เคย์ แกรห์ม ยกฐานะ Washington Post ด้วยการยืนยันเสรีภาพสื่อ
"ผมขอยืนยันในความเห็นที่ว่า คดีที่รัฐบาลฟ้อง Washington Post ควรถูกยกฟ้องไปนานแล้ว และคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวที่มีต่อ New York Times ก็ควรเลิกไปโดยไม่ต้องมีการแถลงด้วยวาจาตั้งแต่คดีมาถึงศาลนี้ (ศาลฎีกา) ผมเชื่อว่า ทุกวินาทีที่คำสั่งคุ้มครองที่มีต่อสื่อดำเนินไป เท่ากับการละเมิดบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่ 1 อยู่ทุกเมื่ออย่างชัดเจน และไม่อาจแก้ตัวได้...
"ในบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่ 1 เหล่าบิดาผู้ก่อตั้งประเทศได้มอบความคุ้มครองให้กับสื่อที่เป็นอิสระเพื่อเติมเต็มหน้าที่ที่สำคัญยิ่งในสังคมประชาธิปไตยของเรา สื่อมีหน้าที่รับใช้ผู้ที่ถูกปกครอง ไม่ใช่ผู้ปกครอง อำนาจของรัฐบาลในการควบคุมสื่อถูกกำจัดไปเพื่อให้สื่อมีความเป็นอิสระตลอดกาลในการตำหนิวิจารณ์รัฐบาล สื่อได้รับการคุ้มครองเพื่อที่มันจะได้ทำหน้าที่เปิดโปงรัฐบาลและให้ข้อมูลกับประชาชน มีแต่สื่อที่เป็นอิสระและไม่ถูกครอบงำเท่านั้นที่จะสามารถเผยถึงความหมกเม็ดในรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"และหนึ่งในความรับผิดชอบสูงสุดของสื่อที่เป็นอิสระก็คือหน้าที่ที่จะต้องป้องกันมิให้องค์กรใด ๆ ของรัฐหลอกลวงประชาชน และส่งพวกเขาไปยังดินแดนอันห่างไกลให้ตายด้วยไข้ กระสุนและระเบิดในต่างแดน ความกล้าหาญในการรายงานข่าวไม่สมควรแม้แต่น้อยที่จะถูกลงโทษ New York Times, Washington Post และสื่ออื่น ๆ สมควรได้รับการยกย่องที่ได้ทำหน้าที่ ดังที่เหล่าบิดาผู้ก่อตั้งประเทศได้มองเห็นล่วงหน้าไว้อย่างชัดเจน"
ผู้พิพากษาฮูโก แบล็ค (Hugo Black) หนึ่งในคณะผู้พิพากษาศาลฎีกาสหรัฐฯ ลงความเห็นในคดี New York Times Co. v. United States กรณี New York Times รวมถึง Washington Post ลงรายงานว่าด้วยงานวิจัยของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เกี่ยวกับการตัดสินใจทำสงครามในเวียดนามของรัฐบาล ซึ่งเป็นเอกสารลับ และรัฐบาลต้องการปิดบังข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณะ ที่เผยให้เห็นถึงความสูญเสียที่ไม่คุ้มค่ากับการสละชีวิตและเงินภาษีของประชาชน ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “Pentagon Papers”
คดีดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ เคย์ หรือ แคเธอรีน แกรห์ม (Katherine Graham) เป็นผู้บริหารสูงสุดของ Washington Post สื่อมีชื่อระดับรัฐที่แม้จะมีอายุอานามนับร้อยปีแล้ว แต่ก่อนหน้านั้นก็ล้มลุกคลุกคลานมาเรื่อย เคยเสียเครดิตจากการที่เจ้าของเก่ามีความผูกพันใกล้ชิดกับรัฐบาลที่อื้อฉาว กลายเป็นสื่อไม่ทำเงินและใกล้ล้มละลาย
