เพชรา เชาวราษฎร์: นางเอกคู่บุญตลอดกาลของ “มิตร ชัยบัญชา”
มีเรื่องเล่ามากมายที่พิสูจน์ถึงความโด่งดังของคู่ขวัญ “มิตร-เพชรา” ซึ่งอาจเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่มีวันเกิดขึ้นอีกแล้วในอนาคต เช่น แค่มีชื่อ มิตร-เพชรา สายหนังต่างจังหวัดทั้งหลายก็พร้อมที่จะซื้อไปฉายโดยไม่ต้องดูเนื้อเรื่อง เช่นเดียวกับคนดูที่พร้อมตีตั๋วทันทีที่เห็นชื่อทั้งคู่ปรากฏหน้าโรงภาพยนตร์...
เพชรา เชาวราษฎร์ ชื่อนี้เคยเป็นตัวแทนแห่งความชื่นใจและหลงใหลใฝ่ฝันของแฟนหนังไทยเมื่อราวครึ่งศตวรรษก่อน ก่อนจะกลายเป็นตำนานเล่าขานสู่คนรุ่นถัดมา แม้ปัจจุบันสายธารแห่งกาลเวลาจะพัดพาให้ชื่อเพชราไกลห่างออกไปจากการรับรู้ของอนุชนที่เพิ่งเติบโตขึ้น แต่ปรากฏการณ์และความยิ่งใหญ่ที่เธอฝากไว้แก่สังคมและวงการภาพยนตร์ไทยในคืนวันอันรุ่งโรจน์ ยังคงอยู่เป็นอมตะเช่นเดียวกับหยาดเพชรที่ไม่มีวันหมดประกาย
จากธิดาเมษาฮาวาย สู่ดาราสาวนัยน์ตาหยาดน้ำผึ้ง
ฉากแรกของเพชรา เริ่มต้นที่ตำบลน้ำคอก อำเภอเมือง จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2486 ในชื่อเกิดว่า “เอก เชาวราษฎร์” เธอเป็นลูกคนที่ 4 ของครอบครัวที่ค่อนข้างเข้มงวด นาน ๆ จึงจะได้ติดตามพี่สาวออกไปดูหนังกลางแปลงสักครั้ง จนเมื่อแรกสาว เอกมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์ไทยเรื่อง โบตั๋น ที่นำแสดงโดย วิไลวรรณ วัฒนพานิช ซึ่งสร้างความประทับใจจนน้ำตาไหลอาบแก้ม โดยหารู้ไม่ว่า ไม่กี่ปีต่อมา เธอจะไม่ได้เป็นแต่เพียงผู้ชมที่นั่งร้องไห้อยู่นอกจออีกต่อไป
จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อเข้ามาอาศัยอยู่กับพี่สาวที่กรุงเทพฯ ปี พ.ศ. 2504 น้องสาวของพี่เขยผู้ทำร้านเสริมสวย ได้ส่งเธอเข้าประกวดธิดาเมษาฮาวาย งานประจำปีของกองสลากกินแบ่งรัฐบาล และเปลี่ยนชื่อเธอใหม่เป็น “ปัทมา เชาวราษฎร์”
แม้จะเต็มไปด้วยความเขินอาย เพราะขัดกับนิสัยเก็บตัวและไม่กล้าแสดงออกอันเกิดจากการถูกอบรมบ่มเพาะอย่างเคร่งครัดมาแต่เด็ก แต่ปัทมาก็สามารถคว้าตำแหน่งชนะเลิศมาครองได้ การประกวดครั้งนี้มีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ ความสวยของเธอจึงได้รับการแพร่ภาพออกไปสู่สายตาผู้สร้างหนังไทยหลายคน หนึ่งในนั้นคือ ศิริ ศิริจินดา ผู้ที่ตัดสินใจชักชวนดาวตลก ดอกดิน กัญญามาลย์ มาร่วมกันทาบทามเธอมาแสดงเรื่อง บันทึกรักของพิมพ์ฉวี ซึ่งขณะนั้นกำลังเป็นละครวิทยุอันโด่งดังที่เธอชื่นชอบ ปัทมาจึงตอบตกลงในทันที
ดอกดินได้เปลี่ยนชื่อให้เธอใหม่เป็น “เพชรา เชาวราษฎร์” และ เจน จำรัสศิลป์ นักข่าวบันเทิงชื่อดังได้ตั้งฉายาให้สมกับดวงตาคู่งามของเธอว่า “ดาราสาวนัยน์ตาหยาดน้ำผึ้ง” นอกจาก บันทึกรักของพิมพ์ฉวี แล้ว เพชรายังได้รับการทาบทามไปแสดงเรื่อง ดอกแก้ว ของ วิจารณ์ ภักดีวิจิตร ทั้งสองเรื่องออกฉายไล่เลี่ยกันในช่วงต้นปี พ.ศ. 2505 และได้รับความนิยมมากพอสมควร ซึ่งเสียงตอบรับที่ดีจากแฟน ๆ ส่งให้ เพชรา เชาวราษฎร์ แจ้งเกิดในโลกภาพยนตร์ไทยอย่างรวดเร็ว
