บิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีผู้ต้องข้อกล่าวหาหนีการเกณฑ์ทหาร
"ถึง พ.อ.โฮล์มส์
ผมขอโทษที่ใช้เวลาอยู่นานกว่าจะได้เขียนจดหมายมา ผมทราบดีว่าได้เคยให้สัญญาไว้ว่าจะติดต่อคุณมาอย่างน้อยเดือนละครั้ง ซึ่งจากนี้ไปผมจะทำตามสัญญา เนื่องด้วยผมต้องใช้เวลาในการใคร่ครวญถึงการเขียนจดหมายฉบับแรกนี้ขึ้นมา ผมคิดเรื่องที่จะเขียนเกือบทุกวันนับแต่เดินทางกลับอังกฤษว่าผมควรจะกล่าวอย่างไรดี อย่างแรก ผมอยากจะขอบคุณคุณ ไม่เพียงเรื่องที่ช่วยผมจากการเกณฑ์ทหาร แต่ยังรวมถึงความเมตตาและอารีต่อผมในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา ซึ่งผมอยู่ในช่วงที่ตกต่ำที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต"
ตอนหนึ่งของจดหมายที่ บิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขียนขึ้นในวัย 23 ปี ถึงนายทหารที่ช่วยผ่อนผันให้เขารอดพ้นจากการเกณฑ์ทหารในช่วงสงครามเวียดนาม (PBS)
การรับใช้ชาติด้วยการเป็นทหาร นับเป็นมาตรวัดความรักชาติประการหนึ่งในแทบทุกประเทศ ใครที่หลบเลี่ยงการเป็นทหารไม่ว่าจะด้วยกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ก็อาจเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกตั้งคำถามว่า "รักชาติ" จริงหรือไม่? (ถ้าเป็นสมัยนี้ก็อาจถูกตราหน้าว่าเป็นพวก "ชังชาติ" รึเปล่า?)
ในปี 1992 คลินตันซึ่งยังเป็นผู้ว่าการรัฐอาร์คันซอ ได้ประกาศตัวลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ประเด็นเรื่องการหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหารของเขาจึงถูกขุดคุ้ยขึ้นมาเป็นประเด็นทางการเมือง และจดหมายแสดงความขอบคุณต่อนายทหารรายหนึ่งที่ช่วยเหลือให้เขารอดพ้นจากการเกณฑ์ทหาร ก็โผล่ขึ้นมาในจังหวะเวลานั้นอย่างพอดิบพอดี ทำให้คะแนนนิยมของคลินตันตกลงอย่างเห็นได้ชัด
จดหมายฉบับดังกล่าว คลินตันเขียนขึ้นเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 1969 ขณะเรียนต่ออยู่ที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดในประเทศอังกฤษ ถึง พ.อ.ยูจีน โฮล์มส์ (Colonel Eugene Holmes) หัวหน้าโครงการฝึกกำลังพลสำรอง (Reserve Officer Training Corps) แห่งมหาวิทยาลัยอาร์คันซอ หลังจากที่คลินตันขอเข้าโครงการฝึกกำลังพลสำรองและวางแผนที่จะมาเรียนต่อที่บ้านเกิด เนื่องจากเป็นหนทางสุดท้ายที่เหลืออยู่สำหรับเขากับการเลี่ยงถูกส่งตัวไปเวียดนาม และโฮล์มส์ก็ยอมรับคลินตันเข้าโครงการ พร้อมออกหนังสือผ่อนผันให้ แต่สุดท้ายคลินตันก็ขอขึ้นทะเบียนคัดเลือกอีกรอบ และโชคดีที่ได้เลขล็อตเตอรีลำดับท้าย ๆ ทำให้ไม่ต้องถูกส่งไปเวียดนาม
ในจดหมาย คลินตันเท้าความว่า การเกณฑ์ทหารในช่วงสงครามเวียดนามไม่ชอบธรรม ต่างจากกรณีสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ชีวิตของประชาชนล้วนตกอยู่ในอันตราย ประชาชนต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของชาติและเพื่อนร่วมชาติ ขณะที่สงครามเวียดนามแม้ว่าเขาเห็นว่ามีเหตุอันสมควรที่จะใช้การแทรกแซงทางทหารได้ แต่ก็ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะใช้การเกณฑ์ทหาร
แต่ด้วยความที่เขาเองมีแผนที่จะเล่นการเมืองในอนาคต เขาจึงต้องยอมรับการเกณฑ์ทหารอย่างเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่านั่นจะขัดต่อความเชื่อทางการเมืองของตนเองก็ตาม และการเลือกที่จะเข้าโครงการฝึกกำลังพลสำรองก็เพื่อที่ตนเองจะสามารถเลี่ยงทั้งสงครามเวียดนามและเลี่ยงการต่อต้านสงครามได้แบบอ้อม ๆ
