เมื่อปี 1998 มีนวนิยายเล่มหนึ่งออกวางจำหน่าย เรื่องราวกล่าวถึงอเมริกาในอนาคตราว 30 ปีข้างหน้า เมื่อโลกและสิ่งแวดล้อมกำลังล่มสลายเพราะภาวะโลกร้อน ปริมาณน้ำฝนลดลง พื้นดินแห้งแล้ง น้ำ ซึ่งไม่ใช่น้ำสะอาดด้วยซ้ำ กลายเป็นสิ่งล้ำค่าที่หายาก ฝนไม่ตกในแคลิฟอร์เนียตอนใต้มาเจ็ดปีแล้ว ท้องถนนเต็มไปด้วยคนไร้บ้านที่สิ้นหวัง ดิ้นรนเอาตัวรอดอย่างไม่เลือกวิธีการ ไม่ว่าจะเป็นการปล้นชิงหรือเข่นฆ่าสังหาร
ผู้ที่ยังพอจะมีเงินทองอยู่บ้าง ก็สร้างรั้วล้อมชุมชนของตัวเอง ฝึกฝนอาวุธเพื่อป้องกันตนเอง เพราะการพึ่งพาตำรวจต้องจ่ายเงินเป็นรายครั้ง หลายครั้งเรียกแล้วก็ไม่มา บางครั้งก็กลับเป็นภัยคุกคามเสียเอง บรรษัทขนาดใหญ่กุมทรัพยากรและเศรษฐกิจไว้ทั้งหมด ซื้อเมืองทั้งเมือง จ้างผู้คนทำงานด้วยสัญญาทาสที่ไม่มีวันหลุดพ้น
เพราะความยากแค้นขาดทรัพยากรและภัยจากผู้คนที่อับจนหิวโหย รัฐต่าง ๆ จึงเริ่มปิดพรมแดน สหรัฐอเมริกาแทบหมดความหมายในฐานะประเทศ แต่การเลือกตั้งประธานาธิบดียังคงมีอยู่ ในการเลือกตั้งครั้งใหม่ มีตัวเก็งผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้มีแนวคิดขวาจัดคลั่งศาสนาคนหนึ่งหาเสียงด้วยคำขวัญว่า Make America Great Again
ใช่แล้ว คุณอ่านไม่ผิด Make America Great Again
[caption id="attachment_23867" align="aligncenter" width="254"]
Parable of the Talents ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1[/caption]
เรากำลังพูดถึงหนังสือเรื่อง Parable of the Talents ซึ่งเป็นเล่มที่สองในซีรี่ส์ยาวสองเล่มที่เรียกว่าชุด Parable เขียนโดย อ็อกเทเวีย อี. บัตเลอร์ (Octavia E. Butler) ถึงฟังแล้วอาจจะชวนขนลุกไปบ้าง แต่ที่จริงบัตเลอร์ไม่ได้คิดวลีนี้ขึ้นเอง โรนัลด์ เรแกน เป็นผู้ใช้คำขวัญนี้เป็นคนแรก ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 1980
นี่เองที่น่าจะเป็นที่มาหรือแรงบันดาลใจให้ทีมหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ นำมาใช้เช่นกัน เพราะดูเป็นเรื่องยากจะเชื่ออยู่ว่าทีมทำงานการเมืองหัวเอียงขวาจะ “อิน” กับนิยายวิทยาศาสตร์ฝีมือนักเขียนสตรีผิวดำจนนำมาใช้ในชีวิตจริงได้แบบนั้น
แต่นั่นก็ไม่ได้กีดขวางให้งานของบัตเลอร์กลายเป็นที่ถามหาและกล่าวขวัญถึงหลังเจ้าตัวเสียชีวิตไปแล้ว 10 ปี เพราะแทบไม่มีช่วงเวลาใดที่งานของนักเขียนผู้ปฏิวัติแนววรรณกรรม “ของชายผิวขาว” ผู้นี้จะเป็นจริงมากเท่านี้อีกแล้ว
อ็อกเทเวีย เอสเทลล์ บัตเลอร์ เกิดเมื่อปี 1947 ซึ่งเป็นยุคที่แนวคิดเหยียดผิวยังคงรุนแรงในสังคมอเมริกัน พ่อของเธอทำงานเป็นคนขัดรองเท้า ซึ่งแสนจะเป็นภาพจำของคนผิวดำในยุคนั้น ส่วนแม่เป็นคนทำความสะอาดตามบ้าน หลังพ่อเสียชีวิตเมื่อบัตเลอร์อายุได้ 7 ปี แม่ก็ต้องพาลูกสาวติดไปทำงานด้วยบ่อย ๆ บัตเลอร์ย้อนความหลังให้ฟังในการให้สัมภาษณ์ว่าสองแม่ลูกต้องเข้าบ้านทางประตูหลัง ซึ่งเป็น “ประตูคนงาน” และนายจ้างก็ปฏิบัติต่อเธอและแม่ไม่ค่อยดีนัก
