ชาวอินเดียอเมริกัน บุกยึดคุกอัลคาทราซ อ้างสิทธิแผ่นดินบรรพชน
เหตุการณ์ที่ถูกจดจำมากที่สุดเกี่ยวกับคุกแห่ง "อัลคาทราซ" คือการแหกคุกของสามนักโทษชายในปี 1962 จากคุกที่ได้ชื่อว่า แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี และไม่เคยมีใครหลบหนีได้สำเร็จ แต่ทั้งสามสามารถหลุดรอดจากเกาะนักโทษไปได้ แม้ไม่รู้ว่าจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตอย่างอิสระบนแผ่นดินใหญ่ได้หรือไม่?
เรื่องราวดังกล่าวมีการกล่าวขานซ้ำแล้วซ้ำเล่า และยังถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูด "Escape from Alcatraz" นำแสดงโดย คลินต์ อีสต์วูด กลายเป็นภาพจำที่ติดตาคนทั่วโลกถึงเหตุการณ์ในคราวนั้น ราวกับว่านั่นคือเหตุการณ์สำคัญที่สุดที่เคยเกิดขึ้นบนเกาะนักโทษแห่งนี้
จนแทบไม่มีใครจำได้ว่า ครั้งหนึ่งอัลคาทราซเคยเป็นพื้นที่ที่ถูกชาวพื้นเมืองอเมริกัน หรือที่เมื่อก่อนเรียกกันว่า อินเดียอเมริกัน (ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับอีกต่อไปแล้ว) บุกเข้ายึดครองเมื่อคราวรัฐบาลปล่อยให้กลายเป็นคุกร้าง เพื่อสะท้อนปัญหาของชนพื้นเมืองที่ถูกเบียดบัง และกลายเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกละเลยในแผ่นดินที่บรรพชนของตนเป็นผู้บุกเบิก
จากข้อมูลของ Britannica อัลคาทราซ เป็นเกาะในอ่าวซานฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย มีพื้นที่ราว 56 ไร่ อยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่ประมาณ 2 กิโลเมตร เมื่อศตวรรษที่ 18 นักสำรวจชาวสเปนมาพบที่นี่เข้าและบันทึกมันลงบนแผนที่ แล้วตั้งชื่อให้ว่า "Isa de los Alcatraces" ตามชื่อนกน้ำที่มาตั้งอาณานิคมบนเกาะที่หาต้นไม้ใบหญ้าได้ยากแห่งนี้ (แม้ว่าชนพื้นเมืองจะ “พบ” เกาะแห่งนี้มานานหลายพันปีแล้ว)
รัฐบาลสหรัฐฯ ซื้อเกาะแห่งนี้ในปี 1849 เพื่อสร้างประภาคารแห่งแรกในบริเวณชายฝั่งซานฟรานซิสโก แล้วเสร็จในปี 1854 ก่อนถูกใช้ประโยชน์ทางการทหารเป็นทั้งค่าย ป้อมปราการ และเรือนจำสำหรับนักโทษทหาร รวมถึงนักโทษชนพื้นเมืองอเมริกันที่ต่อต้านนโยบายดูดกลืนทางวัฒนธรรม และทหารอเมริกันที่แปรพักตร์ไปร่วมต่อสู้กับขบวนการปลดปล่อยฟิลิปปินส์ที่เรียกร้องอิสรภาพจากสหรัฐฯ
หลังจากกองทัพสหรัฐฯ ใช้ประโยชน์เกาะแห่งนี้มานานราว 80 ปี ในปี 1933 มันก็ถูกโอนย้ายมาให้อยู่ในความดูแลของกระทรวงยุติธรรมที่รับโอนต่อมาแล้วพัฒนาให้กลายเป็น "เรือนจำตัวอย่าง" ให้กับเรือนจำกลางอื่น ๆ ตัวประเทศ
บนเว็บไซต์ของ สำนักงานเรือนจำกลางสหรัฐฯ กล่าวว่า ในยุค 1920s ถึง 1930s เป็นช่วงเวลาเศรษฐกิจตกต่ำและเกิดอาชญากรรมวุ่นวายไปทั่ว ทางรัฐบาลกลางจึงต้องแสดงให้เห็นว่า พวกเขาเอาจริง จึงตั้งใจจะสร้างเรือนจำความมั่นคงสูงสุด มีการจำกัดสิทธิผู้ต้องขังมากที่สุด เพื่อรับมือกับนักโทษอุกฉกรรจ์ที่เรือนจำอื่น ๆ ก็คุมไม่อยู่
