read
interview
20 ธ.ค. 2562 | 11:54 น.
สัมภาษณ์ ฮีซัมร์ เจ๊ะมามะ เด็กคลั่งหนังจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้คว้าหนังสั้นยอดเยี่ยมที่สิงคโปร์
Play
Loading...
ค่ำคืนวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 บนเวทีมอบรางวัลในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสิงคโปร์ ครั้งที่ 30 (SINGAPORE INTERNATIONAL FILM FESTIVAL #SGIFF30) ชื่อหนังสั้น
I’m Not Your F***ing Stereotype
ผลงานนักศึกษาภาพยนตร์จากประเทศไทย ได้รับการประกาศในฐานะเจ้าของรางวัลชนะเลิศ “หนังสั้นยอดเยี่ยมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
ข้อความจากเพจเทศกาลภาพยนตร์ เขียนชื่นชมยกย่องหนังเรื่องนี้ว่า...
"เรื่องราวที่คุณต้องเล่าออกมา คือ เรื่องราวที่เป็นตัวคุณ.. และหนัง I’m Not Your F***ing Stereotype คณะกรรมการสัมผัสได้ถึง การเล่าเรื่องราว, การแสดง และการเชื่อมโยงความส่วนตัว ผสมผสานเข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์แบบ...
"ทุกอย่างในหนังเรื่องนี้ให้ความรู้สึกถูกที่ถูกทางและสดใหม่.. ไม่มีใครสักคนเอ่ยถึง ผู้กำกับ, ผู้กำกับภาพ, คนลำดับภาพ, นักแสดง หรือใครก็ตามที่เกี่ยวข้อง ว่าพวกเขาไม่ควรทำสิ่งที่เห็นในหนัง.. ด้วยความสมบูรณ์ของตัวหนัง และความสามารถของทีมงาน.. หนังเรื่องนี้จึงโดนใจกรรมการเข้าอย่างจัง!"
หลังจาก
ฮีซัมร์ เจ๊ะมามะ
ผู้สร้างสรรค์และกำกับหนังเรื่องนี้เดินทางกลับประเทศไทย เราไม่รอช้าที่จะนัดสัมภาษณ์ เพื่อทำความรู้จักเรื่องราวของเขา ตัวตนของเขา และการนำเสนอความเป็นส่วนตัวในหนังได้กลมกล่อม สมบูรณ์แบบ โดนใจผู้ชม นักวิจารณ์ และคณะกรรมการต่างชาติ
การไม่รู้ความหมายชื่อตัวเอง ก็เหมือนไม่รู้จักตัวเอง
เราเริ่มต้นคำถามแรก ด้วยการตั้งคำถามแบบเดียวกับตัวละครในหนังของเขา ถูกตั้งคำถามจากคนรอบข้างในวันแรกที่ย้ายมาเรียนที่กรุงเทพฯ
“ฮีซัมร์”
ชื่อของคุณแปลว่าอะไร?
“คำถามนี้ ผมไม่เคยได้รับคำตอบจากแม่ หรือจากที่บ้าน จนผมเคยคิดอยากทำสารคดี สัมภาษณ์คนที่บ้าน แล้วเวลาใครก็ตามถาม ชื่อ ‘ฮีซัมร์’ แปลว่าอะไร ก็จะยื่นสารคดีนี้ให้ไปแทนคำตอบ
“ตอนผมไปเทศกาลภาพยนตร์ที่สิงคโปร์ หลังจากแนะนำตัวว่าชื่อ ‘ฮีซัมร์’ ทุกคนจะถามผมว่า ‘ออกเสียงยังไง’ แล้วก็จะถามต่อว่า ‘มีหมายความว่าอะไร’ ซึ่งผมตอบไปว่า ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน
“ช่วงวัยเด็ก ผมเคยลอง search ค้นหาความหมายชื่อเอาเอง ก็เจอความหมายไปคนละทิศละทาง เว็บหนึ่งบอกว่า เป็นชื่อผู้หญิง แปลว่าเมตตา อีกเว็บหนึ่งให้ความหมายมืดหม่นกว่า แปลว่าดาบของนักรบ เป็นความหมายที่แตกต่างกันคนละขั้วเลยครับ”
แน่ล่ะ ในฐานะคนมุสลิมที่ใช้ชีวิตอยู่นราธิวาส พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาตั้งแต่เกิด ย่อมไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไรที่ชื่อ ‘ฮีซัมร์’ เพราะพื้นที่นั้นแทบทุกคนล้วนมีชื่ออิสลาม จนกระทั่งย้ายมาเรียนมหาวิทยาลัย ที่กรุงเทพฯ เขาถูกถามเรื่อง ‘ชื่อ’ จากคนรอบข้าง ทุกครั้งที่มีการขานชื่อเขาในชั้นเรียน
“ในคลาสเรียน ตอนอาจารย์ขานชื่อ คนที่หนึ่ง คนที่สอง คนที่สาม ผ่านไปอย่างรวดเร็ว พอมาถึงชื่อผม ‘ฮีซัมร์’ อาจารย์จะหยุด และถาม แปลว่าอะไร แล้วก็ชวนคุยเรื่องอิสลามยาวเลย ผมเจอเหตุการณ์ซ้ำ ๆ แบบนี้แทบทุกคลาส ทำให้ผมกลัวช่วงเปิดเทอม ผมรู้ว่าอาจารย์ต้องถามและชวนคุยเรื่องอิสลามแน่ ๆ
“ผมรู้สึกลึก ๆ ว่าหยุดถามได้ไหม จริง ๆ ก็ยินดีมากนะครับที่อยากรู้จัก แต่ทุกครั้งที่เปิดเทอม ผมจะมีความรู้สึกว่าช่วงเวลานี้มาถึงแล้ว วันที่ต้องตอบคำถาม ชื่อ ‘ฮีซัมร์’ แปลว่าอะไร ผมรู้สึกไม่ค่อยสบายใจตรงที่ตอบคำถามนี้ไม่ได้ แล้วการที่ผมไม่รู้ความหมายของชื่อตัวเอง ก็เหมือนว่าผมไม่รู้จักตัวเองมาก่อน
