La Leche League ขบวนการส่งเสริมการให้นมแม่ให้เป็นวาระของโลก

La Leche League ขบวนการส่งเสริมการให้นมแม่ให้เป็นวาระของโลก
นมผงดัดแปลงสำหรับทารกเป็นประดิษฐกรรมที่มีมานานนับร้อยปีหลังจากนักเคมีชาวเยอรมัน ยุสตุส ฟอน ลีบิจ ได้พัฒนาและนำออกขายเป็นครั้งแรกในยุโรปเมื่อปี 1867 โดยอ้างว่ามันมีองค์ประกอบไม่ต่างอะไรไปจาก “นมแม่”  นมผงจึงอำนวยความสะดวกให้กับแม่ ๆ เป็นอย่างมาก เมื่อพวกเธอไม่จำเป็นต้องมาให้นมจากเต้า ชงนมใส่ขวดให้ลูกดื่มก็มีเวลาให้ไปทำงานอื่น ๆ ได้ โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นแม่บ้านอยู่ติดบ้านตลอดไปเวลามีลูกอ่อน เพราะพ่อเด็ก ญาติ ๆ ศูนย์หรือบุคคลที่รับเลี้ยงดูเด็กอ่อนก็สามารถทำหน้าที่แทนพวกเธอได้ เมื่อถึงช่วงทศวรรษ 1960s ที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมือง ต่อต้านจารีตเดิมของคริสเตียนผิวขาว เพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียมนั้น ความเท่าเทียมทางเพศก็เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญ นมผงก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมขึ้นมาได้ (เพราะพ่อไม่อาจผลักภาระการเลี้ยงลูกไปให้แม่ง่าย ๆ ว่าตัวเองให้นมลูกไม่ได้)  แต่ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้นเอง กลุ่มแม่บ้านลูกอ่อนจากครอบครัวคริสเตียนชนชั้นกลางผิวขาวก็ได้วางแผนโต้กลับเพื่อให้ “นมแม่” กลายเป็นวาระร่วมกันของโลก และเรียกองค์กรของตัวเองว่า “La Leche League” (LLL) หรือแปลตรง ๆ ได้ว่า สันนิบาตแห่งนม ประวัติการก่อตั้งจากเว็บไซต์ของ La Leche League เองเล่าว่า พวกเธอรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรขึ้นในปี 1956 ด้วยความร่วมมือของแม่บ้าน 7 ราย ที่ต้องการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนเรื่องการให้นมแม่กับคนที่สนใจ โดยตั้งต้นมาจาก แมรี ไวต์ (Mary White) และ มาเรียน ทอมป์สัน (Marian Tompson) สองแม่ลูกอ่อนที่มานั่งให้นมลูกจากเต้าตัวเองระหว่างการปิกนิกที่จัดขึ้นโดยโบสถ์แห่งหนึ่งในเขตแฟรงคลินปาร์ก รัฐอิลลินอยส์ แล้วแม่ ๆ รายอื่นก็มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ แล้วก็เห็นพ้องกันถึงความจำเป็นในการผลักดันวาระดังกล่าว ณ ตอนนั้นในแวดวงการแพทย์ยังมิได้ออกมาให้การสนับสนุนการให้นมแม่อย่างเป็นเรื่องเป็นราว พวกเธอจึงเห็นร่วมกันว่า ควรจะต้องมีการรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์และเผยแพร่ให้คำปรึกษาแก่คนที่สนใจในเรื่องการให้นมแม่ เริ่มจากแวดวงเพื่อนฝูงแล้วขยายออกไป มีการจัดประชุมสัมมนาเป็นระยะ  โดยแม่บ้านที่ได้รับการบันทึกว่าเป็นผู้ก่อตั้งสันนิบาตแห่งนี้ นอกจากสองคุณแม่ที่เอ่ยนามไปก่อนแล้วยังประกอบด้วย