จุดเริ่มต้นของตำนานบีบ็อพ
ต้นปี ค.ศ. 1945 ไนท์คลับชื่อ ธรี ดุยเซส (Three Deuces) บนถนนสายที่ 52 เชื้อเชิญให้ ดิซซี กิลเลสปี ฟอร์มวงควินเทท (5 ชิ้น) ไปเล่นที่นั่น เพื่อเป็นตัวแทนของวงดนตรีรุ่นใหม่ เขาคิดถึง ชาร์ลี พาร์คเกอร์ เป็นคนแรก ตามด้วยนักเปียโน บัด พาวล์ (Bud Powell) มือเบส เคอร์ลีย์ รัสเซลล์ (Curley Russell) และ มือกลอง แม็กซ์ โรช (Max Roach)
อย่างไรก็ตาม บัด และ แม็กซ์ ไม่ว่างมาร่วมงาน ดังนั้น ดิซซี จึงได้นักดนตรีผิวขาวรุ่นใหม่มาแทนที่ ประกอบด้วย อัล เฮก (Al Haig) และ สแตน เลวี (Stan Levey) ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ ไม่ถึงกับน่าผิดหวังนัก
ระยะนี้ เบิร์ด และ ดิซซี ได้อัดเสียงด้วยกันในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1945 กับสังกัด กิลด์ ซึ่งแม้จะมีข้อจำกัดด้วยศักยภาพของภาคริธึ่มเซคชั่นที่มาจากวงสวิงแบบรุ่นเก่า ทำให้ไม่กลมกลืนกับแนวทางการโซโล่ของ เบิร์ด และ ดิซซี นัก แต่เพลงอย่าง Groovin’ High และ Dizzy Atmosphere ก็จัดเป็นคำประกาศของเพลงแจ๊สรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม เซสชั่นการบันทึกเสียงถัดมาในเดือนพฤษภาคมนับว่าดีขึ้นกว่าเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อได้ อัล เฮก และ เคอร์ลีย์ รัสเซลล์ มาแทนที่ พวกเขาอัดเพลง Hot House เพลงแต่งของ แทดด์ ดาเมรอน บนสเกลโครเมติค ที่เลื่อนไหลไปบนทางเดินคอร์ดของเพลง What Is This Thing Called Love และเพลงจากบทประพันธ์ของ ดิซซี 2 เพลง คือ Shaw Nuff และ Salt Peanuts
บทเพลงเหล่านี้กลายมาเป็นผลงานระดับคลาสสิก เสมือนหนึ่งประตูที่เปิดสู่ยุคสมัยใหม่ของแจ๊สอย่างไม่ต้องสงสัย
ระหว่างงานแสดงประจำที่ ธรี ดุยเซส ดิซซี ในฐานะนายวงต้องประสบกับความเศร้าใจและคับข้องใจมาก ต่อพฤติกรรมเสพติดยาของ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะบั่นทอนความรับผิดชอบต่ออาชีพมากขึ้นทุกที
ระยะนี้ เบิร์ด มาทำงานสาย บางครั้งก็หายไปตลอดทั้งคืน ดังนั้น ในคืนหนึ่ง ภายในห้องแต่งตัว ขณะที่ ดิซซี และเพื่อน ๆ ในวง ตั้งใจบอกกล่าวแก่ เบิร์ด ว่าปัญหาของเขากำลังหนักหนาเกินจะเยียวยา ทว่า นักอัลโต แซ็กโซโฟน ได้สร้างความประหลาดใจให้แก่ทุกคนเมื่อเขาตอบว่า บางทีพระเจ้าอาจไม่ได้ส่งเขามาเป็นนักดนตรีโดยตรง แต่เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่คนอื่น ๆ ได้ตระหนักว่า ยาเสพติดนั้นเลวร้ายขนาดไหน
เดือนกรกฎาคม ความอดกลั้นของ ดิซซี กิลเลสปี สิ้นสุดลง เขาประกาศยุบวงดนตรี
[caption id="attachment_15877" align="aligncenter" width="1200"]
ดิซซี กิลเลสปี มือทรัมเป็ตที่ร่วมสร้างตำนาน “บีบ็อพ” กับชาร์ลี พาร์คเกอร์[/caption]
มีงานบันทึกเสียงในปี ค.ศ. 1945 อยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งทั้ง ชาร์ลี พาร์คเกอร์ และ ดิซซี กิลเลสปี มีบทบาทจำกัดอยู่ในฐานะนักดนตรีสนับสนุน คราวหนึ่งจัดเป็นผลงานชั้นดี ส่วนอีกคราวหนึ่งเป็นที่กล่าวขานกันอย่างตลกครื้นเครง
เรื่องหลังมีอยู่ว่า นักแสดงตลกคนหนึ่งนาม เฮนรี ‘รับเบอร์เล็กจ์ส’ วิลเลียมส์ ซึ่งมีชื่อเสียงอยู่ในฐานะนักแสดงละครเร่ ประสงค์จะอัดแผ่นในฐานะนักร้องเพลงบลูส์ แต่ก่อนการร้องจะเริ่มขึ้น เฮนรี บังเอิญไปซดกาแฟของ เบิร์ด เข้า โดยเข้าใจว่าเป็นถ้วยของตัวเอง
ผลปรากฏว่า เฮนรี หงายหลังอย่างจัง เพราะกาแฟถ้วยนั้น เบิร์ดผสม ‘เบนเซดรีน’ ลงไปด้วย (Benzedrine-ชื่อยี่ห้อของสารเสพติดในตระกูลแอมฟิตามีน) เพื่อใช้กระตุ้นประสาทตัวเองให้ตื่นตัว แต่สำหรับ เฮนรี ที่ไม่คุ้นเคยกับโอสถดุดันที่ว่า กาแฟถ้วยนั้นทำให้การร้องเพลงอันกระฉับกระเฉงของเขา แปรเปลี่ยนเป็นประหนึ่งการร้องเพลงของคนเมา