ยูจีน เมเยอร์ (Eugene Meyer) พ่อของแกรห์มซึ่งเป็นนักธุรกิจการเงินที่มีอิทธิพลสูงคนหนึ่งซื้อสื่อแห่งนี้ในปี 1933 ด้วยเงินไม่ถึง 1 ล้านดอลลาร์ การบริหารของเขาทำให้ยอดขายแต่ละวันเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า จนปี 1941 นิตยสาร Time ยกให้ Washington Post เป็น “หนังสือพิมพ์ในลีกใหญ่หนึ่งเดียวจากเมืองหลวง” (หมายถึงการเป็นสื่อระดับประเทศ เทียบกับ “ลีก” ในกีฬา) จากนั้นจึงได้ส่งไม้ต่อให้กับ ฟิลิป แกรห์ม (Philip Graham) ผู้เป็นลูกเขย และสามีของ เคย์ ลูกสาวของเขา ในปี 1946
ยุคของ ฟิล แกรห์ม Post ยิ่งเติบโตกว่ายุคของพ่อตา มีการขยายกิจการด้วยการซื้อกิจการของหนังสือพิมพ์คู่แข่งร่วมเมือง รวมถึงนิตยสาร Newsweek พัฒนาการรายงานข่าวการเมืองจนได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งเขาตัดสินใจจบชีวิตของตัวเอง เคย์ แกรห์ม ภรรยาม่ายจึงต้องรับดูแลกิจการของครอบครัวต่อมา ตั้งแต่ปี 1963
เรื่องราวของ เคย์ ถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในชื่อ “The Post” (2018) กำกับการแสดงโดย สตีเฟน สปีลเบิร์ก นำแสดงโดย เมอรีล สตรีพ ที่มารับบทเป็น เคย์ แกรห์ม และ ทอม แฮงค์ส เป็น เบ็น แบรดลี (Ben Bradlee) บรรณาธิการใหญ่ของ Washington Post ซึ่งเป็นช่วงเวลาราว 7 ปี หลังเธอก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำบริษัท เมื่อ Post ต้องเข้าไปพัวพันกับกรณี Pentagon Papers อันเป็นที่มาของคำพิพากษาข้างต้น
เคย์ เกิดเมื่อ 16 มิถุนายน 1917 เข้าเรียนที่ Vassar College วิทยาลัยหญิงชื่อดัง (ปัจจุบันเป็นสหศึกษา) ระหว่างปี 1934 ถึง 1936 ก่อนย้ายไปเรียนที่ University of Chicago ในปี 1938 ระหว่างเรียนเธอเริ่มสนใจการเมือง รวมถึงลัทธิคอมมิวนิสต์ (แค่สนใจแต่ไม่ได้สมาทาน) และเคยขอพ่อเดินทางไปเที่ยวโซเวียตแต่ถูกปฏิเสธจึงต้องไปเที่ยวยุโรปแทน
เธอมองอนาคตว่าอยากจะเป็นนักข่าว แต่ไม่ใช่กับ Washington Post เพราะไม่อยากทำงานบริหาร และไม่สะดวกใจกับทัศนะทางการเมืองที่ต่างกัน (เธอไปทางซ้าย พ่อออกจะไปทางขวา) ดังที่เธอกล่าวในจดหมายถึงพี่ในสมัยเรียนว่า
“อย่างที่เธอเห็น เรื่องพ่อมันช่วยไม่ได้นะ เขาอยากได้คนที่พร้อมจะทำทุกอย่างตั้งแต่การรายงานข่าว ไปจนถึงการจัดการยอดขาย ปัญหาต่าง ๆ งานเขียนเชิงบรรณาธิการ และสุดท้ายคือการเป็นผู้ช่วยให้กับเขา ซึ่งปัญหาที่จะตามมาก็คือ หนึ่ง ฉันเกลียดงานโฆษณาและเรื่องยอดขายจนเกินจะบรรยาย ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ผู้บริหารหนังสือพิมพ์ใช้เวลาส่วนใหญ่นั่งกังวลกับมันไป สอง เรื่องทัศนคติที่อาจทำให้เรื่องมันยุ่งยากถ้าฉันไปทำงานให้พ่อ และสาม ฉันไม่เชื่อในความสามารถว่าจะพาเรือใหญ่อย่าง Washington Post ไปรอด และสี่ ฉันรู้ว่าพ่อต้องการคนแบบอื่นที่ทำงานเป็นหุ่นใต้บังคับของเขา และห้า ฉันเชื่อจริง ๆ ว่า นั่นคงเป็นงานสำหรับหมาชั้นสูง…”
