มหาตมะคานธี ความคิดเหยียดเชื้อชาติ และการรักษาระบบวรรณะ
"สำหรับเรามันคือการต่อสู้กับการลดทอนศักดิ์ศรีของพวกยุโรปที่ต้องการกดเราลงไปอยู่ระดับเดียวกับพวกนอกรีต (คนดำ) อันหยาบช้าหากินด้วยการล่าสัตว์ ด้วยเป้าหมายหาฝูงวัวควายไปแลกเมีย แก้ผ้าล่อนจ้อน ใช้ชีวิตเกียจคร้านไปวัน ๆ"
ข้อความข้างต้นคือท่อนหนึ่งของคำปราศรัยของ มหาตมะคานธี เมื่อวันที่ 26 กันยายน 1896 ที่เมืองบอมเบย์ (มุมไบในปัจจุบัน) โดยใช้คำว่า “kaffir” เป็นคำอาหรับที่แปลว่า พวกนอกรีต ในการเรียกชนพื้นเมืองแอฟริกาผิวดำ ซึ่งขณะนั้น คานธีมีอายุ 27 ปี เป็นเวลา 3 ปี หลังจากที่เขาได้เดินทางไปใช้ชีวิตในแอฟริกาใต้ และถูกปฏิบัติอย่างพลเมืองชั้นสองโดยคนผิวขาว เป็นเหตุให้เขาลุกขึ้นต่อสู้เพื่อความเสมอภาค (Collected Works of Mahatma Gandhi)
ขณะเดียวกัน ถ้อยคำดังกล่าวก็ทำให้ถูกมองได้ว่า คานธี "เหยียดเชื้อชาติ" แต่นั่นคือคำพูดของเขาในฐานะทนายความเชื้อสายอินเดียที่ไปแสวงโชคในดินแดนอาณานิคม โดยไม่คาดฝันว่าตนจะได้รับการปฏิบัติอย่างพลเมืองชั้นสอง ในระดับที่เขาไม่เคยได้สัมผัสเมื่อไปเรียนที่อังกฤษ
การต่อสู้ของคานธีมาจากการที่ชาวอินเดียถูกคนขาวปฏิบัติไม่ต่างจากชนพื้นเมือง เขาในฐานะทนายของกลุ่มชาวอินเดียที่เดินทางมาหากินในดินแดนแอฟริกาใต้พยายามอ้างว่า คนอินเดียนั้นมีอารยธรรมสูงส่งมายาวนานไม่เหมือนชนพื้นเมือง เขายอมรับการปกครองของคนขาวได้ แต่รับไม่ได้กับการถูกปฏิบัติในระดับเดียวกับชนพื้นเมือง ซึ่งกลายเป็นการยกตนเองและลดทอนคุณค่าของชนต่างเผ่าพันธุ์
ขณะเดียวกัน คานธียอมรับว่า ชนพื้นเมืองแอฟริกาสามารถพัฒนาตนเองและควรได้รับสิทธิทัดเทียมกัน เห็นได้จากจดหมายที่เขาส่งไปถึงบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ Times of Natal เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 1894 ความว่า
"คนอินเดียจะไม่เสียใจเลยถ้าชนพื้นเมือง (natives) ที่มีความสามารถจะมีสิทธิเลือกตั้ง พวกเขาสิจะเสียใจถ้ามันไม่เป็นเช่นนั้น อย่างไรก็ดี พวกเขาก็เห็นว่าตนเองก็ควรมีสิทธินั้นเช่นกันหากมีคุณสมบัติเหมาะสม คุณผู้มีปัญญากลับไม่ยอมให้คนอินเดียหรือชนพื้นเมืองได้รับสิทธิอันมีค่านั้นไม่ว่าจะด้วยเงื่อนไขใด ๆ ด้วยเหตุเพียงเพราะพวกเขามีผิวสีเข้มเท่านั้น"
ความเห็นที่ว่าชนพื้นเมืองแอฟริกาต้อยต่ำกว่าชาวอินเดียน่าจะยังคงอยู่ในความคิดของคานธีอย่างยาวนาน การใช้คำว่า kaffir เรียกชนพื้นเมืองยังคงปรากฏหลักฐานให้เห็นอย่างน้อยถึงปี 1913 หนึ่งปีก่อนที่เขาจะเดินทางกลับอินเดีย แต่การใช้ชีวิตร่วมกับชนพื้นเมืองอย่างใกล้ชิดก็ทำให้คานธีเห็นข้อดีของการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและรับมาปรับใช้ จนกลายมาเป็นจุดแข็งในการขับเคลื่อนทางสังคมของเขา
"การตามใจความต้องการของร่างกาย และหลอกตัวเองว่า สิ่งที่เรามีในวันนี้มาจากสติปัญญาของเรา ทำให้เราบาปหนายิ่งขึ้น และยั่วให้เราเดินลงหลุมนรกได้เป็นพัน ๆ เส้นทาง เรามองว่าพวกนอกรีตซึ่งทุกวันนี้เราได้ทำงานด้วยกันอย่างใกล้ชิดว่ามีความสูงส่ง (ทางจิตใจ) สูงกว่าพวกเรา วิถีชีวิตที่พวกเขาทำโดยไม่รู้ พวกเราควรทำตามโดยตั้งใจ รูปลักษณ์ภายนอกของพวกเราควรดูเหมือนพวกนอกรีต" คานธีกล่าวในจดหมายฉบับหนึ่งที่เขาเขียนไปถึงญาติเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 1910
นอกจากนี้ กระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพของชาวอินเดียของคานธียังถูกวิจารณ์ว่าทำไปเพื่อรักษาระบบวรรณะของชาวฮินดูมากกว่าการปลดปล่อยชาวอินเดียจากการกดขี่ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการอดอาหารประท้วง “ยอมตาย” ดีกว่ายอมให้คนนอกวรรณะอย่าง “จัณฑาล” หรือดาลิต ได้เลือกผู้แทนจัณฑาลของตนเอง
ในปี 1932 รัฐบาลอังกฤษวางแผนที่จะให้สิทธิในการเลือกผู้แทนเป็นการเฉพาะให้กับกลุ่มดาลิต (ตอนนั้นภาษาอังกฤษใช้คำว่า depressed classes หรือชนชั้นที่ถูกกดขี่) ขณะนั้นคานธีติดคุกอยู่ในเมืองปูนา (ปัจจุบันคือปูเน) ก็ออกมาประกาศว่าเขาจะยอมอดอาหารจนถึงแก่ความตาย เว้นแต่อังกฤษจะยกเลิกแผนการดังกล่าว
"มันเป็นข้อเท็จจริงว่า ต่อให้ชนชั้นที่ 'ถูกกดขี่' ได้สิทธิลงคะแนนซ้ำ มันก็ไม่ช่วยให้สังคมฮินดูโดยรวมพ้นจากความแตกแยกได้ การจัดให้มีการเลือกตั้งแยกออกไปสำหรับชนชั้นที่ 'ถูกกดขี่' เรารู้สึกได้ว่านั่นเป็นการฉีดยาพิษที่คิดคำนวณมาเพื่อทำลายลัทธิฮินดู โดยไม่ได้ช่วยชนชั้นที่ 'ถูกกดขี่' แต่อย่างใด"
คานธีกล่าวในตอนหนึ่งของจดหมายที่มีไปถึง แรมซี แมคโดนัลด์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ลงวันที่ 9 กันยายน 1932 โดยเขากล่าวเสริมด้วยว่า เขายอมที่จะให้มีผู้แทนที่เป็นชาวดาลิตในสัดส่วนที่มากกว่าจำนวนที่พึงมี แต่จะไม่ยอมให้ชาวดาลิตได้เลือกผู้แทนชาวดาลิตโดยตรง