“จนกระทั่งมีเพื่อนที่เก่งอังกฤษ ช่วยหาคำตอบเรื่องชื่อผมอย่างติดตลก ‘ฮีซัมร์’ (HESOME) น่าจะมาจากคำสองคำ คือ คำว่า AWESOME แปลว่าเจ๋ง แล้วก็ HANDSOME แปลว่าหล่อ เป็นอารมณ์ขัน สนุก ๆ ที่ทำให้ผมรู้สึกภูมิใจ รู้สึกสบายใจขึ้นครับ”
สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่วัฒนธรรมย่อยของภาคใต้
นอกจากประเด็นเรื่อง ‘ชื่อ’ ระหว่างพูดคุยกัน แอบจับสังเกตว่า เขานิยามตัวเองเป็นคนจาก ‘สามจังหวัดชายแดนภาคใต้’ ไม่ได้เป็นคน ‘ภาคใต้’ จนต้องเอ่ยถามความรู้สึกที่มีต่อประเด็นนี้
“ผมรู้สึกว่า ‘สามจังหวัดชายแดนภาคใต้’ เป็นยิ่งกว่า ‘ภาคใต้’ ผมไม่ค่อยรู้สึกผูกพัน เมื่อพูดคำว่าเป็นคน ‘ภาคใต้’ ผมเป็นคนอำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส ผมจะรู้สึกผูกพันกว่าเมื่อพูดว่าเป็นคนจาก ‘สามจังหวัดชายแดนภาคใต้’ ซึ่งเป็นพื้นที่วัฒนธรรมย่อยของ ‘ภาคใต้’
“พื้นที่ตั้งแต่หาดใหญ่ขึ้นไป ผู้คนจะพูดภาษาใต้ แต่พื้นที่ในเขตที่ผมอาศัยอยู่ จะพูดภาษายาวี มลายู เป็นภาษาเฉพาะของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งตอนแรกในหนังของผมตั้งใจเขียนบทให้เวลาตัวละครอยู่บ้านพูดภาษายาวี มลายู แล้วพูดภาษาไทยตอนไปโรงเรียน แต่ผมรู้สึกว่าเวลานักแสดงพูดบทสนทนาออกมา อาจสื่ออารมณ์ได้ไม่เต็มที่ ก็เลยเปลี่ยนใจ ไม่เอาดีกว่า ให้พูดภาษาไทยดีกว่า”
ฮีซัมร์ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ความรู้สึกแปลกแยกแตกต่าง เป็นคนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวเขาเอง แต่เป็นความรู้สึกโดนผลัก โดนแบ่งแยกจากคนนอกพื้นที่
“ผมสังเกตและตั้งคำถามเกี่ยวกับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกครั้งที่มีข่าว ใครทำตัวไม่ดี ทำตัวเลวร้าย จะมีคอมเมนต์ตามมาประมาณว่า ‘ส่งไปอยู่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้สิ!’ ผมจะงงมาก โกรธมาก พื้นที่บ้านผมเป็นคุกเหรอ เป็นพื้นที่พิเศษเหรอ ทำไมล่ะ บ้านเราเป็นพื้นที่ของคนไม่ดีเหรอ
“จริง ๆ จะว่าไป ตั้งแต่เด็ก ช่วงอนุบาล ซึ่งยังไม่ค่อยประสาอะไรมาก ผมเดินทางไปมาประเทศไทย-มาเลเซีย บ่อย ๆ เพราะมีญาติอยู่ที่นั่น ที่บ้านก็พูดยาวี มลายู ช่องโทรทัศน์ก็ดูช่องมาเลย์ เลยแอบรู้สึกไปเองว่าผมเป็นคนมาเลเซีย ตอนนั้นตัวตนยังไม่ชัด มาชัดตอนเข้าเรียนประถม มีการเข้าแถวร้องเพลงชาติไทย ก็เลยรู้ว่า เราเป็นคนไทยที่อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้”
การดูหนัง คือความบันเทิงสำหรับเด็ก
เมื่อถามถึงจุดเริ่มต้นความหลงใหลในภาพยนตร์ ฮีซัมร์เล่าว่า เขาโตมากับหนังของผู้กำกับ
เจมส์ คาเมรอน (James Cameron)
เพราะพ่อของเขาดูหนังภาคต่อทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น Aliens (1986), Terminator 2: Judgment Day (1991) รวมถึง Titanic (1997)
“สำหรับผมในวัยนั้น การดูหนังเป็นการฆ่าเวลา ตอนเด็กผมติดเล่นเกมคอมฯ ซึ่งผมจะสลับกันเล่นกับพี่ชาย ระหว่างพี่แย่งคอมฯ ไปเล่น ผมไม่มีอะไรทำก็จะดูหนัง ที่บ้านไม่ได้ปิดกั้นการดูหนัง เพราะพ่อชอบดูหนัง พ่อผมมีเชื้อสายอินเดีย นอกจากหนังของผู้กำกับเจมส์ คาเมรอน ก็จะดูหนังอินเดีย ซึ่งที่มาเลเซียมีคนอินเดียเยอะ ในห้างเลยมีโซนหนังอินเดีย ให้เลือกซื้อมาดู
“เวลาพ่อพาไปร้านหนัง ที่ร้านจะมีโปรโมชั่นซื้อสองแถมหนึ่ง พ่อจะซื้อสอง ส่วนหนังแถมจะเป็นของผม แรก ๆ ผมสนใจหนังการ์ตูนแบบเด็กทั่วไป มาถึงจุดหนึ่ง เริ่มสนใจหนังที่ภาพปกสวย ๆ หรือมีนางเอกน่าสนใจ รวมถึงชื่อหนังที่เคยได้ยินมาจากเพื่อนในโรงเรียน ก็เลือกดูหนังกลุ่มนี้ จะได้คุยกับเพื่อนรู้เรื่อง