เคย์จึงเป็นผู้หญิงที่มีความคิดเป็นของตัวเอง ซึ่งอาจได้แบบอย่างมาจากแม่ด้วย เพราะ แอกเนส เมเยอร์ (Agnes Meyer) แม่ของเคย์เป็นนักข่าวในยุคที่นักข่าวหญิงเป็นของหายาก แอกเนสเคยเขียนบันทึกไว้ถึงคราวที่เธอบอกกับครอบครัวว่าเธอตั้งใจจะเป็นนักข่าวว่า “แม่ของฉันร่ำไห้ ส่วนพ่อก็พูดอย่างขึงขังว่า ‘กูเห็นมึงตายเสียยังดีกว่า’”
เหตุที่เป็นเช่นนั้น เคย์กล่าวใน Personal History (1997) อัตชีวประวัติของเธอว่า ในยุคของแอกเนส ผู้หญิงที่มีการศึกษาถูกคาดหมายว่าจะต้องไปเป็นครูหรือไม่ก็ทำงานเสมียน น้อยเหลือเกินที่จะมาทำงานข่าว ที่มีส่วนใหญ่ก็เขียนแต่เรื่องประโลมโลก หรือตอบคำถามคนอ่านเป็นหลัก
หลังเรียนจบเคย์เริ่มทำงานกับสำนักข่าวอื่นในซานฟรานซิสโก ก่อนกลับมาทำงานกับ Washington Post พ่อของเธอไม่ยอมยกงานบริหารให้กับเธอ อาจเป็นเพราะเขาไม่อยากจะมีปัญหาเรื่องการทำงานกับเธอ นอกจากนี้ สมัยนั้นการมองหาผู้สืบทอดมักจะมองไปที่ “ผู้ชาย” แต่ลูกชายของเขาไม่สนใจงานข่าว ฟิล แกรห์ม ลูกเขยจึงได้รับการหมายตาให้มารับช่วงต่อ เมื่อเมเยอร์ต้องไปรับงานเป็นประธานธนาคารโลกคนแรก
ดังที่กล่าวไปเบื้องต้น ฟิลเป็นคนเก่งที่พ่อตาตั้งความหวังไว้สูง เมื่อเมเยอร์หมดวาระจากธนาคารโลก เขาก็ไม่คิดจะยึดอำนาจคืนมาจากฟิลซึ่งทำผลงานได้ดีเยี่ยม ช่วยให้หนังสือพิมพ์กลับมาทำกำไรอีกครั้ง หลังประสบภาวะขาดทุนอีกครั้งเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง และขยายกิจการออกไปให้ใหญ่โตยิ่งกว่ายุคที่อยู่ในมือของพ่อตา
แต่ฟิลก็มีปัญหาส่วนตัว นั่นคือโรคซึมเศร้าซึ่งแสดงอาการเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1957 หลังเหตุการณ์นักเรียนผิวดำเข้าเรียนในโรงเรียน Little Rock ซึ่งเดิมมีแต่คนขาว ก่อนที่ศาลฎีกาจะระบุว่า กฎหมายจัดตั้งโรงเรียนที่มีการแบ่งแยกทางเชื้อชาตินั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ และคนผิวดำกลุ่มนี้ก็ต้องการพิสูจน์สิทธิตามรัฐธรรมนูญของพวกเขา แต่สำหรับคนขาวมันคือการท้าทายอำนาจทางจารีตที่พวกเขามีอยู่เดิม ผู้ว่าอาร์คันซอจึงพยายามขัดขวางการเข้าเรียนของนักเรียนกลุ่มนี้ โดยสั่งให้กองกำลังรักษาดินแดนเข้าสกัดไม่ให้เข้าเรียน โดยอ้างว่าจะเกิดอันตรายและความไม่สงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
