โรเบิร์ต มูกาเบ เผด็จการสังหารหมู่ แต่ได้เป็นทูตพิเศษ UN 

โรเบิร์ต มูกาเบ เผด็จการสังหารหมู่ แต่ได้เป็นทูตพิเศษ UN 
ช่วงนี้ ปู - ไปรยา ลุนด์เบิร์ก นักแสดงที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตสันถวไมตรีของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) กำลังถูกโจมตีอย่างหนัก เนื่องจากเธอคือตัวแทนขององค์กรที่ควรมีหน้าที่ในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยโดยไม่คำนึงว่าบุคคลดังกล่าวมีความเชื่อทางการเมืองแบบใด  แต่เมื่อ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยชาวไทย (ต้องคดีการเมืองหลังการรัฐประหารปี พ.ศ. 2557) ถูกลักพาตัวในกัมพูชา ดาราสาวทีท่าทีนิ่งเฉยโดยให้เหตุผลว่า เธอทำหน้าที่ส่งเสริมด้านสันติภาพและวาระที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ขณะที่กรณีของวันเฉลิมเป็นเรื่องการเมืองอย่างเข้มข้น ที่ผ่านมาเธอทำหน้าที่ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นหลัก และเธอก็ไม่มีความรู้ในเรื่องนี้มากพอ หากพูดไปก็อาจทำให้สถานการณ์มันแย่กว่าเดิม  ความเห็นของเธอทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เธอเหมาะสมที่จะเป็นทูตสันถวไมตรีให้กับองค์กรช่วยเหลือผู้ลี้ภัยต่อไปอีกหรือไม่?  อย่างไรก็ดี ไม่ว่าเรื่องนี้จะนำไปสู่ข้อสรุปประการใด หากมองย้อนกลับไปในอดีต องค์กรในสหประชาชาติเคยเลือกทูตสันถวไมตรีที่มีปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ย่ำแย่อย่างหนักมาก่อนแล้ว บุคคลผู้นั้นก็คือ โรเบิร์ต มูกาเบ อดีตผู้นำเผด็จการที่ปกครองซิมบับเวอย่างยาวนานเกือบ 4 ทศวรรษ ก่อนอื่นเราควรมาทำความรู้จักกับตำแหน่งทูตสันถวไมตรีกันเสียหน่อยว่า คนที่จะมาทำหน้าที่นี้ได้ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร? จากคู่มือการแต่งตั้งทูตสันถวไมตรี (Goodwill Ambassador) และผู้ส่งสารสันติภาพ (Messenger of Peace) ของสหประชาชาติ ผู้แทนพิเศษที่ใช้ชื่อเรียกต่างกันนั้น มีข้อแตกต่างกันตรงที่ ทูตสันถวไมตรีเป็นตำแหน่งที่สำนักเลขาธิการสหประชาชาติ หรือกองทุน และโครงการต่าง ๆ ของสหประชาชาติเป็นผู้แต่งตั้งให้ ในขณะที่ผู้ส่งสารสันติภาพนั้นเป็นตำแหน่งที่เลขาธิการใหญ่ของสหประชาชาติเป็นผู้แต่งตั้งให้โดยตรง  ส่วนคุณสมบัติในข้อหลักทั้งทูตสันถวไมตรีและผู้ส่งสารสันติภาพนั้นเหมือนกันคือ ต้องมีความสามารถเป็นที่ประจักษ์ในด้านศิลปะ วิทยาศาสตร์ งานประพันธ์ งานบันเทิง กีฬา หรืองานสาธารณะประการอื่น ต้องเป็นผู้มีสัตย์อยู่ในศีลธรรมแสดงให้เห็นว่าต้องการช่วยเหลือเพื่อประโยชน์สาธารณะ มีบุคลิกภาพ มีความสง่างามสมตำแหน่ง มีความสามารถที่จะส่งเสริมค่านิยมของสหประชาชาติในระดับนานาชาติได้ และมีความรู้ความเข้าใจในเป้าหมายของสหประชาชาติหรือหน่วยงานอื่น ๆ ในสหประชาชาติที่มองหาผู้แทนนั้น ๆ ขณะที่มูกาเบนั้นมีประวัติละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างโชกโชน เขาเป็นผู้นำซิมบับเวมาตั้งแต่ปี 1980 หลังรัฐบาลของคนขาวถูกขับไล่ และโรดีเซียได้ชื่อใหม่ว่า “ซิมบับเว” เบื้องต้นมูกาเบรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามระบบรัฐสภา ก่อนรวบอำนาจเปลี่ยนเป็นระบบประธานาธิบดีปกครองโดยพรรคเดียวโดยพฤตินัยในปี 1987  ผลงานอันโดดเด่นในช่วงต้นของการขึ้นมาครองอำนาจมูกาเบก็คือ “ปฏิบัติการฝนต้นฤดูชะล้างเศษแกลบ” (Gukurahundi, เริ่มต้นในปี 1983) เมื่อเขาส่งกองกำลังที่ได้รับการฝึกฝนโดยเกาหลีเหนือเข้าไปในพื้นที่บ้านเกิดของ โจชัว เอ็นโคโม คู่แข่งทางการเมือง ซึ่งมีกลุ่มติดอาวุธอดีตกองกำลังปลดปล่อยอาณานิคมที่เคยต่อสู้ด้วยกันมาหนุนหลัง หวังกำจัดผู้ต่อต้านพร้อมกับประชาชนที่ไม่ได้ยืนอยู่ข้างเขา มีการประเมินกันว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย ๆ 20,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดบีเล (Ndebele) ทำให้เขาถูกประณามว่าทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Reuters) และอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ทั่วโลกต้องทึ่งก็คือ “ปฏิบัติการเคลื่อนย้ายขยะ” (Operation Murambatsvina, เริ่มปี 2005) เมื่อเขาใช้อำนาจกำจัดชุมชนแออัดทั่วประเทศ ทำให้คนต้องไร้บ้านกว่า 700,000 คน และกระทบกับผู้คนอีกนับล้าน โดยอ้างว่าเพื่อจัดระเบียบสังคม และการกำจัดสลัมก็เท่ากับการกำจัดอาชญากรรมที่ทำลายเศรษฐกิจ แต่การที่ปฏิบัติการดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งที่มีปัญหา ก็ทำให้คนเห็นว่ามันมีแรงจูงใจทางการเมืองซึ่งนอกจากจะเป็นการลงโทษประชาชนที่เลือกฝ่ายตรงข้ามแล้ว การบังคับให้ประชาชนในชุมชนแออัดต้องกระจายตัวไปยังชนบทยังมีผลให้คู่แข่งของมูกาเบที่ได้รับการสนับสนุนจากคนจนในเมืองอ่อนกำลังลง (Human Rights Watch) แม้จะเปี่ยมไปด้วยกิตติศัพท์ในทางลบ แต่จู่ ๆ ในปี 2015 ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่แห่งองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ชาวเอธิโอเปีย (ที่ตอนนี้มีชื่อเสียงมากด้วย โควิด-19) ก็ส่งเทียบเชิญให้มูกาเบมารับตำแหน่งทูตสันถวไมตรีขององค์กรเพื่อช่วยต่อสู้กับโรคไม่ติดต่อที่อันตรายอย่างเช่นโรคหัวใจ โรคระบบหลอดเลือด และโรคหืดในแอฟริกา  กีบรีเยซุส อ้างว่า มูกาเบสมควรรับตำแหน่งเพราะเป็นผู้พัฒนาระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าในซิมบับเว ขณะที่คนในประเทศบอกว่าถ้าระบบสาธารณสุขซิมบับเวดีจริงมูกาเบต้องไปรักษาตัวที่เมืองนอกทำไม? แล้วไหนจะปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนอีก จึงทำให้ถูกประท้วงอย่างรุนแรงจากสังคมโลก เพราะแม้ว่า WHO จะเป็นองค์กรสาธารณสุขไม่ใช่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน แต่ด้วยชื่อเสียงของมูกาเบที่ขัดต่อค่านิยมและอุดมการณ์ของสหประชาชาติ มันน่าจะทำให้ภาพขององค์กรแย่กว่าที่จะช่วยสร้างความตระหนักรู้เรื่องสุขภาพ  จากข้อมูลของ The Guardian โฆษกของรัฐบาลอังกฤษบอกว่า ได้ยินข่าวแล้วก็ได้แต่แปลกใจและผิดหวัง แม้ว่ามูกาเบจะไม่มีอำนาจในเชิงบริหาร แต่การตั้งมูกาเบจะไปเบียดบังภาพการทำงานที่ผ่านมาขององค์การอนามัยโลกเสียเอง ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ กล่าวว่า "การแต่งตั้งนี้ชัดเจนว่าขัดต่ออุดมการณ์ของสหประชาชาติในเรื่องการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์"  ส่วนโฆษกของพรรค MDC ฝ่ายค้านในซิมบับเวบอกว่า การตั้งมูกาเบเป็นทูตสันถวไมตรีของ WHO เป็นเรื่องน่าขัน เพราะมูกาเบคือต้นเหตุที่ทำให้ระบบสาธารณสุข (เช่นเดียวกับระบบบริการสาธารณะอื่น ๆ) ของประเทศอยู่ในภาวะง่อนแง่น "มูกาเบทำลายระบบสาธารณสุขของเรา เขาและครอบครัวเดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปรับการรักษาในสิงคโปร์ ขณะเดียวกันก็ปล่อยให้โรงพยาบาลของรัฐล้มละลาย" โอเบิร์ต กูตู (Obert Gutu) โฆษกพรรค MDC กล่าว หลังจากถูกโจมตีอยู่ได้ไม่กี่วัน กีบรีเยซุสก็ออกแถลงการณ์ยกเลิกการแต่งตั้งดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า "ผมได้รับฟังความเห็นของทุกฝ่ายที่แสดงความกังวล และได้ยินถึงปัญหาต่าง ๆ ที่พวกเขายกขึ้นมา ผมยังได้ปรึกษากับรัฐบาลซิมบับเว และได้ข้อสรุปนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดขององค์การอนามัยโลก" (WHO) มูกาเบจึงได้เป็นทูตสันถวไมตรีให้กับ WHO ได้ไม่ถึงหนึ่งอาทิตย์ ก่อนที่จะถูกถอดออกโดยยังไม่ทันได้ปฏิบัติหน้าที่ ขณะเดียวกัน เรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นว่า การคัดเลือกคนมาดำรงตำแหน่ง “ทูตสันถวไมตรี” ขององค์กรระดับโลกนั้น บางทีก็ไม่ได้ดูอะไรกันลึก ๆ ว่า คนผู้นั้นมีค่านิยม มีอุดมการณ์เหมาะสมกับตำแหน่งที่ได้รับหรือไม่?  และมูกาเบกับกีบรีเยซุสก็มีความสัมพันธ์ที่น่าสนใจ เนื่องจากมูกาเบในฐานะประธานสหภาพแอฟริกาเป็นผู้เลือกกีบรีเยซุส ซึ่ง ณ ตอนนั้นเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเอธิโอเปีย ให้เป็นตัวแทนจากแอฟริกาในการชิงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ WHO โดยไม่มีการประกวดคัดเลือก หรือจัดดีเบตแสดงวิสัยทัศน์ของคนที่จะมาเป็นตัวแทนของภูมิภาคแต่อย่างใด (The Guardian)