แมรี แอน เคฮิลล์ (Mary Ann Cahill) เอดวินา ฟรอห์ลิช (Edwina Froehlich) แมรี แอน เคอร์วิน (Mary Ann Kerwin) ไวโอลา เลนนอน (Viola Lennon) และ เบ็ตตี วากเนอร์ (Betty Wagner) การรณรงค์ของ LLL ถือเป็นการสวนกระแสหลัก ที่ในระยะเวลาไล่เลี่ยกันแม่ส่วนใหญ่ในตะวันตกหันไปพึ่งพานมผงสำเร็จรูปมากกว่าการให้นมด้วยตัวเอง เพื่อให้พวกเธอมีโอกาสที่จะได้ผละตัวเองออกจากการอยู่ติดลูกตลอดเวลาได้ สามารถหางานทำได้ แม้จะมีลูกอ่อน จึงมีส่วนทำให้ช่องว่างระหว่างเพศมีระยะย่นย่อลง  แต่การรณรงค์ของ LLL ก็จุดไฟติดได้ในระยะเวลาสั้น ๆ จากข้อมูลของ เอลิซาเบ็ธ บาดองแตร์ (Elisabeth Badinter. The Conflict, How Modern Motherhood Undermines the Status of Women) LLL ได้ออกหนังสือ The Womanly Art of Breastfeeding ในปี 1958 ซึ่งบาดองแตร์บรรยายว่า หนังสือเล่มนี้ได้กลายมาเป็น “ไบเบิลแห่งการให้นมจากเต้า” โดยถึงปี 1990 หนังสือเล่มนี้สามารถขายได้มากกว่า 2 ล้านฉบับ กลุ่มสาขาย่อยขององค์กรทั่วสหรัฐฯ จากที่เคยมีเพียง 43 กลุ่มในปี 1961 ก็เพิ่มขึ้นเป็น 1,260 กลุ่ม ในปี 1971 และเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 3,000 กลุ่มในปี 1976 ส่งผลให้ตัวเลขการให้นมแม่ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 38% ในช่วงปลายทศวรรษ 1940s เป็น 60% ในช่วงกลางทศวรรษ 1980s และไม่เพียงแต่ในประเทศเท่านั้น LLL ยังเผยแพร่อุดมการณ์ออกไปยังต่างประเทศ และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อุดมคติในการเลี้ยงลูกเปลี่ยนไปจากยุคก่อนหน้า สำหรับประเด็นหลักที่ LLL ใช้ในการสนับสนุนทฤษฎีที่ว่า การให้นมแม่คือสิ่งประเสริฐที่สุด บาดองแตร์ได้แยกออกเป็น 4 หัวข้อหลัก ประกอบด้วย  ประการแรก อำนาจทางศีลธรรมตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีโดยกำเนิด เป็นแก่นแกนสาระสำคัญ เป็นนิรันดร์ และไม่อาจโต้แย้งได้ การให้นมแม่ถูกโปรโมตว่าเป็นวิธีการที่เป็นธรรมชาติและเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการทำความเข้าใจและเติมเต็มความต้องการของทารก เป็นการปลุกสัญชาตญาณความเป็นแม่ซึ่งถูกกดทับด้วย ยา วิทยาศาสตร์ ไปจนถึงลัทธิปัจเจกนิยม และลัทธิบริโภคนิยม ประการต่อมาคือการโฆษณาประโยชน์ของการให้นมแม่ทั้งในทางกายภาพและจิตวิทยา ซึ่งเพิ่มมากขึ้นทุก ๆ ปี และมักจะมีงานวิจัยมารองรับ ตัวอย่างเช่น นมแม่เป็นอาหารที่เหมาะที่สุดสำหรับการปรับตัวของระบบขับถ่ายของทารก ตรงต่อความต้องการสำหรับพัฒนาการของทารก ช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ลดภาวะเสี่ยงจากภูมิแพ้ลักษณะต่าง ๆ ช่วยให้แม่ฟื้นตัวจากการคลอดได้เร็วขึ้น