บอริส เยลต์ซิน และ วลาดิเมียร์ ปูติน ความแตกต่างของผู้มอบและผู้สืบทอดอำนาจ
"อดีตเจ้าหน้าที่เคจีบีหลายคนอย่างเช่นปูตินก้าวออกจากองค์กรโดยรู้ดีว่าประชาชนสูญเสียความน่าเชื่อถือที่มีให้กับองค์กร แต่การที่เขาเคยเป็นเคจีบีไม่ได้มีความหมายอะไร ปูตินแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นนักเสรีนิยม นักประชาธิปไตย ที่ต้องการปฏิรูประบบตลาด"
วาเลนติน ยูมาเชฟ (Valentin Yumashev) อดีตที่ปรึกษาของ บอริส เยลต์ซิน อดีตประธานาบดีรัสเซียคนแรกหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตกล่าวถึง วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้สืบทอดอำนาจของเยลต์ซิน (BBC)
เยลต์ซินเคยเป็นวีรบุรุษของชาติหลังเข้าขัดขวางการรัฐประหารนำโดย วลาดิเมียร์ ครุชคอฟ ผู้นำ KGB คนสุดท้าย ที่ต้องการล้มล้างความพยายามปฏิรูปประเทศของ มีฮาอิล กอร์บาชอฟ ประธานาธิบดีสหภาพโซเวียตในขณะนั้น [ตามนโยบาย กลาสนอสต์ (Glasnost) หรือการเปิดกว้าง และ เปเรสตรอยคา (Perestroika) หรือการปฏิรูปโครงสร้าง]
เหตุการณ์ดังกล่าวนอกจากจะทำให้ภาพลักษณ์ของ KGB ตกต่ำแล้ว ยังเป็นตัวเร่งทำให้สหภาพโซเวียตถึงคราวล่มสลายเร็วขึ้น
และเยลต์ซินก็ได้เป็นประธานาธิบดีรัสเซียคนแรกหลังการล่มสลายของโซเวียต
ภาพลักษณ์ของเยลต์ซินอาจจะดีในฝั่งตะวันตก เมื่อเขาไม่คิดที่จะเหนี่ยวรั้งสหภาพโซเวียตเอาไว้ ทำให้สงครามเย็นอันยาวนานสิ้นสุดลง การแข่งขันเรื่องการสะสมอาวุธระหว่างรัฐมหาอำนาจลดลง และเขายังรับรองอิสรภาพของสาธารณรัฐเกิดใหม่หลังการล่มสลายของโซเวียต ด้วยรัฐบาลของเขามีภารกิจที่สำคัญยิ่งกว่าคือการปฏิรูปเศรษฐกิจ และต้องรัดเข็มขัดอย่างหนักเพื่อเร่งแก้ปัญหาปากท้องประชาชน และในท้ายที่สุดเขายังไม่หวงอำนาจยอม “ลาออก” ก่อนครบวาระ
"ในประเด็นใหญ่ที่เราต้องมาเผชิญร่วมกัน คุณเยลต์ซินกับผมมีจุดยืนที่แตกต่างมากมาย และจุดยืนของเขาก็มักจะยากลำบากมากกว่าด้วยแรงกดดันทางการเมืองและปัญหาเศรษฐกิจ แต่ในที่สุด เขามักจะเลือกทำในสิ่งที่ถูกเสมอ เขาหนักแน่นในการเคารพต่อกำหนดเขตแดนระหว่างรัสเซียกับอดีตสาธารณรัฐอื่นของสหภาพโซเวียต ซึ่งเท่ากับต้องประจันหน้ากับนักชาตินิยมที่อาจนำสหภาพโซเวียตเดิมให้ตกอยู่ในภาวะจลาจลที่ยูโกสลาเวียเคยเผชิญ
"เขายอมถอยเมื่อจำเป็นเพื่อให้ยูเครน รวมถึงเบลารุสและคาซัคสถาน ยอมส่งมอบอาวุธนิวเคลียร์ในยุคโซเวียต เขาถอนกำลังรัสเซียออกจากรัฐรอบทะเลบอลติก เขาพารัสเซียร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการหาทางออกทางการทูตในวิกฤตบอสเนียและโคโซโว และแม้เขาจะต่อต้านการขยายตัวของ NATO เขาก็ยอมรับสิทธิของรัฐในยุโรปกลางที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร และยังลงนามในสัญญาความร่วมมือระหว่างรัสเซียและองค์กรด้วย" บิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวรำลึกถึงเยลต์ซิน หลังการเสียชีวิตของอดีตผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งคนแรกของรัสเซียหลังการล่มสลายของโซเวียต (The New York Times)
