ประวิทย์ สะสีสังข์ วินมอเตอร์ไซค์บำราศนราดูร “ไม่กลัวโรค แต่กลัวอดตาย”
“อยู่หน้าบำราศฯ เขาบอกมันเสี่ยง เสี่ยงแล้วจะให้ทำยังไง อาชีพเราอยู่ตรงนี้ ทุกคนก็กลัวกันหมดนั่นแหละ แต่ถ้าไม่วิ่งวินฯ ที่นั่งหน้าสลอนกันอยู่จะเอาที่ไหนกิน เขาจะมาบอกว่า เฮ้ย อยู่บ้าน นอนอยู่บ้าน โธ่...เขาก็พูดได้ ก็เขามีสตางค์ แต่รากหญ้าอย่างเราจะอยู่ยังไง” คือเสียงสะท้อนของ ประวิทย์ สะสีสังข์ หนึ่งในสมาชิกวินมอเตอร์ไซค์หน้าสถาบันบำราศนราดูร
ที่หลายคนว่าเสี่ยง เพราะ สถาบันบำราศนราดูร เป็นสถาบันที่ดูแลเรื่องโรคระบาดและโรคอุบัติใหม่ต่าง ๆ รวมทั้งยังมีหน้าที่กักกันผู้ป่วยโรคติดต่ออันตรายตามข้อตกลงระหว่างประเทศ เวลามีข่าวโรคติดต่อร้ายแรงเมื่อไหร่ ชื่อสถาบันบำราศฯ ก็จะปรากฏขึ้นมาเป็นด่านหน้าทุกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อโควิด-19 แพร่ระบาดเป็นวงกว้างในไทย สถาบันบำราศฯ ก็เป็นอีกแห่งสำคัญที่รับหน้าที่ดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยของผู้ติดเชื้อโควิด-19 โรคที่หลายครั้งไม่อาจสังเกตได้ด้วยตา เพราะผู้ป่วยหลายคนแทบไม่ปรากฏอาการรุนแรง แต่สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้อย่างง่ายดายโดยไม่รู้ตัว
เรื่อง ‘social distancing’ หรือ ระยะห่างทางสังคม จึงเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ต้องพาผู้โดยสารซ้อนท้ายไปยังจุดหมายปลายทาง
“เมื่อก่อนขับ 6 โมงถึง 9 โมงเช้า 3 ชั่วโมงได้ 300 บาทแล้ว แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีเลย ขับตั้งแต่เช้าได้ 4 เที่ยว เที่ยวละ 10 บาท ได้ 40 บาท คิดว่าอยู่ได้ไหมล่ะ”
ฉากดรามาไม่ได้เริ่มต้นขึ้นตอนที่ประวิทย์พูดประโยคนี้ แต่ชีวิตที่ต้องต่อสู้กับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม และหนักกว่าเดิมตั้งแต่มีการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน ทั้งที่ก่อนหน้านั้น วินมอเตอร์ไซค์บำราศฯ ถือเป็นวินฯ ที่มีลูกค้าหนาตามากวินฯ หนึ่งในย่านนั้น
อาจเพราะในซอยติวานนท์ 14 เป็นที่ตั้งของหน่วยงานสาธารณสุขหลายแห่ง ทั้ง กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค ไปจนถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา วินมอเตอร์ไซค์ปากซอยสถาบันบำราศนราดูร หรือ ‘วินบำราศ’ ตามคำเรียกติดปาก จึงเป็นที่พูดถึงกันในวงการคนขับวินมอเตอร์ไซค์ว่า “วินบำราศคนต่อแถวยาวไปจนถึงหน้าปากซอย ใคร ๆ ก็อยากมาขับกันทั้งนั้น”
