เทย์เลอร์ สวิฟต์ สลัดภาพนักร้องที่การเมืองไม่ยุ่ง มามุ่งเรื่องการเมือง
“ฉันไม่คิดว่าจะมีคนอยากฟังความคิดเห็นทางการเมืองของฉันจริง ๆ หรอก พวกเขาอาจจะอยากฟังเพลงรักอกหักและเพลงต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความรู้สึกมากกว่า” เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) ในวัย 22 ปี ให้สัมภาษณ์กับผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ พร้อมปิดท้ายคำตอบด้วยรอยยิ้มแสนหวาน
นั่นเป็นเรื่องเมื่อ 8-9 ปีก่อน ที่เทย์เลอร์เลือกจะเร้นทัศนคติทางการเมืองของเธอไว้อย่างมิดชิด เลี่ยงการแสดงความเห็นเรื่องนี้ต่อสาธารณชน แต่เมื่อเส้นเวลาพาให้นักร้องสาวชื่อดังที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘ผู้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดนตรี’ ของสหรัฐอเมริกา พบเจอเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะดรามาที่ถาโถมเข้ามาหลายเรื่อง เทย์เลอร์ ก็เลือกจะสลัดภาพลักษณ์เด็กสาวแสนดีที่คนอื่นคาดหวังให้เป็น มาเป็นเทย์เลอร์ในแบบตัวเองที่ยืนหยัดในสิ่งที่เธอเห็นว่าถูกต้อง โดยเฉพาะประเด็นทางการเมือง แม้นั่นจะทำให้คนรอบข้างหรือแม้แต่แฟน ๆ บางส่วนไม่เห็นด้วยเลยก็ตาม และเทย์เลอร์ในวัย 30 ปี ก็เลือกจะเผยด้านนี้ออกมาอย่างเต็มที่ ในสารคดี Miss Americana ที่ว่าด้วยเส้นทางสายดนตรีและชีวิตของเทย์เลอร์ ซึ่งออกฉายทาง Netflix ไปเมื่อปลายเดือนมกราคม ปี 2020
แต่ไหนแต่ไรมา ศิลปินสาวเจ้าของรางวัลแกรมมี ไม่นับรางวัลอื่น ๆ อีกเต็มบ้าน และเจ้าของอินสตาแกรมที่ถึงกุมภาพันธ์ ปี 2020 มีผู้ติดตามราว 126 ล้านคน ไม่เคยจะออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองเลยสักนิด “ฉันไม่พูดเรื่องการเมือง เพราะมันอาจส่งอิทธิพลถึงคนอื่น” เทย์เลอร์ให้สัมภาษณ์นิตยสาร Time เมื่อปี 2012 แล้วบอกอีกว่า “และฉันไม่คิดว่าฉันรู้เรื่องดีมากพอที่จะบอกคนอื่นว่าใครที่คุณควรจะลงคะแนนให้” ในการเลือกตั้งปี 2016 เธอกระตุ้นให้แฟน ๆ ออกไปลงคะแนน แต่ก็ไม่เปิดเผยว่าเธอลงคะแนนให้ใคร มากสุดที่เธอทำคือการให้สัมภาษณ์ว่า “ฉันจะออกไปลงคะแนนค่ะ” (พร้อมรอยยิ้มหวาน ๆ เช่นเคย) แต่จะเลือกใคร พรรคไหน และทัศนคติของเธอเป็นอย่างไร ดูจะเป็นความลับที่สื่อและบรรดาแฟน ๆ อยากรู้มาตลอด นอกจากนี้ ความที่เทย์เลอร์เป็นคนขาว ผมบลอนด์ หน้าตาดี ฉลาด เธอจึงกลายเป็นไอดอลของพวกกลุ่มชาตินิยมขวาจัด และยิ่งเธอไม่ออกมาพูดโต้ตอบหรือแสดงท่าทีอะไร ก็ยิ่งทำให้กลุ่มดังกล่าวมองเธอในแง่บวกเข้าไปอีก
เหตุผลสำคัญหนึ่งที่ทำให้เทย์เลอร์ไม่เคยปริปากเรื่องการเมืองเลย เพราะในแวดวงดนตรีคันทรีที่เธอเติบโตและสร้างชื่อขึ้นมานั้น มีการแนะนำ (หรือตักเตือน?) ว่า ถ้าอยากเดินบนเส้นทางสายนี้ได้อย่างมั่นคงแล้วล่ะก็ ต้องไม่ยัดเยียดความคิดเห็นทางการเมืองให้ใคร และปล่อยให้แฟน ๆ ใช้ชีวิตของพวกเขาไปซะ!