และระยะหลังยังมีงานวิจัยที่อ้างประโยชน์ของการให้นมแม่ในเชิงเศรษฐกิจเทียบค่าใช้จ่ายระหว่างการให้นมแม่กับนมผงซึ่งมีค่าใช้จ่ายทั้งนมผง น้ำสะอาด ไฟฟ้า ไปจนถึงค่าใช้จ่ายแฝงอย่างค่ารักษาพยาบาลที่อาจจะตามมาจากการให้นมผง ประการต่อมาคือการเชิดชูสถานะความเป็นแม่ให้สูงส่ง เพราะ LLL ต้องการให้แม่ลูกอ่อนให้ความสำคัญกับการเลี้ยงลูกเป็นอันดับ 1 เพื่อให้พวกเธอสามารถให้นมแม่ได้ตลอดเวลา นั่นแปลว่าการทำงานนอกบ้านแทบเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพื่อให้แม่ลูกอ่อนยอมแลกหน้าที่การงานเพื่อการเลี้ยงลูกเต็มเวลา พวกเขาจึงต้องทำให้เห็นว่า สถานะความเป็นแม่มีความสำคัญกว่าเรื่องเงินหรืองานมาก ในหนังสือ The Womanly Art of Breatfeeding ฉบับปี 1981 ระบุว่า ข้ออ้างเดียวที่บรรดาแม่ลูกอ่อนจะละทิ้งหน้าที่นี้ไปทำงานได้ก็คือ ความบีบคั้นทางการเงินเท่านั้น ผู้นำของกลุ่มซึ่งส่วนใหญ่ไม่ทำงานนอกบ้านอยู่แล้วก็ไม่สนับสนุนให้สมาชิกกลับไปทำงาน ผลก็คือ อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะสูงมากในกลุ่มวิชาชีพพิเศษที่มีรายได้สูง ขณะที่แรงงานโรงงานและพนักงานออฟฟิศจะมีอัตราที่ต่ำกว่า  (ในฉบับที่ตีพิมพ์ภายหลังจึงได้ลดท่าทีที่แข็งกร้าวลง และยอมรับการปั๊มน้ำนมเก็บไว้เพื่อเปิดช่องให้แม่ลูกอ่อนไปทำงานนอกบ้านได้ โดยยังให้นมแม่ได้อยู่) และสุดท้ายก็คือการโปรโมตว่า การอยู่บ้านเลี้ยงลูกของแม่ลูกอ่อนก็นับเป็นหน้าที่สำคัญที่จะมีส่วนต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยชี้ว่า การเลี้ยงลูกด้วยตัวเองส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม การให้นมแม่ถือเป็นพื้นฐานที่สมบูรณ์แบบของสายสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก ทำให้สายใยผูกพันในครอบครัวแน่นแฟ้น และส่งผลต่อเนื่องถึงความสมัครสมานในสังคม ภารกิจการให้นมแม่จึงกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปสังคม โดยทางองค์กรให้สัญญาว่า "แม่ทุกคนที่ให้นมลูกด้วยตัวเองถือเป็นหัวใจหลักของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม" บาดองแตร์ชี้ว่า ด้วยวิธีการแบบนี้ แม่ที่ไม่ได้ให้นมลูกด้วยตัวเองตามเสียงเรียกร้องของ LLL ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะรู้สึกผิด เกรกอรี ไวต์ (Gregory White) สามีของหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งองค์กร ถึงกับเรียกแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมผงว่าเป็นแม่ที่ "พิการ" และในระยะหลังก็มีการผลักดันให้มีการตำหนิหญิงที่ไม่ยอมเลี้ยงลูกด้วยนมตัวเองในระดับเดียวกับแม่ที่สูบบุหรี่หรือดื่มเหล้า เพราะถือว่า แม่เหล่านี้ล้มเหลวต่อการปกป้องลูกตัวเองจากอันตรายที่เกิดจากนมสังเคราะห์ และในยุค 60s