบั้ม Steal Away (1995) ที่ดูเอ็ทกับมือเบส ชาร์ลี เฮเดน หรือจะเป็น Favors (1997) บันทึกการแสดงสดที่นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ผลิตภายใต้ค่าย Verve จนกระทั่งมาตื่นตาตื่นใจกับซีดีบันทึกการแสดงสด ณ สวมลุมพินีสถาน โดยวงบิ๊กแบนด์ เบนนี กูดแมน ราชาเพลงสวิงผิวขาว ที่เดินทางมาเยือนไทยช่วงงานรัฐธรรมนูญ เดือนธันวาคม ปี 1956 (พ.ศ.2499) ซึ่งครานั้น มี แฮงค์ โจนส์ เป็นมือเปียโน !
การให้คำจำกัดความว่าแนวทางการเล่นเปียโนของ แฮงค์ โจนส์ ให้ voicing “ที่เพราะ ที่สวย” นั้น เพื่อ "เน้น" จุดเด่นของคุณลักษณะที่ได้ฟังแต่เบื้องแรก แต่นั่นมิได้หมายความว่า การบรรเลงของ แฮงค์ โจนส์ จะตื้นเขิน จนหา "สารัตถะ" อะไรไม่ได้ ในทางตรงกันข้าม ดนตรีของ แฮงค์ โจนส์ มีคุณสมบัติตามที่แจ๊สร่วมสมัยพึงคาดหวังทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นชีพจรสวิง (Swing Pulse), ความก้าวหน้าด้านแนวคิดเสียงประสาน (Harmonic Idea) จนถึงสำเนียงแบบบ็อพ (Bop Idiom) ที่บ่งชี้ถึงความเข้าใจในศาสตร์และศิลป์ของแจ๊สอย่างถ่องแท้ เพียงแต่ แฮงค์ เลือกนำเสนอในแนวทางที่เป็นตัวของตัวเอง มากกว่าจะเลือกแนวทางประกาศตัวชัดแจ้ง อย่าง บัด พาวล์ และ ธีโลเนียส มังค์
โรเบิร์ต แอล โดเออร์สชัค นักวิชาการและนักเปียโน ผู้เขียนหนังสือ 88 : The Giants of Jazz Piano ระบุถึง แฮงค์ โจนส์ ว่า
"โจนส์ เข้าใจในบีบ็อพ ซึ่ง(เขา)มีทั้งส่วนขยายจากไอเดียเก่า ๆ และศักยภาพในการเล่นตามมาตรฐานใหม่ในการแสดงออก ขณะที่ พาวล์ และ มังค์ เรียกร้องคนฟังให้ตัดสินใจเลย ณ เวลาที่กำลังบรรเลง จะเลือกข้างไหน ระหว่างเป็นส่วนหนึ่งของทางออกแจ๊ส หรือกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาแจ๊สที่ซบเซา โจนส์ กลับเปิดกว้างให้แก่คนฟังที่อยู่ทั้งสองฝั่งของความขัดแย้ง ไอเดียในการเล่นของเขา มาจาก เอิร์ล ไฮน์ส และ แนท โคล แต่ในเวลาเดียวกันก็ประคับประคอง และสร้างสุ้มเสียงสำหรับเจเนอเรชันใหม่ เขาน่าจะเป็นแค่คนเดียวในกลุ่มนักเปียโนที่สามารถเล่นเพลงเซ็ทหนึ่งกับ เบนนี กูดแมน (สวิง) จากนั้นต่อด้วย ชาร์ลี พาร์คเกอร์ (บีบ็อพ) โดยไม่พลาดแม้แต่ lick เดียว"