ภาพของเยลต์ซินต่างจากผู้สืบทอดอำนาจของเขา วลาดิเมียร์ ปูติน อดีตเจ้าหน้าที่รัฐไร้ชื่อในวงการเมือง ที่ถูกเลือกให้เข้ามาสืบทอดอำนาจต่อตั้งแต่ปี 1999 ซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้ที่ทำลายระบอบประชาธิปไตยที่อ่อนแอลง เสรีภาพสื่อที่เคยมีก็หมดไป นักวิจารณ์หรือคู่แข่งทางการเมืองของเขาถูกทำร้ายหรือเสียชีวิตอย่างปริศนาไปหลายราย การเลือกตั้งที่มีขึ้นก็ถูกวิจารณ์ว่ามิได้เป็นไปโดยอิสระ และนับถึงปีนี้ (2020) ก็เป็นเวลากว่า 20 ปี เข้าไปแล้ว แต่ปูตินก็ยังไม่ยอมลงจากอำนาจ ซ้ำยังวางแผนที่จะครองตำแหน่งอย่างไร้กำหนดเวลา
เยลต์ซินและปูติน จึงมักถูกมองว่าเป็นขั้วตรงข้าม แม้ว่าปูตินจะเป็นผู้สืบทอดที่เยลต์ซินเลือกเองกับมือก็ตาม
แต่การเปรียบเทียบดังกล่าวผิวเผินเกินไปและมองข้ามหลายเหตุการณ์สำคัญ
เยลต์ซินอาจจะยอมรับฟังเสียงวิจารณ์ได้ดีกว่าปูติน แต่เขาก็พร้อมที่จะใช้อำนาจเผด็จการเช่นกัน เช่นกรณีความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างเขากับรัฐสภาในปี 1993 เมื่อเยลต์ซินออกประกาศยุบรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ฝ่ายรัฐสภาก็ตอบโต้โดยอ้างว่า คำสั่งของเยลต์ซินไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทำการถอดถอนเขาออกจากตำแหน่ง เยลต์ซินจึงสั่งเคลื่อนทัพนำรถถังยิงใส่รัฐสภา ทำให้เหล่าสมาชิกรัฐสภาต้องยกธงขาว
ตามด้วยการออกคำสั่งยกทัพเข้าปราบปรามกลุ่มกบฏเชชเนียในปี 1994 ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 100,000 ราย และประชาชนอีกว่า 400,000 คนต้องกลายเป็นคนพลัดถิ่นฐาน เมื่อความขัดแย้งยังเรื้อรังต่อมาอีกหลายปี
ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของรัสเซียก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ตกไปอยู่ในมือชนชั้นนำไม่กี่รายที่มีเส้นสาย การแบ่งแยกแล้วปกครองเพื่อให้กลุ่มผลประโยชน์แต่ละกลุ่มต่อสู้กันเองช่วยทำให้เยลต์ซินมีอำนาจที่มั่นคง แต่ก็ส่งผลกระทบให้กลไกการทำงานของรัฐมีปัญหา
การเลือกตั้งปี 1996 ที่เยลต์ซินได้ชัยชนะ ก็มีความเป็นไปได้ว่า มีการกำหนดผลการเลือกตั้งล่วงหน้าแต่แรก เมื่อ ดมีตรี เมดเวเดฟ ประธานาธิบดีรัสเซียระหว่างปี 2008-2012 ออกมากล่าวว่า "เราต่างก็รู้ว่า บอริส นิโกเลวิช เยลต์ซิน ไม่ใช่ผู้ชนะในปี 1996" (Time)
เยลต์ซินจึงมีคุณลักษณะที่ขัดแย้งกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยร่วมกับปูตินอยู่หลายข้อ แต่ที่เขายังได้รับการยกย่องจากตะวันตกก็เพราะรัสเซียของเยลต์ซินอ่อนแอ จนทำให้ต้องโอนอ่อนตามตะวันตกอย่างเลี่ยงไม่ได้
ในทางตรงกันข้าม รัสเซียของเยลต์ซินถูกประชาชนจดจำว่ามีแต่ความอัปยศ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ การปล่อยลอยตัวราคาสินค้า การยกเลิกข้อจำกัดการลงทุนของต่างชาติ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น ทำให้ระบบเศรษฐกิจปรับฐานอย่างรุนแรง อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง สินค้าฟุ่มเฟือยหลั่งไหลเข้ามาจากต่างประเทศ แต่คนที่จะเข้าถึงได้ก็มีแต่คนรวยใหม่ซึ่งอาศัยคอนเน็กชันเก่าของพรรคคอมมิวนิสต์เดิม
ระบบตลาดที่ไม่เข้มแข็งของรัสเซียเมื่อต้องเจอกับวิกฤตในปี 1998 หนึ่งปีหลังวิกฤตต้มยำกุ้งก็ทำให้อดีตอภิมหาอำนาจโลกหมดปัญญาชำระหนี้ต่างประเทศ ทำให้ระบบเศรษฐกิจของรัสเซียแทบล่มสลาย
ความล้มเหลวในการปฏิรูปของเยลต์ซิน ประกอบกับปัญหาสุขภาพที่รุมเร้า ทำให้เยลต์ซินต้องลาออกจากตำแหน่งก่อนหมดวาระอย่างผู้แพ้
"ผมอยากขอให้ทุกคนให้อภัย เพราะความหวังหลายอย่างของเราไม่ได้กลายเป็นความจริง เมื่อสิ่งที่คิดว่าง่าย สุดท้ายกลายเป็นเรื่องที่ยากเข็ญ โปรดให้อภัยผมที่ไม่สามารถทำให้ความหวังของประชาชนที่อยากเห็นประเทศก้าวกระโดดข้ามอดีตสีเทา ความเป็นเผด็จการ และความชะงักงันทางเศรษฐกิจ ไปสู่อนาคตที่สดใส ร่ำรวย ศิวิไลซ์ ได้สำเร็จ" เยลต์ซินกล่าวในวันอำลาตำแหน่ง (RFERL)
ขณะที่รัสเซียของปูตินในยุคสหัสวรรษใหม่เต็มไปด้วยความหวังและอนาคต เมื่อราคาน้ำมัน และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม สินค้าส่งออกสำคัญของรัสเซียราคาพุ่งสูงขึ้นหลายเท่า นอกจากประชาชนจะได้รับค่าจ้างตรงเวลาแล้ว รายได้ของพวกเขายังสูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน ปูตินจึงได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นอย่างสูงในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่ง 2 สมัยแรก ทำให้เขาสามารถรวบอำนาจได้อย่างมั่นคงในเวลาที่ประชาชนกำลังเพลิดเพลินกับเศรษฐกิจที่รุ่งเรือง
อย่างไรก็ดี หากเยลต์ซินในปี 1998 ยังมีสุขภาพแข็งแรง เศรษฐกิจยังไปได้ เหมือนรัสเซียในตอนนี้ที่แม้จะไม่ได้เติบโตอย่างรวดเร็วอย่างตอนที่ปูตินเพิ่งขึ้นมามีอำนาจ ก็น่าสงสัยว่า เขาจะยอมลงจากตำแหน่งตามวาระหรือไม่? นอกจากนี้ ในการลงจากตำแหน่งของเยลต์ซิน ก็น่าจะมี “ข้อตกลงลับ” กับปูติน เมื่อปูตินออกประกาศมอบเอกสิทธิ์คุ้มครองครอบครัวเยลต์ซินจากการถูกดำเนินคดี ขณะที่การดำเนินคดีในข้อหาทุจริตกับครอบครัวและคนใกล้ชิดของเยลต์ซินได้เริ่มต้นขึ้น (The Guardian)