อย่างไรก็ดี หลังส่งหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมโครงการฝึกกำลังพลสำรอง จน พ.อ.โฮล์มส์ ส่งหนังสือผ่อนผันการคัดเลือกไปยังคณะกรรมการตรวจเลือกแล้ว เขากลับรู้สึกไม่สบายใจและสูญเสียความมั่นใจในตัวเองจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ เนื่องจากการปกปิดเหตุผลที่แท้จริงของการสมัครเข้าโครงการฯ และสุดท้ายก็สละสิทธิ์แล้วไปขอขึ้นทะเบียนเข้ารับการเกณฑ์อีกรอบ เขาจึงต้องเขียนจดหมายฉบับนี้มาชี้แจงโฮล์มส์ที่เคยเมตตาให้ความช่วยเหลือเขา
ในรายการ Nightline ทางช่อง PBS คลินตันอธิบายจุดยืนของเขาต่อการเกณฑ์ทหาร หากเขาได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ว่า
"อย่างแรกเลยภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ผมชอบระบบกองกำลังสมัครใจมากกว่า ถ้าเรายังมีการเกณฑ์ทหาร ผมก็ต้องยื่นเรื่องไปถึงสภาคองเกรสและขอให้มีการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ พอถึงจุดนี้แล้วผมก็ไม่อาจยอมรับการคัดค้านโดยอ้างมโนธรรมเป็นบางกรณีได้อีก [selective conscientious objection - คลินตันถูกจี้เรื่องนี้ เพราะเขาเองอยู่ในข่ายนี้ เนื่องจากไม่ได้ต่อต้านสงครามทุกกรณี ต่างจากผู้คัดค้านโดยอ้างมโนธรรมส่วนใหญ่ซึ่งคัดค้านการใช้กำลังทุกกรณี โดยมีฐานของคุณธรรมหรือจริยธรรมเป็นพื้น]
"ปัญหากรณีเวียดนามคือความไม่ชัดเจนที่มีมาโดยตลอด ด้วยนโยบายของรัฐบาลที่ทำให้ชาติแตกแยก และด้วยข้อเท็จจริงที่ว่ามันเป็นการเดินหน้าที่ผิดทิศทางก็ยิ่งทำให้การทหารอ่อนแอ ทำให้สถานะของเราในเวทีโลกอ่อนแอลง ตอนนี้ผมมีทัศนะเกี่ยวกับความเหมาะสมของการคัดค้านโดยอ้างมโนธรรมเป็นบางกรณีต่างจากในอดีต แต่อย่างน้อยผมคิดว่า ถ้าเราจะต้องเกณฑ์ทหารและจะไม่ยอมรับการคัดค้านโดยอ้างมโนธรรมเป็นกรณี ๆ ไปแล้ว สภาคองเกรสแห่งสหรัฐฯ ซึ่งมีอำนาจในการประกาศสงครามก็ต้องทำการประกาศสงครามเสียก่อน"
ขณะเดียวกัน เขาก็ถูกจับผิดกรณีจังหวะเวลาที่ดูเหมาะเจาะมาก จากตอนแรกพยายามเลี่ยงการเกณฑ์ทหารด้วยการไปขอเข้าโครงการฝึกกำลังพลสำรองเพื่อได้รับการผ่อนผัน แต่ได้ไม่ทันไรก็ขอยกเลิกการผ่อนผันแล้วขึ้นทะเบียนเข้าคัดเลือกอย่างเร่งด่วน และได้เลขล็อตเตอรีลำดับท้าย ๆ ซึ่งน่าจะวางใจได้ว่า เขาจะไม่ถูกเรียก
"ผู้ว่าคลินตัน ผมขอย้อนไปเรื่องจดหมายฉบับนี้อีกครั้ง ในเรื่องเวลา คุณเขียนจดหมายนี้เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 1969 ขณะที่คุณได้เลขล็อตเตอรีในวันที่ 1 ธันวาคม 1969 ตอนแรกคุณบอกกับนักข่าวว่า คุณไม่รู้เลยว่า เลขที่คุณได้เป็นตัวเลขที่สูง แต่ต่อมาคุณมาบอกกับเพื่อนร่วมงานของผม จิม วูเทน (Jim Wooten - นักข่าวอเมริกัน) ว่า คุณคงจะรู้แล้ว ตกลงมันเป็นอย่างไรแน่ คุณพอจะรื้อฟื้นความทรงจำนี้ได้มั้ย?" เท็ด คอปเปล (Ted Koppel) พิธีกรตั้งคำถามคลินตัน ก่อนถามต่อว่า
"เหตุผลที่ผมถามท่านผู้ว่าก็เพราะ วันต่อมา วันที่ 2 ธันวาคม คุณส่งใบสมัครไปยังสำนักนิติศาสตร์ของเยล จากนั้นวันที่ 3 ธันวาคม คุณส่งจดหมายฉบับนี้ไปถึง พ.อ.โฮล์มส์ การกระทำทั้งสองส่อให้เห็นว่าผู้ที่จะทำเช่นนั้นย่อมรู้ หรืออย่างน้อยก็ค่อนข้างมั่นใจแล้ว ณ เวลานั้น ว่าตัวเองจะไม่ถูกเกณฑ์"