ระหว่างนั้น ฟิลพยายามใช้เส้นสายต่าง ๆ ที่เขามี เพื่อให้กลุ่มนักเรียนสามารถเข้าเรียนได้อย่างสันติ โดยใช้เวลาโทรศัพท์ทั้งวันทั้งคืนหาผู้มีอิทธิพลในทำเนียบขาวและอาร์คันซอ แต่เมื่อได้เห็นรัฐบาลกลางส่งกำลังทหารเข้าไปควบคุมความสงบเรียบร้อย แม้จะคลายความวุ่นวายที่ใกล้ถึงจุดแตกหักลงได้ แต่สำหรับฟิลมันคือความพ่ายแพ้ และทำให้สภาพจิตใจของเขาเข้าสู่ภาวะวิกฤต และเคย์ก็เพิ่งเห็นความผิดปกตินี้เป็นครั้งแรก
เคย์ต้องทำความเข้าใจกับอาการป่วยของสามีและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป รวมถึงการแสดงอารมณ์ที่รุนแรงต่อเธอ หลังจากนั้นไม่นาน เธอยังพบว่า สามีของเธอนอกใจ แม้ว่าตอนแรกที่ถูกจับได้ ฟิลจะยอมตัดสัมพันธ์กับชู้รัก แต่เมื่อเขาประสบกับปัญหาซึมเศร้ารุนแรงอีกครั้ง เขาก็ตัดสินใจกลับไปหาชู้รักคนเดิม โดยพร้อมจะตัดสัมพันธ์กับเคย์ทั้งการสมรส ครอบครัว และธุรกิจ โดยเขาต้องการหย่า ต้องการสิทธิในการเลี้ยงดูบุตร รวมถึงเสนอที่จะเอาเงินบริษัทมาจ่ายเป็นค่าหุ้นที่เคย์ถืออยู่ เพื่อตัดเธอออกไปจากความสัมพันธ์ทางธุรกิจด้วย
สถานการณ์นั้นทำให้เคย์เจ็บปวดมาก นอกจากเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัวแล้ว สำหรับเธอ Post คือกิจการของครอบครัวที่พ่อของเธอปั้นขึ้นมาจากซากปรักหักพัง ฟิลได้รับหุ้นใหญ่ไปจากพ่อของเธอเพราะเขาทำงานมาอย่างยาวนาน และมีส่วนช่วยขยายกิจการให้ใหญ่โต ทำให้เขาเชื่อว่า หุ้นที่ได้มานั้น เขาได้มาด้วยกำลังของตัวเอง ไม่ใช่เพราะแค่เป็นเขย แต่ถ้าไม่ได้พ่อของเธอช่วยพยุงสถานการณ์ไว้ในภาวะที่ยากลำบาก (ซึ่งไม่ได้เกิดแต่เฉพาะเริ่มซื้อกิจการ) Post ก็คงจะล้มไปนานแล้ว เธอจึงไม่ยอมให้ Post หลุดมือไปง่าย ๆ
แต่หลังจาก 6 ปี ที่ฟิลตรวจพบอาการซึมเศร้า เขาเริ่มมีอาการทรุดหนัก และได้ยุติความสัมพันธ์นอกสมรสก่อนกลับมาหาเคย์ แต่ไม่นานจากนั้น เขาก็ตัดสินใจฆ่าตัวตาย เคย์จึงได้ Post กลับมา พร้อมกับการสูญเสียสามีไปอีกครั้ง
ความพยายามของเคย์ที่จะมีส่วนในการกำหนดทิศทางของ Post มีมาแต่ต้น ทั้งเรื่องทิศทางการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม ซึ่งเธอเห็นต่างจากผู้นำกองบรรณาธิการที่เห็นด้วยกับการทำสงคราม แต่ก็ไม่อยากหักในทันทีที่เพิ่งเริ่มงาน และเธอยังเห็นว่า Post ต้องการ “ความใหม่” ที่จะสร้างสีสันให้กับกองบรรณาธิการ ที่เธอเห็นว่าแม้จะไม่ทรุด แต่ก็ไม่ก้าวหน้าไปไหน เธอจึงคิดที่จะดึงตัว เบ็น แบรดลี มาอยู่กอง บ.ก. ของ Post ตั้งแต่ปี 1964 ก่อนที่แบรดลีจะย้ายจาก Newsweek มาร่วมทีมในปีต่อมา
นั่นคือปูมหลังชีวิตของเคย์ ที่แม้จะเป็นลูกเศรษฐีแต่ก็ไม่ได้มีชีวิตที่ราบเรียบ ซึ่งเป็นส่วนที่ The Post ไม่ได้กล่าวถึง ก่อนที่เธอจะต้องทำการตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุดอีกครั้งหนึ่งในกรณี Pentagon Papers ดังที่ปรากฏในภาพยนตร์