คู่ขวัญอันดับหนึ่ง มิตร-เพชรา
พระเอกคนแรกของเพชรา คือ มิตร ชัยบัญชา ดาราชายที่เข้าวงการก่อนเธอราว 5 ปี จาก บันทึกรักของพิมพ์ฉวี พวกเขาได้ประกบคู่แสดงร่วมกันอีกหลายต่อหลายเรื่อง เช่น อ้อมอกสวรรค์ (2505) แพนน้อย (2506) อวสานอินทรีแดง (2506) นกน้อย (2507) ฯลฯ จนกลายเป็นคู่ขวัญที่ส่งเสริมบารมีกันและกันให้ได้เป็นพระเอกนางเอกอันดับหนึ่งของวงการในเวลาต่อมา
มีเรื่องเล่ามากมายที่พิสูจน์ถึงความโด่งดังของคู่ขวัญ “มิตร-เพชรา” ซึ่งอาจเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่มีวันเกิดขึ้นอีกแล้วในอนาคต เช่น แค่มีชื่อ มิตร-เพชรา สายหนังต่างจังหวัดทั้งหลายก็พร้อมที่จะซื้อไปฉายโดยที่ไม่ต้องดูเนื้อเรื่อง เช่นเดียวกับคนดูที่พร้อมตีตั๋วทันทีที่เห็นชื่อทั้งคู่ปรากฏหน้าโรงภาพยนตร์ ว่ากันว่า เคยมีคนดูต่างจังหวัดลงทุนเช่ารถเมล์เข้ามาในตัวเมืองเพื่อดูหนัง แต่เมื่อพบว่าไม่ใช่ มิตร-เพชรา ก็นั่งรถเมล์กลับทันที หรือป้ายโฆษณาหน้าโรงหนังบางที่จะมีรูป มิตร-เพชรา ติดไว้ตลอด คอยเปลี่ยนเฉพาะชื่อเรื่องเท่านั้น อีกทั้งชื่อที่ปรากฏติดกันซ้ำ ๆ ของทั้งคู่ยังทำให้แฟน ๆ บางคนเข้าใจผิดว่าชื่อเพชรานั้นเป็นนามสกุลของมิตร
ปรากฏการณ์คู่ขวัญ มิตร-เพชรา เกิดขึ้นต่อเนื่องราว 7 ปี ก่อนที่จะจบลงใน พ.ศ. 2513 ปีที่สถานะของทั้งคู่กำลังพุ่งสูงสุดจากบท “ไอ้คล้าว” และ “ทองกวาว” ใน มนต์รักลูกทุ่ง ซึ่งสร้างประวัติศาสตร์ยืนโรงนานถึง 6 เดือน แต่ในเดือนตุลาคม มิตร ชัยบัญชา กลับประสบอุบัติเหตุตกจากเฮลิคอปเตอร์เสียชีวิตระหว่างถ่ายทำเรื่อง อินทรีทอง ซึ่งมีเพชราเป็นนางเอก ตำนานคู่ขวัญในดวงใจแฟนหนังไทยจึงปิดฉากด้วยการที่เพชรากลายเป็นนางเอกคนสุดท้ายของพระเอกคนแรกของเธอ เหลือไว้เพียงผลงานที่ทั้งคู่ร่วมแสดงกันมากถึงเกือบ 200 เรื่อง
ราชินีจอเงิน
เพชรา เชาวราษฎร์ ถือเป็น “ราชินีจอเงิน” ของเมืองไทยอย่างแท้จริง ในแง่ที่เธอเป็นนักแสดงภาพยนตร์เพียงอย่างเดียว ไม่เคยแสดงด้านอื่นเลย ผลงานภาพยนตร์ของเธอนั้นมีมากมายมหาศาลถึง 300 กว่าเรื่อง ตลอดระยะเวลาเพียง 16 ปีที่อยู่ในวงการ ระหว่างปี 2505-2521
ในช่วงรุ่งโรจน์ เพชราต้องเข้าคิวถ่ายหนังวันละหลายเรื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความเกรงใจบรรดาผู้สร้างที่ต่างต้องการให้เธอร่วมแสดง แม้เพียงไม่กี่ฉากก็ยอม เพียงเพื่อให้มีชื่อเพชราไปขายสายหนัง จนเธอเองยอมรับว่าไม่มีเวลาอ่านบท เพราะต้องวิ่งรอกถ่ายหนังตั้งแต่เช้าจรดค่ำ