แต่เมื่อโควิด-19 แพร่กระจาย ภาพที่เห็นจึงดูเหมือนจะค้านสายตาผู้มาเยือนอยู่มากนัก ถนนหนทางแทบจะร้างผู้คน มีเพียงประวิทย์และเพื่อนร่วมวินมอเตอร์ไซค์อีกราว 10 คน ที่นั่งอยู่ข้าง ๆ กัน นาน ๆ ทีถึงจะหันมาคุยกันบ้าง ราวกับฆ่าเวลาเพื่อรอลูกค้าสักคนเดินเข้ามา ‘วินบำราศ’ ในวันนี้ จึงกลายสภาพจากวินฯ ที่คึกคัก สู่การนั่งรอคนนานนับชั่วโมงแต่ก็ไร้วี่แวว
“คุณก็เห็นอยู่ คุณนั่งกับผมมาเป็นชั่วโมงแล้ว เห็นพวกผมออกกันหรือยังล่ะ กว่าจะได้สักคนต้องรอเป็นชั่วโมง รอบละ 10 บาท วันหนึ่ง 8 ชั่วโมง ก็ 80 บาท นี่เที่ยวแรกผมยังไม่ได้ออกเลย” ประวิทย์เล่าด้วยท่าทางเคร่งเครียด แววกังวลฉายชัดในดวงตา ไม่ต่างจากบรรดาเพื่อนวินมอเตอร์ไซค์ที่หันมาพยักหน้ารับคำพูดของประวิทย์ ก่อนจะตามมาด้วยเสียงแค่นหัวเราะที่ดูเป็นเรื่องตลกร้ายเหลือเกินกับชีวิตช่วงนี้
ประวิทย์เล่าว่า วินมอเตอร์ไซค์บำราศนราดูรมีด้วยกันถึง 70 คน ปกติช่วงเวลาทองคือ 6-9 โมงเช้า ทุกคนจะมาตั้งแถวรับส่งคนกันอยู่ที่วินฯ หลัง 3 ชั่วโมงนั้นคือเวลานับสตางค์ของพี่น้องชาววินฯ ซึ่งจะได้กันคนละไม่ต่ำกว่า 300 บาท จากนั้นแต่ละคนจะกระจายไปอยู่ตามจุดต่าง ๆ บ้างก็ปักหลักที่กรมควบคุมโรค บ้างก็เลือกที่กระทรวงสาธารณสุข ก่อนจะกลับมารวมตัวกันอีกครั้งช่วง 5-6 โมงเย็นที่คนเริ่มเลิกงาน จากนั้นสมาชิกวินฯ ส่วนใหญ่จะแยกย้ายเข้าบ้านเพื่อพักผ่อนในราว 1-2 ทุ่ม เฉลี่ยแล้วแต่ละวันจะได้กันคนละ 600-700 บาท
ด้วยเวลาและรายได้การขับวินมอเตอร์ไซค์ โดยเฉพาะวินฯ บำราศนราดูร เป็นเหตุผลให้ประวิทย์ตัดสินใจเข้ามาทำอาชีพนี้หลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 อันเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เขาซึ่งเป็นแรงงานในสายพานการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าต้องตกงาน อาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างสร้างรายได้ให้ประวิทย์ได้อย่างใจหวัง มันเพียงพอที่จะทำให้เขาสร้างเนื้อสร้างตัว มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่เขาก็ไม่คิดเลยว่าวันหนึ่งมันจะมาสู่ทางตันอีกครั้งแบบไม่ทันตั้งตัว เมื่อโรคระบาดลุกลามเข้ามาเมืองไทย หลายฝ่ายรณรงค์ให้ ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ แต่นั่นยิ่งเป็นสิ่งย้ำชัดถึงความเหลื่อมล้ำที่ถ่างกว้างกว่าเดิม การหยุดอยู่บ้านไกลายเป็นเรื่องของ ‘อภิสิทธิ์ชน’ ที่มีเพียงบางคนเท่านั้นที่จะทำได้ ขณะที่ยังมีคนจำนวนมากไม่สามารถหยุดอยู่บ้านได้
