จอห์น สโนว์ หมอนักสืบ ใช้ข้อมูลสร้างแผนที่สกัดโรคระบาด
“คนไข้คนหนึ่งอาจมีอาการไอและมีไข้ แต่ที่เราต้องการจะรู้ก็คือ เขาติดโควิด-19 รึเปล่า เราจะได้กักตัว รักษา และตรวจสอบว่า เขาเดินทางไปที่ไหน เจอกับใครบ้าง เราจะได้ตรวจคนกลุ่มนั้น และถ้าจำเป็นต้องกักตัวก็ต้องทำ นั่นคือหัวใจของการป้องกัน” ศาสตราจารย์ คิม วู-จู ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดจากเกาหลีใต้ กล่าวถึงวิธีการติดตามตัวผู้ป่วย ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญสำหรับการรับมือกับโควิด-19 (The People)
เนื่องจาก ณ ขณะนี้ (2020) ยังคงไม่มีวัคซีนที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ให้กับประชาชน การสืบย้อนเส้นทางการระบาดไปจนถึงต้นตอ นอกจากจะช่วยให้รู้ถึงจุดตั้งต้นของโรค ยังทำให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริง รวมทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดมาตรการที่จำเป็น เพื่อยับยั้งไม่ให้ผู้ที่ติดเชื้อแพร่เชื้อต่อไป
กระบวนการนี้ ถูกนำมาใช้อย่างเป็นระบบได้ถึงวันนี้ ก็ต้องขอบคุณหมอชาวอังกฤษในศตวรรษที่ 19 ที่ชื่อ จอห์น สโนว์ (John Snow, ค.ศ. 1813-1858)
จากข้อมูลของ Britannica จอห์น สโนว์ เกิดที่เมืองยอร์ก มีพ่อเป็นคนงานเหมืองถ่านหิน เขาเป็นลูกคนแรก ในบรรดาลูก 9 คนของครอบครัว หลังเรียนหนังสือจนอายุได้ 14 ปี เขาก็ออกจากบ้านไปเป็นหมอฝึกหัดอยู่หลายที่ในภูมิภาคยอร์กเชอร์ ก่อนได้เล่าเรียนวิชาแพทย์ตามหลักสูตรเมื่อปี 1836 จนจบหมอจากมหาวิทยาลัยลอนดอนในปี 1844 แล้วจึงได้หนังสือรับรองวิชาชีพเฉพาะทางจากราชวิทยาลัยแพทย์แห่งกรุงลอนดอนในปี 1849 ซึ่งทำให้เขากลายเป็นสมาชิกหัวแถวของผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์
ในยุคของสโนว์ ความรู้เรื่องเชื้อโรคยังไม่ลงหลักปักฐานเป็นที่มั่นคง ไม่มีใครรู้แน่ (หรือเข้าใจอย่างผิด ๆ ไป) ว่า โรคระบาดแต่ละโรคมันระบาดด้วยกลไกอย่างใด อย่างเช่น อหิวาตกโรค ซึ่งเกิดการระบาดเป็นระยะ ๆ ในอังกฤษนั้น แต่ไหนแต่ไร ผู้เชี่ยวชาญพากันคิดว่า มันน่าจะเป็นผลมาจาก "อากาศเสีย" (miasma) อันเป็นผลมาจากการย่อยสลายของสารอินทรีย์
แต่สโนว์ไม่เชื่อเช่นนั้น และตั้งข้อสังเกตว่า อหิวาต์น่าจะเกิดจากการปนเปื้อนกับสิ่งสกปรกอย่างอุจจาระ แล้วระบาดไปทั่วผ่านน้ำดื่มที่ถูกปนเปื้อน สอดคล้องกับทฤษฎีที่เรียกว่า germ theory (ทฤษฎีเชื้อโรค) ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับหลังจากสโนว์เสียชีวิตไปแล้ว
(ทฤษฎีนี้เป็นที่ยอมรับในวงกว้างก็เมื่อเลยช่วงกลางศตวรรษที่ 19 หลัง หลุยส์ ปาสเตอร์ นักเคมีชาวฝรั่งเศส โจเซฟ ลิสเตอร์ ศัลยแพทย์อังกฤษ และ โรเบิร์ต คอค หมอชาวเยอรมัน ช่วยผลักดันให้สาธารณะยอมรับได้สำเร็จ)
สโนว์เคยพบการระบาดของอหิวาต์เป็นครั้งแรกในช่วงปี 1831 ซึ่งตอนนั้นเขายังเป็นเพียงแพทย์ฝึกหัด แต่ก็ทำการเก็บข้อมูลอย่างละเอียด ทั้งชื่อผู้ป่วย วิธีการรักษา และผลการรักษา ซึ่งเป็นรากฐานในการศึกษาวิจัยสำคัญในการพัฒนาทฤษฎีของเขาในภายหลัง
แล้วอหิวาต์ก็กลับมาระบาดในลอนดอนอีกครั้งระหว่างปี 1848 ถึง 1849 ถึงตอนนี้ เขาคือหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งสมาคมระบาดวิทยาแห่งลอนดอน (London Epidemiological Society) องค์กรที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คำปรึกษากับรัฐบาลในการจัดการกับโรคต่าง ๆ
