The Wind Rises ความใฝ่ฝันและคำสาป ของอัจฉริยะนักออกแบบเครื่องบิน

The Wind Rises ความใฝ่ฝันและคำสาป ของอัจฉริยะนักออกแบบเครื่องบิน
  1. หนัง (เกือบจะ) สั่งลาของสุดยอดผู้กำกับแห่งจิบลิ
หากจะให้ตัดสินว่าหนังของ ฮายาโอะ มิยาซากิ ผู้กำกับแอนิเมชันฝีมือเยี่ยมและผู้ก่อตั้งสตูดิโอจิบลิ เรื่องไหนดีที่สุดนั้น ถือเป็นเรื่องที่เถียงกันได้ไม่จบสิ้น ตัวเลือกมีตั้งแต่ Spirited Away, My Neighbor Totoro, Howl's Moving Castle, Princess Mononoke, Ponyo, Nausicaä of the Valley of the Wind และอีกหลายเรื่อง (ซึ่งหนังทุกเรื่องของเขามีให้ดูใน Netflix แล้ว) แต่หากให้เลือกหนังของเขาที่ ‘เป็นผู้ใหญ่’, ‘มีความเป็นส่วนตัว’ รวมถึง ‘ดูยาก’ ที่สุดนั้น เชื่อว่าเสียงส่วนใหญ่ยกให้กับ The Wind Rises (2013) หนังเรื่องนี้เป็นผลงานหนังยาวเรื่องสุดท้ายของมิยาซากิ ก่อนที่เขาจะประกาศเกษียณ* หลังหนังฉายไม่นาน ด้วยเหตุผลว่าตอนนั้นเขาอายุ 72 ปีแล้ว ซึ่งอายุมากเกินกว่าจะทำแอนิเมชัน ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้แรงกายแรงใจอย่างมหาศาล  ถ้า The Wind Rises เป็นหนังเรื่องสุดท้ายของเขาจริง ๆ ก็ถือเป็นบทเพลงสั่งลา (swan-song) ที่น่าจดจำ ตัวหนังเต็มไปด้วยองค์ประกอบที่ยอดเยี่ยมอย่างลายเส้นแบบใช้มือวาดที่สวยงามโดดเด่น, เนื้อหากับประเด็นในหนังที่ลึกซึ้ง, ดนตรีประกอบที่ไพเราะติดหู (ผลงานของคอมโพสเซอร์คู่บุญของเขาอย่าง โจ ฮิซาอิชิ) ฯลฯ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า มิยาซากิคือหนึ่งในคนทำหนังที่ยอดเยี่ยมที่สุดของยุคนี้ (*หมายเหตุ-แต่ก็เป็นเหมือนกับการเกษียณครั้งก่อน ๆ ของเขาตรงที่เกิดการเปลี่ยนใจภายหลัง ซึ่งในปี 2017 ได้มีการประกาศว่าเขากำลังดำเนินการสร้างหนังใหม่เรื่อง How Do You Live? มีกำหนดเข้าฉายในปี 2021) The Wind Rises ถือเป็นก้าวย่างที่แตกต่างไปจากหนังเรื่องอื่น ๆ ของเขา อย่างแรกก็คือมันไม่ได้เป็นหนังแนวแฟนตาซี ซึ่งความแฟนตาซีถือเป็นจุดขายในหนังของเขาและหนังส่วนใหญ่ของจิบลิมาตลอด แต่ยืนพื้นอยู่บนโลกแห่งความจริง เขาให้สัมภาษณ์ว่า “หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008 และเหตุการณ์แผ่นดินไหวกับสึนามิที่ญี่ปุ่นในปี 2011 ผมก็ไม่สามารถทำหนังแฟนตาซีได้อีกต่อไป เพราะมันจะดูเหมือนการโกหก” อย่างที่สองคือ หนังเรื่องนี้ถือว่า ‘ไม่แมส’ และ ‘ไม่ประนีประนอม’ ต่อผู้ชมสักเท่าไรเมื่อเทียบกับเรื่องก่อน ๆ เห็นได้จากซับเจกต์ของเรื่อง หนังบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของผู้ออกแบบเครื่องบินสงคราม ซึ่งอย่าว่าแต่จะสร้างเป็นแอนิเมชันเลย ต่อให้เป็นหนังคนแสดงก็คงไม่มีใครกล้าทำสักเท่าไร, ประเด็นที่ซีเรียสเป็นผู้ใหญ่ กับเรื่องราว ชีวิต/หน้าที่การงาน/สงคราม/ครอบครัว/ความตาย, มีบทพูดที่เต็มไปด้วยศัพท์เทคนิคเกี่ยวกับวิศวกรรมและเครื่องยนต์กลไก, การดำเนินเรื่องที่ช้า-เรียบนิ่ง-ไร้จุดไคลแมกซ์-เรียกร้องสมาธิจากผู้ชมสูง ทำให้มันเป็นหนังการ์ตูนที่เหมาะสำหรับผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก จากที่กล่าวมาอาจทำให้หลายคนคิดว่าหนังน่าจะออกมาดูยาก น่าเบื่อ ดูไม่รู้เรื่อง จนพาลไม่อยากดูไปเลย แต่ที่จริงกลับตรงข้าม เพราะความเก่งกาจของผู้กำกับทำให้หนังเรื่องนี้ออกมาสนุกน่าติดตาม จนทำให้หนังที่มีลักษณะไม่แมสเรื่องนี้กลับฮิตระเบิด โดยคว้าตำแหน่งหนังทำเงินสูงสุดในญี่ปุ่นเมื่อปี 2013 มาครอง The Wind Rises ความใฝ่ฝันและคำสาป ของอัจฉริยะนักออกแบบเครื่องบิน
  1. ชายผู้หลงใหลในเครื่องบิน
หนังบอกเล่าเรื่องราวของวิศวกรออกแบบเครื่องบินที่มีตัวตนอยู่จริงอย่าง จิโร โฮริโคชิ (1903-1982) ผลงานชิ้นเอกของเขาคือการออกแบบ 'เครื่องบิน Mitsubishi Zero' ความโดดเด่นของเครื่องบินนี้อยู่ที่ดีไซน์ที่สวยงามล้ำยุคและประสิทธิภาพที่รวดเร็วคล่องตัว ทำให้มันเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับการยกย่องอย่างมากในยุคนั้น แต่สิ่งที่คนส่วนใหญ่จดจำได้เกี่ยวกับมันก็คือ การที่กองทัพญี่ปุ่นใช้มันเป็นเครื่องบินขับไล่เพื่อโจมตีประเทศต่าง ๆ รวมถึงใช้ในปฏิบัติการกามิกาเซ่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ส่งผลให้มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายมากมาย ซึ่งหลังจากสงครามครั้งนั้น Zero ก็ไม่เคยถูกนำมาใช้อีกเลย หนังเล่าเรื่องราวชีวิตของจิโรตั้งแต่ตอนเด็กซึ่งเขามีความหลงใหลในเครื่องบิน แต่เนื่องจากสายตาสั้นทำให้เป็นนักบินไม่ได้ เขาจึงเปลี่ยนเส้นทางความฝันเป็นผู้ออกแบบเครื่องบิน ฮีโร่ของเขาได้แก่ จิโอวานนี คาโปรนี นักออกแบบเครื่องบินชาวอิตาลีผู้เป็นตำนาน ซึ่งคาโปรนีมักปรากฏตัวในความฝันของจิโรอยู่บ่อย ๆ เพื่อให้คำแนะนำต่าง ๆ หลังเรียนจบมหาวิทยาลัย จิโรทำงานในโรงงานผลิตเครื่องบินมิตซูบิชิร่วมกับเพื่อนอย่างฮอนโจ ทั้งคู่ถูกส่งไปเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศผู้นำด้านเครื่องจักรและเทคโนโลยีในตอนนั้น เพื่อศึกษาดูงานเกี่ยวกับการผลิตเครื่องบิน ที่นั่นเขาได้เห็นถึงเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า จนเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน รวมถึงได้เห็นถึงความขัดแย้งในบ้านเมืองช่วงที่พรรคนาซีเริ่มมีอำนาจ เวลาผ่านไปหลายปี จิโรได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าฝ่ายออกแบบเครื่องบินขับไล่ ซึ่งบริษัทหมายมั่นที่จะส่งประมูลให้กองทัพญี่ปุ่น มันเป็นงานที่ยาก ท้าทายและทำให้เขาพบกับความล้มเหลวหลายครั้ง