แม้อาจจะดูแตกต่างจากวิถีของนักแสดงปัจจุบัน ที่ต้องเตรียมตัวล่วงหน้าอย่างดี แต่ค่านิยมของผู้ชมหนังไทยส่วนใหญ่ในตอนนั้นไม่ได้คำนึงถึงการแสดงที่สมบทบาทมากเกินไปกว่าได้ชื่นชมดาราขวัญใจ ราชินีบนจอภาพยนตร์คนนี้จึงสวมบทบาทได้ทั้ง เด็กสลัม เศรษฐินี เจ้าหญิง โจรสาว และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่คนดูพร้อมจะคล้อยตาม เศร้าเมื่อเธอร้องไห้ ยิ้มชื่นเมื่อเธอมีความสุข พร้อม ๆ กับรู้สึกอิ่มเอิบที่ได้เห็นเธอโลดแล่นอยู่ในภาพยนตร์ ยิ่งหากเธอไปปรากฏตัวต่อหน้าแฟน ๆ ที่ไหน ย่อมมีผู้คนมารอต้อนรับกันอย่างมืดฟ้ามัวดิน นอกจากนี้ แฟชั่นของเพชราล้วนส่งอิทธิพลให้เกิดการเลียนแบบ แฟน ๆ สาว ๆ ต่างอยากมีคิ้วที่สวยและนัยน์ตาหวานปานหยาดน้ำผึ้งอย่างเพชรา แต่งชุดแบบที่เธอสวมใส่ในหนัง ทำผมทรงเดียวกับนางเอกขวัญใจ ไม่ว่าจะผมแกละ ซอยสั้น หรือทรงเกล้าสูงเป็นมวยโต มีจอนโค้งรับกับใบหูทั้ง 2 ข้าง อันเป็นภาพจำอย่างหนึ่งของเพชรา เชาวราษฎร์
ไม่เพียงแต่ในไทย ชื่อเสียงความงามของราชินีหนังไทยยังขจรขจายข้ามเขตแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้านย่านอาเซียน รวมไปถึงฮ่องกง ที่เธอได้ไปร่วมแสดงภาพยนตร์เรื่อง อัศวินดาบกายสิทธิ์ (2513) คู่กับ มิตร ชัยบัญชา และไต้หวันเรื่อง ดาบคู่สะท้านโลกันต์ (2514) กับ ไชยา สุริยัน ทั้งยังสร้างความประทับใจให้แก่ดาราดังของไต้หวันเช่น เจียง ปิง และ เดวิด เจียง
ใช่ว่าเพียงรูปร่างหน้าตาอันงดงามที่ทำให้เพชราสามารถกุมหัวใจมหาชนอย่างแนบแน่นได้ หากแต่เป็นเพราะเธอยังตั้งใจกับทุกบทบาทที่ได้รับอย่างนักแสดงมืออาชีพ โดยมีรางวัลตุ๊กตาทอง สาขาผู้แสดงนำหญิงยอดเยี่ยม จากเรื่อง นกน้อย (2507) ที่เธอได้รับพระราชทานจากพระหัตถ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นเครื่องการันตี อย่างไรก็ตาม ความทุ่มเทของเพชราในการถ่ายหนังหามรุ่งหามค่ำได้ส่งผลร้ายต่อดวงตาของเธอที่ถูกใช้งานอย่างหนักหน่วง ทั้งฉากร้องไห้จำนวนมาก และการต้องถูกแสงไฟรวมถึงรีเฟล็กซ์สาดเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อนมาตลอดหลายปี
เพชราเริ่มมีปัญหาทางด้านสายตาตั้งแต่ พ.ศ. 2513 ปีเดียวกับที่ มิตร ชัยบัญชา เสียชีวิต แต่เธอยังกัดฟันต่อความเจ็บปวดเพื่อแสดงภาพยนตร์ไปอีกเกือบสิบปี ก่อนจะตัดสินใจแสดงภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายคือ ไอ้ขุนทอง ที่เธอเป็นผู้อำนวยการสร้าง ออกฉายเมื่อปี พ.ศ. 2521 หลังจากนั้น ราชินีแห่งจอเงินผู้สร้างความสว่างไสวในใจของประชาชนมายาวนาน ก็จำต้องก้าวลงจากบัลลังก์เข้าสู่โลกที่ค่อย ๆ มืดมนอย่างเงียบ ๆ โดยมี ชรินทร์ นันทนาคร คู่ชีวิตเจ้าของเสียงร้องเพลง “หยาดเพชร” เพลงที่กลายเป็นสัญลักษณ์แทนตัวเธอ คอยดูแลอยู่เคียงข้าง
ตำนานที่ไม่เคยถูกลืม
แม้จะออกจากวงการภาพยนตร์ไปนานหลายปี แต่ชื่อของ เพชรา เชาวราษฎร์ ก็ยังคงได้รับการกล่าวถึงอยู่เสมอ ท่ามกลางการรอคอยของแฟน ๆ ที่วาดหวังว่าจะได้พบเธออีกครั้ง