อย่างไรก็ดี ทฤษฎีของสโนว์แม้จะถูก แต่ขณะนั้นยังไม่เป็นที่ยอมรับ จึงทำได้แต่ถกเถียงกับนักทฤษฎีอีกฝ่ายที่แม้หลักคิดจะผิด แต่ตัวเลขสถิติก็พอเชื่อถือได้ ต้องรอจนถึงช่วงกลางการระบาดของอหิวาต์อีกรอบในระหว่างปี 1853 ถึง 1855 ข้อโต้แย้งของสโนว์จึงเป็นที่ยอมรับ
ในระลอกที่ 3 พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดคราวนั้นมากที่สุดคือ ย่านโซโห ที่สกปรกและแออัด ณ ตอนนั้น ระบบท่อระบายน้ำของกรุงลอนดอนก็ยังขยายมาไม่ถึง ท้องถนนจึงเฉอะแฉะไปด้วยน้ำทิ้ง และแต่ละบ้านก็ยังมีบ่อรวมอุจจาระไว้ประจำบ้าน ซึ่งสร้างไว้อย่างง่าย ๆ ขาดการวางมาตรฐาน ทำให้ของเสียเหล่านี้ไหลรวมไปยังแหล่งน้ำใต้ดินได้
ฝ่ายสโนว์เมื่อทราบข่าวการระบาดก็ลงพื้นที่ไปพูดคุยกับชาวบ้าน (ปี 1854) และทำการเก็บสถิติการตาย แล้วนำตัวเลขเหล่านี้ไปใส่ไว้บนแผนที่ว่า บ้านไหนบ้างที่เสียชีวิต เสียชีวิตไปเท่าไร วิธีการของเขาทำให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่า บริเวณใดที่การตายกระจุกตัว และบริเวณใดที่การเสียชีวิตไปไม่ถึง แล้วเขาก็พบว่า บริเวณที่เป็นศูนย์กลางของการระบาด อยู่ที่ปั๊มน้ำสาธารณะบนถนนบรอดสตรีต (Broad Street ปัจจุบันคือ Broadwick Street)
ด้วยการให้เหตุผล ประกอบด้วยกราฟ ตัวเลขสถิติ และแผนที่แสดงการกระจายของโรค ทำให้เห็นภาพการระบาดอย่างชัดเจน กลายเป็นหลักฐานหนักแน่นพอที่จะทำให้สภาเทศบาลท้องถิ่นตัดสินใจถอดแขนปั๊มน้ำบนถนนเส้นนี้ออก เพื่อมิให้ประชาชนได้ใช้งานอีก และภายหลังก็เป็นที่ทราบแน่แล้วว่า เชื้ออหิวาต์มาจากอุจจาระที่ปนเปื้อนลงในแหล่งน้ำใต้ดินที่ปั๊มแห่งนี้สูบออกมานั่นเอง
ในปีเดียวกัน สโนว์ทำงานวิจัยออกมาอีกชิ้น ใช้ชื่อว่า "Grand Experiment" โดยทำการเปรียบเทียบชุมชนสองแห่งในกรุงลอนดอนที่มีขนาดประชากรพอ ๆ กัน แต่ใช้น้ำสำหรับอุปโภคบริโภคจากสองบริษัทต่างกัน (วิธีการให้บริการเหมือนกันคือ การส่งน้ำผ่านเครื่องปั๊มน้ำสาธารณะ) บริษัทหนึ่งใช้น้ำดิบจากแม่น้ำเทมส์ตอนบน ซึ่งอยู่ห่างไกลจากมลภาวะในเมือง ขณะที่อีกบริษัทอาศัยน้ำดิบในใจกลางกรุงลอนดอน ที่ถูกปนเปื้อนด้วยของเสีย การเปรียบเทียบดังกล่าวทำให้เห็นถึงอันตรายจากน้ำที่ถูกปนเปื้อนด้วยของเสียอย่างชัดเจน และเขาก็เสนอให้รัฐต้องเข้าแทรกแซง เพื่อควบคุมการระบาดของอหิวาต์
งานวิจัยของสโนว์อาจจะไม่ได้รับการยอมรับในทันที แต่มันก็มีอิทธิพลมากพอที่จะช่วยให้ภาครัฐหันมาสนใจปัญหาสาธารณสุขและการจัดระบบจัดการของเสียให้ได้มาตรฐาน เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโรค ก่อนที่งานของเขาจะถูกนักวิทยาศาสตร์ยุคหลังยกให้เป็นงานคลาสสิกของสาขาระบาดวิทยา ที่เขาเป็นผู้ริเริ่ม รวมถึงการใช้แผนที่ระบุพื้นที่เกิดโรค ซึ่งยังคงใช้หลักการเดียวกันมาจนถึงปัจจุบัน
(นอกจากเรื่องโรคระบาดแล้ว สโนว์ยังเก่งในเรื่องวิสัญญีวิทยา โดยเฉพาะการใช้คลอโรฟอร์ม ที่ก่อนหน้านั้นนิยมใช้การหยดคลอโรฟอร์มลงในผ้าเช็ดหน้า แต่เขาพัฒนาอุปกรณ์ให้ยาที่เปลี่ยนคลอโรฟอร์มเป็นก๊าซให้คนไข้ดม ซึ่งเป็นวิธีการที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากกว่า สโนว์ได้ใช้วิธีการนี้วางยาสลบให้กับควีนวิกตอเรียเป็นอันสำเร็จ ทำให้วิธีการดังกล่าวเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง)