ลี ชาตะเมธีกุล มือตัดต่อในตำนาน กรรมการเวทีออสการ์ และศิลปินรางวัลศิลปาธร

ลี ชาตะเมธีกุล มือตัดต่อในตำนาน กรรมการเวทีออสการ์ และศิลปินรางวัลศิลปาธร

ลี ชาตะเมธีกุล มือตัดต่อภาพยนตร์ในตำนาน ผู้กลายเป็นกรรมการออสการ์ ตัดต่อหนังหลากหลาย ได้รางวัลมากมาย ได้เป็นคณะกรรมการออสการ์ (Oscar) ในหมวด นักลำดับภาพ (Editor) และได้รางวัล ศิลปาธร 2565 สาขาภาพยนตร์และสื่อเคลื่อนไหว

ถ้าคุณไม่รู้จักเขามาก่อน แล้วกดเสิร์ชชื่อใน Google ดูเล่น ๆ ข้อมูลจะบอกว่าเขาเป็นใครสักคนที่มีนามสกุลพ้องกับผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อ กทม. หากคลิกเข้าไปอ่านผลงานที่ถูกพูดถึงบ่อย ๆ ลี ชาตะเมธีกุล คือ "ผู้กำกับ" ของหนังอาร์ตมากรางวัลเรื่องหนึ่ง และหากดูเฉพาะรูปภาพ (รวมถึงเจอตัวเป็น ๆ ครั้งแรก) คุณอาจจะคิดไปว่าหนุ่มใหญ่ผู้นี้คงเป็นดาราสักคน... แต่เรื่องทั้งหมดไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะในความเป็นจริง ลีไม่ได้เป็นดาราหนัง หากเป็นหนุ่มใหญ่หน้าตาดี (และใจดี)

ขณะที่ผลงานส่วนใหญ่ของเขาก็ไม่ใช่งานกำกับ แต่เป็นงานด้าน Post-Production ซึ่งกอบโกยเครดิตอย่างเป็นล่ำเป็นสันจากการ "ลำดับภาพ" หรือที่เรียกกันติดปากว่า "ตัดต่อหนัง" นั่นเอง

ในวงการภาพยนตร์ ว่ากันว่า นอกเหนือจากคนเขียนบทและผู้กำกับแล้ว นักเล่าเรื่องตัวจริงได้แก่ คนลำดับภาพ เพราะกระบวนการเล่าจะเริ่มจากการเขียนบทขึ้นมา (คนเขียนบท) ตามด้วยการนำเอาบทมาถ่ายทำจริง (ผู้กำกับ) แต่ทั้งหมดจะตกมาอยู่ในมือของคนลำดับภาพ ซึ่งจะทำหน้าที่นำเอา “ผลผลิตจากกองถ่าย” อันเป็นฟุตเตจภาพและไฟล์เสียง มาผสมผสานและร้อยเรียงให้กลายเป็นเรื่องราว

นั่นหมายความว่า หนังจะดูรู้เรื่องหรือไม่ จะออกมาอาร์ตหรือตลาด จะสนุกสนานแค่ไหน ต้องมาวัดกันในขั้นตอนนี้

ลี ชาตะเมธีกุล มือตัดต่อในตำนาน กรรมการเวทีออสการ์ และศิลปินรางวัลศิลปาธร

In the Mood for Love (2000)

"ผมเคยไม่ชอบหนังหว่องกาไว"   ย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อน ลี ชาตะเมธีกุล หนุ่มลูกครึ่งผู้มีแม่เป็นชาวอเมริกัน บินไปใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกา เมืองแห่งเสรีภาพให้ประสบการณ์เรียนรู้มากมาย นอกจากที่พักกับมหาวิทยาลัย เขาก็วนเวียนอยู่แถวร้านเช่าวิดีโอเพราะชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ

เช่นเดียวกับคนในวงการหนังส่วนใหญ่ ลียังชื่นชอบการดูหนังในโรงภาพยนตร์ เพราะเชื่อว่าหนังถูกสร้างขึ้นเพื่อฉายในโรงหนังและการดูในจอขนาดใหญ่จะทำให้เห็นรายละเอียดต่าง ๆ มากมาย สำหรับเขา ภาพยนตร์มีมนต์มายาบางอย่าง จากไม่ชอบหรือเฉย ๆ มันอาจเกาะติดในความรู้สึก และค่อย ๆ เปลี่ยนใจคนได้

เหมือนเมื่อครั้งหนึ่งที่เขาเคยรู้สึกว่าตัวเอง "ไม่ชอบ" หนังของ หว่องกาไว (Wong Kar-Wai) (ตัวพ่อแห่งวงการอาร์ตเฮ้าส์) เอาเสียเลย "ผมยังจำได้ว่าผมเคยไม่ชอบหนังของหว่องกาไว" ลีหมายถึงหนังที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดเรื่องหนึ่งในวงการภาพยนตร์โลกอย่าง In the Mood for Love (2000)

นั่นถือว่าค่อนข้างแปลกสำหรับคนทำหนังในแนวทางศิลปะและอารมณ์ อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วเขาก็ “โดนตก” จนได้ "ตอนดูครั้งแรกผมไม่ชอบ แต่พอเวลาผ่านไป ผมกลับคิดถึงมันเรื่อย ๆ แล้วผมก็เริ่มเอาไปคุยกับเพื่อน และในที่สุด ผมก็ค่อย ๆ ชอบส่วนต่าง ๆ ของหนังเรื่องนี้มากขึ้น และมากขึ้น"

ครั้นเมื่อเรียนจบด้านภาพยนตร์จาก Hampshire College ลีใช้ชีวิตทำหนังที่นั่นพักหนึ่งในฐานะของโปรดิวเซอร์และคนลำดับภาพ ก่อนตัดสินใจกลับเมืองไทย เพราะค้นพบว่าชื่นชอบการใช้ชีวิตในประเทศบ้านเกิดมากกว่า และเหนืออื่นใด เขาอยากทำหนังไทย  

ลี ชาตะเมธีกุล มือตัดต่อในตำนาน กรรมการเวทีออสการ์ และศิลปินรางวัลศิลปาธร ลีในเทศกาลภาพยนต์ไทเป   

มือตัดต่อในตำนาน  

ผลงานหนังสั้นเรื่องแรก เมืองมายา...กรุงธิดา (2542) คว้ารางวัลรองชนะเลิศของมูลนิธิหนังไทย และตระเวนฉายหลายประเทศ เสียงวิจารณ์ตอบรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่งในทักษะการเล่าเรื่องและความกล้าที่จะทดลองสิ่งแปลกใหม่ ก่อนจะผันตัวสู่งานด้าน Post-Production เต็มตัว ในนามของ ฮูดินี สตูดิโอ (Houdini Studio) อยู่เบื้องหลังการลำดับภาพให้หนังของผู้กำกับชื่อดัง

ความมหัศจรรย์ระดับตำนานของลี ไม่ใช่ร่วมงานกับคนทำหนังชื่อดังอย่างต่อเนื่องจนแทบจะเก็บตัวท็อปหมดวงการหนังไทย แต่กลับอยู่ที่การตัดต่อหนังได้ในหลากหลายระดับอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งผลงานเมืองคานส์อย่าง สุดเสน่หา (2545), สัตว์ประหลาด! (2547), Ten Years Thailand (2561) หนังตลาดมุ่งเป้าเข้าหาคนดูแบบ ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2547), โอปปาติก เกิดอมตะ (2550), รักแห่งสยาม (2550) ไปจนถึงหนังคัลท์อย่าง อสุจ๊าก (2550) หรือกระทั่งหนังที่ร่วมงานกับผู้กำกับต่างชาติอย่าง The Elephant King (2009), Apprentice (2016), Pop Aye (2017) และ Karaoke (2009)

ล่าสุดยังมีผลงานที่หลายคนคุ้นชื่ออย่าง มะลิลา (2560), นคร-สวรรค์ (2561), Where We Belong (2562) และล่าสุดกับภาพยนตร์จีน So Long My Son (2019) หนังยาวประมาณ 3 ชั่วโมงที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสามีภรรยาซึ่งสูญเสียบุตรชายเพียงคนเดียว กับการดำเนินชีวิตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของจีน ความสามารถในการตัดต่อหนังได้แทบจะทุกแนว และผลงานออกมาน่าประทับใจ ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถ แต่ยังรวมถึงความเป็นมืออาชีพแบบสุด ๆ ในการทำงานอีกด้วย

และนั่นทำให้หลายคนยกย่องว่า "พี่ลีคือ(ว่าที่)นักตัดต่อระดับตำนาน"  เขาทำได้อย่างไรกับการกระโดดข้ามแนวหนังไปมาขนาดนี้? บางทีคำตอบอาจจะอยู่ในส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์กับ Bioscope ตอนที่ทำงานให้กับ ดาวคะนอง (2559) หนังไทยรางวัลสุพรรณหงส์ ที่ว่ากันว่ามีโครงสร้างซับซ้อนและเล่าเรื่องยากที่สุดเรื่องหนึ่ง

"คุยกับผู้กำกับว่าความรู้สึกที่เขาอยากสื่อสารกับคนดูคืออะไร เราก็ลองมาต่อเป็นจิ๊กซอว์ดูว่า ความรู้สึกตอนจบจะพาเรา (ในฐานะคนดู) ไปถึงจุดนั้นได้ไหม ผมใช้ความรู้สึกคนดูเป็นตัววัดเป็นหลัก เทสต์ตัวผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ว่าความรู้สึกที่ได้จากตัวหนังมันยังส่งผลอยู่ไหม แล้วถ้าหนังแนวนี้ทำให้ผู้กำกับยังรู้สึกเศร้าได้ ร้องไห้ได้ คนอื่นมาดูแล้ว คนอื่นน่าจะส่งผลกระทบหรือมีอิมแพ็คท์มากกว่า"   ลี ชาตะเมธีกุล มือตัดต่อในตำนาน กรรมการเวทีออสการ์ และศิลปินรางวัลศิลปาธร ลีในเทศกาลภาพยนต์ไทเป   