[caption id="attachment_13844" align="aligncenter" width="1024"]
the talented touch ผลงานของ แฮงค์ โจนส์ ในปี 1958[/caption]
หล่อหลอมชีวิตด้วยเสียงเพลง
เฮนรี ‘แฮงค์’ โจนส์ (Henry 'Hank' Jones) เกิดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ปี 1918 ที่เมืองวิคสเบิร์ก รัฐมิสซิสซิปปี เติบโตในครอบครัวที่มีพ่อแม่เป็นนักดนตรีสมัครเล่น แต่ให้ความสนใจในเสียงดนตรีอย่างจริงจัง ภายใต้กฎหมาย “จิม โครว” เมืองวิคสเบิร์กมีปัญหาเรื่องการเหยียดสีผิว
แฮงค์ เป็นลูกคนกลางในพี่น้อง 5 คน มีพี่สาว 2 คนเป็นนักเปียโน ส่วนน้องชายอีก 2 คนเป็นนักดนตรีแจ๊สที่มีชื่อเสียง คนหนึ่งคือ แธด โจนส์ มือทรัมเป็ตและนายวงบิ๊กแบนด์ชื่อดัง ส่วนน้องคนสุดท้าย เอลวิน โจนส์ เป็นมือกลอง หนึ่งในสมาชิกวง “คลาสสิก ควอร์เทท” ของ จอห์น โคลเทรน
เช่นเดียวกับนักดนตรีแจ๊สยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 แฮงค์ โจนส์ เรียนดนตรีตามแบบแผน แต่ด้วยความสนใจในแจ๊ส ทำให้เขาต้องออกมาแสวงหาประสบการณ์และเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะจากการฟังและการบรรเลงสด โดย แฮงค์ หัดเปียโนตั้งแต่วัยเยาว์ นอกจากดนตรีคลาสสิก เขามีโอกาสฟังแจ๊สผ่านสถานีวิทยุ โดยได้รับอิทธิพลจากนักเปียโนรุ่นก่อนหน้า เช่น แฟทส์ วอลเลอร์, เอิร์ล ไฮน์ส, เท็ดดี วิลสัน และ อาร์ต เททัม
โดยเฉพาะ อาร์ต นักเปียโนคนสำคัญก่อนยุคบีบ็อพ แฮงค์ มีโอกาสได้ติดตามชมการซ้อมการบรรเลงและมีความผูกพันเป็นส่วนตัว เมื่อเขาได้พบปะนักเปียโนคนนี้อย่างใกล้ชิด สมัยเล่นดนตรีอยู่ที่เมืองบัฟฟาโล โดย แฮงค์ เคยเล่าถึงความประทับใจว่า ตอนนั้นอาร์ตจะเล่นเปียโนตามอำเภอใจ หลังเสร็จสิ้นจากงานเล่นดนตรีประจำวัน บ่อยครั้งที่เขาเล่นยาวนานไปจนถึง 10-11 โมงเช้าของวันรุ่งขึ้น !
ในมุมมองของ แฮงค์ นักเปียโนอย่าง อาร์ต เต็มเปี่ยมด้วยพลังอันเชี่ยวกราก, ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะทางเทคนิคอันแพรวพราว ซึ่งเขาได้แต่ตื่นตะลึงทุกครั้งที่ชม สมดังที่มีคนเปรียบเปรย อาร์ต เททัม ไว้ว่า แนวทางการเล่นเปียโนของเขา ไม่ต่างจากการแสดงกายกรรมเท่าใดนัก !