ที่เป็นอย่างนี้ เพราะในปี 2003 Dixie Chicks วงคันทรีชื่อดังจากเท็กซัส ที่ทำยอดขายถล่มทลายเกือบ 30 ล้านก็อปปี้ เคยออกมาวิจารณ์นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาที่เข้าร่วมสงครามอิรัก พวกเธอบอกว่ารู้สึกอับอายที่ต้องอยู่ร่วมบ้านเกิดเดียวกับประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช (ที่มาจากเท็กซัสเหมือนกัน) คำพูดของ Dixie Chicks เหมือนราดน้ำมันลงในกองไฟ กระแสความไม่พอใจลุกลามเป็นวงกว้าง มีการเผาทำลายซีดีของวง พวกเธอถูกด่าไม่มีชิ้นดี แถมยังมีการใช้คำเรียกพวกเธออย่างหยาบ ๆ คาย ๆ ผ่านสื่อทุกแพลตฟอร์ม
“พวกค่ายเพลงและพวกที่ถือลิขสิทธิ์เพลงทั้งหลายบอกฉันว่า ‘อย่าเป็นอย่าง Dixie Chicks’ แต่ฉันชอบ Dixie Chicks” เทย์เลอร์บอกไว้ในสารคดี Miss Americana
เดือนตุลาคม ปี 2018 เทย์เลอร์ช็อกแฟน ๆ ทั่วโลก เมื่อเธอโพสต์ยาวเหยียดในอินสตาแกรมส่วนตัวที่ขณะนั้นมีผู้ติดตามกว่า 112 ล้านคน ทำนองว่า ที่ผ่านมาเธอไม่สะดวกใจที่จะแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แต่ตอนนี้เธอเปลี่ยนไปแล้ว และจะลงคะแนนให้ผู้สมัครคนไหนก็ตามที่จะปกป้องและต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ที่เธอเชื่อว่าทุกคนสมควรได้รับในประเทศนี้ เธอเชื่อในการต่อสู้เพื่อสิทธิของ LGBTQ และการกระทำใด ๆ ที่เป็นการดูถูกเหยียดหยามเรื่องเพศสภาพ ล้วนเป็นเรื่องที่ผิดทั้งสิ้น
เทย์เลอร์ยังประกาศสนับสนุน จิม คูเปอร์ ผู้สมัคร ส.ส. และ ฟิล เบรเดเซน ผู้สมัคร ส.ว. จากพรรคเดโมแครต ในการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐอเมริกาที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ปี 2018 ซึ่งเมื่อเบรเดเซนรู้เข้า ก็ขอบคุณเทย์เลอร์ผ่านทวิตเตอร์ว่า “เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ผมได้รับแรงสนับสนุนจากคุณ และจากชาวเทนเนสซีจำนวนมาก เราพร้อมแล้วสำหรับการเลือกตั้ง” (เบรเดเซนจบด้วยประโยค We’re ready for it. ซึ่งล้อไปกับท่อนหนึ่งในเพลง Ready for it ของเทย์เลอร์ที่ร้องว่า Are you ready for it?)
โพสต์ของเทย์เลอร์เรียกเสียงฮือฮาจากสื่อทุกสำนัก เพราะเป็นการยุติช่วงเวลากว่าทศวรรษที่เทย์เลอร์ปิดปากเงียบเรื่องการเมือง การกระทำของเธอเรียกทั้งเสียงชื่นชม แต่ขณะเดียวกันก็สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงขั้นว่าเธอ ‘ทรยศ’ เลยทีเดียว (ทรยศอะไร?) บางคนก็บอกว่า มันน่าจะดีกว่าถ้าเทย์เลอร์ใช้ชีวิตกับดนตรีมากกว่าจะมาแสดงความคิดเห็นอะไรแบบนี้
“เมื่อก่อนฉันหมกมุ่นอยู่กับการหนีให้ห่างจากปัญหาต่าง ๆ แต่ถึงจุดหนึ่งฉันก็ไม่สามารถจะทนฟังคนอื่นบอกว่า ‘อย่าไปยุ่งกับเรื่องนั้นเลย’ ได้อีกแล้ว” คือตอนหนึ่งที่เทย์เลอร์บอกเล่าในสารคดี
แต่การแสดงออกทางการเมืองของเทย์เลอร์ ก็ไม่ใช่เรื่องของเธอเพียงคนเดียวเสียทีเดียว เพราะใน Miss Americana มีฉากที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อเธอตัดสินใจจะโพสต์อินสตาแกรมครั้งนั้น กลับถูกเบรกด้วยทีมงานที่ปรึกษาและพ่อของเธอ (สก็อตต์) ที่มองว่า ถ้าสื่อสารออกไปจะส่งผลกระทบถึงความปลอดภัยในชีวิต และสะเทือนฐานแฟนคลับที่อาจลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่เทย์เลอร์ก็ให้เหตุผลว่า ที่ต้องพูดเรื่องการเมือง เพราะ มาร์ชา แบล็กเบิร์น ผู้สมัครสายอนุรักษนิยมหัวรุนแรง โหวตต้านการจ่ายค่าแรงที่เป็นธรรมสำหรับผู้หญิง โหวตต้านการนำกฎหมายต่อต้านการใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งกฎหมายนี้มีความพยายามที่จะปกป้องผู้หญิงจากความรุนแรงในครอบครัว การถูกติดตาม และการถูกข่มขืนจากการออกเดต อีกทั้งมาร์ชายังเชื่อว่าธุรกิจทั้งหลายมีสิทธิที่จะปฏิเสธการให้บริการแก่คู่รักเพศเดียวกัน และไม่ควรมีสิทธิที่จะแต่งงาน “เธอ (มาร์ชา) บอกว่านี่คือคุณค่าของเทนเนสซีและคุณค่าความเป็นคริสเตียน แต่นี่ไม่ใช่คุณค่าของเทนเนสซีและคุณค่าความเป็นคริสเตียนของฉันเลย” เทย์เลอร์บอกด้วยความรู้สึกที่อัดอั้น
การที่เทย์เลอร์ไม่เห็นด้วยกับนโยบายมาร์ชา ทำให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาบอกว่า เขาชอบเพลงของเทย์เลอร์ “น้อยลง 25%” แต่ถามว่าเทย์เลอร์สนใจไหม ใน Miss Americana เธอแค่ทวนประโยคนี้ แล้วก็หัวเราะอย่างขำ ๆ แบบไม่ใส่ใจอะไร
จุดเปลี่ยนที่ทำให้เทย์เลอร์หันมามุ่งการเมือง ทั้ง ๆ ที่เมื่อก่อนแทบไม่เคยพูดถึงเลย คือเหตุการณ์ที่เธอถูก เดวิด มุลเลอร์ อดีตนักจัดรายการวิทยุท้องถิ่น เอามือมาจับก้นเธอในงานมีทแอนด์กรีทเพื่อโปรโมทคอนเสิร์ตของเธอในเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด เมื่อปี 2013 นำสู่การฟ้องร้องในปี 2016 ซึ่งระหว่างการต่อสู้คดี เทย์เลอร์ต้องเจอการกระแนะกระแหนจากเหล่า ‘haters’ หรือพวกที่เกลียดเธอ โดยหาว่าเทย์เลอร์ ‘เล่นใหญ่เกินเบอร์’ ทั้งที่จริงเหตุการณ์นั้นอาจไม่มีอะไรเลยก็ได้ แต่ท้ายสุด ศาลก็ตัดสินให้นักร้องสาวชนะคดีในปี 2017
เหตุการณ์ดังกล่าวเปลี่ยนมุมมองในการใช้ชีวิตของเทย์เลอร์ไปอย่างมาก สะท้อนจากที่เธอบอกว่า “ครั้งต่อไปที่มีโอกาสจะเปลี่ยนแปลงอะไร รู้ไว้เลยว่าคุณยืนหยัดเพื่อสิ่งใด และอะไรที่คุณอยากจะพูด” ซึ่งแน่นอนว่านี่ไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัวของเทย์เลอร์อย่างเดียว แต่เธอเลือกจะพูดเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้ถูกกระทำทั้งหลายที่ไม่กล้าออกมาบอกว่าตัวเองถูกล่วงละเมิดอย่างไรบ้าง รวมไปถึงประเด็นทางการเมือง ที่ดูเหมือนว่าในยุคของประธานาธิบดีคนที่ 45 สหรัฐอเมริกาต้องเผชิญความแตกแยกทางเชื้อชาติและเรื่องความหลากหลายทางเพศอย่างเห็นได้ชัด
อัลบั้ม Lover ของเทย์เลอร์ที่ออกมาในเดือนสิงหาคม ปี 2019 มีหลายเพลงที่เธอพูดถึงประเด็นทางการเมืองและการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ (ซึ่งนี่ก็ถือว่าเป็นประเด็นทางการเมืองด้วยเช่นกัน) อย่างเพลง You Need to Calm Down ที่ในมิวสิควิดีโอ เทย์เลอร์ก็ชักชวนเพื่อน ๆ LGBTQ มาแจม เพลง The Man ที่เธอต้องการสื่อถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศ และยังมีเพลง Soon You'll Get Better ที่แม้จะมีเนื้อหาถึงแม่ของเธอ (แอนเดรีย) ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง แต่เพลงนี้ก็ได้ Dixie Chicks ศิลปินวงโปรดของเทย์เลอร์มาร่วมฟีเจอริ่ง
“ฉันต้องการจะอยู่ข้างที่ถูกต้องในประวัติศาสตร์” เทย์เลอร์บอก และนี่น่าจะเป็นบทสรุปของการเลือกจะเปิดเผยทัศนคติทางการเมือง หรือถึงที่สุดแล้วนี่คือเรื่องความเท่าเทียมกันของคน ของนักร้องสาวชื่อดังแห่งยุคคนนี้
ที่มา
https://www.theguardian.com/music/2018/oct/08/taylor-swift-instagram-post-endorsement-democrats-tennessee
https://www.vulture.com/2020/01/miss-americana-shows-why-taylor-swift-got-political.html
https://www.vogue.com/article/taylor-swift-cover-september-2019