แต่เหตุการณ์ในชีวิตจริงอาจจะไม่ได้บีบคั้นมากเช่นนั้น ช่วงเวลาดังกล่าว เคย์ต้องการนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นจริง ตามคำเสนอของ ฟริตซ์ บีบี (Fritz Beebe) ที่ปรึกษาคนสำคัญ ก่อนหน้าที่ Pentagon Papers จะหลุดออกมา ในเรื่องมีการแสดงภาพของเคย์ในฐานะผู้นำที่ไม่ได้รับการยอมรับเท่าไรนักจากคณะกรรมการที่ทั้งหมดเป็นผู้ชาย สะท้อนผ่านความเห็นของ อาร์เธอร์ พาร์สัน (Arthur Parson) หนึ่งในคณะกรรมการ ที่กล้าพูดกับเคย์ผู้เป็นนายใหญ่ต่อหน้าว่า
"เคย์ มีคนเขากังวลนะกับการมีผู้หญิงนั่งบริหารหนังสือพิมพ์ว่าเธอจะไม่มีความหนักแน่นพอที่จะตัดสินใจในเรื่องยาก ๆ"
แต่ อาร์เธอร์ พาร์สัน เป็นเพียงตัวละครสมมติเท่านั้น และตอนนั้นเคย์ก็บริหาร Post มากว่า 7 ปีแล้ว การดึงตัว เบ็น แบรดลี เข้ามาร่วมทีมก็มีขึ้นท่ามกลางเสียงคัดค้านของทั้ง บ.ก. และ บ.ก. บริหาร ที่ไม่เห็นด้วยกับการให้แบรดลีเข้ามารับตำแหน่งใหญ่ในกอง บ.ก. ทันที โดยยื่นเงื่อนไขว่าแบรดลีต้องเข้ามาในฐานะนักข่าวธรรมดาแล้วไต่เต้าขึ้นตามลำดับ แต่เธอก็สามารถพาแบรดลีเข้ามารับตำแหน่งใหญ่ในกองได้ และเพียงปีเดียวแบรดลีก็ขึ้นมานั่งเก้าอี้ บ.ก. เต็มตัว โดย บ.ก. คนเก่าต้องยอมลงจากเก้าอี้แต่โดยดี
การบอกว่าเคย์ในปี 1971 ไม่มีความหนักแน่นในการตัดสินใจเรื่องยาก ๆ จึงออกจะเป็นการลดทอนความสามารถของเธอในขณะนั้น แต่นั่นก็ทำให้การตัดสินใจครั้งสำคัญในการเผยแพร่ Pentagon Papers ดูดราม่ายิ่งขึ้น เมื่อเธอเปลี่ยนจากผู้หญิงที่ไม่กล้าตัดสินใจ เป็นผู้หญิงที่สามารถทำการตัดสินใจได้อย่างหนักแน่นในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน
ในเรื่องยังทำให้เคย์ตัดสินใจยากขึ้นไปอีก ด้วยการให้ โรเบิร์ต แม็กนามารา อดีตรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาลของสองประธานาธิบดีคนก่อนหน้าจากเดโมแครต เตือนเคย์ไม่ให้เผยแพร่เอกสารชุดนี้ เนื่องจาก ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน (ณ ตอนนั้น) จากพรรครีพับลิกัน เกลียด Post และ เบ็น แบรดลี มาก และพร้อมจะใช้อำนาจรัฐเข้าคุกคาม
อย่างไรก็ดี แม็กนามาราตัวจริง แม้จะไม่เห็นด้วยกับการเผยแพร่งานวิจัยที่เขาทำขึ้นก่อนเวลาอันควร แต่เมื่อมันหลุดออกมาแล้ว เขาก็เห็นว่า New York Times ควรจะเผยแพร่ข้อมูลต่อไป ทั้งยังเป็นคนเสนอความเห็นไปถึง Times ว่าจะควรจะยอมยุติการเผยแพร่ก็ต่อเมื่อ “ศาลฎีกา” มีคำพิพากษาสั่งให้ยุติเท่านั้น
แรงกดดันหลาย ๆ อย่างในเรื่องจึงไม่ได้มีอยู่จริง (คำพูดที่ว่า นิกสันเกลียด Post นั้น คนที่พูดกับแคเธอรีนจริง ๆ คือ เฮนรี คิสซิงเจอร์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของนิกสัน ซึ่งพูดเรื่องนี้กับเธอหลังเหตุการณ์ผ่านไปนานแล้ว)
การปูเรื่องว่า Post มีเวลาเตรียมตัวในการเผยแพร่ Pentagon Papers เพียงไม่กี่ชั่วโมง โดยต้องเดิมพันทุกสิ่งทุกอย่างกับการตัดสินใจของเธอ จึงเป็นปมที่ผู้เขียนบทพยายามสร้างความบีบคั้นให้เธอที่เป็นตัวเอกต้องตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้อง (เหตุผลหลักที่กองบรรณาธิการบอกว่าต้องรีบเผยแพร่ก็เพราะเพื่อเกาะ “โมเมนตัม”)
แต่ความกังวลเดียวในการตัดสินใจของเคย์จริง ๆ มาจากความเห็นของฟริตซ์ ที่ปรึกษาที่เธอไว้ใจและมักจะเห็นด้วยกับเธอในเรื่องสำคัญ ๆ มาโดยตลอด ที่ให้ความเห็นว่า “ถ้าเป็นผม ผมว่าผมคงไม่เผยแพร่” แต่ในอัตชีวประวัติของเธอ เธอบอกว่า ฟริตซ์ไม่ได้ยกสาเหตุประกอบการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเอาบริษัทเข้าตลาดหุ้น หรือปัญหาทางกฎหมายที่จะตามมา จึงเหมือนเขาไม่ต้องการชี้นำเธอ และต้องการให้เธอตัดสินใจเองในเรื่องนี้ ซึ่งเธอตกลงใจให้เผยแพร่
และแม้จะมีมือกฎหมายแสดงความกังวลว่า Post อาจต้องข้อหาสมรู้ร่วมคิดได้ หากแหล่งข่าวของทั้ง Post และ Times เป็นคนเดียวกัน ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริง (คนที่ปล่อยเอกสารให้กับสื่อทั้งสองแห่งคือ ดาเนียล เอลส์เบิร์ก, [Daniel Ellsberg] หนึ่งในนักวิจัยที่มีส่วนในการทำ Pentagon Papers) ฟริตซ์ที่ตอนแรกบอกว่า ถ้าเป็นตัวเองจะไม่เผยแพร่ ก็กลับผลักดันให้เคย์เดินหน้าต่อตามความตั้งใจเดิม
ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องแต่งที่ทำให้เส้นเรื่องซึ่งมีเคย์เป็นตัวหลักมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น แต่ความดราม่าในเรื่องหลายอย่างไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริง และทำให้คนจากฝั่ง Times มองว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้พยายามขโมยประวัติศาสตร์ที่ควรจะเป็นการต่อสู้ของ Times ไปให้คู่แข่งอย่าง Post
บทพูดในเรื่อง อย่างการบอกว่า Times มีเวลาตั้ง 3 เดือนก่อนจะตีพิมพ์ ขณะที่ Post มีเวลาแค่วันเดียว ซึ่งทำให้ดูเหมือน Times ตัดสินใจเรื่องนี้อย่าง “สบาย ๆ” แต่ในทางตรงกันข้าม พวกเขาต้องใช้เวลานั้นเพื่อวิเคราะห์และพิสูจน์ความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าว เพื่อให้แน่ใจว่ามันไม่ใช่เอกสารปลอม พร้อมกับใช้เวลาวางแนวทางการต่อสู้คดี เพราะพวกเขารู้ดีว่ารัฐบาลจะไม่อยู่เฉยแน่ แถมคนที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการทำข่าวนี้อย่าง นีล ชีฮัน (Neil Sheehan) ก็ไม่ปรากฏตัวในภาพยนตร์เรื่องนี้แม้แต่วินาทีเดียว จึงไม่แปลกที่ The Post จะทำให้คนฝั่ง Times ไม่พอใจ