[caption id="attachment_13846" align="aligncenter" width="1528"]
Urbanity สตูดิโออัลบั้มของ แฮงค์ โจนส์ ซึ่งปล่อยออกมาในปี 1956[/caption]
ก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพ
อายุเพียง 13 ปี แฮงค์ เริ่มออกเล่นดนตรีในละแวกบ้าน พอโตหน่อย ได้งานเล่นในวงจำพวก territory band จน ลัคกี ธอมพ์สัน นักแซ็กโซโฟน ชักชวนให้ไปหาช่องทางทำงานในนิวยอร์ก ซิตี ในปี 1944 ซึ่งงานแรกของ แฮงค์ โจนส์ ที่นั่นคือการเล่นในวงของมือทรัมเป็ต ฮ้อท ลิปส์ เพจ ณ ไนท์คลับชื่อ "โอนิกซ์" (Onyx)
นับได้ว่านักเปียโนวัย 26 ปีจากต่างเมือง หลงเข้าไปในเมืองบิ๊กแอปเปิล ในช่วงที่ดนตรีรูปแบบใหม่ จิตวิญญาณแบบใหม่ ซึ่งรู้จักกันในนาม “บีบ็อพ” (Bebop) กำลังก่อร่างสร้างตัวขึ้น ณ เวลานั้นพอดี
นิวยอร์ก ซิตี นับเป็นโอกาสทองของนักดนตรีทุกคน ต่อมา แฮงค์ ได้งานเล่นในโครงการ “แจ๊ส แอท เดอะ ฟิลฮาร์มอนิก” ของโปรดิวเซอร์ชื่อดัง นอร์แมน กรานซ์ เมื่อปี 1947 จากนั้นมีโอกาสเล่นแบ็คอัพนักร้องชื่อดัง เอลลา ฟิทซ์เจอรัลด์ ตั้งแต่ปี 1948 ถึงปี 1953
แฮงค์ โจนส์ เล่นดนตรีกับศิลปินแจ๊สมากหน้าหลายตา ในจำนวนนี้ รวมถึง เบนนี กูดแมน, โคลแมน ฮอว์กินส์, ชาร์ลี พาร์คเกอร์ และ เลสเตอร์ ยัง นอกจากนั้น เขายังมีภารกิจเป็นนักเปียโนหลักประจำค่ายเพลง “ซาวอย” ช่วงกลางถึงปลายของทศวรรษ 1950s อีกด้วย ยังไม่นับรวมงานบันทึกเสียงให้แก่ค่ายเพลงอื่น ๆ อีกหลายสิบชุดในช่วงเวลาเดียวกัน
ช่วงหนึ่งในการทำงานกับราชาสวิงผิวขาว เบนนี กูดแมน ทำให้ แฮงค์ โจนส์ มีโอกาสมาแสดงสดในเมืองไทย ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2499 พวกเขาได้อัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ยามเย็น” และ “สายฝน” มาบรรเลง ณ สวนลุมพินีสถาน โดย “เคิร์ท มูลเลอร์” หรือ กรณ์ มหาลาภ นักธุรกิจชาวสวิส ที่เป็นเพื่อนสนิทของ เบนนี กูดแมน ได้บันทึกการแสดงสดครั้งนั้น แล้วผลิตออกขายในเวลาต่อมา ภายใต้ชื่อชุด Benny Goodman : Bangkok 1956
ระหว่างปี ค.ศ.1959-1975 เป็นเวลานานกว่า 15 ปี แฮงค์ โจนส์ รับหน้าที่เป็นมือเปียโนประจำสตูดิโอของ CBS ซึ่งเนื้อหางานที่เขารับผิดชอบ มีทั้งการบรรเลงเปียโนให้แก่รายการโชว์ทางทีวีต่าง ๆ หนึ่งในจำนวนนั้น คือ “ดิ เอ็ด ซัลลิแวน โชว์” ที่บ่อยครั้งมี แฟรงค์ สินาตรา นักร้องชื่อดังเป็นแขกรับเชิญ เช่นเดียวกันกับการแบ็คอัพนักแสดงสาว มาริลีน มอนโรว์ ในเพลง "Happy Birthday Mr. President" ที่มอบให้แก่ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนเดี เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ปี 1962