ที่มีกระแสเรียกร้องการปฏิรูปสังคมเพื่อความเท่าเทียมระหว่างคนกลุ่มต่าง ๆ และสิทธิสตรีก็ก้าวหน้าไปมาก ขณะเดียวกันเกิดกระแสเสรีชนที่มุ่งแสวงหา "ธรรมชาติ" หรือกลุ่มฮิปปี รวมอยู่ด้วย LLL ก็ไปเป็นพันธมิตรกับกลุ่มฮิปปีที่เชิดชูธรรมชาติเป็นใหญ่และมีพฤติกรรมต่อต้านวิทยาศาสตร์หรือการแพทย์ ด้วยการชี้ว่า การให้นมแม่นี่แหละเป็นธรรมชาติที่สุด ไม่ต้องพึ่งพานมผงที่เกิดจากการ "สังเคราะห์" ซึ่งมีส่วนทำให้องค์กรเป็นที่รู้จักและแพร่หลายยิ่งขึ้น แต่ที่ทำให้ LLL ประสบความสำเร็จยิ่งกว่านั้นคือการได้รับการยอมรับจากชุมชนการแพทย์ที่เห็นด้วยกับวิธีการทางธรรมชาติ ประกอบกับการเผยแพร่ข่าวผลกระทบของนมผงดัดแปลงในประเทศยากจน เนื่องจากการใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่ไม่สะอาด การปราศจากความรู้ด้านสุขอนามัยที่ดีในการดูแลรักษาอุปกรณ์ที่ใช้ในการให้นมเด็ก รวมไปถึงการเก็บนมชงแล้วในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสมจนทำให้นมผงกลายเป็นสารพิษที่ฆ่าเด็กทารก  องค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟจึงเข้ามาทำการสอบสวนปัญหานี้ และทั้งสององค์กรก็กลายมาเป็นพันธมิตรสำคัญของ LLL กระแสสนับสนุนภารกิจขององค์กรจึงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วผ่านการผลักดันขององค์กรที่มีเสียงดังที่สุดในโลกด้านการสาธารณสุขของโลก อย่างไรก็ดี หากตัดเรื่องของอุดมคติที่เป็นนามธรรมออกไป (ความยิ่งใหญ่ของความเป็นแม่, ค่าน้ำนมแม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง) ข้อสนับสนุนว่าด้วยประโยชน์ของการให้นมแม่นั้นถูกตั้งข้อสงสัยไม่น้อยว่า งานวิจัยทั้งหลายแหล่ที่ใช้ในการสนับสนุนเหล่านั้นมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด? เพราะเมื่อมองย้อนกลับไป งานวิจัยส่วนใหญ่เป็นการรวบรวมข้อมูลในเชิง “สังเกตการณ์” เป็นหลัก นักวิจัยมิได้เป็นผู้กำหนดสภาวะแวดล้อม หรือ “ตัวแปร” ที่จะส่งผลกับวัตถุแห่งการวิจัยซึ่งในที่นี้ก็คือ “ทารก” ที่โตด้วยนมแม่หรือนมผง นักวิจัยจึงทำได้เพียงเปรียบเทียบข้อมูลของเด็กที่บังเอิญโตมาด้วยนมแม่ กับเด็กที่บังเอิญโตมาด้วยนมผง เพราะนักวิจัยไม่อาจจับเอาแม่เด็กที่มาจากสภาพแวดล้อมเดียวกัน มีสถานะทางสังคมเหมือนกัน มีสุขภาพร่างกายเหมือน ๆ กันมาแยกว่า ลูกของกลุ่มนี้ให้กินนมแม่ ลูกของอีกกลุ่มให้กินนมผง ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาเรื่องจริยธรรมไปอีก แต่พอนักวิจัยควบคุม “ตัวแปร” ไม่ได้ มันก็เป็นเรื่องยากที่จะชี้ลงไปว่า “ผล” ที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากตัวแปรใดแน่ จะเป็นผลมาจากการกิน “นมแม่” หรือ “นมผง” จริงหรือเปล่า?  