แต่ด้วยความที่ครอบครัวบัตเลอร์อาศัยอยู่ในเมืองพาซาดีน่า แคลิฟอร์เนีย ซึ่งยังถือมีความก้าวหน้าทางสังคมค่อนข้างมาก ตามแบบฉบับรัฐชายฝั่งทะเล เธอจึงอาศัยอยู่ในชุมชนที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ และคุ้นเคยกับการผสมกลมกลืนอย่างนี้จนเสมือนเรื่องปกติ และนั่นก็สะท้อนออกมาในงานเขียนแทบทั้งหมด ที่มีตัวละครหลากหลายอาศัยอยู่ด้วยกัน ทั้งหลากเชื้อชาติ ลูกผสม พันธุ์ผสม ไปจนถึงมนุษย์ต่างดาวและสิ่งมีชีวิตกลายพันธุ์
ในวัยเด็ก เด็กหญิงบัตเลอร์ตัวน้อยชอบเขียนนิทานเล่าเรื่องมาก เธอชอบเทพนิยายและเรื่องเกี่ยวกับม้า พอโตขึ้นมาอีกหน่อยก็หลงใหลนิยายวิทยาศาสตร์ในนิตยสารรวมนิยายวิทยาศาสตร์ที่เป็นที่นิยมในสมัยนั้น จนวันหนึ่งตอนอายุ 12 (บางแหล่งกล่าวว่า 9 ขวบ) เธอได้ดูหนังวิทยาศาสตร์เกรดบีเรื่อง Devil Girl from Mars ในโทรทัศน์ แล้วก็คิดขึ้นมาว่า “ฉันเขียนเรื่องได้ดีกว่านี้อีก” และ “มีคนได้เงินจากการเขียนไอ้เรื่องนั้นจริง ๆ เหรอ” นั่นเป็นครั้งแรกที่บัตเลอร์คิดถึงการหาเลี้ยงชีพด้วยการเขียนหนังสือ หรือระบุให้เจาะจงลงไปอีกคือ ด้วยการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ และเธอก็ลงมือเขียนจริง ๆ สิ่งที่เขียนนี้จะกลายเป็นต้นร่างของนิยายเรื่องแรกของเธอในอนาคต Patternmaster เล่มแรกของซีรี่ส์ The Patternist ความยาวห้าเล่มจบ
แต่ระหว่างสนุกสนานกับการเขียนและความฝันจะเป็นนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์อยู่นั้น ป้าคนหนึ่งก็บอกกับเธอด้วยความหวังดีว่า “หนูจ๋า นิโกรเป็นนักเขียนไม่ได้หรอกนะ” นั่นเป็นครั้งแรกที่บัตเลอร์ตระหนักถึงความยากลำบากและอคติที่เธอจะต้องเผชิญในเส้นทางการเขียนเพราะเป็นคนผิวดำ
ในขณะที่แม่ของเธออยากให้ลูกทำงานเป็นเลขา ซึ่งมีความมั่นคงกว่า ในขณะที่ตัวบัตเลอร์เองวางแผนจะทำงานที่เบากว่านั้น เพื่อให้มีเวลาทุ่มเทกับงานเขียนได้ โดยที่การ “มีเวลา” ของเธอหมายถึงการตื่นขึ้นมาเขียนหนังสือตอนตีสองตีสามก่อนจะออกไปทำงานทุกวัน และทำเช่นนั้นมาตลอดจนปี 1978 ห้าปีหลังขายงานชิ้นแรก ถึงสามารถเขียนหนังสือเป็นอาชีพเพียงอย่างเดียวได้
หลังจบมัธยมปลาย บัตเลอร์เข้าเรียนหลักสูตรอนุปริญญาภาคกลางคืนที่พาซาดีน่าซิตี้คอลเลจไปพร้อมกับทำงานตอนกลางวัน ที่นี่เธอมีรายได้จากการเขียนหนังสือเป็นครั้งแรก ด้วยการเข้าประกวดเรื่องสั้นของวิทยาลัย ชนะเลิศได้เงินรางวัล 15 เหรียญ และเธอยังได้ความคิดเริ่มต้นในการเขียน Kindred นวนิยายเรื่องที่จะเป็นงานที่ขายดีที่สุดและได้รับการยกย่องมากที่สุดของเธอ จากเพื่อนนักกิจกรรมคนหนึ่งที่นี่อีกด้วย
หลังจบอนุปริญญาสาขาประวัติศาสตร์ เธอทำงานควบคู่กับการเขียนหนังสือ (ตอนตีสอง) ไปพร้อม ๆ กับลงทะเบียนเรียนหลักสูตรการเขียนที่มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอสแอนเจลิส และได้เข้าร่วมเวิร์คช็อปของสมาคมนักเขียนแห่งอเมริกาตะวันตก ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้การเรียนรู้ ดูแล และให้โอกาสนักเขียนจากชนกลุ่มน้อย