ระหว่างนั้นเขาได้ไปพักร้อนที่รีสอร์ทฤดูร้อนกลางภูเขา จิโรได้พบกับนาโฮโกะ หญิงสาวที่เขาเคยช่วยเหลือตอนเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อหลายปีก่อน ทั้งคู่ตกหลุมรักและหมั้นหมายกัน แต่ความรักของทั้งคู่มีอุปสรรค เนื่องจากนาโฮโกะกำลังล้มป่วยด้วยวัณโรค ส่งผลให้ร่างกายทรุดโทรมลงไปทุกที ส่วนจิโรก็ไม่สามารถดูแลเธอได้เต็มที่ เพราะต้องทุ่มเทให้กับงาน สุดท้ายแล้วโปรเจกต์เครื่องบินของจิโรสำเร็จลงด้วยดี แต่ถึงตอนนั้นเขาก็ไม่มีคนรักอยู่เคียงข้างอีกต่อไป  นอกจากนั้นเครื่องบินที่เขาออกแบบก็ถูกใช้ในสงครามโดยไม่มีลำไหนได้กลับมา The Wind Rises ความใฝ่ฝันและคำสาป ของอัจฉริยะนักออกแบบเครื่องบิน
  1. คนชำรุดหรือมนุษย์โรแมนติก
หนังเรื่องนี้ถือได้ว่ามีความเป็นหนังส่วนตัวสูง ด้วยความที่มิยาซากิเติบโตขึ้นมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นฉากหลังของหนัง บวกกับตัวเขาเป็นคนที่หลงใหลในเครื่องบินเช่นเดียวกับจิโร (จิโรถือเป็นฮีโร่ในดวงใจของเขาด้วย) ซึ่งเป็นความหลงใหลที่เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนเด็ก เนื่องจากครอบครัวของเขาเป็นเจ้าของโรงงานผลิตชิ้นส่วนเครื่องบิน เคยผลิตชิ้นส่วนให้เครื่องบิน Zero  ความหลงใหลดังกล่าวส่งอิทธิพลต่อผลงานของมิยาซากิอย่างมาก เห็นได้จากหนังเกือบทุกเรื่องของเขาล้วนมีองค์ประกอบเกี่ยวข้องกับการบิน ไม่ว่าจะเป็นการบินโดยเครื่องบิน จักรกล หรือเวทมนตร์ อีกทั้งชื่อของ ‘จิบลิ’ ก็นำมาจากชื่อของเครื่องบินอิตาลี แม้หนังจะอ้างอิงจากชีวประวัติของบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง แต่ก็ไม่ได้ยึดตามความถูกต้องทางประวัติศาสตร์แบบเป๊ะ ๆ โดยมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับเนื้อหาและประเด็นที่มิยาซากิต้องการนำเสนอ การปรับเปลี่ยนที่เห็นได้ชัดคือในชีวิตจริงภรรยาของจิโรมีชีวิตยืนยาวและมีบุตรร่วมกับเขา ส่วนในหนังเธอเสียชีวิตหลังแต่งงานไม่นานด้วยวัณโรค ซึ่งเป็นโรคเดียวกับที่แม่ของมิยาซากิเป็น บวกกับมีการใส่องค์ประกอบที่อ้างอิงจากวรรณกรรมชื่อดังลงไป เช่น The Magic Mountain (1924) ของโธมัส มานน์, The Wind Has Risen (1938) ของทัตสึโอะ โฮริ  ตัวละครจิโรที่ปรากฏในหนังเป็นบุคคลที่อุทิศทั้งชีวิตเพื่ออุดมการณ์อย่าง ‘การสร้างสรรค์สิ่งที่สวยงาม’ จนยอมทิ้งผู้คนรอบกาย รวมถึงสิ่งอื่น ๆ ในชีวิตไป ซึ่งเราอาจมองว่าเป็นความดื้อดึง ความเห็นแก่ตัว หรือความโรแมนติกก็ได้ (ทำให้เราสามารถหยิบยืมชื่อหนังสือ ‘คนชำรุดหรือมนุษย์โรแมนติก’ ของอุทิศ  เหมะมูล มานิยามตัวละครนี้ได้อย่างไม่ขัดเขิน)  จะเห็นได้ว่าตัวละครจิโรนั้นเป็นเหมือน ‘อวตาร’ ของมิยาซากิ หนังสารคดีเรื่อง 10 Years with Hayao Miyazaki ได้แสดงให้เห็นว่า มิยาซากิเป็นศิลปินที่ทุ่มเทให้กับการทำแอนิเมชันมาตลอด 5 ทศวรรษ จนไม่มีเวลาให้ครอบครัว และทำตัวห่างเหินกับลูกชาย นอกจากนั้นเขายังเป็นเพอร์เฟกต์ชันนิสต์ที่เรียกร้องจากเพื่อนร่วมงานและคนรอบข้างสูงจนหลายคนเอือมระอา ทำให้เราสามารถมองได้ว่าการสร้างหนังเรื่องนี้เหมือนเป็นการกล่าวคำขอโทษแก่ผู้คนที่อยู่ข้างตัวเขา สำหรับเหตุการณ์ที่ผ่านมา แม้ความโรแมนติกในหนังจะเน้นไปที่จิโรกับความฝันเกี่ยวกับเครื่องบินของเขาเป็นหลัก แต่หนังก็มีความโรแมนติกอีกอย่างที่เป็นพลอตรอง นั่นคือความสัมพันธ์ระหว่างจิโรกับภรรยาของเขาอย่างนาโฮโกะ  นาโฮโกะยอมทุ่มเททุกอย่างเพื่อให้ได้อยู่เคียงข้างกับคนรัก แม้จะต้องหนีจากสถานพยาบาล ซึ่งตอนนั้นเธอป่วยหนักและต้องการการดูแลทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด ซีนที่รบกวนจิตใจผู้ชมหลายคนคือ ตอนที่เธอยอมให้จิโรนั่งสูบบุหรี่ข้าง ๆ ทั้งที่เธอเป็นโรคเกี่ยวกับปอด ด้วยความที่บทบาทของเธอในเรื่องมีจำกัด รวมถึงมีลักษณะแบบ ‘ช้างเท้าหลัง’ ที่ยอมเสียสละทุกอย่างเพื่อสนับสนุนคนรัก ทำให้หนังถูกวิจารณ์อย่างมาก ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นก้าวย่างที่น่าผิดหวังของมิยาซากิในแง่การสร้างตัวละครผู้หญิง เพราะในหนังเรื่องก่อน ๆ ของเขานั้น มักมีบทนำเป็นผู้หญิงที่มีลักษณะเข้มแข็งและยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง แต่เราก็สามารถมองอีกมุมได้ว่าฉากหลังในหนังคือ โลกวิศวกรรมญี่ปุ่นในยุคก่อนสงคราม ไม่มีพื้นที่ให้ผู้หญิงสักเท่าไร และจะเห็นว่าทั้งหมดนั้นเป็นการตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตของนาโฮโกะเองในการสนับสนุนคนที่เธอรัก แม้จะต้องเสียสละสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตก็ตาม ซึ่งมองได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมาก  The Wind Rises ความใฝ่ฝันและคำสาป ของอัจฉริยะนักออกแบบเครื่องบิน
  1. “เธอจะเลือกโลกแบบไหน? โลกที่มีหรือไม่มีพีระมิด”
แม้หนังจะพูดถึงเครื่องบินสงครามและมีฉากหลังอยู่ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สองไม่นาน แต่ตัวหนังกลับโฟกัสไปที่การออกแบบเครื่องบินของจิโรมากกว่าเรื่องสงคราม หนังได้จบลงเมื่อโปรเจกต์การสร้างเครื่องบิน Zero เสร็จสิ้น ซึ่งตอนนั้นสงครามยังไม่เริ่ม หนังไม่ได้แสดงให้เห็นภาพเครื่องบิน Zero ออกไปทำสงครามหรือทำกามิกาเซ่ รวมถึงไม่แสดงภาพผู้คนบาดเจ็บล้มตายในสงครามเลย (มีเพียงภาพเครื่องบินถูกทำลาย ซึ่งปรากฏในความฝันของจิโร) ความตายหนึ่งเดียวที่อยู่ในหนังคือความตายของนาโฮโกะ ซึ่งเกิดขึ้นนอกจอ ด้วยความที่หนังมีท่าทีคลุมเครือ ไม่ได้แสดงออกว่าต่อต้านสงครามหรือแสดงให้เห็นถึงความเลวร้ายของมันอย่างชัดเจน ส่งผลให้หนังถูกวิจารณ์อย่างมากในข้อหา ‘ฟอกขาว’ ให้กับการกระทำอันเลวร้ายของญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง รวมถึงข้อหายกย่องผู้สร้างสรรค์อาวุธสงครามให้เป็นฮีโร่ (นอกจากนั้น หนังถูกวิจารณ์อย่างหนักจากการที่ตัวละครสูบบุหรี่กันทั้งเรื่อง ในระดับที่ สสส. เห็นแล้วต้องช็อค) กล่าวได้ว่าทั้งจิโรและมิยาซากิล้วนถูกวิจารณ์ในข้อหาเดียวกันนั่นคือ สนใจแค่การสร้างผลงานให้ออกมาสวยงาม แต่กลับเพิกเฉยต่อเรื่องสงคราม ซึ่งข้อกล่าวหานี้เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับตัวตนของมิยาซากิที่ผ่านมา เพราะตัวเขามักแสดงออกถึงแนวคิด ‘ต่อต้านสงคราม ต่อต้านการเพิ่มอำนาจกองทัพ ต่อต้านแนวคิดชาตินิยม’ ดังที่ปรากฏในบทสัมภาษณ์ของเขา และเป็นประเด็นที่อยู่ในหนังของเขาส่วนใหญ่  มิยาซากิได้ตอบโต้ว่า สิ่งที่ปรากฏในหนังนั้นแสดงออกถึงการต่อต้านสงครามชัดเจนเพียงพออยู่แล้ว อย่างการที่จิโรและตัวละครอื่น ๆ ในหนังไม่เห็นด้วยกับสงคราม รวมถึงซีนความฝันช่วงท้ายเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า สงครามช่วงชิงความฝันอันสวยงามไปได้อย่างไร มิยาซากิให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Asahi Shimbun ว่า เขามีความรู้สึกที่ซับซ้อนเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะตัวเขาไม่เห็นด้วยกับสงครามแน่ ๆ แต่ขณะเดียวกันเขาก็มองว่าเครื่องบิน Zero มีความสวยงาม และถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่น่าภูมิใจของญี่ปุ่น จนไม่ควรมองข้ามหรือเพิกเฉยความจริงเรื่องนี้ ด้วยมุมมองดังกล่าวส่งผลให้ The Wind Rises เป็นหนังสงครามที่มีความซับซ้อน อีกทั้งยังมีมิติและมุมมองในแบบของตัวมันเอง ซึ่งแตกต่างจากหนังที่พูดถึงสงครามเรื่องอื่น ๆ ขณะที่ The Wind Rises ไม่ได้มีทีท่าเห็นด้วยกับสงคราม แต่ขณะเดียวกันก็ต้องการยกย่องศิลปินอัจฉริยะที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามครั้งนี้ ซึ่งมุมมองดังกล่าวอาจไม่ถูกใจผู้ชมที่ต้องการเห็นแง่มุมต่อต้านสงครามแบบตรง ๆ สักเท่าไร การที่จิโรทุ่มเทชีวิตของเขาเพื่อการออกแบบเครื่องบิน โดยแทบไม่สนใจมิติเรื่องอื่น ๆ อย่างเรื่องสงคราม การทหาร หรือชาตินิยมเลยนั้น ถามว่าจิโรรู้ไหมว่าสุดท้ายเครื่องบินที่เขาออกแบบจะกลายเป็นอาวุธทำลายชีวิตคน คำตอบก็คือรู้ แล้วทำไมเขาถึงเลือกที่จะเดินหน้าต่อ?  