เจมส์ กรีนฟีลด์ (James Greenfield) ในวัยกว่า 90 ปี อดีต บ.ก. ข่าวต่างประเทศ ผู้ร่วมดูแลโครงการ Pentagon Papers ของ Times กล่าวว่า "สิ่งที่ผมกังวลที่สุดก็คือ มัน (ภาพยนตร์ The Post) บิดเบือนหนึ่งในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของวงการสื่อมวลชนอเมริกัน" (Columbia Journalism Review)
เมื่อภรรยาของกรีนฟีลด์บอกให้เขาปล่อยผ่าน เขาบอกว่า "ผมปล่อยไม่ได้หรอก จากนี้ไปอีกหลายรุ่น คนที่ได้เห็นหนังเรื่องนี้คงพูดว่า 'อ๋อ เป็น Washington Post นี่เองที่ได้เอกสาร Pentagon Papers' มันเป็นสิ่งที่ผมกังวลมาก ในสายตาของคนดูรุ่นใหม่มันจะกลายเป็นภาพจำในประวัติศาสตร์ของพวกเขา"
ขณะที่ นีล ลูอิส (Neil Lewis) นักข่าวของ Times ที่อยู่มานานกว่า 2 ทศวรรษ กล่าวว่า "ผมนี่เตรียมที่จะช่วยเขียนบทภาพยนตร์เกี่ยวกับการที่ Times เป็นผู้เปิดโปงคดี Watergate เลย" (ในความเป็นจริงคือ บ็อบ วูดเวิร์ด และ คาร์ล เบิร์นสไตน์ คือสองนักข่าวจาก Post ที่ทำให้ Watergate กลายเป็นข่าวดังที่เชื่อมโยงไปถึงการใช้อำนาจอันมิชอบของรัฐบาลนิกสัน)
แน่นอนว่า การตัดสินใจครั้งนั้นของเคย์ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเธอต้องเตรียมใจกับการเผชิญกับการดำเนินคดีที่ตามมา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทได้หลายอย่าง แต่การยืนข้างกองบรรณาธิการที่ต้องการยืนยันเสรีภาพสื่อด้วยการเผยแพร่ข้อมูลชุดนี้ ก็ช่วยให้ Post กลายมาเป็นสื่อระดับประเทศที่สามารถเทียบเคียงกับ Times ได้สำเร็จ
และนั่นก็เป็นเป้าหมายที่แบรดลีมุ่งหวังเป็นอย่างมาก ดังที่เขากล่าวในภายหลังว่า "นั่นคือจังหวะสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของ Post ในการก้าวไปสู่จุดสูงสุด หนึ่งในเป้าหมายลับ ๆ ของเราก็คือ การให้โลกอ้างถึง Post และ New York Times ในคราวเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมามันไม่เคยเป็นอย่างนั้น แต่หลังจาก Pentagon Papers มันก็เป็นเช่นนั้นแล้ว"
นอกจากนี้ การตัดสินใจครั้งนั้นซึ่งศาลฎีกายืนเคียงข้างพวกเขา ทำให้การทำข่าวเปิดโปงรัฐบาลที่ฉ้อฉลและใช้อำนาจนอกกฎหมายโดยอ้างความมั่นคง เป็นเรื่องที่เคย์สามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น และหลังจากนั้นเพียงหนึ่งปีก็เกิดกรณี Watergate ขึ้น ซึ่งคราวนี้เป็น Post ที่กลายเป็นหัวหอกในการเปิดโปงรัฐบาล โดยใช้เอกสารลับที่ถูกส่งมาจาก “Deep Throat” แหล่งข่าวในเอฟบีไอที่ช่วยมอบหลักฐานในการมัดตัวนิกสันและผู้เกี่ยวข้อง