ส่วนการบันทึกเสียงอีกครั้งหนึ่ง นำโดย เร็ด นอร์โว (Red Norvo) นักไวบราโฟนผิวขาวที่มีชื่อเสียง ซึ่งได้เชื้อเชิญ เบิร์ด และ ดิซซี ร่วมอัดแผ่นกับวงสวิงของเขา โดยใช้ชื่อว่า เร็ด นอร์โว แอนด์ ฮิส เซเลคเตด เซ็กซ์เทท (Red Norvo and His Selected Sextet)
เพลงเด่นในเซสชั่นนี้ ซึ่ง เบิร์ด โซโล่ได้อย่างพริ้งพราว คือ Slam Slam Blues มีโครงสร้างเป็นเพลงสโลว์บลูส์ 12 ห้อง โดยชื่อเพลงมีที่มาจากชื่อของมือเบสนาม สแลม สจ๊วร์ท
ต่อมา ในช่วงปลายปี ค.ศ. 1945 สังกัด ซาวอย ได้ทาบทาม ชาร์ลี พาร์คเกอร์ โดยเปิดโอกาสให้เขาบันทึกเสียงภายใต้ชื่อของตัวเองเป็นครั้งแรก กำหนดฤกษ์จองสตูดิโอไว้ในวันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1945
[caption id="attachment_15973" align="aligncenter" width="1200"]
ไมล์ส เดวิส[/caption]
เบิร์ด วางตัว ไมล์ส เดวิส เด็กหนุ่มจากเมืองเซนต์หลุยส์ ซึ่งติดตามนักดนตรีในดวงใจของเขาที่นิวยอร์ก ให้มาเล่นทรัมเป็ตแทนที่ ดิซซี ซึ่งกำลังเตรียมตัวทำทัวร์บิ๊กแบนด์ สำหรับมือเปียโนในการบันทึกเสียงครั้งนี้คือ บัด พาวล์ โดยมี เคอร์ลีย์ รัสเซลล์ เล่นเบส และ แม็กซ์ โรช ตีกลอง
เท็ดดี เร็กจ์ เป็นบุคลากรของสังกัด ซาวอย ที่ดูแลงานบันทึกเสียงในครั้งนี้ เขาจัดเตรียมทุก ๆ อย่างให้พร้อม เพราะมุ่งหวังให้งานดำเนินไปด้วยดี ตั้งแต่เดินทางไปถึงย่านฮาร์เล็มก่อนเวลาอัดจริงหลายชั่วโมง เพื่อเตือนให้ทุกคนรับรู้ถึงหน้าที่ของตัวเอง
ทว่า ร่องรอยความยุ่งยากเริ่มต้นขึ้นแต่เนิ่น ๆ เมื่อไร้เงาของ บัด พาวล์ ในเวลาที่กำหนด ยามหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้ เบิร์ด ประกาศให้ ดิซซี มาเล่นเปียโนแทนที่ ส่วน เท็ดดี ซึ่งตื่นตกใจไม่น้อย รีบแก้ปัญหานี้ด้วยการชักชวนนักเปียโนแบ็คอัพ อาร์กอนน์ ธอร์นตัน หรือที่รู้จักกันในนาม ซาดิก ฮาคิม มาขัดตาทัพ
ตามข้อตกลงกับสังกัด ซาวอย เบิร์ด จะอัดเพลงที่เขาแต่งขึ้นใหม่ 4 เพลง แต่เขาแทบจะไม่มีโน้ตเพลงใด ๆ ให้เห็นจนเมื่อถึงวันบันทึกเสียง ไม่เพียงเท่านั้น บรรยากาศในสตูดิโอช่างโกลาหลยิ่งนัก เพราะมีผู้ไม่เกี่ยวข้องมาข้องแวะอยู่หลายคน มีบันทึกไว้ว่าในจำนวนนี้ คือพวกเร่ขายยาเสพติด
แต่จากวัตถุดิบที่ทางห้องอัดได้บันทึกไว้ และต้นสังกัด ซาวอย ได้นำออกมาเผยแพร่ ภายหลังการเสียชีวิตของ เบิร์ด ทำให้เราทราบถึงเสียงดนตรีโดยภาพรวมที่คลี่คลายออกมาอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ มีทั้งการเริ่มต้นเล่นผิด ตลอดจนเทคของเพลงต่าง ๆ ที่ไม่สมบูรณ์หรือไม่ได้ตัดเป็นแผ่นออกขาย
เพลงแรกในเซสชั่นนี้คือเพลงบลูส์ 12 ห้องในคีย์เอฟ ชื่อ Billie’s Bounce ซึ่ง เบิร์ด แต่งได้อย่างเข้มข้นถึงรส แต่เมื่อ เบิร์ด บรรเลงโซโล่ผ่านแซ็กโซโฟนของเขา ปรากฏว่ามีเสียงเอี๊ยดอ๊าดรบกวนตลอด หลังจากผ่านไป 3 เทค เบิร์ด ตัดสินใจไม่เล่นจนกว่าจะแก้ปัญหาเมาธ์พีซที่ใช้กับแซ็กโซโฟนของเขาให้ได้เสียก่อน คนเดือดร้อนที่สุดหนีไม่พ้น เท็ดดี เร็กจ์ ซึ่งตัดสินใจพา เบิร์ด ไปร้านซ่อมแซ็กทันที
เมื่อกลับมาสตูดิโออีกครั้ง ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ทดสอบแซ็กโซโฟนของเขา โดยระหว่างนั้น ซาวนด์เอ็นจิเนียร์ของสังกัด ซาวอย ได้บันทึกเก็บไว้ด้วย ซึ่งกลายมาเป็นเพลง Warming Up A Riff โดยเพลงนี้ จังหวะดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ริธึ่มเซคชั่นตอบรับกันอย่างแน่นเหนียว ดิซซี วางทางเดินคอร์ดของเพลง Cherokee ผ่านเปียโน และเบิร์ดบรรเลงอย่างล่องลอยราวกับติดปีก
