read
culture
13 พ.ค. 2563 | 21:49 น.
“Xscape” อัลบั้มที่ปลุก ไมเคิล แจ็กสัน ขึ้นมาจากหลุม
Play
Loading...
นับตั้งแต่ราชาเพลงป๊อป ไมเคิล แจ็กสัน (Michael Jackson) จากโลกนี้ไป อุตสาหกรรมดนตรีโลกก็แทบไร้ผลงานต้นแบบที่สามารถ “เขย่าวงการ” ได้ทุกเมื่อ เหมือนกับที่แจ็กสันเคยทำไว้ในอดีต แม้ช่วงทศวรรษหลังสุด บรูโน่ มาร์ส,
จัสติน ทิมเบอร์เลค
หรือ The Weeknd อาจจะเป็นศิลปินที่โดดเด่นขึ้นมาครองใจแฟน ๆ ทั่วโลก แต่หากมองลึกลงไปใต้ผลงานของพวกเขา ทั้งหมดล้วนแต่ได้อิทธิพลมาจากผลงานของแจ็กสันทั้งนั้น
ถ้าพูดถึงอัลบั้มขึ้นหิ้งของแจ็กสัน แน่นอนว่าคงหนีไม่พ้นสามอัลบั้มที่เขาเคยทำร่วมกับตำนานโปรดิวเซอร์ อย่าง ควินซี โจนส์ ไม่ว่าจะเป็น Off The Wall, Thriller หรือ Bad ผลงานต้นแบบของดนตรีป๊อปยุคใหม่จากส่วนผสมของดิสโก้, โซล ไปสู่ความร้อนแรงของดนตรีร็อกร่วมสมัย แน่นอนว่าสิ่งที่แจ็กสันสร้างสรรค์ไว้ไม่ต่างกับหลักไมลส์ที่สะท้อนประวัติศาสตร์ให้กับวงการดนตรี
จากโลกนี้ไปก่อนวัยอันควร! ถ้าดูจากผลงานที่แฝงไปด้วยจินตนาการ แน่นอนว่าการเสียชีวิตของแจ็กสันคือความสูญเสียครั้งสำคัญและเป็นอะไรที่ ‘Gone too Soon’ เกินไปสำหรับวงการดนตรีโลก แม้ตัวจะจากไป แต่ชื่อเสียงในอดีตของราชาเพลงป๊อปคนนี้ก็สะท้อนให้เราเห็นว่า คำว่า “ไมเคิล แจ็กสัน” ยังเป็นอะไรที่ขายได้เสมอ เพราะนับตั้งแต่แจ็กสันเสียชีวิตในวันที่ 25 มิถุนายน ปี 2009 เชื่อหรือไม่ว่ายอดขายอัลบั้มของเขานับเฉพาะแค่ในสหรัฐฯ มีมากถึง 12.8 ล้านก็อปปี้ นี่ขนาดเป็นผลงานเก่ายังฮอตขนาดนี้ ลองคิดดูว่าหากมีผลงานใหม่ออกมามูลค่าจะมากขนาดไหน
เป็นเรื่องปกติที่ค่ายเพลงมักจะนิยมไปขุดเดโม่เก่าที่ยังไม่สมบูรณ์ หรืองานช่วงโพสต์โปรดักชั่นของศิลปินที่เสียชีวิตไปแล้วนำกลับมาทำและเผยแพร่ใหม่ แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้คือ “มรดกทางดนตรี” ชิ้นสำคัญที่เหล่าผู้ล่วงลับทิ้งเอาไว้ให้กับโลก ผลงานเหล่านี้ถูกพูดกันติดปากว่า “posthumous album” หรือแปลเป็นไทยว่าอัลบั้มที่เผยแพร่หลังมรณกรรม... ในอดีตเคยมีผลงานลักษณะนี้ถูกเผยแพร่ออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นอัลบั้ม Milk and Honey เมื่อปี 1984 ของจอห์น เลนนอน กับภรรยาโยโกะ โอโนะ ไล่มาจนผลงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ของ Prince หรือ แมค มิลเลอร์
หนึ่งปีหลังแจ็กสันเสียชีวิต ค่ายต้นสังกัดของแจ็กสันอย่างเอพิค เรคคอร์ดส (โซนี มิวสิค) เกิดไอเดียในการเอาเพลงเก่าคัดทิ้งตั้งแต่ปี 1982–2009 ของแจ็กสันมารวมเป็นอัลบั้มและใช้ชื่อว่า Michael (2010) แน่นอนผลงานเดบิวต์หลังความตายของแจ็กสันชุดนี้อาจจะทำให้แฟน ๆ หลายคนหายคิดถึงเขาได้บ้าง แต่อีกมุมหนึ่งมันก็ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่า “ไม่น่าจดจำเท่าที่ควร” และหลายคนถึงขนาดบ่นว่าถ้าแจ็กสันยังอยู่ ผลงานเหล่านี้อาจจะไม่ถูกปล่อยออกมาแน่
ความพยายามจะปลุกราชาเพลงป๊อปขึ้นมาจากหลุมเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อปี 2014 จุดเริ่มต้นของอัลบั้ม Xscape เริ่มจาก แอล.เอ รีด ผู้บริหาร ของเอพิค เกิดไอเดียอยากจะนำเพลงเก่าของแจ็กสันมาทำดนตรีใหม่ให้ฟังร่วมสมัยเข้ากับโลกในยุคปัจจุบัน เขาจึงตัดสินใจคุยกับจอห์น บรานกา และ จอห์น แม็คเคลน ทนายและที่ปรึกษาคนสนิทของราชาเพลงป๊อป ผู้ดูแลทรัพย์สินของนักร้องคนดังภายใต้ชื่อว่า The Michael Jackson Estate ถึงความเป็นไปได้ที่จะฟื้นดนตรีของแจ็กสันกลับมาอีกครั้ง
รีดและบรานกาหารือเกี่ยวกับโปรเจ็กต์นี้ไม่นาน สุดท้ายหน่วยงานดูแลทรัพย์สินของนักร้องดังก็ออกไฟเขียวให้กับค่ายดำเนินโปรเจ็กต์นี้ทันที แรกเริ่มเดิมทีรีดวิเคราะห์ว่าคงเป็นไปได้ยากที่จะหาเดโม่ที่มีสภาพสมบูรณ์ในแง่ที่ว่า “ปล่อยออกมาแล้วเปรี้ยงเลย” เพราะเขารู้ดีว่าผลงานเหล่านี้ไม่ต่างกับไดอารีส่วนตัวของแจ็กสัน แต่หลังจากที่บรานกาเปิดเผยข้อมูลบางอย่างกับเขา รีดถึงขั้นต้องตาเหลือกเมื่อรู้ความจริงที่ว่า หลังจากสตูดิโออัลบั้มที่หกอย่าง Thriller แจ็กสันมีเดโม่เพลงแต่งที่อัดร้องไว้แล้ว แต่ไม่ได้ใช้ อัลบั้มหนึ่งมากกว่า 70 เพลง สรุปง่าย ๆ คือ รีด มีเพลงของแจ็กสันให้เลือกใช้มากกว่า 300 เพลงในโปรเจ็กต์นี้
“ให้ผมฟังทุกอย่าง และจากนั้นผมจะไปรวมทีมเพื่อทำอัลบั้มนี้ให้ไมเคิล
(แจ็กสัน)
”
รีดเปิดเผยคำที่เขาพูดกับบรานกาในวันนั้น
กระบวนการเริ่มต้นที่ฝ่ายผู้ดูแลทรัพย์สินต้องไปค้นหาผลงานบันทึกเสียงซึ่งเก็บไว้ในโกดังหลายแห่งของแจ็กสัน พวกเขาต้องค้นทุกอย่างตั้งแต่เสื้อผ้า เครื่องประดับ รถยนต์ ไปจนถึงบันทึกและอะไรต่าง ๆ ที่นักร้องดังเคยเขียนทิ้งไว้ที่บ้านในแถบแคลิฟอร์เนียตอนใต้
“เราใช้คอมพิวเตอร์เป็นส่วนใหญ่ เราได้จัดทำดัชนีและบันทึกมันเพื่อให้เราพร้อมที่จะเข้าถึงสิ่งต่าง ๆ ได้ง่าย
”
บรานกาเล่าถึงกระบวนการค้นหาทั้ง 8 เพลงในอัลบั้มชุดนี้
หลังได้เดโม่จำนวนหนึ่งจาก The Michael Jackson Estate สิ่งแรกที่รีดทำคือติดต่อยอดโปรดิวเซอร์อย่าง ทิมบาแลนด์ ให้เข้ามาดูภาพรวมของโปรเจ็กต์นี้ พร้อมกับดึงโปรดิวเซอร์ที่เคยร่วมงานกับแจ็กสันหลังยุคควินซี โจนส์ ไล่ตั้งแต่ ร็อดนีย์ เจอร์กินส์ หรือ ดาร์กไชล์ , สตาร์เกต (ทอร์ เฮอมานเซ่น และมิกเกล อีริกเซ่น), เจอโรม "เจร็อก" ฮาร์มอน และ จอห์น แม็คเคลน (คนเดียวกันกับที่ดูแลทรัพย์สิน) ให้กลับมาทำงานกับแจ็กสันอีกครั้ง
“ผมบอกเขา
(ทิมบาแลนด์)
ว่า ‘ผมอยากไปที่สตูดิโอ ไม่อยากคุยผ่านโทรศัพท์ พอไปถึงสตูดิโอก็เต็มไปด้วยผู้คน ทั้งศิลปิน เอนจิเนียร์ ผู้ช่วย เพื่อน ๆ นักแต่งเพลง คนเยอะมากเลย และผมไม่อยากคุยแบบคนเยอะ ๆ ผมเลยบอกเขาว่า ‘ทิม เราคุยกันส่วนตัวได้ไหม’ และเราก็เดินออกไป ผมกระซิบเขาที่ข้างหูเขาให้เหมือนว่าเป็นโปรเจ็กต์ยักษ์ที่สำคัญ ผมบอกเขาว่า ‘ฟังนะ อัลบั้มใหม่ของ ไมเคิล แจ็กสัน จะโปรดิวซ์โดยทิมบาแลนด์”
รีดเล่าย้อนความหลัง
“ตอนนั้นผมรู้สึกเหมือนเขากำลังสร้างงานให้ผมเลย แบบ ‘ดูซิว่านายมีดีแค่ไหนกันเชียว’”
ทิมบาแลนด์ เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งสำคัญในชีวิต
แม้ทิมบาแลนด์จะไม่เคยร่วมงานกับแจ็กสันมาก่อน แต่รีดที่เป็นหัวเรือใหญ่ของงานรู้สึกเลยว่า ความหนักแน่นในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ของโปรดิวเซอร์คนนี้น่าจะเข้าทางกับความต้องการของแจ็กสัน ที่มักจะต้องการสร้างซาวนด์ที่เป็นเอกลักษณ์หรือสิ่งใหม่ ๆ เสมอ
“ผมรู้สึกเหมือนว่าผมอยู่เหนือเวลาและไม่มีใครเข้าใจแนวทางดนตรีของผม ผมรู้สึกว่าทุกสิ่งรอบตัวผมคือดนตรี เพราะงั้นผมเลยใช้เสียงจิ้งหรีดในเพลงของผม แล้วยังมีนก ช้อน ลูกบิดประตู มอเตอร์รถยนต์ และผมก็แค่สร้างจังหวะดนตรีขึ้นมา”
ทิมบาแลนด์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อ
หลักฐานชิ้นสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความคิดที่คล้ายกันของทิมบาแลนด์และแจ็กสัน ต้องย้อนกลับไปในช่วงบันทึกเสียงเพลง ‘Beat It’ หลายคนไม่เคยรู้ว่าตอนนั้นแจ็กสัน ชอบทดลองใส่เสียงอะไรแปลก ๆ ในเพลง สุดท้ายเขาดันไปชอบเสียงกล่องเก็บกลองชุด แล้วเกิดไอเดียมาเคาะเป็นเสียงประตูในท่อนก่อนโซโลของ
เอ็ดดี้ แวน แฮเลน
(ใครมีซีดีลองเปิดเครดิตดูจะมีชื่อแจ็กสันทำหน้าที่เป็น Drum Case Beater ด้วย)
โปรดิวเซอร์หลายคนในอัลบั้มนี้มีความคุ้นเคยกับ “ความชอบ” ของแจ็กสันเป็นอย่างดี เจอร์กินส์ที่ทำงานกับแจ็กสันตั้งแต่อายุ 19 เล่าว่า การคิดเพลงในอัลบั้มนี้ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ภายใต้กรอบขนาดใหญ่ที่ใช้พื้นฐานจากประสบการณ์ในอดีต มันเป็นงานที่ต้องคอยคิดตลอดว่าทำอย่างไรแจ็กสันจะชอบ
แจ็กสันอัดเพลงไว้เผื่อสำหรับทุกโปรเจ็กต์ เขาใช้เวลากับเพลงเป็นปี ๆ และบางครั้งก็กลับมาพร้อมกับอัลบั้มต่อ ๆ ไป อย่างเพลง ‘Wanna Be Starting’ Something’ เริ่มแต่งในช่วงอัลบั้ม Off the Wall ก่อนกลายมาเป็นซิงเกิลในอัลบั้ม Thriller และแน่นอนว่าเพลงที่ถูกคัดเลือกลงอัลบั้มชุดนี้ ส่วนหนึ่งเคยเป็นผลงานที่แจ็กสันและเหล่าโปรดิวเซอร์เคยทำทิ้งไว้แล้ว ยกตัวอย่างเช่นเพลง ‘Xscape’ ที่เจอร์กินส์และแจ็กสันแต่งเอาไว้เมื่อตอนร่วมงานกันในอัลบั้ม Invincible ระหว่างปี 1999-2002 แจ็กสันเป็นคนที่มักจะคอยผลักดันตัวเองและคนรอบตัวเสมอ ตอนที่เขาร่วมงานกับเจอร์กินส์ในเพลง ‘Xscape’ เขาเคยส่งโปรดิวเซอร์คนนี้ไปที่ทิ้งขยะพร้อมด้วยเครื่องอัดเสียง เพื่อจะให้หาเสียงเคาะใหม่ ๆ
“ผมเริ่มเคาะสิ่งของแล้วแบบ ‘ว้าว คงเข้ากับเพลงได้ดีเลยล่ะ น่าจะไปด้วยกันได้’ สักพัก ซาวนด์ก็เริ่มมีชีวิตขึ้นมา มันเป็นเพราะทุกช่วงเวลาเราชอบที่จะท้าทายกับสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ เขาชอบมากกับการหาวิธีสร้างสรรค์ซาวนด์ เขาเคยถามผมว่าซาวนด์แบบไหนที่จะทำให้คุณอยากจะฟังซ้ำแล้วซ้ำอีก? คำถามนั้นผลักดันให้เราต้องเป็นนักบุกเบิกแล้วสร้างซาวนด์ใหม่ ๆ ต่อไป”
แม้จะโด่งดังสุด ๆ แต่แจ็กสันไม่เคยทำตัวว่างเว้นจากการทำเพลงเลย ว่ากันว่าในช่วงพีคของอาชีพนักร้อง แจ็คสันทำงานหนัก เขาใช้สตูดิโออยู่หลายแห่งเพื่อที่จะย้ายเพลงจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง บางทีใช้เวลาถึง 16-18 ชั่งโมงเลยทีเดียวต่อหนึ่งเซสชั่น แจ็กสันมักจะเริ่มแต่งเพลงเองจากทำนองหรือจังหวะในหัว และบันทึกสิ่งเหล่านั้นด้วยเสียงร้องของตัวเอง บ่อยครั้งที่เขาร้องคอร์ด และจัดการทุกอย่างให้ทีมโปรดิวเซอร์ชนิดที่เรียกว่า “พร้อมใช้” อย่างในช่วงบันทึกเสียงอัลบั้ม Dangerous เมื่อปี 1989 รีดเล่าว่าเพลง ‘Slave to the Rhythm’ คือเพลงที่เขากับเบบี้เฟสเคยโปรดิวซ์ให้แจ็กสันไว้ (แต่ไม่ได้ใช้) ซึ่งในวันที่แจ็กสันเข้ามาอัดร้อง เขาบันทึกเสียงร้องจากท่อนแรกถึงท่อนสุดท้ายไว้ 24 ครั้ง และฝากความประทับใจไม่รู้ลืมให้กับทุกคนในห้องอัด เพราะฉะนั้น รีดจึงรู้ดีกว่าใครว่ามรดกที่แจ็กสันฝากไว้ ไม่ใช่เดโม่ที่ไร้คุณภาพแต่อย่างใด
“มันไม่ใช่แค่เจาะซ่อมโน้ตผิดแค่ตัวเดียวนะ ไม่เลย เวลาเขาร้องผิด เขาจะขอร้องใหม่ตั้งแต่ต้นจนจบ ตอนนั้นเขาทำแบบนี้อยู่ 24 ครั้งโดยไม่มีพัก ไม่มีขอไปกินน้ำ หรือแบบว่า ‘ขอเวลาผมนิดหนึ่ง’ ที่เขาทำคือร้องเพลงและพูดว่า ‘โอเค ผมขออีกรอบ ผมสามารถทำมันได้ดีกว่านี้’ และเขาก็ทำแบบนั้นเรื่อย ๆ แต่ละครั้งที่ผ่านไปเขาทำได้ดีขึ้นทุกรอบ และพอถึงรอบ 13-14 ซาวนด์เริ่มเหมือนเดิม ณ ตอนนั้นมันเพอร์เฟ็กแล้วละ แต่เขาก็ยังขอร้องต่ออีก”
รีด เล่าถึงความเหตุการณ์ที่สะท้อนความเป็นศิลปินที่ยอดเยี่ยมของแจ็กสัน
“คุณสามารถได้ยินเสียงแท็ปเท้า
(แจ็กสัน)
กับดีดนิ้ว ตอนเขาร้องได้เลย มันเป็นอะไรที่ดิบมาก ๆ มันไม่ใช่แบบ ‘เอ้า เตรียมแอ็คแบบนั้น เตรียมดีดนิ้วแบบนี้’ ไม่เลย สิ่งที่ผมได้ยินในเดโม่มันสดและจริงมาก ๆ เราจะได้ยินเลยว่าเขารู้สึกกับการร้องอย่างไร”
เจอร์กินส์ เล่าถึงวินาทีฟังไฟล์ดิบของแจ็กสันครั้งแรก
จากเดโม่นับร้อยเพลงถูกเลือกให้เหลือ 8 เพลงสำหรับ Xscape แจ็กสัน ถือเป็นศิลปินที่ใส่ใจผลงานของตัวเองทุกขั้นตอน ทุกเพลงที่ปล่อยออกมาในชื่อ “ไมเคิล แจ็กสัน” ล้วนแต่ผ่านน้ำพักน้ำแรงของเขาทั้งสิ้น และนี่เป็นข้อดีที่สร้างความหนักใจให้ทิมบาแลนด์อย่างมาก เขากับเจร็อกต้องเจอกับสถานการณ์นึกไม่ออกบอกไม่ถูก เพราะในหัวมีแต่คำถามที่ไม่มีคำตอบ เขาคิดแค่ว่าคงจะดีถ้าสามารถถามแจ็กสันได้ว่า โอเคกับท่อนนี้ไหม? อยากเพิ่มอะไรหรือเปล่า?
“ช่วงเวลาตัน ๆ เราแทบพังเลย มันยากมากที่จะทำอะไรแบบนี้ มันเหมือนคุณทำเพลงให้ไมเคิล แจ็กสัน แต่คุณไม่สามารถคุยกับไมเคิลได้ เราไม่รู้จะติดต่อคุยกับเขาอย่างไร”
โปรดิวเซอร์คนเก่งที่ไม่ยอมใช้บริการริวจิตสัมผัส เผยต่อว่าเขากับเจร็อกใช้เวลาทำดนตรีเพลง ‘Loving You’ ใหม่ทั้งหมด แต่ทำไปทำมาก็รู้สึกว่ามันเริ่มเละกว่าเดิม
“ตอนนั้นเราคุยกัน แล้วผมก็พูดว่า ไมค์
(แจ็กสัน)
ไม่น่าจะถูกใจสิ่งนี้เท่าไหร่”
หลังจากนั้นพวกเขายอมลดความซับซ้อนของดนตรีลง ก่อนจะค้นพบว่ามันเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่สะท้อนกลิ่นอายอันคุ้นเคยของแจ็กสันได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ทิมบาแลนด์ยังเล่าประสบการณ์สุดหลอนทิ้งท้ายอีกว่า วันนั้นเขามีความรู้สึกเหมือนแจ็กสันมาอยู่ในสตูดิโอด้วย
“เรากลับไปทำใหม่ ทำให้ง่ายขึ้น ตอนนั้นผมรู้สึกเหมือนมีเสียงไมเคิลพูดกับผมว่า ‘ใช่เลยทิม’ ผมมองไปรอบ ๆ ไม่เจอใครในห้อง จนเจร็อกมาถามว่าโอเคไหม ผมบอกเขาว่าผมโอเค ผมแค่เหมือนได้ยินเสียงบางอย่าง ผมไม่ได้บ้านะ แต่ผมรู้ได้ทันทีว่ามันเป็นเสียงแห่งจิตวิญญาณของไมเคิลที่มาบอกผมว่า แบบนี้โอเคเลยนะเพื่อน”
[caption id="attachment_23677" align="aligncenter" width="1296"]
ทิมเบอร์เลค ในเอ็มวี ‘Love Never Felt So Good’[/caption]
อัลบั้มชุดนี้เลือกใช้ซิงเกิลเปิดตัวเป็นเพลง ‘Love Never Felt So Good’ ผลงานเก่าเก็บของแจ็กสันที่เคยแต่งร่วมกับ พอล แองก้า เมื่อปี 1983 ถูกนำปัดฝุ่นใหม่และยังได้นักร้องคู่บุญของทิมบาแลนด์อย่าง จัสติน ทิมเบอร์เลค มาร่วมร้องคู่กับแจ็กสันในเพลงนี้อีกด้วย
ผลงานดังกล่าวทะยานขึ้นสูงสุดอยู่อันดับที่ 2 บนชาร์ทบิลบอร์ดสหรัฐฯ และเหมือนเป็นสารที่ประกาศไปทั่วโลกว่า “The King is Back” แม้จะไม่ใช่อัลบั้มที่แจ็กสันร่วมสร้างสรรค์ด้วย แต่แน่นอนว่านี่เป็นอีกหนึ่งความพยายามที่ดี ในการพาจิตวิญญาณของราชาเพลงป๊อปกลับมาเพื่อมอบความสุขให้แฟนเพลงอีกครั้ง
“เขา
(แจ็กสัน)
เคยพูดกับผมว่า ‘ผมไม่ได้อยากมีเพลงฮิต หรือทำเพลงขึ้นมาอีกสักเพลง ผมแค่อยากจะทำอะไรสักอย่างที่มันออกมายอดเยี่ยม ถ้ามันออกมาไม่ดี ไม่ล้ำ หรือถ้ามันไม่ออกมายิ่งใหญ่ ถ้าคุณไม่ได้อุทิศตนเหมือนที่ผมทำ เราก็ไม่ควรทำมัน แต่ถ้าคุณให้สัญญากับผมว่าคุณจะอุทิศตนให้กับผม ผมก็สัญญาว่าจะอุทิศตนให้คุณเหมือนกัน”
รีดทิ้งท้ายถึงแจ็กสัน
ที่มา:
http://www.billboard.com/articles/news/6077455/michael-jackson-billboard-cover-story-xscape-full-album-details
https://www.washingtonpost.com/entertainment/music/michael-jacksons-posthumous-xscape-not-bad-but-not-thriller-either/2014/05/13/f5d7d1f4-dab5-11e3-bda1-9b46b2066796_story.html
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3559
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6975
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
871
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Culture
ไมเคิล แจ็กสัน
Xscape