“ต่อมา ผมเลือกหนังจากรสนิยมส่วนตัว ผมชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่น เริ่มจากมาสค์ไรเดอร์ จำได้ว่าตอนดู 20th Century Boy ตื่นเต้นมาก งานสร้างสุดยอดมาก หนังเรื่องนี้มีอิทธิพลทำให้ผมเขวไปทางการ์ตูน มังงะ อยากเป็นนักวาดการ์ตูน อยากเป็นนักเขียน เพราะรู้สึกเป็นช่องทางการเล่าเรื่องที่ผมทำได้ในขณะนั้น”
เมื่อถามถึงบรรยากาศการดูหนังในโรงภาพยนตร์ ฮีซัมร์ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากลำบาก เพราะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีโรงหนังประจำจังหวัด การจะดูหนังในโรงสักเรื่อง ต้องเดินทางไปหาดใหญ่
“การเดินทางจากอำเภอผมไปหาดใหญ่ ใช้เวลา 4 ชั่วโมง กลับก็อีก 4 ชั่วโมง ดังนั้น การดูหนังในโรงเลยเป็นวาระสำคัญ ต้องปรึกษากันทั้งครอบครัวว่าอยากดูอะไร ซึ่งหนังเรื่องนั้นต้องเป็นหนังยิ่งใหญ่แบบ Avatar (2009) ครับ”
เมื่อหนังกลายเป็นสื่อภาพยนตร์ที่มีความหมายเชิงลึก
ความหลงใหลในการดูหนัง กลายเป็นความคลั่งไคล้ในภาพยนตร์ หลังจากที่ฮีซัมร์ได้ดูหนังเรื่อง Inception (2010) ตอนมัธยมฯ สอง
“Inception เป็นหนังเรื่องแรกที่ทำให้ผมรู้สึกว่า ทุกรายละเอียดในหนังมีความหมายมากกว่าที่เห็น ผมชอบหนังเรื่องนี้มาก แต่พอคุยกับแม่ที่ชอบดูละคร ดูหนังเพื่อความบันเทิง แม่กลับบอกว่า ไม่ชอบ หนังอะไรก็ไม่รู้ เพื่อจะอธิบายแม่ว่า Inception มีคุณค่าขนาดไหน ผมเลยดูหนังซ้ำ ค้นหาความหมายที่ซ่อนอยู่ แล้วก็พบว่า นอกจากการสร้างอารมณ์ร่วมเพื่อความบันเทิง สิ่งที่เรียกว่าภาพยนตร์มันยิ่งใหญ่จังเลย
“หลังจากศึกษา Inception ด้วยตัวเอง การค้นข้อมูลใน Google ค้นข้อมูลในเว็บภาพยนตร์ชื่อดัง imdb.com ซึ่งจะมีหัวข้อ Trivia นำเสนอข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับหนัง จุดเปลี่ยนสำคัญอีกอันของผมเลยก็คือ Inception ติดอันดับ Top 250 แล้วพอคลิกเข้าไปดู ปรากฏว่ามีหนังอีกมากมายที่ถูกจัดอันดับสูงกว่า Inception นั่นแสดงว่ามีหนังดีกว่านั้นอีกเยอะเลย
“ผมพยายามตามหาหนังเหล่านั้นมาดู โดยจะติดกระดาษเขียนรายชื่อหนัง Top 250 แล้วเช็คว่าในแต่ละสัปดาห์ดูอะไรไปบ้าง ความโชคดี คือ ผมพอถูไถกับภาษาอังกฤษ ก็เลยมีโอกาสตามหาหนังมาดูได้มากกว่าการไม่รู้ศัพท์ภาษาอังกฤษครับ”
ดู VIDEO ESSAY ศึกษาภาพยนตร์ด้วยตัวเอง
แม้จะสนใจภาพยนตร์ในเชิงลึกมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการดูหนังที่ได้รับการยกย่อง มีนักวิจารณ์การันตีคุณภาพ ฮีซัมร์จะสัมผัสได้ถึงคุณค่าเหล่านั้น จากการดูครั้งแรก
“ผมไล่ตามเก็บหนังคุณภาพ ดูหนังที่ได้รับการยกย่อง นักวิจารณ์การันตี แต่ตอนดูครั้งแรกก็ยังไม่เข้าใจว่าดียังไง จำได้ว่าตอนดู The Godfather (1972) ครั้งแรก ผมสงสัยว่าดียังไง แต่หลังจากดูหนังหลายเรื่องแล้วกลับมาดูใหม่ เริ่มเข้าใจหนังมากขึ้น ซึ่งกว่าจะสัมผัสได้ว่าหนังดีก็ตอนที่เข้าใจภาษาหนังมากขึ้น เข้าใจการปล่อยพื้นที่ อ๋อ หนังดีเด่นในแง่จังหวะการเล่า ไม่ใช่ในแง่เรื่องราวเพียงอย่างเดียว
“ผู้กำกับชื่อดังในฮอลลีวูดหลายคน พูดตรงกันว่า วิธีการศึกษาหนังที่ดี ไม่ใช่แค่ดูหนังเยอะ แต่ต้องดูซ้ำจนเห็นทะลุปรุโปร่ง เวลาดูครั้งแรกก็ดูไป ดูครั้งที่สองเริ่มค้นหา พอครั้งที่สาม ที่สี่ ปิดเสียง สังเกตจังหวะการตัดต่อ หรือดูการเคลื่อนกล้อง ซึ่งจะเห็นได้ชัดขึ้น
“นอกจากดูหนังเยอะขึ้น ดูซ้ำรอบ ผมรู้จักและเข้าใจภาพยนตร์มากขึ้นจากการดู Video Essay ซึ่งจะอธิบายข้อมูล รายละเอียด กลวิธีการนำเสนอ และความน่าสนใจต่าง ๆ ของหนังแต่ละเรื่องในเชิงลึก ช่วงเรียนมัธยมปลาย พอดูหนังเรื่องหนึ่งจบ ผมอยากโชว์เพื่อน ๆ ในความเป็นคนบ้าหนัง ผมก็จะดู Video Essay แล้วเอาเนื้อหามาเล่าต่อ เช่น ตอนดู Kill Bill (2003) ผมก็จะบอกว่า หนังสนุกมาก เจ๋งมาก เพราะหนังเล่าเรื่องไม่เรียงลำดับเวลา