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาอันยาวนานนี้ เขาพยายามเจียดเวลาบางส่วนให้แก่งานดนตรีแจ๊สที่เขารัก ในแนวทางที่ไม่แปรเปลี่ยน ทั้งการนำวงทริโอ หรือการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในวงบิ๊กแบนด์ของน้องชาย แธด โจนส์ ในนาม Thad Jones-Mel Lewis Orchestra ในปี 1966
เหตุผลประการหนึ่งที่ แฮงก์ โจนส์ ตัดสินใจปักหลักทำงานอยู่ที่ CBS อย่างยาวนาน เพราะสถานการณ์ของแจ๊สในเวลานั้นไม่สู้ดีนัก ด้วยการเกิดขึ้นของดนตรีร็อค, ความเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม รสนิยม และค่านิยม ล้วนทำให้กระแสความนิยมที่มีต่อแจ๊สลดลงอย่างน่าใจหาย ดังนั้น การรับหน้าที่เป็นสตาฟฟ์ดนตรีประจำสถานีโทรทัศน์ CBS จึงเป็นไปด้วยเหตุผลของการเลี้ยงชีพโดยแท้
“ช่วงเวลาราว 15 ปีนั้น โดยส่วนมากผมไม่ได้เล่นดนตรีที่อยากเล่นนักหรอก” แฮงค์ โจนส์ กล่าวในการให้สัมภาษณ์ ฮาเวิร์ด แมนเดล แห่งนิตยสาร Down Beat เมื่อปี 1994 “นั่นทำให้ผมช้าลงไปสักหน่อย ถ้าไม่ได้ทำงานที่ CBS ผมคงได้ตระเวนแสดงดนตรีอย่างที่ใจปรารถนา แต่งานที่นั่น ก็เป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ผมได้สร้างได้ทำบางสิ่งบางอย่างเช่นกัน”
เมื่อ แฮงก์ โจนส์ กลับคืนสู่วงการแจ๊สอย่างเต็มตัวอีกครั้ง ในปี 1977 เขาทดลองทำ The Great Jazz Trio จากข้อเสนอของแฟนเพลงชาวญี่ปุ่น โดยร่วมงานกับ รอน คาร์เตอร์ (เบส) และ โทนี วิลเลียมส์ (กลอง) ซึ่งไม่เคยร่วมงานด้วยกันมาก่อน และจากความสำเร็จในการแสดงสดที่ เดอะ วิลเลจ แวนการ์ด ได้กลายเป็นที่มาของโครงการที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แม้ในภายหลังจะมีการเปลี่ยนแปลงสมาชิกวง โดยมี บัสเตอร์ วิลเลียมส์ มาแทนที่ รอน ส่วนมือกลองเปลี่ยนจาก โทนี เป็น อัล ฟอสเตอร์ และ จิมมี ค็อบบ์ ตามลำดับ
[caption id="attachment_13845" align="aligncenter" width="1012"]
The Trio ผลงานของ แฮงค์ โจนส์ ที่บันทึกเสียงในปี 1955 และปล่อยออกมาในปี 1956[/caption]
ตัวอย่างผลงานอันเอกอุ
ตลอดชีวิตเกือบ 92 ปีของ แฮงก์ โจนส์ เขามีอัลบั้มเดี่ยวในชื่อของตนเองราว 60 ชุด ส่วนการบรรเลงในฐานะ “ไซด์แมน” นั้นมีอยู่นับไม่ถ้วน “เพลง” บรรเลงเปียโนที่น่าสนใจของ แฮงค์ โจนส์ ที่ขอหยิบยกมากล่าวเพียงบางส่วน ประกอบด้วยรายชื่อดังนี้
"Oh, Look Now" "Just Squeeze Me" และ "Sophisticated Lady" ในอัลบั้ม Solo Piano ออกกับค่าย All Art (AAJ-11003)
"Ah Henry" และ "Kids Are Pretty People" โดย แฮงก์ กับ เอลวินส์ โจนส์ อัลบั้ม Upon Reflection : The Music of Thad Jones ออกกับค่าย Verve (314 514 898-2)
"Favors" "Love For Sale" และ "Passing Time" ในอัลบั้ม Favors ออกกับค่าย Verve (314 537 316-2)