ในเวิร์คช็อปนี้ บัตเลอร์ทำผลงานได้เข้าตาฮาร์ลาน เอลลิสัน นักเขียนไซไฟชื่อดังที่ทำหน้าที่เมนเทอร์ เธอบอกว่าเขาเป็นคนแรกที่ให้คำวิจารณ์งานเขียนของเธอในแบบที่ช่วยให้เกิดการพัฒนา หลังพบแต่การปฏิเสธที่ไร้คำอธิบายมามากมาย ที่สำคัญคือเขาสนับสนุนให้เธอเข้าร่วมเวิร์คช็อปแคลริออน ซึ่งเน้นการเขียนงานด้านไซไฟที่เมืองแคลริออนในเพนซิลเวเนีย ซ้ำยังช่วยสนับสนุนค่าสมัครส่วนหนึ่งด้วย (ส่วนค่าใช้จ่ายที่เหลือคืองบที่แม่เธอเก็บไว้หาหมอฟัน)
จากการเข้าร่วมเวิร์คช็อปทั้งสองนี่เอง ทำให้บัตเลอร์ขายงานในฐานะนักเขียนอาชีพได้เป็นครั้งแรก โดยขายเรื่องสั้นให้หนังสือรวมเรื่องสั้นหลากนักเขียนของเอลลิสัน และหนังสือของเวิร์คช็อปแคลริออนนี่เอง เธอดีใจมาก คิดว่าได้ก้าวสู่เส้นทางนักเขียนอย่างเต็มตัวแล้ว แต่กลับเป็นว่าต้องพบกับการปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่าเหมือนเดิม จนกระทั่ง Patternmaster นิยายที่เธอเขียนมาตลอดห้าปีนั้นได้ตีพิมพ์ในปี 1976
บัตเลอร์ยังเขียนนิยายในซีรี่ส์ Patternist ต่อมาอีกสองเรื่อง ก่อนจะหยุดพักไปเก็บวิจัยและเขียน Kindred เรื่องราวของหญิงสาวยุคใหม่ที่ย้อนเวลากลับไปในยุคก่อนเลิกทาส และต้องหาทางช่วยชีวิตบรรพบุรุษคนหนึ่งของเธอ ซึ่งเป็นนายทาสผิวขาว เพื่อประกันว่าตัวเธอเองในอนาคตยังจะคงมีอยู่
บัตเลอร์หาข้อมูลอย่างละเอียด เดินทางไปถึงแมริแลนด์ เพื่อดูสภาพพื้นที่ ดูเส้นทางและความเป็นไปได้ในการหลบหนี ดูพื้นที่ไร่ที่เคยใช้แรงงานทาส เพราะเธอต้องการนำเสนอความรู้สึกของทาสในเวลานั้น ความอับจนสิ้นหนทางที่ต้องพบวันแล้ววันเล่า เพราะเธอรู้สึกว่าวัยรุ่นผิวดำร่วมสมัยของตนดูเบาการดิ้นรนต่อสู้ของทาสในยุคก่อนจนเกินไป เธอคิดว่าแม้ทาสส่วนใหญ่จะไม่ได้ลุกขึ้นสู้หรือต่อต้านอย่างเปิดเผย แต่ในสภาพเช่นนั้น การอดทนต่อการเหยียบย่ำเพื่อเอาชีวิตตนและลูกหลานให้รอดก็ถือเป็นการกระทำที่กล้าหาญมากแล้ว
การทุ่มเทหาข้อมูลเช่นนี้เป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังซีรี่ส์ Parable เช่นกัน และการคลุกคลีอยู่กับแนวโน้มการล่มสลายของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เพราะความผิดพลาดที่มนุษยชาติทำให้ขณะนี้ก็เป็นเรื่องหนักหนาสาหัส จนเมื่อเขียนไปได้สองเล่ม เธอก็ต้องหยุดพักไปเขียนอะไร “เบา ๆ สนุก ๆ” ก่อน เพราะพยายามเขียนตอนต่อเล่มที่สามอยู่หลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ ทั้ง ๆ ที่วางแผนไว้อีก 4 เล่ม (รวมแล้ว 6 เล่ม)
สิ่งที่ได้คือ Fledgling นิยายแวมไพร์แบบไซไฟ ว่าด้วยการเข่นฆ่าล้างแค้นระหว่างสองเผ่าพันธุ์แวมไพร์ ที่ฝ่ายหนึ่งเกิดการกลายพันธุ์จนมีเมลานินมากพอจะใช้ชีวิตในตอนกลางวันได้ ทำให้เผ่าพันธุ์แวมไพร์โบราณผิวขาวซีดเกิดความรังเกียจ และนี่ก็เป็นหนังสือเรื่องสุดท้ายของเธอ