ฝ่ายคลินตันบอกว่า ไม่เห็นจะแปลกตรงไหนที่คนที่เรียนต่อระดับสูงกว่าปริญญาตรีจะสมัครเรียนไว้ก่อน ก่อนที่จะรู้ว่าตัวเองจะถูกเรียกเกณฑ์ แม้จะได้สละสิทธิ์ในการผ่อนผันไปก่อนแล้ว เพราะถ้าถูกเกณฑ์ขึ้นมาก็สามารถพักการเรียนไปก่อนได้ เมื่อถูกถามจี้เรื่องจังหวะเวลาอีกครั้ง เขาตอบว่า
"ผมบอกว่า ผมจำไม่ได้ มันไม่มีอะไรต้องไปเจาะตรงนั้น สิ่งสำคัญที่ชาวอเมริกันควรจะรู้ก็คือ ในช่วงปลายเดือนกันยายน ต้นเดือนตุลาคมราว ๆ นั้น ผมคิดว่าน่าจะเป็นกันยายนนั่นแหละ ผมไปพูดกับพ่อเลี้ยง (โรเจอร์ คลินตัน เอสอาร์. - Roger Clinton Sr.) ขอให้ไปพูดกับคณะกรรมการคัดเลือก และ พ.อ.โฮล์มส์ ให้ช่วยเอาชื่อผมไปอยู่ในกลุ่มเข้าคัดเลือกอีกครั้ง ผมมีชื่อในกลุ่มคัดเลือกก่อนที่จะมีการออกเลข ก่อนที่ผมจะรู้ว่าจะได้เลขอะไร ผมอยู่ในกลุ่มที่จะถูกเกณฑ์ ถ้าผมได้เลข 1 หรือ 10 เรื่องพวกนี้คงไม่เกิดขึ้น และเราก็คงไม่ต้องมาคุยกันเรื่องนี้ในวันนี้"
การกระทำของคลินตันแม้จะไม่ขัดต่อกฎหมาย แต่ก็ส่อให้เห็นเจตนาหลีกเลี่ยงการปฏิบัติหน้าที่ในกองทัพ ซึ่งสำหรับนักชาตินิยม และทหารนิยม เขาย่อมไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมในการขึ้นมารับตำแหน่งประธานาธิบดีและผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพสหรัฐฯ
"ชาติบ้านเมืองกำลังตกอยู่ภายใต้ภยันตรายอันใกล้จะถึง เมื่อพวกหนีทหารกำลังจะกลายมาเป็น ผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพสหรัฐฯ แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วจะมีคนมากมายที่หลีกเลี่ยงการรับใช้ชาติในสงครามเวียดนาม แต่คนพวกนี้ก็ไม่ได้คิดหวังจะมาเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ" พ.อ.โฮล์มส์ คนเดิมกล่าวถึงคลินตัน ซึ่งตอนนั้นยังเป็นแคนดิเดตของเดโมแครต (Daily Record)
แม้จะมีข่าวฉาวมากมาย (นอกจากกรณีเลี่ยงการเกณฑ์ทหารแล้ว ก็ยังมีเรื่องชู้สาวอีก ก่อนไปก่อเหตุซ้ำกับนักศึกษาฝึกงานเมื่อดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว) แต่คลินตันก็ยังคงเป็นตัวเลือกที่ประชาชนส่วนใหญ่ให้คะแนนเสียงเห็นชอบมากกว่า จอร์จ บุช ประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันที่ครองตำแหน่งอยู่ก่อน ด้วยรัฐบาลรีพับลิกันที่ครองอำนาจมานานกว่า 12 ปี สร้างความเบื่อหน่ายให้กับประชาชนค่อนข้างมาก ทำให้คลินตันชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีลำดับที่ 42 ของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ การเลี่ยงการเกณฑ์ทหารในสงครามเวียดนามถือเป็นเรื่องสามัญ โดยเฉพาะกับชายฉกรรจ์จากครอบครัวที่มีฐานะสามารถส่งลูกเรียนระดับสูงได้ นอกจากคลินตันแล้ว โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีลำดับที่ 45 ของสหรัฐฯ ก็เคยได้รับการผ่อนผันระหว่างการศึกษามาก่อน จนปี 1968 เมื่อจบการศึกษาแล้ว และหมดเหตุที่จะขอผ่อนผัน เขาจึงไปได้ใบรับรองแพทย์จากหมอที่มาเช่าที่พ่อของเขาเปิดคลินิกมายืนยันว่า เขามีกระดูกงอก จึงทำให้ได้รับการยกเว้นชั่วคราวด้วยเหตุผลทางการแพทย์ เว้นแต่ประเทศจะอยู่ในภาวะฉุกเฉินหรือมีการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ แม้ว่าก่อนหน้านั้น 2 ปีเขาจะผ่านการตรวจร่างกายโดยหน่วยงานคัดเลือกแล้วจะไม่พบความผิดปกติที่จะทำให้เขาได้รับการยกเว้นก็ตาม (The New York Times)