“ผมสนุกกับการดู Video Essay เนื้อหาในนั้นตอบสนองความอยากรู้เกี่ยวกับหนัง แล้วอีกอย่าง คือ ผมมีปัญหาการอ่านหนังสือ ผมสมาธิสั้นอ่านหนังสือไม่จบเล่ม แต่ Video Essay ออกแบบมาให้ดูจนจบได้ครับ”
การตัดต่อหนัง คือความมหัศจรรย์ของโลกภาพยนตร์
นอกจากคลั่งไคล้การชมภาพยนตร์ การได้สัมผัสงานตัดต่อ ส่งผลให้ฮีซัมร์สนใจโลกภาพยนตร์ในมุมนักทำหนัง
“ในภูมิภาคการศึกษาจะมีการประกวดผลงานท้องถิ่น เป็นตัวแทนโรงเรียน ส่งไประดับภาค พี่ชายผมทำหนังสารคดีส่งโครงการนี้ และนั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นโปรแกรมตัดต่อ ผมตื่นเต้นมาก ภาพการทำงานที่เคยเห็นในคลิปเบื้องหลังหนังต่าง ๆ เป็นแบบนี้นี่เอง
“และจากการร่วมโครงการนี้ พี่ผมได้หนังสือ ‘การทำหนังเบื้องต้น’ ประมาณ Movie Making 101 ผมอ่านจนจบเล่มด้วยความสนใจ มีบทหนึ่งอธิบายว่า ภาพช็อต A เป็นงู ภาพช็อต B เป็นหนูตกใจ จะมีความหมายเท่ากับหนูกลัวงู ความรู้สึกผมตอนนั้นคือมหัศจรรย์มาก จากนั้นก็คิดไปเรื่อยว่า ถ้าถ่ายภาพนั้น มาต่อกับภาพนี้ จะเท่ากับภาพโน้น
“ผมเคยใช้กล้องโทรศัพท์มือถือธรรมดา ๆ ถ่ายเพื่อนเดินเข้ามาในเฟรม แล้วกด pause เพื่อนหาย ทำให้รู้สึกเหมือนเพื่อนล่องหน ตอนนั้นรู้สึกตัวเองยิ่งใหญ่เป็นผู้กำกับระดับโลก แบบ
จอร์จ เมลิแยร์ (
Georges Melies)
เลยครับ นอกจากนี้ ความสนุกจากการทำหนังแบบเด็ก ๆ เท่าที่จำได้ ผมเคยใช้โปรแกรม Windows Movie Maker เอาซีนเอกับซีนบีมาชนกัน ทำลงแผ่น ยื่นให้พ่อดูด้วยความภูมิใจ แล้วบอกว่า ผมทำหนังได้แล้วนะ (หัวเราะ)
“ผมเข้าใจว่าทุกคนที่พอดูหนังมาถึงจุดหนึ่ง สัก 200-300 เรื่อง ย่อมรู้สึกอยากมีหนังของตัวเอง ผมได้ลองทำหนังสนุก ๆ แบบเด็ก ๆ แม้จะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่มันทำให้ผมร้องไห้ตอนทำเครดิต เห็นชื่อตัวเองแล้วรู้สึกภูมิใจ ตอนเรนเดอร์ไฟล์ จู่ ๆ น้ำตาก็ไหลออกมา (หัวเราะ)
“ผู้กำกับ
สแตนลีย์ คูบริก (
Stanley Kubrick)
เคยให้สัมภาษณ์ว่า การตัดต่อคือศาสตร์ภาพยนตร์ งานอื่น ๆ ในหนัง คือศาสตร์แขนงอื่น ในเมื่อผมไม่มีทีมทำหนัง ผมขอเรียนรู้การทำหนังด้วยการตัดต่อละกัน เริ่มจากลองเอาซีนของหนังเรื่องหนึ่งที่เป็นผู้ชายเดินมา อีกซีนจากหนังอีกเรื่อง ผู้หญิงเดิน แล้วมาตัด Parallel Cutting เป็นหนังเรื่องเดียวกัน ผมรู้สึกสนุกมากที่สามารถเอาหนังหลายเรื่องมาตัดยำรวมกันเป็นหนังเรื่องใหม่ ถ้าเป็นปัจจุบันที่ผมรู้เรื่องกฎหมายมากขึ้น ผมคงไม่กล้า”
ภาพยนตร์คือการบันทึกภาพตัวเราให้เป็นอมตะ
ฮีซัมร์อยากคลุกคลีกับโลกของภาพยนตร์ อยากเป็นนักทำหนัง โดยไม่ได้คิดว่าจะต้องเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ คนตัดต่อ หรือผู้กำกับภาพ
“ผมเคยคิดว่า แค่ได้เสิร์ฟน้ำในกองถ่ายก็เท่แล้วครับ
“ตอนเด็ก ผมรู้สึกว่าภาพยนตร์คือสื่ออมตะ หนังเป็นความคลาสสิก ยกตัวอย่างสุดยอดผู้กำกับภาพยนตร์
อัลเฟรด ฮิทช์ค็อก (
Alfred Hitchcock)
ที่เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในหนังที่เขากำกับ การปรากฏตัวผ่านจอแวบ ๆ เป็น cameo แล้วคนดูที่คลั่งไคล้ภาพยนตร์เฝ้าคอยสังเกตว่าอยู่ตรงนั้น หรืออยู่ตรงไหนในหนัง ผมรู้สึกว่าเท่มาก ๆ การที่ตัวเองตายไปแล้ว แต่ภาพของเรายังอยู่ในหนังตลอดกาล
“อาจเพราะผมรู้สึกหวาดกลัวการตายจากไปโดยไม่มีใครรู้ว่ามีตัวเราอยู่ ผมเลยชอบวิธีการบันทึกตัวตนของผู้กำกับฮิทช์ค็อก รวมถึงอยากมีชื่อในฐานะคนทำหนัง บันทึกอยู่ในข้อมูลเว็บ imdb.com เพราะผมเริ่มต้นจากเว็บนี้ครับ”
เลือกเรียนภาพยนตร์ แม้ครูจะบอกว่าไม่มีหัวศิลปะ
เป็นเรื่องปกติของเด็กมัธยมฯ เมื่อตัดสินใจเลือกเรียนภาพยนตร์ พ่อแม่จะตั้งคำถามว่า อนาคตจะเป็นยังไง
