read
interview
07 ก.พ. 2563 | 19:21 น.
สัมภาษณ์ อโนชา สุวิชากรพงศ์ ประวัติศาสตร์ปรุงแต่งในโลกภาพยนตร์
Play
Loading...
“การทำหนังคือการปรุงแต่งอย่างหนึ่ง แต่ว่าการปรุงแต่งไม่ใช่ว่าจะเป็นการโกหกเสมอไป บางทีการปรุงแต่งก็สามารถนำไปสู่ความจริงบางอย่าง เพราะว่าเรื่องแต่งก็ไม่ใช่เรื่องโกหกเสมอไป”
ใหม่-อโนชา สุวิชากรพงศ์
ผู้กำกับดีกรีรางวัลสุพรรณหงส์ เจ้าของผลงานภาพยนตร์ที่มักสร้างเรื่องราวผสมความจริง ความลวง สารคดี หรือเรื่องแต่ง โดยมีฉากหลังเป็นประวัติศาสตร์ซุกซ่อนอยู่ อย่าง “ดาวคะนอง” ผลงานเมื่อปี 2559 ที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีสุพรรณหงส์
ล่าสุดเธอกลับมาพร้อม
เบน ริเวอร์ส (
Ben Rivers)
ผู้กำกับหนังทดลองชาวอังกฤษ ร่วมกันสร้างภาพยนตร์เรื่องใหม่ “กระบี่, 2562” ที่ยังคงเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผสมผสานระหว่างสารคดีกับเรื่องแต่ง โดยใช้ประวัติศาสตร์เชิงพื้นที่จังหวัดกระบี่มาตั้งคำถามในปัจจุบัน
The People จึงชวนคุยกับเธอในฐานะผู้กำกับที่มักตั้งคำถามประวัติศาสตร์ผ่านการปรุงแต่งในโลกภาพยนตร์ ทว่าบทสนทนานี้เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น
The People: ภาพรวมภาพยนตร์อิสระช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง
อโนชา:
ก็ขึ้น ๆ ลง ๆ นะ แต่ถ้าการฉายตามเทศกาลต่าง ๆ หรือการเข้าโรงไทยจะแตกต่างกัน เพราะ 10 ปีที่ผ่านมาการฉายต่างประเทศยังมีเรื่อย ๆ ไม่ได้น้อยลง แต่เยอะขึ้นไหม... ไม่แน่ใจ ถ้าเยอะขึ้นก็คงไม่ถึงขนาดกราฟพุ่ง ค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไปมากกว่า เพราะเรามีคนรุ่นใหม่เยอะขึ้น
ส่วนหนึ่งเพราะการทำหนังสมัยนี้ไม่ต้องใช้ทุนมากเท่าสมัยก่อน เรามีเทคโนโลยีกล้องคุณภาพ ไม่ต้องแบกกล้องฟิล์มซึ่งแพงมาก แม้กระทั่งกล้องดิจิทัลสมัยก่อนคุณภาพก็ไม่ได้ดีเท่า แต่ปัจจจุบันกล้องทั่วไปก็ถ่ายหนังได้ ตอนนี้มันอยู่ที่การเล่าเรื่องมากกว่า ส่วนในประเทศไทยก็มีพื้นที่ฉายเยอะขึ้น เราว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี มีหนัง thesis ของนักศึกษาเข้าโรงฉายด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายินดี
The People: คาดหวังให้วงการภาพยนตร์อิสระในประเทศไทยเป็นอย่างไร
อโนชา:
อยากเห็นความหลากหลายของเนื้อหา คนทำหนังอินดี้รวมทั้งตัวเราเองด้วยควร guilty และกล้าออกจากตรงนี้เหมือนกัน เรารู้สึกว่าสไตล์หนังอินดี้ในเมืองไทยค่อนข้างจำกัดอยู่ อย่างที่บอก เราก็ guilty ที่อยู่ในโซนนี้เหมือนกัน คือช้า ๆ เอื่อย ๆ เนือย ๆ ดูยาก ดูงง อยากให้มีความหลากหลายมากกว่านี้