อารมณ์ของเพลงนี้สุกงอมขึ้นเรื่อย ๆ จน ดิซซี หัวเราะออกมาอย่างชอบใจ จากนั้น เบิร์ด หยุดเล่น แล้วประกาศว่าเมาธ์พีซของเขาโอเคแล้ว
ชาร์ลี พาร์คเกอร์ เล่นเพลง Billie’s Bounce อีก 2 เทคกว่าเขาจะพอใจ จากนั้นมาถึงเพลงสโลว์บลูส์ 12 ห้องในคีย์เอฟเช่นกัน ซึ่งตัวธีมของเพลง มีริฟฟ์ซ้ำ ๆ อย่างเรียบง่าย ใช้ชื่อเพลงว่า Now’s The Time ดิซซี บรรเลงอินโทรเปียโนได้ลึกถึงกรู้ฟของเพลง ขณะที่ ไมล์ เดวิส ทำหน้าที่กึ่ง ๆ วิตกกังวล ในเพลงนี้ มีการเริ่มต้นผิดคิว และมีเทคเต็ม ๆ ตามมา 2 เทค แต่ถือเป็นตัวอย่างเพลงที่ เบิร์ด บรรเลงสำเนียงบลูส์ได้อย่างถึงอรรถรส
เพลงที่ 3 เดิมนั้นทางสังกัด ซาวอย ใช้ชื่อว่า Thriving on a Riff บรรเลงเมโลดีบนทางเดินคอร์ดของเพลง I Got Thythm ต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อ Anthropology ภายใต้เครดิตของ เบิร์ด และ ดิซซี ในฐานะนักแต่งเพลง ทั้งที่ตอนอัดเพลงนี้ ดิซซี ได้ยกตำแหน่งเปียโนให้แก่ อาร์กอนน์ ธอร์นตัน แล้วก็ตาม
ก่อนอัดเพลงที่ 4 เบิร์ด เริ่มรำคาญกับแซ็กโซโฟนของเขาอีกครั้ง ระหว่างทดสอบและปรับแต่งแซ็ก มีการบันทึกอย่างไม่เป็นทางการไว้ด้วย ในคราวนี้ เบิร์ด อิมโพรไวส์ไปบนทางเดินคอร์ดของเพลง Embraceable You ซึ่งแต่งโดย จอร์จ เกิร์ชวิน ต่อมา ซาวอย นำมาเผยแพร่ภายใต้ชื่อ Meandering
เมื่อมาถึงเพลงที่ 4 พวกเขากำหนดทางเดินคอร์ด (Chord Progression หรือ Chord Sequence) ไว้ที่เพลง Cherokee ด้วยอัตราจังหวะที่เร่งเร้าถึง 300 bpm (300 ครั้งต่อนาที) เพื่อให้งานลุล่วงง่ายขึ้น ดิซซี เปลี่ยนจากเปียโนมาเล่นทรัมเป็ต แทน ไมล์ส เดวิส
แม็กซ์ โรช เปิดเข้าเพลงอย่างดุเดือด เบิร์ด และ ดิซซี บรรเลงร่วมกัน โดยปล่อยให้เบสหยุดนิ่ง อย่างไรก็ตาม ในเทคแรก ทั้งคู่เผลอเล่นเมโลดีของเพลง Cherokee (แต่งโดย เรย์ โนเบิล) ซึ่งทำให้ เท็ดดี เร็กจ์ ซึ่งทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์แทนเจ้านาย (เฮอร์มาน ลูบินสกี) ต้องเป่าปาก ร้องเสียงดังลั่นให้หยุดก่อน เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์เพลงดังกล่าว
ในเทคต่อมา เริ่มต้นด้วยโซโล่ของ เบิร์ด ตามด้วยการบรรเลงของ ดิซซี จาก ทรัมเป็ต ไปสู่เปียโน แล้วกลับมาสู่โซโล่ของ เบิร์ด ความยาว 2 คอรัส ซึ่งเป็นไปอย่างหมดจดงดงาม จากนั้น แม็กซ์ โรช ได้โอกาสโซโล่กลองสั้น ๆ เพื่อให้ ดิซซี และ เบิร์ด บรรเลงอย่างพริ้วไหวปิดท้าย โดยเพลงความยาว 2.50 นาทีเพลงนี้ มีชื่อว่า Koko (กรุณาอย่าสับสน เพราะเป็นคนละเพลงกับเพลง Ko-Ko ของ ดุ๊ก เอลลิงตัน)
การบันทึกเสียงของ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ กับสังกัด ซาวอย ณ วัย 25 ปี ไม่ได้เป็นเพียงผลงานธรรมดาของนักดนตรีหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งบรรลุวุฒิภาวะทางดนตรีอย่างเต็มเปี่ยมเท่านั้น หากนี่คือผลงานประวัติศาสตร์ที่พลิกโฉมหน้าให้ดนตรีแจ๊สแตกต่างไปจากเดิม ท่ามกลางปัญหาสารพันที่เกิดขึ้น เช่น ข้อจำกัดของแซ็กโซโฟนที่สร้างความรำคาญใจให้ระหว่างการบรรเลง แต่ เบิร์ด สามารถก้าวไปเหนืออุปสรรคนี้ได้อย่างเด่นชัด
ในอีกด้านหนึ่ง มีการวิเคราะห์ไว้ว่า เบิร์ด บรรเลงได้อย่างยิ่งใหญ่ในบริบทอันเลื่อนไหลและเป็นอิสระนี้ เพราะการสนับสนุนในภาคริธึ่มเซคชั่น โดย แม็กซ์ โรช ซึ่งถือเป็นมือกลองคู่บุญของนักอัลโต แซ็กโซโฟน คนนี้ในช่วงอายุขัยสั้น ๆ ของเขา
....................
