สอ เสถบุตร: นักโทษกบฏบวรเดช ผู้ลอบเขียนพจนานุกรมในเรือนจำ
สอ เสถบุตร คือชื่อที่ถูกพูดถึงหลายวงการ คนในแวดวงประวัติศาสตร์และการเมืองจะรู้จักเขาในฐานะนักโทษทางการเมืองจากเหตุการณ์กบฏบวรเดช ส่วนคนทั่วไปจะรู้จักเขาในนามผู้เขียนปทานุกรมหรือพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย ที่มีส่วนช่วยพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย เนื่องจากเมื่อหลายสิบปีก่อน โลกของเรายังไม่มีสมาร์ตโฟนหรือแอปพลิเคชันแปลภาษาเหมือนอย่างทุกวันนี้ ความรู้ทุกอย่างจึงถูกเขียนไว้บนหน้าหนังสือและพจนานุกรม
ก่อนถูกจับขังคุก สอ เสถบุตร เป็นเด็กหนุ่มอนาคตไกล เขาเป็นนักเรียนทุนคิงสกอลาร์ชิพ เรียนจบเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ เป็นบัณฑิตวิศวกรเหมืองแร่คนแรกของสยาม เป็นนักหนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ กรุงเทพ เดลิเมล์ (Bangkok Dailymail) จนได้ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมกองราชเลขาธิการองคมนตรีราวสองปี (พ.ศ.2473-2474)
หลังรับราชการได้ไม่เท่าไหร่ ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อคณะราษฎรก่อการปฏิวัติ 2475 สอ เสถบุตร ถูกจับกุมในปีถัดมาด้วยข้อหาสมคบคิดทำใบปลิวโจมตีคณะราษฎร สนับสนุนฝ่ายกบฏบวรเดช ร่วมกับเพื่อน ๆ กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ กรุงเทพ เดลิเมล์ ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต
แรกเริ่ม สอ เสถบุตร ถูกจำคุกในเรือนจำบางขวาง แดน 6 ระหว่างถูกจำคุกเขาเกิดความคิดว่าอยากทำปทานุกรมหรือพจนานุกรม ลักลอบเขียนหนังสือโดยไม่ให้ผู้คุมจับได้ ปรึกษากับกลุ่มเพื่อนนักโทษทางการเมือง ช่วยกันเขียนและตรวจทาน ฝันของการเขียนความหมายของภาษาจากตัวอักษร A ไปถึง Z ใกล้ความจริงเข้าทุกที แต่กลับต้องหยุดชะงักเมื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่
เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนผ่าน มีการออกคำสั่งให้นักโทษทางการเมืองกลุ่มกบฏบวรเดชไปยังเรือนจำบนเกาะตะรุเตา เกาะกลางทะเลอันดามันที่เงียบเหงาตัดขาดจากผู้คน อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มนักโทษการเมืองสามารถแหกคุกหนีออกไปได้ มีเรื่องเล่าว่า สอ เสถบุตร วัย 36 ปี รู้จักกับกลุ่มผู้หลบหนีเป็นอย่างดี เขาสามารถออกไปพร้อมกับเหล่าพระยาและนักหนังสือพิมพ์ได้ ทว่าเขากลับเลือกใช้ชีวิตที่เหลือนั่งเขียนพจนานุกรมให้เสร็จ
นอกจากการลักลอบเขียนพจนานุกรม สอ เสถบุตร ยังเขียนบทวิจารณ์การเมืองเป็นภาษาอังกฤษโดยใช้นามปากกว่า มิสเตอร์ ไฮด์ (Mr. Hyde) แอบส่งให้กับครอบครัวที่มาเยี่ยม ไหว้วานให้พวกเขาส่งบทความแก่สำนักพิมพ์ตีพิมพ์ออกสู่สายตาสาธารณชนจนถูกรัฐบาลจับได้
เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลสั่งย้ายนักโทษจากเกาะตะรุเตาไปยังเกาะเต่าในอ่าวไทย ทั้งที่เรือนจำนี้ไม่พร้อมต้อนรับคนจำนวนมาก น้ำจืดขาดแคลน เสบียงไม่เพียงพอ เขาแทบจะเขียนพจนานุกรมต่อไม่ได้เพราะความเป็นอยู่ย่ำแย่ จนทำให้ สอ เสถบุตร นิยามเรือนจำแห่งนี้ว่า “เป็นนรกบนดิน” และ “หากผมเป็นสัตว์ก็คงจะตายเสียนานแล้ว”
กว่าหนังสือที่เต็มไปด้วยสารประโยชน์ของสอ เสถบุตร จะเสร็จสมบูรณ์ เขาต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบาก ความกดดันในเรือนจำ ความเศร้าเมื่อต้องจากครอบครัวอันเป็นที่รัก ถูกย้ายไปยังคุกหลายแห่ง จนกระทั่งรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม หมดอำนาจและลาออกในปี 2487 รัฐบาลใหม่นำโดยนายควง อภัยวงศ์ ทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษให้เหล่านักโทษการเมืองที่ถูกจองจำ
หลังจากเดินทางไปยังเรือนจำถึงสามแห่ง สอ เสถบุตร ก็ได้รับอิสรภาพเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2487 จากนั้นหันมาเล่นการเมืองกับพรรคก้าวหน้า เขาเขียนพจนานุกรมโดยไม่ต้องหลบซ่อนอีกต่อไป ตรวจทานความเรียบร้อย แก้ไขข้อผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก จากนั้นนำตีพิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2492 กลายเป็นพจนานุกรมเล่มแรกของประเทศไทย
The New Model English-Siamese Dictionary ของ สอ เสถบุตร ไม่เพียงแต่แปลความหมายคำจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ยังสอดแทรกรายละเอียดน่ารู้อื่น ๆ เช่น คำตรงข้าม คำความหมายใกล้เคียง และยกตัวอย่างของคำเมื่อถูกใช้ในประโยคอีกด้วย
พจนานุกรมขายดิบขายดีจนติดอันดับหนังสือยอดนิยมนานหลายสิบปี พ่อแม่ซื้อพจนานุกรมให้ลูก เด็กที่หวังจะสอบชิงทุนไปต่างประเทศก็ต้องใช้พจนานุกรมของ สอ เสถบุตร เหล่าคนทำงานอยากพัฒนาภาษาอังกฤษ ต่างต้องมีหนังสือที่บอกความหมายของคำศัพท์หลายพันหลายหมื่นคำ
นักโทษในความเข้าใจของคนส่วนใหญ่มักคิดว่า พวกเขามีเวลาว่างเยอะแต่คงไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไร นักโทษหลายคนใช้เวลาจมอยู่กับความเศร้า ทุกข์ใจกับสภาพไร้อิสระ หรือนั่งนับถอยหลังไปวัน ๆ ว่าเมื่อไหร่จะพ้นโทษ แต่กลับกลายเป็นว่า สอ เสถบุตร เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นที่จะเขียนหนังสือ ใช้ความรู้ที่ตัวเองมีทำตามสิ่งที่ตัวเองต้องการ โดยไม่ให้การถูกจองจำหรือความเป็นอยู่แสนรันทดมาเป็นอุปสรรค
ที่มา
พิมพวัลคุ์ เสถบุตร (เรียบเรียง). 2548.ลิขิตชีวิต สอ เสถบุตร การต่อสู้และผลงานพจนานุกรมอันยิ่งใหญ่ในคุก. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์
ศรัณย์ ทองปาน. 2551. สอ เสถบุตร ดิกชันนารีแห่งชีวิต. กรงุเทพฯ: สารคดี
สอ เสถบุตร. 2515. ไปนอก. พิมพ์ครั้งที่ 3. สมุทรปราการ: สอ.เสถบุตร
เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์