ตำนานของคุกที่มีระบบความมั่นคงสูงสุดบนเกาะอัลคาทราซจึงเริ่มต้นขึ้น
แต่จากข้อมูลของสำนักงานเรือนจำกลางเองก็บอกว่า จริง ๆ แล้ว อัลคาทราซไม่ใช่คุกสุดโหดอย่างในนิยายหรือในหนัง กลับกันที่นี่แม้นักโทษส่วนใหญ่จะเป็นนักโทษร้ายแรง แต่สภาพความเป็นอยู่ค่อนข้างดีไม่แออัด จำนวนนักโทษเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 260 ถึง 275 คน ไม่เคยเต็มขีดจำกัดที่ 336 คน นักโทษหลายคนจึงมองว่าที่นี่มีความสะดวกสบายกว่า อย่างน้อยก็มีห้องขังเป็นของตัวเอง นักโทษบางรายยังขอย้ายจากเรือนจำอื่นมาขอรับโทษที่นี่ด้วย
และหลังจากเกิดเหตุการณ์ 3 นักโทษหลุดจากการคุมขังมาได้ในปี 1962 ถึงเดือนมีนาคม 1963 คุกอัลคาทราซก็ปิดตัวลง
สาเหตุไม่ใช่เพราะทั้ง 3 เป็นต้นเหตุทำให้ความเป็นอัลคาทราซเสื่อมมนต์ขลัง (คุกที่ไม่มีใครแหกได้) แต่เรื่องนี้ทางรัฐบาลเขาคิดกันมานานแล้ว (สำนักงานเรือนจำกลางเขาว่างั้น) ด้วยความที่มันเป็นเกาะโดดเดี่ยว ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจึงสูงมาก แต่ละสัปดาห์ทางเรือนจำต้องขนน้ำมากักตุนคราวละเป็นล้านแกลลอน ของทุกอย่างก็ต้องขนส่งมาทางเรือ ตัวอาคารก็ชำรุดทรุดโทรม เมื่อเห็นว่า ถ้าจะต้องทำการปรับปรุงก็คงต้องใช้งบอีกมาก จึงเห็นว่าควรปิดแล้วไปสร้างที่อื่นเสียดีกว่า
เมื่ออัลคาทราซถูกทิ้งร้างไป บรรดานักกิจกรรมชนพื้นเมือง (ที่สมัยนั้นยังยอมรับการเรียกกลุ่มชนของตนว่า “อินเดียอเมริกัน”) ก็พยายามอ้างสิทธิเหนือเกาะแห่งนี้ ตามสนธิสัญญา Laramie Treaty ปี 1868 ที่ระบุว่า ที่ดินของรัฐที่ไม่ถูกใช้ประโยชน์ ชนพื้นเมืองอเมริกันสามารถเรียกร้องสิทธิในการใช้ประโยชน์ได้ แต่ลำพังคนกลุ่มเล็ก ๆ ยึดเกาะที่ถูกตัดขาดจากสาธารณูปโภคที่จำเป็นก็เป็นเรื่องยาก
จนกระทั่งปี 1969 ความพยายามที่จะยึดเกาะแห่งนี้อย่างจริงจังโดยกลุ่มชนพื้นเมืองจึงเกิดขึ้น
แผนการคราวนี้มีแกนนำเป็น อดัม นอร์ดวอลล์ (Adam Nardwall) นักธุรกิจชนพื้นเมืองจากพื้นที่อนุรักษ์ Red Lake ในมินเนโซตา กับ ริชาร์ด โอกส์ (Richard Oakes) ช่างเหล็กชาวโมฮอว์กที่พเนจรจากชายฝั่งตะวันออกมาถึงซานฟรานซิสโก ซึ่งต้องการเปลี่ยนให้เกาะแห่งนี้เป็นที่ตั้งของศูนย์วัฒนธรรมชนพื้นเมือง หลังศูนย์อินเดียอเมริกันแห่งซานฟรานซิสโกเสียหายจากการถูกไฟไหม้
"เราจะขอซื้อเกาะที่เรียกว่าอัลคาทราซด้วยเงิน 24 ดอลลาร์ กับลูกปัดแก้ว แล้วก็ผ้าแดง ตามมาตรฐานที่คนขาวเคยซื้อเกาะลักษณะคล้าย ๆ กันเมื่อ 300 ปีก่อน เรารู้ว่า 24 ดอลลาร์มันมากกว่าเงินที่ใช้ซื้อเกาะแมนฮัตตันเสียอีก แต่เราก็เข้าใจว่า ที่ดินมันก็ต้องแพงขึ้นตามกาลเวลา" ประกาศของ Indians of All Tribes กลุ่มชนพื้นเมืองที่เข้ายึดเกาะ ระบุ (The New York Times)