The People: ทำไมภาพยนตร์อิสระมักเลือกฉายเทศกาลเมืองนอกก่อน แล้วค่อยกลับมาฉายในประเทศไทย
อโนชา:
เราไม่เชื่อในสิ่งนี้ แต่มันเป็นสิ่งที่ทำกันมา สิ่งที่จะขายได้คือว่าเครดิตในการไปฉายต่างประเทศ เป็นการตลาดอย่างหนึ่ง เหมือนไปเก็บเครดิต ไปเก็บรางวัลแล้วเอามาโปรโมท
The People: ขณะเดียวกัน รางวัลภาพยนตร์ของไทยกลับดูไม่ศักดิ์สิทธิ์เท่ารางวัลต่างประเทศหรือเปล่า เพราะผลงานของคุณเรื่องก่อนอย่าง “ดาวคะนอง” ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีสุพรรณหงส์ แต่โรงภาพยนตร์กลับเพิ่มรอบฉายเพียงนิดเดียวเท่านั้น
อโนชา:
(นิ่งคิด) จริงด้วยเนอะ ตอนแรกไม่คิดแบบนั้น แต่พอคิดอีกในแง่ผลลัพธ์ก็เกิดขึ้นจริง
เพื่อนต่างชาติของเราตื่นเต้นที่ “ดาวคะนอง” ได้รางวัลสุพรรณหงส์ มันเป็น national film award เขาไม่คิดว่าหนังแบบนี้จะได้รางวัลด้วยซ้ำ เพราะ “ดาวคะนอง" ฉีกจากหนังสูตรทั่วไปเยอะ เขาก็แปลกใจและรู้สึกว่าเมืองไทยก้าวหน้าจัง แต่พอฟังที่คุณพูดก็นึกขึ้นได้ว่า มันก็ไม่ช่วยจริง ๆ ในแง่การเข้าโรงภาพยนตร์
The People: ไม่นานมานี้มีข่าวรางวัลสุพรรณหงส์กำหนดเกณฑ์รอบฉายและรายได้สำหรับภาพยนตร์ที่เข้าชิงรางวัล ก่อนจะยกเลิกกฎเกณฑ์นั้นไป คุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
อโนชา:
ต้องถามว่ารางวัลสุพรรณหงส์มีไว้เพื่ออะไร มันควรเป็นรางวัลที่สนับสนุนหนังหรือเปล่า ให้หนังที่ไม่ว่าจะอินดี้หรือไม่อินดี้ก็ตามได้มีที่ยืน เป็นที่รู้จักมากขึ้น การกำหนดเกณฑ์เข้าโรงทั่วประเทศแบบนั้น หนังอินดี้มันเข้าโรงทั่วประเทศไม่ได้ไง
The People: เหมือนถูกตัดสิทธิ์?
อโนชา:
ใช่ค่ะ อย่างที่บอก ต้องถามว่าสุพรรณหงส์มีไว้เพื่ออะไร ถ้ามีไว้เพื่อโปรโมทหนังที่ประสบความสำเร็จก็ทำให้ชัดเจนไปเลย หนังอินดี้ควรมีรางวัลแยกหรือเปล่า แต่มันไม่ควรเป็นแบบนั้นไง
The People: นอกจากผู้กำกับแล้ว อีกพาร์ทหนึ่งในการทำงานคือการเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Purin Pictures คุณก่อตั้งเพื่อวัตถุประสงค์อะไร
อโนชา:
เราอยากสนับสนุนคนทำหนังอิสระในภูมิภาคของเราคือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น เพราะมีหลายประเทศที่เขาไม่ได้รับการสนับสนุนจากทางรัฐบาลในการทำหนัง เลยรู้สึกว่าควรเปิดกว้าง ซึ่งคนทำหนังในโซนนี้ก็รู้จักกันอยู่แล้ว บางคนทำงานร่วมกันด้วยซ้ำ เลยมีไอเดียนี้ขึ้นมา
ช่วงแรกเราเข้าไปสนับสนุนเฉพาะบางเรื่อง แต่หลังจากเปิดมาระยะหนึ่งก็เปิดเป็น open call ให้คนสมัครเข้ามาเลย โดยจะมีการคัดเลือก แต่ละรอบจะมีคณะกรรมการหมุนเวียนจากหลาย ๆ ประเทศในโซนนี้ คัดเลือกและตัดสินใจร่วมกันขั้นสุดท้ายว่าให้ทุนสำหรับการผลิตเรื่องใด ส่วนขั้นตอนหลังการผลิตเราก็จับมือกับบริษัทของ
ลี
(ชาตะเมธีกุล)
คือ Whitelight Post ค่ะ ซึ่งเราจะสนับสนุนแต่ภาพยนตร์อิสระอย่างเดียว
The People: ผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุด “กระบี่, 2562” ทำไมต้องเป็นจังหวัดกระบี่
อโนชา:
ต้องเล่าย้อนไปจุดเริ่มต้นตั้งแต่ผู้กำกับ เบน ริเวอร์ส ที่กำกับร่วมกันในเรื่องนี้ เขาได้รับเชิญเป็นศิลปินรับเชิญในงานศิลปะ Thailand Biennale เมื่อ 2 ปีที่แล้วที่จังหวัดกระบี่ เขาไม่เคยมาประเทศไทยมาก่อน เขาเลยอยากทำงานในพื้นที่ที่ไม่เคยมา แต่เขาก็ไม่อยากทำคนเดียว เลยติดต่อเรามาว่าทำงานร่วมกันไหม เพราะเราเจอกันบ่อยตามเทศกาลต่าง ๆ อยู่แล้ว
พอลงพื้นที่เก็บข้อมูลทำหนังสั้น “The Ambassador” สำหรับฉายในงาน Thailand Biennale เรารู้สึกว่ามันมี material อะไรหลาย ๆ อย่างที่อยากเล่ามากกว่าการเป็นหนังสั้น รู้สึกว่ามันต้องใช้พื้นที่ในการเล่าในรูปแบบหนังยาว จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “กระบี่, 2562”
The People: อยากรู้ว่าเบนเห็นเสน่ห์อะไรของกระบี่ ถึงอยากใช้พื้นที่ตรงนี้ในการสร้างหนัง
อโนชา:
จริง ๆ เป็นการเห็นร่วมกันค่ะ ช่วงลงพื้นที่ก็มีเจ้าหน้าที่ของ Thailand Biennale ซึ่งเป็นคนพื้นที่ พาไปดูโน่นดูนี่ แล้วเราก็รู้สึกว่ามันมีแง่มุมน่าสนใจหลายอย่าง เบนเองก็รู้สึกชอบในเชิง landscape ที่มันมหัศจรรย์ ไปตามถ้ำก็เห็นธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็มีความเป็นเมืองท่องเที่ยวสุด ๆ และมีแง่มุมประวัติศาสตร์ที่นำมาใช้โปรโมทการท่องเที่ยว ถ้าใครเคยไปกระบี่อาจจะเคยเห็นสัญญาณไฟจราจรที่เขาทำเป็นมนุษย์ถ้ำ กระบี่จึงเป็นพื้นที่ที่มีความเก่าแก่ทางประวัติศาสตร์ มีภาพเขียนที่เจอในถ้ำด้วย หรือแม้กระทั่งลูกปัดโบราณ สิ่งเหล่านี้เขาพยายามนำมาเป็นจุดขายของการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ซึ่งเรากับเบนรู้สึกว่าน่าสนใจ
The People: ช่วงลงพื้นที่ คุณเจอเรื่องเซอร์ไพรส์เชิงประวัติศาสตร์อะไรไหม
อโนชา:
ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ แต่เป็นเรื่องปัจจุบันเลย มีพื้นที่หนึ่งเขาทำถ่านไม้เผา เป็นพื้นที่ลึกลับมาก เดินทางเข้าไปเหมือนหลุดไปอีกดินแดน แต่ว่าเราตัดสินใจไม่นำมาใส่ในหนัง เพราะว่ามีประเด็นบางอย่างที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนในด้านศีลธรรม ถ้าจะทำอาจจะต้องโฟกัสเรื่องนี้อย่างเดียวเลย ประเด็นตรงนั้นมีความล่อแหลมหลายอย่าง ทั้งด้านแรงงาน ด้านสิ่งแวดล้อม เราไม่สามารถหยิบฉวยมาใส่ในหนัง เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่แนวทางของเรากับเบน ทั้ง ๆ ที่ตอนแรกมันเป็นส่วนหนึ่งของหนังด้วยซ้ำ เราคุยกันนานมาก แต่รู้สึกว่ามันฉาบฉวยไปหน่อย ถ้าใช้ทำสารคดีเราคงต้องฝังตัวอยู่ที่นั่นเป็นปี ๆ เลย แต่ว่าเรามีข้อจำกัดด้านเวลา เพราะเราต้องสอนหนังสือด้วย (อโนชาเป็นอาจารย์สอน Narrative Fiction ในตำแหน่งอาจารย์รับเชิญที่ภาควิชา Art Film and Visual Studies มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด-ผู้สัมภาษณ์)
The People: การทำงานร่วมกับ เบน ริเวอร์ส เป็นอย่างไรบ้าง
อโนชา:
ตอนถ่ายก็ค่อนข้างไปในทางราบรื่น เพราะเราเป็นคนง่าย ๆ ทั้งคู่ ไม่ค่อยจะเถียงกันเท่าไหร่ แต่ตอนตัดต่อเถียงกันเยอะ (หัวเราะ) เพราะการตัดต่อเป็นการเล่าเรื่อง ไอเดียต่าง ๆ จะต้องมีเหตุผลและหนักแน่นพอที่จะมาสนับสนุนสิ่งที่เชื่อ เพราะเราต้อง convince เบนให้เขามองเห็นว่าเป็นอย่างนี้ ๆ เช่น เรื่องนักท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญของกระบี่ พอคุยกันเขาก็เห็นด้วย แต่บางอย่างเราก็ต้องตามเขา เป็นการพบกันครึ่งทาง เช่น บางคัทเรารู้สึกว่าไม่ต้องยาวขนาดนี้ แต่เขาอยากให้มันยาว ๆ ก็เป็นเรื่องรายละเอียดที่ต้องคุยกัน
The People: ถ้าให้อธิบายสั้น ๆ ว่า “กระบี่, 2562” เป็นภาพยนตร์แบบไหน คุณจะอธิบายว่าอย่างไร
อโนชา:
เราว่ามันเป็นภาพ เป็นภาพที่เล่าถึงเมืองนี้ในยุคปัจจุบัน 2562 ตามชื่อเรื่อง โดยจะบอกว่าปัจจุบันมีความเป็นอดีตซ้อนทับอยู่ แล้วก็มีบางอย่างเป็นสิ่งที่กำลังจะตายไป เช่น โรงหนังเก่า มีตัวละครที่เป็นคนจริง ๆ อย่างคุณลุงคนฉายหนังที่โรงนี้ มีการสัมภาษณ์ ขณะเดียวกันมันก็มีสิ่งที่ปรุงแต่ง มีกองถ่ายโฆษณา มีตัวละครที่ เป้ อารักษ์ (อมรศุภศิริ) มาแสดงเป็นมนุษย์ถ้ำ แต่ขณะเดียวกันก็มีมนุษย์ถ้ำอยู่ที่นั่นด้วย! เรียกว่าเป็นการซ้อนทับกันของหลาย ๆ มิติ ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ ด้านพื้นที่ ด้านความทรงจำ ทั้งเรื่องจริงและเรื่องไม่จริง
The People: ภาพยนตร์เรื่องก่อน “ดาวคะนอง” ใช้ประวัติศาสตร์สมัย 6 ตุลาฯ เป็นฉากหลัง ส่วน “กระบี่, 2562” ใช้ประวัติศาสตร์อะไรเป็นตัวขับเคลื่อนเรื่องราวหรือเปล่า
อโนชา:
ไม่ได้เจาะจงเหตุการณ์ไหนเป็นพิเศษ แต่พอไปลงพื้นที่แล้วรู้สึกว่า กระบี่เป็นเมืองที่เขาก็พยายามผลักดันให้เป็นเมืองเก่าแก่ มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน แล้วก็มีอารยธรรมที่เขานำมาใช้โปรโมทการท่องเที่ยว เราก็รู้สึกว่าน่าสนใจ ขณะเดียวกันก็มีประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน มีวิถีของคนที่ค่อย ๆ เปลี่ยนไป แต่มันไม่ได้มีการถูกบันทึก ไม่ได้มีใครพูดถึงเท่าไหร่ สุดท้ายก็จะถูกลืมเลือนไป เรารู้สึกอยากจะเสนอตรงนั้น
แต่เราจะเหมารวมทั้งหมดไม่ได้ เพราะประวัติศาสตร์บางอย่างก็ไม่ใช่เรื่องแต่งแน่ ๆ อย่างเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ก็ไม่ใช่เรื่องแต่ง ขณะเดียวกัน ก็มีหลายแง่มุมที่เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์บางอย่างเหมือนถูกบังคับให้ลืมเลือนไป มีการทำลายหลักฐานอะไรเต็มไปหมด เราก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่คนทั่วไป รวมทั้งพวกเราต้องตระหนักกับสิ่งเหล่านี้
The People: จุดร่วมอย่างหนึ่งของภาพยนตร์ของคุณทั้งหมด คือการพูดถึงประวัติศาสตร์และการตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์นั้น ๆ คุณคิดว่าการตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์สำคัญกับทุกคนอย่างไร
อโนชา:
จริง ๆ ประวัติศาสตร์ไม่ได้หลุดหายไปไหน สิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วมันก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของปัจจุบัน เพราะฉะนั้นเวลาเราถ่ายสถานที่อะไรก็จะมีภาพซ้อนทับอยู่เสมอ เช่น “ลิโด้” ที่เราอยู่ตรงนี้ มันก็มี “ลิโด” เวอร์ชันเก่าซ้อนทับอยู่ เพียงแต่เรามองไม่เห็นมัน ไม่ใช่ว่ามันไม่เคยเกิดขึ้น ฉะนั้นเวลาบันทึกภาพหรือประวัติศาสตร์อะไร เราจะคิดถึงเบื้องหลังพื้นผิวที่เราเห็นว่าคืออะไร เพราะปัจจุบันมีความพยายามจะทำให้ประวัติศาสตร์หายไปอยู่เยอะนะคะ เช่น การทำลายอนุสรณ์สถานอะไรอย่างนี้
The People: ใน “กระบี่, 2562” พูดถึงเรื่องนี้ไหม
อโนชา:
ไม่ค่ะ เราพยายามจับแง่มุมประวัติศาสตร์กระบี่ในรูปแบบที่เขาไม่ได้นำมาโปรโมทเพื่อการท่องเที่ยว
The People: ส่วนตัวเป็นคนสนใจศึกษาประวัติศาสตร์หรือเปล่า
อโนชา:
ใช่ค่ะ แต่ก็ไม่คิดว่าตัวเองสนใจมากกว่าคนทั่วไป อย่างที่บอก เวลาเรามองอะไรก็จะรู้สึกว่ามันเคยมีอะไรเกิดขึ้นตรงนั้นบ้าง มองภาพที่เห็นในปัจจุบัน แต่มันจะมีภาพอดีตอะไรซ้อนทับอยู่เสมอ เรามองเรื่องภาพค่ะ
The People: อีกหนึ่งจุดร่วมของภาพยนตร์ของคุณ คือการเล่าเรื่องโดยผสมความจริง ความลวง เรื่องเล่า หรือเรื่องแต่ง ทำไมคุณยังใช้เทคนิคการเล่าเรื่องแบบนี้ใน “กระบี่, 2562”
อโนชา:
จริง ๆ เรื่องนี้มีความเป็นสารคดีมากกว่า “ดาวคะนอง” นะคะ เพราะ “ดาวคะนอง” เป็นตัวละครที่ถูกแต่งขึ้นมาว่าเป็นคนทำหนังแล้วไปสัมภาษณ์คนคนหนึ่งที่ไม่ใช่ตัวจริง เพียงแต่พอมันถูกทำซ้ำในหนังอีกทีมันมีความแตกต่างระหว่างอันหนึ่งที่เป็นธรรมชาติของสารคดี และอีกพาร์ทหนึ่งที่เป็นภาพยนตร์จริง ๆ มีคนแสดง แต่พอเป็น “กระบี่, 2562” เราใช้พื้นที่จริง คนที่ให้สัมภาษณ์ก็เป็นคนจริง ๆ สัมภาษณ์แบบตั้งกล้องเลย ไม่มีการซ้อม แม้ว่าจะมีบางตัวละครที่กึ่ง ๆ สัมภาษณ์จริง เราก็เซ็ทขึ้นมาให้ดูเหมือนจริง แต่จริง ๆ แล้วก็แต่งนิดหน่อย
เรารู้สึกว่าการทำหนังคือการปรุงแต่งอย่างหนึ่ง แต่ว่าการปรุงแต่งไม่ใช่ว่าจะเป็นการโกหกเสมอไป บางทีการปรุงแต่งก็สามารถนำไปสู่ความจริงบางอย่าง เพราะว่าเรื่องแต่งก็ไม่ใช่เรื่องโกหกเสมอไป
ภาพยนตร์หรือ fiction ที่เราสามารถอินไปกับมันได้ก็เพราะเรามีอารมณ์ร่วมใช่ไหมคะ ไอ้อารมณ์ร่วมตรงนี้จะเกิดขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อมันมีความจริงบางอย่างอยู่ในหนัง ที่มันสามารถสะท้อนมาหาคนดู แล้วคนดูก็สะท้อนกลับไปที่หนังได้ เรารู้สึกว่าภาพยนตร์, สารคดี หรือ fiction นั้น จริง ๆ มันไม่ควรจะมีเส้นอะไรมาแบ่งกันขนาดนั้นอีกแล้ว เรารู้สึกว่ามันสามารถ crossover กันได้ สารคดีก็เป็นเรื่องแต่งเยอะนะ เพราะเวลาคนทำสารคดีก็มีการตัดต่อเพื่อเล่าในสิ่งที่ตัวเองอยากจะเล่า จริง ๆ ก็เป็นหลักการเดียวกัน มันก็คือการปรุงอะไรขึ้นมา
The People: เหมือนที่คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่า “หนังที่ดีควรเปิดให้คนตีความ” ใช่ไหม
อโนชา:
ใช่ค่ะ ตอนนี้ก็ยังเชื่ออย่างนั้นอยู่ หนังไม่ใช่การสั่งสอน ไม่ใช่ดูออกไปแล้วคุณจะต้องคิดแบบนี้ ๆ แต่ว่ามันคือการกระตุกให้คนดูไปค้นหาความหมายของมัน เช่น เพื่อนของเราดู “ดาวคะนอง” จบแล้วไปเสิร์ชหาข้อมูลเพิ่มเติม มันคือการดูหนังเพื่อเปิดประตูบานหนึ่งไปสู่อีกบานหนึ่ง ไม่ใช่การเอา message มาป้อนใส่คนดู เรารู้สึกว่าไม่ใช่แบบนั้น
The People: มีเรื่องอะไรที่เปลี่ยนความเชื่อทางประวัติศาสตร์ของคุณบ้าง
อโนชา:
เล่าไม่ได้ เพราะจะโดนเซ็นเซอร์ค่ะ (หัวเราะ)
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
รายชื่อคณะกรรมการตัดสิน The People Awards 2025: RISE TO LEAD
17 ม.ค. 2568
29
นายกฯ ประกาศช่วยเหลือเด็กนอกระบบทั้ง 77 จังหวัด ผ่าน Thailand Zero Dropout
17 ม.ค. 2568
2
“ไลอ้อน” มอบรอยยิ้มความสุขให้กับเด็กและเยาวชนไทย สนับสนุนงานวันเด็กแห่งชาติ
17 ม.ค. 2568
1
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Interview
The People
Anocha Suwichakornpong
อโนชา สุวิชากรพงศ์
KRABI 2562
กระบี่ 2562