เพราะในเดือนกุมภาพันธ์ 2006 ทั้งที่มีอายุเพียง 58 ปี บัตเลอร์ที่มีอาการความดันโลหิตสูงและซึมเศร้ามาระยะหนึ่งแล้ว ก็เกิดเส้นเลือดในสมองแตก และล้มหัวฟาดทางเท้าเสียชีวิตที่หน้าบ้านของตนเองในนครซีแอตเติลนั่นเอง
หนึ่งในข้อมูลที่เธอศึกษาเพื่อเขียนนิยายชุด Parable นี้คือเรื่องราวสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งไม่ได้เน้นที่ตัวสงครามหรือความขัดแย้ง แต่เธออยากรู้ว่าประเทศหนึ่ง ๆ กลายเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบฟาสซิสต์ได้อย่างไร และนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นและดำเนินไปในเรื่องราวทั้งสองเล่มนี้
นักวิชาการอย่างทาร์เชีย แอล. สแตนลีย์ ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อนักอ่านเห็นคำขวัญเดียวกับที่บัตเลอร์เลือกให้ผู้สมัครขวาจัดใช้ในนิยายปรากฏขึ้นในการหาเสียงจริง ๆ ในปี 2016 ผู้คนก็ตระหนักว่านี่คือสิ่งที่เธอพยายามทำมาตลอด “พยายามบอกเราว่าถ้าหากเราไม่ยอมเปลี่ยนแปลง สิ่งเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้น”
ซึ่งก็เช่นเดียวกับที่ตัวบัตเลอร์เองเคยกล่าวไว้ในการให้สัมภาษณ์อย่างน้อยครั้งหนึ่งว่า “ฉันไม่ได้พยายามทำนายอนาคต สิ่งที่ฉันทำคือการเตือน”
ผลงานการเขียนของบัตเลอร์ที่เปี่ยมด้วยจินตนาการ ส่งให้เธอได้รับรางวัลชั้นนำมากมาย อย่าง Hugo Award for Best Short Story ในปี 1984 รางวัล Nebula Award for Best Novel ในปี 1999 รวมถึง Lifetime Achievement Award in Writing จาก PEN American Center ในปี 2000 เป็นต้น และเป็นหนึ่งในนักเขียนสตรีผิวดำที่ได้รับการยกย่องในวงกว้าง และได้รับการกล่าวขวัญถึงมาจวบจนปัจจุบัน
ของแถมส่งท้าย: “พวกเขาเปลี่ยนแปลงช้าๆ เมื่อเทียบกับอะไรที่อาจจะเกิดขึ้นที่นี่ แต่ต้องใช้โรคระบาดถึงจะทำให้บางคนตระหนักได้ว่าสิ่งต่างๆ สามารถ เปลี่ยนแปลงได้” – หนังสือเรื่อง Parable of the Sower (มีฉบับแปลภาษาไทยในชื่อ เมล็ดฝันวันสิ้นโลก สำนักพิมพ์โซลิส)
[caption id="attachment_23869" align="aligncenter" width="358"]
Parable of the Sower ฉบับพิมพ์ภาษาไทย[/caption]
ที่มา:
https://www.newyorker.com/books/second-read/octavia-butlers-prescient-vision-of-a-zealot-elected-to-make-america-great-again
http://www.bbc.com/culture/story/20200317-why-octavia-e-butlers-novels-are-so-relevant-today
https://www.npr.org/sections/codeswitch/2017/07/10/535879364/octavia-butler-writing-herself-into-the-story
https://medium.com/@joshunda/an-interview-with-octavia-butler-2004-8933300df98a
https://www.essence.com/entertainment/only-essence/octavia-butler-interview/
https://www.independent.co.uk/arts-entertainment/books/news/octavia-e-butler-black-science-fiction-writer-bloodchild-xenogenesis-parable-a8411566.html
https://edition.cnn.com/2018/06/22/culture/octavia-e-butler/index.html
เรื่อง: Potjy Tsai