ปลายปี ค.ศ. 1945 เบิร์ด ร่วมงานกับ ดิซซี กิลเลสปี เพื่อทำวงขนาดเล็กอีกครั้ง หลังจาก ดิซซี ไม่ประสบความสำเร็จในการทำวงบิ๊กแบนด์เท่าที่ควร ภายใต้การติดต่อธุรกิจของ บิลลี ชอว์ (Billy Shaw) ซึ่งเป็นเอเย่นต์ส่วนตัวของ ดิซซี พวกเขาเดินทางจากนิวยอร์ก ซิตี้ ข้ามไปฝั่งตะวันตก เพื่อเล่นในไนท์คลับของ บิลลี เบิร์ก ที่ฮอลลีวูด โดยมีกำหนดแสดง 8 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม ในกรณีของ เบิร์ด เวลา 8 สัปดาห์ กลับยืดเยื้อยาวนานถึง 16 เดือน พร้อมด้วยประสบการณ์ชีวิตอันน่าขมขื่นไม่น้อย
วงเซ็กซ์เทท (Sextet 6 ชิ้น) ของ ดิซซี มีนักดนตรีรุ่นใหม่ไฟแรงหลายคนเข้าร่วมวง อาทิ มิลท์ แจ็คสัน, เรย์ บราวน์ แต่อุปสรรคที่ส่อเค้าแต่แรกเริ่ม เห็นทีจะเป็นพฤติกรรมติดยาของ เบิร์ด ซึ่งบ่งบอกถึงความไม่น่าไว้วางใจในการทำงานนัก
สแตน เลวี (Stan Levey) มือกลองในทริปนี้ ย้อนระลึกถึงความเคร่งเครียดของทริปการเดินทางไปแคลิฟอร์เนียในครั้งนั้น ในหนังสือ Dizzy : To Be Or not To Bop ว่า
“ชาร์ลีป่วยจริง ๆ เขาถูกลากไปด้วย แต่ความสามารถของเขา พรสวรรค์ของเขา เหมือนมีขึ้นสำหรับอะไรก็ได้ ดังนั้น ท่าทีของ ดิซซี ที่มีต่อ ชาร์ลี เป็นไปในทำนองว่า เอาล่ะ ! พวกเรามีเด็กที่มีความสามารถสุดยอดคนหนึ่งอยู่ด้วย ดิซซี หิวกระหายที่จะประสบความสำเร็จ ขณะที่ ชาร์ลี มีชีวิตอยู่เพื่อยา นั่นจึงเป็นเรื่องที่มีปัญหา”
[caption id="attachment_15901" align="aligncenter" width="318"]
หนังสือ Dizzy : To Be or Not To Bop (ภาพจาก
https://www.goodreads.com/book/show/1091223.to_Be_or_not_to_Bop)[/caption]
ในวันเปิดตัว 10 ธันวาคม ค.ศ. 1945 แฟนเพลงที่รู้จักนักดนตรีรุ่นใหม่เหล่านี้ ต่างเดินทางมาชมเพื่อให้กำลังใจ แต่คนกลุ่มนี้มีน้อยเกินกว่าจะสับเปลี่ยนมาชมได้ตลอด ขณะที่แฟนประจำร้านของ บิลลี เบิร์ก กลับไม่ชื่นชอบดนตรีรูปแบบใหม่นี้นัก บิลลี เบิร์ก เจ้าของร้านออกโรงตำหนิว่า เบิร์ด เล่นน้อยเกินไป และต้องการให้มีนักแซ็กโซโฟนเพิ่มเติม
ในที่สุด ดิซซี ตัดสินใจจ้าง ลัคกี ธอมป์สัน นักเทเนอร์ แซ็กโซโฟน มาทดแทน เบิร์ด แต่นั่นยังไม่เพียงพอต่อเสียงเรียกร้องของ บิลลี เบิร์ก ที่ต้องให้เพลงที่เล่น (repertoire) กระเดียดไปเชิงพาณิชย์มากขึ้น เขาอยากให้มีนักร้อง ซึ่งอาจจะเป็นนักดนตรีในวงร้องกันเองก็ได้ ดิซซี ไม่พอใจในข้อเสนอนี้นัก แต่ เบิร์ด กลับเห็นด้วย ทางออกของเรื่องนี้ ทางวงจึงปล่อยให้ เรย์ บราวน์ มือเบส จัดการเรียบเรียงเพลงจำนวนหนึ่งสำหรับเสียงร้องขึ้นมา