ฟรชชี่แห่งสถาบันออสการ์  

เมื่อถามว่า คนไทยเคยได้ออสการ์ (ในฐานะคนถูกจารึกชื่อรับรางวัล ไม่ใช่ทีมงานที่พ่วงไปด้วย) มาแล้วกี่คน?... คำตอบคือ 0 และหากถามต่อว่าเคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง (เข้ารอบสุดท้าย) มาแล้วกี่คน?... คำตอบก็ยังเป็น 0 อยู่ดี

แต่หากถามว่าเรามีกรรมการออสการ์เป็นคนไทยกี่คน... คำตอบ ณ ตอนนี้คือ 3 คน! การได้เป็นสมาชิกของสถาบันระดับโลกและเต็มไปด้วยบุคคลเก่งกาจ ถือเป็นเกียรติแห่งชีวิตอย่างไม่ต้องสงสัย

ล่าสุด ลี ชาตะเมธีกุล นักทำหนังชาวไทยคือผู้ได้รับเกียรตินั้น เมื่อมีประกาศจากสถาบันศิลปะและศาสตร์แห่งภาพยนตร์ (The Academy of Motion Picture Arts and Science) เชิญให้เป็นสมาชิกใหม่ของสถาบันประจำปี 2019 เคียงข้างกับหน้าใหม่ระดับเวิลด์คลาสอย่าง ทอม ฮอลแลนด์ (Tom Holland), เลดี้กาก้า (Lady Gaga), อะเดล (Adele) และ จอห์น เอ็ม. ชู (Jon M. Chu) ทำไมฝรั่งถึงเห็นค่า?

เอาเข้าจริงแล้ว เกียรติคุณความสำเร็จของ ลี ชาตะเมธีกุล ก่อนจะได้กลายเป็นสมาชิกของคณะกรรมการออสการ์น่าจะยาวเหยียดชนิดที่เผลอ ๆ เจ้าตัวอาจจะจำได้ไม่หมด ในไทยนั้นอยู่ในระดับนับไม่ถ้วน ไม่เพียงรางวัลด้านลำดับภาพจะเต็มตู้โชว์ แต่ยังได้รางวัลสาขาผู้กำกับอีกด้วย

ส่วนระดับนานาชาติคือ เจ้าของรางวัล Asian Film Awards ถึง 3 สมัย ในสาขาการลำดับภาพจาก แสงศตวรรษ, Karaoke และ Apprentice จากสมาชิกทั้งหมดร่วมหนึ่งหมื่นคน ลี ชาตะเมธีกุล จะกลายเป็นหนึ่งในกรรมการของสถาบันที่มีสิทธิ์ในการโหวตผลรางวัลออสการ์ ตามสถิติ ลีเป็นคนไทยลำดับที่ 3 ที่ถูกเชิญเข้ามา โดยสองคนที่รับเกียรติก่อนหน้า ได้แก่ อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล (ผู้กำกับภาพยนตร์ สัตว์ประหลาด, ลุงบุญมีระลึกชาติ และ แสงศตวรรษ) และ สยมภู มุกดีพร้อม (ผู้กำกับภาพ ลุงบุญมีระลึกชาติ, Call Me by Your Name, Suspiria) แต่หากจะนับในฐานะ “คนเชื้อสายไทย” ลีจะกลายเป็นลำดับที่ 4 เพราะยังมี สุทธิรัตน์ ลาลาภ สาวอเมริกันเชื้อสายไทย ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย Slumdog Millionaire, 127 Hours และ Steve Jobs ได้รับเกียรตินี้ในปีเดียวกับอภิชาตพงศ์

แม้เป็นที่ทราบกันว่าผลงานกำกับหนังใหญ่ของลีอย่าง ภวังค์รัก (Concrete Clouds) (2556) จะสร้างชื่อเสียงและรางวัลมากมาย โดยเฉพาะการคว้ารางวัลหนังและผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเวทีสุพรรณหงส์ แต่เราร่ายยาวกันมาขนาดนี้แล้ว คงไม่ต้องสงสัยกระมังว่า สถานะของลีในวงการภาพยนตร์โลกคือตำแหน่งอะไรกันแน่ ขอแสดงความยินดีคณะกรรมการออสการ์คนใหม่ ในหมวดของ "นักลำดับภาพ" (Editor) ที่ชื่อ ลี ชาตะเมธีกุล  

ที่มา: bk mthai kickthemachine คนมองหนัง และ ความทรงจำของผู้เขียนเมื่อครั้งได้พบคุณลี ชาตะเมธีกุล ในช่วงลำดับภาพหนังเรื่อง “เฉิ่ม” และเตรียมงานภาพยนตร์เรื่อง “อสุจ๊าก”  

เรื่องโดย: วิโรจน์ สุทธิสีมา