เบื้องต้นการยึดครองอัลคาทราซได้รับการสนับสนุนจากเหล่าเสรีชนจำนวนมาก มีผู้คนเดินทางมาเยี่ยมมากมาย CCR วงร็อกชื่อดังก็บริจาคเงินให้กับกลุ่มเป็นจำนวน 15,000 ดอลลาร์เพื่อนำไปซื้อเรือ และมีผู้บริจาคอาหารให้เป็นจำนวนมาก
แต่การจัดการภายในของกลุ่มประสบปัญหาค่อนข้างมาก รวมถึงการจัดการกับการรับบริจาค ซึ่งคนให้ก็ไม่รู้ว่าเงินของตนถูกนำไปจัดสรรอย่างไร ตรงกับวัตถุประสงค์แค่ไหน ของบางอย่างถูกซื้อมาเกินจำเป็น เช่น เครื่องหุงต้ม แต่เครื่องใช้อื่นที่จำเป็นอย่างผ้าห่ม ผ้าปูนอน กลับขาดแคลน เรื่องของอาหารบางครั้งผู้บริจาคให้เนื้อไก่งวงสดมาเป็นร้อยตัว แต่ทางกลุ่มไม่สามารถปรุงสุกให้เสร็จก่อนที่มันจะเน่าเสียได้ สุดท้ายก็กลายเป็นเสียของ
นอกจากนี้ ริชาร์ด โอกส์ ตัวตั้งตัวตีในการยึดครองเกาะก็ตัดสินใจทิ้งเกาะไปในช่วงต้นปี 1970 หลังลูกสาววัย 13 ปีของเขาตกตึกลงมาจนได้รับบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตในอีก 5 วันต่อมา หลังจากนั้นสถานการณ์บนเกาะก็ค่อย ๆ ย่ำแย่ลง เมื่อเวลาผ่านไปกระแสตื่นตัวของสังคมในการสนับสนุนชาวพื้นเมืองก็เริ่มจางหาย ความเป็นอยู่ของนักกิจกรรมเหล่านี้ก็เริ่มฝืดเคือง
"ชีวิตของชาวอินเดียที่เข้ายึดครองเกาะเป็นไปอย่างขัดสน น้ำดื่มที่ต้องขนใส่ถังและเหยือกขึ้นเรือเล็ก ๆ มาส่งก็ขาดแคลนอยู่เสมอ บางทีก็มีแค่แสงเทียนไว้ส่องสว่างยามค่ำ แม้จะมีผู้บริจาคเครื่องปั่นไฟมาให้ หนึ่งในนั้นเป็นของสมาคมแรงงานอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่พวกเขาก็ขาดแคลนเชื้อเพลิง บางส่วนก็ต้องการการซ่อมแซม" รายงานชิ้นหนึ่งในช่วงเดือนพฤศจิกายน 1970 ของ The New York Times ระบุ
ด้วยความขาดแคลนเชื้อเพลิง ชนพื้นเมืองต้องรื้ออาคารที่สร้างด้วยไม้บนตัวเกาะมาใช้เป็นเชื้อเพลิงแทน ตัวอาคารอื่น ๆ ก็ชำรุดเสียหายมากขึ้น ก่อนที่ตัวประภาคารจะถูกไฟไหม้ ซึ่งทางกลุ่มชนพื้นเมืองอ้างว่าเป็นฝีมือของผู้บุกรุก
ในเดือนมิถุนายน 1971 ความวุ่นวาย และเหตุการณ์ทรัพย์สินบนเกาะเสียหาย เป็นข้ออ้างให้ทางการบุกเข้าจับกุมตัวนักกิจกรรมชนพื้นเมืองที่เหลืออยู่ 15 คน ยุติการยึดครองอัลคาทราซเป็นเวลานานราว 18 เดือน หลังจากนั้น รัฐบาลยังจัดให้มีเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันซ้ำอีก และเร่งประกาศให้อัลคาทราซเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติโกลเด็นเกตในปี 1972 เพื่อไม่ให้ชนพื้นเมืองอ้างได้ว่าเป็นพื้นที่ที่ไม่ถูกใช้ประโยชน์ได้อีก
เหตุการณ์คราวนั้นเหมือนเป็นสิ่งตอกย้ำว่า คำสัญญาของคนขาวไม่เคยมีความจริงใจต่อพวกเขาเลย
"เราพูดถึงสิทธิในการมีชีวิต สิทธิที่จะเป็นมนุษย์ และนี่คือสิ่งที่พวกเขาทำกับเรา มันแสดงให้เห็นว่า ทัศนคติของพวกเขาไม่ได้เปลี่ยนไปเลย" จอห์น ทรูเดลล์ (John Trudell) แกนนำชนพื้่นเมืองกล่าวในวันที่พวกเขาถูกขับออกจากเกาะ (The New York Times)