ระหว่างนี้ มีอยู่ครั้งหนึ่ง พวกเขาได้ไปเล่นออกอากาศในรายการ Jubilee ผ่านคลื่นวิทยุของกองทัพอากาศสหรัฐฯ จากการค้นพบเทปบันทึกเสียงครั้งนั้น ในอีก 30 ปีต่อมา ตัวอย่างเพลงที่บรรเลง อาทิ Shaw ‘ Nuff, Groovin’ High และ Dizzy Atmosphere เป็นหลักฐานชั้นดีว่า ซาวนด์ที่พวกเขาเคยบรรเลงที่ “เดอะ ธรี ดุยเซส” (ซึ่งไม่มีการบันทึกเสียงในช่วงการประท้วงของสหภาพนักดนตรี) มีความล้ำหน้าเพียงใด เพราะงานบันทึกเสียงเพลงชุดเดียวกันที่ออกกับสังกัด “กิลด์” ก่อนหน้านั้น ยังมีข้อจำกัดในความสามารถและสไตล์ของนักดนตรีที่เล่นในภาคริธึ่มเซคชั่น
วันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 1946 เบิร์ด กับ ดิซซี มีงานเล่นให้แก่คอนเสิร์ต “แจ๊ส แอท เดอะ ฟิลฮาร์มอนิก” (Jazz At The Philharmonic-JATP) ซึ่งจัดโดย นอร์แมน แกรนซ์ (Norman Granz) โปรดิวเซอร์ชื่อดัง ซึ่งต่อมาคือผู้ก่อตั้งสังกัด เวิร์ฟ (Verve)
เนื่องจากทางวงติดบรรเลงประจำที่คลับของ บิลลี เบิร์ก ดังนั้น นอร์แมน โปรโมเตอร์ของงานจึงสรุปให้พวกเขาเล่นเฉพาะในครึ่งแรก อย่างไรก็ตาม เบิร์ด มาเล่นไม่ทันตามกำหนด เพราะมัวแต่หาซื้อยาเสพติดอยู่ในเมือง กว่าจะมาถึงก็เป็นช่วงพักการแสดงแล้ว
เมื่อ ดิซซี และวงกลับไปเล่นที่ร้านประจำ เบิร์ด ได้ขึ้นเวทีในครึ่งหลัง เขาบรรเลงโซโล่ในเพลง Lady Be Good ด้วยสำเนียงบลูส์ ซึ่งมีการบันทึกเสียงไว้ด้วย การบรรเลงของเบิร์ดในคืนนั้น สร้างความประจักษ์ให้แก่นักดนตรีด้วยกัน และนับเป็นตัวอย่างชั้นดีของการนำเพลงสแตนดาร์ดมาบรรเลงในสไตล์ของเบิร์ด
สัญญาที่ทางวงเซ็กซ์เทท ทำไว้กับคลับของ บิลลี เบิร์ก มีกำหนดสิ้นสุดลงในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ วันรุ่งขึ้น รอสส์ รัสเซลล์ (Ross Russell) ซึ่งเป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียง “เทมโป มิวสิค ช็อพ” ในฮอลลีวูด และใฝ่ฝันจะเป็นโปรดิวเซอร์ โดยได้ลงทุนตั้งบริษัทค่ายเพลง “ไดอัล” (Dial Label) ขึ้นมา ได้พยายามทาบทาม ดิซซี, เบิร์ด และ เลสเตอร์ ยัง ให้มาบันทึกเสียงด้วยกันเป็นงานแรก
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการรอคอยของเหล่านักดนตรีในสตูดิโอ เลสเตอร์ไม่มาปรากฏตัว คืนนั้น เบิร์ด ซ้อมเพลงบนทางเดินคอร์ด Lover โดยมี จอร์จ แฮนดี เล่นเปียโน ซึ่งต่อมาผลิตออกขายในชื่อ Diggin’ Diz
รัสเซลล์ ยังไม่ลดละความพยายาม เขานัดหมายให้ เลสเตอร์ มาเข้าสตูดิโออีกครั้ง ในคืนถัด ๆ มา แต่ปรากฏว่า ไม่เพียง เลสเตอร์ เท่านั้น หากยังมี เบิร์ด รวมอยู่ในรายชื่อของนักดนตรีที่หายหน้าไปด้วย
ดิซซี และวง มีแผนกลับนิวยอร์ก ซิตี้ เมื่อสัญญาจ้างงานสิ้นสุด ยกเว้น ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ซึ่งยังใช้ชีวิตอยู่ที่แคลิฟอร์เนียต่อไป
เมื่อมีคนถามว่า เหตุใด ดิซซี ถึงทิ้ง เบิร์ด ไว้ที่นั่น คำตอบของเขาก็คือ
“...ผมไม่ได้ทิ้งเขานะ ผมจ่ายค่าเดินทางให้เขาแล้ว เขาใช้มันและอยู่ต่อที่นั่น...”
