ทอม นุก แห่ง Animal Crossing: นายทุนทานูกิ ผู้สะท้อนภาพความโหดของโลกทุนนิยม
หากถามว่าเกมที่มาแรงที่สุดช่วงต้นปี 2020 คือเกมอะไร ? หลายคนคงตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า Animal Crossing: New Horizons เกมแนวโซเชียลซีมูเลชันจำลองการใช้ชีวิต ที่ต้องเล่นผ่านเครื่องเกมนินเทนโด สวิทช์ (Nintendo Switch) มาแรงแซงเกมที่ปล่อยในเวลาไล่เลี่ยกัน สร้างปรากฏการณ์ทำให้เครื่องนินเทนโด สวิทช์ ขาดตลาด บางร้านในญี่ปุ่นถึงกับเปิดให้คนลงทะเบียนเพื่อจับฉลากซื้อเครื่องเกม และมีคนมาลงชื่อมากถึง 2 แสนคน ทั้งที่ร้านมีนินเทนโด สวิทช์ อยู่แค่หลักร้อยเครื่อง ความต้องการเล่น Animal Crossing ที่สูงลิบเวลานี้ สร้างกำไรให้บริษัทผลิตเครื่องเกมเพิ่มขึ้นถึง 36% และอาจมีกำไรสูงสุดในรอบทศวรรษเลยทีเดียว
มีเหตุผลหลายประการที่ทำให้เกม Animal Crossing: New Horizons ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม บางคนยกความดีความชอบให้กราฟิกอลังการกับตัวละครน่ารัก ๆ บางคนมองว่าคำสั่งกักตัวช่วงโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดต่างหากที่ทำให้ยอดขายถล่มทลาย ผู้คนบางส่วนเบื่อหน่ายไม่มีอะไรทำ เลยหันมาเล่นเกมที่สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมภายในเกมได้ แต่ก็มีคนเถียงอีกว่า ถ้าเป็นแบบนั้นคนจะเล่นเกมออนไลน์อะไรก็ได้ ทำไมต้องเป็น Animal Crossing ? หลังจากถกเถียงกันอยู่นาน ก็มีสมมติฐานน่าสนใจจาก โรมานา รามซาน (Romana Ramzan) อาจารย์มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ว่า ประเด็นของเกมต่างหากที่สามารถดึงดูดผู้คนจำนวนมาก
“ผู้เล่นรู้สึกเหมือนตัวเองไปยังโลกคู่ขนานที่ชีวิตจริงไม่สามารถเป็นได้”
เรื่องราวของเกม Animal Crossing ไม่มีอะไรซับซ้อนมากมายนัก ผู้เล่นจะรับบทบาทเป็นนักผจญภัยที่โดนนายทุนหน้าตาเหมือนทานูกินามว่า ทอม นุก (Tom Nook) เสนอทริปพักผ่อนที่จะสร้างประสบการณ์สุดพิเศษไม่รู้ลืมบนเกาะร้าง โดยผู้เล่นจะขึ้นเครื่องบินสายการบินที่บริษัท Nook.inc จัดหาให้ไปยังเกาะห่างไกลผู้คน
หลายคนอาจตื่นเต้นกับบทบาทที่ได้รับ เตรียมพร้อมไปผจญภัยในเกาะร้างที่ไม่โหดร้ายเหมือนเกาะร้างในชีวิตจริง แต่เมื่อสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังลงแรงในเกาะ ล้วนต้องพึ่งพาเงินของนายทุนนุกทั้งสิ้น
แรกเริ่ม นายทุนนุกจะแจ้งค่าใช้จ่ายเบื้องต้นให้ทราบ เรียกเก็บเงินค่าเครื่องบินที่เรานั่งมา เรียกเก็บค่าสมาร์ตโฟน แถมยังต้องอาศัยอยู่ในเต็นท์เล็ก ๆ จากนั้นนายทุนนุกจะยอมให้เรายืมเงินไปสร้างบ้าน ต้องทำอะไรก็ได้เพื่อเปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้น่าอยู่ขึ้น ภายใต้เงินตั้งต้นที่นายทุนนุกให้เรายืม
ผู้เล่นต้องเริ่มสำรวจเกาะร้างว่ามีอะไรพอจะทำเงินได้บ้าง หาเงินมาจ่ายหนี้ตอนสร้างบ้าน (ที่เขาอ้างว่าลดให้เป็นกรณีพิเศษ) ไม่จำกัดว่าจะต้องปลูกผักเลี้ยงสัตว์เหมือนเกมประเภทเดียวกัน บางคนอาจเปลี่ยนเกาะให้เป็นไร่ขนาดใหญ่ ผันตัวเป็นเกษตรกรส่งผลผลิตให้บริษัทนุก บางคนจับปลาจำนวนมากส่งขายให้นุก หรือทำฟาร์มเพาะพันธุ์แมงมุมหายากเพื่อขายให้นายทุนนุก ทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ แวะซื้อของร้าน Nook’s Cranny พร้อมกับสะสม นุก ไมล์ส (Nook Miles) แต้มที่ทำให้เราสามารถแลกสิ่งของ อัปเกรดเครื่องมือทำกิน หรือแลกเป็นตั๋วเครื่องบินไปยังเกาะอื่น ๆ ที่รอเราไปตักตวงผลประโยชน์จากทรัพยากรบนเกาะแล้วเปลี่ยนเป็นเม็ดเงิน
มาถึงตรงนี้ก็เริ่มมีคนรู้สึกเอะใจกันบ้างแล้วว่า การใช้ชีวิตบนเกาะร้างของเราอาจไม่ได้ทำตามใจตัวเอง แต่ถูกควบคุมทุกย่างก้าวโดยนายทุนทานูกิ
แม้ภาพลักษณ์ของนายทุนนุกจะไม่ร่ำรวย แต่งตัวเสื้อฮาวายลายใบไม้กับกางเกงสีซีด อาศัยอยู่ในร้านขายของมอซอบนเกาะต่าง ๆ เว็บไซต์ The Nextweb เกิดสงสัยเกี่ยวกับทรัพย์สินของนายทุนทอม นุก พร้อมแนบรายงานว่า นายทานูกิคนนี้มีทรัพย์สินเงินทองรวมแล้วกว่า 5.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ร่ำรวยมากกว่าเจฟ เบซอส (Jeff Bezos) ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Amazon ถึง 40 เท่า หากนายทุนนุกมีตัวตนจริง เขาจะทะยานขึ้นเป็นอภิมหาเศรษฐีอันดับต้น ๆ ของโลกอย่างแน่นอน
Animal Crossing ภาคแรก ๆ นายทุนนุกจะใช้งานผู้เล่นอย่างหนักหน่วง ปรากฏตัวในคราบนักบุญ มอบบ้านหนึ่งหลังแก่เราที่เพิ่งก้าวเท้าเข้ามายังหมู่บ้าน ให้งานสร้างอาชีพ ตั้งแต่งานเล็ก ๆ อย่างเด็กวิ่งส่งของ ไปจนถึงให้เราเร่งปลูกต้นไม้เพื่อเก็บผลผลิตไปขายให้นุก เมื่อรับเงินค่าตอบแทนจากการทำงานให้ เราก็นำเงินที่ได้ไปซื้อของในร้านค้าของนายทุนนุก ดังนั้นเงินที่เขาจ่ายให้กับเราตอนแรกก็วกกลับเข้ากระเป๋าของตัวเองอีกครั้ง ทุนนิยมวนลูปไม่จบสิ้น
เว็บไซต์ The Nextweb ยังรายงานอีกว่า ทอม นุก เป็นนายทุนที่ฉลาดใช้คนและมีวาทศิลป์ยอดเยี่ยม แต่มีข้อเสียใหญ่คือชอบใจดีกับลูกหนี้ ไม่ว่า Animal Crossing จะดำเนินมากี่ภาค นายทุนนุกก็มักผ่อนปรนลูกหนี้เสมอ เพราะเขาจะไม่กำหนดระยะเวลาใช้หนี้ที่ให้เรายืมเงินมาสร้างบ้าน มีเมื่อไหร่ก็ค่อยเอาเงินมาคืน ทำให้นายทุนทานูกิเป็นตัวละครในเกมที่หลายคนทั้งรักทั้งหมั่นไส้ไปพร้อมกัน
สำนักข่าว Washington Post มีโอกาสพูดคุยกับ ฮิซาชิ โนกามิ (Hisashi Nogami) ผู้สร้างเกม Animal Crossing เจ้าตัวยืนยันหนักแน่นว่า ทอม นุกเป็นคนดี เขาอ่อนโยน ไม่ได้เข้าไปยุ่มย่ามรบกวนการใช้ชีวิตของคนบนเกาะ อสังหาริมทรัพย์ของเขามีราคายุติธรรมสมเหตุสมผล เป็นแค่ผู้อำนวยความสะดวก ไม่ใช่เจ้านายของผู้เล่น และเคารพการตัดสินใจของเราเสมอ
ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมองว่านายทุนนุกน่ารักเสมอไป เว็บไซต์ Sbnation เขียนบทความ“'Animal Crossing’ raccoon Tom Nook is a capitalist crook” อธิบายว่า แท้จริงแล้วเขาคือตัวร้ายของเกม Animal Crossing เป็นเศรษฐีที่เพลิดเพลินเมื่อเฝ้าดูการใช้ชีวิตของคนจำนวนมากบนเกาะร้าง จับผู้เล่นไปไว้หนึ่งคนต่อหนึ่งเกาะ เราเดินไปตามเส้นทางที่นายทุนนุกเป็นคนกำหนดไว้ การให้บ้านและใช้หนี้ด้วยแรงงานแบบที่นายทุนทานุกิทำ ถือว่าผิดกฎหมายแรงงานในสหรัฐอเมริกา แทนที่เราจะเป็นคนเล่นเกม กลายเป็นว่าเรานี่แหละคือของเล่นของทอม นุก
