เอริค แคลปตัน (Eric Clapton) ยอดศิลปินบลูส์ชาวอังกฤษ ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ที่หลงใหลได้ชอบในวัฒนธรรมของดนตรีผิวสีอย่างมาก เสียงกีตาร์โซโล่อันบาดลึกที่เต็มไปห้วงอารมณ์ตามแบบฉบับคนผิวสี การไว้ทรงผมแอฟโฟรฟู ๆ และมีเพื่อนสนิทอย่างจิมี่ เฮนดริกซ์ ทั้งหมดล้วนแต่เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่าแคลปตัน มีความยกย่องคนผิวสีและดนตรีของพวกเขามากขนาดไหน
“ดนตรีบลูส์ จะไปได้ไกลไหมมันเกี่ยวกับปัญหาการแบ่งแยกสีผิวในอเมริกาด้วย พวกคนขาวจะยอมรับนับถือนักดนตรีบลูส์ผิวสีได้ ก็ต้องยอมรับสิทธิพลเมืองอันเท่าเทียมก่อนซึ่งคงอีกนานเลย” แคลปตัน พูดไว้สมัยที่ปัญหาการเหยียดสีผิวยังมีมากในโลก
ตลอดเส้นทางความสำเร็จ แคลปตัน สร้างวีรกรรมอื้อฉาวในวงการเพลงมากมาย เช่นภารกิจแย่งเมียเพื่อนตัวเอง หรือจะเป็นการเสพยาจนชีวิตพัง แต่หนึ่งในตราบาปแผลฉกรรจ์ที่เจ้าตัวนึกเสียใจทุกครั้งที่พูดถึงเกิดขึ้นเมื่อปี 1976 ในคอนเสิร์ตของเขาที่เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ
ย้อนกลับไปในช่วงกลางยุค 70s แคลปตันที่กำลังโด่งดังอย่างมาก ได้พาตัวเองเข้าสู่ยุคมืดด้วยการติดโคเคนอย่างหนัก บ่อยครั้งเขามักจะแสดงพฤติกรรมสุดกร้าวร้าว โดยเฉพาะการด่ากราดแฟนเพลงจากบนเวที จนกลายเป็นประโยคพาดหัวหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์สมัยนั้น ที่ว่า “เอริค ด่ากวาดบ่นเวทีอีกแล้วครับท่าน”
บวกกับช่วงนั้น แคลปตัน ที่สติไม่อยู่กับเนื้อกับตัวเริ่มสนใจแนวคิด “ชาตินิยมผิวขาว” (White Nationalism) ของอีนอช พาวล์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคอนุรักษ์นิยม ที่สุดโต่งสุด ๆ ในเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ คำขวัญของพาวล์ที่ว่า “อังกฤษจะต้องไม่เป็นอาณานิคมแห่งใหม่ให้กับพวกคนผิวดำ” กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินเจ้าของฉายา “Mr. Slowhand” จัดหนักจัดเต็มด่าคนผิวสีอย่างหนักบนเวที ซึ่งนี่คือคำพูดของแคลปตันที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมปี 1976
“ผมไม่อยากให้พวกคุณ (คนผิวสี) อยู่ที่นี่ ในห้องนี้ หรือในประเทศผม ฟังผมนะทุกคน เราควรโหวตให้ อีนอช พาวล์ เขาคือคนนั้น ผมคิดว่าเขาคิดถูกแล้ว เราควรส่งพวกนั้นกลับไปให้หมด หยุดทำให้สหราชอาณาจักรเป็นอาณานิคมของคนดำ เอาพวกต่างชาติออกไป อินเดียด้วย พวกนิโกรด้วย ทำให้สหราชอาณาจักรเป็นสีขาว ผมเคยเสพติดการเสพยาแต่ตอนนี้ผมเสพติดการเหยียดสีผิว มันหนักกว่ากันเยอะ ไอ้พวกแขก ไอ้พวกซาอุ มันจะมาครองลอนดอนแล้ว ไอ้พวกนี้แม่ง! ประชากรมันล้นสหราชอาณาจักรแล้ว ส่งพวกมันกลับให้หมด อีนอชจะหยุดทุกอย่างและส่งพวกมันกลับไป