ทางด้าน มือกลอง สแตน เลวีย์ เล่ารายละเอียดว่า
“เมื่อถึงเวลาที่วงต้องออกเดินทาง ผมมีตั๋วเครื่องบินให้กับทุก ๆ คน แต่ เบิร์ด หายไป คืนนั้นผมใช้เวลา 2 ชั่วโมงนั่งแท็กซี่ตามหาเขาทั่วเมือง ไม่มีแม้แต่เงา ผมคิดว่าตัวเองได้จ่ายค่าแท็กซี่ไปราว 20 เหรียญ ในที่สุด ผมหยุดตามหา จับรถไปสนามบินเบอร์แบงก์ และขึ้นเครื่องไปนิวยอร์ก เบิร์ด ไม่ได้ขึ้นเครื่องในครั้งนั้น”
[caption id="attachment_15976" align="aligncenter" width="640"]
ชาร์ลี พาร์คเกอร์[/caption]
ชีวิตที่ลอสแอนเจลิส
ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อยู่พำนักต่อที่เมืองลอสแอนเจลิส โดยได้งานเล่นประจำที่ “ฟินาเล คลับ” ทำให้ไนท์คลับซึ่งไม่เคยมีเสน่ห์ดึงดูดใจแห่งนี้ ได้กลายเป็นนครเมกกะของเหล่านักดนตรีแจ๊สรุ่นเยาว์ทางชายฝั่งตะวันตกไปโดยปริยาย
แม้กระทั่ง ไมล์ส เดวิส ยังเดินทางมาพร้อมกับวงของ เบนนี คาร์เตอร์ และหาโอกาสเล่นประจำที่นี่ในที่สุด ส่วนนักดนตรีอีกคนที่ชื่นชอบ เบิร์ด อย่างแรงกล้า คือมือเบส นาม ชาร์ลส์ มิงกัส (Charles Mingus)
รอสส์ รัสเซลล์ เป็นอีกคนหนึ่งที่ติดตาม เบิร์ด มาโดยตลอด ภายหลังจากงานอัดเสียง Diggin’ Diz เขาพยายามชักชวนให้ เบิร์ด เซ็นสัญญาอยู่กับ “ไดอัล” สังกัดตั้งใหม่ของเขาเป็นเวลา 1 ปี แน่นอนทีเดียวว่า เบิร์ด ตอบตกลงพร้อมด้วยความฝันที่จะมีบ้านสักหลังทางฝั่งเวสต์ โคสต์ ภายในบ้านมีสระว่ายน้ำ และห้องสมุดดนตรี เหมือนอย่างที่ สตราวินสกี และ อาร์โนลด์ เชินแบร์ก นักประพันธ์ดนตรีคลาสสิก มีในเวลานั้น
วันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 1946 หลังจาก ดิซซี กิลเลสปี เดินทางกลับนิวยอร์กร่วม 2 เดือน เบิร์ด เดินเข้าห้องอัดครั้งประวัติศาสตร์ ให้แก่สังกัด “ไดอัล” โดยมี ไมล์ส เดวิส ในตำแหน่งทรัมเป็ต, ลัคกี ธอมป์สัน ตำแหน่งเทเนอร์ แซ็กโซโฟน และภาคริธึ่มเซคชั่นจากวงซึ่งเล่นประจำที่ “ฟินาเล คลับ”
เพลงแรกที่พวกเขาบันทึกเสียงคือ Moose the Mooche ซึ่งเบิร์ดแต่งให้แก่ชายคนหนึ่งซึ่งช่วยเหลือในการสรรหาเฮโรอีนมาให้เขาเสพ เพลงต่อมาคือ Yardbird Suite (เบิร์ดตั้งชื่อเพลงนี้จากความประทับใจที่มีต่อบทประพันธ์ Firebird ของ สตราวินสกี) และ Ornithology ก่อนจะปิดท้ายด้วย A Night In Tunisia งานเพลงของ ดิซซี กิลเลสปี
เป็นที่เข้าใจกันว่า เบิร์ด รู้จักคุ้นเคยกับเพลงฮิตเพลงนี้ของ ดิซซี มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1942 เมื่อเขาเป็นสมาชิกในวงดนตรีของ เอิร์ล ไฮน์ส รวมถึงเพลงนี้น่าจะบรรจุอยู่ในโปรแกรมการแสดงที่ไนท์คลับของ บิลลี เบิร์ก ด้วย แต่เหตุผลการนำเพลงนี้มาบันทึกเสียง อาจจะมาจากเวอร์ชันของ ดิซซี ซึ่งอัดเสร็จที่นิวยอร์ก และเพิ่งออกวางขายใหม่ ๆ ในระยะนั้น
ชาร์ลี พาร์คเกอร์ บรรเลงเพลงนี้ตามแนวเรียบเรียงของ ดิซซี อย่างใกล้ชิด แต่ความแตกต่างอยู่ตรงช่วงโซโล่ ในเวอร์ชันของ ดิซซี เขาโซโล่ทรัมเป็ตเปลือย ๆ โดยไม่มีเครื่องดนตรีใดแบ็คอัพ ด้วยความยาว 2 ห้อง ขณะที่ เบิร์ด โซโล่ด้วยอัลโต แซ็กโซโฟน ความยาว 4 ห้อง ซึ่งได้รับการยกย่องว่ามีความไพเราะอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ภาคริธึ่มเซคชั่นที่บรรเลงยังไม่พร้อมนัก ดังนั้น พวกเขาต้องบรรเลงกันถึง 5 เทค โดยเทคที่ 1 เบิร์ด โซโล่ได้อย่างสุดยอด แต่เวอร์ชันที่ตัดเป็นแผ่นออกขายคือเทคที่ 5
ด้วยความเด่นดังของเพลง A Night In Tunisia ในเวลาต่อมา ดิซซี และ เบิร์ด ตัดสินใจเลือกเพลงนี้สำหรับการบรรเลงปิดท้ายโชว์ ทุกครั้งที่ทั้งคู่อยู่ด้วยกันบนเวที ไม่ว่าจะเป็นเวทีไหนก็ตาม