หนังแสดงคำตอบให้เห็นผ่านประโยคสำคัญในหนัง ซึ่งสื่อถึงธีมหลักของเรื่องได้อย่างชัดเจน มันคือฉากที่คาโปรนีปรากฏตัวขึ้นในความฝันของจิโร แล้วถามเขาว่า “เธอจะเลือกโลกแบบไหน? โลกที่มีหรือไม่มีพีระมิด”  พีระมิดคือสิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่เกิดขึ้นจากการสร้างสรรค์ของมนุษย์ มันมีความยิ่งใหญ่ สวยงาม เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงอัจฉริยะและความทุ่มเทของมนุษย์ แต่อีกมุมหนึ่งมันก็เป็นสิ่งก่อสร้างที่ต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อแรงงาน ซึ่งสร้างความทุกข์ทนให้กับผู้คน (อย่างเหล่าแรงงานที่ถูกเกณฑ์ให้มาสร้างพีระมิด) เช่นเดียวกับเครื่องบิน Zero ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สวยงาม แต่ต้องแลกมากับความเจ็บปวดของมนุษย์ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการสร้าง ซึ่งมันถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ราคาแพงที่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องทุ่มงบประมาณให้ ทั้งที่ตอนนั้นญี่ปุ่นเป็นประเทศยากจนและมีผู้คนอดอยากมากมาย และเมื่อสร้างเสร็จแล้วมันก็ถูกกองทัพญี่ปุ่นใช้เป็นเครื่องมือทำสงครามเพื่อขยายอำนาจ จนมีผู้คนบาดเจ็บล้มตายนับล้าน ทั้งคาโปรนีและจิโรเห็นพ้องกันว่า พวกเขาเลือกโลกที่มีพีระมิด คาโปรนีได้กล่าวว่า “ความฝันของมนุษย์คือการบิน แต่มันเป็นฝันที่ต้องคำสาป” สุดท้ายแล้วความฝันและอุดมการณ์ดังกล่าวของพวกเขาถูกช่วงชิงโดยสงคราม เครื่องบินที่พวกเขาออกแบบจำเป็นต้องเผื่อพื้นที่และน้ำหนักเอาไว้สำหรับใส่อาวุธ และเมื่อจบสงคราม เครื่องบินที่พวกเขาออกแบบก็ไม่มีลำไหนได้กลับมา แม้พวกเขาจะคาดเดาถึงผลลัพธ์เหล่านี้ได้ แต่ก็ยังตัดสินใจเดินหน้าต่อไป  
  1. หนังแฟนตาซีอีกรูปแบบ
ดังที่กล่าวไปแล้วว่า The Wind Rises เป็นหนังที่ยืนพื้นอยู่บนความสมจริง แต่หนังก็ไม่ทิ้งสไตล์ของผู้กำกับมิยาซากิ ด้วยการสอดแทรกความแฟนตาซีเข้าไปในหนังบางฉาก ผ่านฉากความฝันของตัวเอก  นอกจากนั้น ยังมีความแฟนตาซีอีกอย่างที่อยู่ในหนัง ซูซาน เนเปียร์ ได้เขียนถึงประเด็นนี้ไว้ในหนังสือ Miyazakiworld: A Life in Art ได้อย่างน่าสนใจว่า The Wind Rises มีความเป็นหนังแฟนตาซีอีกรูปแบบหนึ่ง (ซึ่งแตกต่างจากแฟนตาซีในหนังของมิยาซากิเรื่องอื่น ๆ) นั่นคือ การนำเสนอ ‘โลกในอุดมคติ’ ซึ่งเป็นโลกที่สิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยีต่าง ๆ ถูกสร้างขึ้นเพื่อความก้าวหน้าของมวลมนุษยชาติ โดยไม่เกี่ยวข้องกับสงครามหรือการทำลายล้าง หนังพยายามทำให้ผู้ชมคิดว่าได้อยู่บนโลกในอุดมคติดังกล่าว จนกระทั่งซีนสุดท้ายที่เตือนสติให้ผู้ชมรู้สึกตัวว่า โลกใบนั้นยากที่จะเกิดขึ้นจริง ตราบใดที่โลกทุกวันนี้ยังคงมีสงครามและความเกลียดชังอยู่   หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ Miyazakiworld: A Life in Art โดยซูซาน เนเปียร์, หนังสือ Kaze no kaerubasho (รวมบทสัมภาษณ์ของฮายาโอะ มิยาซากิ) และหนังสารคดี 10 Years with Hayao Miyazaki ทาง NHK World