โซซิบินี่ ทุนซี่ “รูปร่าง หน้าตา สีผิว อย่างฉัน ก็เป็นนางงามจักรวาลได้”
“ฉันเติบโตมากับโลกที่ผู้หญิงที่หน้าตาแบบฉัน สีผิวแบบฉัน เรือนผมแบบฉัน ไม่เคยถูกมองว่าสวย ฉันเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องหยุดความคิดนี้เสียที ฉันอยากให้เด็ก ๆ มองมาที่ฉัน ดูมาที่ดวงหน้านี้ และอยากเห็นใบหน้าของพวกเขาสะท้อนบนดวงหน้าของฉันบ้าง”
เมื่อคำกล่าวของ โซซิบินี่ ทุนซี่ (Zozibini Tunzi) จากแอฟริกาใต้จบลง ก็เรียกเสียงปรบมือดังกึกก้องไปทั่วทั้งฮอลล์ในการประกวดนางงามจักรวาล ครั้งที่ 68 ที่เมืองแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา แทบจะทันที และด้วยบุคลิกที่โดดเด่นเฉิดฉายมั่นใจ ทำให้ในที่สุด ทุนซี่ก็สามารถก้าวไปสู่ความฝันได้สำเร็จ เป็น Miss Universe 2019 ครองมงกุฎใหม่ที่ประดับเพชรน้ำเอกสีเหลืองสุกสกาวมูลค่ากว่า 150 ล้านบาท นับว่ามากสุดเท่าที่ประวัติศาสตร์การประกวดนางงามจักรวาลเคยมีมา
จะเห็นได้ว่า ถ้อยแถลงสุดท้ายบนเวทีของนางงามจักรวาลคนใหม่ โซซิบินี่ ทุนซี่ นั้น เป็นการนำเสียงและความรู้สึกนึกคิดของผู้หญิงและเด็ก ๆ ที่มีเรือนกายและลักษณะภายนอก ที่ถูกผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมบ้านเกิดและโลกสมัยใหม่มองว่าเป็นรูปแบบของความงามที่ถูกจำกัดให้อยู่ในพื้นที่ชายขอบ ทั้งยังไม่ได้เป็นชุดความงามที่ถูกให้ค่า ออกมากล่าวบนเวทีการประกวดซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะให้คนทั่วทั้งโลกได้ยินและได้รับรู้ถึงการกดทับในลักษณะดังกล่าว
ทุนซี่ ตอบคำถามทุกรอบได้อย่างฉาดฉาน เช่น ในรอบ 3 คนสุดท้าย ที่ถามว่าอะไรที่เธอเห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่เธอเห็นว่าเราทุกคนควรจะสอนเด็ก ๆ ผู้หญิงในทุกวันนี้? คำตอบจากปากของทุนซี่ และเป็นคำตอบที่เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนผู้หญิงด้วยกันเป็นอย่างมาก นั่นก็คือ “ภาวะผู้นำ” อย่างที่เธอขยายความว่า “สิ่งนี้ขาดหายไปจากผู้หญิงและเด็กผู้หญิงมานานแล้ว ไม่ใช่ว่าผู้หญิงไม่ได้อยากจะเป็นผู้นำ แต่เพียงเพราะว่าที่ผู้หญิงขาดสิ่งนี้เพราะสังคมตีตราพวกเธอให้เป็นแบบที่สังคมต้องการให้เป็น ฉันคิดว่าผู้หญิงคือสิ่งมีชีวิตที่มีพลังที่สุดในโลกใบนี้ และเราก็ควรให้โอกาสพวกเธอ และนี่ก็คือสิ่งที่เราควรจะสอนเด็ก ๆ ผู้หญิงให้เข้ามาในพื้นที่ต่าง ๆ ในสังคม ให้พวกเธอตระหนักให้ได้ว่า นี่คือสิ่งสำคัญที่จะทำให้พวกเธอเหล่านี้ผนึกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม”
ขณะที่ก่อนหน้านั้น ในรอบ 5 คนสุดท้าย ทุนซี่ก็ตอบคำถามซึ่งเป็นประเด็นใหม่ในการประกวดนางงามจักรวาลได้อย่างฉาดฉาน แสดงทัศนะที่เธอมีต่อผู้นำโลกในการปกป้องคนรุ่นต่อไปจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยเหตุจากภาวะโลกร้อน ว่าพวกเขาเหล่านี้ทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ดีพอหรือยัง ถ้ายัง ผู้นำเหล่านี้ควรจะต้องทำอะไรมากขึ้น?