[caption id="attachment_15907" align="aligncenter" width="640"]
ชาร์ลี พาร์คเกอร์[/caption]
1 เดือน หลังจากเซสชั่นดังกล่าว รอสส์ รัสเซลล์ ได้รับจดหมาย 2 ฉบับ ฉบับแรกเซ็นกำกับโดย ชาร์ลี พาร์คเกอร์ และตีตราโดยเจ้าพนักงาน ระบุให้ รอสส์ จ่ายค่าลอยัลตีครึ่งหนึ่งของชาร์ลี แก่ อีเมอรี เบิร์ด (Emery Byrd) ส่วนจดหมายอีกฉบับหนึ่งที่ติดตามมา เขียนโดย อีเมอรี เอง ด้วยคำแนะนำว่า ผลประโยชน์ต่าง ๆ ของ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ นั้น ให้ รอสส์ นำส่งแก่เขาตามที่อยู่ใหม่ นั่นคือ เรือนจำซานเควนติน
การที่ อีเมอรี เบิร์ด ถูกจับกุม นับเป็นเสมือนฝันร้ายของ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ทีเดียว เมื่อหาเฮโรอีนเสพไม่ได้ เขาทดแทนด้วยการดื่มแอลกอฮอล์ และด้วยสภาพขาดแคลนเงินทอง เบิร์ด พยายามกดดันให้ รอสส์ กำหนดวันบันทึกเสียงขึ้นอีกครั้ง
วันที่ 29 กรกฎาคม เบิร์ด เข้าห้องอัดกับ ฮาเวิร์ด แม็คกี (Howard Mcghee) มือทรัมเป็ต และวงริธึ่มเซสชั่น 1 วง ความแตกต่างของเซสชั่นนี้ กับเซสชั่นก่อนหน้านั้น เป็นเรื่องสร้างความตระหนกแก่การรับรู้ของผู้คนที่ได้ฟัง ในงานครั้งนี้ รอสส์ จ้างแพทย์นายหนึ่งมาดูแลเบิร์ด
แค่เพียงเพลงแรก เบิร์ดก็มะงุมมะงาหราแล้ว เมื่อต้องบรรเลงบนจังหวะอันรวดเร็ว แพทย์จัดการฉีดยาระงับประสาทให้ พวกเขาบรรเลง Max Is Making Wax ซึ่งให้สุ้มเสียงปั่นป่วนวุ่นวายสุด ๆ ในเพลง Bebop เสียงโซโล่แซ็กของ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ บ่งบอกถึงปัญหาที่กำลังรุมเร้า ณ ห้วงเวลานั้น และยังมีเพลง The Gypsy ที่ฟังเหมือนเด็กกำลังหัดเล่นดนตรี
จากนั้น เบิร์ด เปลี่ยนมาเล่นเพลงช้า Lover Man ซึ่งให้อารมณ์ความรู้สึกที่ลึกซึ้ง แต่ดูเหมือนกายภาพของเบิร์ดไม่พร้อมพอแก่การรับคำสั่งของสมองและจิตใจเท่าที่ควรนัก
อย่างไรก็ตาม สาวกของเบิร์ด อย่าง ชาร์ลส์ มิงกัส เคยเอ่ยปากชื่นชอบงานบันทึกเสียงครั้งนี้มาก เขาเห็นว่าอุดมด้วยพลังอารมณ์ ขณะที่ เบิร์ด เกลียด และบอกว่า “น่าจะกระทืบทิ้งลงดิน” มากกว่า
คนที่แสดงความคิดเห็นต่องานในเซสชั่นนี้ได้ดีคนหนึ่ง คือ ฮาเวิร์ด แม็คกี ซึ่งร่วมบรรเลงอยู่ด้วย เขาอ่านพฤติกรรมของ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ออกว่าเต็มไปด้วยความร้อนรนเพียงใด
“แต่สุ้มเสียงที่ดังกังวานออกมาใช้ได้เลยนะ ไม่มีโน้ตผิดเลยสักตัว และผมรู้สึกว่านี่คืองานบันทึกเสียงที่งดงามชุดหนึ่ง” นักทรัมเป็ต กล่าว
คืนนั้น หลังเสร็จสิ้นจากการบันทึกเสียง ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อยู่ในอาการหมดสภาพ ทีมงานโยนเขาขึ้นแท็กซี่เพื่อให้ไปส่งที่โรงแรมชั้นสามแห่งหนึ่ง ที่ดำเนินกิจการโดยคนจีนในลอสแอนเจลิส
เบิร์ด มีปัญหาที่โรงแรมแห่งนี้ บางข้อมูลระบุว่าเขาก่อความวุ่นวายในล็อบบีของโรงแรม เขาถามหาเหรียญสำหรับหยอดตู้โทรศัพท์สาธารณะ แล้วเกลือกกลิ้งด้วยร่างกายเปลือยเปล่าอยู่แถวล็อบบี ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ของโรงแรมโน้มน้าวให้ขึ้นไปพักบนห้อง ในที่สุด ก็วางเพลิงเตียงนอนในห้องของตัวเอง
อีกกระแสหนึ่ง เล่าว่า เบิร์ด เผลอหลับไปโดยปล่อยให้ก้นบุหรี่ลุกไหม้บนเตียงที่นอนอยู่ เมื่อตื่นมาพบว่าไฟไหม้เขาจึงวิ่งลงมาโดยไม่ทันได้สวมกางเกง
