จีน-ไทย จากรัฐบรรณาการ สู่ความเป็น พี่-น้อง

จีน-ไทย จากรัฐบรรณาการ สู่ความเป็น พี่-น้อง
รัฐจีน-ไทย มีความสัมพันธ์มายาวนาน แต่โบราณกาลก่อนนั้นคงไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะกล่าวได้ว่า "จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน" เพราะจีนก่อนศตวรรษแห่งความอัปยศ (คือหลังสงครามฝิ่น) ถือว่าตนเป็นเจ้าโลก รัฐรอบข้างถือเป็นรัฐบริวารที่ต้องเข้ามานอบน้อมหากหวังจะเข้ามาทำการค้าขายกับจีน ด้วยเหตุนี้ รัฐของคนไทยในอุษาคเนย์จึงต้องส่งบรรณาการไปให้จีนเพื่อแลกกับประโยชน์ทางการค้า รวมถึงความชอบทางการเมือง ด้วยกษัตริย์ไทยสมัยก่อนต้องการการรับรองจากจักรพรรดิจีน ผ่าน "ตราโลโต" ดังที่เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ทรงอธิบายว่า "จะอธิบายพระราชลัญจกรมหาโลโตให้ท่านทราบเสียด้วย เปนตราที่พระเจ้ากรุงจีนพระราชทานพระเจ้ากรุงสยาม เห็นจะเปนที่เจตนาจะตั้งแต่งเป็นเมืองประเทศราชของกรุงจีน ทำด้วยหยกสีตองอ่อน มีลักษณะเป็นแท่นสี่เหลี่ยม บนนั้นแกะเป็นรูปอูฐหมอบ ใต้นั้นแกะเปนหนังสือจีนอย่างตัวเหลี่ยมสี่ตัว ผู้รู้เขาอ่านว่า เสียม โหล ก๊ก อ๋อง" (Silpa-Mag) ธรรมเนียมการจิ้มก้องและแสดงความนอบน้อมต่อจักรพรรดิจีนของรัฐไทยมีมาจนถึงสมัยกรุงเทพฯ จนกระทั่งถึงยุคศตวรรษแห่งความอัปยศของจีน ที่มหาอำนาจตะวันตกมีอิทธิพลทางการค้าและการเมืองกับรัฐไทยมากกว่า ธรรมเนียมจิ้มก้องจึงเป็นอันเลิกไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4  พระองค์ทรงเคยยืนยันถึงลำดับชั้นความสัมพันธ์ จีน-ไทย เทียบกับอาณาจักรเพื่อนบ้านข้างเคียงอย่างกรุงหงสาวดีที่เคยตีเอาชนะกรุงศรีอยุธยา จนตกเป็นประเทศราช ภายหลังรัฐไทยแข็งเมืองไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจ เมื่อมีการศึกและมีหนังสือถึงกันนั้น  "สำนวนไทยใช้ว่า พี่ท่านน้องท่าน แต่สำนวนกรุงหงสาวดีนั้นว่าสูงศักดิ์เกินไป แต่ยังคงเปนพระราชสาสนพระเจ้าแผ่นดินทั้งสองฝ่าย ไม่ได้ดูถูกดูแคลนเหมือนอย่างเจ๊กปะกิ่งดูถูกไทยว่าต่ำกว่าจีน" (พระบรมราชโองการ เรื่องแห่พระราชสาสนครั้งทูตไทยไปเมืองจีนแต่โบราณ)  แล้ว “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน" มาจากไหน? ความสัมพันธ์ที่ถูกเปรียบเทียบอย่างใกล้ชิดอย่างคนในครอบครัวนี้ จุดเริ่มต้นไม่ได้อยู่ที่ความสัมพันธ์ระดับอาณาจักรต่ออาณาจักร หรือรัฐต่อรัฐ หากเริ่มต้นในระดับชุมชน เมื่อคนจีนอพยพเข้ามาทำมาหากินในเมืองไทย และบางครั้งก็เกิดความวุ่นวายกระทบกระทั่งระหว่างกัน จนต้องอ้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดลึกซึ้งเช่นนี้ขึ้นมา เพื่อคลี่คลายความบาดหมาง จากบทความเรื่อง Blood Is Thicker Than Water: A History of the Diplomtic Discourse “China and Thailand Are Brothers” (เลือดข้นกว่าน้ำ ประวัติศาสตร์วาทกรรมทางการทูต “จีน ไทย พี่น้องกัน”) โดย กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์ และ กัญญา ภู่ภักดิ์ ได้ทำการศึกษาความเป็นมาของวาทกรรมนี้แต่ยุคแรกเริ่ม จนคลี่คลายกลายมาเป็นวาทกรรมที่ถูกใช้บ่อยครั้งโดยนักการเมืองของทั้งสองประเทศ  โดยเบื้องต้น วาทกรรมดังกล่าวก่อตัวขึ้นหลังการตั้งรกรากของคนจีนโพ้นทะเลจำนวนมหาศาลในเมืองไทยช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 