“การบอกพ่อแม่ว่าอยากเรียนภาพยนตร์ เหมือนลูกบอกว่าจะไปดาวอังคาร พวกเขาจะสงสัยว่าไปยังไง ไปทำไม แล้วอนาคตเป็นยังไง แม่ผมอยากให้รับราชการ เพราะรู้สึกมั่นคง ส่วนพ่อก็อยากให้ไปสายวิศวะฯ ช่วงนั้นน่าจะเป็นจังหวะโชคดีของผม ที่หนัง ‘พี่มาก.. พระโขนง’ ทำเงินพันล้าน ผมก็เลยยกกรณีรายได้พันล้าน มาสร้างความเชื่อมั่นในอาชีพทำหนัง
“ไม่เพียงแต่ที่บ้านตั้งคำถาม ผมยังเคยโดนครูศิลปะบอกว่า ‘อย่าทำงานศิลปะเลย แกไม่มีหัวด้านนี้หรอก’ ผมติดศูนย์วิชาศิลปะ เพราะผมไม่เข้าใจหลักการวางพู่กัน แล้วกลายเป็นผมโดนตราหน้าว่าไม่มีหัวด้านศิลปะ ทั้งที่ศิลปะไม่ใช่แค่เรื่องของพู่กัน
“ผมนึกถึงคำพูดของผู้กำกับสักคนที่บอกว่า ภาพยนตร์คือศาสตร์ของศิลปะทุกแขนงมารวมกัน ตอนนั้นผมรู้สึกอยากเอาชนะคำพูดของอาจารย์ ที่บอกว่าผมเป็นคนไม่มีหัวด้านศิลปะ ซึ่งตอนนี้ผมรู้สึกชนะแล้วครับ (หัวเราะ)”
ฮีซัมร์พุ่งเป้าเข้าเรียนภาพยนตร์ในมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ไม่ได้คิดเรียนที่หาดใหญ่ แม้จะใกล้บ้านกว่า ด้วยเหตุผลที่ว่า
“ผมแค่รู้สึกว่าทำหนังต้องกรุงเทพฯ ผมมองในแง่ที่ว่า บริษัททำหนัง บริษัทโปรดักชัน ธุรกิจสื่อฯ ปักหลักอยู่กรุงเทพฯ ผมมองเรื่องการทำงานในอนาคต ผมไม่ได้คิดว่าเรียนภาพยนตร์เพื่อจะกลับไปทำงานที่บ้าน กลับไปผลิตสื่อฯ ในพื้นที่
“การเป็นคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ผมเข้าใจผิดว่าถ้าจะเรียนภาพยนตร์ต้องมีความรู้พื้นฐาน เหมือนเวลาจะเรียนภาษาอังกฤษ ต้องมี TOEIC ประมาณหนึ่ง ความไม่รู้ทำให้ผมถีบตัวเอง ถือว่าผมโชคดี มีตาที่ปิดอยู่ ทำให้ไม่เห็นว่าคนอื่นรู้แค่ไหน ถ้าผมรู้ว่าไม่ต้องมีพื้นฐานความรู้ภาพยนตร์ ก็เรียนภาพยนตร์ได้ ผมคงไม่ได้พยายามขวนขวายหาความรู้เพื่อถีบตัวเองมากขนาดนี้”
FILM STUDIES vs. FILM PRODUCTION
จากการสังเกตของฮีซัมร์ ผลงานภาพยนตร์สั้นที่ผลิตโดยนักศึกษาภาพยนตร์ สายภาพยนตร์ศึกษา (Film Studies) มีคุณภาพถูกจริตเขามากกว่าผลงานที่ผลิตโดยนักศึกษาสายการผลิตภาพยนตร์ (Film Production)
“ตอนเลือกเอก เลือกสายการศึกษา ด้วยความที่ผมชอบหนังของนักศึกษาภาพยนตร์ศึกษา ก็เลยคิดว่า สายภาพยนตร์ศึกษาต้องมีอะไรแน่เลย ผมเลยเลือกเรียนภาพยนตร์ศึกษา แล้วเรียนรู้การทำหนังจากสายการผลิตภาพยนตร์ไปด้วยพร้อมกัน
“มีเรื่องขำ ๆ ตอนปีหนึ่ง เพื่อนที่เรียนภาพยนตร์ด้วยกันรู้สึกเศร้าที่เกรดไม่ค่อยดี ผมเลยปลอบไปว่า ‘ไม่เป็นไรหรอก
สตีเวน สปีลเบิร์ก (
Steven Spielberg)
ก็เคยคะแนนไม่ดีตอนเรียนภาพยนตร์’ เขาหันมาถามผมว่า ‘สปีลเบิร์กคือใคร’ ผมรู้ทันทีว่าสังคมคนคลั่งไคล้ภาพยนตร์ไม่ใช่เพื่อนกลุ่มนี้ ผมอยากมีเพื่อนที่รู้จักว่า สตีเวน สปีลเบิร์ก คือใคร
“กระทั่งในคลาสเรียนภาพยนตร์ เวลาอาจารย์ถามว่า มีใครรู้จักผู้กำกับกลุ่ม French New Wave
ฌอง ลุก โกดารด์ (Jean-Luc Godard), ฟรองซัวส์ ทรุฟโฟต์ (François Truffaut)
บ้าง ปรากฏมีผมรู้จักคนเดียวในห้อง ผมรู้สึกแปลกมาก ท้ายที่สุด เวลาอาจารย์พูดถึงหนังที่มีผมรู้จักอยู่คนเดียว ผมต้องห้ามตัวเองไม่ให้ยกมือ เพราะไม่อยากให้เพื่อน ๆ หมั่นไส้ แต่กลับกัน คำถามนี้เมื่อถามในคลาสภาพยนตร์ศึกษา ปรากฏยกมือรู้จักทั้งห้อง ผมเลยรู้สึกว่านี่คือที่ของเรา เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในชีวิต เป็นพื้นที่ของคนที่รู้จัก ทรุฟโฟต์, โกดารด์ มารวมกัน (หัวเราะ)
“จริง ๆ จะว่าไป ผมแอบอิจฉาคนที่เรียนสายการผลิตภาพยนตร์ (Film Production) ที่ได้เรียนวิชาเขียนบท เรียนตัดต่อ เรียนอำนวยการสร้าง เพราะสายภาพยนตร์ศึกษา (Film Studies) จะเข้าใจหนัง เข้าใจการทำหนัง แต่ไม่รู้วิธีทำหนังว่าทำยังไง