เพราะเมื่อสำรวจลงไปก็จะพบว่า เด็กที่ได้กินนมแม่มักจะเป็นลูกของแม่ที่มีความเพียบพร้อมอยู่แล้ว มีการศึกษาสูง มีพื้นฐานครอบครัวดี และมีฐานะดี เห็นได้จากผลสำรวจในปี 2013 ของฟลอริดา ที่พบว่า แม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเองมักมีอายุเกินกว่า 25 ปี ผิวขาว มีคู่สมรส (คือไม่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว) จบการศึกษาสูงกว่ามัธยมปลาย ครอบครัวมีรายได้รวมเกินกว่า 44,000 ดอลลาร์  (Florida Health และเมื่อนักวิจัยพยายามควบคุมตัวแปรให้จำกัดมากที่สุด ความแตกต่างในพัฒนาการต่าง ๆ ของเด็กที่โตด้วยนมแม่และนมผงก็ไม่ได้แตกต่างกันอย่างที่คิด ทั้งนี้เป็นผลสรุปจากงานวิจัยของ ซินเธีย โคเลน (Cynthia Colen) และเดวิด แรมี (David Ramey) จาก Ohio State University ที่วิเคราะห์ข้อมูลความแตกต่างระหว่างเด็กที่โตด้วยนมแม่กับนมผง ของเด็กอายุ 4 ถึง 14 ปี ปรากฏว่าเด็กที่โตด้วยนมแม่ทำได้ดีกว่าในตัวชี้วัดคุณภาพ 10 ถึง 11 ตัว แต่เมื่อสองนักวิจัย จำกัดวงการวิเคราะห์ลงไปที่เด็กซึ่งเป็น "พี่น้อง" กัน (ซึ่งย่อมโตภายใต้สภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงกันที่สุด) แต่คนหนึ่งโตด้วยนมผงอีกคนโตด้วยนมแม่ ความแตกต่างที่มีก็น้อยมากจนแทบไม่มีคุณค่าในเชิงสถิติ (Science Direct)   การรณรงค์ส่งเสริมให้ผู้หญิงให้นมลูกด้วยตนเองจึงเป็นเรื่องที่มีปัญหาบางอย่างหลบซ่อนอยู่ข้างใน แต่มีคนพูดถึงค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะตัวผู้หญิงเองที่ไม่กล้าออกตัวแรงเนื่องจากกลัวว่าจะถูกมองว่าเป็นแม่ที่ไม่ดี "ทำไมถึงไม่ยอมให้นมลูก?" เพราะการให้นมลูกได้ถูกเชิดชูจนเป็นเหมือนพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์เลี่ยงไม่ได้ จนมีสภาพเป็นการบังคับเชิงศีลธรรมให้ผู้หญิงต้องปฏิบัติตาม แม้ว่าข้อดีของมันอาจจะไม่ได้ดีจริงอย่างที่กล่าวอ้าง และทางเลือกอย่างนมผงก็อาจจะไม่ใช่ปีศาจร้ายอย่างที่ถูกโจมตี  แต่แน่นอนว่า ปัญหานมผงคุณภาพต่ำหรือแม้กระทั่งนมปลอมมีอยู่จริง โดยเฉพาะในประเทศรายได้ต่ำ ที่ระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐานยังแย่ ปัญหาความรู้เรื่องสุขอนามัยต่ำ ไม่รู้จักการถนอมรักษาอาหารที่ถูกต้อง เมื่อปัญหาเหล่านี้ผสมโรงเข้าด้วยกันย่อมทำให้เด็กที่ถูกเลี้ยงด้วยนมผงมีความเสี่ยงสูงกว่าการดื่มนมแม่มาก นมแม่จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าอย่างไม่ต้องสงสัย หากแม่และเด็กตกอยู่ในสภาวะเช่นนั้น แต่หากแม่และเด็กไม่ได้ตกอยู่ในสภาวะดังกล่าว การเลือกให้นมเด็กก็ควรเป็นสิ่งที่แม่เลือกเองตามเงื่อนไขที่อำนวยโดยไม่ต้องตกอยู่ใต้อำนาจครอบงำเชิงศีลธรรมที่เคลือบผิวหน้าด้วยงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งหลายชิ้นยังมีปัญหาเรื่องการตีความอยู่