อย่างไรก็ตาม นี่คือประสบการณ์เลวร้ายที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิตของ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อต้องตกเป็นผู้ต้องหาวางเพลิง ภายใต้การดูแลของตำรวจลอสแอนเจลิส ซึ่งได้ชื่อว่า โหด และเหยียดสีผิวมากที่สุดในยุคนั้น
ในที่สุด ศาล มีคำสั่งให้ส่ง เบิร์ด ไปพักรักษาตัวเพื่อบำบัดอาการเสพติดยาและสุรา พร้อมถูกลงโทษจำกัดบริเวณที่โรงพยาบาล คามาริลโล สเตท เป็นเวลา 6 เดือน
เมื่อทราบข่าวร้ายของนักอัลโต แซ็กโซโฟน ดอริส ซิดนอร์ เพื่อนสาวของเบิร์ดที่รู้จักกันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1944 ตัดสินใจบินจากนิวยอร์ก ซิตี้ มายังลอสแอนเจลิส เพื่อเยี่ยมเยือนและดูแลเขาอย่างสม่ำเสมอ (ต่อมา ดอริส เป็นภรรยาคนที่ 3 ของเบิร์ด ทั้งคู่แต่งงานกันในปี ค.ศ. 1948)
จากคำบอกเล่าของ ไมล์ส เดวิส กระบวนการรักษา เบิร์ด ด้วยการช็อตไฟฟ้าที่โรงพยาบาลแห่งนี้นับว่าโหดร้ายและรุนแรงมาก ถึงขนาดที่เบิร์ดแทบจะกัดลิ้นของตัวเองให้ขาดไปให้รู้แล้วรู้รอด
ในที่สุด เบิร์ด ได้รับการปล่อยตัวออกมา และอยู่ในความดูแลของ รอสส์ รัสเซลล์ ระหว่างนั้น ผองเพื่อนนักดนตรีในลอสแอนเจลิสและในละแวกเวสต์ โคสต์ ตัดสินใจจัดงานแสดงดนตรีเพื่อหารายได้ช่วยเหลือ เบิร์ด โดยได้เงินราว 600-900 เหรียญ ซึ่ง เบิร์ด นำไปซื้อเสื้อผ้าและตั๋วเครื่องบินเพื่อกลับนิวยอร์กพร้อมกับ ดอริส
ก่อนเดินทางกลับ เขามีงานบันทึกเสียง 2 เซสชั่นสำหรับสังกัด “ไดอัล” เซสชั่นแรกมีขึ้นเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1947 โดยมีวงทริโอของมือเปียโน เออร์โรล การ์เนอร์ (ผู้แต่งเพลง Misty) ทำหน้าที่แบ็คอัพ ประกอบด้วย เร็ด แคลเลนเดอร์ ตำแหน่งเบส และ ด็อก เวสต์ ตำแหน่งกลอง
ชาร์ลี พาร์คเกอร์ มีข้อถกเถียงกับ รอสส์ รัสเซลล์ เล็กน้อย ตรงที่เขาอยากให้ เอิร์ล โคลแมน ซึ่งเป็นนักร้องที่ได้รับอิทธิพลจาก บิลลี เอ็คสไตน์ มาร่วมแจมด้วย แต่ รอสส์ ไม่อยากเพิ่มคน และไม่ได้ระบุเครดิตให้ เอิร์ล เท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม เพลง This Is Always ที่มีเสียงร้องของ เอิร์ล ก็จัดว่าขายได้ดีทีเดียวในเวลานั้น
ในเซสชั่นนี้ มีเพลงบลูส์ 12 ห้องที่ รอสส์ ตั้งชื่อว่า Cool Blues ได้รับรางวัล Grand Prix du Disque ที่ฝรั่งเศสในเวลาต่อมา
อีกเซสชั่นหนึ่งบันทึกเสียงเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน ประกอบด้วย ฮาเวิร์ด แม็คกี, วอร์เดลล์ เกรย์ ตำแหน่งเทเนอร์ แซ็กโซโฟน ในเพลงที่เล่นกันวันนั้น มีงานประพันธ์ใหม่ของเบิร์ด 1 ชิ้น ซึ่งดูเหมือนง่าย แต่บรรเลงยาก ด้วยจังหวะซับซ้อนเป็นพิเศษ พวกเขาเล่นกันถึง 5 เทค โดย รอสส์ นำเทคที่ 5 ตัดเป็นแผ่นออกขาย ตั้งชื่อว่า Relaxin’ at Camarillo ซึ่งเป็นชื่อของโรงพยาบาลที่ เบิร์ด ใช้ชีวิตอยู่นานถึง 6 เดือนนั่นเอง
Relaxin’ at Camarillo จัดเป็นเพลงเด่นเพลงหนึ่งของ เบิร์ด โดยมือกลอง เคนนี คลาร์ก ชื่นชมว่า "เป็นเพลงที่แสดงให้เห็นว่า เบิร์ดรู้สึกถึงบลูส์อย่างไร ตลอดจนถึงการใช้แนวทางโปรเกรสชั่นที่ล้ำหน้า ไม่ธรรมดา เพื่อพิสูจน์และบอกผู้คนให้รู้ว่า เขาหยั่งรู้ถึงบลูส์มากกว่านักดนตรีคนไหนๆ"
อ่านบทความ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ตอนอื่น ๆ ได้ที่
[4] ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อัจฉริยะดนตรีผู้ใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่ง: กลับคืนสู่นิวยอร์ก
[5] ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อัจฉริยะดนตรีผู้ใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่ง: วาระสุดท้ายของเบิร์ด