ภีมราว รามชี อามเพฑกร หรือ “ดร. เอ็มเบดการ์” ผู้นำชาวดาลิตไม่เห็นด้วยกับแนวทางของคานธี เพราะชาวดาลิตเป็นเพียงชนกลุ่มน้อยในสังคมฮินดู การกำหนดสัดส่วนให้มีผู้แทนชาวดาลิตที่สูงก็ไม่ดีเท่ากับการให้ชาวดาลิตซึ่งเป็นชนชั้นที่ถูกกดขี่ด้วยระบบวรรณะเป็นร้อยเป็นพันปีได้เลือกตัวแทนของตนเอง เพราะต่อให้มีผู้แทนชาวดาลิตนั่งในสภา แต่หากให้ชาวฮินดูวรรณะอื่น ๆ มีสิทธิเลือกผู้แทนชาวดาลิตด้วยแล้ว ผู้แทนคนดังกล่าวก็จำเป็นต้องฟังเสียงของชนชั้นนำฮินดูมากกว่าที่จะให้ความสำคัญกับชาวดาลิต
ไม่ใช่ว่าคานธีเห็นด้วยกับการกดขี่ชาวดาลิต เขาเองก็ต้องการให้การกดขี่ชาวดาลิตหมดไป นักวิชาการยุคหลังอธิบายว่า คานธีพยายามรักษาไว้ซึ่งความเป็นหนึ่งของสังคมฮินดูจึงไม่เห็นด้วยกับแนวทางของเอ็มเบดการ์ ซึ่งจะทำให้สังคมดาลิตมีอำนาจต่อรองทางการเมืองมากขึ้น แต่อาจนำไปสู่การเผชิญหน้ามากขึ้นกว่าเดิม
เอ็มเบดการ์ไม่ยอมลงง่าย ๆ แต่เมื่อคานธีสุขภาพอ่อนแอลงเรื่อย ๆ ประกอบกับมีแกนนำชาวฮินดูออกมารับปากที่จะต่อสู้กับการกดขี่ชาวดาลิต เอ็มเบดการ์ก็จำต้องยอมให้กับการ “แบล็กเมล์” ด้วยชีวิตของคานธี
แต่จนกระทั่งวันที่คานธีจบชีวิตลงโดยการลอบสังหาร (โดยนถุราม โคดเส ชาวฮินดูหัวรุนแรง) เขาก็ไม่สามารถประสานรอยร้าวของสังคมอินเดียที่แตกแยกด้วยทั้งศาสนาและชนชั้นได้สำเร็จ แม้ว่าเขาจะได้รับการยกย่องอย่างสูงในฐานะ “มหาตมะ” (ผู้มีอิทธิฤทธิ์, ผู้มีใจสูง - พจนานุกรม ราชบัณฑิตฯ พ.ศ. 2554) การปะทะกันของชาวฮินดูและมุสลิมยังปะทุความรุนแรงขึ้นเป็นระยะ และเมื่อชนชั้นนำฮินดูหัวรุนแรงได้เห็นฤทธิ์เดชของชาวดาลิตที่มีการศึกษาอย่างเอ็มเบดการ์ การกดขี่ชาวดาลิตก็ยิ่งรุนแรง (เพียงแค่ชาวดาลิตขี่ม้า กิจกรรมที่สงวนไว้สำหรับคนที่วรรณะสูงกว่า พวกเขาก็อาจถูกฆ่าตายได้ - BBC)
"ผมเกลียดมหาตมะทั้งหมดนั่นแหละ และเชื่อว่ามันควรจะเลิกการยกย่องเช่นนี้ไปเสียที ผมเชื่อว่าการมีอยู่ของสถานะนี้เป็นคำสาปของประเทศนั้น ๆ ที่ปล่อยให้การยกย่องเช่นว่านี้เกิดขึ้น มันเป็นการครอบงำด้วยศรัทธาอันมืดบอดเพื่อแทนที่การใช้ปัญญาและเหตุผล" เอ็มเบ็ดการ์กล่าว (N.S. Gehlot, Dr. Ambedkar, Mahatma Gandhi and Dalit Movement)