"The Jitterbug Waltz" ในอัลบั้ม Handful of Keys ออกกับค่าย Verve (314 514 216-2)
"Confirmation" "Moose the Mooche" และ "Ruby, My Dear" ในอัลบั้ม Bop Redux ออกกับค่าย Muse (MCD 5444)
"Autumn Leaves" ทำในนาม The Great Jazz Trio ค่าย Inner City (IC 1110)
"Steal Away" ทำในนาม Charlie Haden and Hank Jones อัลบั้ม Steal Away ค่าย Verve (314 527 249-2)
ในแง่ความเป็นแอคคอมพานีอิสต์ (accompanyist) แฮงค์ โจนส์ ได้รับการยกย่องถึงแนวทางการเล่นเปียโนที่มีความยืดหยุ่นสูง มีกรูฟอันโยกโยน สอดรับกับบทบาทการเล่นเครื่องริธึ่มอย่าง “เปียโน” ที่คู่ขนานกับเบสและกลอง แต่ในเวลาเดียวกันก็ยังมีฮาร์มอนิกไอเดียที่สอดคล้องกับสไตล์เพลงนั้น ๆ
ในแง่การเป็นโซโลอิสต์ (soloist) เขาเป็นนักเปียโนที่มีไดนามิกเป็นยอด ทั้งการไล่เรียงตัวโน้ตขึ้นลงและการเปลี่ยนคีย์ มีสัมผัสของฟังกี้ และมีจังหวะที่ดีเยี่ยม
คุณสมบัติอันเอกอุที่ประชาคมดนตรีชื่นชอบแนวทางการเล่นของ แฮงค์ โจนส์ คือ “สัมผัส” หรือ “Touch” ที่ไม่ธรรมดานั่นเอง เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ เจ้าตัวกลับไม่แน่ใจ และกล่าวอย่างถ่อมตนว่า
“ผมไม่เคยตั้งใจพัฒนา touch ที่ว่านี้หรอกนะ สิ่งที่ผมพยายามทำ คือบรรเลงไลน์ของโน้ตอะไรก็ตาม ให้ลื่นไหลและเต็มอิ่มเท่าที่จะทำได้” นั่นคือประโยคที่เจ้าตัว ณ วัย 78 ปีในเวลานั้น บอกกับนักข่าวของ เดอะ ดีทรอยท์ ฟรี เพรส ในปี 1997
“ผมคิดว่าการฝึกซ้อมมีส่วนอย่างสำคัญในเรื่องนี้ ถ้าคุณฝึกสเกลด้วยศรัทธา และฝึกซ้อมแต่ละโน้ตด้วยน้ำหนักที่พอเหมาะ แน่นอนทีเดียวว่า คุณกำลังพัฒนาความต่อเนื่องลื่นไหล ผมเคยซ้อมอย่างหนัก และยังฝึกฝนที่บ้านตราบจนถึงวันนี้”
ตัวอย่างงานบันทึกเสียงชั้นดีอื่น ๆ ที่ได้รับการพูดถึงในแง่มุมอิมโพรไวเซชั่นของนักเปียโนคนนี้ อาทิ Autumn Leaves ที่บรรเลงร่วมกับ แคนนอนบอลล์ แอนเดอร์ลีย์ ในอัลบั้ม Somethin’ Else ที่หมดจดงดงาม ในลีลาการถ่ายทอดเรื่องราว หรือจะเป็นเพลง One For My Baby ที่บรรเลงกับ เวส มอนต์โกเมอรี ในอัลบั้ม So Much Guitar
แฮงค์ โจนส์ มีงานบันทึกเสียงในนามของตัวเองจำนวนหนึ่ง ช่วงปลายทศวรรษ 1950s และบางทีอาจจะเรียกได้ว่าเป็นงานเดี่ยวที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของเขา นั่นคือ อัลบั้ม Solo Piano งานเดี่ยวเปียโนของเขา และอัลบั้ม The Trio ที่บรรเลงกับ เวนเดลล์ มาร์แชล มือเบส และ เคนนี คลาร์ก มือกลอง ซึ่งออกภายใต้สังกัด ซาวอย เร็คคอร์ดส์