ความเสี่ยงในการติดโรคเทียบไม่ได้เลยกับภาระที่คนรายวันเหล่านี้ต้องแบกรับ ไหนประวิทย์จะต้องดูแลแม่กับพ่อวัยชรา รถกระบะที่ต้องผ่อนเดือนละ 7,500 บาท ซึ่งยังเหลืออีก 8 เดือน ไหนจะต้องหาเงินจ่ายค่าบ้านที่ค้างอยู่กว่า 3 แสนบาทกับภาวะเศรษฐกิจเป็นพิษเช่นนี้ จากชีวิตที่ยากอยู่แล้วในแต่ละวัน ทุกวันนี้แทบปางตาย
“ไม่ต้องกลัวหรอกโรคน่ะ จะกลัวอะไร หากินก่อนดีกว่า เดี๋ยวอดตาย” ประวิทย์สรุป
เมื่ออาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างไม่สร้างรายได้ให้เหมือนเดิม เขาจึงเพิ่มโอกาสให้ตัวเองจากแรงงานออฟไลน์อย่างเดียว เป็นแรงงานออนไลน์ควบคู่กันไปด้วยเสียเลย
“มันเป็นตัวช่วยได้ดีมาก เราเลือกเวลาเข้างานได้” ประวิทย์พูดถึงการตัดสินใจสมัครเป็นพนักงานส่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันเจ้าดังรายหนึ่ง โดยเขาจะได้ค่าจ้าง 39 บาทต่อรอบ และจะรับงานผ่านแอปฯ วันละ 2 กะ สำหรับกะแรกของวันคือตั้งแต่ 9 โมงถึงเที่ยง เขารับงานได้เฉลี่ย 6-7 รอบ ส่วนกะบ่ายซึ่งเลือกกะไว้ตั้งแต่บ่ายโมงกว่าถึง 2 ทุ่ม ก็ได้อีกราว 7 รอบ ซึ่งสำหรับเขาก็เป็นเงินที่เพียงพอแล้วในหนึ่งวันที่ควรหาได้
“ผมต้องแบ่งเวลาในการวิ่ง จะไปวิ่งแอปฯ อย่างเดียวไม่ได้ เพราะมันเป็นเงินแห้ง ออกทุกวันที่ 15 ของเดือน แต่วิ่งวินฯ เราได้เงินสด เราต้องจัดการเวลามาวิ่งหาเงินสด เพื่อเอาเป็นต้นทุนไปวิ่งแอปฯ เช่น ช่วงเช้าก็วิ่งวินฯ ก่อนให้มีเงินติดตัว เราจะได้มีกิน มีเงินหมุนเวียนในกระเป๋าแต่ละวัน ส่วนเงินจากการวิ่งแอปฯ ค่อยเป็นเงินเก็บและค่าใช้จ่ายหลักของเรา”
เพราะฉะนั้น ตอนนี้ตารางชีวิตของประวิทย์จึงเป็นการออกจากบ้านตั้งแต่ 6 โมงเพื่อวิ่งวินฯ จนถึง 9 โมงเช้า แล้วเข้ากะรับงานผ่านแอปฯ ส่งอาหารจนถึงเที่ยง จากนั้นเข้าวินฯ อีกครั้งเพื่อวิ่งรับส่งลูกค้า พอบ่ายโมงกว่าก็เข้ากะรับงานผ่านแอปฯ อีกครั้งจนไปจบที่ 2 ทุ่ม และวิ่งวินฯ ต่อถึง 3 ทุ่ม โดยเป็นการทำงานหนักขึ้นอีก 2 ชั่วโมง เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัวและบรรเทาภาระหนี้สิน
ขณะที่เงิน 5,000 บาทจากการเยียวยาในโครงการ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ ที่รัฐมอบให้ ประวิทย์บอกว่าลงชื่อไปแล้ว แต่ไม่ตื่นเต้นอะไร และที่จริงก็ไม่ควรมาคัดกรองอีกทีว่าใครจะได้หรือไม่ได้ เพราะมันคือสิทธิ์ที่ประชาชนต้องได้รับ
“ความหวังในวันนี้ก็หากินไปวัน ๆ มีเลี้ยงชีพไปวัน ๆ คงไม่มีจังหวะที่ดีกว่านี้ แต่ก็หวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้นกว่านี้เร็ว ๆ ชีวิตจะได้กลับมาปกติเหมือนเดิม”
เรื่องและภาพ: (ในวงเล็บ)