แม้เราจะหนีโลกแห่งความจริงที่ขับเคลื่อนด้วยระบบทุนนิยมมายังโลกของ Animal Crossing แต่เราก็ยังต้องพบเจอกับทุนนิยมอีกครั้งผ่าน ทอม นุก อย่างไรก็ตาม ชีวิตบนเกาะร้างนั้นไม่หนักหนาเหมือนทุนนิยมในความเป็นจริง ผู้เล่นสามารถพักจากการทำงานใช้หนี้นายทุนนุกมานั่งชมดอกไม้ ตกปลา จับแมลง ขุดหาฟอสซิล เชิญเพื่อนมาเยี่ยมที่เกาะ หรือแม้กระทั่งนั่งเฉย ๆ ดูคลื่นกระทบฝั่งก็ได้ทั้งนั้น เพราะทีมผู้สร้างเกมจัดเต็มภาพกราฟิกสวย ๆ ก้าวกระโดดจากภาคก่อนมาไกลมาก เล่าระบบทุนนิยมและการใช้ชีวิตผ่านตัวละครสุดน่ารัก เสียงพูดคุยของตัวละครที่เหมือนกับยุงบินอยู่ข้างหู ขนาดนายทุนหน้าเลือดอย่าง ทอม นุก ยังกลายเป็นทานูกิที่ดูไม่มีพิษมีภัย
จุดเด่นอีกหนึ่งอย่างของเกม Animal Crossing คือ เวลา สภาพอากาศ รวมถึงฤดูกาลที่ตรงกับโลกแห่งความจริง หากผู้เล่นเข้าเกมตอนสองทุ่ม เกาะร้างก็จะมีเวลาสองทุ่ม เมื่อเราออกจากเกมไปแล้วแต่เวลาในเกมก็ยังคงเดินไปพร้อมกับผู้เล่น สัตว์และแมลงบางชนิดก็จะปรากฏตัวบนเกาะตามฤดูกาลด้วยเช่นกัน เป็นโลกเสมือนจริงที่ทำให้ผู้คนหลบจากความเหนื่อยล้ามาพักใจอยู่บนเกาะ แถมยังสามารถถ่ายภาพเกาะของเราไปลงโซเชียลได้อีกด้วย ซึ่งการปล่อยให้ผู้เล่นทำสิ่งที่อยากทำตามอำเภอใจ อาจมีส่วนทำให้รู้สึกเบื่อเกมนี้ช้ากว่าเกมอื่น ๆ ที่มีเส้นเรื่องหรือสไตล์จำลองชีวิตเหมือนกัน
นอกจากทำงานหาเงินไปให้นายทุนนุก เรายังต้องผูกมิตรกับเพื่อนบ้าน ทำตามคำร้องขอของคนในชุมชน เก็งกำไรจากหุ้นหัวผักกาดหรือหุ้นหัวไชเท้า บริจาคของให้พิพิธภัณฑ์ แลกเปลี่ยนผลผลิตกับเกาะอื่น ๆ ทำงานทุกอย่างโดยมีแรงจูงใจเป็นการเก็บเงิน เพื่อพัฒนาเกาะรกร้างให้กลายเป็นเกาะในฝัน เก็บเงินซื้อเฟอร์นิเจอร์ที่อยากได้ สร้างบ้านแบบวินเทจ มินิมัล ตกแต่งภายในสไตล์ยุโรปหรือญี่ปุ่น ออกแบบเสื้อผ้าของตัวละครให้ตรงตามรสนิยม โดยเกมได้มอบอิสระกับผู้เล่นจนทำให้ไม่รู้สึกอึดอัดหรือกดดัน ทั้งที่บางคนอาจมีหนี้ท่วมหัวหรือขาดทุนยับจากการเล่นหุ้นผักกาดก็ตาม
แม้ชีวิตบนเกาะถูกขับเคลื่อนให้ไหลไปตามกระแสทุนนิยมของนายทุนทอม นุก แต่ถึงรู้ว่าร้าย พวกเรากลับยอมอยู่บนเกาะอย่างเต็มใจเสียอย่างนั้น เพราะ Animal Crossing มอบช่วงเวลาพักผ่อนให้เครื่องจักรมนุษย์อย่างเราได้ผ่อนคลายจากการทำงานในชีวิตจริง มานั่งทำงานเล่น ๆ บนเกาะก็พอทำให้ยิ้มออกกันได้บ้าง
ที่มา
https://www.nytimes.com/2020/04/07/arts/animal-crossing-covid-coronavirus-popularity-millennials.html
https://thenextweb.com/hardfork/2020/04/24/animal-crossing-tom-nook-richer-than-jeff-bezos-but-does-this-raccoon-deserve-all-that-wealth/
https://www.sbnation.com/2020/3/23/21191028/tom-nook-animal-crossing-new-horizons-nintendo-switch-capitalist-theory
https://www.washingtonpost.com/video-games/2020/04/09/tom-nook-animal-crossing-not-evil/
https://www.theverge.com/2020/3/18/21184928/animal-crossing-new-horizons-nintendo-switch-interview-tom-nook
เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์