23 เม.ย. 2563 | 11:56 น.
หลายคนอาจเบื่อกับการเมืองสไตล์เก่า ๆ ที่ผู้นำต้องแสดงท่าทีแข็งกร้าวเพื่อบอกให้รู้ว่าเปี่ยมด้วยความเข้มแข็ง มีสไตล์ดุดันเพื่อให้ประชาชนรู้สึกไว้วางใจว่าผู้นำจะพาชาติพ้นภัยได้ แต่ จาซินดา อาร์เดิร์น (Jacinda Ardern) นายกรัฐมนตรีหญิงจากนิวซีแลนด์กลับสวนกระแส เธอแสดงท่าทางเป็นกันเอง เน้นไม้อ่อนปลอบโยนผู้คน สร้างความรู้สึกเข้าถึงได้ง่าย ผ่านบทสนทนาที่ผ่อนคลายในวาระต่าง ๆ และการไลฟ์พูดคุยกับประชาชนอย่างเป็นกันเอง แทนที่จะใช้ไม้แข็งอย่างกฎหมายรุนแรงเด็ดขาดช่วงวิกฤตโคโรนาไวรัส ฉีกแนวผู้นำประเทศแบบเดิม ๆ ที่เข้าถึงยากจนหมดสิ้น ทั้งการประกาศว่าจะลดเงินเดือนตัวเอง 20% นาน 6 เดือน ทำให้ตอนนี้เธอคือผู้นำที่โลกพูดถึงมากที่สุดคนหนึ่งไปเสียแล้ว ก่อนโลกจะเจอกับเหตุการณ์โควิด-19 คนส่วนใหญ่รู้จัก จาซินดา อาร์เดิร์น จากคลิปสรุปผลงานรัฐบาล 2 ปี ภายใน 2 นาที ที่เธอลงในทวิตเตอร์ส่วนตัวว่าทำอะไรมาแล้วบ้าง ทั้งการสร้างงานกว่า 92,000 ตำแหน่ง กีดกันการเข้ามากอบโกยกำไรของนักลงทุนต่างชาติ ปลูกต้นไม้ได้ 140 ล้านต้น ทำให้สถิติตกงานต่ำสุดในรอบ 11 ปี แบนอาวุธสงคราม ใส่ใจเรื่องความรุนแรงในครอบครัวและการล่วงละเมิดทางเพศ ฯลฯ แม้จาซินดาจะทำเวลาเกินมา 56 วินาที แต่การกล่าวสั้น ๆ ของเธอทำให้คนทั่วโลกทึ่งกับนโยบายของรัฐบาลนิวซีแลนด์ที่ดูดี เหมือนกับอยู่ในเมืองแห่งความฝัน จาซินดาเป็นหัวหน้าพรรคแรงงาน (Labour Party) ซึ่งตอนแรกเป็นพรรคฝ่ายค้าน เธอก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 40 ของนิวซีแลนด์ ด้วยวัยเพียง 37 ปี เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 2017 สร้างสถิติเป็นผู้นำอายุน้อยสุดใน 161 ปี ของประวัติศาสตร์การเมืองนิวซีแลนด์นับตั้งแต่ปี 1856 เป็นนายกฯ หญิงคนที่ 3 ของประเทศ ท่ามกลางกระแสการเมืองโลกที่ผู้นำหัวใหม่อายุน้อยและผู้นำหญิงต่างมาแรงจนถูกพูดถึงในวงกว้าง เธอดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ 1 ปี 5 เดือน ก็ต้องพบกับบททดสอบใหญ่ในฐานะผู้นำนิวซีแลนด์ เพราะช่วงเที่ยงของวันที่ 15 มีนาคม ปี 2019 ขณะที่ชาวมุสลิมในเมืองไครสต์เชิร์ช รวมตัวกันเพื่อทำพิธีทางศาสนา มีชายผิวขาวคนหนึ่งบุกมัสยิดพร้อมปืนไรเฟิลและกราดยิงผู้คนจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 50 ราย เมื่อจาซินดาทราบถึงโศกนาฏกรรม เธอได้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่าเป็น “การก่อการร้าย” ทันที แม้จะมีชาวผิวขาวหัวรุนแรงบางคนไม่เห็นด้วยก็ตาม หลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ผู้คนต่างเฝ้ารอดูท่าทีของผู้นำประเทศ วันถัดมา จาซินดาเดินทางไปร่วมไว้อาลัยเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายที่มัสยิด เธอสวมฮิญาบสีดำเพื่อแสดงความเสียใจต่อญาติผู้เสียชีวิต พร้อมกับแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง การเหยียดเชื้อชาติ และความขัดแย้งทางศาสนา เธอไม่อยากให้ประเทศเกิดการแบ่งแยกด้วยเรื่องเหล่านี้ เหยื่อผู้เสียชีวิตถือเป็นส่วนหนึ่งของประเทศนิวซีแลนด์ แถมยังปฏิเสธอย่างหนักแน่นที่จะเอ่ยชื่อของผู้ก่อเหตุ เพราะไม่อยากให้โลกได้จดจำชื่อหรือหน้าตาของคนที่พรากชีวิตผู้อื่น (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ No Notoriety กลุ่มรณรงค์ขอสื่อไม่เปิดเผยชื่อและหน้าตาฆาตกรโหด) “ผู้ก่อเหตุต้องการหลายสิ่งจากการกราดยิง หนึ่งในนั้นคือชื่อเสียงด้านลบ ฉันจึงไม่มีวันเอ่ยชื่อคนคนนี้ เขาเป็นเพียงผู้ก่อการร้าย เป็นอาชญากร นิวซีแลนด์จะไม่มีวันมอบสิ่งที่ผู้ก่อการร้ายต้องการเด็ดขาด” เมื่อเธอต้องกล่าวเปิดสภาครั้งแรกหลังเหตุก่อการร้าย จาซินดากล่าวทักทายที่ประชุมด้วยประโยค “ขอความสันติสุขจากพระผู้เป็นเจ้าจงมีแด่ท่าน” ที่คนมุสลิมใช้ทักทายกัน เธอสัญญาจะแก้ไขกฎหมายควบคุมอาวุธปืนของประเทศภายใน 10 วัน จนวันที่ 11 เมษายน 2019 นิวซีแลนด์ออกกฎหมายห้ามครอบครองอาวุธกึ่งอัตโนมัติ ปืนไรเฟิลจู่โจมทุกชนิด และปืนขนาดเล็ก จนได้รับคำชื่นชมผ่านบทวิจารณ์ของสื่อใหญ่ทั่วโลกว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรม เธอยังไม่เคยทำอะไรพลาดเลย หนึ่งปีผ่านไปกับเหตุการณ์มัสยิดเมืองไครสต์เชิร์ช จาซินดาได้ขึ้นปกนิตยสาร Time ฉบับเดือนมีนาคม 2020 พร้อมกับข้อความเขียนว่า ‘KNOW US BY OUR DEEDS’ หรือ ‘รู้จักเราผ่านสิ่งที่พวกเราได้ทำ’ เธอกลายเป็นตัวแทนของสตรียุคใหม่ที่เปี่ยมด้วยภาวะผู้นำ มีการสื่อสารจับใจความง่าย ตรงประเด็น และมีท่าทีสุขุมไม่แข็งกร้าว เป็นผู้นำหญิงแกร่งอีกคนที่ทั่วโลกให้การยอมรับ หลังจากไวรัสไม่ได้แพร่กระจายอยู่แค่ทวีปเอเชียอีกต่อไป นายกฯ นิวซีแลนด์ได้แถลงการณ์ว่า รัฐบาลเตรียมยกระดับเฝ้าระวังระดับ 4 ที่ถือเป็นขั้นสูงสุด เพื่อชะลอการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในงานแถลงข่าวเธอเคยแสดงความกังวลกับเรื่องเล็ก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส เช่น พูดถึงราคาหัวกะหล่ำว่าตอนนี้มีราคาเท่าไหร่แล้ว (ราคาสินค้าทั่วไปในตลาดสด สามารถบอกถึงสภาวะเศรษฐกิจช่วงนั้นได้) พร้อมกับยินดีให้นักข่าวถามคำถาม ต่างจากหลายประเทศที่ผู้นำมักแถลงข่าวทางโทรทัศน์ ไม่เปิดโอกาสให้สื่อตั้งคำถาม แถมจาซินดายังยืนยันหนักแน่นว่า “รัฐบาลจะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องคุณ” สร้างขวัญและกำลังใจให้ชาวนิวซีแลนด์ได้ไม่น้อย ช่วงค่ำของวันที่ 26 มีนาคม 2020 ก่อนนิวซีแลนด์เตรียมล็อกดาวน์ประเทศ 1 เดือน จาซินดาออกมาไลฟ์เฟซบุ๊กด้วยท่าทีสบาย ๆ เปิดโอกาสให้ประชาชนถามสิ่งที่ตัวเองสงสัยเกี่ยวกับมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งการไลฟ์ครั้งนี้มีผู้เข้าชมมากกว่า 2.3 ล้านคน ทั้งชาวนิวซีแลนด์และชาวต่างชาติพากันเข้ามาดูเธอพูดคุยกับประชาชน กล่าวชมว่าการกระทำของจาซินดาสามารถลดความตื่นตระหนกของผู้คนได้อย่างดีเยี่ยม เป็นอีกหนึ่งวาทศิลป์ผู้นำที่ได้รับการพูดถึงในวงกว้าง (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ประเทศมหาอำนาจ ส่องวาทะผู้นำ พาพลเมืองโลกฝ่าวิกฤตโควิด-19) 15 เมษายน 2020 เว็บไซต์เอเอฟพี (AFP) รายงานว่า จาซินดา อาร์เดิร์น ประกาศลดเงินเดือนตัวเอง รวมถึงรัฐมนตรีและผู้บริหารหน่วยงานราชการ โดยมีผลบังคับใช้ทันที เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พร้อมกล่าวชื่นชมและของคุณทีมแพทย์ที่ต้องทำงานหนัก แสดงให้ประชาชนมองเห็นว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับสุขภาพประชาชนไม่น้อยไปกว่าเรื่องเศรษฐกิจ นอกจากนี้ นิวซีแลนด์เตรียมลดระดับการเฝ้าระวังไวรัสจากระดับ 4 เป็นระดับ 3 ธุรกิจหลายประเภทจะกลับมาเปิดบริการอีกครั้ง แต่เธอก็ได้กล่าวสุนทรพจน์ว่า “แม้จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตของนิวซีแลนด์จะน้อยกว่าหลายประเทศ แต่เราต้องไม่ลืมว่าทุกคนอาจเป็นพ่อ แม่ ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนของใครสักคน ซึ่งพวกเราทุกคนจะช่วยกันปกป้อง” จนทำให้ประชาชนบางส่วนรู้สึกว่าไม่แข็งกร้าวแต่เข้มแข็ง และยืนเคียงข้างประชาชน
“จาซินดาไม่ได้สอนสั่งประชาชน แต่เธอยืนเคียงข้างพวกเขา”
นิตยสารฟอร์บส (Forbes) ตีพิมพ์บทความ “What Do Countries With The Best Coronavirus Responses Have In Common ? Woman Leaders” หรือ “จุดร่วมของประเทศที่รับมือกับโคโรน่าไวรัสได้ดีที่สุดคืออะไร ? คำตอบคือ ผู้นำหญิง” เนื้อหาบทความคือการชื่นชมเหล่าผู้นำหญิงจาก 7 ประเทศ ที่สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็น แองเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ที่แถลงการณ์อย่างจริงใจ โดยใช้ท่าทีสุขุมเพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน และยอมกักตัวอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อดูอาการว่าจะติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ หรือ ไช่ อิง เหวิน (Tsai Ing-wen) ประธานาธิบดีไต้หวัน ที่เร่งใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด เพื่อควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อ รวมถึง จาซินดา ซึ่งติด 1 ใน 7 ผู้นำหญิงมากความสามารถด้วยเช่นกัน กรณีของ จาซินดา อาร์เดิร์น ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์หลากหลาย ทั้งการก่อการร้าย ปัญหาปากท้องประชาชน ความสัมพันธ์ทางการทูต รวมถึงไวรัสโควิด-19 ล้วนเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นบทบาทผู้นำในภาวะวิกฤต ผู้นำบางประเทศอาจใช้นโยบายดุดัน แข็งกร้าว ผู้นำบางประเทศอาจใช้วิธีเป็นกันเองและสร้างความรู้สึกใกล้ชิดกับประชาชนผ่านวาทศิลป์ชาญฉลาด แต่ท้ายสุด ไม่ว่าจะวิธีใด ผลลัพธ์ของจำนวนผู้ติดเชื้อ ความอิ่มท้องของประชาชน และระบบสาธารณสุข คือตัวตัดสินประสิทธิภาพของผู้นำที่ชัดเจนที่สุด ที่มา https://www.afp.com/en/news/15/new-zealand-pm-takes-pay-cut-virus-hits-economy-doc-1ql6pu1 https://edition.cnn.com/2020/04/14/asia/women-government-leaders-coronavirus-hnk-intl/index.html https://www.nytimes.com/2019/03/22/world/australia/jacinda-ardern-new-zealand-leader.html https://www.bbc.com/news/world-asia-52344299 https://www.forbes.com/sites/avivahwittenbergcox/2020/04/13/what-do-countries-with-the-best-coronavirus-reponses-have-in-common-women-leaders/#648017a13dec เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์