มีการแต่งงานระหว่างคนจีนกับคนไทย ทำให้เกิดการหลอมรวมทางวัฒนธรรมของคนทั้งสองชุมชนขึ้นเป็นลำดับ (แต่เมื่อมีหญิงจีนอพยพเข้ามามากขึ้น การแต่งงานระหว่างจีนกับจีนจึงทำให้การหลอมรวมทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นได้ช้าลง)  และเมื่อรัฐไทยเปลี่ยนไปสู่การเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ ก็มีการออกกฎหมายมอบสัญชาติไทยให้ลูกหลานคนจีนที่เกิดในเมืองไทย ขณะเดียวกัน รัฐบาลแห่งราชวงศ์ชิงสืบเนื่องมาถึงรัฐบาลสาธารณรัฐ ก็พยายามดึงคนจีนโพ้นทะเลให้อยู่ใต้อาณัติของตนต่อไปโดยประกาศว่าพวกเขายังคงเป็นพลเมืองจีนอยู่ ก็เลยเกิดการแย่งชิงความภักดีทางการเมืองของสองรัฐในหมู่คนจีนในเมืองไทย  เมื่อคนจีนในเมืองไทยมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจสูงขึ้นเป็นลำดับ แต่ยังคงแสดงท่าทีภักดีต่อแผ่นดินจีนอยู่ ย่อมทำให้รัฐไทยเกิดความระแวงสงสัย ดังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ทรงประณามชาวจีนที่ไม่ยอมหลอมรวมเข้ากับสังคมไทยเอาไว้ในพระราชนิพนธ์ “พวกยิวแห่งบูรพาทิศ” ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 จึงมีความพยายามที่จะคลายความตึงเครียดระหว่างรัฐกับชุมชนชาวจีนในเมืองไทย ดังที่ทรงมีพระราชดำรัสต่อชุมชนชาวจีนว่า  อันที่จริงไทยกับจีนนั้นต้องถือว่าเป็นชาติที่เป็นพี่น้องกันโดยแท้ นอกจากนี้เลือดไทยกับจีนได้ผะสมกันเปนอันหนึ่งอันเดียว จนต้องนับว่าแยกไม่ออก ข้าราชการชั้นสูงๆ ที่เคยรับราชการหรือรับราชการอยู่ในเวลานี้ ที่เปนเชื้อจีนก็มีอยู่เปนอันมาก แม้ตัวข้าพเจ้าเองก็มีเลือดจีนปนอยู่ด้วย โดยเหตุเหล่านี้ไทยและจีนจึงได้อยู่ด้วยกันได้อย่างสนิทสนมกลมเกลียวมาช้านาน” กรพนัชและกัญญากล่าวถึงพระราชดำรัสข้างต้นที่ทรงมีขณะเสด็จพระราชดำเนินเยือนโรงเรียนเผยอิงว่า  "วัตถุประสงค์ของพระราชดำรัสของพระองค์นั้นชัดเจนว่าเพื่อหนุนนำให้ชาวจีนอพยพรักประเทศไทยเพิ่มเติมจากประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสด็จเยือนเผยอิงส่งสัญญาณถึงความสำคัญของโรงเรียนจีน ในฐานะองค์กรส่วนหน้าที่จะบ่มเพาะเยาวชนชาวจีนที่ใช้ชีวิตในเมืองไทย ซึ่งพระองค์ทรงย้ำเตือนถึงหน้าที่ของโรงเรียนจีนที่จะต้องร่วมสร้างสังคมส่วนรวมว่า: "ในโรงเรียนของท่าน ท่านย่อมสั่งสอนให้นักเรียนรักประเทศจีน อันเป็นบ้านเกิดเมืองมารดร ข้อนี้ย่อมเป็นของธรรมดา และของควร ข้าพเจ้ายังหวังว่าท่านจะสอนให้รักเมืองไทยด้วย... ถ้าท่านพยายามอบรมเด็กจีน...ไทยและจีน ก็จะอยู่ด้วยกันอย่างสนิทสนม ยังประโยชน์ให้เกิดแก่กันทั้งสองฝ่าย และจะนำความสุขมาสู่ ทั้งไทยและจีน อันเป็นชาติพี่น้องกัน" ความเป็นพี่น้องของไทย-จีน ณ ตอนนั้นจึงถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองในประเทศเป็นสำคัญ ขณะที่ในชั้นระหว่างประเทศนั้นเริ่มมีขึ้นก็เมื่อเข้าสู่ช่วงสงครามเย็น ซึ่งเบื้องต้น ด้วยความที่ไทยเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ จึงมีท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์กับจีนที่อยู่ขั้วตรงข้าม และชาวจีนในเมืองไทย ก็ถูกมองด้วยสายตาไม่น่าไว้วางใจ แต่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นักชาตินิยมคนสำคัญของไทย (ซึ่งได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2) และเคยเป็นผู้จัดแคมเปญต้านจีน ก็เกิดระลึกขึ้นได้ว่าไม่ควรตามหลังสหรัฐฯ ต้อย ๆ หลังการประชุมบันดุง (อินโดนีเซีย) เมื่อปี 1955 ซึ่งโจว เอินไหล นายกรัฐมนตรีจีนได้ยืนยันว่าจะไม่แทรกแซงและแทรกซึมประเทศไทย จอมพล ป. จึงเห็นว่าควรรักษาสัมพันธ์กับจีนไว้ และส่งคณะทูตไปประเทศจีนแบบลับ ๆ ในการเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีที่กรุงปักกิ่งในปี 1957 ทีมงานทูตวัฒนธรรมไทยก็ได้นำวาทกรรม “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” มาใช้ประโยชน์ ขณะที่ตัวแทนทางฝั่งจีนก็รับลูกว่า จีน-ไทย ไม่ใช่แค่เพื่อนบ้าน แต่เป็นญาติสนิทที่ผ่านร้อนผ่านหนาวด้วยกันมา อย่างไรก็ดี ปีเดียวกันนั้นเอง จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ทำรัฐประหารยึดอำนาจจอมพล ป. แล้วก็หันไปซบสหรัฐฯ เต็มตัว  ทำให้สัมพันธ์จีน-ไทย ขาดตอนไปอีกครั้ง  กระทั่งทศวรรษ 1970s เมื่อสถานการณ์สงครามเย็นเขม็งเกลียวมากขึ้น แต่สหรัฐฯ ขาดแรงสนับสนุนในประเทศในการทำสงครามในเวียดนามจนต้องถอนทัพกลับบ้าน ไทยจึงเห็นว่า การเปิดความสัมพันธ์กับจีนน่าจะเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการอยู่รอดจากภัยคุกคามทั้งภายใน (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) และภายนอก (เวียดนาม) “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” จึงถูกนำมาใช้ประโยชน์อีกครา เพื่อปรับความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติสู่ขั้นปกติในปี 1975 "ระหว่างกระบวนการปรับความสัมพันธ์สู่ขั้นปกติของจีน-ไทย สำนวน 'จีนไทยพี่น้องกัน' กลายเป็นวาทกรรมทางการทูตที่ถูกใช้อย่างกว้างขวางในการอธิบายต่อสาธารณะ เพื่ออ้างความชอบธรรมในการเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศ ทั้งนี้ เมื่อต้องมีการปรับนโยบาย ผู้วางนโยบายจำเป็นต้องหาหลักฐานที่ประกอบด้วยเหตุผลและความน่าเชื่อถือในการสนับสนุนการเปลี่ยนนโยบาย เพื่อโน้มน้าวประชาชนในประเทศให้คล้อยตาม ในกรณีนี้ เมื่อรัฐไทยยุติความเป็นปฏิปักษ์และมุ่งหาสันติภาพ ก็จำเป็นต้องอธิบายต่อสาธารณะถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายการต่างประเทศของไทยต่อจีน การหันมาหาวาทกรรมความเป็นพี่น้องเพื่อแทนที่มรดกความเป็นศัตรูต่อกัน จากกรณีจีนเข้าไปเกี่ยวข้องกับช่วงเวลาแห่งความปั่นป่วนจากสงครามภายในกับ พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) นับว่ามีเหตุอันอ้างได้ ท่ามกลางสภาวะความขัดแย้งทางการเมืองและอุดมการณ์ระหว่างจีนกับไทย การใช้วาทกรรมนี้จึงนับว่าเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมที่สุดกับสิ่งที่สองประเทศมีร่วมกัน ความผูกพันโดยสายเลือด ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่มีร่วมกัน" กรพนัชและกัญญากล่าว อย่างไรก็ดี มิใช่ว่าวาทกรรมนี้จะถูกใช้โดยไทยแต่ฝ่ายเดียว จีนเองก็พึงพอใจกับการใช้วาทกรรมความเป็นครอบครัวบรรยายลักษณะความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน คือนอกจากไทยแล้ว จีนยังนับเป็นญาติพี่น้องกับพม่า ส่วนกัมพูชานั้นก็นับเป็นเพื่อนตาย