เก้าปีให้หลังจากภาพยนตร์เรื่องสุดท้าย หอภาพยนตร์เมื่อครั้งยังตั้งอยู่ที่ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ ได้เชิญเพชรามาประทับรอยมือรอยเท้าเป็นดาวดวงแรกบนลานดารา หน้าโรงหนังอลังการ (รอยพิมพ์มือพิมพ์เท้ารอยแรกของเพชรา ได้เกิดความเสียหายเมื่อหอภาพยนตร์ต้องขนย้ายที่ทำการมาอยู่ที่ศาลายา โดยในปี พ.ศ.2549 หอภาพยนตร์ได้นำแผ่นปูนไปให้เพชราประทับรอยมือที่บ้านเพื่อนำไปประดับในพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย ร่วมกับแผ่นรอยมือรอยเท้าของดาราคนอื่นที่เคยประทับไว้ที่หอภาพยนตร์ ถนนเจ้าฟ้า) ในวันที่ 19 มกราคม ปี 2530 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของเธอ โดยเธอขอมาอย่างเงียบ ๆ เป็นการส่วนตัว แต่ข่าวกลับรั่วไหลไปถึงหนังสือพิมพ์ซึ่งนำไปพาดหัวหน้าหนึ่ง และถูกนำไปกระจายต่อทางสถานีวิทยุ จนมีชาวบ้านเดินทางมาเพื่อขอดูรอยมือรอยเท้าเพชรา เป็นบทพิสูจน์ว่าชื่อเสียงของเธอยังคงเป็นแม่เหล็กดึงดูดประชาชนอยู่เสมอ ไม่ต่างจากสมัยที่แสดงภาพยนตร์
เพชราเก็บงำความงามจากสายตาแฟน ๆ ไปอีกนานนับสิบปี จนวงการภาพยนตร์ไทยเปลี่ยนผ่านสู่สิ่งใหม่ ๆ ผู้คนเริ่มผลัดใบไปอีกยุค แต่เรื่องราวเกี่ยวกับตัวเธอยังคงได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น จนกลายเป็นความทรงจำสำคัญของสังคมไทย และไม่ว่าจะมีการจัดอันดับใด ๆ ชื่อเธอยังคงได้รับการกล่าวถึงในฐานะนางเอกหมายเลขหนึ่งตลอดกาลของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยอยู่เสมอ
พ.ศ. 2544 เพชราปรากฏแต่ “เสียง” ให้แฟน ๆ ได้คลายความคิดถึงในบทบาทนักจัดรายการวิทยุอยู่ประมาณ 4 ปี จากนั้นในปี พ.ศ. 2552 เธอจึงปรากฏตัวออกสื่อสาธารณะเป็นครั้งแรกในฐานะพรีเซนเตอร์เครื่องสำอางชื่อดัง ซึ่งรายได้ทั้งหมดมอบให้แก่การกุศล หนึ่งในนั้นคือมูลนิธิคนตาบอดแห่งประเทศไทย การเผยโฉมครั้งแรกในรอบสามทศวรรษของเพชรากลายเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่ผู้คนให้ความสนใจ ทั้งแฟนภาพยนตร์รุ่นเก่าและรุ่นใหม่ที่เพิ่งรู้จักเธอผ่านผลงานภาพยนตร์บางส่วนซึ่งยังคงหลงเหลือมาจนถึงทุกวันนี้ ก่อนที่เธอจะได้รับการประกาศเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาภาพยนตร์ ประจำปี พ.ศ. 2561 นับเป็นเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ควรค่าแก่ผลงานจำนวนมาก ซึ่งได้ปลอบประโลมและจรรโลงจิตใจประชาชนอย่างลึกซึ้งจนยากที่จะหาใครเทียบเทียมทั้งในอดีตและอนาคต
และในวันเสาร์ที่ 18 มกราคม ปี 2563 เพชรา เชาวราษฎร์ ได้เดินทางมาประทับรอยมือรอยเท้า บนลานดารา หน้าโรงภาพยนตร์ศรีศาลายา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เพื่อเป็นอมตนุสรณ์ เคียงข้างกับดาราทั่วฟ้าเมืองไทยคนอื่น ๆ
นี่คืออีกหนึ่งดาวค้างฟ้าหนังไทย ผู้เป็นเปรียบเสมือน "หยาดเพชร" แห่งวงการภาพยนตร์ไทย
เรื่องและภาพ: หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)