คำตอบที่ออกมาหลังเสี้ยววินาทีที่ทุนซี่ได้ยินคำถามก็คือ “ฉันว่าผู้นำต่าง ๆ ยังทำงานเพิ่มได้อีก อย่างไรก็ดี ฉันเห็นว่าเราเองในฐานะปัจเจก ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้สภาพภูมิอากาศเป็นไปในทิศทางที่ควรจะเป็นในอนาคต เด็ก ๆ ออกมาประท้วงเพื่อสภาพอากาศที่ดีกว่า และฉันเห็นว่าผู้ใหญ่ก็ควรจะร่วมการรณรงค์นี้ด้วย รัฐบาลควรหันมาจริงจังกับเรื่องนี้ เพราะแม้แต่เด็ก 6 ขวบก็รู้สึกได้ว่าอากาศแย่ลง และโลกก็กำลังได้รับผลกระทบ การที่โลกนี้จะรอดพ้นจากภาวะนี้ล้วนขึ้นอยู่กับเราทั้งหมด”
นี่เป็นคำตอบที่แสดงให้เห็นว่า คนทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะมีตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่มี ทุกคนล้วนแล้วแต่มีส่วนรับผิดชอบต่อโลกใบนี้ทั้งสิ้น โดยไม่จำเป็นต้องผลักความรับผิดชอบในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมไปให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น และการตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมาของทุนซี่ ก็สะท้อนให้เห็นว่าเวทีนางงามที่หลายคนมองว่าเป็นแค่การประกวดความสวยความงาม ในหลายปีหลังมานี้กลับมีประเด็นสาธารณะที่แหลมคมมากขึ้น และเป็นเวทีที่ทำให้เสียงของผู้หญิงในมิติต่าง ๆ ดังก้องขึ้นมาได้ ทั้งประเด็นสภาพภูมิอากาศ ผิวสี การเมือง ฯลฯ ที่บางประเด็นมักจำกัดพื้นที่ไว้ให้กับผู้ชาย
สำหรับนางงามจักรวาลคนใหม่อย่าง โซซิบินี่ ทุนซี่ หรือที่แฟน ๆ ชาวไทยผู้ติดตามการประกวดนางงามเรียกชื่อเธอให้คล้องกับภาษาไทยในฉายาว่า “ตุ่นศรี” นั้น เป็นสาวงามผิวสีคนล่าสุดที่ห่างหายจากการครองมงกุฎนางงามจักรวาลมานานตั้งแต่ปี 2011 ซึ่งเป็นปีที่สาวงามผิวสีจากแองโกล่า อย่าง ไลลา โลปึซ (Leila Lopes) ทำได้ในการประกวดที่บราซิล
ทุนซี่ เกิดที่เมืองทโซโล ฝั่งอีสเติร์น เคป ในครอบครัวผิวสี แล้วย้ายมาพำนักที่เมืองเคป ทาวน์ เพื่อศึกษาต่อด้านการประชาสัมพันธ์และการจัดการภาพลักษณ์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี เคป เพ็นนินซูล่า ก่อนจะเดินหน้าไล่ล่าความฝันในชีวิต ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการประกวดนางงามจักรวาล และทำได้สำเร็จตามความมุ่งมั่น
นี่คงเป็นอีกครั้งที่นางงามจักรวาลต้องการแสดงให้เห็นว่า ความงามนั้นไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดเอาไว้ให้อยู่ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศแอฟริกาใต้ ที่ครั้งหนึ่งเรื่องการแบ่งแยกสีผิวระหว่างคนขาวกับคนดำเป็นวาระสำคัญในการเคลื่อนไหวของคนในประเทศ ไม่ต่างไปจากขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของพลเรือน ที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้นในเมืองที่เป็นเจ้าภาพการประกวดอย่างแอตแลนตาแห่งนี้ ที่เปิดโอกาสให้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสีผิว และทุกเชื้อชาติ มีฝันที่จะมีสิทธิมีเสียงเท่าเทียมกันได้ เฉกเช่นที่ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้มีถิ่นกำเนิดที่แอตแลนตา ได้กล่าวไว้ในสุนทรพจน์ชิ้นโบว์แดงที่ชื่อ “I Have a Dream”