แม้ แฮงค์ โจนส์ จะเอ่ยนามนักเปียโนคนสำคัญที่เขาได้รับอิทธิพลมา ไม่ว่าจะเป็น แฟ็ทส์ วอลเลอร์ส, อาร์ต เททัม, บัด พาวล์ และ อัล เฮก แต่วิเคราะห์กันว่า แนวทางการเล่นของเขาพัฒนามาจากสำนักสวิง ตามแบบฉบับของ เท็ดดี วิลสัน และ แนท โคล ในช่วงปลายทศวรรษ 1930s ถึงต้นทศวรรษ 1940s อย่างเด่นชัด โดยเขานำฮาร์มอนิกไอเดียใหม่ ๆ ของบีบ็อพมาสอดผสานอย่างพอเหมาะ จัดเป็นนักดนตรีบีบ็อพที่ยังรักษาสำเนียงสวิงได้อย่างแนบแน่น และนั่นเป็นสาเหตุที่เขาได้รับฉายานามที่ผู้คนในวงการเรียกว่า Teddy Wilson of Bop
[caption id="attachment_13847" align="aligncenter" width="1300"]
Kids: Live at Dizzy's Club โดย แฮงค์ โจนส์ และ โจ โลวาโน[/caption]
วิถีแห่งการพัฒนาตัวเอง
แฮงค์ โจนส์ เคยนำเสนอมุมมองทางดนตรีที่น่าสนใจ ทำนองว่า ดนตรีเป็นภาษาสากล เรื่องของวัยไม่มีผลเกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ผลงาน ไม่ว่าคุณจะอายุ 6 หรือ 60 ปี หากคุณคิดในเชิงดนตรี แล้วผสานสิ่งที่คิดให้ปรากฏออกมาเป็นสิ่งที่คุณเล่น
“มันเป็นเรื่องของความคิดล้วน ๆ มันอยู่ในจิตใจ คุณเปลี่ยนสิ่งที่อยู่ในใจผ่านปลายนิ้วออกมา จากนั้นคุณหวังให้ผู้ชมสัมผัสรับรู้ในสิ่งที่กำลังถ่ายทอด”
จากอาชีพนักเปียโน แฮงค์ โจนส์ ยอมรับโดยดุษณีว่าดนตรีเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเขา และโลกของดนตรีมีให้เรียนรู้ไม่สิ้นสุด
“มันเป็นวิถีของชีวิต ผมคิดว่าภาวะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อคุณทำงานดนตรีมาสักระยะหนึ่งแล้ว มันไม่ได้เริ่มต้นเช่นนั้น มันเริ่มด้วยความทะเยอทะยาน ฉันต้องการจะไปถึงระดับความสามารถนั้น แต่เมื่อไปถึงแล้ว มันก็ยังมีอีกระดับหนึ่ง มันยังมีอีกระดับขั้นหนึ่งขึ้นไปเสมอ ๆ นั่นกลายมาเป็นวิถีของชีวิต นั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับผม มันมีอีกระดับขั้นหนึ่งที่ผมพยายามจะไปถึง”
สำหรับกลุ่มคนรักแจ๊ส นี่คือนักเปียโนที่มีสุ้มเสียงเป็นเอกลักษณ์มากที่สุดคนหนึ่ง ผู้ถ่ายทอดเสียงเปียโนได้อย่างไพเราะ สละสลวย งดงาม หากยังรักษามนต์เสน่ห์ ความลึกซึ้ง และความเข้มข้นแบบแจ๊สไว้ได้ในเวลาเดียวกัน
แฮงค์ โจนส์ เป็นแบบฉบับของนักเปียโนที่รู้จัก “กาละเทศะ” เช่น ในบทบาทของการเป็นแอคคอมพานิอิสต์ที่ดี เขาคอยทำหน้าที่แบ็คอัพนักร้องได้อย่างครบถ้วน ไม่ขาดตกบกพร่อง และไม่แสดงออกจนเกินหน้า (เหมือนที่นักดนตรีหลายคนในบ้านเรามักเป็นกัน) ขณะที่ในบทบาทของผู้นำวง แฮงค์ ไว้ลายชั้นเชิงทางดนตรีที่ไม่ธรรมดา ให้แฟนเพลงได้ประจักษ์มานักต่อนัก
การศึกษาชีวิตและผลงานของ แฮงก์ โจนส์ จึงให้แง่มุมน่าสนใจ เพราะตลอดระยะเวลา 6 ทศวรรษบนถนนสายดนตรี เขามุ่งหมายสะท้อนตัวตนผ่านเสียงดนตรีอย่างซื่อสัตย์ ดังคำกล่าวของเขาที่ว่า
“เมื่อคุณฟังนักเปียโนสักคน แต่ละโน้ตควรมีอัตลักษณ์ แต่ละโน้ตควรมีจิตวิญญาณในตัวมันเอง”