หรือเพื่อนบ้านที่มีสัมพันธ์ฉันพี่น้อง อีกด้วย ด้วยเหตุนี้ นับแต่ปรับความสัมพันธ์สู่ขั้นปกติ สำนวน “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” ก็ถูกใช่เรื่อยมาตามวาระและโอกาสทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายจีน ทั้งเวลาที่จะแสวงประโยชน์ร่วมกันหรือสลายความขุ่นข้องใจต่อกัน สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน  ตัวอย่างเช่น คราวที่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ กล่าวถึงกรณีเรือล่มที่ภูเก็ต (2018) ซึ่งมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเสียชีวิตจำนวนมากว่า "เรื่องนี้เป็นเรื่องของคนจีนที่ทำกับนักท่องเที่ยวจีนเอง ทำเรือของเขาเอง ละเมิดฝ่าฝืนและทำผิดกฎหมายไทย เขาทำตัวของเขาเอง" ก็สร้างความไม่พอใจให้กับคนจีนและทางการจีนเป็นอย่างมาก ประวิตรเลยต้องออกมาขอโทษเป็นการใหญ่ จัดงานเลี้ยง “ข้าวเหนียวมะม่วง” ทุบสถิติโลก (2019) โดยเชิญนักท่องเที่ยวจีนนับหมื่นมาร่วมงานที่เมืองทองธานี ซึ่งในงานนี้ประวิตรก็ให้สัมภาษณ์กับสื่อจีนว่า “รัฐบาลขอให้ความมั่นใจที่จะดูแลความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวจีนทุกคน ไทยและจีนเป็นพี่น้องกัน ร่วมมือกันได้ทุกเรื่อง และขอให้เดินทางมาท่องเที่ยวอย่างสบายใจ” (Voice TV) หรือกรณีข้อพิพาท #nnevvy จากเหตุแฟนดาราไทยในเมืองจีนตั้งข้อสังเกตว่า ดาราไทยรายหนึ่งฝักใฝ่ไต้หวัน จนนำไปสู่วิวาทะระหว่างประเทศของชาวเน็ตไทยกับชาวเน็ตจีนนั้น สถานทูตจีนประจำประเทศไทยก็ออกมาย้ำให้รัฐบาลไทยและประชาชนคนไทยต้องยึดมั่นในหลักการ “จีนเดียว” ก่อนยกสำนวน "จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน" มาปิดท้าย คำว่า “พี่-น้อง” แม้จะฟังดูใกล้ชิด แต่ก็ห่างเหินด้วยลำดับชั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัฒนธรรมที่เคารพอาวุโสอย่างไทยหรือจีน การแสดงออกของสถานทูตจีนจึงอาจทำไปในฐานะผู้อาวุโสที่ต้องการสั่งสอนรัฐบาลไทยและคนไทยก็ได้ และด้วยการรัฐประหารรอบล่าสุด รัฐบาลไทยก็ยิ่งใกล้ชิดกับจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเบื้องต้นรัฐบาลตะวันตกไม่ยอมรับรัฐบาลทหาร ขณะที่จีนอ้าแขนรับเป็นอย่างดี และแม้ฝ่ายรัฐบาลทหารของไทยจะอ้างว่า นโยบายต่อจีนอยู่บนพื้นฐานของการเคารพต่ออธิปไตยของกันและกัน แต่กรพนัชและกัญญาตั้งข้อสังเกตว่า  “ในข้อเท็จจริง ยิ่งรัฐบาลเผด็จการไทยอยู่ในอำนาจนานเท่าไร ไทยก็ยิ่งต้องพึ่งพาจีนมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งย่อมคาดหมายได้ว่าวาทกรรมนี้จะยิ่งถูกนำมาใช้เพื่อทำให้สัมพันธ์จีน-ไทยเข้มแข็งยิ่งขึ้นไปอีก และบางทีก็อาจใช้เป็นคำปลอบใจรัฐบาลไทย หากรัฐบาลต้องตกอยู่ใต้อำนาจของจีนโดยสมบูรณ์ในอนาคต อย่างที่ ซุน ยัตเซ็น กล่าวไปเมื่อกว่าร้อยปีก่อน” (ทั้งนี้ คำกล่าวของ ซุน ยัตเซ็น ในที่นี้ก็คือ คำปราศรัยของเขาที่กวางโจวในปี 1924 ซึ่งเขาอ้างว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย [ซึ่งตอนนั้นยังเรียกว่า สยาม] เคยกล่าวกับเขาไว้นานกว่าสิบปี แล้วว่า 'ถ้าจีนประสบความสำเร็จกับการปฏิวัติ จีนจะกลายเป็นชาติที่เข้มแข็งและมั่งคั่ง ถึงตอนนั้นสยามของเราจะขอกลับไปเป็นมณฑลหนึ่งของจีน')