ไอ้พวกแขกดำ นิโกร อาหรับ จาไมก้า และอะไรอีกไม่รู้ ไม่เหมาะสมที่จะอยู่ที่นี่ พวกเราไม่ต้องการพวกมัน นี่คือประเทศอังกฤษ เป็นประเทศของคนขาว เราไม่ต้องการให้คนดำหน้าไหนมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ เราต้องทำให้ชัดไปเลยว่าพวกนั้นจะไม่ได้รับการต้อนรับที่นี่ เพราะนี่คือประเทศของคนขาว ผมไม่อยากให้พวกนั้นมาอยู่ข้างบ้านผม นี่คือสหราชอาณาจักรนะทุกคน เกิดอะไรขึ้นกับพวกเรากันวะให้ตายเถอะ”
แน่นอนว่าหลังคอนเสิร์ตสิ้นสุด คำพูดของแคลปตันขึ้นไปอยู่ในพาดหัวของหนังสือพิมพ์ทั่วโลก เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับคนจำนวนมาก และกลายเป็นกระแสสังคมใหญ่โตที่ทำเอาชื่อเสียงของแคลปตันด่างพร้อยไปเป็นทศวรรษ ต่อมาคอมเมนต์ของแคลปตัน ได้สร้างอิทธิพลให้กับศิลปินหลายกลุ่มที่ไม่พอใจเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ ออกมาเดินขบวนและสร้างแคมเปญ Race Against Racism (RAR) ขึ้นมา
ว่ากันว่าปัจจัยสำคัญที่ทำเอาแคลปตันเพี้ยนสุด ๆ เกิดจากผลข้างเคียงของการเสพโคเคนอย่างหนัก บวกกับเมื่อเห็นความมั่งคั่งของชาวอาหรับในลอนดอนที่แสนจะเวอร์วังอลังการก็ยิ่งทำให้แคลปตันเกิดอาการอคติกับชาติพันธุ์เหล่านั้น ซึ่งพอหลังได้สติ แคลปตัน ก็รีบออกมาขอโทษต่อสังคมโดยเฉพาะบรรดาแฟนเพลงที่เริ่มเสื่อมศรัทธาในตัวเขา
“พอรู้ว่าผมพูดอะไรออกไป ผมรู้สึกทุเรศตัวเองเหลือเกิน ผมโคตรโกรธเลย ผมอยากขอโทษทุกคน ที่ผมพูดแบบนั้น มันเลวร้ายเกินให้อภัย และผมละอายใจที่สุด ผมกลายเป็นพวกคลั่งชาติ และฟาสซิสต์ เป็นพวกเหยียดผิวก็ว่าได้ มันเลวไหลสิ้นดี ผมมีเพื่อนเป็นคนผิวสีเยอะ ผมเคยคบผู้หญิงผิวสี ฟังเพลงคนผิวสี สนับสนุนดนตรีผิวสี ผมมาตระหนักว่า ถ้ายังไม่เลิกเมา (ยา) ที่ผมว่ามานี้อาจไม่มีความหมายเลย ผมเกลียดทุกอย่างที่ผมทำลงไป ทุกอย่างเลย ผมทำลายทุกอย่างที่ผมไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ผมโคตรอายเลยที่ตอนนั้นผมเป็นแบบนั้น” แคลปตันออกมาพูดถึงเรื่องอื้อฉาวของเขาในอดีต
[caption id="attachment_23732" align="aligncenter" width="732"]
แคลปตัน กับมัดดี้ วอเธอร์ เมื่อปี 1979[/caption]
ชายหนึ่งเดียวคนนี้ที่เคยถูกเสนอชื่อเข้าหอเกียรติยศร็อกแอนด์โรลล์ (Rock and Roll Hall of Fame) ถึง 3 ครั้ง และยังเป็นผู้ชนะรางวัลแกรมมี่ อวอร์ดส ถึง 18 ครั้ง เผยว่านี่คือตราบาปที่เขาเจ็บปวดที่สุดตลอดเส้นทางสายดนตรี และแม้ว่าเขาจะออกมาขอโทษกี่ครั้งก็ตาม แต่นี่ก็ยังเป็นเรื่องเก่าคอยกลับมาเล่นงานเขาเสมอ
ครั้งหนึ่งแคลปตันเคยพูดว่ารักแรกของเขาคือดนตรีบลูส์ ซึ่งนอกจากมันจะให้ชื่อเสียงและเงินทองกับเขาแล้ว สิ่งสำคัญที่เขาได้รับจากมันคือชีวิตที่แท้จริง “ตอนแรกที่ฟังดนตรีบลูส์ ผมไม่เคยรู้มาก่อนว่ามันเป็นเพลงของคนดำ แต่มันมีสิ่งหนึ่งในนั้นที่ทำให้ผมติดใจ และมันช่วยให้ผมหายทุกข์ได้ในทันทีเลย เพราะฉะนั้นมันเป็นอะไรที่สำคัญกับผมมาก”
เหตุการณ์ของแคลปตันในครั้งนี้กลายเป็นบทเรียนที่สะท้อนให้เห็นว่า ฤทธิ์ของยาเสพติด ทำให้คนเปลี่ยนไปได้จริง ๆ