“ผมรู้สึกว่า การทำหนังแบ่งออกเป็น ‘รูปแบบ’ (Form) กับ ‘เนื้อหา’ (Content) แน่นอนว่าเนื้อหาจะไปสุดได้ เมื่อมีรูปแบบ เทคนิค วิธีการนำเสนอมารองรับ เช่นเดียวกัน การจะเป็นหนังที่ดีได้ ไม่ได้มีแค่เทคนิคการนำเสนอที่ดีเท่านั้น ต้องมีเนื้อหาที่ดีอยู่ในหนังเรื่องนั้น ๆ ด้วย”
สิ่งที่ “ภาพยนตร์ศึกษา” สอนฉัน
ไม่เพียงวิชาเรียนที่ต่างกัน วิธีคิด วิธีสร้างสรรค์ผลงานหนังแต่ละเรื่องของนักศึกษาภาพยนตร์ทั้งสองสายก็แตกต่างกันด้วย คำถามถัดมาเลยพุ่งเป้าไปที่การเรียนการสอนวิธีคิดต่อภาพยนตร์ของกลุ่มภาพยนตร์ศึกษา
“ด้วยบุคลิกความสนใจของนักศึกษาภาพยนตร์ สายภาพยนตร์ศึกษา กับสายการผลิตภาพยนตร์ แตกต่างกันอยู่แล้วครับ ดังนั้น วิธีการคิดงานก็จะไม่เหมือนกัน อีกทั้งการเรียนในคลาสของสายภาพยนตร์ศึกษา จะเน้นการตั้งคำถามผ่านสื่อภาพยนตร์ ผมจำได้ว่ามีคลาสหนึ่ง อาจารย์เปิดโฆษณาแม็คโดนัลด์ แล้วให้ทุกคนถกเถียงกันหลากแง่มุมต่อชิ้นงานนั้น ทำให้เรามองหนังได้ละเอียดขึ้น
“อีกวิชาที่มีอิทธิพลต่อวิธีคิดของผมในฐานะนักศึกษาภาพยนตร์ศึกษา คือ วิชาหนังทดลอง คลาสนี้เปิดโอกาสให้ผมได้ทดลองทำต่าง ๆ นานา แล้วการทดลองทำอะไรออกไปก็ไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น ไม่เวิร์คก็ไม่เห็นเป็นไร ผมมองว่า นักศึกษาภาพยนตร์ส่วนใหญ่กลัวความไม่เวิร์ค แล้วไม่กล้าทำ การจะทำลายความกลัว ความไม่กล้า คือ ต้องกล้าสักครั้งก่อน
“หลังจากกล้าทำแล้ว ก็ต้องกล้ายอมรับอย่างตรงไปตรงมาต่อชิ้นงานนั้น ๆ วิชาหนังทดลอง จะให้คนเรียนทั้งคลาสวิจารณ์หนังของเพื่อน แรก ๆ แต่ละคนก็จะกล้า ๆ กลัว ๆ สักพักเริ่มเปิดใจ กล้าพูดกันแบบตรงไปตรงมา ความรู้สึกไม่กลัวคำวิจารณ์ ทำให้เรากล้ามากขึ้น เราต้องไม่กลัวที่จะวิจารณ์งานคนอื่น และต้องไม่กลัวที่จะรับฟังคำวิจารณ์ของคนอื่น
“การเรียนการสอนภาพยนตร์ศึกษา ฝึกให้นักศึกษาตั้งคำถามต่อชิ้นงาน กล้าถาม กล้าวิจารณ์ สำหรับผม การทำหนังคือการเปลือยความรู้สึกนึกคิดออกมาในชิ้นงาน แล้วพอเราวิเคราะห์ วิจารณ์ หรือตั้งคำถามกับผู้สร้าง ก็เหมือนการวิเคราะห์จิตใต้สำนึก วิเคราะห์เชิงจิตวิทยา ทำให้ผู้สร้างสรรค์งานได้ย้อนมองตัวเอง เข้าใจตัวเขาเองมากขึ้นครับ”
I’M NOT YOUR F***ING STEREOTYPE
หนังสั้นส่งจบการศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เรื่อง I’m Not Your F***ing Stereotype เป็นผลงานสร้างสรรค์และกำกับโดยฮีซัมร์ ที่สร้างชื่อให้กับเขา ทั้งในแง่ได้รับการกล่าวขวัญจากนักวิจารณ์หลังฉายเปิดตัวในเทศกาลฤดูหนัง ครั้งที่ 5 เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทั้งยังกลายเป็นหนังที่คนในวงการภาพยนตร์ไทย สนใจ อยากดู และถามหา หลังคว้ารางวัลชนะเลิศ “หนังสั้นยอดเยี่ยมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสิงคโปร์ ครั้งที่ 30
“เนื้อหาในหนัง I’m Not Your F***ing Stereotype เป็นการหยิบปมความรู้สึกส่วนตัวตั้งแต่เข้ามาเรียนกรุงเทพฯ ปีหนึ่ง ปีสอง ปีสาม รวบรวมมุมมองจุดเล็ก ๆ ต่าง ๆ กระทั่งการเห็นข่าวซีเรียโดนถล่ม แล้วเข้าไปอ่านความคิดเห็น เจอพวกเหมารวมอิสลาม เล่นมุกตลกล้อศาสนา พอเลื่อนมาข่าวโรฮิงญา ก็เจอเหมารวมอิสลามอีก ตอนนั้นผมล็อกเอาต์เฟซบุ๊กไปเลย เล่นต่อไม่ไหว ไม่ชอบอคติแบบนี้ ผมถึงกับเขียนสเตตัสว่า ‘อยากทำหนังเก่ง ๆ แล้วทำหนังตบหน้าคนพวกนี้’
“และอีกหัวเชื้อหนึ่งในการทำหนังเรื่องนี้ คือ คลาสวิชาวิจารณ์ภาพยนตร์ อาจารย์ถามว่า ‘รู้สึกยังไงกับการที่ตัวร้ายในหนังฮอลลีวูดเป็นคนมุสลิม’ เป็นคำถามที่รุนแรงต่อความรู้สึกมาก ผมอาจไม่เคยสังเกต หรือจริง ๆ ผมสังเกตเห็นแต่ไม่กล้ายอมรับ มันเป็นปมในใจ ปมที่ทุกคนมองมุสลิมเป็นตัวร้าย พอโดนคำถามนี้ ภาพหลักฐานปรากฏชัดขึ้นมาเลย ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าในคลาสตอนนั้นผมตอบไม่ได้ หรือไม่กล้าตอบ กันแน่...
“ถ้าจะให้ตอบเป็นคำพูดตอนนี้ ผมก็จะตอบว่า ‘รู้สึกถูกกระทำ รู้สึกกลายเป็นตัวร้ายไปด้วย’ แล้วผมอาจตอบคำถามด้วยคำถามกลับว่า ‘ทำไมล่ะ ทำไมต้องถูกกระทำด้วย’ ซึ่งถ้าสังเกตดี ๆ ไม่ใช่แค่ในหนังฮอลลีวูดที่ตัวร้ายเป็นคนมุสลิม การที่ละครไทยชอบให้ตัวร้าย คนข่มขืน มีเครา หน้าตาคมแขก แล้วตัวดีก็จะหน้าเอเชีย ขาว ๆ ก็สะท้อนมุมมองทัศนคตินี้เช่นกัน
”
อดถามต่อไม่ได้ ในฐานะที่ไม่ใช่คนมุสลิม แล้วเพิ่งรู้จักกันเป็นครั้งแรก ด้วยความรู้สึกลึก ๆ ถึงความแปลกหน้า-แตกต่าง ควรเริ่มต้นด้วยท่าทีอย่างไร
“ผมไม่ได้ต้องการคนมาปลอบ มาทำดี เห็นอกเห็นใจ ผมแค่ต้องการความปกติ เมื่อคุณปกติกับสิ่งอื่นได้ง่าย คุณก็ควรง่ายกับเราบ้าง ผมมองว่าการยอมรับความแตกต่าง นำมาสู่การมองเป็นปกติ
“ผมสังเกตเห็นอย่างหนึ่ง ในหนังฮอลลีวูดปัจจุบันเริ่มมองมุสลิมไม่ใช่ตัวร้ายแล้ว พวกเขาจะแอบใส่ตัวละครคนมุสลิมเป็นเพื่อนพระเอก หรือเป็นตัวประกอบ อย่างในหนัง Spiderman: Homecoming (2017) เพื่อนพระเอกเป็นคนมุสลิม หรือกระทั่งในหนัง Netflix ก็เริ่มเห็นคนมุสลิมอยู่ในกลุ่มของตัวเอก ฮอลลีวูดรู้สึกด้านบวกกับมุสลิมมากขึ้นแล้วครับ”
พลังของภาพยนตร์ยิ่งใหญ่และเป็นสากล
ย้อนกลับมาที่หนัง I’m Not Your F***ing Stereotype จริง ๆ แล้ว ฮีซัมร์ต้องการวิพากษ์วิจารณ์ความคิด-การกระทำของผู้คนต่อมุสลิม หรือกำลังตั้งคำถามโยนกลับไปให้พวกเขา
“ผมแค่อยากให้สิ่งที่ผมเคยโดน เคยเจอะเจอ พวกมุกแซวมุกตลกต่อคนมุสลิม ได้รับการถ่ายทอดออกมาเป็นภาพให้เห็นบนจอ
“คนดูอาจเริ่มฉุกคิด แล้วตั้งคำถามว่า ผู้หญิงคนนี้แตกต่างจากคนอื่นอย่างไร ถ้า ‘มารียัม’ นางเอกของเรื่อง ไปเรียนด้วยการไม่ใส่ ฮิญาบ-ผ้าคลุมศีรษะของผู้หญิงมุสลิม ก็คงไม่โดนกระทำแบบที่เห็นในหนัง ผมอยากอธิบายเพิ่มอีกนิด เพราะมีคนดูบางคนเข้าใจตอนจบว่า มารียัมเปลี่ยนศาสนา จริง ๆ คือ แค่อยากให้เห็นว่า พอถอดฮิญาบแล้ว มารียัมก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่งเท่านั้น
“ผมไม่ได้ตั้งใจให้คนดูรู้สึกผิดต่อการกระทำใด ๆ กับคนมุสลิม และความรู้สึกของคนดูต่อหนังเรื่องนี้มีหลากหลายมากครับ เช่น มีคนดูที่เป็นเพื่อนผม เดินมาขอโทษ แล้วบอกว่า ‘ทุกอย่างที่เห็นในหนัง เขาเคยทำกับผมแบบนั้นหมดเลย’ เขารู้สึกผิดกับพฤติกรรมที่เคยทำเหล่านั้นมาก
“ผมยอมรับว่า ลึก ๆ ผมอาจนิสัยไม่ดี ที่รู้สึกว่าคนที่เคยด่าผม ล้อเลียนความเป็นมุสลิม ควรมาขอโทษผมหลังจากดูหนังเรื่องนี้ ผมแค่รู้สึกว่า พวกเขาติดค้างคำขอโทษต่อคนมุสลิม”
ฮีซัมร์ยอมรับว่า รู้สึกดีใจมาก ที่หนังได้รับกระแสตอบรับที่ดีทั้งในไทย และทุกเทศกาลภาพยนตร์ที่หนังเรื่องนี้เดินทางไปฉาย รวมถึงการคว้ารางวัลชนะเลิศ จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสิงคโปร์
“ผมดีใจที่หนังเข้าถึงคนหมู่มาก แล้วผมก็ขนลุกกับพลังของภาพยนตร์ ภาษาหนังเป็นภาษาสากลมาก ๆ มีหลายคนเดินมาบอกว่า เขาเปลี่ยนทัศนคติต่อคนมุสลิมหลังจากดูหนังเรื่องนี้
“มุมมองอื่น ๆ ของคนสิงคโปร์ ก็มีเช่น เขาบอกว่าไม่เคยเจอหนังที่นำเสนอด้วยวิธีการแบบนี้ ทั้งในแง่ของการจัดภาพเฟรมวงกลม รวมถึงการเล่าเรื่องด้วยแชท-text ตัวหนังสือ ซึ่งผมก็บอกไปว่า ที่ประเทศไทย ในยุค ‘Post นวพล’ การนำเสนอแบบนี้ เป็นเรื่องปกติธรรมดามาก
“บางคนบอกว่า แปลกใจที่ผู้กำกับเป็นผู้ชาย ทั้งที่หนังเป็นเรื่องของผู้หญิง มีแต่ตัวละครผู้หญิงทั้งเรื่อง ผมอธิบายว่า ถ้าเป็นโลกของผู้ชาย เรื่องของเด็กผู้ชาย การปะทะกันจะไม่เหมือนที่เห็นในหนัง สังคมผู้หญิงจะมีพลังงานบางอย่าง ในความคิดของผม โลกของผู้หญิงมีความกดดันมากกว่าผู้ชาย
“อีกเสียงสะท้อนกลับที่ผมประทับใจมาก คือ ผู้หญิงคนหนึ่งเดินมาขอบคุณ เธอบอก ‘ขอบคุณที่พูดแทนเรา’ เธอเป็นคนมุสลิม ตอนมาเรียนที่สิงคโปร์ก็เจอการมอง การถาม และท่าทีจากคนรอบข้าง คล้าย ๆ กับในหนัง แต่ไม่ถึงกับโดนปาหมูใส่นะ (หัวเราะ)”
บริบทพื้นที่ให้ผลตอบรับของผู้ชมต่างกัน
ในแต่ละพื้นที่ ความรู้สึกของคนดูจะต่างกันออกไป ถ้าหนังเรื่องนี้ฉายในประเทศที่คนส่วนใหญ่เป็นคนมุสลิม ฮีซัมร์มองว่า หนังเรื่องนี้จะเป็นหนังธรรมดา ๆ เรื่องหนึ่ง หรือไม่ก็จะถูกมองเป็นหนังตลกล้อเลียนมุสลิม
“มีคอมเมนต์ต่อตัวอย่างหนังที่ปล่อยออกไป บอกว่าคนสร้างหนังเรื่องนี้กำลังทำหนังล้อเลียน กำลังเล่นมุกกับคนมุสลิม ซึ่งเขาไม่ตลกด้วยเลย
“ผมเข้าใจความรู้สึกของเขานะ เพราะหนังของผมพูดถึงการตกเป็นเหยื่อ แล้วตัวอย่างหนังตัดภาพเหตุการณ์การตกเป็นเหยื่อมานำเสนอ คนดูตัวอย่างย่อมเข้าใจไปในทางนั้น ซึ่งถ้าได้ดูหนังทั้งเรื่อง เขาจะเข้าใจประเด็นที่ผมต้องการนำเสนอ
“หนังเรื่องนี้จะส่งผลกระทบกับความคิด-ความรู้สึกของคนดูได้ดีกว่า ถ้าฉายในประเทศไทย หรือประเทศที่มุสลิมเป็นประชากรส่วนน้อย เพราะถ้าในประเทศที่คนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม เขาน่าจะรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้เป็นแค่หนังดราม่าธรรมดา ๆ ซึ่งนำเสนอภาพการกระทำที่รุนแรง”
หนังสั้นที่ดี คือหนังที่นำเสนอประเด็นส่งไปหาคนดู
คนที่ได้ดู I’m Not Your F***ing Stereotype ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่คือหนังสั้นที่ดี แต่ฮีซัมร์กลับมองหนังตัวเองว่า ยังไม่ดีเท่าไหร่
“จากที่ผมได้ดูหนังซ้ำ ๆ หลายรอบ ผมรู้สึกว่าหลายซีนไม่ต้องเล่าก็ได้...
“หนังสั้นที่ดีในความคิดผม คือ หนังที่สามารถนำเสนอประเด็นเนื้อหาส่งไปหาคนดู แล้วเกิดผลทางอารมณ์ กระตุ้นความคิดบางอย่าง... ข้อดีของหนังสั้น คือ เราใช้เวลาไม่นานในการบอกเล่า ถ้าสามารถใช้ประโยชน์ของเวลาที่สั้น คนดูเข้าใจสารที่ผู้สร้างนำเสนอ หนังสั้นเรื่องนั้นคือหนังสั้นที่ดีครับ
“ผมน่าจะเป็นคนมาตรฐานสูง เลยรู้สึกว่าหนังสั้นของผมดีได้กว่านี้ ยังมีภาพในหัวที่ไปไม่ถึง... จากบทร่างแรก 45 หน้า ถูกตัดออกเหี้ยนเลยครับ (หัวเราะ) แต่ผมก็ไม่มั่นใจว่าเวอร์ชั่น 45 หน้า จะดีกว่าหรือเปล่า ซึ่งคงไม่หรอก 45 หน้านั้น บทสนทนาตีกันไปตีกันมา สรุปว่าที่เห็นแค่นี้คือดีแล้ว (หัวเราะ)”
ก้าวต่อไป คือความชัดเจนในตัวตนมุสลิม
ฮีซัมร์ยืนยันว่า หนังเรื่องหนึ่งไม่มีทางเกิดขึ้นได้จากคนคนเดียว เขาเลยรู้สึกเสียดายมากที่ตื่นเต้นตอนขึ้นรับรางวัล จนไม่ได้พูดขอบคุณทีมงาน ทั้งผู้กำกับภาพ ทั้งโปรดิวเซอร์ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของหนังเรื่องนี้
“การได้รับรางวัลอาจเป็นความสำเร็จในสายตาของใครต่อใคร แต่ผมรู้สึกว่า หนังได้หรือไม่ได้รางวัล แค่ฉายแล้วส่งผลกระทบต่อความคิด-ความรู้สึกของคนดู ผมก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วครับ
“หลังจากนี้ผมคงทำหนังต่อไปเรื่อย ๆ ผมรู้สึกว่าผมเจอตัวตนบางอย่างแล้ว ผมชอบความสมดุลระหว่างหนังที่มีเนื้อหาดีดูสนุก ลุ่มลึกแต่เล่าง่าย ๆ ขณะเดียวกัน ผมก็อยากเล่าเรื่องมุสลิมในมุมมองต่าง ๆ เหมือนคนผิวสีเล่าเรื่องคนผิวสีด้วยความภูมิใจในความเป็นคนผิวสี ผมอยากให้เกิดขึ้นกับมุสลิม เป็นมุสลิมเล่าเรื่องมุสลิมด้วยความภูมิใจในความเป็นคนมุสลิม...
“ความเป็นมุสลิมมีอะไรให้เล่าอีกตั้งเยอะ มันคือตัวตนที่ผมค้นพบจากการทำหนังครับ”
สัมภาษณ์และเรียบเรียง: ปัณณวิชญ์ เตชะเกรียงไกร
อดีตบรรณาธิการนิตยสารภาพยนตร์ อาจารย์สอนวิเคราะห์วิจารณ์ภาพยนตร์ สมาชิกชมรมวิจารณ์บันเทิง
ภาพ: ภานุ วรรณีเวชศิลป์
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3492
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6940
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
820
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Interview
The People
หนังสั้น
I’m Not Your F***ing Stereotype
Hesome Chemamah